ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา: จากรอยกรีดบนแขนเพื่อน สู่การเรียกร้องสิทธิโดยเด็กเพื่อเด็ก

  • ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา เป็นนักกิจกรรมด้านสุขภาพจิต ที่พยายามผลักดันการแก้ไข พ.ร.บ. สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 มาตรา 21 เพื่อให้ผู้ที่อายุไม่เกิน 18 ปี สามารถพบจิตแพทย์ได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง
  • จากการพูดคุยกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ญาพบว่า การเข้ารับการรักษาที่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง หมายถึงการแอดมิท ดังนั้น ทางออกที่แท้จริงคือการเพิ่มแนวทางให้จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาสามารถให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่อายุไม่เกิน 18 ปี ได้โดยไม่ผิดจาก พ.ร.บ.
  • การต่อสู้เพื่อสิทธิเล็กๆ ของเด็ก ผ่านระบบราชการ ทำให้ปราชญาเชื่อมั่นในศักยภาพของเด็กมากขึ้น และเดินหน้าผลักดันโครงการเพื่อสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนต่อไป

เมื่อปี 2561 ประเด็นเรื่องปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนได้เข้ามาอยู่ในกระแสสังคม จากการเคลื่อนไหวของ “ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา” เด็กหญิงวัย 13 ปี ที่เป็นหนึ่งในแกนนำเด็กและเยาวชน เข้ายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 มาตรา 21 เพื่อให้ผู้ที่อายุไม่เกิน 18 ปี สามารถพบจิตแพทย์ได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง

หลายปีผ่านไป ปราชญาได้เรียนรู้และเติบโตจากการขับเคลื่อนครั้งนั้น และกำลังจะผลักดันโครงการใหม่ๆ รวมทั้งก้าวไปสู่บทบาทใหม่ของชีวิต ซึ่งก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการทำงานด้านสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนเช่นกัน และนี่คือสเต็ปการขับเคลื่อน เปลี่ยนแปลง และเติบโต ของปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา

เพราะเพื่อนเป็นโรคซึมเศร้า เราจึงต้องเคลื่อนไหว

อะไรเป็นตัวจุดประกายให้เด็กผู้หญิงคนหนึ่งตัดสินใจลุกขึ้นมาเป็นนักกิจกรรมด้านสุขภาพจิต นี่คือคำถามสำคัญที่หลายคนสงสัย และในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปราชญาก็ได้ถ่ายทอดเรื่องราวที่ทั้งน่าตกใจและน่าประทับใจนี้ในหลายๆ สื่อ จุดเริ่มต้นนั้นก็มาจากเพื่อนคนหนึ่งของปราชญา ที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าตั้งแต่อยู่ในวัยประถม และพยายามทำร้ายตัวเองมาตลอดหลายปี 

“เขามีอาการแปลกๆ คือเขาเงียบลง ซึมลง แล้วเขาก็จะชอบใส่เสื้อแจ็กเก็ตคลุมแขนมาโรงเรียนตลอดเลย ถึงแม้ว่าวันกีฬาสีที่แดดร้อนๆ แล้วเขาก็แสดงออกว่าเขาร้อนน่ะ แต่เขาก็ยังใส่เสื้อแจ็กเก็ตหนาตัวนั้นอยู่ ด้วยความที่ญาเป็นเด็กขี้สงสัย ญาก็เลยไปถามเพื่อนว่า ทำไมไม่ถอดเสื้อแจ็กเก็ตล่ะ มันร้อนนะ เพื่อนก็ไม่คุย แล้วก็เดินไป เราก็งง ปกติเพื่อนคนนี้เขาก็คุยกับเราบ้างนะ ก็เลยเริ่มสงสัย”

“วันหนึ่งเพื่อนถอดแจ็กเก็ตออกมาแล้วเราเห็นแผลกรีดข้อมือ คือไม่ได้กรีดแค่ข้อมือ แต่เขากรีดมาถึงครึ่งแขนแล้ว มันทำให้เราตกใจและเราก็งงว่าเพื่อนกรีดข้อมือทำไม ซึ่งตอนนั้น ด้วยความที่ญาอยู่ ป.3 ญาก็หา Google เลยค่ะ ว่าการกรีดข้อมือมันคืออาการของโรคอะไร มันขึ้นมาเลยว่า โรคซึมเศร้า”

