REMOVE our mask and REFRAME our thought ถอดหน้ากากและเปิดใจ เมื่อการเหมารวมและตัดสินเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ควรเรียนรู้ใหม่อีกครั้ง

“ขับรถแย่อย่างนี้ผู้หญิงขับแน่เลย”

“เป็นผู้ชายจะชอบสีชมพูได้ยังไง เป็นกะเทยเหรอ”

“แค่เห็นป้ากลุ่มนั้นพูดเสียงดังก็รู้แล้วว่าเป็นแก๊งมนุษย์ป้า”

“ทำไมเรียนสายศิลป์ฯ ล่ะ เกรดไม่ดีเหรอ”

นี่คือส่วนหนึ่งจากสารพัดถ้อยคำตัดสินที่หลายคนอาจเคยได้ยินกันมาตั้งแต่เด็กจนโต

หรือครั้งหนึ่งเราเองก็อาจเคยเป็นเจ้าของถ้อยคำเหล่านี้ โดยที่ยังไม่รู้ว่านี่คือการเหมารวม (stereotype) ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดอคติ (prejudice) และเกิดการเลือกปฏิบัติ (discrimination) ในสังคม

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสต์ระบุว่าแต่เดิมในปี 1922 คำว่า stereotype นั้นใช้เพื่อเป็นการอธิบายถึงลักษณะการรับรู้ของกลุ่มทางสังคมแบบเหมารวม ซึ่งเป็น ‘ความเชื่อที่เกินจริง’ เป็นการเหมารวมที่ไม่ได้พิจารณารายบุคคล และไม่ได้ยอมรับการเปลี่ยนแปลงรายบุคคล และการ stereotype ก็สามารถเป็นได้ทั้งในรูปแบบเชิงบวกและเชิงลบอีกด้วย เช่น เชื่อว่าคนจีนทุกคนขยันทำมาหากิน เรียนจบจากเมืองนอกต้องเป็นคนหัวสมัยใหม่

ในงาน Relearn Festival 2024: Co-Creating Next Generation นี้ Mappa และ SPECTRUM จึงได้ร่วมกันออกแบบโซน 7A: REMOVE our mask and REFRAME our thought ขึ้นมาเพื่อพาทุกคนย้อนกลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้ง ว่าครั้งหนึ่งเราเคย ‘ตัดสิน’ คนอื่นด้วยเรื่องอะไรบ้าง และมีเรื่องอะไรบ้างที่เราเคย ‘ถูกตัดสิน’ จากคนอื่น

บอร์ดสีขาวและสีดำที่แขวนอยู่ภายในโซนนี้ แบ่งออกเป็น ‘บอร์ดแห่งการตัดสิน’ และ ‘บอร์ดแห่งการถูกตัดสิน’ ผู้ที่ก้าวเข้ามาในโซนจะได้รับสติ๊กเกอร์สำหรับแปะลงในช่องการเหมารวมในเรื่องต่างๆ เช่น การศึกษา ถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ รูปลักษณ์ภายนอก ซึ่งพื้นที่ตรงนี้จะเป็นพื้นที่ที่เราได้ทบทวนความคิดและทัศนคติที่มีต่อการเหมารวมตัดสินคนอื่น 

คำพูดหรือชื่อเรียกที่เราได้ยินจากสื่อซึ่งพบได้ทั่วไปตามโซเชียลมีเดีย อย่างคำว่า ‘มนุษย์ป้า’ ‘สายฝอ’ ‘ติ่งส้ม’ ‘ควายแดง’ ฯลฯ อาจถูกมองว่าเป็นคำที่ใช้กันทั่วไปจนเป็นเรื่องปกติ แต่ถึงอย่างนั้นก็มีงานวิจัยที่ระบุว่า ‘ความรู้สึกเป็นมิตร’ นั้นมีความสัมพันธ์กับ ‘ลักษณะของการเหมารวม’ ที่คนกลุ่มนั้นมีอยู่ด้วย ซึ่งอาจส่งผลกระทบถึงความสัมพันธ์ที่เรามีต่อคนกลุ่มนั้น และอาจขยายเป็นการเลือกปฏิบัติในทางที่ไม่ดีได้เช่นกัน  

ในส่วนถัดมาของโซน 7A คือส่วนของป้ายข้อความการเหมารวมที่พบในสังคมไทย แสดงให้เห็นถึงความเชื่อและทัศนคติที่มีต่อกลุ่มคนหลากหลายกลุ่มทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ เช่น กะเทยทุกคนเป็นคนตลก ผู้หญิงต้องทำงานบ้านและทำอาหารเก่ง คนเรียนสายวิทย์เก่งกว่าคนเรียนสายศิลป์ คนเป็นสิวเพราะความสกปรก คนจนยังจนเพราะทำงานหนักไม่พอและขี้เกียจเกินไป ฯลฯ 

ถ้อยคำเหล่านี้ยังเป็นถ้อยคำที่ถูกใช้ในสังคมไทย ณ ปัจจุบัน 

บางถ้อยคำสร้างบาดแผลเอาไว้ในใจใครหลายคน 

บางคำพูดเปลี่ยนอนาคตและความฝันที่คนคนหนึ่งเคยมีให้พลิกผันเข้าสู่อีกเส้นทาง 

บางความเชื่อหยิบยื่นความคาดหวังและความกดดันให้ใครสักคนต้องแบกไปให้ถึงฝั่งฝัน

คำพูดที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กๆ เวลาที่ใช้ตัดสินคนอื่นเพียงไม่กี่วินาที มีพลังและอำนาจมากกว่าที่เราคิดเอาไว้ 

การได้ใช้เวลาทบทวนทำความเข้าใจ ละทิ้งมุมมองความเชื่อเดิม แล้วเรียนรู้ที่จะเปิดใจและมองในมุมที่เปิดกว้างมากขึ้น จึงเป็นหมุดหมายที่เราอยากให้เกิดขึ้นเมื่อทุกคนได้เข้ามาในโซน 7A แห่งนี้ และอยากให้ทุกคนช่วยกันแต่งแต้มสีสันเพื่อละทิ้งการตัดสินในความเชื่อเดิม แล้วมาร่วมสร้างสังคมที่ดีกว่าเดิมด้วยสิ่งดีๆ ที่เราหยิบยื่นให้ผู้อื่นได้

นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่เราได้เห็นในงาน Relearn Festival 2024 คือการที่เด็กๆ สวมหน้ากากตัวละครต่างๆ และวิ่งเล่นอย่างสนุกสนานอยู่รอบงาน ซึ่งหน้ากากเหล่านี้เป็นผลงานของศิลปินมากฝีมือ ‘กิต-กิตติศักดิ์ แซ่หล่อ’ ที่สื่อถึงเหล่าตัวละครต่างๆ ในนิทานและวรรณกรรมเด็ก ที่หากลองทบทวนที่มาที่ไปของตัวละครแต่ละตัว จะเห็นว่ามีที่มาที่ทำให้ตัวละครนั้นเป็นตัวของตัวเอง ไม่ได้เป็นดั่งภาพที่เราตัดสินจากภายนอก

แม้แต่ตัวละครในนิทาน ภาพยนตร์ หรือการ์ตูนเด็ก ก็ถูกตัดสินและเหมารวมไม่ต่างจากผู้คนในโลกความเป็นจริง เราเติบโตมากับนิทานที่มีหมาป่าเป็นผู้ร้าย เจ้าแกะต้องกลายเป็นเหยื่อของหมาป่าเสมอ หรือแม้กระทั่งเจ้าหญิงอย่างเอลซ่าเองก็ถูกคาดหวังให้เป็นคนที่สมบูรณ์แบบเพียบพร้อม สิ่งนี้คือรูปแบบของตัวละครที่ถูกวางไว้ (Character archetypes) เพื่อให้มีความเชื่อมโยงกับคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งของมนุษย์ แต่ก็เป็นการสร้างภาพจำที่นำไปสู่การเหมารวมได้เช่นกัน

รูปแบบของตัวละครที่ถูกวางไว้ (Character archetypes) แบ่งออกเป็นหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นตัวละครที่เป็นตัวเอกหรือฮีโร่ ตัวร้าย คนรัก ชาวบ้านธรรมดา แม่ของตัวเอก ฯลฯ โดยรูปแบบของตัวละครเหล่านี้จะดึงลักษณะที่โดดเด่นของมนุษย์มาเป็นส่วนหนึ่งของตัวละคร นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมตัวละครบางตัวในนิทานบางเล่มถึงมีความเจ้าเล่ห์เป็นพิเศษ กล้าหาญไม่เกรงกลัวใคร จนทำให้ผู้ใหญ่อย่างเรามีภาพจำกับตัวละครนั้นในแง่ของลักษณะนิสัยอย่างใดอย่างหนึ่ง

แต่เมื่อเวลาผ่านไป สื่อในยุคปัจจุบันเริ่มมีการพัฒนาและสอดแทรกความหลากหลายลงไปในเรื่องราวที่ถ่ายทอด ทลายกรอบความเชื่อเดิมที่เคยมี ทำให้เด็กๆ ได้เข้าใจถึงความแตกต่างและความหลากหลายของสังคมมากขึ้น พวกเขาเรียนรู้ว่าเจ้าหญิงไม่ต้องรอเจ้าชาย หมาป่าไม่ได้ใจร้าย และลูกหมูไม่ต้องกลายเป็นเหยื่อเสมอไป 

เด็กๆ พร้อมที่จะถอด-ใส่หน้ากากเหล่านี้ เปลี่ยนบทบาทเป็นตัวละครอื่นๆ โดยที่ไม่ต้องรอให้ใครมาตัดสินพวกเขา

เด็กๆ กำลังเปลี่ยนวิธีมองโลกไปแล้ว

แล้วคุณล่ะ เปลี่ยนหรือยัง?

อ้างอิง

http://old-book.ru.ac.th/e-book/inside/html/dlbook.asp?code=PC265 

http://www.scielo.org.za/scielo.php?script=sci_arttext&pid=S2071-07632015000100005 

https://www.scribophile.com/academy/what-are-character-archetypes


Writer

Avatar photo

ณัฐนรี บัวขม

มีชีวิตอยู่เพื่อดูคลิปตลก คีบตุ๊กตา และเดินหาร้านอร่อยในย่านบรรทัดทอง

Photographer

Avatar photo

ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts