- สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ทรงเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายที่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่ม LGBTQ+ ในระหว่างการให้สัมภาษณ์กับ Associated Press และทรงเรียกร้องให้ศาสนจักรคาทอลิกโอบรับคนทุกคนโดยไม่จำกัดเพศ
- นี่คือครั้งแรกที่ประมุขแห่งศาสนจักรคาทอลิกแสดงความเห็นต่อกฎหมายดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมา และได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากชาว LGBTQ+
- แม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีการปรับเปลี่ยนคำสอนของคาทอลิกเรื่องบาปของการรักเพศเดียวกัน แต่การสัมภาษณ์ครั้งนี้ก็ถือเป็นสัญญาณอันดีในการเรียกร้องสิทธิและความเสมอภาคให้กับชาว LGBTQ+ ต่อไป
ในการให้สัมภาษณ์กับ Associated Press ในวันที่ 24 มกราคม 2023 ที่ผ่านมา สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายที่กำหนดให้การรักเพศเดียวกันมีความผิดอาญา และกล่าวว่ากฎหมายนี้เป็น “กฎหมายที่ไม่ยุติธรรม” รวมทั้งเรียกร้องให้บิชอปในศาสนจักรคาทอลิกที่สนับสนุนกฎหมายนี้ต้อนรับชาว LGBTQ+ ให้เข้ามาในโบสถ์ของพวกเขาได้
สมเด็จพระสันตะปาปาฯ ทราบดีว่าบิชอปในนิกายคาทอลิกในบางพื้นที่ยังคงสนับสนุนกฎหมายที่กำหนดให้การรักร่วมเพศเป็นอาชญากรรมและกฎหมายอื่น ๆ ที่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อชาว LGBTQ+ พระองค์ทรงกล่าวว่า แม้คำสอนในคาทอลิกจะระบุว่า การรักร่วมเพศนั้นเป็น “บาป” แต่ศาสนจักรคาทอลิกต้องแยกให้ออกระหว่าง “อาชญากรรม” และบาป เพราะแม้จะเป็น “บาป” แต่ชาว LGBTQ+ ก็ควรจะได้รับการปฏิบัติโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน
“มันไม่ใช่อาชญากรรม เรียกว่าบาปก็อาจใช่ แต่ก่อนอื่นเราต้องแยกให้ออกระหว่างบาปกับอาชญากรรม และนอกจากนั้น การไม่มีความเห็นอกเห็นใจให้กันก็เป็นบาปไม่ใช่หรือ” พระองค์กล่าว “บิชอปเหล่านี้ต้องมีกระบวนการการเปลี่ยนผ่านทางความคิด บิชอปจะต้องมอบความอ่อนโยน อย่างที่พระเจ้าทรงมีให้เราทุกคน”
แม้ว่าที่ผ่านมาสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสจะสนับสนุน LGBTQ+ และกระตุ้นให้โบสถ์คาทอลิกต้อนรับทุกคนและยกเลิกการเลือกปฏิบัติไม่ว่าจะกับคนกลุ่มใดก็ตาม แต่นี่ถือเป็นครั้งแรกที่พระองค์ทรงแสดงความเห็นเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว ซึ่งก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีโดยผู้สนับสนุนสิทธิกลุ่มคนรักร่วมเพศในฐานะจุดเปลี่ยนสำคัญของศาสนา
นอกจากนั้น สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสยังทรงเรียกร้องให้โบสถ์คาทอลิกร่วมดำเนินการเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายนี้ พระองค์ทรงยกคำสอนของคาทอลิกมาโน้มน้าวว่า ชาวเกย์ควรจะได้รับการต้อนรับและได้รับความเคารพ และไม่ควรจะถูกลดความสำคัญหรือถูกเลือกปฏิบัติ
“เราต่างเป็นบุตรของพระเจ้า และพระเจ้าก็รักเราอย่างที่เราเป็นและรักความเข้มแข็งที่เราแต่ละคนต่างต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีของเรา”
ท่าทีของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสที่มต่อชาว LGBTQ+
“ทุกคนต่างก็ต้องการพ่อที่เป็นผู้ชายและแม่ที่เป็นผู้หญิงเพื่อจะช่วยให้พวกเขาสร้างตัวตนขึ้นมาได้” คือสิ่งที่สมเด็จพระสันตะปาปาฯ เขียนไว้ในหนังสือที่ตีพิมพ์ในปี 2010 ในสมัยที่พระองค์ยังดำรงตำแหน่งพระคาร์ดินัล ในครั้งนั้นสมเด็จพระสันตะปาปาฯ ยังทรงกล่าวว่าพระองค์ไม่สนับสนุนการแต่งงานและสิทธิในการรับบุตรบุญธรรมของคู่รักเพศเดียวกัน นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงต่อต้านรัฐบาลอาร์เจนตินาที่กำลังจะผ่านร่างกฎหมายแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน โดยกล่าวว่า “อย่าใสซื่อไปหน่อยเลย นี่ไม่ใช่แค่การเห็นต่างทางการเมือง นี่คือการพยายามที่จะทำลายแผนการของพระเจ้า”
ทว่าเมื่อพระองค์ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมเด็จพระสันตะปาปา องค์ที่ 266 ในเดือนมีนาคม ปี 2013 พระองค์กลับตอบคำถามเรื่องบาทหลวงที่เป็นเกย์ว่า “หากเขาเป็นเกย์ แต่เป็นผู้แสวงหาพระเจ้า แถมยังเป็นคนที่มีน้ำจิตน้ำใจดีงาม ข้าพเจ้าเป็นใครที่จะไปตัดสินเขา” และเริ่มแสดงออกถึงการสนับสนุนกลุ่ม LGBTQ+ มาตั้งแต่นั้น
ในฐานะอัครสังฆราชแห่งอัครมุขมณฑลบัวโนสไอเรส พระองค์สนับสนุนการออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของคนรักเพศเดียวกัน แม้ว่าจะขัดต่อหลักคำสอนของนิกายคาทอลิก และยังสนับสนุนกฎหมายคู่ชีวิต แม้จะยังยืนยันว่า กฎหมายที่มอบสิทธิพลเมืองและความคุ้มครองในฐานะพลเมืองต่อคู่รักเพศเดียวกันนั้นแตกต่างไปจากการยอมรับการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันก็ตาม
ถ้อยแถลงของสมเด็จพระสันตะปาปาฯ ในปี 2018 ก็ถือเป็นแถลงการณ์สำคัญในการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของชาวคาทอลิกที่เป็น LGBTQ+ อีกครั้ง เมื่อพระองค์ให้คำปรึกษาแก่พ่อแม่ที่มีลูกเป็น LGBTQ+ ว่า “จงอธิษฐานและอย่าประณามเขา ข้าพเจ้าไม่แนะนำว่าความเงียบคือคำตอบ การเพิกเฉยต่อแนวโน้มการเป็นคนรักร่วมเพศของลูกนั้นไม่ใช่การเป็นพ่อแม่ที่ดี หากรับมือเองไม่ไหวก็ร้องขอความช่วยเหลือ แต่จงสร้างบทสนทนา จงพูดคุย เพราะลูกชายและลูกสาวของพวกท่านมีสิทธิในครอบครัวนี้ ครอบครัวของพวกเขาก็คือครอบครัวนี้ อย่ากีดกันพวกเขาออกจากครอบครัว”
จากนั้น ในปี 2020 พระองค์ก็ได้สร้างปรากฏการณ์อีกหน ด้วยการเรียกร้องให้ผ่านร่างกฎหมายคู่ชีวิตอย่างตรงไปตรงมา เพื่อรักษาและคุ้มครองสิทธิพลเมืองของ LGBTQ+ ในสารคดีที่ชื่อว่า Francesco แม้ว่าหลังจากนั้นทางศาสนจักรคาทอลิกจะแถลงว่า คำพูดของพระองค์ในสารคดีนั้นเป็นการนำฟุตเทจมาจากการให้สัมภาษณ์ประเด็นอื่นก็ตาม
ทว่าในปี 2021 สมเด็จพระสันตะปาปาฯ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักโดยกลุ่ม LGBTQ+ ที่เป็นคาทอลิก เมื่อสมณกระทรวงว่าด้วยคำสอนแห่งความเชื่อ (Congregation for the Doctrine of the Faith – CDF) แถลงว่า โบสถ์คาทอลิกไม่สามารถประสาทพรให้การสมรสระหว่างคู่รักเพศเดียวกันได้ “เพราะพระเจ้าไม่ทรงอำนวยพรให้กับบาป”
สถานการณ์การเลือกปฏิบัติทางเพศต่อ LGBTQ+ ในปัจจุบัน
การให้สัมภาษณ์ครั้งล่าสุดนี้เกิดขึ้นก่อนที่สมเด็จพระสันตะปาปาฯ จะไปเยือนแอฟริกา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังคงมีการบังคับใช้กฎหมายนี้ เช่นเดียวกับในตะวันออกกลาง บางพื้นที่นั้นได้รับอิทธิพลมาจากสมัยล่าอาณานิคม และในบางพื้นที่ก็ต่อยอดมาจากกฎหมายอิสลาม บิชอปในศาสนจักรคาทอลิกบางคนยังคงยึดถือกฎเหล่านี้ด้วยเชื่อว่าตรงกับคำสอนของวาติกัน ขณะที่บิชอปอีกหลายคนเริ่มมีการต่อต้านกฎหมายนี้ โดยมองว่าเป็นการทำเกินกว่าเหตุและละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน
ในปัจจุบัน 67 ประเทศหรือเขตอำนาจศาลทั่วโลกยังคงมีกฎหมายต่อต้านกิจกรรมทางเพศของคู่รักร่วมเพศ ซึ่ง 11 ใน 67 ประเทศหรือเขตอำนาจศาลนั้นยังมีโทษประหารสำหรับการรักร่วมเพศ นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญจาก The Human Dignity Trust ซึ่งเป็นองค์กรที่ดำเนินการเพื่อยกเลิกกฎหมายดังกล่าวยังได้ระบุว่า แม้ในบางแห่งจะไม่ได้มีการบังคับใช้กฎหมายที่เลือกปฏิบัติทางเพศอย่างจริงจัง แต่การมีอยู่ของกฎหมายก็ยังคงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ก่อให้เกิดการคุกคาม การประณามหยามเหยียด หรือการใช้ความรุนแรงต่อชาว LGBTQ+
แม้สหรัฐอเมริกาจะประกาศอิสรภาพจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษมานานแล้ว ทว่ากว่า 10 รัฐในสหรัฐอเมริกาก็ยังมีกฎหมาย Sodomy Law ซึ่งเป็นกฎหมายตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคมที่ระบุว่า “การร่วมเพศระหว่างคนเพศเดียวกันนั้นผิดกฎหมาย” อยู่ในประมวลกฎหมาย แม้ว่าศาลฎีกาจะเคยตัดสินว่ากฎหมายนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิ LGBTQ+ กล่าวว่ากฎหมายเก่าแก่นี้ทำให้การคุกคามกลายเป็นเรื่องที่ไม่ผิด และยังมีร่างกฎหมายอื่น เช่น ร่างกฎหมาย “Don’t say gay” ในฟลอริดา ที่ไม่อนุญาตให้มีการเรียนการสอนเรื่องเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศในระดับชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาตอนต้น ซึ่งเหมือนเป็นความพยายามที่จะด้อยค่ากลุ่ม LGBTQ+
องค์การสหประชาชาติได้มีการเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายที่กำหนดให้การรักร่วมเพศเป็นความผิดอาญามาแล้วหลายครั้ง โดยกล่าวว่ากฎหมายนี้ละเมิดสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลด้วยการเลือกปฏิบัติ และเป็นการละเมิดพันธกิจของประเทศต่าง ๆ ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ที่ต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนทุกคนโดยไม่คำนึกถึงเพศวิถีหรืออัตลักษณ์ทางเพศ
ความเห็นในครั้งนี้ของสมเด็จพระสันตะปาปาฯ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากชาว LGBTQ+ โดยซาราห์ เคท เอลลิส ประธานและ CEO ของ GLADD (Gay & Lesbian Alliance Against Defamation) องค์กรสนับสนุนสิทธิมนุษยชนของ LGBTQ+ กล่าวว่า “ถ้อยแถลงครั้งประวัติศาสตร์ของพระองค์ถือเป็นการส่งสารให้เหล่าผู้นำโลกและชาวคาทอลิกหลายล้านคนในโลกได้รู้ว่า LGBTQ+ ควรจะได้ใช้ชีวิตในโลกที่ปราศจากความรุนแรงและการประณาม แต่เป็นโลกที่มีความเข้าใจและความอ่อนโยนมากขึ้น”
ส่วน New Ways Misnistry กลุ่ม LGBTQ+ ชาวคาทอลิกกล่าวว่า การเพิกเฉยต่อกฎหมายดังกล่าวของเหล่านักบวชในศาสนจักรทำให้เกิดผลลัพธ์อันโหดร้าย และยังเป็นเชื้อเพลิงในการใช้ความรุนแรงต่อ LGBTQ+ การให้สัมภาษณ์ของสมเด็จพระสันตะปาปาฯ ในครั้งนี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก “สมเด็จพระสันตะปาปาทรงย้ำเตือนโบสถ์ว่า การปฏิบัติต่อกันและกันของคนในสังคมนั้น มีความสำคัญด้านศีลธรรมมากกว่าการที่คนสองคนจะทำอะไรกันในพื้นที่ส่วนตัวบนเตียงของพวกเขา” ฟรานซิส เดอเบอร์นาโด ผู้บริหารของกลุ่มกล่าว
ในศาสนจักรคาทอลิกเองก็มีหลายเสียงที่เห็นด้วยกับการให้สัมภาษณ์ของพระองค์ เช่น โรเบิร์ต แม็กเอลรอย หนึ่งในพระคาร์ดินัลที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้ง คืออีกหนึ่งคนที่อยากให้โบสถ์แสดงออกถึงการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศมากกว่าที่เป็นอยู่ และต้อนรับ LGBTQ+ อย่างแท้จริง
“มันเป็นปริศนาอันโหดร้ายของจิตวิญญาณมนุษย์ว่าเหตุใด ชายและหญิงทั้งหลายจึงเป็นปฏิปักษ์ฝังจิตฝังใจกับชาว LGBT” พระคาร์ดินัลแม็กเอลรอยเขียนลงในนิตยสารอเมริกา
คุณพ่อเจมส์ มาร์ติน บรรณาธิการบริหารของนิตยสารอเมริกา ได้แถลงสนับสนุนสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสว่า “การเรียกร้องครั้งประวัติศาสตร์ให้ยกเลิกกฎหมายที่เอาผิดการรักเพศเดียวกันเป็นคดีอาญาของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส คือก้าวสำคัญของชาว LGBTQ+ ครอบครัวของเขา และทุกคนที่รักพวกเขา นี่เป็นครั้งแรกที่มีสมเด็จพระสันตะปาปาสักคนแสดงออกต่อประเด็นสำคัญนี้อย่างชัดเจน สมเด็จพระสันตะปาปายืนเคียงข้างชีวิต ยืนเคียงข้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยความเชื่อที่ว่า เราทุกคนต่างถูกสร้างมาตามพระฉายาของพระเจ้า”
ส่วนคุณพ่อเคน บอลเลอร์ บาทหลวงประจำโบสถ์เซนต์ฟรังซีสซาเวียร์ ที่ให้การสนับสนุนความหลากหลายทางเพศมาโดยตลอด กล่าวว่า การตอบคำถามของสมเด็จพระสันตะปาปาในครั้งนี้สอดคล้องกับจุดยืนหลักในฐานะประมุขของศาสนาของพระองค์อยู่แล้ว
“ศักดิ์ศรีของมนุษย์ ศักดิ์ศรีของบุคคล นั่นคือสิ่งที่พระองค์ให้ความสนใจมาโดยตลอด และพยายามช่วยเหลือผู้คนให้ค้นพบตัวตนที่แท้จริง จนกระทั่งพบสายสัมพันธ์ต่อพระเจ้า”
ในปัจจุบัน คำสอนของศาสนจักรเกี่ยวกับการรักร่วมเพศยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่การเรียกร้องสิทธิและพยายามเข้าถึงกลุ่ม LGBTQ+ ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ก็ถือเป็นหมุดหมายอันดี และเป็นแบบอย่างให้ผู้ที่มีอำนาจคนอื่น ๆ ออกมาร่วมส่งเสียงเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่ม LGBTQ+ ต่อจากนี้ไป
อ้างอิง :
https://apnews.com/article/pope-francis-gay-rights-ap-interview-1359756ae22f27f87c1d4d6b9c8ce212
https://www.nytimes.com/2023/01/25/world/europe/pope-francis-homosexuality.html
https://www.cbsnews.com/newyork/news/pope-francis-says-he-believes-anti-gay-laws-are-unjust/
https://www.washingtonpost.com/world/2023/01/25/pope-francis-homosexuality-not-crime/