ผ่านทฤษฎีแต่ตกปฏิบัติ เพศศึกษายังควรอยู่ในวิชาสุขศึกษาต่อไปไหม

  • สุขศึกษา คือ หนึ่งในวิชาที่จำแต่ไม่เข้าใจ เรียนเสร็จก็ลืม สอบทฤษฎีผ่านแต่ตกปฏิบัติ ถ้าเป็นแบบนั้น ทำไมต้องเรียนวิชาสุขศึกษา
  • ที่ผ่านมา สุขศึกษาไม่ใช่เพศศึกษา ทั้งๆ ที่คำอธิบายรายวิชาระบุว่า มันคือเรื่องเดียวกัน เด็กควรรู้จักคุณค่าในตัวเอง เข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา รวมถึงเรื่องเพศ
  • mappa ชวน ‘หมอเต้’ นายแพทย์ณัฐเขต แย้มอิ่ม ผู้ก่อตั้ง PULSE Clinic คลินิกสุขภาวะทางเพศ และ ‘ตั๊ก’ ฉันทนา ทิพย์ประชาติ ผู้กำกับหน่าฮ่านเดอะซีรีส์ มาออกแบบวิชาสุขศึกษาที่เคยอยากเรียนและควรจะเป็นผ่านบทความชิ้นนี้

เชื่อว่าทุกคนเคยผ่านการเรียนวิชา ‘สุขศึกษา’ วิชาที่สอบเสร็จก็ลืม ถ้าเป็นแบบนั้น ทำไมเราต้องเรียนวิชาสุขศึกษา? 

‘วิชาสุขศึกษา’ คือ การเรียนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและสติปัญญา 

คำอธิบายของหนังสือรายวิชาพื้นฐานสุขศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ระบุว่า สุขศึกษาเป็นวิชาที่สอนเรื่องการเจริญเติบโตและพัฒนาการของมนุษย์ ชีวิตและครอบครัว การเคลื่อนไหว การออกกำลังกาย การเล่นเกม กีฬาไทยและสากล การสร้างเสริมสุขภาพ สมรรถภาพ การป้องกันโรค และความปลอดภัยในชีวิต

รวมถึงตัวชี้วัดสาระการเรียนรู้ของวิชานี้ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1 – ม.3) เขียนไว้ว่า ผู้เรียนจะต้องเข้าใจธรรมชาติและการเจริญเติบโตทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ มองเห็นคุณค่าในตัวเอง ครอบครัว เข้าใจเรื่องเพศศึกษา รวมถึงสนใจกิจกรรมและกีฬา

แต่คำถามสำคัญ คือ เด็กๆ อยากรู้เรื่องเหล่านี้หรือเปล่า? ถ้าพวกเขายังสงสัยและไม่เข้าใจเรื่องการป้องกันตนเอง เพศสัมพันธ์ และความหลากหลายทางเพศ รวมถึงคำถามอื่นๆ ที่วิชาสุขศึกษาไม่เคยตอบ

“อยากให้สอนการวัดขนาด การสวมถุงยางแบบถูกวิธี เอาจริงๆ ผมยังสวมถุงยางไม่คล่องเลย คิดว่าจะลองอยู่”

“พอมีอะไรกันแล้วไม่ได้กินยาคุมทันทียังทันไหม หรือถ้าผ่านไปสักพักค่อยกินยังทันไหม” 

“อยากให้พูดถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศว่าไม่ใช่อาการป่วย มันเป็นเรื่องปกติ” 

ข้างต้นคือตัวอย่างวิชาสุขศึกษาที่เด็กๆ อยากเรียน แต่ไม่เคยได้เรียน จึงต้องหาคำตอบเองด้วยการลองผิดลองถูก ตามที่เข้าใจ 

เพราะการสอนเรื่องเพศไม่ใช่การปล่อยให้เด็กวิ่งไปหาคำตอบเอง แต่พวกเขาควรรู้ข้อมูลรวมถึงวิธีที่ถูกต้องเพื่อป้องกันตนเอง เพื่อใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยและมีความสุข

เพื่อเข้าใจวิชาสุขศึกษาให้ลึกกว่าการป้องกันหรือการห้ามพลาด mappa ชวน  ‘หมอเต้’ นายแพทย์ณัฐเขต แย้มอิ่ม ผู้ก่อตั้ง PULSE Clinic คลินิกสุขภาวะทางเพศ และ ‘ตั๊ก’ ฉันทนา ทิพย์ประชาติ ผู้กำกับซีรีส์ ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ มาออกแบบวิชาสุขศึกษาที่เคยอยากเรียนและควรจะเป็น 

