ลูกก็ต้องดูแล พ่อแม่ก็ต้องห่วง : วิถีเดอะแบกของ sandwich generation

  • sandwich generation หมายถึงกลุ่มคนที่ต้องเป็น “ผู้ดูแล” สมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นวัยกลางคนที่ต้องดูแลทั้งพ่อแม่ที่อยู่ในวัยชราและลูก ๆ 
  • การเป็น sandwich generation นั้นต้องเจอกับแรงกดดันมากมาย ทั้งหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบสมาชิกในครอบครัว หน้าที่การงาน และปัญหาความไม่มั่นคงด้านการเงิน 
  • การดูแลตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับชาว sandwich generation แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือการสนับสนุนจากทุก ๆ ภาคส่วนในสังคม 

เป็นกังวลกับสุขภาพของพ่อแม่ ต้องดูแลสุขภาวะของลูก แถมยังต้องคอยคำนวณว่ามีเงินเก็บมากพอไหม จะส่งลูกเรียนได้ไหม เมื่อเกษียณมาจะพอใช้หรือเปล่า สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ sandwich generation หรือกลุ่มคนที่ต้องรับแรงบีบคั้นจากทุกฝั่งราวกับไส้กลางแซนด์วิชต้องเจอ

คำว่า “sandwich generation” ถูกใช้ในทางสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการผู้สูงอายุครั้งแรกในปี 1981 โดยนักสังคมสงเคราะห์อย่างโดโรธี มิลเลอร์ และ อีเลน โบรดี ในช่วงแรก คำคำนี้ใช้กล่าวถึงผู้หญิงในวัย 30 – 40 ปี ที่ต้องดูแลลูก ๆ แต่ก็ยังต้องตอบสนองความต้องการของพ่อแม่ นายจ้าง เพื่อน ๆ และคนอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม อธินา วลาแชนโทนี นักพฤฒาวิทยาจากมหาวิทยาลัยเซาต์แธมป์ตันกล่าวว่า ตัวเลขของคนที่เป็น sandwich generation นั้นพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในสังคมปัจจุบันที่คนมีลูกช้าขึ้นและอายุยืนขึ้น ในขณะที่ ฟิลลิป รัมริล จากสถาบันพัฒนามนุษย์ มหาวิทยาลัยเคนทักกี ก็ได้กล่าวว่า “มีปรากฏการณ์ที่กลุ่มวัยกลางคนต้องช่วยดูแลลูกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนั่นเป็นอะไรที่ต้องทำอยู่แล้ว แต่บางครั้งยังต้องไปเลี้ยงหลาน ๆ ด้วย ดังนั้นคำว่า sandwich จึงเริ่มซับซ้อนขึ้นมาก”

คำว่า sandwich generation ในปัจจุบันจึงหมายถึง ปรากฏการณ์ที่ส่งผลต่อใครก็ตามที่ต้องดูแลสมาชิกครอบครัวตั้งแต่ 2 รุ่นขึ้นไป  

เพราะความซับซ้อนนี้ แคโรล อบายา ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้สูงอายุในสหรัฐอเมริกา จึงแบ่ง sandwich generation ออกเป็น 3 แบบ ได้แก่

  • Traditional sandwich generation หมายถึง กลุ่มคนที่อยู่ตรงกลางระหว่างพ่อแม่สูงอายุที่ต้องการการดูแลกับลูก ๆ ที่พวกเขาก็ต้องดูแลเช่นกัน
  • Club sandwich หมายถึง กลุ่มคนในวัย 40 – 60 ปี ที่อยู่ตรงกลางระหว่างพ่อแม่สูงอายุ ลูกที่เป็นผู้ใหญ่ และหลาน หรือกลุ่มคนอายุ 20 – 40 ปี ที่มีลูกเล็ก พ่อแม่สูงอายุ และปู่ย่าตายาย ซึ่งทำให้การเป็น “ผู้อยู่ตรงกลาง” ซับซ้อนกว่าเดิม
  • Open-faced sandwich หมายถึงคนอื่น ๆ ที่มีส่วนในการดูแลผู้สูงอายุ  

ภาระของการเป็นคนกลางระหว่างคนสองวัย

จากรายงานของสำนักวิจัยพิว (Pew Research Center) พบว่า 1 ใน 7 ของชาวอเมริกันที่มีอายุระหว่าง 40 – 60 ปี ต้องให้ความช่วยเหลือด้านการเงินทั้งกับพ่อแม่และลูก ๆ ในขณะที่ยังต้องรับแรงกดดันในหน้าที่การงาน ปัญหาส่วนตัว รวมถึงการเก็บออมไว้สำหรับตัวเองในวัยเกษียณ พวกเขาจึงต้องเผชิญทั้งความเครียดด้านการเงินและด้านสุขภาพจิต ในบางกรณี ประชากรกลุ่มนี้ถึงกับต้องยืดเวลาเกษียณของตัวเองออกไปเพราะปัญหาด้านการเงิน และในบางรายอาจต้องยืดระยะเวลาการเป็น sandwich generation เพราะยังต้องดูแลหลานต่ออีกด้วย

แบบสำรวจในปี 2007 ของสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association) พบว่า ส่วนใหญ่แล้วผู้หญิงที่เป็นแม่ในวัย 35 – 54 จะมีความเครียดมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ โดย 83% ของผู้หญิงในกลุ่มนี้ระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส ลูก ๆ และครอบครัวเป็นสาเหตุของความเครียด แต่อีกส่วนก็ระบุว่า สิ่งที่ทำให้พวกเธอเครียดคือการไม่มีเวลาดูแลตัวเอง

นอกจากนี้ความกดดันที่ sandwich generation ต้องเจอยังรวมถึงการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการดูแลครอบครัว เพราะการดูแลครอบครัวนั้นมักจะทำให้พวกเขาทำงานและมีส่วนร่วมกับที่ทำงานได้น้อยลง

แรงกดดันจากการต้องดูแลครอบครัว ความรู้สึกผิดต่อตัวเอง ปัญหาการเงิน และการพยายามหาสมดุลระหว่างการทุ่มเทกับหน้าที่การงานกับการทุ่มเทดูแลครอบครัวมักจะทำให้ sandwich generation ลงเอยที่การมีปัญหาสุขภาพจิตตามมาด้วย

ถึงเวลาดูแลตัวเอง

“คนที่ต้องเป็นผู้ดูแลกลายมาเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า ‘ผู้ป่วยลับ’” เด็บบี โอเบอร์แลนเดอร์ นักจิตวิทยาจากนิว เจอร์ซีย์ ที่ดูแลกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนสำหรับคนที่ต้องดูแลสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวกล่าว “ความเจ็บป่วยทั้งทางกายทางใจของพวกเขาถูกมองข้ามเพราะพวกเขาเอาแต่สนใจคนที่เขาคิดว่าต้องการความช่วยเหลือที่สุด”

เพราะดูแลคนอื่น ๆ จนกลายเป็นความเคยชิน sandwich generation จึงมักมองข้ามการดูแลตัวเอง และแม้แต่ตอนที่ชาว sandwich generation รู้ตัวว่าพวกเขากำลังประสบปัญหาไม่ว่าจะเป็นการเงิน สุขภาพกาย หรือสุขภาพจิต การดูแลตัวเองก่อนคนอื่นก็กลายเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขารู้สึกผิดเกินกว่าจะหันมาดูแลตัวเองได้ แต่โอเบอร์แลนเดอร์กล่าวว่าการดูแลตัวเองนั้นไม่ได้ทำไปเพื่อตัวเองอย่างเดียว แต่ยังส่งผลดีไปถึงคนที่พวกเขารักและคนที่พวกเขากำลังดูแลอยู่ด้วย

ซารา เควลล์ ผู้อำนวยการศูนย์พฤฒาวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยโคโลราโด ีแนะนำว่า เหล่า sandwich generation สามารถเริ่มดูแลตัวเองได้ง่าย ๆ ด้วยการลงคอร์สออนไลน์เกี่ยวกับทักษะการฟื้นตัว (resilience) การดาวน์โหลดแอปพลิเคชันสำหรับนั่งสมาธิ หรือปรึกษานักจิตบำบัดทางไกล

อีกทางเลือกหนึ่งคือ อย่าคิดว่าการดูแลคือการดูแล แต่ให้คิดว่าเป็นการได้ใช้เวลากับครอบครัว sandwich generation หลาย ๆ คนมักจะทำเรื่องนี้จนเคยชินและคิดว่ามันเป็น “หน้าที่” จนตั้งมาตรฐานขึ้นมากดดันตัวเอง ดังนั้นเมื่อไปเยี่ยมพ่อแม่ ลองเปลี่ยนจากการคิดว่าวันนี้ต้องจัดยาตัวใดให้พ่อแม่ ต้องซื้ออะไรมาตุนไว้ในตู้เย็น เป็นการไปเดินเล่นด้วยกัน ค้นอัลบั้มรูปเก่า ๆ ขึ้นมาดู หรือทำกิจกรรมครอบครัวอื่น ๆ ร่วมกัน ก็จะทำให้เวลาที่ผู้ดูแลและผู้ได้รับการดูแลใช้ร่วมกันนั้นพิเศษยิ่งขึ้นและดูดพลังน้อยลง

ดอนนา เบนตัน ศาสตราจารย์ด้านพฤฒาวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเซาต์เทิร์น แคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า การมี “ทีมสนับสนุน” ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ทีมที่ว่าอาจไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัว แต่รวมไปถึงเพื่อน ๆ แพทย์ประจำครอบครัว เพื่อนบ้าน ผู้นำชุมชน หรือแม้กระทั่งร้านชำแถวบ้าน ก็สามารถเป็น “ทีมสนับสนุน” ที่จะคอยช่วยดูแลสมาชิกในครอบครัวได้เช่นกัน

หากไม่รู้ว่าจะเริ่มขอความช่วยเหลือจากจุดไหน เบนตันแนะนำว่า ลองเริ่มจากการเขียนรายการ “ฉันอยากให้…” ขึ้นมาทุกครั้งที่รู้สึกหงุดหงิดหรือคิดว่าอยากให้ใครสักคนมาช่วยทำบางสิ่งบางอย่าง เช่น ฉันอยากให้มีใครมาช่วยเตรียมอาหาร หรือ ฉันอยากให้มีใครมาช่วยพาแม่ไปหาหมอตามนัดจัง การเขียนรายการดังกล่าวไว้ จะทำให้ sandwich generation มีการจัดชีวิตที่เป็นระบบระเบียบ ลดภาระและความกังวล รวมถึงสามารถขอความช่วยเหลือได้ตรงจุด

การลดความเครียดของการเป็น sandwich generation ที่สำคัญอีกอย่างก็คือการวางแผนด้านการเงินซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากผู้ดูแลไม่ยอมเปิดเผยสถานะทางการเงินให้กับสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวได้รับรู้ร่วมกัน นอกจากนั้นยังควรเตรียมตัวรับมือกับเหตุจำเป็นต่าง ๆ ที่อาจต้องใช้เงิน เช่น การคุยกับแพทย์ประจำตัวของพ่อแม่ว่าในวัยเท่านี้ มีอาการหรือโรคภัยไข้เจ็บใดที่จำเป็นต้องรักษาในอนาคตอันใกล้หรือแม้แต่ในอนาคตอันไกลไหม ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้สามารถวางแผนการเงินได้ง่ายขึ้น

เป็นเดอะแบกไปด้วยกัน

แม้ sandwich generation จะพยายามหันมาดูแลตัวเองหรือวางแผนชีวิตไว้ดีเพียงใด ก็อาจเป็นเรื่องยากที่จะทำตามแผนได้ หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือบริษัท จะเด็กหรือผู้สูงอายุต่างก็เป็นฟันเฟืองหนึ่งของสังคมเช่นกัน ดังนั้นการเป็น “เดอะแบก” จึงไม่ควรเป็นหน้าที่ของ sandwich generation แต่คือสิ่งที่คนทั้งสังคมสามารถเป็นเดอะแบกร่วมกันได้

วลาแชนโทนีกล่าวว่า ปู่ย่าตายายที่มีสุขภาวะที่ดีนั้นจะช่วยแบ่งเบาภาระของ sandwich generation ได้เป็นอย่างดี บทบาทของปู่ย่าตายายในการช่วยให้คนเป็นพ่อเป็นแม่ยังสามารถทำงานได้และก้าวหน้าในหน้าที่การงานนั้นมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในทศวรรษที่ผ่านมา

เมื่อขยับออกมาจากครอบครัว สิ่งที่จะมีผลต่อ sandwich generation โดยตรงก็คือบริษัท ต้นปีที่ผ่านมา Google เพิ่งเปลี่ยนนโยบายการลาหยุดโดยที่ยังได้รับค่าจ้าง หนึ่งในนั้นคือการเพิ่มจำนวนวันลาสำหรับการลาไปดูแลครอบครัวได้ถึง 8 สัปดาห์ เพราะพนักงานกว่า 40% ของบริษัทนั้นอยู่ในกลุ่ม sandwich generation

ผลสำรวจปี 2021 ของสถาบันโรซาลิน คาร์เทอร์สำหรับผู้ดูแล (Rosalyn Cater Institute for Caregivers) พบว่า 73% ของผู้ดูแลต้องออกจากงานก่อนเวลาหรือไม่ทันคาดคิด 70% ถูกเรียกกลับไปทำงานอย่างน้อย 1 วัน 68% ไม่รับงานหรือโครงการเพิ่มเติมซึ่งทำให้ไม่มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และเนื่องจากผู้หญิงมักจะต้องรับบทผู้ดูแลในครอบครัวมากกว่า จึงมีผู้หญิงกว่า 2 ล้านคน ที่ต้องลดความรับผิดชอบในที่ทำงานหรือขอลาออกจากงานในช่วงเดือนมกราคม 2020 และกุมภาพันธ์ 2022

สิ่งที่บริษัทควรทำเพื่อช่วยประคับประคองเหล่า sandwich generation ให้ยังสามารถทำงานไปพร้อม ๆ กับการดูแลครอบครัวได้ ควรเริ่มจากการเปิดบทสนทนาซึ่งอาจเริ่มผ่านการทำแบบสอบถามที่ไม่ต้องระบุชื่อผู้ตอบซึ่งจะทำให้ได้ความเห็นที่ตรงไปตรงมาว่าพนักงานต้องการการสนับสนุนอย่างไรจากบริษัท นอกจากนั้นยังมีนโยบายอีกหลาย ๆ อย่างที่บริษัทสามารถปรับเปลี่ยนได้ เช่น การเพิ่มวันลาสำหรับการดูแลครอบครัวโดยยังได้รับค่าจ้างเหมือนอย่างที่ Google ทำ หรือแม้แต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเวลาเข้า-ออกงาน หรือการอนุญาตให้ทำงานจากที่บ้าน (work from home) ได้

ในแอฟริกาใต้ มีศูนย์ดูแลเด็กแบบเคลื่อนที่กระจายอยู่ตามตลาดสดซึ่งมีผู้หญิงหลายคนประกอบอาชีพอยู่ในบริเวณดังกล่าว ศูนย์ดูแลเด็กนี้สามารถช่วยให้แม่สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องคอยพะวงเรื่องลูก ดังนั้นสิ่งที่รัฐสามารถทำได้คือการเพิ่มงบประมาณสำหรับศูนย์ดูแลเด็กเล็กและผู้สูงอายุเพื่อแบ่งเบาภาระของ sandwich generation ให้ไม่ต้องเป็นเดอะแบกแต่เพียงผู้เดียว

อ้างอิง :

https://www.psychologytoday.com/intl/blog/face-it/201210/the-over-stuffed-sandwich-generation

https://www.investopedia.com/terms/s/sandwichgeneration.asp

https://www.apa.org/topics/families/sandwich-generation

https://www.bbc.com/worklife/article/20210128-why-the-sandwich-generation-is-so-stressed-out

https://www.homage.sg/resources/sandwich-generation/

https://www.healthline.com/health/parenting/the-sandwich-generation-needs-help#What-sandwich-generation-caregivers-can-do

https://www.humangood.org/resources/senior-living-blog/sandwich-generation-squeezed-between-parents-and-kids

https://www.forbes.com/sites/deloitte/2022/10/26/how-businesses-can-and-must-move-forward-in-a-world-of-scarcity/?sh=77e7e0fad54b


Writer

Avatar photo

ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา

อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า

Illustrator

Avatar photo

ลักษิกา บรรพพงศ์

กราฟิกดีไซน์เนอร์ที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับธุรกิจเพลงเด็ก ติดซีรี่ย์ ชอบร้องเพลง ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และเป็นทาสแมว

Related Posts