ด้วยความที่ยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับโรคทางจิตเวช ปราชญาคิดง่ายๆ ตามประสาเด็กว่า เมื่อเพื่อนไม่สบายก็ต้องไปหาหมอ แต่พ่อแม่ของเพื่อนกลับไม่พาลูกไปพบจิตแพทย์ เนื่องจากในสมัยนั้น ค่านิยมของสังคมยังมองว่าการไปพบจิตแพทย์หมายความว่าคนคนนั้นเป็นบ้า และได้แต่พยายามเก็บของมีคมออกจากห้องลูก จนกระทั่งวันหนึ่ง เพื่อนของปราชญากินยาเกินขนาด จนต้องไปโรงพยาบาลกลางดึก แพทย์ที่รักษาได้แนะนำให้พาลูกไปพบจิตแพทย์อย่างจริงจัง ทว่าพ่อแม่ก็ยังคงลังเล และเพื่อนของปราชญาก็ยังคงทำร้ายตัวเองต่อไป

“จนวันหนึ่งเพื่อนบอบช้ำมากแล้ว แล้วพ่อแม่รู้สึกว่าตัวเองเอาไม่อยู่แล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ตัดสินใจที่จะพาเขาไปพบจิตแพทย์ ซึ่งระยะเวลามันผ่านมายาวนานเป็นปีๆ ค่ะ กว่าเขาจะยอมพาลูกไปพบจิตแพทย์ มันก็เลยทำให้ญาย้อนกลับมาคิดว่า ถ้าคุณพ่อคุณแม่เพื่อนเขารู้และพาเพื่อนไปพบจิตแพทย์ตั้งแต่แรก หรือว่าเพื่อนสามารถพบจิตแพทย์ด้วยตัวเองได้ตั้งแต่แรก ความบอบช้ำ ความเจ็บปวดที่เขามี บาดแผลต่างๆ ในร่างกายเขามันจะลดน้อยลงไหม หรือว่าเราจะสามารถช่วยให้เขาหลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานได้เร็วขึ้นหรือเปล่า”

หลังจากที่เพื่อนคนนี้ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมแล้ว ปราชญาก็ยังคงเดินหน้าผลักดันประเด็นปัญหาสุขภาพจิตเด็กต่อ ขณะที่ทำงานในสภาเด็กและเยาวชน

“พอญาเข้ามาทำงานในสภาเด็กและเยาวชน เราก็ไปอ่านแผนแล้วก็อ่านประวัติว่าสภาเด็กเขาจัดกิจกรรมอะไรบ้างในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา ซึ่งญาพบว่าแทบไม่มีเรื่องสุขภาพจิตเลย ส่วนใหญ่มากสุดก็จะเป็นเรื่องสุขภาพกายค่ะ เราก็เลยตั้งคำถามว่าทำไมถึงไม่มีเรื่องสุขภาพจิตเลยล่ะ ทั้งที่เรื่องสุขภาพจิตก็เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน ก็เลยทำให้สภาเด็กในยุคนั้น ที่ญาได้มีโอกาสทำงานเป็นประธาน เราก็จะเน้นทำงานด้านสุขภาพจิต”

ญาเริ่มต้นงานในสภาเด็กและเยาวชน จากการลงพื้นที่ทำวิจัยเรื่องปัญหาสุขภาพจิตของเด็ก และพบว่าภายในระยะเวลา 7 วันที่ผ่านมา จำนวนเด็กที่คิดฆ่าตัวตายอยู่ที่ 2 – 3 คน ใน 1 ห้องเรียน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่ากังวลมากทีเดียว ปราชญาจึงถือโอกาสวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก 10 กันยายน นำเพื่อนๆ ไปร่วมกันยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อกรมสุขภาพจิต เสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 21 ใน พ.ร.บ.สุขภาพจิต ให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถพบจิตแพทย์ได้ด้วยตัวเอง ทว่าหลังจากนั้น เรื่องก็เงียบหายราวกับว่าหนังสือของเธอและเพื่อนๆ ถูกวางทับอยู่ในกองเอกสารราชการอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ปราชญาก็ไม่ย่อท้อ และยังคงเก็บข้อมูลจากการวิจัยและกฎหมายของประเทศต่างๆ ก่อนที่จะตัดสินใจยื่นจดหมายเปิดผนึกอีกครั้งในปีต่อมา โดยในครั้งนี้ เธอเลือกที่จะยื่นจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ให้กับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 และจากการที่เธอได้ติดต่อกับสื่อมวลชน ก็ทำให้สังคมเริ่มตื่นตัวในเรื่องนี้ และบรรดา “ผู้ใหญ่” ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เริ่มให้ความสนใจประเด็นนี้มากขึ้น

