- หลังศาลฎีกาของอเมริกาพลิกคำตัดสินคดี Roe v Wade ซึ่งเป็นรากฐานของการเกิดกฎหมายทำแท้งในอเมริกา ทำให้การทำแท้งอาจกลับไปผิดกฎหมายในบางรัฐ
- คำตัดสินนี้ไม่ได้ส่งผลแค่เฉพาะอเมริกา มีหลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าอาจส่งผลประเทศอื่นๆ ที่ต้องการแบนการทำแท้ง
- ทำความเข้าใจประเด็นดังกล่าวผ่านสารคดี Reversing Roe เล่าเรื่องการปฎิรูปกฎหมายทำแท้งของอเมริกา
เหตุผลที่เราจะเลือกดูหนังหรือซีรีส์สักเรื่องมีหลากหลายมากกว่าแค่ความบันเทิง เช่นที่เราอุทิศเวลา 1 ชั่วโมง 30 นาที ให้กับสารคดี Reversing Roe เพื่อทำความเข้าใจกฎหมาย ‘ทำแท้ง’ ของอเมริกา ซึ่งเป็นประเด็นร้อนแรงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
ศาลฎีกา (Supreme Court) ของอเมริกาพลิกคำตัดสินคดี ‘Roe v Wade’ ซึ่งเป็นรากฐานของการเกิดกฎหมายทำแท้งในอเมริกา คำตัดสินของคดีนี้ประกาศว่า กฎหมายห้ามทำแท้งขัดต่อรัฐธรรมนูญประเทศ เพราะละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคล ทำให้สิทธิที่จะเลือกทำแท้งของประชาชนได้รับคุ้มครองจากกฎหมาย เป็นผลให้แต่ละรัฐในอเมริกายกเลิกกฎหมายห้ามทำแท้ง
แต่การตัดสินล่าสุดของศาลกีฏากลับคำตัดสินคดี Roe v Wade ทำให้จากที่ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจ เลือกทำแท้งด้วยตัวเอง อำนาจในการตัดสินใจกลับไปอยู่ที่รัฐแทน ส่งผลให้บางรัฐในอเมริกาเริ่มพิจารณายกเลิกกฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งของตัวเอง รวมถึงคลินิกที่บริการให้ทำแท้งก็ทยอยปิดบริการ มีประชาชนหลายส่วนแสดงความไม่พอใจและออกมาประท้วง
คำตัดสินนี้ไม่ได้ส่งผลแค่เฉพาะอเมริกา มีหลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าอาจส่งผลประเทศอื่นๆ ที่ต้องการแบนการทำแท้ง Nancy Pelosi ประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกา แถลงหลังคำตัดสินออกมาว่า ในฐานะผู้หญิง แม่ และยาย เธอเศร้าใจที่เห็นว่าสิทธิของผู้หญิงวันนี้น้อยกว่าสิทธิ์ที่แม่และยายพวกเธอมีซะอีก
การทำแท้งไม่ใช่แค่เรื่องของผู้ตั้งครรภ์เท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับประชาชนทุกคนที่น่าตั้งคำถามว่า ทุกวันนี้เรามีสิทธิในร่างกายตัวเองมากน้อยเท่าไร
ระบบกฎหมายจารีต Vs ลายลักษณ์อักษร
ก่อนเข้าเรื่องสารคดี เราขอเล่าระบบกฎหมายเพื่อให้เข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น ระบบกฎหมายบนโลกนี้สามารถแบ่งได้ 2 ระบบใหญ่ คือ ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Civil Law System) และระบบกฎหมายจารีตประเพณี (Common Law System) ความแตกต่างของสองระบบนี้ คือ ระบบกฎหมายจารีตประเพณีจะใชัคำพิพากษาที่ศาลเคยตัดสินเป็นหลักในการพิจารณคดี เป็นระบบที่อเมริกาใช้ ส่วนระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรจะใช้ตัวบทกฎหมายเป็นตัวตัดสินคดี เป็นระบบที่ไทยเราใช้กัน
นอกจากนี้ ระบบศาลที่อเมริกาจะแบ่งเป็น 3 ชั้น คือ ศาลชั้นต้น (Curcuit Court) ศาลอุทรณ์ (Appeal Court) และศาลฎีกา (Supreme Court) ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจที่จะล้มเลิกกฎหมายและการปฏิบัติการของฝ่ายบริหารที่ได้วินิจฉัยแล้วว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และการแต่งตั้งผู้พิพากษาในศาลฎีกานั้น ประธานาธิบดีมีสิทธิ์เป็นผู้เสนอชื่อ
เส้นทางการต่อสู้เพื่อให้ได้กฎหมายทำแท้ง
การเคลื่อนไหวเพื่อปฎิรูปกฎหมายทำแท้งของอเมริกาดำเนินมายาวนาน ย้อนกลับไปช่วง 1960 ที่การทำแท้งยังคงเป็นสิ่งผิดกฎหมาย จนกระทั่ง Sherri Chessen พิธีกรรายการเด็กในเมืองฟีนิกซ์ แอริโซนา ตัดสินใจทำแท้งเพราะเด็กในครรภ์มีความผิดปกติ
Chessen ประกาศการตัดสินใจของตัวเองลงหนังสือพิมพ์เพื่อให้คนที่ตกอยู่ในสถานะเดียวกันได้รู้ว่าพวกเขามีทางเลือกอื่นๆ แต่กลายเป็นกระแสโจมตี โรงพยาบาลยกเลิกที่จะทำแท้งให้เธอ ทำให้ Chessen ต้องไปทำแท้งที่สวีเดนแทน ปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิดการถกเถียงในสังคมเป็นวงกว้างเกี่ยวกับการทำแท้ง โดยเฉพาะประเด็นชีวิตเด็กในครรภ์ที่ควรได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกับคนอื่นๆ หรือไม่
ปี 1968 รัฐแคลิฟอร์เนียอนุมัติกฎหมายทำแท้งเพื่อการรักษา (California Therapeutic Abortion Act) โดย Ronald Reagan ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นคนเซ็นอนุมัติกฎหมาย ถือเป็นจุดเริ่มต้นให้รัฐอื่นๆ เริ่มปรับเปลี่ยนกฎหมายทำแท้งของตัวเอง กระทั่งปี 1970 รัฐนิวยอร์กออกกฎหมายทำแท้งที่ให้อิสระผู้ตั้งครรภ์ตัดสินใจมากขึ้น คือ สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ ถ้าเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการ ไม่จำเป็นต้องอธิบายหรือให้เหตุผลใดๆ จากแต่ก่อนที่การทำแท้งจะทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับคำอนุญาตจากที่ประชุมแพทย์ว่าการตั้งครรภ์ส่งผลอันตรายต่อชีวิตผู้ตั้งครรภ์
แต่กฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งยังคงมีแค่บางรัฐ และยังมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก ทำให้คนที่ต้องการทำแท้งในรัฐที่การทำแท้งยังผิดกฎหมาย ก็ต้องเดินทางไปรัฐอื่น จนมีคดีหนึ่งที่ถือเป็นตัวปฏิรูปกฎหมายทำแท้งในอเมริกา คือ คดี Roe v Wade ที่ทำให้การเลือกทำแท้งเป็นสิทธิส่วนบุคคล และการออกกฎหมายต่อต้านการทำแท้งถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญประเทศ
หลังจากคดี Roe v Wade กฎหมายทำแท้งจึงให้สิทธิในการทำแท้งได้อย่างเต็มที่ในช่วงไตรมาสแรก คือ 3 เดือนแรก และไตรมาสที่ 2 ช่วง 4 – 6 เดือน ส่วนไตรมาสที่ 3 ช่วง 7 – 9 เดือน ยังคงมีข้อจำกัด เนื่องจากทารกใกล้คลอด ไตรมาสนี้จะอนุญาตให้ทำแท้งได้ต่อเมื่อการตั้งครรภ์ส่งผลอันตรายกับชีวิตของผู้ตั้งครรภ์
Sarah Weddington ทนายความที่ดูแลคดีนี้ เล่าว่า ศาลถามว่าเธอคิดว่าชีวิตมนุษย์เริ่มขึ้นเมื่อไร คำตอบของ Weddington ที่มีให้ศาล คือ ไม่มีใครตอบคำถามนั้นได้ แต่ไม่มีมาตรการทางกฎหมายบทไหนที่ระบุชัดเจนว่า ทารกในครรภ์ช่วงไหนที่ถือเป็นมนุษย์ ดังนั้น ใครควรตัดสินใจเรื่องนี้ คนตั้งครรภ์หรือรัฐบาล
“เราไม่ได้มาเพื่อสนับสนุนการทำแท้ง เราไม่ขอให้ศาลตัดสินว่าการทำแท้งเป็นเรื่องดี หรือเป็นเรื่องที่น่ายินดีในกรณีใดก็ตาม เรามาเพื่อสนับสนุนสิทธิของผู้หญิงในการตัดสินใจว่า เธอควรจะตั้งครรภ์หรือยุติ”
เลือกชีวิตหรือความต้องการ Pro – Life Vs Pro – Choice
“ถ้าต้องเลือกระหว่างชีวิตกับความตาย จงเลือกชีวิต”
เสียงประกาศจากบาทหลวงที่ฉายในสารคดี ทำให้เราได้เข้าไปยืนอยู่ในกลุ่ม ‘Pro-Life’ กลุ่มคนที่รวมตัวกัน เพราะเชื่อว่าการทำแท้งเป็นสิ่งที่ผิด ทารกในครรภ์ถือเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ควรได้รับการคุ้มครอง มีสิทธิ์ที่จะมีชีวิตเช่นเดียวกับมนุษย์คนอื่นๆ
ทำให้การดำเนินการของกลุ่มมีเป้าหมายเพื่อขัดขวางกฎหมายและต่อต้านการทำแท้ง ไม่ว่าจะใช้คำสอนจากศาสนา หรือผลักดันรูปแบบกฎหมาย เช่น ที่รัฐเทกซัสมีกฎหมายมาตรา 171 ระบุว่าก่อนจะเข้าสู่กระบวนการทำแท้งภายใน 24 ชั่วโมง แพทย์จะต้องให้ข้อมูลคนไข้ครบถ้วน โดยเฉพาะให้อัลตร้าซาวด์ดูทารกในครรภ์ พวกเขาเชื่อว่าการทำแบบนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนใจ
“ในครรภ์มีอะไร คนหรือเปล่า? ควรค่าแก่การให้ความสนใจและการปกป้องตามหลักศีลธรรมหรือไม่” John Seago ตัวแทนกลุ่ม Pro-Life ให้สัมภาษณ์ในสารคดี
Colleen McNicholas สูตินารีแพทย์ที่ให้บริการทำแท้ง ให้ความเห็นในฐานะแพทย์ เธอคิดว่าการทำแท้ง คือ บริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน แต่ ณ วันนี้มันกลายเป็นประเด็นทางการเมืองที่นักการเมืองใช้เพื่อหาเสียงเลือกตั้ง “ไม่ควรมีกฎหมาย Pro – Chioce หรือ Pro-Life ควรจะมีกฎหมายนโยบายการดูแลสุขภาพที่สำคัญและอ้างอิงหลักวิทยาศาสตร์”
Tom Davis บาทหลวงที่ในอดีตเคยรับตำแหน่งอนุศาสนาจารย์ประจำวิทยาลัยสกิดมอร์ เป็นที่ปรึกษาปัญหาให้กับนักศึกษา เล่าว่า มีนักศึกษาที่มาขอความช่วยเหลือให้พาไปทำแท้งจำนวนมาก อนุศาสนาจารย์ที่อื่นๆ ก็เจอสถานการณ์นี้เช่นเดียวกัน บรรยากาศการทำแท้งในยุคนั้นทำให้หลายคนเสี่ยงได้รับอันตราย บางคนที่ไม่มีเงินมากพอก็ตัดสินใจทำแท้งด้วยตัวเอง เช่น ใช้ไม้แขวนเสื้อ หรือกระโดดจากบันได
สำหรับ Davis ศาสนาสำหรับเขาคือการให้บริการคนที่ต้องการ และนั่นทำให้เขาเลือกที่จะช่วยคน “ผู้หญิงเป็นเหมือนพวกนอกกฎหมาย ต้องวิ่งไปทั่วพยายามทำกระบวนการที่ผิดกฎหมาย และดูเหมือนไม่มีใครพยายามที่จะห้ามพวกเธอเลย”
สิทธิในเนื้อตัวร่างกายเราเป็นของใคร?
ทารกในครรภ์ถือเป็นคนหรือไม่
หรือ การตัดสินใจในร่างกายของตัวเองควรเป็นอำนาจของใคร
เป็นสิ่งที่เราได้รับจากการดูสารคดีตลอด 1 ชั่วโมงครึ่ง ต่างคนก็ต่างความเชื่อ ไม่ว่าจะเชื่อเรื่องการเป็นมนุษย์หรือเชื่อในสิทธิตัวเอง พวกเขาต่างได้ ‘เลือก’ แต่ทำไมคนที่ตั้งครรภ์กลับไม่ได้รับสิทธินี้บ้าง
Gloria Steinem นักเคลื่อนไหวสิทธิสตรี ให้ความเห็นว่า อิสรภาพในการสืบพันธุ์เป็นของมนุษย์ทุกคน เป็นสิทธิในการมีลูกและสิทธิในการเลือกที่จะไม่มีลูก
“มันเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตยที่คุณมีสิทธิควบคุมร่างกายตัวเองได้ และเป็นพื้นฐานของปกครองแบบแบ่งชนชั้นและเผด็จการที่คุณจะไม่มีสิทธินั้น”
ปลายทางสารคดีไม่ได้จบลงที่ชัยชนะของฝั่งนั้น แต่เป็นการรับตำแหน่งประธานาธิบดีของ Donald Trump ที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยม และหนึ่งในนโยบายที่เขาใช้หาเสียง คือ ยกเลิกกฎหมายการทำแท้ง นั้นทำให้สิทธิทำแท้งของประชาชนอเมริกากำลังสั่นคลอน
ข่าวการล้มคำตัดสินคดี ‘Roe v Wade’ อาจเป็นเส้นทางต่อจากสารคดี แต่ไม่ใช่จุดจบแน่นอน สุดท้ายสิทธิในการเลือกควรเป็นของเรา ไม่ว่าจะเลือกทำแท้งหรือเลือกสิ่งใดๆ ก็ตาม
ไทยมีการแก้ไขกฎหมายทำแท้ง คือ มาตรา 305 ขยายเกณฑ์ในการตัดสินใจทำแท้งเพิ่มขึ้น และจะไม่เป็นความผิดถ้าเข้าเงื่อนไขต่อไปนี้ 1.การตั้งครรภ์เสี่ยงต่อการได้รับอันตราย ต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจของผู้ตั้งครรภ์ 2.ทารกคลอดออกมามีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง 3.เป็นการตั้งครรภ์จากการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ เช่น ข่มขืน 4.ตัดสินใจที่จะทำแท้งภายหลังปรึกษาผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยที่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ 5.อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ตัดสินใจที่จะทำแท้งภายหลังปรึกษาผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม |