ห้องเรียนยังจำเป็นอยู่ไหม เมื่อโควิดเปลี่ยนชีวิตทุกคน

  • โรคโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้การศึกษาทั่วโลกต้องหันมาพึ่งพาโลกดิจิทัลมากขึ้น และนำไปสู่คำถามที่ว่า “ห้องเรียนยังจำเป็นอยู่หรือไม่”
  • นักวิชาการเสนอว่า หลังจากยุคล็อกดาวน์ การศึกษาควรมีการเปลี่ยนแปลง 3 อย่างคือ (1) เนื้อหาต้องเน้นความคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงวิพากษ์ และทักษะผู้ประกอบการ (2) นักเรียนต้องควบคุมการเรียนรู้ของตัวเอง ส่วนครูเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้สนับสนุน และ (3) สถานที่เรียนต้องเปลี่ยนเป็นโลกกว้าง
  • สิ่งที่จำเป็นก็คือ การผสมผสานระหว่างการเรียนออนไลน์กับการเรียนตัวต่อตัว หรือที่เรียกว่า การเรียนแบบผสมผสาน หรือ “ห้องเรียนกลับด้าน” (Flipped Classroom)

เป็นระยะเวลาเกือบ 4 ปีแล้ว ที่โรคโควิด-19 เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนทั่วโลกในทุกระดับและทุกแง่มุม การศึกษาก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะนับตั้งแต่มีการระบาดและมาตรการล็อกดาวน์ สถาบันการศึกษาต่างๆ ก็หันมาใช้การเรียนการสอนออนไลน์เป็นหลัก และแม้ว่าจะมีปัญหาและอุปสรรคเกิดขึ้นบ้าง แต่ก็ดูเหมือนว่า การเรียนการสอนในโลกยุคหลังการล็อกดาวน์โควิด-19 อาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

นักวิชาการหลายคนมองว่า ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงเชิงบังคับทุกอย่างจะก่อให้เกิดผลดีเสมอไป สถานการณ์โควิด-19 ตอกย้ำให้เราเห็นว่า แง่มุมด้านสังคมในการเรียนรู้นั้นมีความสำคัญเพียงใด และเมื่อครูและนักเรียนได้มาใช้พื้นที่ร่วมกัน ก็จะสร้างสิ่งที่พิเศษขึ้นได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ตามมาคือความตึงเครียดระหว่างฝ่ายที่มองว่าโรคระบาดเป็นโอกาสในการ “ยกเครื่อง” ระบบการศึกษา กับฝ่ายที่ต้องการจะกลับไปใช้ “ชีวิตปกติ”

“นี่เป็นช่วงเวลาที่โรงเรียนและระบบการศึกษาจะจินตนาการใหม่ถึงการศึกษาที่ไม่ได้อยู่ในโรงเรียนหรือห้องเรียน” ศาสตราจารย์หยง เจา จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคนซัสกล่าว

ดร.จิม วัตเทอร์สตัน จาก Melbourne Graduate School of Education มองว่า ห้องเรียนแบบเดิมนั้นมีชีวิตชีวาและดี แต่ในทางกลับกัน “การศึกษาก็จำเป็นต้องท้าทายและสนุกสนาน” และยิ่งกว่านั้นก็คือ มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เจาและวัตเทอร์สตัน ร่วมกันเขียนงานวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง 3 อย่าง ที่ควรเกิดขึ้นในระบบการศึกษาในยุคหลังการล็อกดาวน์ ได้แก่ เนื้อหาการเรียน ที่ควรมุ่งเน้นความคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงวิพากษ์ และทักษะการเป็นผู้ประกอบการ แทนการเก็บสะสมข้อมูล

“มนุษย์จะเจริญรุ่งเรืองได้ในยุคจักรกลอัจฉริยะ ต้องไม่แข่งขันกับเครื่องจักร แต่พวกเขาจำเป็นต้องเป็นมนุษย์ให้มากขึ้น” ข้อความตอนหนึ่งในงานวิจัยระบุ

การเปลี่ยนแปลงอย่างที่สอง ได้แก่ การที่นักเรียนสามารถควบคุมทิศทางการเรียนของตัวเองได้มากขึ้น โดยมีครู ที่เปลี่ยนบทบาทจากผู้สอนไปเป็นผู้คัดสรรทรัพยากรการเรียนรู้ ผู้ให้คำปรึกษา และผู้ผลักดัน หรือที่เรียกกันว่า “active learning” ซึ่งมีงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า นักเรียนจะมีความเข้าใจและความจำดีขึ้นเมื่อได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ เช่น การเรียนรู้ผ่านการอภิปรายและเทคโนโลยีอินเตอร์แอคทีฟ 

วิธีการเรียนรู้ลักษณะนี้ยังมีการประยุกต์ใช้แนวคิด “ความล้มเหลวอันมีประสิทธิผล” โดยศาสตราจารย์มนู คาปูร์ จาก Swiss Federal Institute of Technology กล่าวว่า นักเรียนจะเรียนรู้ได้ดีขึ้นจากความพยายามที่ล้มเหลวในการแก้ปัญหาของพวกเขาหรือของคนอื่นๆ ก่อนหรือแทนที่จะถูกสอนว่าต้องแก้ปัญหาอย่างไร

การเปลี่ยนแปลงอย่างที่สาม ที่เจาและวัตเทอร์สตันเสนอ คือ สถานที่ในการเรียนรู้ควรจะเปลี่ยนจาก “ห้องเรียน” ไปสู่ “โลกกว้าง” เพราะที่ผ่านมา ขณะที่อยู่ในช่วงล็อกดาวน์และต้องเรียนผ่านช่องทางออนไลน์ แต่ตารางเรียนยังเป็นตารางเดิม ก่อให้เกิดความเครียดและการขาดความเชื่อมโยงในกลุ่มเด็กนักเรียน

เมื่อมีอุปกรณ์ดิจิทัล นักเรียนก็ไม่จำเป็นต้องนั่งเรียนอยู่ที่เก่าเวลาเดิมอีกต่อไป แต่สิ่งที่จำเป็นก็คือ การผสมผสานระหว่างการเรียนออนไลน์กับการเรียนตัวต่อตัว หรือที่เรียกว่า การเรียนแบบผสมผสาน หรือ “ห้องเรียนกลับด้าน” (Flipped Classroom) ที่นักเรียนจะอ่านหนังสือหรือดูเลคเชอร์ในเวลาที่ตัวเองสะดวก โดยไม่ต้องไปโรงเรียน และเรียนรู้วิธีแก้โจทย์ต่างๆ ขณะอยู่กับครูหรือเพื่อนๆ

ลอริอาร์ดกล่าวว่า การแยกเวลาเรียนรู้กับเวลาในโรงเรียนออกจากกัน หมายความว่าเวลาในการเรียนรู้สามารถเพิ่มได้มากขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นสิ่งสำคัญในการฟื้นฟูการเรียนรู้จากโรคโควิด-19 เธอรู้สึกไม่แปลกใจที่นักเรียนเร่งการฟังเลคเชอร์ หรืออาจารย์เองก็เริ่มแยกพรีเซนเทชั่นออกเป็นวิดีโอ ความยาว 5 – 10 นาที และกลายเป็นว่าเลคเชอร์ 50 นาทีนั้นซ้ำซ้อนมาก

แต่เมื่อต้องเรียนรู้อย่างรวดเร็ว คนเราจะได้รับความรู้อย่างถูกต้องหรือไม่ ศาสตราจารย์อีวาน ริสโก นักจิตวิทยาการรู้คิดจากมหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู ประเทศแคนาดา ได้ทดสอบความเข้าใจของคนหลังจากดูวิดีโอเลคเชอร์อย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะขึ้นอยู่กับธรรมชาติของวัสดุสื่อ ความรู้เบื้องต้นของนักเรียน และสไตล์การบรรยายของอาจารย์ แต่การวิจัยของเขาก็ชี้ให้เห็นว่า ความเร็วที่เพิ่มขึ้นถึง 1.7 เท่า ก่อให้เกิดผลกระทบแง่ลบเพียงเล็กน้อย และแน่นอน มันประหยัดเวลามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีนักเรียนอีกเป็นจำนวนมากที่ขาดแคลนอุปกรณ์ดิจิทัล ซึ่งลอริอาร์ดกล่าวว่า ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่จำเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ครูในพื้นที่ห่างไกลควรได้รับเครื่องมือหรืออุปกรณ์การเรียนการสอนผ่านช่องทางดิจิทัล เช่น คอร์สออนไลน์ และส่งต่อให้เด็กๆ ด้วยวิธีการดั้งเดิมก็ได้

แม้ว่าความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลจะไม่อาจฉุดรั้งการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่ก็ดูเหมือนว่าห้องเรียนจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป 

ที่มา : https://www.theguardian.com/books/2021/nov/08/the-big-idea-should-we-leave-the-classroom-behind


Writer

Avatar photo

ณัฐธยาน์ ลิขิตเดชาโรจน์

บรรณาธิการและแม่ลูกหนึ่ง ผู้เรียนรู้ความเป็นมนุษย์ผ่านการเติบโตของลูกชาย มีหนังสือและเพลงเมทัลร็อกเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และมีชีวิตอยู่ได้ด้วยกาแฟและขนมทุกชนิด

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts