เรไรรายวัน

‘สายลม ก้อนเมฆ & เรไรรายวัน’ การเขียนไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เราพิเศษกว่าคนอื่น

‘ดอกกุหลาบสวย แต่มีหนามทิ่ม’

‘คุณยายรดน้ำต้นไม้ทุกวัน คุณยายรู้ได้ไงว่าต้นไหนหิวน้ำ’ 

ก้อนเมฆ 

‘สีขาวลบสีอื่นได้’

‘เวลาแม่เหนื่อย ยายก็สอนการบ้านได้’ 

สายลม

จำไม่ได้แล้วว่าเมื่อไหร่กันที่ไดอารีของเด็กชายฝาแฝด ‘สายลมและก้อนเมฆ’ ได้ทำให้ผู้ใหญ่อย่างเราๆ หลุดหัวเราะท้องขดท้องแข็ง บางข้อความกินใจลึกซึ้งชวนให้คิดตามอยู่พักใหญ่ บางประโยคชวนอมยิ้มเอ็นดูถึงความช่างคิดช่างเขียนของพี่น้องคู่สุดท้องของบ้านสุวีรานนท์

แม่จั่น-ชนิดา สุวีรานนท์ คุณแม่ของลูกๆ ทั้งสามบอกกับเราว่า การเขียนสำหรับลูกคือประตูที่จะพาพวกเขาไปรู้จักโลก ทำความเข้าใจชีวิต และละเมียดละไมกับเพื่อนมนุษย์

ในหนึ่งหน้ากระดาษ บันทึกข้อความสั้นๆ ของเด็กชายฝาแฝด ‘สายลม’ และ ‘ก้อนเมฆ’ ถูกเขียนด้วยลายมือบรรจงตามแบบฉบับของเด็กวัยอนุบาล บางหน้าถูกประดับด้วยภาพวาดและลงสีด้วยลายเส้นที่มั่นคง บันทึกข้อความเหล่านั้นมักบอกเล่าอย่างตรงไปตรงมา บ้างเล่าเหตุการณ์​ อารมณ์​ ความคิด และความสงสัยของสองเด็กชายที่กำลังทำความรู้จักโลกใบกว้าง 

ไม่นาน ไดอารีของเด็กชายทั้งสองก็กลายเป็นที่เฝ้ารอของผู้อ่านเรไรรายวัน คล้ายดั่งพี่สาว ‘ต้นหลิว’ หรือ ‘เด็กหญิงเรไร’ ที่ก่อนหน้านี้ บันทึกของเธอได้สร้างแรงบันดาลใจ จุดประกาย เรียกรอยยิ้ม และปลอบประโลมผู้อ่านผ่านตัวอักษรสีดินสอบนกระดาษขาวมานักต่อนัก

บทสนทนาถัดจากนี้ เราชวน แม่จั่น-ชนิดา สุวีรานนท์ พูดคุยถึงการเลี้ยงดูลูกสาวและลูกชายทั้งสาม และการชวนเขียนไดอารีที่ไม่ผลักไสให้พวกเขาเกลียดกลัวการเขียน ซ้ำยังสนุก และการเรียนรู้ชีวิตผ่านปลายดินสอของสามพี่น้องช่างฝัน

แม้มีประสบการณ์เลี้ยงน้องต้นหลิวมาแล้ว แต่สำหรับลูกชายฝาแฝด เลี้ยงยากไหม

ก้อนเมฆกับสายลม น้องเป็นผู้ชายแล้วมาพร้อมกันสองคน ทำให้เกิดความชุลมุนอยู่บ้าง อย่างบางครั้ง เราให้เขาตัวติดกันเกินไปเพื่อความง่ายในการเลี้ยง เช่น ใส่ชุดเหมือนกัน กินอาหารเหมือนกัน ทำอะไรเหมือนกัน เล่นเหมือนกัน พอมาถึงจุดหนึ่ง เราพบว่าเขาควรจะมีเวลาเป็นของตัวเองบ้าง พอเราลองจับแยกในบางครั้ง เขาแฮปปี้นะ แต่เหมือนเขามีสายสัมพันธ์กันบางอย่าง ทำให้รู้สึกว่าเขาอยากอยู่ใกล้กันมากกว่า

อย่างตอนอนุบาล 2 เราจับเขาแยกห้องกัน พอถึงอนุบาล 3 เขาถามว่า “เขาขอเรียนห้องเดียวกันได้ไหม” แล้วเขาก็ถามเหตุผลว่า “ทำไมถึงไม่ให้เขาเรียนด้วยกัน” เราก็บอกว่าเรียนห้องเดียวกันเดี๋ยวครูตีผิดคนเวลาดื้อ ครูกับเพื่อนจำไม่ได้ คำตอบของเขาคือ “เขาบอกว่าเขาจำได้ว่าเขาเป็นใคร เป็นหน้าที่คนอื่นที่ต้องจำเขาเองต่างหาก ไม่ใช่บอกว่าคนอื่นจำไม่ได้แล้วแยกเขา เขาไม่ยอม” (หัวเราะ)

สายลม และ ก้อนเมฆ บุคลิกแตกต่างกันมากไหม 

ก้อนเมฆเป็นเด็กที่ caring และ sensitive ห่วงใยผู้อื่น แต่สายลมจะเป็นเด็กร่าเริง กล้าแสดงออก ขี้โมโหบ้าง แต่ก็ตลก เป็นเด็กที่ชัดเจน เวลาแม่ให้เลือกของสายลมจะเลือกได้เร็ว แต่ก้อนเมฆจะไม่ฉึบฉับรวดเร็วเท่าไหร่ พอสายลมเห็นก้อนเมฆไม่สบายใจ เขาจะเสียสละยื่นให้ก้อนเมฆ 

ส่วนพี่สาวอย่างต้นหลิว เขาซึมซับจากที่เราเลี้ยงดูเขา แล้วเขาก็จะมาทำกับน้อง บางครั้งถ้าเราสปอยล์น้อง เขาก็จะรู้สึกขัดอกขัดใจว่าทำไมหยวนให้น้อง บางทีแม่ยุ่งๆ ก็ให้ต้นหลิวจัดการดูแลน้อง ซึ่งบางทีเขาอาจจะจัดการรุนแรงกว่าแม่ (หัวเราะ) แม่ก็จะต้องหลับตาข้างหนึ่ง ยายก็บอกว่า เดี๋ยวพี่น้องเขาจะจัดการกันเอง ต้นหลิวเอาอยู่ เพราะต้นหลิวจะมีทั้งบทตลกและบทโหดกับน้อง

บ้านนี้มีหลายเจนเนอเรชั่น ทั้งคุณตา คุณยาย พ่อแม่ ภาษาพูดคุยที่ใช้กับลูกๆ เป็นแบบไหน 

บ้านเราไม่พูดภาษาเด็ก เราจะพูดภาษาผู้ใหญ่ที่ใช้ในชีวิตประจำวันจริงๆ เพราะฉะนั้นจะไม่พูดภาษาต่างดาวกับลูกเลย ลูกก็จะซึมซับมาเรื่อยๆ อย่างคำว่า ‘หม่ำๆ’ แม่ก็ไม่ค่อยได้ใช้ ภาษาผู้ใหญ่ในความหมายของแม่คือภาษาที่เราใช้ในชีวิตจริง

สำหรับแม่ เวลาเล่นก็คือสนุกไปเลย ไม่ต้องเอาสาระ แต่ถ้าเวลาเอาสาระก็เอาสาระ แยกให้ชัดเจนว่าไม่สอดแทรกสาระและวิชาการเข้าไปในเวลาเล่นสนุกจนเกินไป นิทานพวกประเภทนิทานสอนใจ ‘เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า’ บางครั้งมันก็เหมือนปิดกั้นจินตนาการเกินไป เพราะฉะนั้น เราจะบาลานซ์ว่านอกจากนิทานประเภทนี้แล้วก็จะต้องเป็นนิทานที่เปิดกว้างให้เด็กได้คิดบ้าง ได้คิดตอนจบเองบ้าง 

สายลมและก้อนเมฆเริ่มเขียนบันทึกตั้งแต่ตอนไหน ใครเป็นคนชวน 

จริงๆ แล้ว เราไม่เคยคาดหวังว่าลูกๆ จะต้องเขียน เมื่อก่อนบ้านเราอ่านหนังสือกันอย่างเดียว จนต้นหลิวได้ไปร่วมโครงการสมุดบันทึกวัยเยาว์ของกระทรวงวัฒนธรรม เราก็ไม่อยากให้โครงการจบแล้วเขาหยุดเขียน เราจึงชวนเด็กๆ มาเขียนความสุขเป็นไดอารีกันเถอะ

การที่ก้อนเมฆกับสายลมเริ่มเขียน เป็นเพราะเขาเห็นภาพพี่หลิวนั่งบนโต๊ะแล้วก็เขียนไดอารีมาตั้งแต่เขายังพูดไม่ได้ แต่เขาก็รู้ว่า เวลาพี่สาวเขียนไดอารี ทำไมแม่กอด แม่หอม แม่ชมพี่หลิว ฝาแฝดเขาเห็นภาพนั้นมา จนวันหนึ่งพี่หลิวเป็นคนชวนน้องมาเขียน แม่มีหน้าที่แค่ยื่นสมุดให้เขา เขาก็เริ่ม 

นอกจากหยิบยื่นสมุด ดินสอ คุณแม่มีวิธีทำให้การเขียนของลูกต่อเนื่องได้อย่างไร โดยที่เขาไม่เบื่อกลางคัน

ต้นหลิวเขียนต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เขาไม่เคยคิดว่าการเขียนบันทึกคือว่างแล้วเขียน สำหรับต้นหลิว เขามองว่ามันสำคัญ มันคือความสุข มันคือสิ่งที่นำพาเขาไปสู่สิ่งดีๆ เขาจึงไม่เคยจัด priority บันทึกไว้สุดท้ายเลย มันจะอยู่ใน priority แรกๆ ของเขา อยู่ในสิ่งที่เขาให้ความสำคัญ และเมื่อวันที่เขาไม่มีเวลา เขาก็พยายามจัดสรรให้มันจนได้ 

เพราะฉะนั้นเขาก็เลยเป็นเรไรรายวันได้มาจนถึงทุกวันนี้ เราอยากจะบอกว่า ก่อนจะให้เด็กเขียน เราต้องบอกก่อนว่า เขียนไปทำไม เขียนเพื่ออะไร สร้างเป้าหมายให้เด็ก อย่าไปกดดันนะว่าจะต้องถึงเป้าหมายนั้น แต่บอกเขาว่า ‘เนี่ย รู้ไหมว่าการเขียนจะนำพาลูกไปสู่อะไรบ้าง’ 

การเขียนนำพาลูกๆ ไปสู่อะไรได้บ้าง 

ส่วนใหญ่แล้ว เวลาผู้ใหญ่บอกให้เด็กเขียน เช่น เขียนเรียงความที่โรงเรียน ไม่ได้บอกเด็กว่าการเขียนเอาไปทำอะไร เขียนเพราะให้เขียน แต่เด็กๆ บ้านนี้จะรู้ว่าการเขียนมันจะช่วยเขา นอกจากการสื่อสารแล้ว มันคือการนำเขาออกไปสู่โลกกว้าง อย่างต้นหลิวก็ได้เป็นบล็อกเกอร์เด็ก การเขียนพาให้เขาได้เดินทางตั้งแต่ 7-8 ขวบ ไปเจอกับรุ่นพี่ที่โตขึ้น เริ่มมีโลกของตัวเอง นั่นแหละคือสิ่งที่การเขียนพาลูกไปเปิดโลก 

เด็กๆ เคยเข้าไปอ่านคอมเมนต์ในเพจเรไรรายวันบ้างไหม

ลูกๆ จะไม่เคยสนใจยอดไลค์ ไม่เคยรู้เลยว่าตอนนี้เพจเป็นอย่างไร ทวิตเตอร์เขาพูดกันถึงอะไร เขาใช้ชีวิตเหมือนกับเด็กปกติ เพราะเด็กรุ่นนี้ไม่เสพเฟซบุ๊ค เขาสนใจ Instagram, Tiktok, YouTube ถามว่าเขามาอ่านคอมเมนต์ไหม แทบจะไม่ได้อ่านนะ คอมเมนต์ดีๆ บางทีเราก็อ่านให้เขาฟัง เล่าให้เขาฟัง

เราคิดว่าการเขียนนั้นเป็นประโยชน์กับลูกเรา เพราะ writing is thinking การเขียนคือการคิด การเขียนทำให้ลูกเราได้ทบทวน แต่การที่เราเอาออก public เนี่ย มันเกิดขึ้นภายหลัง 

การโพสต์ไดอารีของลูกลงโซเชียลออนไลน์ คุณแม่บอกหรือแจ้งเขาก่อนอย่างไร 

เราคุยกันก่อน ทั้งครอบครัวเลย ว่าเราจะทำสิ่งนี้ร่วมกันไหม เราจะแบ่งปันความรู้ลงเพจด้วยกันไหม บันทึกที่ลูกๆ เขียนจะถูกโพสต์สู่สาธารณะ เราอาจต้องแชร์เรื่องราวของเรา ของคุณตา คุณยาย ให้คนอื่นรู้นะ ทุกคนโอเคไหม เราอยากให้ทุกคนในครอบครัวทำด้วยกัน เพราะว่ามันเป็นกิจกรรมครอบครัว ถ้าใครสักคนไม่โอเค เราจะไม่ทำ พอเราคุยกัน ทุกคนโอเค จึงเกิดเพจเรไรรายวันขึ้น 

เด็กๆ ได้กลับมาอ่านบันทึกของตัวเองบ้างไหม

เด็กเขาไม่อยากเขียนบันทึกเพื่อที่จะอ่านบันทึกของตัวเอง ต้นหลิวไม่เคยเลยนะ เขียนแล้วมานั่งเปิดอ่าน เพราะเด็กเขาไม่ได้อยากรู้เรื่องตัวเอง เด็กเขาไม่ได้ obsessed (หมกมุ่น) กับตัวเองเหมือนผู้ใหญ่ เด็กเขาเขียนแล้วแล้วกัน แต่เขาจะเขียนก็ต่อเมื่อเขารู้ว่ามีคนอ่าน ซึ่งไม่ใช่ใคร ก็คือคนรอบตัว คนที่รักเขา ก็คือพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย พี่ ป้า น้า อา แฟนเพจ หรือจะเป็นใครๆ ที่อยู่วงนอก คือคนที่ส่งพลังบวกกลับมาให้เขา แต่เป็นคนที่เขารู้สึกว่าไม่อ่านบันทึกของเขา ก็ไม่ได้มีผลอะไรกับเขาเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นเราทำให้เขาคิดแบบนี้ เขาจะไม่รู้สึกยึดติดกับลาภยศ สรรเสริญ ชื่อเสียง

ที่แม่จั่นบอกว่าทั้งเรไร ก้อนเมฆและสายลมต้องการให้คนในครอบครัวอ่านมากที่สุด ทั้งหมดแสดงออกอย่างไรว่าเรารออ่าน

เราพูดคุย ชวนคุย ‘วันนี้มีอะไรสนุก วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง’ เพราะก่อนที่ลูกจะเขียนบันทึกได้หนึ่งถึงสองบรรทัด จะมีการพูดคุย เล่าเรื่อง ทบทวนความสนุกของเขาก่อนเสมอ แล้วแม่ก็จะอยากรู้ ซักถามเขา เด็กเขาจึงรู้สึกว่า พอเขาเล่าออกมาแล้วแม่ชอบ มันสนุก แม่อยากรู้ พี่หลิวชอบ ยายก็อยากรู้ มันมีบรรยากาศตรงนั้นอยู่ 

เราต้องทำให้เด็กเขารู้ว่า เรื่องเล่าเขามีคุณค่า อ่านแล้วเรารู้สึกสนุกจริงๆ ชวนเขาคุยต่อ ‘ก้อนเมฆคิดแบบนี้เหรอ’ ‘แม่อ่านแล้วแม่บอกว่าชอบมากเลย’ ‘แม่จำไม่ได้แล้วนะว่าตอนนั้นเป็นแบบนั้น’ ‘โห ขอบคุณมากนะก้อนเมฆ ขอบคุณนะสายลม’ ‘โอ้โห เขียนเก่งมากเลย แม่ชอบ’ นี่คือสิ่งง่ายๆ ที่เราทำให้เด็กรู้สึกว่า เรื่องเล่าของเขาไม่ได้ลอยลม 

ถ้าเด็กๆ ไม่รู้จะเขียนอะไร คุณแม่มีคำแนะนำลูกๆ แบบไหน

แม่มักบอกเขา (ก้อนเมฆกับสายลม) ว่า ‘พูดอะไรออกมาก็เขียนแบบนั้นแหละ’ บางทีเขาพูดเยอะ แต่ไม่อยากเขียนเยอะ ความที่เป็นเด็กผู้ชาย เขาไม่อยากมานั่งเขียนอะไรยาวๆ พี่หลิวก็แนะนำน้องว่า ‘ตัดอันที่มันไม่ใช่ออกสิ’ เขาก็ไม่เข้าใจ พี่หลิวก็ขึ้นกระดานให้ดูว่าประโยคที่น้องเขียนว่า ‘วันนี้สายลมกินข้าวผัดอร่อยมาก’ 

พี่หลิวบอกว่าบันทึกก่อนเขียน สายลมกับก้อนเมฆเขียนวันที่อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเขียนว่าวันนี้ก็ได้ เพราะคนอ่านรู้อยู่แล้วว่ามันคือวันนี้ น้องๆ เขาก็ลบ เหลือแค่คำว่า ‘กินข้าวผัดอร่อยมาก’ จากนั้นพี่หลิวก็บอกว่า ‘เวลาสายลมเขียนบันทึกเสร็จแล้วก็เซ็นชื่อลงข้างล่าง ทำให้เราก็รู้ว่าเป็นบันทึกของสายลม 

พอเราช่วยให้เขาทำได้ เสร็จเร็ว เขียนไม่เยอะ เขาก็ร่วมมือ สนุก เขียนเสร็จแป๊บเดียวได้ไปเล่นแล้ว แล้วเขาก็จะสนุกกับการพยายามคิดให้มันสั้นเพื่อที่จะได้ไปเล่นเร็วๆ (หัวเราะ)

แสดงว่าน้องเขียนในแต่ละวันก็จะสั้นๆ ไม่กี่นาที

สั้นๆ ความหมายที่เขาเขียนก็จะตรงไปตรงมา ไม่มีอะไรซับซ้อน เช่นที่เขาเขียนว่า ‘กุหลาบสวยแต่มีหนามทิ่ม’ เพราะว่าแม่พาไปซื้อกุหลาบ เขาไปนั่งเลือกกุหลาบต้นที่เขาชอบมาเอง พอมาถึงบ้าน คุณตาเอาออกจากกระถางมาใส่ราง พรวนดิน ใส่ปุ๋ย ใส่อะไรปุ๊บ เขาบอกต้นมันทิ่มอ่ะ คุณตาบอกว่าสวยไหม เขาบอกกุหลาบมันสวย แต่มันหนามทิ่ม แค่นี้ เขาก็จำมาเขียน รีบเขียนรีบเล่น

