ศิริกมล ตาน้อย พื้นที่ที่คนหลากหลายได้มาพบเจอกัน คือ Learning Space ในฝันของนักเขียน

  • วงการหนังสือไทยในปัจจุบันมีสิ่งที่อาจจะเรียกว่าเป็น sub-culture ของหนังสือวรรณกรรมก็คงได้ นั่นก็คือ ‘วงการหนังสือทำมือ’ (ที่หมายถึงนักเขียนที่ตีพิมพ์หนังสือเอง) ซึ่งมีชุมชนอยู่บนโลกออนไลน์โดยเฉพาะทวิตเตอร์ และเต็มไปด้วยวรรณกรรมที่น่าสนใจและนักเขียนหน้าใหม่ที่น่าจับตามองอีกหลายคน
  • แองเจิ้ล – ศิริกมล ตาน้อย หรือที่นักอ่านหลายคนรู้จักกันในนามปากกา September’s Blue ผู้เขียน ‘เมษาลาตะวัน’ วรรณกรรมสะท้อนสังคมก็เป็นหนึ่งในนักเขียนหน้าใหม่เหล่านั้น เพราะแม้ในปัจจุบัน เมษาลาตะวันจะได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ PS แต่มันก็เคยเป็นหนังสือทำมือมาก่อน
  • เช่นเดียวกับนักเขียนหน้าใหม่หลาย ๆ คน ทวิตเตอร์กลายเป็นพื้นที่เรียนรู้ของแองเจิ้ลในวันที่เธออยากสั่งพิมพ์หนังสือเล่มแรกของตัวเอง
  • แต่หากถามถึง learning space สำหรับการค้นหาวัตถุดิบในการผลิตงานเขียนออกมา แองเจิ้ลมองว่าบางที แค่พื้นที่ที่ผู้คนซึ่งแตกต่างกันได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้ชีวิตของกันและกันก็อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจแล้ว

“มันจะมีใครอ่านวะ” เธอถามเรานับครั้งไม่ถ้วนทุกครั้งที่หนังสือได้รับการตีพิมพ์อีกครั้ง

สองปีก่อน เธอบอกเราว่าจะพิมพ์หนังสือเล่มนี้เพียงห้าเล่ม ให้เราและเพื่อนอีกคนที่เป็นคนทดลองอ่านและคอยออกความเห็นช่วยเธอคนละเล่ม พ่อกับแม่ของเธออีกคนละเล่ม อีกเล่มเก็บไว้เป็นที่ระลึกว่าครั้งหนึ่งเคยเขียนหนังสือจนจบเล่ม แต่หนังสือกลับเดินทางมาไกลกว่าที่เธอคิด ปัจจุบัน เมษาลาตะวัน วรรณกรรมจากปลายปากกา (หรือปลายนิ้วที่กดแป้นพิมพ์) ของ September’s Blue นามปากกาของ แองเจิ้ล – ศิริกมล ตาน้อย ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งที่ 3 โดยสำนักพิมพ์ PS และวรรณกรรมเล่มนี้ก็ถูกพูดถึงปากต่อปากในโลกออนไลน์จนกลายเป็นหนังสือเล่มโปรดในรอบปีของใครหลายคน

นอกจากจะเป็นนักเขียนแล้ว แองเจิ้ลยังควบตำแหน่งนักแปลให้หนังสือยอดฮิตหลาย ๆ เล่ม (เธอไม่ประสงค์จะบอกว่าเธอแปลเล่มไหนมาบ้าง แต่แค่คุณเอาชื่อเธอไปค้นหาในกูเกิ้ล เราเชื่อว่าต้องมีสักเล่มที่คุณเคยหยิบมาอ่าน) และเป็น content creator อีกด้วย (อยากรู้ว่าเธอเขียนคอนเทนต์ให้กับสื่อไหน คุณก็ลองย้อนไปดูชื่อนักเขียนในบทความเก่า ๆ ของเราดู) แต่เธอบอกเสมอว่าไม่อยากให้ทุกคนนำงานทั้งสามงานของเธอมาปะปนกัน หากชอบเธอที่เป็นนักเขียนวรรณกรรม ก็ไม่จำเป็นจะต้องชอบสำนวนแปลหรือคอนเทนต์ที่เธอเขียนไปด้วย

ทว่าสำหรับบทสัมภาษณ์นี้ เป็นเราเองที่ไม่สามารถแยกระหว่างการเป็นเพื่อนกับผู้สัมภาษณ์ออกจากกันได้ ในฐานะเพื่อนที่มีความสนใจคล้ายกัน เราและแองเจิ้ลพูดคุยกันบ่อย ๆ เรื่องความชอบในภาษา การดันหลังกันและกันให้เขียนงานวรรณกรรมออกมาสักเรื่องซึ่งแองเจิ้ลทำสำเร็จไปแล้วกับเมษาลาตะวัน ที่ถ้าไม่นับตัวเธอเอง เราก็เป็นคนแรก ๆ ที่ได้อ่าน ชุมชนนักเขียนนอกกระแสบนโลกออนไลน์ พื้นที่น้อยนิดของคนอยากเขียนที่ยังไม่ทันได้เป็นนักเขียน  และบทสัมภาษณ์ต่อจากนี้จะดำเนินไปแบบนั้น แบบที่บทสนทนาระหว่างการสัมภาษณ์จะผสมปนเปไปกับเรื่องราวและถ้อยคำที่เกิดขึ้นระหว่างเรากับแองเจิ้ลซึ่งเก็บเกี่ยวมาจากเวลากว่า 10 ปีที่เรารู้จักกัน

คนคิดเยอะ คิดมาก และพูดมากในบางโอกาสที่กลายมาเป็นคนทำงานด้านภาษา

“เรารู้สึกว่างานสามอย่างมันคาบเกี่ยวกันแต่ก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ถ้าใครจะอ่านงานเรา เราอยากได้ความคิดเห็นแบบที่เขาเรียกกันว่า ‘ออร์แกนิก’ คือไม่ต้องชมเพราะเรารู้จักกัน ไม่ต้องชมว่าเราเขียนบทความดีเพราะชอบนิยายที่เราเขียน หรืออ่านหนังสือแปลเพราะชอบบทความ อะไรแบบนั้น”

