“สวัสดีค่า พริมนะคะ”
“สวัสดีค่า เตยค่ะ”
“พวกเรามาจากคณะละครปู๊นปู๊น!”
พริม-ญาณิศา กายสุต (ซ้าย) – เตย-ณิชา รอดอนันต์ (ขวา)
ประโยคแนะนำตัวด้วยน้ำเสียงสดใสคลอไปกับเสียงดนตรีจากอูคูเลเล่และไซโลโฟนที่ พริม-ญาณิศา กายสุต และ เตย-ณิชา รอดอนันต์ บรรเลงในยามบ่าย พาเราเข้าสู่บรรยากาศของความน่าตื่นตาตื่นใจราวกับได้ย้อนวัยกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง
เนื้อเรื่องจากหนังสือนิทานที่แปรเปลี่ยนกลายเป็นเนื้อเพลงที่สนุกสนาน พร้อมกับรอยยิ้มเบิกบานที่พริมและเตยมอบให้ในระหว่างพูดคุยและเล่นดนตรี ทำให้เราไม่แปลกใจเลยที่ ‘คณะละครปู๊นปู๊น’ คณะละครเพลงขวัญใจวัยรุ่นฟันน้ำนมนี้ จะครองใจเด็ก ๆ ผ่านเสียงดนตรีมาเป็นระยะเวลานานกว่า 6 ปี
เพราะแค่เพียงได้ฟังเสียงดนตรีคลอเบา ๆ ระหว่างบทสนทนา เราก็สัมผัสได้ถึงพลังความสนุกที่ทั้งสองคนพร้อมส่งต่อให้ผู้ฟังตรงหน้า จนเรียกได้ว่าการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ เป็นการพูดคุยที่เราได้รับพลังกลับมาเยอะพอ ๆ กับเรื่องราวที่เราได้รับฟังเลย
สถานีต้นทางของรถไฟปู๊นปู๊น
ในวันที่ท้องฟ้าสดใสและอากาศสุดแสนจะเป็นใจ บทสนทนายามบ่ายของทีม Mappa กับ ‘พริม’ และ ‘เตย’ เริ่มต้นขึ้นที่ ‘ล้านนาอารีย์เธียเตอร์’ สถานที่จัดแสดงละครและกิจกรรมที่รีโนเวทจากเรือนไทย พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับครอบครัวและผู้มีใจรักศิลปะที่เตยรับหน้าที่ดูแลอยู่ ณ เวลานี้
บรรยากาศรอบ ๆ เรือนไทยที่ดูสงบและสบายตา ชวนให้เรารู้สึกผ่อนคลายไปกับเสียงลมและเสียงดนตรี เป็นบรรยากาศที่เหมาะกับการสนทนาในวันที่จริง ๆ
หลังจากที่พวกเราต่างผลัดกันแนะนำตัวอย่างสนุกสนานก่อนจะเริ่มพูดคุยกัน พลันสายตาของเราก็เหลือบไปเห็นหนังสือนิทานกองใหญ่ที่วางอยู่ข้าง ๆ พริม เธอค่อย ๆ หยิบหนังสือเหล่านั้นออกมาวางเรียงกัน พลางเล่าว่าหนังสือนิทานพวกนี้เป็นไอเทมที่เธอต้องพกไว้ในรถเสมอ
“ต้องมีติดรถไว้ จะได้วิ่งเข้าชาร์จเด็ก ๆ ได้ทันที” พริมอธิบายอย่างติดตลก ก่อนที่สองเพื่อนซี้จะพาเราย้อนกลับไปฟังเรื่องราวในวันที่ ‘ละครเพลง’ ได้พาหญิงสาวผู้มีความฝันในการทำละครเด็กมาพบกัน วันที่เส้นทางของเสียงดนตรี นิทาน และการต่อจิ๊กซอว์ความฝันของพริมกับเตยได้เริ่มต้นขึ้น ณ สถานีต้นทางของรถไฟขบวนนี้
เตยเรียนจบจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาการละคอน เอกการแสดง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากที่ได้ทุ่มเทและใช้เวลาไปกับการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยจนคว้าเกียรตินิยมอันดับ 2 มาได้สำเร็จ เตยก็ได้ค้นพบว่าเธอตกหลุมรักการทำละครเด็ก จึงเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะละคร ‘Yellow Fox Theatre’ ซึ่งเป็นคณะละครเด็กของรุ่นพี่ที่มหาวิทยาลัย และได้ไปร่วมแสดงตามงานต่าง ๆ หลังจากเรียนจบ
ส่วนพริมนั้นเรียนจบด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2 จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ เอกขับร้องละครเพลง มหาวิทยาลัยมหิดล เธอรักในเสียงดนตรี และใฝ่ฝันอยากทำละครเพลงที่มีตัวเอกเป็น ‘กล้วย’ ดูสักครั้ง พริมจึงเริ่มทำละครเพลงเรื่อง ‘กล้วย The Musical’ จนกระทั่งได้มาพบกับเตยในงานแสดงละครเพลงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ด้วยความที่เตยนั้นชื่นชอบการเล่นกับเด็กและรักในการแสดงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และพริมเองก็ชื่นชอบนิทานและการเล่นดนตรีเป็นชีวิตจิตใจ เตยจึงชักชวนพริมให้มาทำละครเด็กด้วยกัน เพราะเห็นว่าการสื่อสารกับเด็กในรูปแบบของการเล่นละครนั้นเป็นเสมือนการนำเอาวัตถุดิบที่แต่ละคนมีมาผสมกันอย่างลงตัว
“เตยชอบเล่นกับเด็กและชอบอยู่กับเด็กมาก ๆ ก็เลยทำผลงานธีสิสเป็นละครเด็ก เรื่อง The Arkansaw Bear พอเรียนจบมาก็รู้สึกว่ายังมีแพสชันอยู่ ยังอยากทำอะไรให้เด็ก ๆ ได้ดู อยากทำให้เด็กซาบซึ้งใจไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารด้วยประเด็นที่หนักหรือเบา ละครเด็กมันก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการสื่อสารกับเด็ก พอได้มาเจอพริมในตอนที่เขาทำละครเด็กกับเพื่อน ๆ ที่เรียนมหิดล เรารู้สึกว่าคนนี้สุดยอดเลย ถ้าเรามารวมกันได้มันต้องวิเศษมาก ก็เลยเดินเข้าไปบอกเขาว่า เธอ ๆ ทำละครด้วยกันสักเรื่องหนึ่งนะ”
“วันที่แสดงละครเพลงเรื่อง ‘กล้วย The Musical’ ตอนนั้นพริมยังไม่รู้จักละครเด็กเลย พริมเป็นนักดนตรี ชอบร้องเพลงแล้วก็ชอบนิทานด้วย ก็เลยเอาทุกอย่างมารวมกัน เอาเพื่อน ๆ น้อง ๆ และเด็กนักเรียนที่เรียนดนตรีกับเรามาเล่นละครด้วยกัน จริง ๆ จุดเริ่มต้นมันงงมาก แต่ที่กลายมาเป็นคณะละครปู๊นปู๊นได้ก็เป็นเพราะได้เจอกับเตย เตยเขามีไอเดียอยู่แล้ว เขาบอกเราว่ามันมีจริง ๆ นะละครเด็กที่ทำเพื่อครอบครัว และทำให้เด็ก ๆ ได้มามีส่วนร่วมกัน ได้มาเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน” พริมเล่าพลางดีดอูคูเลเล่เบา ๆ
หลังจากที่เตยและพริมได้พูดคุยทำความรู้จักกันในงานวันนั้น พวกเธอทั้งคู่ต่างห่างหายกันไปสักพัก กระทั่งวันหนึ่งพริมได้ถ่ายรูป ‘ใบไม้ใบใหญ่’ แล้วอัปโหลดลงในอินสตาแกรม เตยจึงตัดสินใจทักพริมไปเพื่อชวนทำละครเด็กจากใบไม้ใบนี้ตามที่พวกเธอเคยพูดคุยกันไว้ ซึ่งหลังจากที่พริมตอบตกลง พวกเธอก็ได้นัดหมายกันเพื่อวางคาแรคเตอร์ตัวละครทันที
และแล้ว ‘หนอนเหลือง’ และ ‘หนอนแดง’ คาแรคเตอร์ที่เป็นภาพจำของคณะละครปู๊นปู๊นแห่งนี้ ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น
“เตยคิดว่าพริมเป็นคนนิ่ง ๆ แต่มีความสดใส มีพลังของความเป็นเด็ก แล้วก็มีบุคลิกของความเป็นครูด้วย ในขณะที่เตยจะมีความซนและชอบเล่นกับเด็ก ก็เลยกลายมาเป็นหนอนเหลืองกับหนอนแดง”
“เราได้แรงบันดาลใจจากการ์ตูนของเกาหลีเรื่อง ‘Larva’ ส่วนที่ต้องเป็นสีเหลืองกับสีแดง เพราะเรารู้สึกว่าสีเหลืองมีความสดใสและพริมก็ชอบสีเหลือง จริง ๆ แล้วเตยชอบสีม่วง แต่แดงกับเหลืองมันเป็นคู่สีที่ดูดี แล้วสีแดงก็เป็นสีที่มีเอเนอร์จี้เหลือล้น ดูร่าเริง พร้อมลุย เราก็เลยรู้สึกว่ามันควรจะเป็นเหลืองกับแดง” เตยเล่าที่มาของตัวละครหนอนเหลืองและหนอนแดงให้เราฟัง
แต่บทบาทของทั้งพริมและเตยก็ไม่ได้มีแค่การเป็น ‘พี่หนอนเหลือง’ และ ‘พี่หนอนแดง’ แห่งคณะละครปู๊นปู๊นเพียงเท่านั้น เพราะพริมยังคงมีบทบาทในการเป็นครูสอนดนตรีและศิลปินเดี่ยวในนาม PARIM ส่วนเตยเองก็ยังคงมีบทบาทในการเป็นนักแสดง ซึ่งแม้ว่าพวกเธอจะต้องคอยสลับบทบาทหน้าที่ในการทำงานอยู่บ่อยครั้ง แต่การทำคณะละครปู๊นปู๊นก็ไม่ได้ทำให้พวกเธอรู้สึกฝืนตัวเองเลยแม้แต่น้อย เพราะคณะละครแห่งนี้ได้กลายมาเป็นพื้นที่แสดงพลังความเป็นเด็กของพริมและเตย ทั้งยังเป็นพื้นที่ปลอดภัยและเป็นความสบายใจให้กับทั้งสองคนอีกด้วย
“คาแรคเตอร์ของพริมก็จะเป็นประมาณนี้แหละ มีเอเนอร์จี้ของความเป็นเด็ก คือเราไม่ได้เป็นนักดนตรีที่ขึ้นไปบนเวทีแล้วดูเท่ตลอดเวลา เพราะพริมจะมีความก๊องแก๊งอยู่บ้าง (หัวเราะ) มันก็เป็นตัวตนเราในอีกรูปแบบหนึ่ง พอมาทำปู๊นปู๊นก็เลยไม่ต้องฝืนตัวเอง ส่วนบทบาทในการเป็นคุณครูก็จะมาช่วยเตยได้เยอะเลย เพราะเตยเป็นนักแสดง เขาจะถนัดด้านละครเด็ก เป็นพาร์ทของการสร้างละครขึ้นมา ส่วนเราก็จะใช้การสอนดนตรีเข้ามาช่วย มีเรื่องของการแต่งเพลง ก็เลยรวมกันได้ลงตัวพอดี”
“เตยรู้สึกว่าหนอนเหลืองกับหนอนแดงคือตัวตนของพริมและเตยจริง ๆ ทุกครั้งที่ต้องเล่นเรื่องใบไม้ใบใหญ่มันก็เลยไม่ยาก เพราะมันยังคงเป็นตัวตนของเรา ทำให้พวกเรารู้สึกว่าเมื่อตอนที่พวกเราเริ่มต้น เราเป็นคนแบบนี้นะ มันเคยมีเอเนอร์จี้แบบนี้อยู่”
เส้นทางของรถไฟปู๊นปู๊น
ชื่อของคณะละครปู๊นปู๊น มีที่มาจากเป้าหมายแรกเริ่มของพริมและเตยที่อยากเดินทางไปหาเด็ก ๆ บนดอยเพื่อเล่านิทานให้ฟัง พวกเธอจึงเลือกใช้ ‘รถไฟ’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเดินทางมาตั้งเป็นชื่อคณะละคร เพื่อที่จะสื่อว่าคณะละครนี้จะเป็นคณะละครเพลงที่ไม่หยุดอยู่กับที่ แต่จะออกเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อสร้างความสุขให้กับเด็ก ๆ
“ตอนแรกเราทำกันสองคนเล็ก ๆ ไม่ใหญ่มาก หลังจากนั้นเตยได้ไปรู้จักกับพี่คนหนึ่ง ก็เลยขอคำแนะนำจากเขาว่าควรเริ่มตรงไหนดี ควรจะติดต่อใครดี มันก็เลยค่อย ๆ ใหญ่ขึ้น คนเริ่มรู้จักเรามากขึ้น เราก็เลยเริ่มทำเพจเฟซบุ๊ก คุณพ่อคุณแม่ที่ไปดูการแสดงตามงานก็เริ่มแนะนำปากต่อปาก ก็จะมีพ่อแม่มาติดต่อให้ไปเล่นงานวันเกิดลูก เราก็ไป เพราะตอนนั้นไฟแรง ไกลแค่ไหนเราก็ไป”
เตยเล่าว่าก่อนหน้านี้พวกเธอตั้งใจออกแบบการแสดงให้อยู่ในรูปแบบของละครเพลงเท่านั้น แต่เมื่อโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาด พวกเธอจึงจำเป็นต้องปรับรูปแบบการแสดงให้ออกมาเป็น ‘การเล่านิทาน’ เพราะเป็นรูปแบบการเล่าที่เล็กและง่ายกว่าละครเพลง และยังสามารถเข้าถึงเด็ก ๆ ผ่านทางช่องทางออนไลน์ได้
“เวลาคิดบทในการเล่า เตยจะคิดคร่าว ๆ ไว้ก่อนว่า โอเค เราจะมีธีมเรื่องนี้นะ แล้วเราสองคนก็จะคุยกันว่าตัวละครมีคาแรคเตอร์แบบนี้นะ เตยก็จะคิดคำพูดหรือบทออกมาคร่าว ๆ แล้วก็คิดว่าตรงไหนควรจะใส่เพลงลงไป ตรงนี้เราจะเล่นด้วยกัน ใส่เพลงอีกสักเพลง อะไรประมาณนี้ แล้วก็จะมี first read มาลองกันว่าคำพูดเข้าปากไหม หรืออยากเพิ่มมุกตลกอะไรเข้าไป” เตยเล่าถึงวิธีการทำนิทานเพลง
“บางเรื่องพอเล่นไปมันจะรู้สึกได้ว่าอันนี้ไม่น่าเวิร์กนะ เราก็จะปรับเปลี่ยน อาจจะเป็นเพราะเราทำงานกับเด็ก เราก็จะรู้ว่าอันไหนที่มันเริ่มยากเกินไป อันไหนที่เล่นแล้วเด็ก ๆ จะนั่งแบบนี้ (ทำหน้างง) ซึ่งก็ไม่แปลกที่บางครั้งเด็ก ๆ จะเป็นแบบนี้ มันเป็นเรื่องปกติ เป็นเสน่ห์อีกอย่างที่ทำให้ผู้ปกครองได้เข้ามามีส่วนร่วม ได้มาช่วยอธิบายให้ลูกฟัง” พริมเสริม
“เตยจะชอบจับเซนส์คนดู และจะมีมุกที่คิดว่าเข้ากับพริม เป็นมุกเท่ ๆ คือคิดตามคาแรคเตอร์ได้ หรือถ้าเตยเห็นเขาทำอะไรที่มันแบบ เฮ้ย อันนี้ก็ได้นี่ ตลกธรรมชาติ เตยก็จะเก็บมาใส่ ส่วนเรื่องที่เป็นละคร พวกเราจะมีรอบ audience test ชวนแก๊งแฟนคลับเป็นคุณแม่ที่สนิทกันมาดู แล้วก็จะดูว่าเล่นแล้วน้อง ๆ เป็นยังไงกันบ้าง ถามฟีดแบ็กจากคุณแม่ก่อนจะเอาไปโชว์จริง”
‘บทเพลงและเสียงดนตรี’ คือเครื่องมือที่พริมและเตยหยิบมาใช้ในการถ่ายทอดเรื่องราวหลากหลายรูปแบบ ทั้งละครเพลงและนิทาน ซึ่งในระหว่างการแสดงนั้น เด็ก ๆ จะได้มีส่วนร่วมในการร้องเพลงไปพร้อม ๆ กัน ดนตรีและเสียงเพลงจึงเป็นอีกหนึ่งสายสัมพันธ์ที่คอยเชื่อมโยงผู้ชมตัวจิ๋วกับคณะละครปู๊นปู๊น และช่วยให้เรื่องราวจากหนังสือนิทานเล่มเล็กยังคงบรรเลงเป็นเสียงดนตรีอยู่ในความทรงจำของเด็ก ๆ วัยนี้ได้
“พริมว่าเพลงมันช่วยย่อเรื่องราวให้เด็กเข้าใจได้ง่ายขึ้น สมมติว่าเราเล่นให้เป็นบรรยากาศ (เริ่มดีดอูคูเลเล่) เปาะแปะ เปาะแปะ พอใช้ดนตรีแล้วเขาก็จะจำแล้วร้องตามเรา เขาจะโยกตามและค่อย ๆ สงบลง อย่างเพลงนี้คือเพลงตอนเริ่มเล่นละคร ใช้เพื่อเซ็ตอารมณ์เด็กให้นิ่ง เรื่องเซ็ตอารมณ์นี่สำคัญมากเลย เราเคยพลาดมาเยอะกับการไม่เซ็ตอารมณ์เด็ก ทุกอย่างวุ่นวายไปหมด (หัวเราะ)”
“เด็ก ๆ เขาพลังเยอะ แต่ถ้ามีเพลงหรือกิจกรรมอย่าง ‘ดัมดัมดาด๊า’ พอได้ยินเสียงเราร้องเพลงเด็กก็จะหยุดนิ่ง (เสียงอูคูเลเล่ดังขึ้น) สมมตินะว่าเด็ก ๆ เริ่มมากันแล้ว ดัมดัมดาด๊า (ดีดอูคูเลเล่) ขอเสียงหน่อย (เสียง mappian ร้องตอบ) เห็นไหม ร้องได้เลย แล้วเราก็จะพาเขาเข้าสู่ละคร เราไม่ต้องไปคอยบอกเลยว่าทุกคนต้องเงียบ เสียงเพลงจะทำให้เขาค่อย ๆ สงบลง”
“หรือถ้าเป็นเพลงที่สื่ออารมณ์ อย่างเช่น (ร้องเพลง) ชัยชนะจะเป็นของฉัน ฉันว่าเธอนั้นควรจะรู้ไว้ ชัยชนะจะเป็นของฉัน ฉันว่าฉันชนะแน่นอน” พริมร้องเพลงด้วยสีหน้ามั่นใจอย่างผู้ชนะ ก่อนจะมีเสียง ‘แหวะ’ เล็ก ๆ ของเตยเป็นจังหวะตบท้าย
“เวลาเล่นก็จะใส่มุกแซวกันแบบนี้บ้าง สลับอารมณ์ตึงเครียดผ่อนคลาย”
“พอมีเพลงเข้ามาแทรก มันจะทำให้เรื่องราวไปต่อได้ อย่างเพลงเมื่อกี้ก็ทำให้เด็กรู้ว่าเรากำลังทะเลาะกันโดยที่ไม่ต้องมีบทอะไรมากมาย แล้วเด็ก ๆ ก็สนุกไปด้วย” พริมอธิบายต่อ
นอกจากนี้ ‘ทักษะการแสดง’ ก็เป็นอีกหนึ่งทักษะที่พริมและเตยนำมาใช้ในการจัดกิจกรรมให้เด็ก ๆ ได้มีส่วนร่วม เช่น การจัดเวิร์กชอป ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เด็ก ๆ จะได้ใช้จินตนาการอย่างสนุกสนาน ถึงแม้บางครั้งจะมีเรื่องราวอลวนเกิดขึ้นในกิจกรรมบ้าง แต่พวกเธอก็มองว่าเป็นสีสันในการทำงานกับเด็ก ๆ
“บางทีเขาอยากเป็นนางเอกพร้อมกัน 4 คน เราก็จะบอกว่างั้นมาออดิชันกันไหม บางคนก็ยอมบางคนก็ไม่ยอม ถ้าไม่ยอมก็มีนางเอก 4 คนไปเลย ก็ต้องหาวิธี compromise กับเขา มันคือการดูหน้างานว่าอะไรที่เด็กมีความสุข” พริมเล่า
“เวลามีเวิร์กชอปเราจะยึดเด็กเป็นหลัก คือเตยเป็นคนเขียนบท เตยก็จะรู้ว่าพาร์ทนี้อยากให้เด็กพูด แต่เตยก็จะไม่ไปกำหนดว่าน้อง ๆ จะต้องพูดคำนี้ จะต้องเป็นอย่างนี้นะ เพราะเราไม่รู้ว่าจะได้เจอเด็กกี่ขวบบ้าง บางทีก็ต้องปรับบทที่หน้างาน บทนี้พูดพร้อมกันสองคนก็ได้นะ หรืออันนี้แบ่งกันพูดนะ หรือคนนี้กล้าแสดงออกมากเลย ให้เขาพูดนำแล้วให้คนอื่นขานรับ เท่านี้เด็ก ๆ ก็โอเคแล้ว”
สถานีต่อไปของรถไฟปู๊นปู๊น
เมื่อรถไฟขบวนนี้ขับเคลื่อนอยู่บนรางมาเป็นระยะเวลากว่า 6 ปี เตยและพริมเล่าว่าสถานีต่อไปของคณะละครปู๊นปู๊นจะไม่หยุดอยู่เพียงแค่รูปแบบของละครเพลง แต่พวกเธอยังวางแผนที่จะทำหนังสือนิทานออกมาเป็นรูปเล่ม และยังมีโปรดักชันรูปแบบอื่น ๆ ที่อยากนำเสนอให้เด็ก ๆ ได้รับชมและมีความสุขไปกับเรื่องราวที่คณะละครแห่งนี้ตั้งใจรังสรรค์ออกมา
“พริมอยากเห็นรูปเล่มนิทานที่เป็นของจริง พวกเราเคยคุยกันไว้เรื่องทำหนังสือนิทานเป็นรูปเล่ม เพราะเราเคยทำแค่ในรูปแบบการแสดงละคร อาจจะเป็นเพราะเราเริ่มอายุมากขึ้นแล้ว ร่างกายเรามันช่างเหนื่อยเหลือเกิน (หัวเราะ) ก็เลยคิดว่าเราควรมีสื่อรูปแบบอื่นบ้าง”
“เตยมองว่าคณะละครปู๊นปู๊นจะมีไปเรื่อย ๆ แต่มันก็อาจจะต้องมีสับเซตย่อยลงไป มีเตยกับพริม หนอนเหลืองหนอนแดง หรือมีเซ็ตอื่น ๆ ที่เป็นรูปแบบละครโปรดักชันใหญ่กับทีมที่ทำด้านนี้ หรือมีเซ็ตอื่น ๆ สำหรับทำกิจกรรมเวิร์กชอปร่วมกัน เตยมองว่ามันจะเป็นการแตกสาขาเพิ่มขึ้น คือไม่จำเป็นจะต้องเป็นเตยกับพริมเท่านั้น”
“พริมคิดว่าการที่เราสองคนทำงานด้วยกันมันสุดยอดมาก คือเตยจะรู้ว่าพริมมีพลังเยอะ แต่เตยก็จะรู้เหมือนกันว่าพริมเหนื่อย ขอบคุณเตยที่คอยพาพริมกลับมาในพื้นที่คณะละครปู๊นปู๊นตรงนี้ เตยเป็นคนที่ทำให้พริมค่อนข้างมั่นใจว่าชอบทำละครเด็กมาก ๆ เราต่างช่วยซัพพอร์ตกันและกัน ทำให้ทุกอย่างสมดุล อะไรที่พริมทำไม่ได้ก็จะมีเตยที่ทำได้ อะไรที่เตยทำไม่ได้พริมก็จะทำได้ มันมีช่วงที่ไม่ได้ทำด้วยกันนาน เป็นช่วงที่เราไม่ไหว หรือบางทีเตยก็ไม่ไหวเหมือนกัน แต่สุดท้ายเราจะดึงกันและกันกลับมาเสมอ”
“ใช้คำว่าเข้าใจแหละเนอะ เพราะทุกคนก็ต้องเติบโต ถ้าถามว่า แล้ววันหนึ่งหนอนจะกลายเป็นผีเสื้อไหม คือเตยรู้สึกว่าพริมเป็นผีเสื้อมานานแล้ว เขามีเส้นทางของตัวเอง เขาเป็นศิลปินด้วย เขาเป็นครูสอนดนตรีด้วย เป็นผีเสื้อที่ต้องบินไปนู่นมานี่ แต่เราก็รู้สึกว่าผีเสื้อตัวนี้ก็ยังบินกลับมาทำอะไรตรงนี้ด้วยกันกับเราเสมอ”
“เพราะสิ่งที่ทำอยู่มันคือดอกไม้ของเรา” พริมตอบพร้อมรอยยิ้ม
สถานีปลายทางของรถไฟปู๊นปู๊น
เมื่อได้ฟังเรื่องราวของรถไฟปู๊นปู๊นตั้งแต่แรกเริ่มจนมาถึงปัจจุบัน เรามองเห็นภาพความสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบ ทั้งความสัมพันธ์ของเพื่อนที่ไว้ใจกันและกัน ความผูกพันระหว่างคณะละครปู๊นปู๊นกับเด็ก ๆ และความมหัศจรรย์ของเสียงดนตรีที่เชื่อมโยงทุกคนเอาไว้ด้วยกัน เราจึงอดสงสัยไม่ได้ว่าภาพสถานีปลายทางที่พริมและเตยอยากจะไปให้ถึงนั้นจะเป็นภาพแบบไหน และมีอะไรที่รอรถไฟขบวนนี้อยู่ ณ ปลายทางบ้าง
“พวกเราคุยกันเยอะมากเลยว่าอยากทำอะไร แต่ด้วยความที่แต่ละคนก็ยังมีอะไรหลายอย่างที่ต้องทำ สิ่งที่ต้องรอก็คือรอเวลาให้สิ่งที่คิดไว้เกิดขึ้น ก็เลยรู้สึกว่าตอนนี้ปลายทางของเราอาจจะยังไม่ได้ชัดเท่าไร แต่ถ้าตอบในตอนนี้ พริมคิดว่ามันคือสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ พวกเราอยากทำให้เด็กมีความสุขไปเรื่อย ๆ”
“คำว่าละครมันทำคนเดียวไม่ได้ มันต้องมีทีม มันอาจจะเหนื่อย ไม่ได้เงินเยอะ แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือพลังจากเด็ก ๆ และเด็ก ๆ ก็ได้พลังจากเรากลับไป เขามีเรื่องราวกลับไปเล่าให้พ่อแม่ฟัง พ่อแม่ก็ส่งข้อความมาบอกเราว่าลูกยังร้องเพลงได้อยู่เลยนะ ผ่านมานานแล้วก็ยังจำพี่หนอนเหลืองกับพี่หนอนแดงได้อยู่เลย มันยังเป็นภาพความทรงจำของเขาอยู่”
“แต่หลังจากนั้นพอเด็ก ๆ โตขึ้น เขาก็จะลืมพวกเราแหละ แต่ว่า ณ ตอนนั้นเขาได้อะไรกลับไปแล้ว ไม่แน่ว่ามันอาจจะซึมซับอยู่ในตัวเขา มันอาจจะทำให้เขาชอบดนตรี ชอบเสียงเพลง ถึงแม้เขาจะลืมพวกเราแน่ ๆ แต่เราก็ได้ทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุดแล้ว และเราก็มีความสุขที่ได้ทำ”
“เตยเป็นคนผูกพันกับเด็ก เราเห็นน้อง ๆ โตขึ้นเรื่อย ๆ ก็เหมือนว่าเราได้โตไปกับเขา แต่เราก็รู้ว่าเด็ก ๆ กำลังจะมีสิ่งใหม่ที่เขาสนใจมากกว่าเราแล้ว เขากำลังจะไปเรียนรู้อย่างอื่นแล้วนะ ทำให้บางทีเราก็รู้สึกใจหายอยู่เหมือนกัน แล้วหลังจากนี้เราจะเล่นให้ใครดูต่อเนี่ย แต่พอมาลองคิดอีกมุมหนึ่ง เด็กก็เกิดใหม่ทุกวัน (หัวเราะ) ไม่ใช่ว่าหมดเซ็ตนี้ก็จะไม่มีใครแล้ว ก็คงเหมือนคุณครูแหละที่สอนครบหนึ่งปีแล้วเด็ก ๆ ก็ต้องเลื่อนชั้น”
“ความสุขของเรามันคือโมเมนต์ที่เรามองเห็น ไม่ว่าจะเป็นเวลาที่เด็ก ๆ ตอบเรา หรือให้คำตอบที่เราไม่เคยนึกมาก่อน หรือตอนที่เขาอยู่กับพ่อแม่แล้วหันไปถาม คือจริง ๆ สิ่งหนึ่งที่ทำให้เตยอยากทำสิ่งนี้ก็เพราะว่าโลกนี้มันหมุนเร็ว เด็กก็ติดโทรศัพท์มือถือ ติดไอแพด การสื่อสารพูดคุยกับพ่อแม่ก็น้อยลง เราทำสิ่งนี้เพราะอยากให้มีช่วงเวลาดี ๆ ของครอบครัวเกิดขึ้น แล้วพอได้เห็นอะไรอย่างนี้แล้วมันอบอุ่นใจมาก ลูก ๆ หันไปกอดพ่อแม่ ครอบครัวมีความสุข เป็นภาพที่น่ารักมาก”
“มีอยู่ครั้งหนึ่งตอนคริสต์มาส เราเล่นละครนิทานเรื่องหนึ่ง 2 รอบ เพราะมีเด็กกลุ่มหนึ่งมาดูไม่ทัน เขาเพิ่งไปทำกิจกรรมมา เพิ่งจะได้ออกจากซุ้ม ตอนนั้นพวกเรามองหน้ากัน ส่งสัญญาณว่า ‘เอาดิ’ แล้วเราก็เล่นใหม่อีกรอบเพื่อให้เด็กกลุ่มนั้นได้ดู”
“ตอนที่เด็ก ๆ ออกมาจากซุ้มแล้วเห็นว่าพวกเราเล่นจบแล้ว พอเห็นสีหน้าเด็ก ๆ ที่รู้ว่าเขาจะไม่ได้ดู เตยก็รู้สึกว่าถ้าไม่ได้ทำก็จะติดค้างในใจ เด็ก ๆ เขามาเพื่อที่จะดูเรา แต่การสื่อสารข้างนอกมันผิดพลาดนิดหน่อย แล้วหลังจากที่เล่นรอบใหม่จบ เราได้เห็นเขายิ้มมีความสุข คือพอแล้ว แค่นี้เลย”
“กลับบ้านเหนื่อยกว่าเดิมหน่อยแต่มีความสุข รู้สึกสบายใจด้วย นี่แหละอีกหนึ่งความสนุกของการทำงานกับเด็ก”
“เตยคิดว่ามันเป็นการเดินทางที่เรายังอยู่บนขบวนอยู่ ขอเดินทางไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้เห็นปลายทางก็แล้วกัน นี่แหละคือเหตุผลที่ทำให้เรายังอยากทำคณะละครปู๊นปู๊นต่อไปเรื่อย ๆ”
แม้ว่าพริมและเตยจะบอกว่าภาพสถานีปลายทางของรถไฟขบวนนี้ยังไม่ชัดเจน แต่เราสัมผัสได้ว่า ณ ปลายทางนั้นจะต้องมีเรื่องราวความทรงจำดี ๆ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขรออยู่อย่างแน่นอน