วิชาปะยาง

อาชีพพ่อแม่ คือวิชานอกห้องเรียนของลูก

เราไปเรียนวิชาปะยางกันไหม 

หากคุณเป็นผู้ใหญ่หรือเด็กวัยเรียนที่เติบโตมาพร้อมกับระบบการศึกษาแบบเดิม เชื่อว่าโอกาสที่คุณจะได้ทดลองเรียนในวิชาอื่นๆ นอกเหนือจากตำรามีน้อยมากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

แต่ไม่ใช่กับที่นี่ 

ห้องเรียน (ชั่วคราว) ของ ครูหยก-ธีรดา อุดมทรัพย์ แห่งโรงเรียนนาขนวน จังหวัดศรีสะเกษ มีขนาดกว้างใหญ่เท่าผืนฟ้าคูณผืนดิน สื่อการเรียนรู้ที่ครูหยกเลือกหยิบมาสอนคือทุกสิ่งรอบตัว ห้องเรียนกว้างไกลสุดลูกหูลูกตาเต็มไปด้วยวิชานอกคาบเกินจินตนาการ 

หนึ่งในนั้นคือวิชาธรรมดาๆ อย่าง ‘ปะยางรถจักรยาน’ ที่ครูหยกเข้าไปสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กถึงที่บ้าน โดยมีพ่อแม่เป็นครูตัวจริง

วิชาปะยาง เริ่มต้นขึ้นเมื่อเด็กถูกแยกห่างออกจากโรงเรียน เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด

เพื่อไม่ให้เกิดภาวะ Summer Slide หรือที่เรียกกันว่าปรากฏการณ์ความรู้ถดถอยหลังการหยุดเรียนอย่างยาวนาน ครูหยกจึงเกิดไอเดีย โดยจับเอาการเรียนรู้ของลูกและอาชีพของพ่อแม่ให้กลายมาเป็นเรื่องเดียวกัน

Home Based Learning มาเรียนวิชาปะยางกันเถอะ!

ครูหยกเริ่มจากการชวนเด็กเขียนไดอารีเล่าเรื่องของตัวเอง 

ข้อมูลเหล่านั้นช่วยบอกว่าช่วงปิดเทอมพวกเขาทำอะไร อยู่กับใคร เด็กบางคนเล่าว่าเขาต้องช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน บางคนเล่นเกม บางคนอยู่บ้านเฉยๆ เหตุผลของการสำรวจครั้งนี้เพื่อดูสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก และนำข้อมูลเหล่านั้นมาออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละครอบครัว

‘โอ๊ค’ เด็กชายชั้น ป.3 วัย 8 ขวบ อาศัยอยู่ในบ้านที่มีพ่อเป็นช่างยนต์ 

ในไดอารีของโอ๊คเล่าไว้ว่า

ตอนเช้าโอ๊คใช้เวลานั่งเรียนออนไลน์เหมือนเด็กทั่วไป ตกบ่ายจนถึงเย็นมีเวลาว่างที่ไม่รู้จะทำอะไรดี สำหรับครูหยกนี่จึงเป็นจังหวะอันดี ที่จะเข้าไปจัดกระบวนการ โดยชวนโอ๊คมาซ่อมรถกับพ่อครั้งแรก

“ตอนที่เราเห็นโอ๊คลงมือปะยางและเปลี่ยนยางรถจักรยานครั้งแรกในชีวิต น้องโอ๊คทำได้ดีมาก ตรงตามขั้นตอนเป๊ะ มีบางช่วงที่คุณพ่อมาช่วย เพราะข้อมือเด็กยังไม่แข็งแรงพอที่จะงัดยางในออกมา แต่พอฝึกใช้เครื่องมือช่วยก็ค่อยๆ เริ่มทำเองได้ และใช้เวลาไม่นานมาก

“พอโอ๊คปะยางเสร็จ เราสังเกตเห็นแววตาแห่งความภูมิใจออกมาจากเขา แม้จะเป็นสิ่งเล็กๆ สำหรับใครบางคน แต่นี่คือความสำเร็จในตัวโอ๊คที่ทำงานได้อย่างที่คุณพ่อเคยทำ และได้ค่าจ้างเป็นเงินเล็กๆ น้อยๆ จากน้ำพักน้ำแรงของตัวเองเป็นครั้งแรกในชีวิตเช่นกัน”

ครูหยกเล่าย้อนให้ฟังว่าครั้งแรกที่ตัดสินใจไปสร้างการเรียนรู้ถึงในบ้าน ทั้งคุณพ่อและโอ๊คยังมีความขัดเขินและยังคงงงๆ อยู่ แต่ด้วยท่าทีของครูหยกที่ไม่ได้ไปยืนสั่งหรือให้โจทย์การบ้าน เวลาโอ๊คซ่อมรถครูหยกก็เข้าไปนั่งอยู่ใกล้ๆ ชวนถาม ชวนคุย ทำให้เขารู้สึกว่าอบอุ่นและมั่นใจว่าครูไม่ได้ทิ้งเขาถึงแม้จะปิดเทอมยาวนาน 

อาชีพของพ่อแม่ เป็นทักษะใหม่ของลูก 

เมื่อถอดรหัสออกมา ครูหยกบอกว่าวิชาปะยางช่วยเติมเต็มช่องว่างทางทักษะให้เด็กได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ

วิชาเล็กๆ แต่เมื่อแตกแขนงออกไปแล้ว เด็กจะต้องใช้กระบวนการเยอะมาก นี่คือหนทางที่จะช่วยเสริมสมรรถนะหลายๆ ด้านให้เขาได้ 

“ภายนอก เด็กได้ใช้ฝึกตั้งแต่กระบวนการคิด คิดให้เป็นระบบ เพราะการซ่อมรถคันหนึ่ง เขาต้องคิดก่อนว่าควรเริ่มจากตรงไหน ต้องทำอะไรก่อนอันดับแรก เช่น สมมุติเอายางในออกมาแล้วอันดับต่อไปเขาต้องทำยังไงต่อ การฝึกจัดลำดับอะไรสำคัญก่อนหลัง หรือเมื่อพบปัญหาใหม่ นอกเหนือจากที่พ่อเคยบอกหรือเคยสอน เขาสามารถแก้ปัญหานั้นอย่างไร”

ส่วนภายใน เรื่องเล็กๆ อย่างการสูบลมล้อจักรยานให้กลับมาขี่ได้อีกครั้งแค่นี้ก็ช่วยสร้างความภูมิใจในตัวเองให้เด็กได้แล้ว

สิ่งหนึ่งที่ครูหยกเชื่อมาตลอดคือทุกกระบวนการเรียนรู้ควรเชื่อมโยงกับจิตใจข้างในของเด็กด้วย ฉะนั้นเวลาเด็กเห็นความสำเร็จของตัวเองจากการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ความมั่นใจที่เกิดขึ้นจะติดตัวเด็กตลอดไป – นี่เป็นทักษะที่ยากที่สุด

ที่สำคัญการเชื่อมร้อยการเรียนรู้ของลูกกับอาชีพเดิมของครอบครัว ส่วนหนึ่งจะทำให้พ่อแม่รู้สึกมั่นใจในตัวเอง ภูมิใจในอาชีพตัวเอง ทำให้พ่อแม่รู้สึกว่าตัวเองได้เป็นฟันเฟืองช่วยสร้างการเรียนรู้ให้ลูก

การเล่นคือการเรียนแบบลงมือทำ ทักษะจะเกิดอย่างคงทนยาวนานและติดตัวเด็กไปตลอดกาล

การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมหรือใช้การเล่นเป็นตัวนำ สำหรับครูหยก สองสิ่งนี้เป็นวิธีการสร้างความรู้ที่คงทนและยาวนานที่สุด 

“เวลาเรียนในตำรา เด็กจะใช้ความจำ ใครจำได้นานก็โชคดีไป เราเองเคยเป็นเด็กที่อ่านหนังสือเยอะมาก จำๆๆๆ เพื่อไปสอบ สอบเสร็จปุ๊บ เราลืม เพราะเราไม่เข้าใจ พอออกจากห้องสอบ โล่ง ลืมหมดเลย และเราไม่อยากเห็นเด็กเป็นแบบนั้น”

แล้วเราจะเล่นอย่างไรให้ได้คุณภาพ 

ครูหยกมองว่าเด็กจะเรียนรู้ได้หรือไม่ อาจจะต้องอาศัยความสามารถในการตั้งคำถามและกระตุ้นให้เด็กได้คิดต่อยอดเล็กๆ น้อยๆ – แต่ไม่ใช่เรื่องยาก ครูหยกยืนยัน

“เช่น กรณีโอ๊ค เขาซ่อมรถกับพ่อถ้าครูแค่ไปดูเฉยๆ แล้วกลับบ้าน เด็กก็ไม่รู้ว่าเขาได้เรียนรู้อะไร จะดีกว่าไหมถ้าเราทำให้เขาเห็นว่าเขาได้อะไรบ้างจากสิ่งที่เขาทำ ไม่ว่าจะเป็นทักษะใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้นหรือการเห็นคุณค่าในตัวเอง เราว่าสิ่งเหล่านี้จะเข้าไปคอนเน็คกับตัวเขาและพาเขากลับเข้าสู่บทเรียนได้ในที่สุด”

วิธีตั้งคำถามกระตุ้นการเรียนรู้ ไม่ใช่แค่ครู แต่พ่อแม่ก็ทำได้ 

สำหรับครูหยกหัวใจสำคัญของการสร้างการเรียนรู้อาจไม่ได้อยู่ที่เป้าหมายเพียงอย่างเดียว พ่อแม่มักคาดหวังให้ลูกทำสิ่งต่างๆ ได้ ลูกต้องซ่อมรถเป็น ลูกต้องเก่ง โดยละเลยสิ่งที่เกิดขึ้นและความรู้สึกระหว่างทาง

“สมมุติคุณแม่ถนัดทำอาหาร อาจจะมาชวนลูกทำอาหาร ในกระบวนการทำอาหารมันไม่ใช่แค่ทำ ชิม อร่อย จบ คุณแม่สามารถชวนเขาคุยเรื่องสารอาหารต่อ สอนการปฏิบัติตัวบนโต๊ะอาหาร หรือยกเรื่องอัตราส่วน การวัด ชั่ง ตวง มาคุยกันขณะทำเค้ก”

หรือเวลาทำอาหารรับประทานด้วยกัน คุณพ่อคุณแม่อาจชวนเด็กๆ คุยถึงวัตถุดิบต่างๆ ในจานต่อได้ เช่น ผักชนิดนี้ฤดูกาลของมันเป็นอย่างไร เติบโตได้ดีในสภาพภูมิอากาศหรือว่าดินแบบไหน ความแตกต่างของดิน สีดิน ถ้าเขาสนใจและคุณพ่อคุณแม่พอมีเวลาก็สามารต่อยอดเป็นกิจกรรมการทดลองได้ เช่น ลองให้ปลูกผักบุ้ง เปรียบเทียบระหว่างปลูกในดินกับในน้ำ แบบไหนโตเร็วกว่ากัน 

สอนลูก ไม่ใช่หน้าที่ครูเพียงคนเดียว

แน่นอนว่าระบบนิเวศการเรียนรู้ที่สามารถเชื่อมระหว่างโรงเรียน คุณครู ผู้ปกครอง คือระบบในฝันของทุกคน แต่ส่วนหนึ่งที่ทำเรายังเดินทางไปไม่ถึงตรงนั้นเพราะผู้ปกครองต่างมีเงื่อนไขในชีวิตที่ไม่เท่ากัน

ครูหยกบอกว่าเป็นโจทย์ยากมาก ถ้าถามว่าใน 5-10 ปีข้างหน้าวงจรการศึกษาของเด็กเป็นอย่างไร 

แต่สิ่งหนึ่งที่พอจะเดาออกคือในอนาคตบทบาทของพ่อแม่และครอบครัวจะมีความใกล้ชิดกับลูกมากขึ้น และมีส่วนร่วมในการดูแลการเรียนรู้ของลูกมากขึ้น 

“ก่อนหน้านี้ พ่อแม่อาจคิดว่าตัวเองมีหน้าที่แค่ส่งลูกมาโรงเรียน พอมี COVID-19 ปุ๊บ คนที่ไม่เคยรู้เรื่อง DLTV เปิดทีวีไม่เป็นก็ต้องเปิดทีวีเป็น คนที่ไม่รู้ว่าจะต้องสอนลูกทำการบ้านก็ต้องพยายามสอนเป็น ในอนาคตโรงเรียนจะลดบทบาทลงและค่อยๆ หายไปก็เป็นได้”

อย่างไรก็ตามครูหยกยืนยันเสมอว่า ‘พ่อแม่ทำได้’ จากเดิมที่เคยพาลูกออกไปเรียนรู้ไกลตัว จนอาจรู้สึกเหนื่อย หากหันกลับมาดูรอบๆ ตัว พ่อแม่จะพบว่าทุกอย่างสร้างการเรียนรู้ให้ลูกได้จริงๆ ไม่เว้นแม้แต่อาชีพของตัวเอง 

สุดท้ายหากสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ เด็กชายโอ๊คกลับไปเรียนในห้องเรียนสี่เหลี่ยมตามเดิม แต่ครูหยกเชื่อว่าประสบการณ์การปะยางในวันนั้นอาจจุดประกายทำให้โอ๊คได้เจอทักษะใหม่ๆ ของตัวเอง

“อย่างน้อยเขาก็รู้ว่าการปะยางต้องใช้กาวแบบไหน รู้จักวิธีถอดยางในของล้อ”

ที่สำคัญของแถมครั้งนี้ครูหยกบอกว่ามันคือการเรียกความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แนบชิดกันมากขึ้นกว่าเดิมและยังช่วยเพิ่มความมั่นใจของพ่อแม่ สร้างความภูมิใจในอาชีพ ทำให้พวกเขารู้สึกเติมเต็มคุณค่าข้างในตัวเอง และย้ำว่าพ่อแม่มีส่วนร่วมในการสร้างการเรียนรู้ของลูกแล้วจริงๆ  


Writer

Avatar photo

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

พยายามฝึกปรือและคลุกอยู่กับผู้คนในวงการการศึกษา เพราะเชื่อว่าการเรียนรู้เป็นใบเบิกทางให้ขยายขอบขีดความสามารถตัวเอง ฝันสูงสุดคืออยากเห็นตัวเองทำงานสื่อสารที่มีคุณภาพและคุณค่าต่อไป

Related Posts