‘เพศศึกษา’ ทำไมถึงต้องอยู่ในวิชาสุขศึกษา

จากคำอธิบายวิชาสุขศึกษาระบุว่า มีเพศศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของวิชาด้วย ผู้เรียนจะได้เรียนรู้เรื่องคุณค่าของตนเองและครอบครัว การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ความรู้สึกทางเพศ การสร้างและรักษาสัมพันธภาพกับผู้อื่น สุขปฏิบัติทางเพศ และทักษะในการดําเนินชีวิต ซึ่งการขยายขอบเขตเพศศึกษาจะทำให้เด็กมีชุดข้อมูลที่แน่นและลึกมากขึ้น แต่เพศศึกษากลับถูกยกเป็นเพียงส่วนแยกย่อย ทั้งที่เพศศึกษาครอบคลุมไปถึงร่างกายและอารมณ์ของวัยรุ่น

ปัญหาท้องไม่พร้อม โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ยังเป็นปัญหาใหญ่ของวัยรุ่น

ผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างคุณแม่วัยรุ่น สัญชาติไทย ที่มารับบริการหลังคลอดจำนวน 287 ราย โดยสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ ระบุว่า อายุของแม่วัยรุ่นน้อยกว่า 15 ปี  มีจำนวน 3.1% อายุ 15 – 16 ปี มีจำนวน 22.6%  อายุ 17 – 18 ปี มีจำนวน 44.7% และอายุ 19 ปี จำนวน 29.6% 

นอกจากนี้ยังพบว่า มีกลุ่มนักเรียนและนักศึกษาที่ไม่ตั้งใจตั้งครรภ์มีจำนวน 77% ส่วนที่ตั้งใจตั้งครรภ์มีจำนวน 23%

เห็นได้ว่าช่วงอายุ 17 – 18 ปี หรือเทียบเท่าระดับชั้นการศึกษา ม.5 – ม.6 มีเปอร์เซ็นต์การเป็นคุณแม่วัยรุ่นสูงสุด รองลงมา คือ อายุ 15 – 16 ปี หรือช่วงชั้น ม.3 – ม.4 ซึ่งตรงกับช่วงวัยในการเจริญเติบโตทางร่างกายและอารมณ์ 

นอกจากนี้ รายงานวิเคราะห์สถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 5 โรคหลักในเยาวชนประเทศไทย ปีงบประมาณพ.ศ. 2557 – 2561 จากกรมอนามัย ระบุว่า ผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทั้ง 5 โรคมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในกลุ่มคนอายุ 15 – 24 ปี โดยเฉพาะโรคซิฟิลิสและโรคหนองใน 

อีกทั้งรายงานฉบับนี้ อธิบายเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีโอกาสการติดเชื้อ HIV มากกว่าคนปกติ 5 – 9 เท่า เพราะภูมิคุ้มกันเม็ดเลือดขาวในร่างกายลดลง ทำให้ร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกันเพียงพอ

“ทุกวันนี้การตั้งครรภ์ไม่พร้อม โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์รวมถึงการติดเชื้อเอชไอวี ยังเป็นปัญหาใหญ่สำหรับวัยรุ่นในประเทศไทย” เสียงจากหมอเต้ถึงสถานการณ์ปัญหาวัยรุ่นในปัจจุบัน

หมอเต้เล่าต่อว่า ปัญหาเหล่านี้เกิดจากการที่โรงเรียนไม่ได้ให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาที่เด็กสามารถนำไปใช้ได้จริง แล้วฝั่งผู้เรียนเองยังขาดความรู้และขาดทักษะในการหาข้อมูล แม้บางคนจะมีความรู้อยู่แล้ว แต่ในชีวิตจริงเต็มไปด้วยสถานการณ์ที่ไม่สามารถเตรียมทันและมีเรื่องที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้เสมอ

“ต้องเลิกคิดว่าการสอนเพศศึกษาจะทำให้เยาวชนมีเพศสัมพันธ์มากขึ้น เพราะยังไงคนก็ต้องมีเซ็กส์”

