“ครูคือแม่และแม่ก็คือครู” โรงเรียนวันเสาร์ ของเด็กไทยในสวิตเซอร์แลนด์

‘สวัสดี สวัสดี วันนี้เรามาพบกัน เธอกับฉันพบกัน สวัสดี’

เพลงที่คุ้นเคย แต่ได้ยินในบรรยากาศที่ต่างออกไป เพราะที่นี่คือประเทศสวิตเซอร์แลนด์  

ดินแดนที่ได้ชื่อว่ามีระบบการศึกษาที่ดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งมีคนไทยกว่า 40,000 คนอาศัยอยู่ในประเทศนี้

ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีภาษาราชการถึง 4 ภาษาคือ เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาเลียน และโรมัน ซึ่งจะใช้แยกกันตามภูมิภาค คนไทยที่มาอาศัยอยู่ที่นี่จึงต้องเรียนภาษาเพื่อให้ใช้ชีวิตง่ายขึ้นและเพิ่มโอกาสในการทำงาน

หลายคนมาตั้งรกรากและสร้างครอบครัวที่นี่ พร้อมกับมีสมาชิกตัวน้อยๆ เกิดขึ้น

โรงเรียนของคุณแม่

คนไทยจำนวนมากโดยเฉพาะแม่ๆ ในสวิตเซอร์แลนด์อยากให้ลูกพูดภาษาไทยได้ด้วย จึงรวมตัวกันในเมืองต่างๆ เปิดโรงเรียนสอนภาษาไทย และจัดตั้งสมาคมครูไทยในสวิตเซอร์แลนด์ขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์กลางการทำงาน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกันระหว่างโรงเรียนในสวิตเซอร์แลนด์และโรงเรียนในยุโรป

แต่กว่าจะปลุกปั้นให้โรงเรียนเป็นรูปเป็นร่างได้ไม่ใช่เรื่องง่าย แม่ๆ ต้องเริ่มจากหาสถานที่สอนกันเอง บางที่ใช้วิธีเช่าห้องหรืออาคารสาธารณประโยชน์จากรัฐบาล บางแห่งเช่าห้องของโรงเรียน 

ในประเทศแห่งกฎระเบียบเป๊ะๆ เช่นนี้ บางที่คิดค่าเช่าถี่เป็นรายชั่วโมง ภาพพายุลูกโตพัดเก็บอุปกรณ์และสื่อทุกอย่าง พร้อมทั้งโกยเด็กออกจากพื้นที่ชั่วพริบตาภายในเวลาที่กำหนด จึงเป็นเรื่องปกติ หรือบางโรงเรียนก็ได้รับการสนับสนุนพื้นที่จากร้านอาหารไทย (แน่นอนว่ามีอาหารไทยแสนอร่อยให้กินฟรีทั้งครูและนักเรียนด้วย 🙂 )

โรงเรียนที่โบอาสาเข้าไปช่วยงานคือ โรงเรียนช้างน้อย (Elefänti Schuel) เมืองซูริค ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความสุขและความสนุกตลอดเวลา 2 เดือน 

ทุกๆ วันเสาร์คุณครูอาสาจะมาแต่เช้า ขนทั้งกระเป๋าและรถลากที่เต็มไปด้วยสื่อการสอนและขนม มาตระเตรียมห้องและอุปกรณ์การเรียนต่างๆ เมื่อผู้ปกครองมาส่งลูกหลานก็จะนั่งจับกลุ่มพูดคุยกัน บ้างก็ทำอาหารมาแบ่งกัน เป็นสมาคมแม่บ้านน้อยๆ ที่น่ารักอบอุ่น ส่วนเด็กๆ จะแยกย้ายเข้าห้องเรียนตามระดับเมื่อถึงเวลา

ในชั้นเรียน ไม่ว่าเด็กจะง่วงหาวเหงาซึมมาจากไหน คุณครูจะมีวิธีปลุกเด็กที่สนุกมากๆ ด้วยการปรบมือ ร้องเพลง และเล่นเกม ฯลฯ ความเหมือนกันของทุกกิจกรรมคือ เปิดโอกาสให้เด็กได้พูดทุกคน เพื่อให้เด็กมีสมาธิและได้ใช้ภาษาไทยจริงๆ เช่น ครูบอกให้ยืนหรือนั่ง เด็กต้องพูดดังๆ และทำตาม จากนั้นเด็กจะผลัดกันออกคำสั่งให้เพื่อนๆ ทำตามบ้าง บางคนก็หลอกบอกว่ายืน แต่ทำท่านั่ง พอทำผิดก็หัวเราะกันลั่น สนุกสนาน

ทำให้เด็กเห็นว่าความผิดพลาดไม่ใช่เรื่องน่ากลัวหรือน่าอายอะไรเลย

บางกิจกรรมเป็นการเล่นโดยแอบทบทวนความรู้ในสัปดาห์ก่อนไปด้วย คุณครูกระซิบว่าหลักสำคัญในการสอนคือต้อง ซ้ำ ย้ำ ทวน วิธีการเล่นและการเรียนรู้เนียนๆ เหล่านี้ ทำให้เด็กตื่นตัวและละลายพฤติกรรม ก่อนที่คุณครูจะเริ่มการสอนและทำแบบฝึกหัดประจำสัปดาห์ 

ไม่ใช่ใครก็มาเป็นครูได้

คุณครูที่นี่เกือบทั้งหมดมาจากแม่ๆ ไม่มีประสบการณ์การสอนมาก่อน เราเลยเรียกว่าครูแม่อาสา 

แต่ลองว่าตัดสินใจมาเป็นครูแล้ว ต้องทุ่มเททั้งกายและใจในระยะยาว เพราะกว่าจะมาเป็นครูประจำชั้นได้ จะต้องผ่านการเป็น ‘ครูผู้ช่วย’ ให้ได้เสียก่อน

ต้องทำอะไรบ้าง? ครูผู้ช่วยของโรงเรียนวันเสาร์ต้องศึกษาแผนการสอนและเตรียมความพร้อมของตัวเองว่าจะใช้เพลงอะไร ใช้สื่อประเภทไหน และสอนอย่างไร โดยแผนการสอนอ้างอิงจากหนังสือแบบเรียนและแบบฝึกหัด ที่โรงเรียนสอนภาษาไทยสำหรับเด็กในต่างประเทศใช้กันเป็นหลักคือหนังสือชุด สวัสดี จัดทำโดย อาจารย์สาลี่ ศิลปสธรรม ซึ่งบทเรียนจะไม่เหมือนที่เด็กไทยเรียนในประเทศไทยเพราะออกแบบให้เหมาะสมกับการเรียนภาษาไทยเป็นภาษาที่สองของเด็กโดยเฉพาะ

นอกจากหนังสือชุดสวัสดีที่เป็นกระดูกสันหลังหลัก สื่อการเรียนประกอบการสอนอื่นๆ ก็สำคัญไม่แพ้กัน แน่นอนสื่อสำเร็จรูปหาซื้อต่างแดนไม่ง่ายแน่ๆ ครูที่นี่จึงต้องงัดฝีมือและความคิดสร้างสรรค์กันสุดฤทธิ์ประดิษฐ์กันขึ้นมาเอง บางคนพลิกแพลงจากเกมที่เราคุ้นเคยมาจับคู่กับภาษาไทยได้อย่างลงตัว เช่น เกมอูโน่สระ เกมโดมิโน่อวัยวะ ซึ่งเวลาเล่น ไม่เน้นเร็ว หรือแค่ดูและเชื่อมโยงเท่านั้น สิ่งสำคัญคือครูต้องกระตุ้นให้เด็กพูดสิ่งที่อยู่บนสื่อออกมาก่อนด้วย 

ถึงจะเป็นครูมือใหม่หัดสอน แต่มาตรฐานของครูแม่อาสาจัดว่าเข้มข้น ครูแม่กลุ่มนี้ไม่ได้สอนให้เด็กพูดและเขียนภาษาไทยได้เท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับความถูกต้องและรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น การเขียนพยัญชนะไทยที่เริ่มจากส่วนหัวก่อนเสมอ หรือการวางตำแหน่งของสระ คุณครูจะช่วยเหลือและดูเด็กทีละคนจนทำได้ถูกต้อง เพราะถ้าปล่อยให้เด็กทำผิดโดยไม่แก้ไข เด็กจะจำติดตัวไปและแก้ไขได้ยากกว่า 

เวลาที่เด็กตอบคำถามถูกหรือทำแบบฝึกหัดเสร็จ ครูก็จะให้ของรางวัล อาจจะเป็นสติกเกอร์ ตัวปั๊ม หรือขนม ของเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ก็ทำให้เด็กจิ๋วทั้งหลายยิ้มแป้นหน้าบาน มีกำลังใจเรียนกันทุกคน

จากประสบการณ์การสอนเข้าสู่ปีที่ 11 ของโรงเรียนช้างน้อย ทำให้คุณครูลงความเห็นว่าเด็กที่มาเรียนควรเริ่มต้นที่อายุ 7 ปี เพราะมีความพร้อมระดับหนึ่ง และถ้าไม่ผ่านการประเมิน ทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน ก็จะไม่ปล่อยให้ผ่านชั้น เพราะทุกระดับมีความสำคัญและสัมพันธ์กันเป็นลำดับขั้นไป 

เหตุผลสำคัญที่ไม่ปล่อยคือ ถ้าเด็กขึ้นชั้นโดยไม่พร้อม น้องจะไปต่อได้ยากและเรียนไม่สนุก ซึ่งอาจจะทำให้ไม่อยากมาโรงเรียนอีก

เมื่อโรงเรียนเลิก เด็กๆ ได้กลับบ้าน แต่งานคุณครูไม่จบเพียงเท่านั้น คุณครูอาสาจะมานั่งล้อมวงคุยกันถึงเด็กๆ และการเรียนการสอนของแต่ละระดับชั้น ว่าเป็นอย่างไร มีอุปสรรคอะไรบ้าง ต่างเสนอแนะวิธีการปรับปรุงการสอน เพื่อให้ครั้งต่อไปดีกว่าเดิม กว่าจะแยกย้ายก็เกือบหมดวันพอดี 

ครูอาสาในช่วงโควิด

เมื่อมีสถานการณ์โรคระบาดเกิดขึ้น โรงเรียนต้องปิดตามนโยบายรัฐบาล แต่ครูอยากสอน พ่อแม่ไม่อยากเลิก เด็กๆ ก็อยากเรียน งานเข้าแล้วสิ! 

จากเดิมสอนหน้าชั้นก็ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะเข้าที่เข้าทาง พอมาคราวนี้ คุณครูต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เลือกใช้วิธีสอนออนไลน์แทนทั้งที่ไม่ถนัด เครือข่ายหญิงไทยในยุโรปจึงเข้ามาช่วยเหลือโดยจัดอบรมการใช้โปรแกรมตัดต่อคลิปวิดีโอออนไลน์ คุณครูต้องทำสคริปต์เอง อัดวิดีโอและแสดงเอง บางครั้งถ่ายทำไป ก็ขำไป นักแสดงหน้าใหม่ตื่นกล้องกันบ้างเป็นธรรมดา พอตัดต่อเสร็จก็ส่งให้เด็กๆ เรียน ถึงจะตะกุกตะกักไปบ้าง แต่ผลตอบรับก็น่าพอใจ อย่างน้อยคุณครูได้พัฒนาทักษะอีกขั้น และเด็กๆ ก็ได้เรียนอย่างต่อเนื่องด้วย

ความตั้งใจของคุณครูที่จะสอนให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ทำให้ช่วงที่โบไปช่วยงานได้ติดตามคุณครูอาสาไปดูงานเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และวิธีการสอนกันถึง 5 โรงเรียน คือ โรงเรียนช้างน้อย ซูริค, โรงเรียนสอนภาษาและวัฒนธรรมไทย ณ นครเจนีวา, โรงเรียนต้นกล้า บาเด้น, โรงเรียนอาทิตย์อุทัย แวเดนส์วิลล์ และโรงเรียนศูนย์ไทยคลาสสิก โซโลทูรน์ คุณครูแม่อาสาทุกคนให้การต้อนรับที่อบอุ่นมาก

ส่วนโบที่ได้ติดสอยห้อยตามไปก็ช่วยเสริมความสนุกโดยการเล่านิทานด้วย ก่อนเล่านิทานทุกครั้งมีความหวั่นใจ เด็กจะรู้ภาษาไทยมากพอที่จะเข้าใจนิทานไหมนะ ถ้าไม่เข้าใจเขาจะสนุกไหมนะ

แต่ความหวั่นใจเหล่านั้นก็หายวับ หลังจากได้เห็นแววตาระยิบระยับ ปฏิกิริยา และการโต้ตอบของเด็กๆ อย่างอบอุ่น 

นิทานคือภาษาสากล

พวกเขาชอบฟังนิทาน

นิทานมีความสากล ถึงเด็กจะยังอ่านไม่ได้ ฟังไม่ค่อยเข้าใจ แต่รูปภาพจะช่วยสื่อสารเรื่องราว ทำให้เด็กเข้าใจและสนุกไปกับนิทาน บางคนอยากให้อ่านอีก บางคนขอหยิบเปิดเอง นี่แหละคือพลังของนิทานที่ช่วยเสริมสร้างนิสัยรักการอ่าน และถ้าเด็กอยากเข้าใจเรื่องราว ก็จะกลับไปสู่การเรียนภาษาไทยเพื่อให้อ่านออกได้ด้วยตนเอง ทุกคนชอบฟังนิทาน เด็กก็ชอบ ผู้ใหญ่ก็ชอบ ทุกคนต่างเข้าใจว่านิทานสำคัญต่อเด็กขนาดไหน

เมื่อส่งเด็กๆ กลับบ้าน ถึงเวลาห้องเรียนคุณครู ทุกคนมานั่งสะท้อนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากการสังเกต และเสนอวิธีพัฒนาการสอน สิ่งที่น่ารักคือการพูดขอบคุณที่ทุกคนอาสามาทำงานเพื่อเด็กๆ การเห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน เป็นน้ำหล่อเลี้ยงใจให้มีพลังทำงานต่อไป 

นอกจากนี้โบยังได้แบ่งปันเทคนิคการเล่านิทานที่เรียนรู้และต่อยอดจากคุณครูที่ไทยในรูปแบบต่างๆ ทั้งเล่าไปพับไป เล่าไปวาดไป เล่าไปร้องไป สิ่งที่ประทับใจมากๆ คือเมื่อสาธิตจบ คุณครูเสนอตัวลงมือทำทันที เกิดเป็นนิทานเรื่องใหม่มาแลกเปลี่ยนกันอีกมากมาย พลังของความคิดสร้างสรรค์จะทำให้เรามีสื่อไม่รู้จบ 

วันที่ได้นั่งคุยกันพร้อมๆ กับกินอาหารไทยที่ทำกันเอง มีทั้งครูใหญ่ ครูใหม่ ครูประจำ และครูผู้ช่วย เรารับรู้ได้ว่าคุณครูแม่อาสาทุกคนต่างเริ่มต้นด้วยความไม่มั่นใจ กลัว ไม่กล้า ไม่รู้วิธีที่จะจัดการกับความแตกต่างของเด็กแต่ละคน เรื่องของการแบ่งเวลาเพื่องานอาสาที่ไม่กระทบงานประจำและเวลาครอบครัว หาซื้อสื่อการสอนเหมือนอยู่ที่ไทยไม่ได้ จึงต้องใช้เวลาทำเองเกือบทั้งหมด ในทุกๆ ครั้งที่สอนก็อาจมีปัญหาให้กลับไปขบคิดว่าจะแก้อย่างไร แต่ด้วยหัวใจของความเป็นแม่ จึงมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำเพื่อเด็กจริงๆ และเมื่อทำอย่างต่อเนื่อง ประสบการณ์ทำให้คุณแม่เก่งขึ้น เป็นที่รักของเด็กๆ เด็กบางห้องไม่อยากย้ายชั้นเพราะรักคุณครูเสียแล้ว 

สัมผัสได้เลยว่านอกจากจะเป็นคุณแม่แล้ว พวกเขานี่แหละคือครูจริงๆ ที่เราอยากให้เด็กๆ ได้เรียนด้วย

ประสบการณ์ในครั้งนี้มีคุณค่ามากๆ เพราะทำให้เห็นว่าอีกฟากหนึ่งของโลก ยังมีกลุ่มคนไทยที่ให้ความสำคัญกับเด็กและการศึกษาอย่างจริงจัง พลังความปรารถนาดีและความตั้งใจของคุณแม่ คุณพ่อ และคุณครูทุกท่าน ทำให้พวกเขาก้าวข้ามข้อจำกัดหลายๆ อย่างไปได้ 

นั่นเพราะทุกคนไม่ได้คาดหวังผลประโยชน์ส่วนตัว แต่หวังให้ผลประโยชน์นี้เกิดขึ้นกับเด็กๆ ที่รักในชุมชนของพวกเขาอย่างแท้จริง


Writer

Avatar photo

ณัฐรดา กิตติคุณเดชา

ชอบท่องเที่ยว ชอบขีดเขียน ชอบวาดรูปกุ๊กกิ๊ก สนุกกับการทดลองทำอะไรใหม่ๆ และหลงรักการทำงานเกี่ยวกับเด็ก เชื่อว่ารอยยิ้มจะทำให้เกิดมิตรภาพและกำลังใจในวันที่อ่อนแอที่สุด เลยใช้ชื่อในงานว่า Bonalisa Smile : )

Related Posts