ทำไมเพื่อนไม่เหมือนเรา แล้วทำไมเราไม่เหมือนเพื่อน?
เพื่อทำความเข้าใจวัยพรีทีนที่ช่างซับซ้อนและไม่ชัดเจน พ่อแม่อาจจะต้องตั้งหลักจากความสงสัยของลูก ซึ่งอาจเป็นสัญญาณแรกที่กำลังบอกว่า พ่อแม่ต้องเตรียมตั้งรับวัยพรีทีนที่กำลังจะมาถึง
แล้วพ่อแม่ต้องเตรียมตัวอย่างไร เมื่อลูกกำลังเข้าสู่วัยพรีทีน?
คำตอบของคำถามนี้ ไม่มีสูตรสำเร็จหรือประโยคทองคำ เพราะหากเราเห็นตรงกันว่า วัยพรีทีน คือรากฐานของการเป็นวัยรุ่น และวัยเด็กคือรากฐานของพรีทีน นั่นหมายความว่า พ่อแม่อาจต้องรู้สึกมานานแล้วว่า ‘พ่อแม่จะซัพพอร์ตลูกนะ ในวันที่ลูกแย่’
แล้วพ่อแม่จะตั้งหลักอย่างไร ‘หมอแนต’ ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็ก-วัยรุ่น ชวนพ่อแม่เตรียมพร้อม ผ่านการตั้งหลักดังนี้
สัญญาณวัยพรีทีน
- ลูกเริ่มสงสัยว่า “ทำไมเพื่อนดูเป็นผู้ใหญ่จัง ฉันยังดูเป็นยัยเพิ้งอยู่เลย” “ทำไมแต่งตัวเท่าไหร่ก็ไม่สวย/หล่อ สักทีนะ” “ทำไมฉันดูไม่เป็นสาวเหมือนอินฟลูเอนเซอร์ในไอจีเลยอะ” นั่นแสดงว่าลูกเริ่มเห็นความแตกต่างในตัวเอง สนใจตัวเอง และตั้งคำถามกับตัวเอง
- หากเราตีวงของสมมุติฐานวัยพรีทีนไว้ที่อายุ 10-12 ปี แล้วตั้งหลักเตรียมพร้อมไว้ล่วงหน้าสัก 1-2 ปี เมื่อลูกเข้าสู่ช่วงรอยต่อนั้น พ่อแม่จะต้องให้ความมั่นใจว่า เขาจะเปลี่ยนผ่านไปอย่างลื่นไหลและมั่นคงที่สุด
พัฒนาการของวัยแรกรุ่น
- มีความเชื่อมั่นในตัวเอง
- เข้ากับเพื่อนได้
- รักษาระยะห่างของความสัมพันธ์ได้
- เอาตัวรอดจากสถานการณ์ที่ยากลำบากได้
- มีสติปัญญาในการเรียนตามศักยภาพ
- ควบคุมอารมณ์ได้
พ่อแม่ต้องเตรียมอะไรยังไง เมื่อลูกกำลังเข้าสู่วัยพรีทีน
- ทำกิจกรรมเสริมสร้างทักษะ เช่น กิจกรรมสร้างทักษะความเป็นผู้นำ กิจกรรมเสริมความกล้าแสดงออก กิจกรรมรู้จักตนเอง กิจกรรมจิตอาสา
- ให้เวลาลูกจัดการอารมณ์ตัวเอง
- ค่อยๆ ปล่อยมือ ให้ลูกเติบโตด้วยตัวเอง
- พรีทีนคือวัยที่โตพอจะรับรู้คำอธิบายแล้ว บางครั้งจึงต้องอธิบาย ลูกอาจเข้าใจหรือไม่เข้าใจ ก็ไม่เป็นไร เช่น “การเปลี่ยนแปลงของพ่อแม่ ไม่ได้แปลว่าเราไม่รักหนู การที่เราแยกห้องนอนกันไม่ได้แปลว่าเราไม่รักกัน แต่มันคือการทำเพื่อให้หนูได้ฝึกตัวเอง และเติบโต”
- เป็นปั๊มน้ำมัน: ทำให้ลูกรับรู้ว่าพ่อแม่จะอยู่ตรงนี้เสมอ
ทำความเข้าใจวัยพรีทีนเพิ่มเติม ผ่านบทสัมภาษณ์ ‘หมอแนต’ ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ ‘พรีทีน: ซับซ้อน-ไม่ชัดเจน-ถูกมองข้าม เข้าใจวัยแรกรุ่น ก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป’ คลิก