หรือที่เขาเขียนว่า ‘แสงส่องเฉยๆ ไปมองเองเลยแสบตา’ เพราะขณะที่สายลมกำลังเขียนบันทึก แดดเข้าช่วงบ่ายพอดี แม่เอามู่ลี่ขึ้น พอแสงส่องปุ๊บ แม่ร้อง ‘โอ๊ย!’ สายลมก็ถามว่าแม่เป็นอะไร เราบอก ‘ฮู้ย แสงโดนตาแม่’ สายลมเขาก็พูดประมาณว่า ‘สายลมว่ามันก็ส่องมาเฉยๆ นะ แม่ไปมองมันเอง’ (หัวเราะ)

อะไรบ้างที่ทำให้เด็กๆ สนุกกับการเขียน 

บ้านเราจะทำทุกอย่างให้เป็นกิจกรรม เป็นเกม เช่นเวลาไปตลาด เมื่อก่อนต้นหลิวเดินตามคุณยาย ยายส่งถุงให้ถือบ้าง เราก็จะชวนว่า วันนี้มาลองแข่งกับคุณยายว่าใครได้กลิ่นอะไรมากกว่ากัน ต้นหลิวบอกหนูได้กลิ่นหมู เขียงหมู คุณยายบอกคุณยายได้กลิ่นหน่อไม้ดอง อะไรแบบนี้ 

กิจกรรมเล็กๆ แบบนี้จะทำให้เด็กเป็นคนช่างสังเกต ไม่ล่องลอย เขาจะมอง ได้ยินเสียง เก็บรายละเอียด แล้วประสาทสัมผัสของเขาจะถูกฝึก การเปิดประสาทออก จะช่วยพัฒนาเรื่องการเขียนได้ 

เด็กมักมีคลังคำศัพท์ไม่มาก ประโยคนี้จริงไหม

เรามักคิดจากมุมมองผู้ใหญ่ว่าเด็กมีคลังคำศัพท์ไม่มาก ซึ่งไม่จริง เด็กเขาช่างพูด แล้วพูดกันตลอดเวลา คลังคำเขามีเยอะพอที่จะสื่อสาร เพียงแต่คำที่เอามาใช้บางทีอาจไม่ตรงเท่าไหร่ เช่น ‘เมื่อวานเขาบอกว่าแม่จั่นหอมก้อนเมฆจนก้อนเมฆจั๊กจี๋คอมากเลย ขนก้อนเมฆมันฟูเลยอะ’ เขาบอกได้ว่าขนฟู แต่เขาไม่รู้จักคำว่าขนลุก เราก็ปล่อยให้เขาเขียนบันทึกไปว่าขนฟู 

เด็กเขากำลังลองผิดลองถูกกับคลังคำที่มี เรื่องคลังคำศัพท์แม่จึงไม่ไปยุ่งกับเขาเท่าไหร่ ปล่อยให้เขาทำออกมา แล้วก็พบว่าเขาทำได้ คลังคำเพียงพอสำหรับการสื่อสารแล้ว 

การที่ทั้งต้นหลิว ก้อนเมฆ สายลมได้ถ่ายทอดในสิ่งที่ตัวเองคิดรู้สึก อย่างตรงไปตรงมา ในความเห็นของแม่จั่น สิ่งนี้เป็นผลดีกับเขาอย่างไรบ้าง 

สิ่งที่เขาได้คือทักษะการสื่อสาร สื่อสารสิ่งที่ตัวเองคิด สื่อสารสิ่งที่ตัวเองรู้สึกออกมาให้คนอื่นได้รับรู้ เข้าใจความรู้สึกของคนอื่นที่เขาสื่อสาร กลับมาพูดแล้วคนอื่นฟังรู้เรื่อง ทำงานด้วยกันได้ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ ทักษะการเขียนมันช่วยได้ เพราะเวลาเขียน เขาต้องบอกว่าเขารู้สึกอย่างไร เขาคิดอย่างไร

คีย์เวิร์ดที่แม่พยายามบอกลูกคือ เวลาที่ลูกเขียนคำว่า ฉันคิดว่า, ฉันรู้สึกว่า, ฉันเห็นว่า, ฉันนึกว่า สี่คำนี้ไม่เหมือนกันเลยนะลูก เวลาลูกเขียน แม่อยากให้พยายามมีประโยคพวกนี้เข้าไปในบันทึกบ้าง วันนี้หนูรู้สึกอย่างไร, วันนี้ฉันนึกอย่างไร, วันนี้หนูคิดอย่างไร แล้วให้เขาลองมาอธิบายให้แม่ฟัง แล้วเขาก็จะบอกได้ว่า นึกนี่มันมีมโนเข้าไปด้วยนะ แต่เห็น มันเป็น fact คิดคือเอาความคิดเห็นของตัวเองใส่เข้าไป สิ่งนี้ทำให้เขาฝึกมากขึ้น 

พอฝึกไปเรื่อยๆ เขาจะเข้าใจว่า ความคิดของเราอาจจะไม่เหมือนของคนอื่น ความคิดของคนอื่นอาจจะตรงกับเรา ความเห็นของเราอาจจะขัดแย้งกับคนนั้นคนนี้ มันทำให้เขาเป็นเด็กที่ยอมรับความแตกต่างได้มากขึ้นผ่านการฝึกเขียน

ทุกครั้งที่ลูกๆ เขียนบันทึกเสร็จ แสดงความรักกับลูกแบบไหน

เราแสดงความรักไม่เหมือนกันทุกครั้ง แม่ไม่อยากให้มันเป็นแพทเทิร์น

แต่เราจะพยายามบอกความรู้สึกกัน เช่น วันนี้ก้อนเมฆคิดถึงแม่ไหม แล้วเขาก็จะถามกลับว่า ‘ตอนแม่จั่นทำงานบ้านอยู่เนี่ย แม่จั่นดูกล้องวงจรอยู่รึป่าว แม่จั่นเห็นก้อนเมฆไหม’ เราพยายามให้เขาแสดงความรู้สึกรักแบบไม่เป็นแพทเทิร์น 

เราไม่เป็นคนปากหนักที่จะบอกรัก ขอบคุณ ขอโทษ บอกรัก คิดถึง แต่จะให้เขาแสดงความรู้สึกออกมาโดยเป็นธรรมชาติ ลูกๆ เขาจะเป็นเด็กที่ชอบนัวเนีย หอมคุณยาย หอมกันแล้วหอมกันอีก จนยายบอกว่า พอแล้ว พอเด็กไม่รู้สึกเขินที่จะบอกรัก เขาจะมีความกล้าในการที่จะบอกความต้องการของตัวเอง มันคือจุดเริ่มต้นในการพัฒนาไปสู่ทักษะอื่นๆ ด้วย 

ดูจากงานเขียน เขาจะมีหัวข้อ บุคลิกในการเขียน เลือกเรื่องไม่เหมือนกัน

ไม่เหมือนๆ สายลมนี่จะคิดไว คิดไวกว่า บางทีแม่ไปรับขึ้นรถมา แม่ครับสายลมคิดได้แล้ว แม่บอก เดี๋ยวก่อนขับรถอยู่ ต้องถึงบ้านก่อนยังเขียนไม่ได้

การที่คุณแม่ได้ล่วงรู้ความรู้สึกนึกคิดของลูกผ่านตัวอักษรที่เขาถ่ายทอดออกมา สิ่งนี้ช่วยคุณแม่ในการเลี้ยงดูลูกอย่างไร

สำหรับคนเป็นแม่แล้วมันคือความเอ็นดู แล้วก็ภูมิใจในการเขียน ในแง่ของการเป็น process มากกว่า แต่ความรู้สึกนึกคิดมันออกมาตลอดเวลาอยู่แล้วสำหรับลูก มันไม่ใช่แค่การเขียน การพูดการจา การกระทำ เราใกล้ชิดกับเขาด้วย เราก็จะเห็นมันตลอดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการที่เขาเขียนออกมา มันไม่ค่อยได้เซอร์ไพรส์มากนักในเรื่องของความรู้สึกนึกคิด แต่จะเป็นเรื่องของภาษามากกว่า เฮ้ย พัฒนาการมันโอเคเลย เขียนสวยขึ้น ใช้คำได้หลากหลายขึ้น ใช้คำได้กระชับขึ้น สำหรับแม่จะเป็นในแง่นั้น แต่ในแง่ความคิด ความรู้สึกมันออกมาจากการพูดของเขาอยู่แล้ว

เวลาที่พ่อแม่อยากช่วยให้ลูกสื่อสาร ไม่ว่าจะผ่านการเขียน การคิด มีอะไรที่ห้ามพูด หรือไม่ควรทำไหม

สำหรับแม่เราคิดว่า เด็กเขาจะรับรู้ได้ทันทีว่าเรากำลังชมจริงหรือชมปลอม เช่น ถ้าเขาเขียนห่วยมากเลย แล้วเราแบบ  เฮ้ย เก่งจังเลย ต่อไปคำชมของเราจะไม่มีค่าสำหรับเขา 

เราต้องปล่อยอิสระกับการเขียน อย่าไปติน่าจะดีที่สุด เพราะเด็กเขายังมีเวลาอีกเยอะที่จะพัฒนาการเขียน ฉะนั้นถ้าเรามองว่าการเขียนคือกระบวนการที่ฝึกให้ลูกได้คิด ได้ทบทวน นึกย้อนกลับไปว่าทำอะไร ทำให้ลูกเป็นคนที่จดจำไม่หลงลืม ทำให้ลูกคิด มีเหตุผล วิเคราะห์ บอกความรู้สึกได้ กระบวนการนี้มันจะเป็นกระบวนการที่คนเป็นพ่อเป็นแม่ต้องปล่อย เฝ้ารอค่ะ

แล้วถ้าวันหนึ่งลูกทั้งสามคนเดินมาบอกว่า “ไม่อยากเขียนแล้ว”

แม่บอกลูกเสมอเลยว่า การเขียนไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เราพิเศษกว่าคนอื่น การเขียนคือสิ่งที่ทุกคนควรจะมี ทุกคนควรจะทำได้ แต่ไม่ได้รับการฝึกฝนและสังคมส่วนใหญ่ไม่ได้ทำเรื่องนี้ 

แล้วถ้าวันนี้เขาจะเลิกเขียนบันทึก นั่นเป็นสิทธิของเขา ไม่ว่าลูกจะเขียนต่อหรือไม่เขียนต่อแล้ว แม่เปิดอิสระตรงนั้น ถ้าแม่คิดถึงบันทึกของลูก แม่แค่หยิบบันทึกเก่าๆ มาอ่าน เพราะเขาเขียนมาเยอะมาก มันมีให้แม่อ่านเพียงพอแล้วแหละ 


Writer

Avatar photo

อรสา ศรีดาวเรือง

ลูกสาวชาวประมงผู้ว่ายน้ำไม่เป็น ตกหลุมรักอีสานพอๆ กับหลงใหลในท้องทะเล เรียนจบมหาวิทยาลัยด้วยการเข้าห้องเรียนกับชาวบ้าน จึงได้ F เป็นรางวัลแห่งความพยายามหลายตัว

Related Posts