- การเรียนรู้แบบนำตนเองเปิดโอกาสให้ผู้เรียนกำหนดรูปแบบการเรียนรู้ เลือกเนื้อหาที่ต้องการศึกษาและที่ปรึกษา อีกทั้งประเมินและสะท้อนผลการเรียนรู้ด้วยตัวเอง
- กระบวนการการเรียนรู้แบบนำตนเองแบ่งออกเป็นสี่ขั้นอย่างคร่าว ๆ ได้แก่ 1) ประเมินความพร้อมในการเรียนรู้ 2) กำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ 3) เข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ 4) ประเมินผลการเรียนรู้
- การเรียนรู้แบบนำตนเองเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการสนับสนุนให้ผู้เรียนเป็นผู้เลือกการเรียนรู้ของตัวเอง อันจะเป็นการวางรากฐานไปสู่จุดหมายที่มุ่งหวัง และสร้างความเปลี่ยนแปลงในแบบที่ตนปรารถนาได้
การเรียนรู้แบบนำตนเอง (self-directed learning) เริ่มต้นเมื่อผู้เรียนเริ่มเรียนรู้ด้วยตัวเองไม่ว่าจะมีหรือไม่มีใครช่วยเหลือ มันจะเกิดขึ้นเมื่อผู้เรียนเริ่มประเมินว่าตัวเองต้องการเรียนอะไร ศาสตร์หรือทักษะใดที่สำคัญที่สุดต่อตัวเขาเอง หรือเรื่องใดที่ยังไม่เชี่ยวชาญ จากตรงนี้ ผู้เรียนจะเป็นคนเลือกว่าต้องการทบทวนหรือเรียนรู้เรื่องใด หลังจากนั้นจะเป็นการสร้างจุดมุ่งหมายในการเรียนรู้และผลลัพธ์ที่คาดหวัง
ในการเรียนรู้แบบนำตนเอง ผู้เรียนจะกำหนดว่าต้องการความช่วยเหลือจากใคร หรือทรัพยากรใด มันอาจเป็นแค่การให้ลุงสอนซ่อมรถ หรือทดลองทำตามขั้นตอนการทำขนมปังในเว็บไซต์ การสำรวจจะพาผู้เรียนไปในทิศทางที่หลากหลาย
การเรียนรู้แบบนำตนเองจะเป็นการเลือกและประยุกต์ใช้กลยุทธ์การเรียนรู้ให้เหมาสมกับตนเอง เมื่อใดก็ตามที่ใช้กลยุทธ์ใดกลยุทธ์หนึ่งถึงขั้นชำนาญแล้ว หลังจากนั้นผู้เรียนสามารถเลือกเรียนในด้านที่สนใจได้ บางคนถนัดเรียนจากหนังสือ หรือไปร่วมเสวนากับผู้เชี่ยวชาญหลาย ๆ ครั้ง
การเรียนรู้แบบนำตนเองจะประเมินที่ผลการเรียนรู้ ผู้เรียนเรียนรู้อะไรบ้าง และกลยุทธ์ที่เลือกใช้เป็นอย่างไร การสะท้อนคิดอย่างรอบคอบว่ามีอะไรที่ได้ผล อะไรที่ไม่สำเร็จจะช่วยในการตัดสินใจว่าจะใช้กลยุทธ์การเรียนรู้แบบเดิม ปรับปรุงของเดิมหรือลองใช้แบบใหม่
สี่ขั้นตอนของการเรียนรู้แบบนำตนเอง
การเรียนรู้ด้วยตัวเองเป็นเรื่องท้าทายแม้แต่สำหรับผู้เรียนที่มุ่งมั่น เพื่อความเข้าใจในกระบวนการเรียนรู้แบบนำตนเอง เราอาจแบ่งกระบวนการออกเป็นสี่ขั้น ได้แก่ 1) ประเมินความพร้อมในการเรียนรู้ 2) กำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ 3) เข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ 4) ประเมินผลการเรียนรู้
ขั้นที่หนึ่ง: ประเมินความพร้อมในการเรียนรู้
ผู้เรียนต้องมีทักษะหลายประการและมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง ขั้นตอนนี้ผู้เรียนต้องประเมินสถานการณ์ปัจจุบันของตัวเอง ทั้งนิสัยในการเรียน สถานภาพครอบครัว และเครือข่ายสนับสนุนที่สถานศึกษาและที่บ้าน อีกทั้งประเมินประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยตัวเองที่ผ่านมา สัญญาณที่บ่งชี้ว่าผู้เรียนมีความพร้อมในการเรียนรู้แบบนำตนเอง ได้แก่ ความสามารถในการกำกับตนเอง ความสามารถในการจัดการ ความมีวินัยในตัวเอง ความสามารถในการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ความสามารถในการยอมรับคำวิจารณ์ รวมถึงการประเมินและสะท้อนผลด้วยตัวเอง
ขั้นที่สอง: ตั้งเป้าหมายในการเรียนรู้
การสื่อสารเป้าหมายในการเรียนรู้ระหว่างผู้เรียนและที่ปรึกษาจำเป็นอย่างยิ่ง ผู้เรียนและที่ปรึกษาต้องเข้าใจเป้าหมายของผู้เรียน โดยทั่วไปแล้ว เงื่อนไขในการเรียนรู้มักจะประกอบด้วยคุณลักษณะดังต่อไปนี้
- มีเป้าหมายของการเรียนรู้
- มีการทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ
- มีรายละเอียดเกี่ยวกับแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้สำหรับเป้าหมายแต่ละข้อ
- มีรายละเอียดเกี่ยวกับเกณฑ์การให้คะแนน
- มีการสะท้อนผลและประเมินผลเป้าหมายแต่ละข้อ
- มีการนัดพบกับที่ปรึกษา
- มีการตั้งข้อตกลงในการเรียน เช่น การส่งการบ้านช้า การสอบวัดผล
เมื่อกำหนดข้อตกลงในการเรียนรู้เสร็จแล้ว ควรมีการประเมินแผนการเรียนรู้ในแง่ความเป็นไปได้ เช่น ปริมาณแบบฝึกหัดมากหรือน้อยเกินไปหรือเปล่า กรอบระยะเวลาในการเรียนรู้สมเหตุสมผลหรือไม่
ขั้นที่สาม: เข้าสู่กระบวนการเรียนรู้
ผู้เรียนควรตอบคำถามเหล่านี้ได้
- ฉันต้องการเรียนรู้อะไร
- ครูคนโปรดของฉันคือใคร เพราะอะไร
- ฉันเข้าใจแนวทางการเรียนรู้ของตัวเองมากน้อยเพียงใดและอย่างไร
การเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง จะเป็นการปฏิรูปการเรียนรู้ที่เหมาะสมแก่การเรียนรู้ด้วยตัวเอง ผู้เรียนต้องเข้าใจแนวคิดต่าง ๆ ด้วยตนเอง ปรับใช้องค์ความรู้กับสถานการณ์ใหม่ ๆ สามารถยกตัวอย่างใหม่ ๆ ในการอธิบายแนวคิด และเรียนรู้มากกว่าแค่เรียนให้จบบทเรียน
การเรียนรู้แบบพื้นผิว จะเป็นการท่องจำ เรียนให้จบบท จดจำเนื้อหา คำอธิบายและตัวอย่างในตำราด้วยการอ่าน
การเรียนรู้แบบวางกลยุทธ์ จะมีการจัดการเพื่อให้ได้ผลการเรียนสูงสุดและสอบผ่านเกณฑ์ มีการท่องจำข้อเท็จจริงและใช้เวลาทบทวนข้อสอบเก่า ๆ
งานวิจัยทางการศึกษาในยุคบุกเบิกอาจสนับสนุนการเรียนรู้แบบพื้นผิว ทว่ากลยุทธ์การเรียนรู้แบบนี้อาจไม่เพียงพอต่อการเรียนรู้แบบนำตนเอง การเรียนรู้แบบนำตนเอง ต้องอาศัยการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งที่ผู้เรียนต้องเข้าใจแนวคิดและสามารถประยุกต์ใช้ความรู้กับสถานการณ์ใหม่ ๆ ได้ พวกเขาต้องสร้างความเชื่อมโยงด้วยตัวเองและมีแรงบันดาลใจภายใน
ขั้นที่สี่: ประเมินการเรียนรู้
ทักษะสำคัญที่ผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้แบบกำกับตนเองได้คือสามารถประเมินและสะท้อนผลด้วยตนเองในด้านจุดประสงค์การเรียนรู้และพัฒนาการของตัวเอง โดยกระบวนการที่จะส่งเสริมการประเมินตนเองอาจเป็นการปรึกษากับที่ปรึกษาอย่างสม่ำเสมอ ฟังคำติชม และประเมินความก้าวหน้าของตัวเองด้วยคำถาม เช่น
- ฉันจะรู้ได้อย่างไรว่าฉันได้เรียนรู้แล้ว
- ฉันสามารถปรับใช้ความรู้อย่างยืดหยุ่นได้หรือไม่
- ฉันมีความมั่นใจในการอธิบายเนื้อหานี้หรือเปล่า
- ฉันประเมินได้หรือไม่ว่าเรียนรู้เพียงพอแล้ว
- ฉันควรเริ่มสะท้อนผลการเรียนรู้และพบที่ปรึกษาเมื่อใด
บทบาทของผู้เรียนและที่ปรึกษาในการเรียนรู้แบบนำตนเอง
การเรียนรู้แบบนำตนเองที่ประสบความสำเร็จต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากผู้เรียนและที่ปรึกษา ต่อไปนี้คือรายการหน้าที่รับผิดชอบหลัก ๆ ของแต่ละฝ่าย สิ่งสำคัญคือทั้งสองฝ่ายต้องทบทวนว่าอีกฝ่ายเติมเต็มหน้าที่ของตนเองได้หรือไม่
หน้าที่ของผู้เรียน
- ประเมินความพร้อมในการเรียนรู้ของตัวเอง
- กำหนดเป้าหมายในการเรียนรู้และกำหนดเงื่อนไขด้วยตัวเอง
- ติดตามการเรียนรู้ของตัวเอง
- ริเริ่มทุกขั้นตอนในการเรียนรู้ด้วยตัวเอง จุดประกายตัวเอง ประเมินผลซ้ำและปรับเปลี่ยนเป้าหมายตามความเหมาะสมในแต่ละบทเรียน
- ขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาเมื่อจำเป็น
หน้าที่ของที่ปรึกษา
- สร้างบรรยากาศการเรียนรู้แบบพึ่งพาอาศัยกัน
- สร้างแรงบันดาลใจและคอยช่วยในกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน
- คอยอยู่เป็นผู้ให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำในจังหวะที่เหมาะสม
- เป็นผู้ประคอง ไม่ใช่ปกครอง
จะดีแค่ไหนหากเรียนรู้เป็นของเรา
การเรียนรู้แบบนำตนเองมีข้อดีหลายประการ อาทิ
มีพัฒนาการตามธรรมชาติ
ไม่ว่าจะเป็นในห้องเรียนหรือในชีวิต เราควรตัดสินใจด้วยตัวเอง การเรียนรู้แบบนำตนเองจะขัดเกลาทักษะการประเมินสถานการณ์และเพิ่มความเชื่อมั่นในตัวเองในการตัดสินใจเลือกเส้นทางที่ตอบสนองความต้องการและนำไปสู่เป้าหมายของตัวเอง
ไม่มีการเสริมแรงเชิงลบจากระบบการศึกษา
ในบางครั้ง การศึกษาในระบบทำลายสุขภาพจิตของผู้เรียนไปตลอดชีวิต ในบางครั้งคำพูดของผู้สอนอาจทำร้ายผู้เรียน หรือไม่อย่างนั้นผู้เรียนที่เรียนรู้ต่างจากคนอื่น ๆ อาจตกเป็นเป้าให้ล้อเลียนได้ แต่การเรียนรู้ด้วยตัวเองไม่มีแพ้ชนะ ทุกคนเรียนรู้ตามความเร็วที่เหมาะสมกับตัวเอง
สนับสนุนความหลงใหล
การศึกษาในสถานศึกษาออกแบบมาอย่างเป็นระบบ ผู้เรียนหลายคนจำต้องเรียนวิชาที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่พวกเขาสนใจ แต่การเรียนรู้แบบนำตนเองเปิดโอกาสให้เขาได้สำรวจและเรียนรู้เจาะลึกในเรื่องที่ตรงกับความสนใจอย่างแท้จริง
ส่งเสริมการร่วมมือกันของทุกฝ่าย
ผู้เรียนสามารถจับมือกับเพื่อนหรือคนในครอบครัวในกระบวนการเรียนรู้โดยไม่มีการจัดลำดับขั้น ยิ่งกว่านั้น การเรียนรู้ประเภทนี้เป็นคล้ายการจำลองการทำงานในบริบทการทำงานจริง
อ้างอิง
https://ccnmtl.columbia.edu/projects/pl3p/Self-Directed%20Learning.pdf
https://fcit.usf.edu/matrix/goal-directed-learning/
https://www.uopeople.edu/blog/self-directed-learning-beneficial/