แองเจิ้ลมักบอกเราเสมอ แทบจะตลอดเวลา ว่าเธอไม่ต้องการให้โลกสามใบของการเป็นนักเขียน นักแปล และการเป็น content creator ควบรวมกัน แต่ถึงอย่างไรก็ปฏิเสธไม่ได้ว่างานทั้งสามงานนั้นอาศัยทักษะด้านการใช้ภาษาทั้งสิ้น

“อะไรทำให้ชอบภาษา” เราถาม  

เธอเองก็ไม่มั่นใจว่าเพราะเหตุใดเธอถึงชอบภาษา มันอาจจะเป็นความรู้สึกที่ค่อย ๆ สะสมและเพิ่มพูนขึ้นจนเริ่มจะชัดเจนในช่วงมัธยมต้นที่นิยายแฟนตาซีเป็นที่นิยมในไทย เป็นช่วงเดียวกันกับที่เธอเริ่มเขียนนิยายของตัวเองและแปลนิยายแฟนตาซีลง exteen เว็บไซต์ให้บริการบล็อกฟรีที่เป็นที่นิยมในขณะนั้น

“จุดเริ่มต้นการเขียนจริง ๆ เรามีเพื่อนสมัย ม.ต้นที่เขาเขียนหนังสืออยู่ แล้วเราไปอ่านงานเขา เขาเลยบอกว่าไม่ลองเขียนแล้วแลกกันอ่านบ้างล่ะ เราเลยเขียน ตอนนั้นก็ไม่มีใครอ่านนอกจากเพื่อนในห้อง ส่วนเรื่องแปล เราเคยคิดอยากลองแปล อยากรู้ว่าเราเรียนในระดับที่พอจะถ่ายทอดอีกภาษามาเป็นภาษาไทยได้ไหม เราเคยทำบล็อกแปลนิยายแฟนตาซีต่างประเทศลง exteen โดยไม่มีคนอ่านเลย แต่เราก็แปลของเราไปเพื่อฝึก”

แม้ตอนมัธยมปลาย แองเจิ้ลจะเรียนสายวิทย์-คณิต แต่ความสนใจในภาษาก็ทำให้เธอเลือกเรียนภาควิชาภาษาอังกฤษเมื่อเข้ามหาวิทยาลัย และช่วงชีวิตนั้นเองที่ทำให้เราและเธอได้รู้จักกัน  

ในกลุ่มเพื่อนไม่กี่คนที่อยากเป็นนักเขียน แองเจิ้ลคือคนที่มีความรู้เรื่องหลักภาษา ความหมายและบริบทที่เหมาะสมของคำแต่ละคำ หรือแม้แต่การสะกดคำมากที่สุด เธอคือคนที่บอกเราว่า ‘กระจิ๊ดริด’ ที่เรามักออกเสียงเช่นนี้เวลาพูด แท้จริงเขียนว่า ‘กระจิริด’ และเป็นคนที่บอกเราว่า ‘กวี’ ก็หมายถึงคนที่แต่งกวีอยู่แล้ว ไม่ต้องมีคำว่า ‘นัก’ นำหน้า หรือช็อตฟีลเราแสนล้านโวลต์เมื่อเราบอกว่าเราชอบประโยค “น้ำตาไหลออกมาเป็นตาน้ำ” ในนิยายเรื่องหนึ่ง ด้วยการพูดขึ้นมาว่า “ตาน้ำมันน่าจะ ‘ผุด’ มากกว่า ‘ไหล’ นะ” เรียกได้ว่าถึงแม้จะเรียนด้านภาษาและอยากจะทำงานด้านภาษาเหมือนกัน แต่แองเจิ้ลดูจะเป็นคนที่จริงจังกับภาษากว่าใคร 

“แต่ละคนจะมีนิยามของการเขียนที่ดีไม่เหมือนกัน ของเราเรารู้สึกว่าภาษามันคือพื้นฐาน มันคือจุดเริ่มต้นที่เราจะต่อยอดจากตรงนั้นได้ เพราะเราคิดว่าถ้าพื้นฐานเราดี อย่างน้อยมันก็ช่วยในเรื่องของการสื่อสาร ความเข้าใจ ถ้าคำมันอยู่ผิดที่ผิดทางอ่านแล้วก็อาจจะแปลก ๆ”

ความชอบในภาษาทำให้แองเจิ้ลเรียนต่อในด้านการแปล ก่อนที่จะจบมาเป็นทั้งนักแปล นักเขียน และ content creator

“เราเป็นคนชอบเล่าเรื่อง ชอบพูด ชอบสื่อสาร การเขียนมันเอื้อให้เราทำอย่างนั้นได้อย่างจดจ่อ ได้คิด ได้ทวนความรู้สึกตัวเอง บางครั้งเราจะไม่สังเกตเห็นบางอย่างในตัวเองถ้าไม่ได้เขียนมันออกมา ส่วนงานแปลมันเหมือนเราได้สำรวจกระบวนการคิดของคนอื่น เขาคิดยังไงถึงเขียนแบบนี้ เราควรถ่ายทอดด้วยระดับภาษา วัจนลีลา น้ำเสียงประมาณไหน ส่วนตัวมองว่างานสองอย่างนี้เหมาะกับคนคิดเยอะ คิดมาก และพูดมากในบางโอกาสแบบเรา (หัวเราะ)”

สำหรับเธอแล้ว งานทั้งสามมีหลักใหญ่ใจความเหมือน ๆ กันคือ ‘การจับใจความ’ 

“เราว่าหลักใหญ่ใจความของทั้งการแปลและการเขียนไม่ว่าจะ non-fiction หรือ fiction คือการจับใจความ มันต้องกำหนดหัวข้อ กำหนดประเด็น กำหนดสารที่เราจะสื่อก่อนทุกงาน”

แต่ทั้งสามงานก็มีขั้นตอนการทำงานและรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่แตกต่างกันออกไป และประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานทั้งสามก็แตกต่างกันสำหรับเธอด้วย

“งานแปลมันมีต้นฉบับอยู่แล้ว เราไม่มีอิสระมากนักในการเลือกใช้ภาษา เราก็เริ่มจากอ่านต้นฉบับ หาข้อมูลเกี่ยวกับนักเขียน แล้วจินตนาการว่าถ้างานเขียนชิ้นนี้เป็นภาษาไทยและคนเขียนเป็นคนไทย คำพูดคำจาเขาจะประมาณไหน จากนั้นก็แปลไปตามต้นฉบับ งานแปลจะต้องทำงานหนักอีกรอบตอนแก้เล่ม ซึ่งจะมีบรรณาธิการแก้ไขและแนะนำเพิ่มเติมและคุมตัวงานอีกทีว่า mood กับ tone ประมาณไหน สำนวนประมาณไหน แล้วปรับให้สำนวนเข้ากับเล่มอื่น ๆ ในสำนักพิมพ์”

“งาน content creator เราเพิ่งเป็นมาได้ครึ่งปี ขั้นตอนการทำงานจะคล้าย ๆ กับงานแปลคือ ต้องคุยกับทีมก่อนว่าอยากได้ประเด็นไหน ทิศทางประมาณไหน แล้วค่อยเขียนบทความตามโครงที่วางไว้ เราทำสื่อเกี่ยวกับการศึกษา ครอบครัว และความสัมพันธ์ เนื้อหามันก็จะเกี่ยวข้องกับแวดวงนี้ มีความวิชาการนิดนึง ไม่ได้วิชาการขนาดนั้นแต่ก็ต่างจากนิยาย”

“ส่วนงานเขียนเรามีอิสระเต็มที่ เราก็เริ่มจากกำหนดประเด็นหลักว่าเราอยากพูดเรื่องอะไร จากนั้นคิดว่าต้องเล่ายังไงให้พูดเรื่องนี้ได้โดยไม่ต้องพูดถึงมันแบบกำปั้นทุบดิน เพราะถ้าเราเขียนตรง ๆ เราจะเบื่อเอง สองคือเราว่ามันน่าสนใจที่ได้เห็นการตีความที่หลากหลายของคนอ่าน พอได้ประเด็นคร่าว ๆ เราเขียนเรื่อยไปจนจบ แล้วค่อยกลับมาทบทวนทีหลังว่าควรตัดหรือเพิ่มอะไรบ้าง”

แล้วแองเจิ้ลก็ทำออกมาได้ดีทั้งสามสิ่ง โดยเฉพาะงานเขียนที่หากคุณค้นแฮชแท็ก #เมษาลาตะวัน ในทวิตเตอร์ คำชมที่วรรณกรรมเรื่องนี้ได้รับบ่อยที่สุดนอกจากเนื้อหาก็คือ “ภาษาสวย” เราถามเธอว่าเธอมีวิธีการพัฒนาฝีมือการเขียนและการแปลของเธออย่างไร “ครูพักลักจำ” คือคำตอบของเธอ

“ตอบจากประสบการณ์ตัวเอง การเขียนเราอาศัยครูพักลักจำ อ่านงานเขียนของคนอื่น ๆ เราเป็นคนอ่านเยอะแต่สมาธิสั้น เลยพยายามเลือกสิ่งที่อยู่ในหนังสือแต่ละเล่มแล้วสังเกตโครงสร้าง ลักษณะการใช้คำ รูปประโยค คำแปลก ๆ เขาใช้ยังไงและบริบทไหนบ้าง”

“ส่วนงานแปล เราเรียนด้านนี้ แต่ทฤษฎีที่เรียนส่วนมากมันคือการอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของการใช้ภาษามากกว่าจะกำหนดว่าเราควรทำอะไร แปลยังไง เป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มกลวิธีในการแปลมากกว่าเป็นตำราให้ยึดถือ”  

เมษาลาตะวัน

รู้แค่ว่าพ่ออยากได้พระกับบุหรี่ ไม่อยากได้แม่กับผมอีกแล้ว

เราจำไม่ได้ว่าวันแรกที่แองเจิ้ลส่งเมษาลาตะวันมาให้เราอ่านคือวันไหน และจำไม่ได้ด้วยว่ามันคือส่วนไหนของเนื้อเรื่อง อาจเป็นคำโปรยหรือสิ่งที่จะปรากฏในบทท้าย ๆ แต่เมื่อได้อ่านบทแรกของเมษาลาตะวันและเห็นประโยคข้างต้นเป็นครั้งแรก เราก็รู้ทันทีว่าวรรณกรรมเรื่องนี้จะกลายเป็นวรรณกรรมในดวงใจของใครหลายคนได้ไม่ยาก นั่นคือพลังของภาษาที่แองเจิ้ลถือครองไว้ เธอสามารถบรรยายความร้าวรานออกมาได้อย่างเรียบง่าย ไม่มากมาย ไม่ฟูมฟาย ไม่ต้องใช้คำใหญ่แต่เราก็รู้ว่าต่อจากนี้เราจะได้สัมผัสเรื่องราวชีวิตของเด็กคนหนึ่งที่พังทลายลงทีละน้อยตั้งแต่วินาทีที่พ่อของเขากวาดหิ้งพระและคว้าบุหรี่เดินออกจากบ้านไป

เมษาลาตะวันเล่าผ่านบันทึกของเมษา เด็กชายวัย 15 ปีที่พ่อกับแม่เพิ่งแยกทางกัน พ่อของเขาออกจากบ้านไปและไม่เคยย้อนกลับมา ขณะที่แม่ก็มีความรักครั้งใหม่และใส่ใจเขาน้อยลง ความรู้สึกโดดเดี่ยวที่เมษาต้องเผชิญจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ของเขากับเด็กชายอีกสองคนอย่างตะวันและไนท์ที่มีครอบครัวเว้าแหว่งไม่ต่างกัน ทั้งสามต่างรู้สึกถึงการเป็น “คนนอก” และไม่เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดบนโลกใบนี้ ต่างมีปัญหาที่ในสายตาผู้ใหญ่อาจเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับเด็กวัยไม่ประสาโลก มันใหญ่เท่าโลกทั้งใบ และต้องกลายเป็นที่พึ่งพิงแสนกระพร่องกระแพร่งของกันและกัน

“แกนจริง ๆ ของเมษาลาตะวันคือความเป็นอื่นที่ตัวละครทุกตัวมีร่วมกัน พอเราตั้งต้นด้วยตัวละครตัวหนึ่งที่มันแปลกแยกจากคนอื่น มันก็จะเกิดคนที่คล้าย ๆ กันตามมาแล้วก็มารวมตัวกัน นี่น่าจะเป็นเรื่องย่อที่ง่ายที่สุดของเมษาลาตะวัน”

ก่อนเมษาลาตะวัน แองเจิ้ลเคยเขียนนิยายมาบ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นนิยายแฟนตาซีที่มีนักอ่านเป็นกลุ่มเพื่อนเท่านั้น ครั้งหนึ่งเธอเคยส่งนิยายแฟนตาซีเข้าประกวด ‘โชว์ของ ประลองเขียน’ ของสำนักพิมพ์ Enter และผ่านเข้ารอบ 20 คนแต่เรื่องราวก็ไม่ได้ถูกสานต่อจนจบ

ช่วงที่เรียนต่อปริญญาโท แองเจิ้ลห่างหายจากงานอดิเรกอย่างการเขียนและแปลไปพักหนึ่ง แต่แล้ววันหนึ่งแองเจิ้ลก็ส่งภาพแคปหน้าจอที่มีข้อความสั้น ๆ ไม่ถึงหนึ่งหน้ากระดาษมาให้เราอ่าน ข้อความในนั้นคือจุดเริ่มต้นของเมษาลาตะวัน วรรณกรรมที่เกิดจากความรู้สึก ‘อยากหนีไปจากตรงนี้’ ขณะที่เธอกำลังทำสารนิพนธ์ปริญญาโท ความรู้สึกนี้ถูกถ่ายทอดผ่านชีวิตของเด็กชายเมษาในวัย 15 ปีที่อยากหนีไปจากสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่

“เราสร้างเด็กคนหนึ่งขึ้นมาแล้วบอกว่าเด็กคนนี้อยากออกจากบ้าน พลอตมันมีแค่นั้นในตอนเริ่มต้น แต่พอเราสร้างตัวละครมาแบบนั้น เราก็ไม่สามารถทำลวก ๆ ได้ มันเหมือนเราสร้างชีวิตจำลองขึ้นมาชีวิตหนึ่ง ดังนั้นเขาไม่สามารถหนีได้ทันทีโดยไม่มีการไตร่ตรองและไม่มีอะไรเข้ามาก่อนในระหว่างนั้น ก่อนที่จะไปถึงปลายทางที่เราคิดว่าเป็นตอนจบ เราเลยต้องทำให้มันเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ก่อน อย่างอื่นตามมาทีหลัง เราออกแบบคาแรกเตอร์ก่อน กับพลอตตั้งต้นแค่ประโยคเดียว”

ผมน่าจะชิงถามแม่เรื่องพ่อก่อนมันจะกลายเป็นคำต้องห้ามระหว่างเรา คือประโยคนั้น

“จริง ๆ เราไม่มีหลักการเลย เขียนจากอารมณ์ล้วน ๆ เราจบสายภาษามาซึ่งมันค่อนไปทางภาษาศาสตร์โครงสร้าง แต่ถึงเวลาเขียนจริง ๆ เราก็ไม่ได้มานั่งแพลนว่ามันจะต้องมี rising มี climax ของเรื่อง ต้องมีคลี่คลาย ส่วนตัวคือเขียนจากความรู้สึกล้วน ๆ แต่ไม่ได้เขียนแบบ ‘น้ำคือของเหลว’ สมมติมันเป็นความเศร้า เราไม่ได้เขียนว่าเราเศร้าเพราะอะไร สิ่งนี้ทำให้ฉันเศร้า แต่เราเอาความรู้สึกเศร้านั้นมาแปลงเป็นงานอีกที”

“เราเขียนตัวละครเป็นเด็กชายเพราะต้องการให้มีระยะห่างระหว่างเรากับตัวละครหน่อย แต่พอวางให้เขาอยู่ในสภาวะแบบนั้น เผชิญปัญหาแบบนั้น มันก็ชวนให้เราคิดต่อได้อีกสองสามประเด็น อย่างแรกคือ เหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศที่เป็นผู้ชาย”

นอกจากเมษาที่ต้องเผชิญปัญหาครอบครัวแตกแยกและการไม่เหลียวแลจากผู้เป็นแม่ ทำให้เขาอยากจะหนีออกจากบ้านแล้ว ตัวละครอีกตัวอย่าง ‘ไนท์’ เพื่อนของเมษาที่เป็นทายาทร้านคาราโอเกะก็ต้องพบเจอกับการล่วงละเมิดทางเพศเช่นกัน  

“เรื่องของไนท์ที่ไม่มีใครเห็นว่าเป็นปัญหา เพราะคิดว่าเป็นผู้ชายต้องเข้มแข็ง เราไม่รู้ศัพท์แสง แต่เข้าใจว่ามันคือผลพวงจากแนวคิดแบบปิตาธิปไตย สองคือเรื่องคนหาย เด็กหนีออกจากบ้านเยอะมาก ส่วนหนึ่งเพราะปัญหาครอบครัวเหมือนเมษา เราไม่ได้ทำงานกับส่วนนี้จริงจัง ไม่อยากพูดว่าเราสะท้อนปัญหาตามจริง แต่อย่างน้อยเราอยากสะกิดให้คิดว่า มันมีปัญหานี้อยู่นะ”

แม้จะไม่ได้มีประสบการณ์ร่วมกับเมษาและผองเพื่อน แต่แองเจิ้ลกับเมษาก็มีหลาย ๆ ส่วนที่เหมือนกันโดยเฉพาะความ ‘คิดมาก คิดเยอะ คิดวน’ และความรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของหนแห่งไหนที่ตัวคนเขียนเองก็รู้ดี

“เมษามีความคล้ายเราหลายอย่าง โตในชนบท เล่นคนเดียวบ่อย ชอบอ่านหนังสือ แต่ที่คล้ายที่สุดน่าจะเป็นความคิดมาก คิดเยอะ คิดวน ที่เหมือนจะสะท้อนอยู่ในงานเขียนค่อนข้างมาก มีคนอ่านหลายคนบ่นเหมือนกันว่า เมษาทำไมคิดมากอย่างนี้ ทำไมโทษตัวเอง ไม่รักตัวเอง เราไม่รู้จะตอบเขายังไง คงเพราะเราเขียนในช่วงที่มีสภาวะจิตใจแบบนั้น”

“อีกอย่างคงเป็นความรู้สึกแปลกแยก เราเป็นคนเหนือที่มาเกิดโตที่อีสาน พ่อแม่เราพูดอีสานไม่ได้ เราเลยต้องฝึกเพื่อให้เข้ากับเพื่อนได้ แต่ลึก ๆ เราจะรู้สึกว่าเราต่างจากคนรอบข้าง เวลาเขาพูดถึงญาติที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียงเราก็ไม่มี ตอนเด็กรู้สึกมาก ตอนนี้ไม่เป็นไรแล้ว จะเหลือแค่รู้สึกเหมือนไม่เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของที่ไหน ซึ่งเป็นโจทย์ที่กำลังแก้”

เพราะความคิดเยอะ คิดมาก คิดวนนี่เอง เธอจึงมักจะบ่นกับเราว่าเมษาลาตะวันยังเป็นงานที่เธอทำได้ไม่เต็มที่ มีอีกหลายสิ่งที่เธอไม่พอใจและอยากจะแก้มือใหม่ในเรื่องหน้า แต่ก็เหมือนกับงานเขียนเรื่องแรก ๆ ของนักเขียนหลายคน มันเป็นงานที่เขียนออกมาอย่างซื่อตรงในแง่ความรู้สึก และนั่นคือสิ่งที่เธอชอบในวรรณกรรมเรื่องแรกของตัวเอง   

“ถ้าถามว่ามีส่วนไหนที่เราชอบและไม่ชอบในเมษาลาตะวัน เราชอบที่มันเป็นงานที่ซื่อสัตย์ในแง่ความรู้สึก เราเอาอารมณ์นำตอนที่เขียน เหตุการณ์หรือสถานการณ์ต่าง ๆ ตามมาทีหลัง บางช่วงบางตอนจะเห็นว่าเป็นแค่เมษาพ่นทุกอย่างที่คิดออกมา หรือคิดเพ้อเจ้อไปคนเดียว”

“ส่วนที่ไม่ชอบหรือเรียกว่าไม่พอใจจะดีกว่า ก็คือเราใช้เวลาเขียนเมษาฯ น้อยมาก จำได้ว่าเขียนครึ่งแรกก่อน เว้นไปสอบ ไปทำสารนิพนธ์ แล้วมาเขียนต่อจนจบรวดเดียวภายในสองสามสัปดาห์ ถ้าเป็นไปได้อยากให้มันยาวกว่านั้น ยังมีปมหลายอย่างที่คิด ๆ ไว้แต่ไม่ได้ใส่ลงไป หรือจังหวะบางช่วงที่รู้สึกว่าไม่พอดี เวลาใครชมว่า คุณต้องใช้เวลากับมันมากแน่ ๆ อยากบอกว่า ไม่ค่ะ ไม่ถึงกับงานหยาบ แต่เรียกว่างานละเมียดละไมไม่ได้” เธอตอบทิ้งท้ายตามสไตล์เมษา

Learning Space ในฝันคืออาจเป็นเพียงพื้นที่ที่ผู้คนได้เจอกันและได้แบ่งปันประสบการณ์  

งานไม่ใหญ่แน่นะวิ คงเป็นคำถามที่เราอยากถามแองเจิ้ลในวันที่เธอบอกว่าจะสั่งพิมพ์เมษาลาตะวันออกมาเพียงห้าเล่ม หากในตอนนั้นเรารู้ว่าเมษาลาตะวันจะกลายเป็นนิยายขายดิบขายดีที่ตอนนี้ได้รับการตีพิมพ์เป็นรอบที่ 3 โดยสำนักพิมพ์ PS และหากนับรวมกับตอนที่มันยังเป็นหนังสือทำมือ (self-published) ที่แองเจิ้ลตีพิมพ์เอง นี่ก็นับเป็นการตีพิมพ์รอบที่ 6 ของเมษาลาตะวันแล้ว

แต่เมื่อกลับมานึกถึงช่วงที่แองเจิ้ลจะสั่งพิมพ์เล่มเมษาลาตะวันเป็นครั้งแรก งานของเราก็ใหญ่กันตั้งแต่ตอนนั้น มันคงเป็นความรู้สึกคล้ายเวลาที่เพื่อนคนแรกในกลุ่มมีลูก เมษาลาตะวันคลอดออกมาท่ามกลางความรัก การประคบประหงม และความเห่อของเพื่อนแม่ ภาพวาดสีน้ำบนปกที่เป็นภาพต้นมะเฟืองบนฟ้าสีฟ้าสดใสของเมษาฯ ฉบับพิมพ์แรกเกิดจากการระดมไอเดียของพวกเรา 2-3 คนกับภาพถ่ายที่เห็นมะเฟืองที่ไหนเป็นต้องถ่ายมาให้แองเจิ้ลดูเสมอ การจัดวางข้อความต่าง ๆ บนปกก็มาจากการช่วยกันทดลองและเสนอการวางข้อความเป็นสิบ ๆ แบบ โรงพิมพ์ก็เป็นโรงพิมพ์ที่เลือกมาจากการช่วยกันคัดกรองโรงพิมพ์คุณภาพดีราคาเป็นมิตร ส่วนข้อมูลอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดหน้า การเลือกกระดาษ การสั่งพิมพ์ก็มีชุมชนนักเขียนในทวิตเตอร์ที่ช่วยแบ่งปันความรู้ให้นักเขียนหน้าใหม่

“เราตีพิมพ์ด้วยเหตุผลแค่ว่าอยากทำแจกเพื่อนที่ช่วยปรับแก้ ช่วยอ่าน ช่วยตรวจต้นฉบับ เราเลยทำปกแบบที่เราชอบ  ด้วยนักวาดที่เพื่อนและเราชอบ กะจะแจกเพื่อนและพ่อแม่ห้าเล่ม แต่ด้วยความที่เคยเปิดให้อ่านบน readawrite ด้วย เราเลยทำโพลสำรวจว่าใครอยากได้เล่มบ้าง ตอนนั้นมีคนตอบโพล 30 กว่าคน เราเลยพิมพ์รอบแรกแค่ 50 เล่ม เพราะคิดว่ายังไง 50 ก็อยู่ ยังไงก็เหลือ เหลือก็ไม่เป็นไร แจกคนรู้จักไป ไม่คิดมาก”

ทว่า 50 เล่มที่แองเจิ้ลพิมพ์เองในรอบแรกนั้นขายหมดภายในสัปดาห์เดียว เธอพิมพ์เพิ่มอีก 30 เล่ม แต่ก็ยังไม่พอ ในครั้งที่ 3 ของการพิมพ์เอง แองเจิ้ลจึงสั่งพิมพ์อีก 150 เล่ม และคุณคงเดาได้ไม่ยากว่า 150 เล่มก็ยังน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับความต้องการของคนอ่าน 

“แปลกใจเหมือนกันที่กระแสตอบรับดีขนาดนั้น เราคิดมาตลอดว่างานเราเป็นงานเฉพาะกลุ่ม ไม่หวือหวา ไม่มีเส้นเรื่องรัก ทุกอย่างดูคลุมเครือ ตัวละครหลักอย่างเมษาก็เป็นเด็กเก็บกดจนน่าอึดอัด สมัยลงเว็บแรก ๆ มีคนอ่านหลักสิบจนจำได้ว่าใครเป็นใคร เนื้อเรื่องกับสำนวนเรามีเพื่อนสนิทสองคนช่วยปรับแก้ เลยคิดเล่น ๆ ว่าจะพิมพ์ห้าเล่ม แต่พอเราจะตีพิมพ์จริง ๆ เราไปหาข้อมูลเรื่องโรงพิมพ์จากนักเขียนอิสระในทวิตเตอร์ เขาบอกว่าจริง ๆ ถ้าจะพิมพ์สำรวจก่อนก็ดีนะ ทำพรีออเดอร์ก็ดีนะ เราจะได้มีทุนตั้งต้น เลยเป็นที่มาของการหาข้อมูลจริงจังเพื่อที่เราจะไม่ขาดทุนมาก”  

เมื่อคุณเป็นนักเขียนหน้าใหม่ไร้ชื่อไร้นามในวงการ ช่องทางที่ง่ายที่สุดที่จะทำให้งานของคุณมีคนอ่านก็คือการเผยแพร่งานลงเว็บไซต์นิยายออนไลน์ เช่น Dek-D ธัญวลัย จอยลดา readawrite และอีกหลาย ๆ ช่องทาง หรือไม่ก็ส่งงานเข้าประกวดในการประกวดต่าง ๆ ที่เว็บไซต์เหล่านั้นหรือสำนักพิมพ์สักแห่งจัดขึ้น ดังนั้นเมื่อพูดถึง ‘พื้นที่ของนักเขียน’ โลกออนไลน์จึงกลายเป็นพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุดที่จะมอบโอกาสให้พวกเขาได้โชว์ฝีมือและผลงานออกสู่สายตาสาธารณชน แองเจิ้ลเองก็เช่นกัน

“ช่วงที่เราอยู่มัธยม Dek-D น่าจะเป็นเว็บไซต์ลงนิยายอันดับหนึ่งเลย แต่ก่อนลงนิยายไม่ใช่แค่ลงนะ มีการตั้งกลุ่มนักเขียน ผลัดกันทิ้งข้อความไว้ให้กัน ช่วยอ่านและโปรโมตงานเขียนให้กัน เป็นสังคมที่น่ารักมาก อย่างเราเองเหมือนโตมากับมัน แม้ว่าตอนนี้จะไม่ได้ใช้แล้ว พี่ที่เรารู้จักบางคนก็ยังลงนิยายใน Dek-D อยู่ เขาชินแบบนั้น”

“เราเคยประกวดของสำนักพิมพ์ Enter ซึ่งเป็นเครือของแจ่มใสที่เขาแตกไลน์ออกมาทำนิยายแฟนตาซี ส่งไปแล้วเขาก็คัดเอา 20 คนทั่วประเทศ แต่ตอนนั้นก็ได้แค่ผ่านเข้ารอบ ไม่ได้รางวัล ส่วนมากรางวัลที่นักเขียนจะได้จากการประกวดคือเขาจะเอาเรื่องที่ไม่เคยตีพิมพ์มาตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ แล้วก็ทำให้ผลงานของเราเป็นที่รู้จักมากขึ้นเพราะมันมีการโปรโมทระหว่างประกวดเพื่อให้คนมาโหวต ดังนั้นสิ่งที่จะได้จากพื้นที่ของการประกวดคือสาธารณชนรู้จักและโอกาสในการตีพิมพ์”

เมษาลาตะวันก็เป็นอีกผลงานที่ถูกโพสต์ลงบน readawrite และเมื่อโพสต์ผลงานลงเว็บไซต์แล้ว สิ่งที่นักเขียน (และกองอวยอย่างเรา) ต้องทำต่อไปก็คือการ ‘ขายงาน’ ลงทวิตเตอร์ ก่อนที่จะตีพิมพ์เป็นเล่ม เมษาลาตะวันจึงผ่านตาคนอ่านด้วยการถูกผู้คนในชุมชนนักเขียนในทวิตเตอร์ช่วยกันรีทวิต และรายได้ที่เธอพอจะได้รับเล็ก ๆ น้อย ๆ จากเมษาลาตะวันก็คือการ ‘โดเนท’ ที่เว็บไซต์ลงนิยายในยุคหลัง ๆ ทำมาเพื่อรองรับนักเขียนและนักอ่านที่อยากสนับสนุนนักเขียน

“เราว่าทุกแพลตฟอร์มมันพัฒนาไปตามผู้ใช้งาน เมื่อก่อนสมัยแพลตฟอร์มยังไม่มีตัวเลือกให้คนอ่านได้สนับสนุนนักเขียน ได้ยินว่าบางคนเขาใช้วิธีให้โอนเงินแล้วส่งตอนพิเศษให้อ่านทางอีเมล ไม่อย่างนั้นก็ต้องรอพิมพ์เล่มถึงจะได้สนับสนุนนักเขียนด้วยการอุดหนุนจริง ๆ หรือเนื้อหาที่ไม่เหมาะกับเยาวชนก็ต้องแอบลง แอบส่งให้กัน”

“ระยะหลังมานี้ พอการเขียนออนไลน์ได้รับความนิยมมากขึ้น คนมองว่ามันไม่ใช่เรื่องไร้สาระ มันเป็นงานอดิเรกที่สร้างรายได้ได้จริง เว็บก็เริ่มสำรวจและเพิ่มฟังก์ชันต่าง ๆ เข้ามา เช่น ปิดเนื้อหาบางตอน รอไปอ่านในเล่ม ติดเหรียญ ต้องจ่ายถึงจะได้อ่าน หรือจำกัดอายุผู้อ่าน ต้องใช้บัตรประชาชนยืนยันตัวตน ซึ่งสะดวกขึ้นมากทั้งสำหรับคนเขียนและอ่าน”

ในปัจจุบัน ‘หนังสือทำมือ’ อาจเรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมย่อยของวงการหนังสือไทยที่กำลังเบ่งบานในโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะทวิตเตอร์ซึ่งกลายเป็นพื้นที่ที่นักเขียนใช้โปรโมทงานของตัวเองโดยไม่มีค่าใช้จ่าย พื้นที่ที่นักอ่านจะได้ใกล้ชิดและพูดคุยกับนักเขียนในดวงใจของพวกเขาโดยไม่ต้องต่อคิวรอในงานสัปดาห์หนังสือหรืออีเว้นต์แจกลายเซ็น พื้นที่ที่คนรักการอ่านจะได้มีโอกาสพบงานชิ้นใหม่ ๆ แนวใหม่ ๆ กับนักเขียนหน้าใหม่ได้ง่าย ๆ เพียงแค่ค้นแฮชแท็กรีวิวนิยาย ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทวิตเตอร์กลายเป็นชุมชนนักเขียนที่เข้มแข็งและเป็นพื้นที่แจ้งเกิดนักเขียนหน้าใหม่หลายคนรวมถึงแองเจิ้ล

“ทวิตเตอร์มีส่วนช่วยในการสนับสนุนนักเขียนอิสระเยอะมาก ตอนแรกคิดว่าเราก็เขียนของเรา มีเพื่อนสนิทที่ช่วยอ่านกับเพื่อนที่ทำงานในสำนักพิมพ์อีกคน แต่ไป ๆ มา ๆ เราอยู่ตรงนั้นเราก็ได้คุยกับคนอื่น เห็นงานเขาผ่านตา บางทีคุยกันในไทม์ไลน์แล้วก็ฟอลกัน ก็เป็นเครือข่ายที่ใหญ่ขึ้น”

แม้แองเจิ้ลจะบอกว่าทวิตเตอร์อาจไม่สามารถรองรับทุกคนที่อยากเป็นนักเขียนได้ ไม่ว่าจะเป็นคนที่ไม่ได้เข้าทวิตเตอร์บ่อย ๆ หรือคนที่ลงผลงานในช่องทางอื่นที่ไม่ใช่แพลตฟอร์มนิยายออนไลน์ยอดฮิตที่ชาวทวิตเตอร์เลือกใช้อย่าง readawrite แต่เธอก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชุมชนนักเขียนในทวิตเตอร์กลายเป็น ‘แหล่งเรียนรู้’ ของเธอในวันที่เธออยากจะตีพิมพ์หนังสือเป็นครั้งแรก

“ตอนเราตีพิมพ์เองมันเหมือนเรางมเองทั้งหมด หรือไม่ก็เป็นแค่การถามคนรู้จักว่าทำยังไง ร้านนี้โอเคไหม ทุกอย่างมันปากต่อปากหรือไม่ก็ดูวิธีทำในยูทูบเอา เพราะแทบไม่มีสมาคมหรือองค์กรที่สนับสนุนคนที่ตีพิมพ์หรือทำหนังสือเอง ถ้ามันมีระบบหรือสมาคมที่สนับสนุนตรงนี้มันก็จะดีขึ้นและง่ายขึ้นในการสนับสนุนนักเขียนอิสระให้เผยแพร่ผลงานให้เป็นที่รู้จัก”

นอกจากพื้นที่ในการแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับการตีพิมพ์หนังสือที่แองเจิ้ลต้องการแล้ว เมื่อพูดคุยถึงพื้นที่อื่น ๆ สำหรับนักเขียนไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ในการหาวัตถุดิบเพื่อใช้ในงานหรือพื้นที่ในการสร้างงาน แน่นอนว่าหลายคนก็มักจะนึกถึงห้องสมุด ทั้งในฐานะแหล่งข้อมูลและในฐานะพื้นที่ที่สงบพอจะเขียนงานออกมาได้

“เราเรียนโรงเรียนประจำจังหวัดเล็ก ๆ ซึ่งหนังสือในห้องสมุดส่วนมากเป็นหนังสือเตรียมสอบ เพราะพวกที่เข้าไปสิงในห้องสมุด ไม่เข้าไปตากแอร์ก็เข้าไปอ่านหนังสือเตรียมสอบมหาวิทยาลัย สมัยนั้นหนังสือวรรณกรรมจะน้อยมาก แต่ตอนนี้ไม่รู้เป็นยังไงนะ แต่เดี๋ยวนี้มันก็ง่ายขึ้น เพราะมีคาเฟ่ มีบุ๊กคลับเกิดขึ้น มีห้องสมุดออนไลน์ให้เช่าหนังสืออ่านได้ แต่มันก็ก็ดีถ้ามีห้องสมุดในเชิงกายภาพเพิ่มขึ้นและมีหนังสือหลากหลายมากพอ”

“จริง ๆ ตอนเรียนมหาวิทยาลัย เราชอบไปห้องสมุดนะ แต่ไม่ได้ไปอ่านหนังสือในนั้น เราไปเพราะมันเงียบ ดังนั้นสถานที่ที่เอื้อในการเขียนก็อาจเป็นสถานที่ที่เงียบ ไม่พลุกพล่าน แต่ก็แล้วแต่คน บางคนก็เขียนในสถานที่ชุมชนได้เหมือนกัน”

คงมีนักเขียนหลายคนที่จินตนาการบรรเจิดและรังสรรค์โลกใบใหม่ขึ้นมาได้โดยไม่ต้องมีประสบการณ์มาก่อน แต่พอเป็นวรรณกรรมสะท้อนชีวิต เรากับแองเจิ้ลมักคุยกันว่า โลกในนิยายของเราน่าจะสมจริงมากขึ้นหากเราได้มีประสบการณ์เกี่ยวกับสิ่งที่เราเขียนจริง ๆ เคยได้ไปหรือแม้แต่ใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่เหมือนกับในนิยายของเราจริง ๆ ได้พบเจอผู้คนและเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของพวกเขาจริง ๆ พื้นที่การเรียนรู้ของนักเขียนจึงอาจไม่จำเป็นจะต้องเป็นพื้นที่ทางกายภาพ หากแต่เป็นพื้นที่ที่มอบประสบการณ์บางอย่างให้พวกเขาไม่ว่าจะผ่านผู้คนหรือสถานที่ก็ตาม

เสน่ห์อย่างหนึ่งในเมษาลาตะวันก็คือเมืองเล็ก ๆ ในชนบทอันเป็นฉากหลังของเรื่อง ใครที่เคยอ่านเมษาลาตะวันคงจินตนาการภาพเมืองป่าล้อมที่ที่สายลมอ้าวในหน้าร้อนจะพัดเอากลิ่นดอกพุดจางโชยเตะจมูกออก แน่นอนว่าทักษะด้านภาษาทำให้แองเจิ้ลสามารถบรรยายเมืองเมืองนั้นออกมาได้อย่างสมจริงจนเหมือนเราได้นั่งรถสองแถวเข้าตัวเมืองหรือวิ่งปั่นจักรยานเลาะทิวเขาไปพร้อมกับเมษา แต่อีกปัจจัยที่ทำให้แองเจิ้ลบรรยายเมืองเล็กในชนบทที่เมษาลาตะวันได้ดีก็คือการที่เธอเติบโตมาในเมืองเมืองนั้นจริง ๆ

“สำหรับคนที่อยากเขียนถึงโลกทางกายภาพมาก ๆ การได้ไปดูสถาปัตยกรรม ไปสัมผัสชีวิตก็จะทำให้เรื่องที่เขียนจริงมากขึ้น เราเขียนจากสถานที่ที่เคยไป สารภาพว่าไม่กล้าเขียนออกนอกกรอบที่ตัวเองรู้จัก ยิ่งเมษาฯ เราเลือกสถานที่ที่เรานึกภาพออกและรู้ว่าในความจริงมันเป็นยังไง จะได้บรรยายได้ละเอียดและสมจริง ไม่ต้องค้นข้อมูลมากมาย อย่างต้นมะเฟืองหรือแคร่หน้าบ้านก็อิงจากหน้าบ้านป้า ส่วนผังเมืองที่ไม่ได้ระบุชื่อในเล่มก็ผสม ๆ หลายจังหวัดในไทยที่เคยอยู่หรือเคยไปเที่ยว”

“เราเคยมีเพื่อนที่รู้จักตอนเรียนปริญญาโทมาทดลองอ่านให้ แล้วเขาจินตนาการไม่ออกว่าศาลาริมน้ำเป็นยังไง เขาไปค้นกูเกิ้ลมา เอาภาพมาสามสี่แบบ แล้วมาถามว่าศาลาที่เขียนถึงเป็นแบบไหนเหรอ แล้วเราก็ต้องอธิบายให้ฟัง เลยคิดว่าถ้าไม่มีประสบการณ์มาก่อน การเขียนมันออกมาหรือแม้แต่นึกภาพตามก็จะยากนิดนึง”     

เมื่อถามเธอว่า learning space ในฝันสำหรับนักเขียนของแองเจิ้ลคืออะไร เธอตอบว่าพื้นที่นั้นอาจไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่ทางกายภาพ แต่คือพื้นที่บนหน้าหนังสือที่มอบ ‘ต้นทุน’ ด้านภาษาให้กับพวกเขา พื้นที่ที่คนได้มาพบเจอกันสำหรับการและเปลี่ยนประสบการณ์ และพื้นที่ทดลองเขียนที่จะมอบโอกาสให้คนอยากเป็นนักเขียนได้ค้นหาตัวเอง

“จริงอยู่ที่การเขียนมันไม่ได้มีต้นทุนในแง่วัสดุอุปกรณ์ขนาดนั้น บางคนคิดว่ามีสมุดเล่มนึง ปากกาด้ามนึง ดินสอแท่งนึงก็เขียนได้แล้ว แต่ก่อนจะเขียนลงไปมันต้องมีต้นทุนด้านภาษา ต้องอ่านออกเขียนได้ในระดับนึง ต้องมีประสบการณ์ในการอ่านงานคนอื่นมาบ้าง ดังนั้นมันก็ต้องเริ่มจากระบบการศึกษาก่อนอยู่ดี”  

“มันมีหลายคนที่เขาเล่าเรื่องเก่งมากโดยธรรมชาติ ที่เขาไม่ได้ศึกษาอะไรด้านนี้เลย ถ้าเรามีพื้นที่ที่ทำให้คนได้ค้นหาตัวเองและได้ทดลองดูว่าการเขียนมันเหมาะกับเขาหรือเปล่าก็เป็นเรื่องดีเหมือนกัน อาจจะไม่ต้องตั้งต้นแบบคุณต้องเป็นนักเขียน มีผลงานมาก่อนคุณถึงเข้าโปรแกรมนี้ได้ เอาเป็นคนที่ไม่เคยมีผลงานมาก่อนเลย ก็น่าสนใจเหมือนกัน”

“ในความคิดเราสำหรับคนทำงานเล่าเรื่อง ทำงานเขียน พื้นที่การเรียนรู้มันคือทุกอย่างรอบตัว มันไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง มันคือความสัมพันธ์ มันคือผู้คน จริง ๆ แค่การให้คนที่พื้นเพต่างกันมาเจอกัน แค่นั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้วสำหรับการเขียนแล้ว เพราะมันจะเกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน และเราก็อาจจะได้เรียนรู้ชีวิตมากขึ้น”


Writer

Avatar photo

ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา

อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า

Photographer

Avatar photo

ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts