รักวัวให้ผูก รักลูกให้… คุยกับพ่อแม่ที่ไม่ตี ในวันที่ความรุนแรง ≠ ความรัก

  • เพราะรักเเละหวังดีจึงตี เเต่ไม้เรียวสร้างคนได้จริงไหม เเล้วถ้าไม่ตีจะสอนลูกอย่างไร
  • เมื่อคำสอนเดิมถูกตั้งคำถามว่า ยุคสมัยเปลี่ยนไป เเต่ทำไมคำสอนนี้ยังคงอยู่เเละถูกส่งต่อมาไม่รู้จบ 
  • รักวัวให้ผูก รักลูกให้… mappa ชวนเติมคำในช่องว่างไปกับ 5 ความเห็นของพ่อเเม่ที่ไม่ตี ในวันที่ความรุนแรง ≠ ความรัก

‘รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี’ 

สุภาษิตไทยที่ถูกบรรจุอยู่ในวิชาภาษาไทยสมัยประถมที่บอกว่า ถ้าคุณเป็นพ่อเเม่การตีจะช่วยให้ลูกเป็นคนดีเเละไม่ทำผิดซ้ำ ส่วนคนเป็นลูกก็เข้าใจว่า ที่พ่อเเม่ตีเพราะเขารักเเละหวังดี 

เเต่ไม้เรียวสามารถสร้างคนได้จริงไหม เเล้วถ้าไม่ตีจะสอนลูกอย่างไร

ลิซ่า เบอร์ลิน นักวิจัยจากศูนย์จัดตั้งนโยบายเพื่อเด็กและครอบครัว ในมหาวิทยาลัยดุ๊ก ประเทศสหรัฐอเมริกา อธิบายว่า การตีจะก่อให้เกิดผลเสียต่อพฤติกรรมเเละพัฒนาการทางด้านจิตใจของเด็ก อีกทั้งเสี่ยงต่อการมีพฤติกรรมก้าวร้าวในอนาคต

“ในเด็กทารกหรือเด็กเล็ก การตีอาจไม่ช่วยให้เขาเข้าใจว่าเรื่องนั้นถูกหรือผิด เเละไม่รู้ว่าทำไมถึงต้องโดนตี”

mappa ชวนอ่านเเละตั้งคำถามจาก 5 ความเห็นของพ่อเเม่ยุคใหม่ว่า เขาคิดอย่างไรกับสำนวนนี้

ทั้งหมดนี้ “รักวัวให้ผูก รักลูกไม่ตี” เพราะเชื่อว่ามีวิธีเรียนรู้ร่วมกันอีกตั้งเยอะโดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง

1. รักวัวให้ผูกรักลูกให้ฟัง

“เราโตมาพร้อมกับคำสอนนี้ ตั้งเเต่เด็ก เราเห็นเพื่อนโดนครูตีเพราะไม่ส่งการบ้าน เป็นเรื่องปกติในยุคนั้นคือ ถ้าเกิดเราทำตัวไม่ดีหรือไม่ถูกต้องตามที่ครูกำหนดก็ต้องโดนตี คือจะถูกตีก่อนเเล้วถ้ามีเหตุผลอื่นๆ ก็ไปชี้เเจงกัน เเต่เราก็รู้ว่าครูตีเป็นพิธี ไม่ได้ตีให้ตาย เอาให้เจ็บ ทำตามที่พูด ถึงจะไม่ได้ตีเเรงเเต่มันทำร้ายความรู้สึกของเพื่อนบางคนที่ส่งการบ้านไม่ทัน เเต่สุดท้ายก็เเค่บ่นกับเพื่อนเเล้วทุกอย่างก็จบ 

“เราก็เคยโดนตีสมัยมัธยมเคยโดนครั้งหนึ่งเพราะลืมเอากางเกงพละไปเปลี่ยน เข้าใจได้ก็เราทำผิดข้อตกลง รู้สึกว่าเราต้องโต้เเย้งก่อนเป็นกฎ เพราะถ้าเป็นกฎไปเเล้วก็ต้องทำตาม หลังๆ ก็เสนอกฎตอนเลือกประธานนักเรียน ถ้าจะเปลี่ยนกฎก็ทำให้มันเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ใช่เเย้งทุกเรื่อง 

“เเม่เราไม่ตีเเต่คุยกันเลย รู้สึกว่ารักวัวให้ผูกรักลูกให้ตีน่าจะหมายถึงการอบรมสั่งสอนมากกว่า คุยด้วยความเข้าใจ ตอนวัยรุ่นเวลาเเม่เรียกคุยเขาก็ไม่ได้ว่า เเต่สอน เเล้วเราก็ใช้วิธีเเบบนั้น คือ สอนเเละฟังว่าลูกคิดอะไรเเละคอยเติมเต็มมุมมองที่เขาขาด ซึ่งเป็นวิธีที่เรารู้สึกดีกว่าถ้าเกิดจะต้องตี”

เเม่กุ้งใหญ่-ชุติกาญจน์​ ศรีน้ำเงิน (เเม่ฟูลไทม์)

2. รักวัวให้ผูกรักลูกให้กอด

“รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี ผมว่ามันไม่ตรงกับความจริงเลย ผมคิดว่าสมัยก่อนอาจจะเป็นเเบบนั้น คือ พ่อเเม่กังวลเเล้วผูกเขาไว้ แต่ด้วยประสบการณ์ตรง รักลูกให้กอดหรืออย่างอื่น ไม่ตี ไม่ทำร้ายกัน เพราะสุภาษิตนี้เลยทำให้พ่อแม่บางคนทำไม่ดีกับลูกเเละอ้างความรัก ซึ่งไม่เห็นด้วยเลย

“สมัยก่อนเพื่อนสนิทดื้อเเล้วโดนพ่อตี ด้วยอำนาจของคุณพ่อสมัยนั้นก็บอกว่า ฉันรักนะถึงตี ไม่เห็นด้วยตั้งแต่เด็ก เเต่เก็บความไม่เห็นด้วยไว้ในใจ ในโรงเรียนผมก็เคยโดนครูตี เพราะครูต้องคอนโทรลนักเรียนจำนวนมาก เราเข้าใจว่าเขาหวังดีแต่ผมไม่อยากให้ใช้ความดีไปทำร้ายคนอื่น ซึ่ง พ.ศ.นี้ ถ้าลูกโดนทำร้ายไม่ว่าตีหรือดุเเบบเกินไป พ่อเเม่รับไม่ได้เเน่ๆ ไม่ควรจะทำอย่างนั้นด้วยการอ้างความรัก เพื่อนบางคนที่โดนตี เขาเก็บเป็นประสบการณ์ที่ไม่ดีเเล้วไปทำกับคนอื่นต่อ”

พ่อนัท-ณัฐ จรัสสุริยงค์ (คุณพ่อลูกสาม)

3. รักวัวให้ผูกรักลูกให้ใช้เหตุผล

“ถึงไม่มีสุภาษิตเชื่อว่า การตีจะจัดการพฤติกรรมของเด็กหรือลูกได้หรือช่วยให้เข้าใจว่า เขาทำพลาดหรือทำไม่ถูก เเละคิดว่าตีเป็นเพียงแค่การหยุดพฤติกรรมแค่ชั่วคราวเท่านั้น เเต่ไม่ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็ก เพราะฉะนั้นเลยไม่เห็นด้วยกับรักวัวให้ผูกรักลูกให้ตีอยู่แล้ว แล้วถ้าอยากจะแก้จริงๆ มันแก้ได้หลายอย่าง เช่น รักวัวให้ผูกรักลูกให้กอด รักวัวให้ผูกรักลูกให้ใช้เหตุผลในการพูดคุย ถ้าเกิดว่าจะให้เปลี่ยนรู้สึกว่าน่าจะเป็นคำพูดเชิงบวกที่อยู่บนความเป็นจริงน่าจะดีกว่า” 

เเม่ปุ๊ก-ชลมาศ คูหารัตนากร (เเม่ของลูกชายวัย 9 ขวบ)

4. รักวัวให้ผูกรักลูกให้พูดดีๆ

“ถ้าพูดกับพ่อเเม่สมัยนี้คงจะถามว่าจะตีทำไม เพราะการเลี้ยงลูกเชิงบวกในเชิงวิทยาศาสตร์สมองพิสูจน์แล้วว่า การทำโทษ หรือการทำร้ายร่างกายไม่ได้ให้ผลเชิงบวก เเต่จริงๆ แล้วคนที่คิดสำนวนนี้ขึ้นมา คือ ตัวเรา เพราะเรา พ่อเเม่ ปู่ย่าตายายเราก็โตมากับคำสอนนี้ 

“คำว่า รักลูกให้ตี เราต้องไปย้อนนึกถึงสภาพสังคมสมัยก่อน เราออกไปเล่นทั้งวัน เหตุการณ์ที่เขาตีเราคงเป็นเรื่องใหญ่ แต่ยุคนี้เราใกล้ชิดกับลูกทุกสเต็ป สำนวนนี้ไม่น่าใช้ได้ เเละมันคงล้าสมัยไปเเล้ว เพราะสภาพสังคมเปลี่ยน 

“เเต่ถ้ากลับมาตีความว่าการตีคืออะไร คงหมายถึงความใส่ใจของพ่อเเม่ในอดีต เเละการตีถึงจะเป็น negative respond เเต่ก็ยังบอกว่าลูกอยู่ในสายตาเราก็ยังดีกว่าไร้ตัวตน เพราะฉะนั้นสำหรับหมอ รักวัวให้ผูกรักลูกให้กอดหรือพูดดีๆ เเทน”

หมอเเพม-พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี (เจ้าของเพจ หมอแพมชวนอ่าน)

5. รักวัวให้ผูกรักลูกให้สอน

“รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตีจะทำให้ลูกมีปมในใจเเละหวาดกลัว แทนที่จะสอนให้เขาเข้าใจว่า ทำไมต้องทำหรือไม่ทำแบบนี้ เเต่ใช้การตีเข้ามา ซึ่งสุดท้ายใช้ความกลัวไปกดลูกให้ลูกทำตามในสิ่งที่เราอยากให้เป็นหรืออยากให้ทำ 

“สำหรับผม จะลงโทษลูกเมื่อเห็นว่าเขาตั้งใจที่จะฝ่าฝืนจริงๆ ไม่ใช่เพราะเขาไม่เข้าใจหรือเผลอ เเละก่อนลงโทษผมจะอธิบายให้เขาเข้าใจก่อน เพราะว่าลูกยังเล็ก จับใจความไม่ได้และอาจจะเข้าใจผิดไป ถ้าผิดครั้งเเรกก็บอกว่าทำเเบบนี้ไม่ได้ เพราะอะไร เเต่ต้องมั่นใจว่าเขาเข้าใจจริง บอกเขาว่าครั้งต่อไปไม่ทำเเบบนี้อีก ถ้าเขายังทำอีกจะบอกว่าจำที่คุยกันครั้งที่เเล้วได้ไหมว่าจะไม่ทำเเบบนี้เพราะอะไร 

“วิธีการลงโทษของผมคือ ไม่ให้ในสิ่งที่เขาอยากได้หรือให้ในสิ่งที่เขาไม่อยากได้ เเต่สิ่งสำคัญคือต้องดูว่าเขาตั้งใจฝ่าฝืนไหม เขารู้อยู่เเล้วว่าไม่ควรทำ เเต่เขายังทำ ผมจะไม่ตีเเต่ทำด้วยวิธีอื่นโดยไม่ทำร้ายกัน ถ้าเปลี่ยนสำนวนนี้ได้คงเป็น รักวัวให้ผูกรักลูกให้สอนหรือกอดน่าจะดีกว่า”

พ่อต๋อง-วิทิต รัตนสกุลดิลก (คุณพ่อลูกสอง)

อ้างอิง: http://edition.cnn.com/2009/HEALTH/09/16/spanking.children.parenting/index.html


Writer

Avatar photo

ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

Illustrator

Avatar photo

บัว คำดี

ตอนประถมอยากเป็นศิลปินวาดภาพ แต่โดนพ่อเบรคหัวทิ่ม "เป็นศิลปินไส้แห้งนะ" ปัจจุบันทำงานเกี่ยวกับการออกแบบและทำภาพประกอบ (บ้าง) จนได้

Related Posts