“ด้วยความที่ญาทำงานในสภาเด็กและเยาวชน เราก็จะได้เรียนรู้วิธีการทำงานในระบบราชการ ว่าเราต้องยื่นหนังสือ ญาตั้งใจเอาไว้ว่าไม่อยากจะให้เขามองว่าเราจะมาเปลี่ยนอะไร แต่ว่าเราต้องการที่จะบอกเขาว่าเด็กมีปัญหา และเขาต้องการให้ผู้ใหญ่ช่วยเหลือในการเปลี่ยนสิ่งนี้ เพราะฉะนั้น เราเลยเลือกที่จะใช้วิธีการยื่นหนังสือค่ะ” ปราชญากล่าว

ขอเพียงเปิด “ประตูบานแรก” ให้เด็กได้เข้าถึงการรักษา

มาตรา 21 ใน พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ระบุว่า “ถ้าต้องรับผู้ป่วยไว้ในสถานพยาบาลของรัฐหรือสถานบำบัดรักษา ความยินยอมตามวรรคหนึ่งต้องทำเป็นหนังสือ และลงลายมือชื่อผู้ป่วยเป็นสำคัญ” และ “ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอายุไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์ หรือขาดความสามารถในการตัดสินใจให้ความยินยอมรับการบำบัดรักษา ให้คู่สมรส ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์ผู้อนุบาล หรือผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้น แล้วแต่กรณีเป็นผู้ให้ความยินยอมตามวรรคสองแทน”

แต่เมื่อปราชญาได้เข้าประชุมและพูดคุยกับบุคลากรของกรมสุขภาพจิตและตัวแทนของผู้ที่ออกกฎหมายนี้ ก็ได้รับฟังข้อมูลที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

“เขาบอกว่าที่จริงแล้ว การบำบัดรักษาที่เขาว่า มันคือการแอดมิทนะ แต่ว่าปัญหาที่เราเจอ คือการที่เด็กปรึกษาไม่ได้เลย เด็กไม่สามารถรับยาเบื้องต้นได้เลย เพราะฉะนั้น เรารู้สึกว่าปัญหามันอาจจะไม่ได้อยู่ที่กฎหมายซะทีเดียว แต่ด้วยความที่มันไม่ได้มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน มีแค่กฎหมายประโยคเดียว ทำให้แพทย์ตีความว่าปรึกษาไม่ได้เลย พอมีเด็กเข้ามา เขาจะปฏิเสธเลย เพราะว่ากลัวโดนพ่อแม่เด็กฟ้อง” 

“ดังนั้น ถ้าเราต้องการให้เด็กปรึกษาได้ แล้วก็รับยาเบื้องต้นได้ สิ่งที่เราทำคือมีแนวทางที่สามารถยืนยันกับแพทย์ว่า แพทย์สามารถให้คำปรึกษาได้ และให้ยาเบื้องต้นที่มีผลข้างเคียงน้อย หรือว่าใช้การบำบัดได้โดยที่มีผลกระทบกับตัวเด็กน้อยได้เลย โดยที่มันไม่ขัดกับ พ.ร.บ. ญาเห็นด้วยกับสิ่งที่เขาบอกว่า ในกรณีที่ต้องแอดมิท มันจำเป็นที่จะต้องแจ้งผู้ปกครองจริงๆ แต่ว่าถ้าต้องการแค่ปรึกษา ต้องการแค่รับยาเบื้องต้น มันควรที่จะทำได้” ปราชญากล่าวถึงการเปลี่ยนเป้าหมาย จากที่ต้องการให้แก้ไขกฎหมาย เป็นการเรียกร้องแนวทางในการให้คำปรึกษาของบุคลากรทางการแพทย์ที่ชัดเจน

จากการทำงานร่วมกับกรมสุขภาพจิตและจิตแพทย์หลายคน ปราชญาเล่าว่า ส่วนใหญ่ผู้ใหญ่เหล่านี้เข้าใจว่าปัญหาสุขภาพจิตสามารถเกิดได้กับคนทุกวัย และการที่เด็กๆ สามารถมาพบจิตแพทย์ได้พร้อมกับพ่อแม่ตั้งแต่แรก ก็จะส่งผลดีต่อการรักษาโรค ทว่าปัญหาที่แท้จริงคือ พ่อแม่หลายคนไม่ยอมพาลูกมาพบจิตแพทย์ ทำให้เด็กถูกตัดขาดจากวงจรการรักษาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นปรึกษาแพทย์เลย

“จากที่เราทำงานมา เราพบว่ามีเด็ก 2 ประเภท ที่เขามีปัญหาสุขภาพจิต ประเภทแรกมีปัญหาสุขภาพจิต บอกพ่อแม่ไม่ได้ บอกพ่อแม่แล้วจะโดนทำร้าย แล้วพ่อแม่เป็นแบบเข้มงวด ไม่ยอมฟังอะไรเลย กับอีกแบบหนึ่งคือ เขาบอกด้วยตัวเองไม่ได้ แต่อยากให้วิชาชีพช่วยเขาบอกหน่อย เพราะไม่รู้ว่าจะบอกพ่อกับแม่อย่างไรว่าเขาเป็นโรคซึมเศร้านะ แต่อยากจะผสานรอยร้าวและอยากให้คุณหมอช่วยเหลือเขาอยู่”

“เพราะฉะนั้น การที่คุณเปิดโอกาสให้เด็ก เปิดประตูบานแรกให้เขาสามารถมาปรึกษาได้ก่อน แล้วให้เขาเลือกว่าอยากจะให้บอกพ่อแม่ไหม หรือว่าจะเก็บเป็นความลับไว้แล้วบำบัดรักษาในขั้นที่ไม่มีผลข้างเคียงรุนแรงต่อไป แค่การเปิดโอกาสให้เขาได้ปรึกษาจิตแพทย์ เด็กประเภทแรกก็จะสามารถเข้าถึงบริการ แล้วก็สามารถที่จะรักษาตัวเองได้ในเบื้องต้น สำหรับเด็กประเภทที่สอง จิตแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ ก็จะสามารถช่วยเหลือกันเพื่อที่จะฟังเรื่องราวของเด็ก แล้วก็บอกกับคุณพ่อคุณแม่ของเขาได้” ปราชญาอธิบาย

“ประตูบานแรก” ที่เรียกว่าการเปิดโอกาสให้เด็กเข้าปรึกษาจิตแพทย์ นอกจากจะช่วยให้เด็กๆ ได้รับคำปรึกษาที่ถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว ยังช่วยให้ตรวจวินิจฉัยโรคทางจิตเวชได้เร็ว และได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และเมื่อเด็กมีอาการดีขึ้น ก็อาจจะติดต่อผู้ปกครองเพื่อพบจิตแพทย์ร่วมกัน และคลายปมปัญหาในครอบครัวไปพร้อมๆ กัน

หลักสูตรภูมิคุ้มกันทางอารมณ์

หลังจากขับเคลื่อนเรื่องสิทธิในการเข้ารับการรักษาโรคทางจิตเวชของเด็กๆ แล้ว ก้าวต่อมาของปราชญา คือการจัดทำ “หลักสูตรภูมิคุ้มกันทางอารมณ์” ร่วมกับจิตแพทย์และนักจิตวิทยา เพื่อเป็นการ “ให้วัคซีนทางอารมณ์” ผ่านความรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิตแก่เด็กและครูในโรงเรียน

“ญาอยากให้เด็กๆ มีความรู้ ค่อยๆ มีทักษะเกี่ยวกับเรื่องการจัดการอารมณ์ คือการจัดการอารมณ์มันไม่ได้จำกัดว่าวิธีนี้วิธีเดียวที่จะสามารถใช้ได้กับคนทั้งโลก แต่ว่ามันคือวิธีเฉพาะตัวของเขาที่จะสามารถจัดการกับอารมณ์ได้ เพราะฉะนั้น หลักสูตรนี้จะไม่ใช่การบรรยายเลย แต่ว่ามันคือการที่ค่อยๆ ให้เขาหาวิธีการจัดการอารมณ์ แล้วก็รู้จักสังเกตอารมณ์ตัวเองเป็น พูดคุยกับตัวเองให้เป็น พูดคุยว่าตัวเองต้องการอะไร เรามีอารมณ์แบบไหน แล้วจะจัดการอย่างไร ซึ่งหลักสูตรนี้จะค่อยๆ เพิ่มความเข้มข้นเข้าไปตามอายุของเขา”

นอกจากการทำความรู้จักและเข้าใจอารมณ์ตัวเอง หลักสูตรภูมิคุ้มกันทางอารมณ์นี้ยังให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคทางจิตเวช ที่นอกเหนือจากโรคซึมเศร้า รวมทั้งฝึกทักษะการเป็นผู้รับฟังที่ดี ผ่านกิจกรรมที่ให้ลงมือปฏิบัติจริง โดยให้นักเรียนสลับกันเป็นผู้พูดและผู้ฟัง

สำหรับครูเอง หลักสูตรนี้จะช่วยให้ครูสามารถแบ่งแยกระดับอาการของเด็กที่มีปัญหาสุขภาพจิต และรู้วิธีการส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ รวมถึงเทคนิคในการให้คำปรึกษาที่เหมาะสมแก่เด็กๆ

ขณะที่หลายคนเรียกร้องให้มีนักจิตวิทยาในโรงเรียนเพื่อให้คำปรึกษาแก่เด็กๆ แต่สำหรับคนที่ทำงานในหลายพื้นที่อย่างปราชญามองว่า ทุกวันนี้ทั้งนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ล้วนมีจำนวนไม่เพียงพอ และในบางพื้นที่ก็ไม่มีจิตแพทย์เลยด้วยซ้ำ ดังนั้น หลักสูตรภูมิคุ้มกันทางอารมณ์จึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยให้ทั้งครูและนักเรียนสามารถรับฟังกันและกัน เพื่อบรรเทาปัญหาสุขภาพจิตได้ในเบื้องต้น

“เด็ก” ที่ทำงานในระบบราชการ

“ถึงแม้ว่าภาพฝันของเรา คือการที่เด็กเดินมาและผู้ใหญ่เดินมาเจอกันตรงกลาง พูดคุยกันตรงกลาง แต่ที่จริงแล้วมันคือการที่เราเดินไปสุดทาง จนไปหาผู้ใหญ่” ปราชญาอธิบายภาพบรรยากาศการทำงานกับผู้ใหญ่ในกรมสุขภาพจิต ที่เธอต้องปรับตัวให้พูดภาษาเดียวกับผู้ใหญ่ และจัดทำข้อมูลทุกอย่างให้เป็นเอกสาร พร้อมหลักฐานอ้างอ้งให้ผู้ใหญ่ได้อ่าน 

“เราไม่สามารถจะพูดเป็นเด็ก บอกเขาว่าเราต้องการอย่างนี้ เขาจะแทบไม่ฟังเลย เขาจะมองว่าเป็นความต้องการของเด็ก แต่ถ้าเกิดว่ามันมีหนังสือ มันมีหลักฐานอ้างอิง เป็นสิ่งที่เขาสามารถอ่านแล้วเข้าใจได้ในภาษาของเขา เขาก็จะเริ่มรับฟังเรามากขึ้น”

ปราชญาเล่าว่า สิ่งที่ทำให้การขับเคลื่อนประเด็นเรื่องสุขภาพจิตของเธอประสบความสำเร็จ คือ “ความรู้” จากที่ตอนแรก เธอไม่มีความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับสุขภาพจิตเลย ปราชญากลับมาค้นคว้าข้อมูลอีกครั้ง เพื่อให้เธอ “รู้ให้พอ” และนำข้อมูลที่ได้ไปเสนอให้ผู้ใหญ่เหล่านั้น

“มันก็คงจะเป็นการที่เราศึกษาหาข้อมูลน่ะค่ะ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายของต่างประเทศที่เขาให้เด็กสามารถพบจิตแพทย์ด้วยตัวเองได้ หรือว่าเรื่องวิชาภูมิคุ้มกันทางอารมณ์ที่ญากำลังขับเคลื่อนอยู่ ญาก็ยกตัวอย่างหลายๆ ประเทศ ที่เขามีวิชาพวกนี้ อย่างประเทศญี่ปุ่น ที่เขามีวิชาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพจิตมา หลังจากที่เด็กในประเทศญี่ปุ่นฆ่าตัวตายเยอะมาก เพราะฉะนั้น ในเมื่อประเทศไทยยังไม่ถึงจุดนั้น เราก็เลือกใช้วิธีที่ให้เคสตัวอย่างกับเขา แล้วก็บอกกับเขาว่า เราจะไม่ทำแบบนี้นะ เราจะไม่รอให้วัวหายแล้วค่อยมาล้อมคอก แต่ว่าเราจะพยายามทำให้เด็กมีความรู้ มีความเข้าใจ แล้วก็มีทักษะในการจัดการอารมณ์ของตัวเอง ก่อนที่จะไปถึงวันที่เด็กไทยฆ่าตัวตายกันเยอะขนาดนั้นค่ะ” ปราชญาเล่า

แม้จะต้องต่อสู้กับช่องว่างระหว่างวัยและทัศนคติที่ไม่ตรงกันกับผู้ใหญ่ แต่การทำงานในระบบราชการก็ทำให้ปราชญาได้เรียนรู้และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

“หลังจากที่ญาขับเคลื่อนสำเร็จ มันทำให้ญาเชื่อมั่นในศักยภาพของเด็กมากขึ้นกว่าเดิมมากๆ ถึงแม้ว่าในระหว่างที่ญาขับเคลื่อน เราก็จะมีความเชื่อมั่นในเสียงของเด็กประมาณหนึ่ง แต่ว่าด้วยความที่มันไม่สำเร็จ บางทีมันก็สองจิตสองใจว่ามันจะได้จริงหรือเปล่า แต่ว่าพอสำเร็จแล้วโปรเจ็กต์หนึ่ง โปรเจ็กต์ที่เหลือ ถึงแม้ว่ามันจะมีความยากกว่าโปรเจ็กต์แรกของเรามาก แต่ว่าเรามีความเชื่อมั่นมากขึ้นค่ะว่า เด็กสามารถที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ”

“เวลาที่ญาเล่าให้เด็กๆ ที่เขาต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงฟัง ญาจะบอกว่ามี 3 อย่าง ที่สำคัญ อย่างแรกคือความรู้ ที่เราจะสามารถไปไฝ้กับผู้ใหญ่ได้ว่า ถึงแม้ว่าเราจะเป็นเด็ก แต่เราก็มีข้อมูลที่เป็นหลักฐานจริงจัง อย่างที่สองก็คืออำนาจของความเป็นเด็ก มีคนชอบบอกว่าเด็กไม่มีอำนาจ แต่ที่จริงแล้ว ญารู้สึกว่า ในช่วงอายุที่คุณเป็นเด็ก คุณมีอำนาจมาก เพราะว่ามันคือเสียงของเด็กจริงๆ มันคือเสียงของเด็กที่ประสบปัญหาจริงๆ แล้วไม่ใช่ว่าผู้ใหญ่มาขับเคลื่อนแทนเด็ก แต่มันคือการที่เด็กขับเคลื่อนแทนเด็ก ฉะนั้นแล้ว อำนาจของเด็กมันมีพลังมาก ถ้าเราใช้ถูกวิธี อย่างที่สามคือสื่อ สื่อสำคัญมาก ด้วยความที่ประเทศไทยมีกระแสไวรัลต่างๆ นานา แต่ว่าถ้าเราสามารถทำงานกับสื่อได้ ให้สื่อช่วยเหลือ ผลักดันเรื่องนี้ให้เข้าหูถึงผู้ใหญ่แต่ละกระทรวง แต่ละกรมให้ได้มากขึ้น เรื่องนี้มันก็จะไปได้ไวยิ่งขึ้นค่ะ” ปราชญากล่าว

เป็นเพื่อน รับฟัง ใส่ใจ สูตรป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต

ในมุมมองของคนทำงานด้านสุขภาพจิตอย่างปราชญา สาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตได้ คือแรงกดดันในครอบครัว การสื่อสารที่ขาดประสิทธิภาพ และการใช้ความรุนแรง พ่อแม่จำนวนไม่น้อยคาดหวังและกดดันให้ลูกเดินตามเส้นทางที่พ่อแม่ขีดไว้เท่านั้น หลายครอบครัวไม่ค่อยรับฟังกัน และใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ปัญหา จนทำให้เกิดบาดแผลทางใจในวัยเด็ก และส่งผลกระทบไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ทีเดียว

“มีเคสหนึ่งที่เขามีปัญหากับครอบครัว แล้วเพื่อนเขาเล่าให้ญาฟังว่าเขารู้สึกว่าบรรยากาศระหว่างตัวเขากับพ่อแม่เหมือนเจ้านายกับลูกน้อง คือรู้สึกว่า ถ้าเจ้านายสั่งอะไรต้องทำตาม โดยที่เจ้านายจะไม่สนใจความรู้สึกของลูกน้องเลย แล้วก็รู้สึกว่า บรรยากาศมันไม่เหมือนครอบครัว ทำให้เขารู้สึกว่า ความรักความอบอุ่นในครอบครัวมันขาดไป”

“ที่จริงแล้ว พ่อแม่ที่เด็กๆ อยากได้ คือพ่อแม่ที่เป็นทั้งเพื่อนและผู้นำ อย่างแรกคือเป็นเพื่อน พ่อแม่หลายคนชอบบอกว่า เด็กมีอะไรก็ชอบปรึกษาเพื่อน มันก็แน่นอนนี่คะ นเมื่อพ่อแม่ไม่สามารถเป็นเพื่อนที่เป็นเพื่อนให้กับเขาได้ เวลามีปัญหาเขาก็ไม่รู้ว่าจะปรึกษาใคร การสื่อสารในครอบครัวมันก็จะไม่เกิดขึ้น”

“แต่ว่าพ่อแม่เป็นเพื่อนอย่างเดียวไม่ได้ พ่อแม่ต้องเป็นผู้นำให้กับเขาด้วย ในเวลาที่เขาไขว้เขว ในเวลาที่เขามีปัญหา พ่อแม่ต้องเป็นทั้งเพื่อนที่คอยให้คำปรึกษา แล้วก็เป็นทั้งผู้นำที่พร้อมที่จะจับมือไปกับเขาได้ ไม่ใช่แค่ว่าเป็นเพื่อนอย่างเดียว หรือเป็นผู้นำอย่างเดียว หรือเป็นเจ้านายอย่างเดียว นอกจากจะรับฟังความคิดเห็นแล้ว สิ่งที่สำคัญเลยคือสามารถที่จะช่วยเขาคิดหาวิธีในการแก้ไขปัญหา แล้วก็ช่วยให้เขาเลือกได้ว่าควรเลือกวิธีการไหนในการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด จากประสบการณ์ของพ่อแม่” ปราชญากล่าว

สำหรับแนวทางในการเยียวยาจิตใจผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตนั้น เช่นเดียวกับผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชหลายคน ปราชญาตอบว่า แนวทางที่ดีที่สุด คือการรับฟังอย่างเห็นอกเห็นใจ หรือรับฟังอย่างมี empathy ไม่ด่วนตัดสิน และไม่พูดแทรกนั่นเอง

“การรับฟังมันจะมีสเต็ปตั้งแต่การรับฟังแบบดาวน์โหลด ฟังแบบเข้าหูซ้าย ทะลุหูขวา บางทีพ่อแม่รับฟังลูก ทำกับข้าวไปฟังไป ดูทีวีไปฟังไป มันคือการรับฟังที่แทบไม่มีประโยชน์กับคนที่เขาเล่า แต่การรับฟังในระดับที่ดีจริงๆ คือการรับฟังที่มี empathy คือการรับฟังที่เรารู้ว่า คนตรงหน้าเราเขามีปัญหานะ เขามีความเครียดนะ เราพยายามที่จะรับฟังเขาอย่างเข้าอกเข้าใจ ภาษากาย สายตา สบตามองเขา แล้วก็พยายามที่จะบอกกับเขาว่า คนที่รับฟังคนนี้พร้อมที่จะอยู่กับเขาเสมอ ไม่ว่าจะเจอปัญหาใดๆ การรับฟังแบบนี้ เป็นการรับฟังที่มีประสิทธิภาพ แล้วก็สามารถเยียวยาจิตใจผู้ป่วยได้”

“ผู้ป่วยซึมเศร้าที่ญาไปทำเคส เขาบอกกับญาว่า แค่มีคนรับฟัง ความเครียดจากน้ำเต็มแก้วมันจะถูกเทออกครึ่งแก้วแล้ว แค่คุณรับฟัง นั่งเฉยๆ สบตาเรา พยักหน้า โฟกัสที่เรา ความเครียดก็จะเทออกแล้ว 50%” ปราชญาเล่า

ด้านครูที่โรงเรียน ก็ต้องมีการรับฟังอย่างมี empathy เช่นกัน รวมทั้งมีทักษะการสังเกตและการช่วยเหลือเด็กที่จะฆ่าตัวตาย

“การสังเกตสำคัญมากค่ะ เพราะว่าการที่เด็กคนหนึ่งเปลี่ยนไป ส่วนใหญ่ครูก็จะแทบไม่สนใจเลย อาจจะมองว่ามีปัญหากับเพื่อน เดี๋ยวมันก็หายไป แต่ทีนี้ ความเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ เปลี่ยนไปของเขา ค่อยๆ ซึมลง ไม่สนใจสิ่งที่เคยสนใจแล้ว มันอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตได้ เพราะฉะนั้น ครูต้องสังเกตให้เป็น ว่าเด็กคนนี้กำลังมีปัญหาหรือเปล่า ครูต้องให้คำปรึกษาให้เป็น ส่วนใหญ่แล้วครูอยากช่วยเด็กค่ะ แต่ว่าครูไม่รู้จะช่วยอย่างไร นอกจากบอกว่า เดี๋ยวมันก็ผ่านไป เดี๋ยวก็กลับไปคุยกับพ่อแม่ พ่อแม่รักเราที่สุด ซึ่งครูก็คิดว่ามันเป็นคำปรึกษาที่ดีที่สุดสำหรับเด็กตอนนั้นแล้ว แต่ว่าที่จริงแล้วมันอาจจะไม่ใช่”

นอกจากนี้ จากมุมมองของปราชญา รัฐบาลก็ควรต้องใส่ใจเรื่องปัญหาสุขภาพจิตให้มากกว่านี้ ทุกนโยบายของรัฐควรใส่ใจปัญหาสุขภาพจิตของเด็ก แล้วก็ควรดูว่านโยบายที่ออกมา จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตใจของเด็กหรือเปล่า รวมทั้งบรรจุเรื่องสุขภาพจิตในยุทธศาสตร์ชาติอย่างจริงจังด้วย

ก้าวต่อไปของปราชญา

ทุกวันนี้ ปราชญายังคงทำหน้าที่นักกิจกรรมด้านสุขภาพจิต ที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลและให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ และกำลังเตรียมที่จะก้าวสู่ขั้นใหม่ของชีวิต นั่นคือการเป็นนักศึกษาแพทย์

“ญาอยากเป็นจิตแพทย์เด็กมานานแล้วค่ะ ตั้งแต่ที่ญาขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพจิตใหม่ๆ คืออยากที่จะเข้าใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง อยากที่จะเข้าใจเรื่องกระบวนการทำงานของสมอง สารเคมีในสมอง แล้วก็เชื่อมั่นว่าในอนาคต ด้วยความที่เราทำงานมาแล้ว เรารู้ว่าจิตแพทย์ที่เด็กอยากได้เป็นอย่างไร เราก็จะพยายามเป็นจิตแพทย์แบบนั้น เป็นจิตแพทย์ที่ไม่ตัดสินเด็ก แล้วก็เป็นจิตแพทย์แบบที่พยายามช่วยเหลือเขาให้ได้มากที่สุด ซึ่งถ้าญาไปอยู่จุดนั้นได้จริงๆ ญาเชื่อว่าพลังในจุดที่เราเป็นหมอ อาจจะทำได้มากยิ่งกว่านี้ในการช่วยเหลือเด็ก” ปราชญากล่าวทิ้งท้าย


Writer

Avatar photo

ณัฐธยาน์ ลิขิตเดชาโรจน์

บรรณาธิการและแม่ลูกหนึ่ง ผู้เรียนรู้ความเป็นมนุษย์ผ่านการเติบโตของลูกชาย มีหนังสือและเพลงเมทัลร็อกเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และมีชีวิตอยู่ได้ด้วยกาแฟและขนมทุกชนิด

Writer

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts