เพราะความรุนแรงถูกตอกกลับด้วยความรุนแรงเสมอ
mappa สัมภาษณ์พิเศษ ‘หมอโอ๋’ ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร เจ้าของเพจ เลี้ยงลูกนอกบ้าน เพื่อหาวิธี “เปิดพื้นที่ปลอดภัย คุยการเมือง และทุกเรื่องกันได้ในครอบครัว”
- รู้ว่าเป็นห่วง แต่พ่อแม่ก็ห้ามไมได้ ทำอย่างไรจึงจะจัดการความเป็นห่วงไม่ให้เป็นพิษซึ่งกันและกัน
- เด็กๆ วัยรุ่นที่ออกไป ไม่มีใครอยากโกหก ไม่มีใครสบายใจที่ต้องแอบ แต่ทำไมเค้าถึงยอมเสี่ยง ตั้งแต่โดนโกรธ ไปจนถึงไล่ออกจากบ้าน
- ความโกรธทุกๆ ฝั่ง จัดการหรืออย่างน้อยก็นับหนึ่งอย่างไร
- วันนี้ลูกขอไปชุมนุม ลูกจะเริ่มพูดอย่างไร พ่อแม่เองควรรับฟังอย่างไร คำพูดใดถือว่าต้องห้าม
- เกมนี้ ไม่มีใครได้-เสีย 100% มีแต่พื้นที่ปลอดภัย ไม่มีหรอกวิน-วิน ขอแค่ “เราไม่เป็นปัญหาต่อกัน”
“คนที่จะฟังก่อน คือคนที่มีวุฒิภาวะมากกว่า ฟังว่าเขารู้สึกอะไร กังวลอะไร ต้องการอะไร ทำอย่างไรถึงจะมีพื้นที่ตรงกลาง” คือประโยคที่หมอโอ๋ฝากไว้ให้คุณพ่อคุณแม่
ส่วนวัยรุ่น คุณหมอฝากมาอย่างนี้ ….
“อยากให้อ่อนโยนในบุคคล แต่หนักแน่นในหลักการ”
สถานการณ์ตอนนี้ เรารู้ว่าคุณพ่อคุณแม่เป็นห่วงมาก กลัวลูกเป็นอันตราย คุณพ่อคุณแม่จะมีวิธีการดูแล หรือจัดการความเป็นห่วงเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง
หลักๆ เลยคือทำความเข้าใจว่าความเป็นห่วงของเราเป็นเรื่องปกติมาก เวลาเราสื่อสารกับลูกควรสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา เช่น แม่เป็นห่วง แม่กลัวหนูเป็นอันตราย คือคุยความรู้สึกที่เกิดขึ้นตรงๆ
ปัญหาหลายครั้งเกิดขึ้นเพราะความเป็นห่วง แต่พอเป็นห่วงก็ไปใช้วิธีอื่นๆ เช่น ขู่ ห้าม หรือตัดขาด พ่อแม่คิดว่าวิธีเหล่านี้จะได้ผล แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเด็กบางคนอาจจะกลัว ไม่ไป แต่เด็กบางคนเขาก็ยังยืนหยัดกับสิ่งที่เขาเชื่อ กับสิ่งที่เขาอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เขาจึงไป แล้วพอเขาตัดสินใจไป สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พ่อแม่จะไม่ได้รับรู้ เพราะไปปิดประตูการสื่อสารตรงนั้นไว้
เพราะฉะนั้น พ่อแม่ควรสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาว่าเราเป็นห่วงความปลอดภัย เราอยากให้เขาปลอดภัย
ทำอย่างไรให้ความกังวล ความห่วง ที่เคยทำร้าย บั่นทอนลูก กลายเป็นพื้นที่ที่ลูกรู้สึกปลอดภัย
เราก็ต้องหาจุดร่วม มันมีความห่วงแหละ ประเด็นคือมันมีความต้องการสองอย่างที่ไม่ตรงกัน
คนหนึ่งต้องการความปลอดภัย ให้ตัวเองรู้สึกสบายใจ ส่วนอีกคนก็มีความต้องการแสดงออก ต้องการเรียกร้องในสิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่น เพราะฉะนั้น ต้องหาจุดตรงกลางที่ความต้องการสองอย่างนี้จะอยู่ในพื้นที่เดียวกันได้
ถ้าแม่ยืนยันว่าต้องการแค่ความปลอดภัยของลูกเท่านั้น อย่างอื่นแม่ไม่สามารถทำให้มันเกิดขึ้นได้ แล้วความต้องการของลูกล่ะมีพื้นที่ตรงนั้นให้ยืนหรือเปล่า
เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญก็คือ ให้พื้นที่ที่ความต้องการของลูกกับความเป็นห่วงความปลอดภัยของเราอยู่ในจุดที่เราต่างคนต่างยอมแลกอะไรบางอย่าง เช่น เราอาจจะต่อรองกับลูกว่าแม่เป็นห่วงมากเลย หนูชุมนุมกับเขาผ่านหน้าจอได้ไหม? สมมุติว่าหนูไม่ไปได้ไหม รอบนี้เขานัดไกลมากเลย ตรงนั้นมันเดินทางยาก บ้านเรากลับดึกลำบาก เราอาจจะเจรจาต่อรองแบบนี้ หรือไปแค่เท่านี้ถึงเท่านี้ (เวลา) ได้ไหมลูก? ไปแล้วติดต่อโทรบอกแม่ทุกระยะได้ไหมว่าหนูปลอดภัยดี หรือไปแล้วหนูไม่ไปอยู่ด่านหน้านะ หนูมีวิธีการวางแผนความปลอดภัยตัวเองยังไง ทำให้เราเองลดความเป็นห่วงความกังวลลง ขณะเดียวกันความต้องการของลูกก็ได้รับการตอบสนองในรูปแบบหนึ่ง หรืออาจจะมีการตกลงกันว่าทำยังไงที่แม่จะรู้สึกโอเคด้วย ลูกก็จะรู้สึกว่าเขาได้ทำในสิ่งที่เป็นความมุ่งมั่น เป็นความต้องการของเขา
หมอคิดว่าตรงจุดนี้แต่ละบ้านขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เพราะมีองค์ประกอบหลายอย่างที่ทำให้ความพอดีมันไม่เท่ากัน
พ่อแม่หลายคนที่รู้สึกว่าเป็นห่วงลูก ไม่อยากปล่อยเขาไป หมอแนะนำว่าก็ไปกับเขา มีคนถามหมอบ่อยมากเลย คุณหมอ ถ้าลูกคุณหมอไปม็อบคุณหมอจะทำยังไง หมอก็บอกว่าถ้าหมอห้ามเขาไม่ได้ หมอก็จะไปกับเขา คือหมอจะไปเพื่อให้หมอแน่ใจว่ามีอะไรเกิดขึ้น หมอจะช่วยลูกหมอออกมา หรือมีอะไรเกิดขึ้น อย่างน้อยเราก็อยู่ตรงนั้นเป็นที่พึ่งของเขา
แต่การแสดงความต้องการของเราเพียงอย่างเดียว โดยไม่รับฟังความต้องการของลูกเลยก็จะนำมาซึ่งปัญหาหลายอย่าง ปัญหาอย่างหนึ่งที่เจอเยอะคือ เราไม่ได้รับรู้ ลูกเราทำอะไรอยู่บ้าง ลูกเราอาจจะไปแต่ไม่ได้บอก ปกปิด ซึ่งอันนั้นอาจจะเป็นอันตรายต่อลูกเรามากกว่าอีก กลับตอนไหนเราก็ไม่รู้ ปลอดภัยไหม หรือเกิดม็อบมีอะไรขึ้นมาเราก็ไม่รู้เลยว่าลูกเราอยู่ในนั้น ฉะนั้น หมอคิดว่าก็จะเกิดอาการปกปิดความผิด หลบเลี่ยง อันที่สอง ลูกจะเกิดความรู้สึกต่อต้าน แม่ไม่เข้าใจ แม่ไม่เคยฟัง แม่ไม่เคยให้พื้นที่ ฯลฯ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ขึ้นมาได้
สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ เกิดการปะทะกันระหว่างความเชื่อที่แตกต่างกัน คุณหมอซึ่งเชี่ยวชาญเวชศาสตร์วัยรุ่น อยากให้คุณหมอช่วยอธิบายความคิด ความรู้สึกของวัยรุ่นตอนนี้ให้พ่อแม่เปิดใจลองรับฟังว่าทำไมเขาถึงคิดหรือแสดงออกแบบนี้
หมอคุยกับวัยรุ่นเยอะมาก หมอได้คุยกับเด็กที่ไปม็อบ ได้คุยกับแกนนำของเยาวชนหลายคน เพราะหมอก็อยากรู้จักวิธีคิดของเขาจริงๆ สิ่งที่พอจะถ่ายทอดได้คือเขาจะให้คุณค่ากับเรื่องสิทธิ สิทธิมนุษยชน เขาก็ตั้งคำถามกับปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศ ปัญหาเศรษฐกิจ คอร์รัปชั่น แล้วมีชุดข้อมูลซึ่งอธิบายบางอย่างที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าทำไมมันถึงเป็นแบบนี้ ทำไมถูกปล่อยให้เป็นอย่างนั้น แล้วหมอคิดว่าเป็นเรื่องของการให้คุณค่ากับเรื่องของความเท่าเทียม ทั้งๆ ที่เราก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน นี่เป็นสิ่งที่เขาพูดคุยกัน
ถามว่าสิ่งที่เด็กเขาให้คุณค่าผิดไหม? ไม่ได้ผิด มันก็จริงในเรื่องของการเคารพในสิทธิมนุษยชน การมีสิทธิที่จะเปล่งเสียงตัวเอง ถามหาความยุติธรรม ความเท่าเทียม ความถูกต้อง หมอคิดว่าเขาให้คุณค่าเรื่องความถูกต้องต่างๆ มันเป็นสังคมอุดมคติของวัยรุ่น เพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่จะมีเรื่อง idealism หรืออุดมคติ เขาจะมีสิ่งที่เขาคิดว่าถูกต้อง สิ่งที่ควรจะเป็น เพียงแต่อาจจะขาดบริบทของความเข้าใจ บริบทที่เป็นจริง ว่ามีปัญหาหรืออุปสรรคอย่างไร แต่ว่ามันก็เป็นสังคมอุดมคติ เพราะฉะนั้นมันก็เป็นพลังของการเรียกร้องที่เอาจริง เรื่องเหตุเรื่องผล เขาก็มีอยู่
ขณะที่ผู้ใหญ่ก็ให้คุณค่ากับความเชื่ออีกชุดหนึ่ง หรือเรื่องที่เขาให้คุณค่า เช่น คุณค่าการกตัญญู ทดแทนบุญคุณ รักชาติ ศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์
พอคนเราให้คุณค่ากับสิ่งที่แตกต่างกัน เหตุการณ์เดียวกัน พอมันใช้เหตุผลอธิบาย แต่อธิบายเหตุผลกันคนละเรื่อง และเถียงกันไม่จบ เพราะให้เหตุผลด้วยคุณค่าที่แตกต่างกัน
อย่างจริงใจที่สุดแล้ว ความต้องการของเด็ก เยาวชน คืออะไร
ต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เขาเห็นว่าไม่ถูกต้อง ต้องการสังคมที่ดีขึ้น ต้องการให้ระบบที่มีปัญหามีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลง
แล้วความต้องการของคนรุ่นเก่าคืออะไร เขาก็อยากจะมีสิ่งที่เขายึดเหนี่ยว สิ่งที่เขาเชื่อว่าเป็นหลัก
หมอเชื่อว่าพอเรามองความต้องการ เราจะเริ่มมองหาความพอดี ไม่ได้แปลว่าสิ่งที่เด็กเรียกร้องจะต้องได้ทั้งหมด และก็ไม่ได้แปลว่าผู้ใหญ่ไม่ควรมองว่าสิ่งที่เด็กเรียกร้องเป็นไปไม่ได้ ไร้สาระ ไม่อย่างนั้นสังคมจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง
หมอบอกได้เลยว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เราต้องปรับตัว โลกเปลี่ยนแปลงทุกวัน และสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแบบไม่สามารถบอกหรือสั่งกันได้ อยู่ดีๆ จะมาบอกให้เด็กคนหนึ่งมีความรัก เคารพสิ่งเดียวกัน มันก็ยากเพราะว่าเขาไม่ได้เติบโตมากับสิ่งที่เขาเห็น ข้อมูลที่เขาได้ก็ทำให้เขาตั้งคำถาม หมอคิดว่าบางอย่างเราก็ต้องยอมรับว่ามันก็เป็นแบบนี้
เราอยู่ในพื้นที่เดียวกันไม่ได้แปลว่าเราต้องคิดเหมือนกันนะ เรายังมีศาสนาอีกหลายศาสนาในประเทศโดยที่เราไม่เคยต้องไปโน้มน้าวให้คนที่นับถือศาสนาหนึ่งมาเชื่อสิ่งที่เรานับถือ มันก็เป็นสิทธิเสรีภาพ ซึ่งก็อยู่แบบนั้นได้ เราไม่ต้องไปก้าวล่วงสิ่งที่เขานับถือ ไม่ไปดูถูกดูแคลนสิ่งที่คนอื่นเขาศรัทธา อันนี้หมอมองว่ามันจะทำให้เรามีพื้นที่ร่วมบางอย่างซึ่งไม่ต้องถูกตั้งคำถาม มีการปรับเปลี่ยน บางอย่างที่คนให้คุณค่าว่าเป็นสิ่งที่ดีงามก็ยังดำรงไว้ ยังคงอยู่ แต่ทำยังไงที่ทุกคนจะรู้สึกว่า เออ ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือไม่เกิดปัญหา
ทุกคนทุกฝ่ายต่างมีความโกรธ พ่อแม่โกรธที่ห้ามแล้วลูกเถียง ลูกยังไป ลูกเองก็โกรธที่ถูกด่า เราจะจัดการความโกรธข้างในที่เกิดขึ้นหรืออย่างน้อยก็นับหนึ่งกับมันอย่างไร
ยอมรับว่าความโกรธเป็นปกติ เป็นธรรมดาเวลาที่เลี้ยงลูกมา แล้วเรารู้สึกว่าลูกไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราต้องการ ก็ยอมรับว่าความรู้สึกมันเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นเพื่อจะบอกเราว่าสิ่งที่เป็นอยู่ตรงนี้ไม่ควรจะเป็น มันทำให้เรารู้สึกไม่พอใจ
ทีนี้ก็ต้องกลับมามองว่าความโกรธของเรามีขึ้นมาเพื่อจะบอกอะไร มีความต้องการอะไรซ่อนอยู่ ซึ่งหมอรู้ว่าความต้องการส่วนใหญ่คือให้ลูกเคารพในสิ่งที่เราเคารพ ให้ลูกไม่ตั้งคำถามสิ่งที่เราไม่เคยตั้งคำถาม ให้ลูกปลอดภัย ไม่อยากให้ลูกเป็นอันตราย หรือบางทีความโกรธอาจจะมาจากการที่เรามีชุดความเชื่อบางอย่าง เช่น ลูกถูกล้างสมอง ลูกโดนเขาหลอก มีคนชักใยอยู่เบื้องหลัง
สิ่งเหล่านี้มันก็ต้องกลับมาทำงานกับตัวเองว่าอะไรใช่ อะไรไม่ใช่ ความต้องการมันเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เราต้องการให้ลูกปลอดภัย แต่ชุดความเชื่อบางอย่างมันทำให้กลับมาตั้งคำถามว่าจริงไหม? เอ๊ะ เราเลี้ยงลูกมาไม่ให้ฉลาด โดนคนชักใยหรือเปล่า? แล้วพอเราตั้งคำถาม จะทำให้เราเริ่มหาคำตอบว่ามันใช่ไหม? เราก็จะเปิดพื้นที่ที่เรากับลูกจะคุยกัน
ทีนี้ประเด็นสำคัญคือ เราจะทำยังไงที่ตัวเราจะรับฟัง เพื่อให้เราเติบโตขึ้น หมอเชื่อว่าการคุยกับคนสองฝั่งสองฝ่ายจะเติบโตขึ้นทั้งคู่ เพราะคนหนึ่งมีอุดมคติ คนหนึ่งก็มีประสบการณ์ชีวิต จริงๆ แล้วแค่มีพื้นที่ที่แชร์สิ่งเหล่านี้ร่วมกันได้ หมอคิดว่ามันเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้เติบโต
ประเด็นคือเวลาเราคุยกัน เราไม่ได้คุยกันเพื่อฟัง เราคุยแล้วเราตัดสินเขา เต่าล้านปี สลิ่ม อีกฝั่งหนึ่งก็โดนล้างสมอง กลับไปเรียนก่อนดีกว่าไหม เพราะฉะนั้น ก็เลยทำให้พื้นที่ในการแลกเปลี่ยน สนทนา สิ่งที่เรารู้สึกและความต้องการของแต่ละคนไม่เกิดขึ้น เพราะมันถูกตัดสินด้วยอคติ ถูกตีตราไปว่าไปเอาข้อมูลชุดไหนมา
จริงๆ ข้อมูลบางชุดถูกต้องด้วยนะ แต่เราไม่เคยเปิดใจรับรู้ เพราะว่าเราไปผลักไส เลือกข้าง ทำให้เราปิดหูปิดตากับทุกอย่าง หมอคิดว่าสำคัญเลยคือ เปิดใจ และรับฟังโดยไม่ตัดสิน ไม่รีบมีอคติ ด่วนสรุป ไม่รีบสั่งสอนเขาว่าทำไมทำแบบนี้ ฟังเพื่อฟังว่าเขากำลังรู้สึกอะไร เขามีความต้องการอะไร
มนุษย์คนหนึ่ง แทนที่จะนั่งอยู่บ้านเล่นเกม ดูซีรีส์เกาหลี แต่ต้องออกไปตามถนน ไปทำอะไรที่มันไม่สะดวก ลำบาก แล้วความต้องการตรงนี้คืออะไรนะ ทำไมถึงได้เอาชนะความต้องการอยากสบายไปได้ มันมีความต้องการที่พลุ่งพล่าน ซึ่งหมอก็อยากบอกว่าเพราะมันไม่เกิดพื้นที่ของการรับฟัง เด็กจึงต้องลงไปบนถนน และเป็นรูปแบบหนึ่งที่เขาเชื่อว่าจะนำไปสู่สิ่งที่เขาต้องการ
ทีนี้ พ่อแม่ก็กลับมาทำงานกับความโกรธตัวเอง บอกลูกได้ว่าพ่อแม่โกรธ แม่โกรธเพราะอะไร แต่ประเด็นคือฟังด้วย เมื่อเราฟังเขาพอ เขาถึงจะฟังเรา คนที่จะฟังก่อน คือคนที่มีวุฒิภาวะมากกว่า ฟังว่าเขารู้สึกอะไร กังวลอะไร เขามีความต้องการอะไร แล้วเราก็คุยกันว่าความต้องการของเราทั้งคู่ ทำอย่างไรถึงจะมีพื้นที่ตรงกลาง
ยกตัวอย่างเช่น วันนี้นัดชุมนุมกี่โมง ที่ไหน ลูกจะเริ่มเข้าหา เริ่มพูดว่า “หนูขอไปม็อบ” อย่างไร มันเป็นประโยคที่ง่ายแต่พูดยากมากเลย
อาจจะเป็นการโยนหินถามทางไปก่อน เช่น แม่ ถ้าหนูอยากจะไปม็อบ คิดยังไง เรารับฟัง อย่าเพิ่งรีบแบบ…เห็นไหม แม่ก็อย่างนี้อีกแล้ว ก็รับฟังว่าแม่รู้สึกยังไงถ้าหนูจะไปม็อบ กังวลอะไร แม่ต้องการอะไร แม่มีความห่วงอะไร แล้วเราค่อยบอกว่าเราเข้าใจความรู้สึกเขา และความต้องการที่เขากังวลมันจะถูกจัดการยังไง เช่น เราจะจัดการเรื่องความปลอดภัยยังไง เราจะรับผิดชอบตัวเราให้รอด หรือไม่เป็นปัญหาตรงนั้นได้ยังไง เดินทางยังไง ควรหาพื้นที่ตรงนั้น
มันอาจจะไม่สวยงามแบบนี้หรอก ก็จะมีบ้านที่แบบ…แกไม่ต้องมาเรียกฉันแม่ แล้วเดินหนี ก็เข้าใจความรู้สึกของเขา แต่หมอคิดว่าสำคัญคือเราจะต้องไม่แรงใส่ พอเราใช้อารมณ์ใส่กัน จะไม่พูดกันด้วยเหตุผลแล้ว จะพูดกันแค่เรื่องของอารมณ์เพื่อเอาชนะกันเฉยๆ
เราก็จะบอกแม่ว่า แม่ดูยังไม่พร้อมเนอะ แต่หนูก็อยากจะไป บอกแม่ หรือหนูไม่ได้อยากไปแล้วทำให้แม่รู้
สุดท้าย มนุษย์ทุกคนก็รับผิดชอบตัวเองแหละ เอาจริงๆ หมอคุยกับเด็กหลายคนที่มาม็อบ เขาไม่สบายใจนะที่ไม่ได้บอกพ่อแม่ ใจลึกๆ ก็กังวล รู้สึกเป็นห่วง แต่พลังอีกด้านหนึ่งมันก็พลุ่งพล่านมากกว่า แล้วเขาก็เลือกทางนั้น
แต่หมอคิดว่าก็เป็นเรื่องของพ่อแม่ด้วยที่จะปรับตัวให้ตัวเราเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่สามารถบอกได้ว่าให้เขาไป แล้วเราก็มีสิทธิเต็มที่ที่จะแสดงความห่วง ความกังวล กระทั่งมีสิทธิที่จะบอกเขาว่า ไม่ไปได้ไหมลูก เราพูดได้เลยนะ ในฐานะพ่อแม่ เรากอดขาเขาไว้เลยก็ได้ คือมันทำได้หมด อะไรที่เราทำแล้วไม่ทำร้ายกัน สำคัญคือหมอคิดว่าอย่าทำสิ่งที่ทำร้ายกัน อย่าทำสิ่งที่ทำให้เรายิ่งผลักลูกออกไปจากบ้าน เช่น ตัดแม่ตัดลูก ไม่ให้เข้าบ้าน ซึ่งนั่นน่ะ เรายิ่งผลักลูกไปสู่อันตรายหรือเปล่า
อันหนึ่งที่หมอเจอกับคนไข้เองคือ พ่อแม่เขียนมาในทำนอง ถ้าตายเดี๋ยวค่อยไปรับศพ คือฟังแล้วต้องกลับมาถามตัวเองว่าเราให้คุณค่ากับอะไร อะไรที่เราให้ความสำคัญ จริงๆ แล้วมันคืออะไร มันคือการเมือง คือสถาบันฯ หรือจริงๆ คือลูกเรา
ต้องถามตัวเองใหม่ว่าเราให้ความสำคัญกับอะไร ความปรารถนาดีของพ่อแม่ ความอยากให้ลูกปลอดภัย มันไม่มีอะไรผิดเลย แต่จะทำยังไงที่วิธีการที่เราแสดงออกมันจะทำให้เราได้รับการตอบรับ
ประเด็นคือเวลาเราใช้วิธีการแย่ๆ มันไม่ใช่แค่การไม่ได้รับการตอบรับนะ มันยิ่งผลักไส ยิ่งทำให้บางคนก็อยากตอกกลับ ตอบโต้ แสดงความต่อต้าน ประชด ฉะนั้น ใช้วิธีการให้ถูกต้อง แล้วหมอเชื่อว่าหลายบ้าน ยิ่งวิธีการดี ยิ่งทำให้ตัวเองได้สิ่งที่ต้องการนะ ลูกหลายบ้านเห็นแม่เป็นห่วง สงสารแม่ อะๆๆ วันนี้งด พักก่อน หาบาลานซ์ก่อน ขอไปวันหนึ่ง ที่เหลือไม่ไป
ถ้าตราบใดที่เราสำคัญ ตราบใดที่สายสัมพันธ์มั่นคงคุณมีอำนาจต่อรอง แต่ตราบใดที่คุณทำลายสิ่งนั้นคุณก็หมดอำนาจต่อรอง
เพราะความรุนแรงมันถูกตอบกลับด้วยความรุนแรงเสมอ
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ ความไม่เข้าใจสูงมาก มันสะท้อนอะไรบ้าง เช่น สะท้อนว่าสังคม ครอบครัว พื้นที่ปลอดภัยไม่ค่อยมี พอเกิดเรื่องที ความขัดแย้งจึงสูงมาก
มันสะท้อนว่าเรารับฟังกันน้อยมาก เราให้พื้นที่ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนด้วยการไม่ใช้อารมณ์ และคุยกันด้วยเหตุผล คุยกันด้วยเรื่องของสิ่งที่แต่ละคนให้คุณค่ากันน้อยมาก
หมอคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องฝึก เพราะว่าเราจะต้องอยู่กับสิ่งเหล่านี้ไปชั่วชีวิตของเรา
หมอบอกไว้เลยว่าคุณจะต้องเตรียมใจว่าคุณจะต้องอยู่กับความขัดแย้งกับความเชื่อที่คุณเชื่อ กับความศรัทธาต่างๆ ที่คุณเคยมี เด็กรุ่นใหม่จะตั้งคำถาม และหลายครั้งมันไม่ได้เป็นไปตามที่เราเชื่อมา ไม่ใช่แค่เรื่องของการเมือง ไม่ใช่เรื่องของสถาบันฯ แต่มันจะเป็นเรื่องของแนวคิดต่างๆ ลูกเราอยากจะเป็นยูทูเบอร์ ในขณะที่เราโตมากับความต้องการที่อยากจะเป็นหมอ วิศวะ ทนาย ถึงจะมั่นคง เราต้องต่อสู้กับความเชื่อ คุณค่าที่เรายึดโยง
หมออยากให้ฝึกที่จะอยู่กับพื้นที่ที่เห็นไม่ตรงกัน ให้คุณค่ากับเรื่องคนละเรื่อง แต่มีความเคารพกันเรื่องหลักๆ ชีวิตเป็นของเขา การตัดสินใจเป็นของเขา เขามีหน้าที่เรียนรู้ผิดถูกด้วยตัวเขา การออกมาอาจนำไปสู่เรื่องดีหรือไม่ดีไม่มีใครรู้ แต่อย่างน้อย เขาคือคนที่ต้องเรียนรู้ด้วยการลงมือ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเขาเอง ไม่อย่างนั้นการเปลี่ยนแปลงจะไม่เกิด เขาไม่สามารถจะกลับมาอยู่ในจุดที่เชื่อฟังผู้ใหญ่ แล้วก็ทำตามสิ่งที่ผู้ใหญ่สั่งอีกแล้ว
มันเป็นธรรมชาติของวัยด้วยที่จะไม่เชื่อ?
หมอคิดว่ามันเป็นจากหลายปัจจัย ปัจจัยที่หนึ่งเป็นธรรมชาติของวัย วัยรุ่นมีหน้าที่ท้าทายอยู่แล้ว เขามีหน้าที่พัฒนาตัวตน การสร้างตัวตนของเราขึ้นมามันต้องหลอมรวมความเชื่อ หลอมรวมสิ่งที่เราให้คุณค่า แล้วพัฒนาเป็นตัวเรา จะมีการตั้งคำถามกับสิ่งที่ใช่ไม่ใช่ สิ่งที่ไม่ถูกต้อง มันมี idealistic อยู่ในตัวเอง เพราะว่ามันกำลังสร้างคนหนึ่งคนขึ้นมาเป็นคนใหม่ และคนเหล่านั้นไม่ใช่พ่อแม่ ไม่ใช่คนที่ถูกพ่อแม่บอกให้เป็นด้วย เพราะฉะนั้นจะมีความท้าทายกับสิ่งเหล่านี้
ในยุคข้อมูลข่าวสารการสื่อสารยิ่งเปิดโลกเขา สมัยก่อน ทุกอย่างจะผ่านผู้ใหญ่สอน ปัจจุบันเด็กเรียนรู้ผ่านโลกออนไลน์ ความรู้ต่างๆ มันหาได้ มีคำตอบ หลายครั้งคำตอบไม่เป็นแบบที่ผู้ใหญ่เคยบอก เด็กก็ตั้งคำถามมากขึ้น ส่วนหนึ่งเด็กก็เติบโต มีความคิด มีชุดความเชื่อ มีอุดมการณ์ต่างๆ เป็นของตัวเองที่อาจจะไม่ได้เหมือนพ่อแม่ที่ส่งต่อกันมา
ถ้าลูกจะไปม็อบ คำแนะนำคุณหมอที่เป็นไปได้จริงที่สุด คือไปเป็นเพื่อนเขา?
ก็ห้ามไม่ได้ หมอก็ถามตัวเอง เกิดลูกหมออยากจะไป หมอก็ห้ามเขาไม่ได้จริงๆ และหมอก็ไม่อยากให้เขาโกหก ไม่อยากให้เขาต้องแอบไป หรือปกปิด หมอก็คงไปกับเขาแหละ ไปจริงๆ ไม่ได้ไปเพราะว่าเราเห็นด้วยนะ สมมุติว่าเราไม่ได้เห็นด้วย เราก็ไปฟังว่าเขาคุยอะไรกัน เราไปเพื่อรู้จักโลกของเขา ถ้าเราฟังไม่ได้เลย เราก็อาจจะใส่อะไรอุดหู ฟังเพลงอะไรไป คือมันก็มีทางเลือก ถ้าเราให้คุณค่ากับเรื่องความปลอดภัยนะ
ถ้าก่อนจะถึงจุดจุดนั้น หมอก็แนะนำพ่อแม่ว่าเรามีอำนาจต่อรอง อำนาจต่อรองแต่ละคนขึ้นอยู่กับสายสัมพันธ์ ถ้าสายสัมพันธ์กับลูกดี อำนาจต่อรองเราสูงมาก เราก็คุยกับเขา อย่างที่บอกว่าความต้องการเราคืออยากให้เขาปลอดภัย เราต่อรองอะไรได้บ้าง และเราจะทำยังไงให้เรารู้สึกว่าเขาปลอดภัย ไปกี่วันต่ออาทิตย์ จะไปทุกวันเลย หรือไม่กี่วันพอ ไปตรงพื้นที่ที่เราแน่ใจว่าปลอดภัยได้ไหม ไปแล้วโทรหาแม่ได้บ่อยแค่ไหน แม่ติดต่อยังไง เวลาฉุกเฉินมีอะไรหนูจะติดต่อใคร สิ่งเหล่านี้ต่อรองได้หมดเลย ทำให้เราสบายใจขึ้น เขาก็ไม่รู้สึกว่าเราปิดกั้นกับการแสดงออกสิ่งที่เขาเรียกร้องต้องการจนทำให้เขาต้องโกหกเรา
คุณห้ามลูก คุณใส่โซ่ล่ามลูกไว้กับบ้านไม่ได้ สิ่งเดียวที่เป็นโซ่ของคุณกับลูก คือสายสัมพันธ์
สายสัมพันธ์ที่ดีต้องมาจากพื้นที่ที่เราทำให้ลูกรู้สึกว่าเขาก็ปลอดภัยที่จะบอกความจริง บอกความต้องการ แล้วก็ต่อรองกัน
ถ้าเรานึกในภาพอุดมคติน่ะค่ะ ถ้าพื้นที่ปลอดภัยเกิดในหลายครอบครัว ความเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างมันจะเกิดไหม อย่างไรบ้าง
หมอคิดว่าเกิด พอเข้ามาในพื้นที่ปลอดภัย ก็จะมีการรับฟังมากขึ้น การรับฟังที่มากขึ้นแปลว่าคุณค่าที่เราให้ ความต้องการของเราในฐานะของคนเป็นผู้ใหญ่ก็จะถูกรับฟังมากขึ้น คุณค่า สิ่งที่เด็กต้องการ ก็จะถูกผู้ใหญ่รับฟังมากขึ้นเช่นกัน ตรงนี้แหละที่หมอคิดว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจริงๆ เพราะตอนนี้มันไม่มีทางอื่นเลยที่จะหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้ นอกจากการเปิดพื้นที่ที่จะทำให้ความต้องการของคนสองฝั่ง มีจุดที่ลดบางอย่าง เพราะมันไม่ใช่จุดที่ใครจะได้ทั้งหมดแล้ว
อยากให้คุณหมอช่วยย้ำความคิดว่า การไล่คนที่ไม่เหมือนกับเรา การไล่คนเห็นต่าง ไม่สามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยได้
ใช่ เอาจริงๆ ประเทศที่มีแต่คนที่คิดเหมือนกันน่ากลัวมากเลย ไม่รู้จะนำพาหรือว่าดึงลงเหวกันไปตอนไหน เพราะฉะนั้นทุกพื้นที่ควรจะมีคนที่มีความเห็นต่าง และตรงนั้นแหละคือพื้นที่ปลอดภัย
พื้นที่ปลอดภัยไม่ได้หมายความว่าคนที่มีความเห็นร่วมมาอยู่ด้วยกัน แต่เป็นคนที่มีความคิดแตกต่างกัน มาอยู่ด้วยกัน แล้วแชร์สิ่งที่เราคิดด้วยกัน แบบที่ไม่ทำให้เกิดความรุนแรง หมอเรียกตรงนั้นว่าพื้นที่ปลอดภัย
เพราะฉะนั้น เราควรสร้างบริบทตรงนี้ให้มีขึ้นมา เริ่มเล็กๆ ในระดับบ้าน ทำยังไงให้บ้านของเรามีพื้นที่ที่เราไม่เห็นด้วยกัน และเราก็ไม่ฆ่ากัน ไม่ลุกขึ้นมาด่ากัน ชี้หน้าตัดสินใจกัน และหมอคิดว่าตอนนี้ในระดับประเทศก็ต้องมีพื้นที่ตรงนั้นที่ทำให้คนสองฝั่งที่ก็ถือเรื่องคนละเรื่อง จะมาคุยแล้วก็หาข้อตกลงที่จะลดแรงต้านกัน มีทั้งได้และเสียทั้งสองฝั่ง
มันไม่มีทางที่จะวินๆ ทั้งสองฝ่าย อาจจะต้องยอม ต้องถอยกัน?
ใช่ๆ มันอาจจะไม่มีใครได้ทั้งหมด แต่ทำยังไงที่จะได้ในจุดที่แบบ เออ…เราก็ไม่ได้เป็นปัญหาต่อกัน คำว่า “ไม่เป็นปัญหาต่อกัน” น่าจะสำคัญ
คุณหมออยากพูด อยากฝากอะไรกับฝั่งคุณพ่อคุณแม่บ้าง
หมอเคยเขียนไว้ว่าอยากให้มองเรื่องการลุกขึ้นมาตั้งคำถาม การถามหาคำตอบบางอย่างของเด็กๆ ว่าเป็นเรื่องดี ประเทศเราจะไม่มีทางเปลี่ยนแปลง หรือพัฒนา ถ้าปราศจากการตั้งคำถาม
ถ้าเราเจอเด็กๆ ที่ไม่สนใจเรื่องการบ้านการเมือง วันๆ เอาแต่เล่นเกม ดูซีรีส์อย่างเดียว การที่เขาลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้จริงๆ มันเป็นเรื่องที่ดีกับสังคมนะคะ ในขณะเดียวกันก็อย่ารีบตัดสินว่าการที่เขาลุกขึ้นมาตั้งคำถามที่เราไม่กล้าตั้งคำถาม มันแปลว่าเขาโดนล้างสมอง โดนยุยงปลุกปั่น เอาจริงๆ เด็กเดี๋ยวนี้เขาก็โตมากับข้อมูลที่มหาศาล มันมีเรื่องที่เราอาจจะต้องเปิดใจเหมือนกันว่า เอ๊ะ เขาอาจรู้ข้อมูลบางอย่าง อ่านข้อมูลบางอย่างที่แตกต่างจากเรา
ฉะนั้น หมอก็แนะนำคุณพ่อคุณแม่ว่าการเปิดใจรับฟังกัน ว่าลูกมีความต้องการและให้คุณค่ากับเรื่องอะไร แล้วก็อยากแนะนำว่าอย่าใช้วิธีเชิงลบ ขู่อาฆาต ตัดพ่อตัดลูก สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นประโยชน์กับเราอย่างแท้จริง โดยเฉพาะคนที่เป็นพ่อแม่ หมอบอกได้เลยว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้เราไม่ได้ในสิ่งที่เราอยากได้ ไม่ได้ลูกมาเป็นพวก แล้วก็เสียสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะเป็นอย่างเดียวเลยที่เราจะดึงลูกไว้กับเรา คือสายสัมพันธ์
อยากแนะนำว่าเราใช้วิธีพูดคุยกัน และรับฟังกัน หาข้อตกลงและยืนบนพื้นที่ที่เราและลูกต่างฝ่ายต้องมีสิ่งที่ต้องเสียสละอะไรบางอย่าง
กับวัยรุ่น คุณหมออยากจะพูดอะไรกับน้องๆ เด็กๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่
เอาจริงๆ หมอก็ชื่นชมคนรุ่นใหม่ใจความพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลง ตั้งคำถามกับสิ่งที่เขามองเห็นว่าเป็นเรื่องของความไม่ถูกต้อง แต่ขณะเดียวกันมันไม่ใช่แค่เรื่องของหลักการ แต่เป็นเรื่องของวิธีการ ทำยังไงที่วิธีการที่เราอยากได้ สิ่งที่เราเรียกร้องก็เป็นวิธีการที่มันไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่น ทำยังไงสิ่งที่เราเรียกร้องจะไม่ละเมิดความนับถือศรัทธาของคนอื่น หรือไม่ทำให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายแบ่งพรรคแบ่งพวกที่มากขึ้น
และก็อยากฝากวัยรุ่นว่าอยากให้อ่อนโยนในบุคคล แต่หนักแน่นในหลักการค่ะ