ไม่มีหรอกที่อากาศไม่ดี มีแต่เราที่แต่งตัวไม่พร้อมก็เท่านั้น
วรรคทองของหนังสือ ‘เลี้ยงลูกแบบสแกนดิเนเวีย’ ว่าไว้อย่างนั้น แต่ความหมายลึกๆ การอ่านจนจบเล่ม น่าจะเป็นวิธีที่ตอบภาคทฤษฎีได้หมดจด
เช่นนั้น การคุยกับสแกนดิเนเวียนตัวจริง ลูกครึ่งไทย-สวีเดน อย่าง มารีญา พูนเลิศลาภ และ เอนไซโคลพีเดียฝั่งฟินแลนด์ ‘ครูจุ๊ย’ กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ประธานกรรมการบริหารโรงเรียนต้นกล้า ก็น่าจะเป็นความแน่นปึ้กฝั่งปฏิบัติ
mappa ชวนทั้งสองหอบประสบการณ์มาคุยให้ชัดๆ ว่า การเลี้ยงลูกแบบสแกนดิเนเวีย ไม่ได้มีแค่เข้าป่า แต่สิ่งที่ทำให้ครูจุ๊ยกล้าเผชิญปัญหา และมารีญาโตมาเป็นมารีญาอย่างทุกวันนี้ ส่วนสำคัญมาจากสไตล์การเลี้ยงแบบพ่อแม่สแกนดิเนเวียน
เริ่มต้นจาก Trust
trust หรือความไว้วางใจคือหัวใจสำคัญของการเลี้ยงลูกแบบสแกนดิเนเวีย
“คุณพ่อบอกไว้ตั้งแต่เด็กเลยว่า You’ll regret what you don’t do. อะไรที่เราไม่ได้ทำนั่นเป็นสิ่งที่เราจะ regret อะไรที่เราลองทำถ้ามันไม่ดีหรือรู้สึกผิด ไม่เป็นไร เราลองแล้ว เรียนแล้ว แล้วเราก็ไปต่อ นั่นคือความกล้าจะลองที่คุณพ่อปลูกฝังไว้”
ถ้ากล้าให้ลูกลอง นั่นหมายถึงคนเป็นพ่อต้องไว้ใจ
“มันคือความเชื่อ (trust) เรื่องศักยภาพมนุษย์ เชื่อว่าเด็กจะอยู่ได้ ลึกลงไปแล้ว นั่นคือการเชื่อมั่นในศักยภาพของลูกว่า ถ้าเราสนับสนุนเหมาะสมเพียงพอ ช่วยเขาแต่งตัวให้เหมาะสมเพียงพอ เขาจะไปได้ในทุกที่ อยู่ได้ทุกสภาพอากาศ” ครูจุ๊ย ขยายความ
จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมบ้านสแกนดิเนเวียจึงใช้ป่าและธรรมชาติเป็นห้องเรียน
“ตั้งแต่เด็ก คุณพ่อชอบพาไป hiking (ปีนเขา) กลัวมาก เป็นคนที่กลัวแมลงทุกชนิด จำได้ไปเขาใหญ่ เรากลัวทากมากแต่ก็ต้องไป ใส่ถุงกันทากด้วย เราจะถามตลอดว่าทำไมต้องไป ไม่ชอบ พอเดือนที่แล้ว มีทริปเขาหลวง นครศรีธรรมราช เราก็ยังกลัวทากอยู่ แต่ก็ไม่อยากจะกลัวแล้ว เลยไป พอไปก็รู้สึกถึงพลังมากๆ ของตัวเอง รู้เลยว่าพลังนี้พาเราไปที่ไหนก็ได้ ทากมากัด ช่างมัน ดูดเลือดก็ดูดไป เราไปโฟกัสกับต้นไม้ ที่เราจับ เหมือนมันช่วยเราไว้ ไม่ให้หล่น พอโตเรายิ่งขอบคุณพ่อมากที่พาเราเดินป่า”
ยิ่งเรากลัวอะไรยิ่งต้องเผชิญกับมัน คือคำสอนที่มารีญายึดมาถึงตอนนี้ ส่วนเหตุผลว่าทำไมต้องให้ธรรมชาติช่วยสอน ครูจุ๊ยมีคำตอบ
“ในธรรมชาติ ในป่า จะมีสิ่งที่พ่อแม่กังวลว่า ลูกจะเป็นอันตรายไหม ปีนต้นไม้นี้ตกลงมาแขนขาหัก คือสิ่งที่เด็กจะได้เรียนรู้ ได้ใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติคือการตัดสินใจ ซึ่งสำคัญมาก เดินแต่ละก้าวจะพลาดไหม เจออะไรหรือเปล่า มันคือการฝึกให้เขาได้ตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำ โดยมีพ่อแม่อยู่ข้างๆ เขา”
ธรรมชาติจะสอนการวางแผน
แต่ก่อนจะปล่อยให้ลูกก้าวถูกก้าวผิดเอง ทุกอย่างต้องผ่านการวางแผน พร้อมรับวันที่อากาศไม่ดี เพราะถ้าจะมีใครไม่พร้อม ไม่สบาย ก็เป็นเพราะตัวเอง อย่าโทษลมฟ้า
“ถ้าเกิดสถานการณ์อะไรขึ้น มันสอนให้เราเตรียมพร้อมเพื่อไปรับสิ่งที่อยู่ข้างหน้า ฝนตกเหรอหยิบร่มมา แล้วออกไปทำกิจกรรมที่อยากทำ ในฐานะผู้บริหารโรงเรียน วันฝนตกคือวันที่เด็กๆ ออกไปเรียนรู้ ใส่ชุดกันฝน รองเท้าบู๊ทยาง ออกไปดูแมลง ดูเห็ด เห็นอะไรไหมใต้ดิน นี่คือการเรียนรู้ทั้งนั้น”
เช่นเดียวกับมารีญา ทุกๆ ครั้งที่พ่อพาไปในที่ที่น่าจะเป็นอันตราย safety first คืออันดับหนึ่ง
“เข้าป่า คุณพ่อจะไม่ห่วงอันตรายแบบนี้เลย มันค่อนข้าง ironic เพราะเขาเป็นคน safety first ขึ้นรถก็รัดเข็มขัด ไปไหนต้องใส่หมวกกันน็อค แต่พอเข้าป่า เออ ไม่เป็นไร ถ้าตกก็แค่ตก หรือถ้าขี่จักรยาน คุณพ่อก็ให้ใส่หมวกกันน็อค อันตรายมันมีขอบเขตของมัน ไม่ใช่กลัวจนไม่ทำอะไร ซึ่งนั่นทำให้เราเป็นคน adaptable พร้อมอยู่ในสถานการณ์ไหนก็ได้ เอาตัวเองให้รอดให้ได้”
สอดคล้องกับสภาพอากาศที่สแกนดิเนเวีย ที่ไปสุดในทุกฤดู การเตรียมพร้อมจึงสำคัญ
“สี่ฤดูไม่เหมือนกันเลย ฤดูหนาวต้องเปลี่ยนยางรถจากยางธรรมดาเป็นยางตะปู มันเป็นชีวิตที่ธรรมชาติบังคับให้เราต้องวางแผน” ครูจุ๊ยยกตัวอย่าง
อะไรๆ ก็เปลี่ยนแปลงได้ things can change – แนวคิดนี้ทำให้มารีญาไม่ยึดติด
“มันทำให้เรายิ่งวางแผนมากขึ้น คิดว่ามันส่งผลต่อการแพลนนิ่งทุกๆ อย่างของเรา” อดีตมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์สวิเคราะห์ตัวเอง
ออกซิเจน พลังสำคัญของชีวิต
ปล่อยให้ลูกนอนนอกบ้านบ้าง คือหนึ่งในไสตล์การเลี้ยงลูกของพ่อแม่สแกนดิเนเวียน
ลูก – ลูกเล็ก
นอน – ในรถเข็น
นอกบ้าน – เช่น ร้านอาหาร
แนวความคิดนี้เมื่อนำไปใช้บ้างในสหรัฐอเมริกา ลินดา ออเกอซอน แมคเกิร์ค (Linda Akeson McGurk) ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เล่าว่า ถึงขั้นพ่อแม่ถูกฟ้องเรื่อง child neglect เพราะปล่อยให้ลูกนอนนอกร้าน แต่คนอเมริกันเข้าใจว่านั่นคือการทิ้งลูก
“คนสแกนฯ คิดว่าออกซิเจนสำคัญ ช่วยให้เด็กเติบโต แต่ก่อนจะปล่อยให้นอน พ่อแม่จะเตรียมเสื้อผ้าให้ลูกพร้อม มันเป็นความเชื่อคล้ายๆ ที่คุณพ่อมารีญาบอกว่าให้พึ่งพาศักยภาพของมนุษย์ เขาเชื่อว่าถ้าเตรียมพร้อม เด็กจะอยู่ได้ทุกสภาพอากาศ ไปได้ทุกที่ แต่ก็ไม่ได้ทิ้งนะ ให้อยู่ในระยะสายตาเห็นนั่นแหละ”
ครูจุ๊ยอธิบายต่อว่า มันคือตระหนักรู้อยู่ตลอดว่า ธรรมชาติที่อยู่นั้นมันไม่ง่าย
“ไม่มีทางไหนเลยที่เขาจะไปอยู่ได้โดยไม่ทำความเข้าใจและอยู่กับมัน อีกนัยหนึ่ง มันทำให้เขารักธรรมชาติมากๆ เพราะเขาอยู่กับมัน ดังนั้นการแยกขยะ ทำเทคโนโลยีให้กรีนที่สุดเท่าที่จะทำได้ มันมาจากการเลี้ยงดูตั้งแต่เด็ก”
ไม่ใช่ว่าครูจุ๊ยจะเข้าใจเรื่องนี้ปรุโปร่งตั้งแต่แรก อดีตนักเรียนแลกเปลี่ยนฟินแลนด์ก็เพิ่งมาเก็ทเรื่องออกซิเจนเอาก็ตอนมัธยมปลาย
“พอเราไปอยู่ฟินแลนด์ โดนแม่ฟินแลนด์ถามว่า วันนี้ออกไปข้างนอกบ้างหรือยัง ยูไม่ได้ get oxygen แล้วเราในวัย 16 ก็ถามกวนๆ ว่า แล้วในนี้ไม่มีออกซิเจนเหรอ เขาบอกว่า มีแต่มันไม่ fresh ยูต้องออกไปหาออกซิเจนข้างนอก แม่พูดเรื่องนี้เยอะมาก จนต้องมานั่งจับเข่าคุยกันว่าทำไมแม่ต้องมาให้ออกไปหาออกซิเจนบ่อยขนาดนั้น แม่บอกว่ามัน fresh มันจะดีกับยู เรามาค้นพบทีหลังว่า ถ้าไอเดียตัน เราหาวิธีแก้ปัญหาได้ด้วยการออกไปข้างนอก หรือก็แค่ไปอาบน้ำก็ได้”
อย่าร้องขอความช่วยเหลือจากใคร จงพึ่งพาตัวเอง
การอยู่กับธรรมชาติเพื่อฝึกการวางแผนและเตรียมพร้อมเสมอ คือการสอนแบบไม่สอนให้เด็กๆ พึ่งพาศักยภาพตัวเอง ไม่นับหนึ่งจากการร้องขอความช่วยเหลือ
มารีญาก็เริ่มจากอาณาเขตเล็กๆ คือห้องของตัวเอง
“ห้องของเราต้องดูแลมันให้ได้ ตอนอยู่เมืองไทยถึงจะมีแม่บ้าน แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่เคยให้แม่บ้านทำทุกอย่าง เราต้องทำเอง เก็บอาหาร เก็บขยะตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะมีคนช่วยหรือไม่ช่วยเราต้องรู้ทุกหน้าที่ ทำได้ทุกอย่าง”
การพึ่งพาตัวเองสร้างความรับผิดชอบและควรมีในทุกๆ การวางแผน สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างทางคือความไว้วางใจ
“ครอบครัวมารีญาแพลนเยอะ trust เริ่มมาตอนเราได้แสดงความคิดเห็น เช่น เราอยากมีน้องอีกคนเพราะเราเหงา เป็นคนสุดท้อง พี่ชายอายุห่างตั้ง 12 ปี เราก็บอกเหตุผล พ่อแม่ก็ อ๋อ แบบนี้เหรอ ซื้อนกให้ ถัดมาอยากได้หมา เราก็ต้องรีเสิร์ชเกี่ยวกับหมา เช่น มีเวลาไหม รับผิดชอบพอไหม ในที่สุดก็ไม่ได้ (หัวเราะ) ประกวดนางงามก็เหมือนกัน ต้องทำรีเสิร์ชก่อนด้วย”
มารีญาเคารพกฎของบ้านข้อนี้เพราะนั่นหมายถึงการได้พิสูจน์ตัวเอง
“ถ้าเรา prove ตัวเองได้ พ่อแม่จะไว้ใจเรา และเมื่อเราพิสูจน์ตัวเองได้ เราจะรู้ว่าสิ่งที่เราทำมีผลกระทบหรือ consequence (ผลที่ตามมา) อะไรบ้าง”
แต่ที่แน่ๆ consequence หลังจากการพิสูจน์ตัวเองคือความภูมิใจ
ครูจุ๊ยอธิบายลอจิคง่ายๆ ของเรื่องนี้ว่า การได้อยู่กับธรรมชาติ = การพึ่งพาตัวเอง = พิสูจน์ตัวเอง = ภูมิใจ
พ่อแม่ไทยอาจถามว่า ถ้าไม่มีป่าให้เข้า หรือธรรมชาติไม่ได้อยู่ใกล้บ้านขนาดนั้น ด้วยไอเดียนี้จะพลิกแพลงเป็นอย่างอื่นได้หรือไม่
“ง่ายๆ เลย ทำยังไงให้เด็กๆ ได้พึ่งพาตัวเองมากที่สุด อย่างวันนี้ไปส่งลูกที่โรงเรียน ปล่อยลูกลงจากรถแล้วเดินเข้าโรงเรียนเองได้ไหม อย่าอุ้ม อย่าถือกระเป๋าให้ ปล่อยเขาเดินสำรวจโน่นนี่ เห็นใบไม้สีนั้นทีสีโน้นที เอาธรรมชาติในโรงเรียนนี่แหละ นี่คือเรื่องง่ายที่สุดที่คุณจะทำได้”
ความหมายของครูจุ๊ยคือปล่อยให้ลูกได้เติบโต ปล่อยให้เขาทำอะไรด้วยตัวเองไม่ว่าเขาจะอยู่พื้นที่ไหนก็ตาม
“บทเรียนนี้สำคัญมาก เพราะมันทำให้ลูกคุณได้ตัดสินใจสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง ได้ประเมินว่า เอ๊ะ กระเป๋าหนักไปหรือเปล่า คุณเป็นพ่อแม่มีหน้าที่ทำกระเป๋าให้มีน้ำหนักพอเหมาะพอประมาณ แล้วคุณก็ให้เขาจัดการ ถ้าจะพาลูกเดิน เซ็ตกันไปชัดๆ ว่าเดินถึงตรงไหน ลูกก็จะบ่นแหละว่าทำไมต้องเดิน แต่ที่สุดแล้ว พอเขาเดินสำเร็จมันคือ sense of success คือรู้สึกว่าทำได้แล้ว อันนี้มันสร้าง self esteem ให้เด็กมาก สำคัญมากๆ ด้วย”
‘ครูจุ๊ย’ เสริมอีกว่า ถ้าคนแรกของชีวิตไว้ใจเขา เขาจะพร้อมไปทุกที่ อยู่ได้ทุกสภาพอากาศ แบตเตอรีชีวิตจะไม่มีวันหมด
รัฐสวัสดิการที่ตั้งต้นจาก Trust
ผลจากความไว้ใจของพ่อแม่ ทำให้ลูกเดินไปข้างหน้าอย่างเต็มกำลัง หันหลังกลับมาเมื่อไหร่ก็อุ่นใจทุกครั้งเพราะพื้นที่ปลอดภัยยังอยู่ที่เดิม
นโยบายรัฐสวัสดิการของฟินแลนด์ก็ตั้งต้นจาก trust เช่นกัน
แค่ปรับจากความไว้ใจของพ่อแม่ที่มีต่อลูก มาเป็นรัฐต่อประชาชน จนออกมาเป็นนโยบายที่สร้างจากความเข้าใจจริงๆ
“รัฐสวัสดิการซื้อเวลาพ่อแม่ให้กับลูก แม่ๆ ฟินแลนด์จะได้ ‘กล่องคุณแม่’ ทุกคน ในนั้นจะมีทุกอย่างที่แม่ไม่ต้องกังวล ตั้งแต่เสื้อผ้าลูก อุปกรณ์ทุกอย่าง มีกระทั่งคอนดอม เพื่อให้พ่อแม่ได้คุยวางแผนร่วมกันว่าจะคุมกำเนิดหรือไม่ รวมถึงเจ้าหน้าที่อนามัยที่คอยคำปรึกษาตั้งแต่ท้องไปจนคลอดออกมาแล้ว”
ทั้งเวลาและความรู้ สิ่งเหล่านี้ถูกทำผ่านรัฐสวัสดิการที่พยายามช่วยให้พ่อแม่ได้เลี้ยงลูกอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด
ที่สวีเดน รัฐก็มีนโยบายสนับสนุนให้แม่ลาก่อนคลอดได้ถึง 60 วัน หลังคลอดลาได้สูงสุด 480 วัน พ่อเองก็ลาหลังคุณแม่คลอดได้ 60 วัน ทั้งหมดนี้ได้รับเงินชดเชย
นอกจากนี้รัฐยังจ่ายเบี้ยเลี้ยงค่าเลี้ยงดูบุตรสำหรับบุตรอายุต่ำกว่า 16 ปี เป็นเงิน 1,050 โครนาสวีเดนต่อคนต่อเดือน หรือประมาณ 3,775 บาท
ถ้าถามว่าประเทศไทยเมื่อไหร่จึงจะไปถึงจุดนี้?
“trust ไม่ได้เป็นวัฒนธรรมพื้นฐานของเมืองไทย บ้านเรารั้วรอบขอบชิด ไม่มีทางให้ลูกนอนนอกบ้าน แต่สแกนฯ เชื่อในศักยภาพของคน พ่อแม่เองก็ไม่กลัว ตกงานก็ไม่เป็นไร ยังไงก็มีสวัสดิการ แต่บ้านเรา ไม่มีอะไรสักอย่าง พ่อแม่เลยกลัวและดิ้นรนเป็นธรรมดา และส่งมาให้ลูกกลัวต่อ เขาจึงเลือกอาชีพเพราะความกลัว ไม่ได้เลือกเพราะอยากเป็น”
มารีญาเห็นว่าเด็กๆ ทุกคนควรมี freedom of choice
“ตอนเด็กๆ ถามพ่อว่าตอนเด็กพ่ออยากเป็นอะไร พ่อบอกอยากเป็นคนเก็บขยะ คืออาชีพมันหลากหลายมากๆ ถ้าไม่ใช่การเลือกเพราะความกลัว”
แต่ครูจุ๊ยที่ทำงานในวงการศึกษาไทยมานาน ก็ยอมรับว่า สำหรับพ่อแม่ การบอกลูกว่าไม่เป็นไรนะ มันยากมากจริงๆ
“สอบตกแล้วบอกลูกว่า ปีหน้าค่อยว่ากัน มันยากมากนะ แต่สิ่งที่จุ๊ยอยากแนะนำคือ ขอให้สังเกตลูกไม่ใช่จับผิด เขากลับมาจากโรงเรียนแล้วมาเล่าอะไรให้ฟัง มีความสุขกับสิ่งที่ทำไหม…
ถ้าเขามีความสุขกับสิ่งที่ทำ คุณพ่อคุณแม่เชื่อเถอะว่าต่อจากนี้เขาจะเรียนรู้ได้”
trust จึงเพาะเมล็ดได้จากที่บ้าน พ่อแม่เลี้ยงดูให้งอกงาม เด็กจะเติบโตและหยั่งรากลึกเอง
อ้างอิง : หนังสือเลี้ยงลูกสไตล์สแกนดิเนเวีย There’s no such thing as bad weather สำนักพิมพ์ SandClock Books