หมอเต้มองว่า การสอนเพศศึกษาให้มากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าจะชักจูงให้เด็กมีเพศสัมพันธ์ แต่เป็นการให้ชุดข้อมูลที่ถูกต้อง ทำให้เด็กมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมชาติ แนวคิดที่ว่ารอให้โตก่อนค่อยสอน หรือรอให้ถามก่อนค่อยบอก อาจจะช้าหรือสายเกินไป

“เด็กโตไวนะ บางคนจบป.6 จะขึ้นม.1 ก็พร้อมเจริญพันธ์ุละ” ความคิดเห็นของตั๊ก 

เธอเล่าถึงประสบการณ์ในวัยเด็กที่มีเพื่อนจบป.6 แต่ไม่ได้เรียนต่อม.1 เพราะตั้งท้อง ทำให้ต้องออกจากโรงเรียน สิ่งเหล่านี้ตั๊กมองว่าเกิดจากการเรียนเพศศึกษาที่ช้าเกินไป

นี่อาจเป็นประสบการณ์จริงที่ช่วยยืนยันได้อีกเสียงว่า การสอนเรื่องเพศศึกษาในเด็กประถมไม่ถือว่าเร็วเกินไป  เพราะการเจริญเติบโตของเด็กเป็นไปอย่างรวดเร็ว ความอยากรู้อยากลองก็เช่นกัน ไม่ผิดที่เด็กๆ อยากรู้อยากลอง แต่ถ้าไม่มีการสนับสนุนความรู้หรือเครื่องช่วยป้องกันก็อาจทำให้เกิดผลกระทบตามมาได้

สุขศึกษาไม่ต่างจากโต๊ะหมู่บูชา เด็กรู้ว่ามีอะไร แต่ไม่รู้ว่ามีไว้เพื่ออะไร

ตั๊กเล่าประสบการณ์ในห้องเรียนชั้นประถมว่า ยุคนั้นกลุ่มวิชาที่เกี่ยวข้องกับสุขศึกษา คือ วิชา กพอ. หรือกลุ่มการงานพื้นฐานอาชีพ วิชาสลน. หรือสร้างเสริมลักษณะนิสัย และวิชาสปช.หรือสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต ส่วนวิชาสุขศึกษาไม่ได้เป็นวิชาที่แยกชัดเจนและเริ่มเรียนจริงจังเมื่อขึ้นชั้นม.1 

“สมัยตอนที่เราเรียน ม.1 วิชาสุขศึกษาและพลศึกษามันรวมกันเลย จะเป็นวิชาที่สอนกีฬา สุขภาพ การดูแลตัวเอง จะไม่มีสอนเพศศึกษาโดยตรง มีหัวข้ออยู่ในหนังสือเรียนแหละ ประมาณ 3 – 4 หน้า จำเนื้อหาไม่ได้เลย”

ตั๊กเล่าว่า การสอนให้รู้จักแค่การป้องกัน ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการท้องในวัยเรียนหรือการเกิดโรคติดต่อได้ เพราะการมอบความรู้เพียงด้านเดียวไม่สามารถทำให้เด็กๆ พร้อมเผชิญกับสถานการณ์จริง 

‘ตั๊ก’ ฉันทนา ทิพย์ประชาติ ผู้กำกับซีรีส์ ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’

ตั๊กเปรียบเทียบการสอนวิชาสุขศึกษาว่า เหมือนเป็นการสอนให้รู้จักของบนโต๊ะหมู่บูชา แต่ไม่รู้ว่าของชิ้นนั้นไว้ใช้ทำอะไร สอนใช้ถุงยางแต่ไม่สอนวิธีวัดไซส์ สอนนักเรียนว่าต้องป้องกัน แต่ไม่ระบุวิธีป้องกันหรือวิธีคุมกำเนิดที่หลากหลาย สุดท้ายเด็กแค่รับทราบ แต่พอเจอสถานการณ์จริงไม่รู้ว่าจะรับมืออย่างไร

“มีครูมาสอนให้รู้จักถุงยางอนามัย แต่สอนแค่คีย์หลักๆ ของมันก็คือให้รู้จักป้องกันตัวเอง ป้องกันโรค และการป้องกันการท้องในวัยเรียน”

“เหมือนทุกอย่างถูกสอนให้เป็นเรื่องของการป้องกัน ห้ามทำสิ่งนี้ ควรทำอย่างนั้น เพื่อที่จะไม่ให้เกิดปัญหาต่างๆ สอนว่าห้ามพลาดอย่างเดียว แต่ไม่เคยบอกว่ามี solution อะไร ถ้ามีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นต้องรับมือยังไง”

ส่วนห้องเรียนสุขศึกษาฝั่งหมอเต้ เป็นการสอนที่เน้นการดูแลสุขภาพร่างกายเป็นหลัก หมอเต้เล่าว่า การสอนที่ใกล้เคียงกับเรื่องเพศศึกษาที่สุดจะเป็นเรื่องสอนให้รู้จักอวัยวะภายนอก เช่น ตา หู จมูก ปาก แขน เป็นต้น พอขึ้นมัธยมการสอนจะเป็นเชิงอวัยวะเพศประกอบด้วยอะไร มีการแสดงภาพให้ดูว่า อวัยวะเพศของผู้หญิงกับผู้ชายเป็นอย่างไร สอนวิธีใช้ถุงยาง รวมถึงสอนว่าไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน แต่ไม่ได้สอนเรื่องความหลากหลายทางเพศ หรือความเท่าเทียมทางเพศ 

การปฏิสนธิ ความหลากหลายทางเพศ และ consent เรื่องที่ควรบรรจุในสุขศึกษา

“ถ้าผมเป็นพ่อหรือเป็นครู สิ่งที่เด็กทุกคนควรรู้ คือ ความรู้ที่นำไปสู่สุขภาวะที่ดีของมนุษย์ ประกอบด้วยกาย จิต อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณ เมื่อเราเรียนเพศศึกษา เราก็ต้องสอนในทุกๆ ด้านให้เป็นเพศศึกษาองค์รวม หรือ Holistic Sexual Education โดยแบ่งความลึกซึ้งของเนื้อหาจากน้อยไปมากตามระดับชั้นจากอนุบาลไปถึงมัธยม”

ในฐานะที่หมอเต้ทำงานให้คำปรึกษาเรื่องเพศ แนะนำวิธีสอนสุขศึกษา โดยแบ่งเป็น 4 ประเด็น คือ

  • เริ่มตั้งแต่ร่างกายกำเนิดมาจากอะไร การปฏิสนธิ การเติบโตในครรภ์ การคลอด การเจริญเติบโตหลังคลอด 
  • ร่างกายประกอบด้วยอวัยวะอะไรบ้าง หน้าที่ การทำงานเป็นอย่างไร 
  • การเปลี่ยนแปลงของร่างกายทั้งชายและหญิง ในช่วงวัยต่างๆ ความหลากหลายทางเพศ 
  • วิธีการดูแลป้องกันดูแลร่างกาย สิ่งที่ต้องทำเมื่อมีปัญหาสุขภาพกาย 

การสร้างความรู้แบบองค์รวมนี้ หมอเต้มองว่าจะทำให้เด็กสามารถนำความรู้ไปใช้ได้จริง โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีทัศนคติเชิงบวกในเรื่องเพศ 

ส่วนตั๊กยกวิธีการนำเสนอเรื่องเพศในซีรีส์ Sex Education ซึ่งเปิดโลกเพศศึกษาเป็นอย่างมาก นอกจากเจาะลึกในเรื่องเพศสัมพันธ์ ยังพูดถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศ และที่สำคัญซีรีส์ยังพูดถึงเรื่องการยินยอม (consent) ที่เด็กควรรู้อีกด้วย เธอคิดว่าการเรียนการสอนที่ถูกนำเสนอในซีรีส์น่าสนใจ และน่านำมาปรับใช้ในห้องเรียนไทย

“ยิ่งได้ดูซีรีส์ Sex Education มันยิ่งทำให้เรามองย้อนกลับมาถึงการสอนสุขศึกษาบ้านเรา อย่าทำให้เรื่องนี้มันกลายเป็นเรื่องตลกหรือผ่านๆ ไปเลย เพราะมันเป็นเรื่องสำคัญสำหรับวัยรุ่น น่าลองให้ครูสุขศึกษาเอาซีรีส์เรื่องนี้เปิดในห้องเรียนนะ” ผู้กำกับซีรีส์หน่าฮ่านเล่า

นอกจากซีรีส์ที่เป็นตำรานอกห้องเรียน หนังสือก็เป็นตำราได้เช่นกัน

ยกตัวอย่าง หนังสือ CONSENT : เพศศึกษากติกาใหม่ ผู้เขียนคือ Jennifer Lang หนังสือไกด์บุ๊กแปลไทย โดยสำนักพิมพ์ Bookscape ว่าด้วยความยินยอมเซ็กส์ และความสัมพันธ์ที่ดีสำหรับวัยรุ่น ที่สอนเรื่องเซ็กส์ให้เด็กๆ และสร้างเกราะป้องกันด้วยความรู้เรื่องการยินยอม โดยหนังสือเขียนว่า

‘สิ่งเดียวเท่านั้นที่จะต้องมีอยู่ในสถานการณ์ทางเพศทุกครั้ง คือ ความยินยอม ซึ่งเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (หรืออยากจะเกี่ยวข้อง) ในปฏิสัมพันธ์ทางเพศทุกรูปแบบ เราต้องแน่ใจเสมอว่าเราได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายแล้ว และแสดงให้เขารู้ด้วยว่าเรายินยอมแล้ว’

หนังสือสอนให้เด็กๆ รู้ว่า การรู้จักคุณค่าในเนื้อตัวและจิตใจตัวเองนั้นสำคัญ การสื่อสารถึงความต้องการของตัวเองต่อฝ่ายตรงข้าม เป็นสิ่งที่ควรทำ เพื่อให้เด็กเข้าใจโลกที่สามารถมีเซ็กส์อย่างปลอดภัยและมีความสุขได้ 

และสื่อเหล่านี้ไม่มีอยู่ในห้องเรียน…

เพศศึกษากับโลกออนไลน์ไม่ใช่การโยนหินถามทาง

ปัจจุบันการหาข้อมูลจาก Google เว็บไซต์ที่เราคุ้นเคยมาตั้งแต่ไหนแต่ไร บางครั้งเมื่อเราเกิดคำถามไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม Google จะตอบเราได้แน่ๆ เรื่องเพศศึกษาเช่นกัน เด็กๆ บางคนเมื่อเกิดความสงสัย ก่อนที่จะเดินไปถามใคร คงจะต้องหยิบมือถือขึ้นมาพิมพ์หา เพราะมันทั้งสะดวก และมีข้อมูลมากมายอยู่ในนั้น

ตั๊กพูดถึงการเสิร์ชข้อมูลในอินเทอร์เน็ตว่า

“Google มันช่วยได้ไหม… มันก็เป็นชุดข้อมูลที่ใช้ได้แหละ แต่การศึกษาเรื่องเพศมันต้องเกิดจากการปรึกษาและรับฟังจากคนจริงๆ ด้วย Google คือ internet มันไม่เท่ากับ reaction กับคนจริงๆ”

ตั๊กแชร์วิธีหาข้อมูลของตัวเอง คือ หาข้อมูลจากหลายๆ ที่ นำไปเช็กกับคนใกล้ชิด เช่น เพื่อน พี่น้อง เป็นต้น

“สมมติว่าเด็กคนหนึ่งโยนปัญหาลงไปใน Facebook Twitter มีคนเข้ามาตอบๆ เป็นนิทานชุดข้อมูล แต่เราไม่รู้เลยว่าชุดข้อมูลนั้นเด็กจะไปหยิบใช้ยังไง”

ในฐานะผู้กำกับซีรีส์ที่นำเสนอเรื่องเพศในวัยเรียน ตั๊กมองว่า เมื่อไม่มีพื้นที่ปลอดภัยที่เด็กสามารถคุยเรื่องเพศได้ ทำให้เขาต้องแสวงหาอย่างหนัก โลกอินเทอร์เน็ตกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการศึกษาเรื่องเพศให้กับเด็ก เด็กสามารถหาข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับชาวโซเชียล 

แต่คำถามสำคัญ คือ เขาจะคัดกรองความถูกต้องของข้อมูลได้มากน้อยแค่ไหน และคนบนโลกอินเทอร์เน็ตปลอดภัยแค่ไหนที่จะคุยเรื่องนี้กับคนที่เขาอาจจะไม่รู้จักด้วยซ้ำ

“เมื่อเราเสพสื่อชนิดไหน หาประสบการณ์แบบไหน เราอ่านในหนังสือเรียนไม่พอ เลยไปหาอ่านจากหนังสือโป๊ ซึ่งแสดงถึงความหลากหลายของรสนิยมทางเพศ จึงทำให้เรารู้ว่ามันก็มีหลายแบบ ตอนนั้นเราก็พยายามคิดว่า แต่ละแบบรู้สึกยังไง นอกจากมันดูน่าสนุก ตื่นเต้นแล้ว ต้องคิดด้วยว่าปลอดภัยมั้ย มันอันตรายมั้ย”

หมอเต้เสริมว่า ทุกวันนี้อินเตอร์เน็ตต่างก็มีทั้งข้อมูลที่เป็นเรื่องจริงและไม่จริง การปล่อยให้เด็กไปหาความรู้เองอาจเป็นดาบสองคม ถ้าเขาได้รับชุดข้อมูลที่ถูกต้องก็ดีไป แต่ถ้าเกิดได้รับข้อมูลผิดๆ อาจส่งผลให้เด็กมีความรู้เพศศึกษาแบบผิดๆ เกิดปัญหาตามมาทีหลัง

การที่พ่อแม่หรือผู้ใหญ่รอบข้างช่วยตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล หรือแนะนำเพิ่มเติม แลกเปลี่ยนระหว่างกัน จะทำให้เด็กมีองค์ความรู้ที่ถูกต้องและหลากหลาย ที่สำคัญยังเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาอีกด้วย

ถ้าเด็กต้องการหาข้อมูลเองจริงๆ หมอเต้แนะนำว่าควรเริ่มจากหาเว็บไซต์ที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น เป็นเว็บไซต์ของโรงพยาบาลหรือคลินิกโดยตรง ถ้าต้องการศึกษาจากคลิป ใน Youtube ควรเป็นช่องที่จัดทำโดยแพทย์ หรือบุคลากรทางการแพทย์ หรือสถานพยาบาล

เพศศึกษาไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่สอนได้ด้วยการบอกตรงๆ และสร้างพื้นที่ปลอดภัย

ครูสุขศึกษาในความทรงจำของตั๊ก คือ ครูผู้ชายที่สอนเรื่องเพศแบบทีเล่นทีจริง

“เขาเป็นครูผู้ชาย พูดเรื่องเพศเป็นเรื่องตลกเขินๆ ไม่ได้รู้จริงหรือสอนจริงจัง”

ประกอบกับการเป็นนักเรียนที่ดีของเธอ เรื่องเพศจึงเป็นเรื่อง ‘รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม’ ไม่คิดว่าเรื่องเพศสำคัญที่อาจนำไปสู่เรื่องเพศปัญหาสังคมหรือส่งผลกระทบต่อเด็กคนหนึ่งได้อย่างไร

ในประเด็นนี้ หมอเต้มองว่า หากห้องเรียนไม่บอกคำตอบ การหาข้อมูลนอกห้องเรียนด้วยตัวเองก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้เข้าใจเรื่องเพศมากขึ้น เมื่อเกิดคำถาม เด็กจะมองหาคำตอบจากรอบตัวก่อนที่จะเดินไปถามผู้ใหญ่ 

“เรารู้ว่าเราถามผู้ใหญ่ก็ไม่ค่อยได้รับคำตอบที่ตรงจุด จะเป็นการตอบแบบเลี่ยงๆ ถามเพื่อนๆ เพื่อนก็ไม่รู้ แถมบางคนมองเรื่องนี้เป็นเรื่องตลก คือผมรู้สึกเหมือนเรื่องเพศเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กต้องโตมาแบบเรียนรู้ด้วยตัวเองแบบผิดๆ ถูกๆ” 

และคนสำคัญที่ให้ความรู้เรื่องเพศกับเด็กๆ คือ พ่อแม่

“พ่อแม่จะต้องมองเรื่องเพศให้เป็นเรื่องปกติ สร้างบรรยากาศการสนทนาที่ดี จะทำให้แต่ละฝ่ายไม่รู้สึกอึดอัด ทำให้เหมือนเป็นการพูดคุยเรื่องทั่วไป” 

ก่อนที่จะคุยเรื่องเพศกับลูก พ่อแม่ต้องปรับมายด์เซ็ตว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่คุยได้ ไม่ใช่เรื่องต้องห้าม เพราะนี่คือเรื่องธรรมชาติ

เมื่อเปิดใจคุยกันแล้ว เด็กจะรับรู้ว่าเมื่อเขาเจอปัญหา ลูกสามารถปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือจากพ่อแม่ได้เสมอ 

“จริงๆ ควรจะคุยกับลูกตั้งแต่เล็กๆ เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่เราก็คุยกันในครอบครัว สัก 2 – 3 ขวบก็สอนได้แล้ว เริ่มจากเรื่องง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น เวลาที่เราอาบน้ำ สอนให้เขารู้จักอวัยวะเพศ ‘อันนี้จิ๋มนะลูก ส่วนของผู้ชายจะไม่เหมือนกัน เรียกว่าจู๋’ สอนให้เขาดูแลตัวเอง รักษาความสะอาดร่างกาย” หมอเต้แนะนำ

“พ่อแม่ต้องกล้าเริ่มบทสนทนากับลูกก่อน อาจจะเริ่มต้นด้วยบทสนทนาง่ายๆ เช่น ลูกขอออกไปเที่ยวกลางคืนนอกบ้าน อาจจะถามลูกว่า ‘มีเพื่อนเพศตรงข้ามไปด้วยไหม’ ‘อย่าลืมพกถุงยางกันไว้นะลูก’ ต้องพยายามทำเรื่องนี้ ให้เป็นเรื่องปกติเหมือนเราชวนลูกทานข้าว”

นอกจากบ้านควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยแล้ว ห้องเรียนก็ควรเปิดพื้นที่นี้เช่นกัน

“กระทรวงศึกษามีหน้าที่ผลิตครู แล้วครูที่จะมาสอนวิชาสุขศึกษาต้องรู้เรื่องพวกนี้ละเอียดแค่ไหนก่อนที่จะมาสอนนักเรียน ต้องเรียนจิตวิทยาเด็กด้วยไหม เพศศึกษาต้องรู้ข้อมูลแค่ไหน มันมีวิชาเสริมไหมตอนที่เรียนครู พ่อแม่เองก็มีภาระที่ต้องบริหารจัดการครอบครัว แต่ว่าจะเปิดใจ มีพื้นที่ให้เด็กๆ หรือลูกของตัวเองเข้าไปนั่งรับคำปรึกษาได้มากน้อยแค่ไหน” ความเห็นจากตั๊ก

ตั๊กมองว่า เรื่องเพศศึกษาเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ควรปรับเปลี่ยนวิธีคิด และลองฟังเสียงเด็กๆ  หากเด็กคืออนาคตของชาติจริง ถ้ามีเด็กพูดว่าตัวเองมีปัญหา แต่ไม่มีคนสนใจก็เหมือนเราละเลยอนาคตของชาติ

การที่เด็กสนใจเรื่องเพศหรือเซ็กส์เป็นเรื่องปกติ เพราะนี่เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์วัยนี้ ที่กำลังค้นหาว่าตัวเองเป็นเพศอะไร มีรสนิยมแบบไหน  และวิชาสุขศึกษาควรเป็นพื้นที่หนึ่งที่ช่วยให้เด็กค้นพบสิ่งนี้ ไม่ควรทำให้เรื่องเพศหรือเซ็กส์กลายเป็นเรื่องน่ากลัว เรื่องต้องห้าม

ครอบครัวเองก็สามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการสอนลูกให้รู้จักเรื่องนี้เช่นกัน อาจจะเริ่มจากการดูละครกับลูก ถ้ามีฉากตัวละครจูบกันและลูกเกิดความสงสัย ไม่ควรปัดคำถามลูก แต่ชวนลูกให้รู้จักด้วยคำอธิบายง่ายๆ และตรงไปตรงมา ทำให้เด็กรับรู้ว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ 

อ้างอิง

https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=18045&deptcode=brc&news_views=194

http://www.psyclin.co.th/new_page_76.htm

http://www.thaischool.in.th/_files/thaischool/07.pdf

https://ddc.moph.go.th/uploads/publish/1006020200507053840.pdf

https://rh.anamai.moph.go.th/th/infographic/3312


Writer

Avatar photo

นภัสสร มหาวรรณ

โตมากับการได้ฝึกเต้นด้วยตัวเอง เชื่อว่าการพัฒนาของเราเกิดจากการได้เคลื่อนไหวร่างกายมากกว่าท่องตำราเรียน และคิดว่าทุก ๆ ที่ควรมีพื้นที่สำหรับกิจกรรมของวัยทีนแบบเรา ๆ

Illustrator

Avatar photo

กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts