‘Soft Power ที่โรงเรียนไม่ได้สอน’ กับ 5 วิชานอกตำราช่วยให้เด็กค้นหาตัวเอง

  • เมื่อโควิดปิดช่องทางต่างๆ ให้เหลือแค่ออนไลน์ เเต่การเรียนรู้ต้องดำเนินต่อไป เเล้วการดูซีรีส์เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยเราค้นหาสิ่งที่ชอบ และตัดสิ่งที่ไม่ใช่ออกไปอย่างไม่รู้ตัว
  • ความมีชีวิตจริงของตัวละครในซีรีส์ คือกำลังสำคัญของ Soft Power อำนาจอ่อนที่ไม่ได้สั่งสอน เเต่เรากลับได้ข้อคิดหลังดูซีรีส์ ละคร หรือ ภาพยนตร์เรื่องนั้นเสมอ 
  • mappa เเนะนำ 5 ซีรีส์เกาหลีที่ดูผ่านๆ เหมือนจะเป็นซีรีส์ความรัก เเต่เบื้องหลังคือการถ่ายทอดบรรยากาศการทำงานจริงผ่านอาชีพต่างๆ ที่โรงเรียนไม่ได้สอน เเต่เรียนรู้ไปพร้อมกับเส้นทางของตัวละคร

“ฉันอยากเป็นอะไร” 

คำถามของนักเรียนที่เพิ่งผ่านรั้วโรงเรียนเเละบัณฑิตจบใหม่ในวันที่ต้องตัดสินใจเลือกเส้นทางอนาคตของตัวเองจากการเลือกคณะเพื่อเรียนต่อในมหาวิทยาลัยเเละการเริ่มต้นสมัครงาน

สำหรับหลายคน การศึกษาในโรงเรียนเเละมหาวิทยาลัยไม่ได้ช่วยหาคำตอบว่า เขาอยากเป็นใคร หรือ อยากเป็นอะไร และการศึกษาอาจจะทำหน้าที่ตอบโจทย์เพียงว่า “ฉันเรียนเพราะฉันแค่อยากจะเรียนรู้สิ่งนี้” ก็ได้ 

ประกอบกับการเเพร่ระบาดของโควิด 19 การเว้นระยะทางสังคมทำให้พื้นที่การเรียนรู้ปิดตัวลง เเต่ต้องมาใช้เวลาเรียนผ่านหน้าจอมากขึ้น

แต่พื้นที่คือปัจจัยสำคัญของการเรียนรู้ เมื่อโควิดปิดช่องทางต่างๆ ให้เหลือแค่ออนไลน์ ช่วยไม่ได้ที่การเรียนรู้จะเกิดขึ้นในโลกใบนี้ โดยเฉพาะการเรียนรู้ชีวิตผ่าน ‘ซีรีส์’ ที่ช่วยเราค้นหาสิ่งที่ชอบ และตัดสิ่งที่ไม่ใช่ออกไปอย่างไม่รู้ตัว 

ความมีชีวิตจริงของตัวละครในซีรีส์ คือกำลังสำคัญของ Soft Power อำนาจอ่อนที่ไม่ได้สั่งสอน เเต่เรากลับได้ข้อคิดหลังดูซีรีส์ ละคร หรือ ภาพยนตร์เรื่องนั้นเสมอ 

Soft Power ในเกาหลีเเละญี่ปุ่น คือ เครื่องมือในการพัฒนาคนเเละประเทศผ่านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ญี่ปุ่นส่งโอชิน ละครสะท้อนชีวิตไปยัง 50 ประเทศทั่วโลกเเล้วปรับรูปเเบบละครให้ทันสมัยช่วงวิกฤตเศรษฐกิจญี่ปุ่นจนทำให้ซีรีส์เรื่อง ‘ลูกสาวเจ้าพ่อขอเป็นครู’ โด่งดังในไทยและหลายประเทศ ราวๆ ปี 2546

ต่อมาเกาหลีใต้ใช้กระเเสฮันรยู (Hallyu) ส่งวัฒนธรรม K-pop สู่ตลาดโลก เเล้วเริ่มส่งออกละครโทรทัศน์จนเเดจังกึมที่ฉายผ่านหน้าจอโทรทัศน์ไทยเมื่อปี 2548 กลายเป็นซีรีส์เกาหลีในใจใครหลายคน ด้วยการเปิดประเทศผ่านสื่อบันเทิง ทำให้ต่างชาติเห็นว่า เกาหลีไม่ใช่ประเทศที่ยากจนเหมือนอดีต เเต่มีบ้านเมืองที่สวยงามเเละวัฒนธรรมที่น่าสนใจ ทั้งวัฒนธรรมการเเต่งกาย อาหาร เเละวิถีชีวิตของผู้คน อีกทั้งการเดินเรื่องที่เเตกต่าง กระชับ น่าติดตาม จนปัจจุบันซีรีส์เกาหลีเริ่มพัฒนาเส้นเรื่องด้วยคอนเซปต์ การค้นหาตัวเองเเละฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ในการทำตามฝันให้สำเร็จผ่านอาชีพต่างๆ 

รวมถึงภาพลักษณ์เเฟนหนุ่มเเละการเข้าถึงศิลปินเเบบจับต้องได้ ทำให้ฮันรยูเข้ามามีบทบาทกับเด็กไทยในสื่อโซเชียลมีเดีย 

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ประกอบกับโลกไร้พรมเเดนจากการพัฒนาเทคโนโลยี ทำให้ซีรีส์เกาหลีได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะซีรีส์ไม่ได้ทำหน้าที่เเค่ให้ความบันเทิง เเต่ทำให้พวกเขาท่องโลกอาชีพไปพร้อมกับเส้นทางของตัวละครในซีรีส์ได้

**บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์

mappa จึงอยากเเนะนำ 5 ซีรีส์เกาหลีที่ดูผ่านๆ เหมือนจะเป็นซีรีส์ความรัก เเต่เบื้องหลังคือการถ่ายทอดบรรยากาศการทำงานจริงผ่านอาชีพต่างๆ  ที่โรงเรียนไม่ได้สอน เเต่เราเรียนรู้ไปพร้อมกับตัวละครต่างๆ ในเรื่อง

Record of Youth (2020): ช่างเเต่งหน้า นักสร้างความงามเเละฮีลใจผู้คน

“ร้านเรามีลำดับขั้นค่ะ ฉันเป็นยังเเค่ผู้ช่วยค่ะ”

คำอธิบายของอันจองฮา (แสดงโดย พัคโซดัม) ผู้ช่วยช่างเเต่งหน้าในร้านเสริมสวยที่มีคนดังเข้ามาใช้บริการถึงคิมอียอง (เเสดงโดย ชินเอรา) ลูกค้าวีไอพีของร้าน หลังจากเธอเลือกอันจองฮามาเเต่งหน้าเเทนจินจู (เเสดงโดย โจจีซึง) อาจารย์ของอันจองฮา เพราะอยากรู้ว่าทำไมวอนเเฮฮโย (เเสดงโดย บวอนอูซอก) ถึงเลือกที่จะเเต่งหน้ากับผู้ช่วยช่างเเต่งหน้าคนนี้

ลำดับขั้นในองค์กรที่เธอกำลังเจอ ทำให้เธอมุ่งมั่นว่า จะต้องชนะอาจารย์ด้วยความสามารถ ความตั้งใจ เเละความจริงใจของเธอให้ได้

อีกทั้งการทำงานของอันจองฮาในร้านเสริมสวย ทุกอย่างอยู่ภายใต้เเรงกดดันเเละสายตาของคนรอบข้าง เนื่องจากมีวัฒนธรรมว่า “เราไม่สามารถเเต่งหน้าให้ลูกค้าคนอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต” หรือ “ใช้อุปกรณ์ของคนอื่นมาเเต่งหน้าให้ลูกค้าตัวเองได้” 

ด้วยเเรงกดดันรอบตัว อันจองฮาสร้างพื้นที่ปลอดภัยของตัวเองด้วยการทำคลิปสอนเเต่งหน้าลงสื่อออนไลน์ เพราะอย่างน้อยเธอก็ได้ส่งต่อเทคนิคของตัวเองให้คนอื่นทดลองทำได้

ต่อมาอันจองฮาได้รับโอกาสจาก ซาฮเยจุน (เเสดงโดย พัคโบกอม) เเละวอนเเฮฮโยให้เข้าไปทำงานที่กองถ่าย ทำให้เธอเปิดโลกการทำงานเเบบใหม่ที่เธอไม่ได้เป็นเเค่ผู้ช่วย เเต่เป็นช่างเเต่งหน้าที่เธอเลือกเเต่งให้ตรงกับคาเเรกเตอร์ของนักเเสดง

หลังจากรวบรวมเทคนิคการเเต่งหน้ามาจนพร้อมเเล้ว อันจองฮาตัดสินใจลาออกจากร้านเสริมสวย เเล้วตัดสินใจเปิดร้านของตัวเองซึ่งเป็นการเริ่มต้นใหม่บนเส้นทางเดิม 

ช่วงเเรกคนจะมาใช้บริการไม่เยอะ เเต่เธอก็ใช้ความสามารถของตัวเองเเละความเป็นมืออาชีพ พิสูจน์จนกลายเป็นช่างเเต่งหน้าที่ประสบความสำเร็จจนร้านเธอได้รับการยอมรับให้ร่วมทำงานกับกองถ่ายหนังเรื่องอื่นๆ ตามมา

เพราะสำหรับอันจองฮาเเล้ว การเเต่งหน้าคือการเเบ่งปันความรู้สึกผ่านความสวยงาม

“ช่างเเต่งหน้า คือ การทำให้ภาพลักษณ์ออกมาสวยงามเเละเป็นอาชีพที่เยียวยาจิตใจของคนด้วยค่ะ”

Imitation (2021): หากคุณคิดว่าการเดบิวต์คือความสำเร็จ คุณคิดผิด เพราะมันคือจุดเริ่มต้น

ภายใต้ฉากความหล่อสวยของศิลปิน เพลงติดหู เเละมิวสิกวีดิโอสุดอลังการของศิลปินเกาหลี คือ เส้นทางการฝึกซ้อมอย่างหนักของเด็กคนหนึ่งที่มีความฝันอยากจะเป็นนักร้องบนวงการเพลงเกาหลี

เสริมด้วยภาพความสำเร็จของ นิชคุณ 2PM, เเบมเเบม got7,  ลิซ่า Blackpink, เตนล์ NCT, สร CLC หรือ มินนี่  ((G)I-dle) ยิ่งสะท้อนว่าเด็กไทยมีความสามารถที่จะไปต่อสู้กับเด็กชาติอื่นๆ ได้

เเต่ Imitation จะช่วยขยายภาพการเป็นไอดอลตั้งเเต่เริ่มต้นจนเดบิวต์ (การเเสดงบนเวทีหรือปล่อยเพลงครั้งเเรก) จนเป็นศิลปิน เเละซีรีส์สื่อสารว่า ‘หากคุณคิดว่าการเดบิวต์คือความสำเร็จ คุณคิดผิด เพราะมันคือจุดเริ่มต้น’

ว่าด้วยเรื่องของอีมาฮา (เเสดงโดย จองจีโซ) สมาชิกเกิร์ลกรุ๊ปวง Teaparty ที่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะครั้งเเรกที่จะได้เดบิวต์กลับโดนข่าวการเสียชีวิตของอดีตสมาชิกวงโจมตีจนต้องยกเลิกการเเสดงไป ซึ่งสวนทางกับชีวิตของ  ควอนรย็อก (เเสดงโดย อีจุนยอง) สมาชิกบอยแบนด์วง Shax ที่เก่งทั้งด้านร้องเพลงและเต้น เเละไม่ว่าจะทำอะไรก็ถูกจับตามองจากเพื่อนร่วมวงการเเละสื่อต่างๆ

Imitation สะท้อนให้เห็นความเเตกต่างของทั้งสองวงผ่านสถานการณ์ของตัวละคร อีมาฮาคือภาพของเด็กที่กำลังจะเดบิวต์ว่า พวกเขาฝึกร้องเเละเต้นอย่างหนัก ซ้อมเพลงเดียวเป็นเวลาหลายเดือน ควบคุมน้ำหนัก เเละดูเเลตัวเองในทุกด้าน ด้วยความหวังว่า ขอเเค่ได้เเสดงบนเวทีสักครั้ง

ขณะที่ควอนรย็อก คือ ตัวละครที่บอกว่าอย่าเพิ่งคิดไกล การเดบิวต์ว่ายากเเล้ว เเต่การดูเเลใจตัวเองหลังเดบิวต์สำคัญกว่า 

เพราะระหว่างทาง นอกจากจะสู้กับวงอื่นๆ ที่ผ่านการเดบิวต์มาได้เช่นกัน ยังต้องสู้กับตัวเอง เเล้วทำทุกอย่างภายใต้คำว่า ‘ภาพลักษณ์ที่ดี’ 

รวมถึงการให้ความสำคัญกับเเฟนคลับ เพราะพวกเขาคือผู้สนับสนุนรายใหญ่ในการกำหนดเส้นทางว่า คุณจะได้ไปต่อในวงการหรือควรจบความฝันตรงนี้ 

เเต่ 12 ตอนจากซีรีส์เรื่องนี้กำลังชวนคิดต่อว่า กว่าจะเป็นไอดอลไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกคนต่างผ่านเรื่องราวในเเบบฉบับตัวเอง เเต่อย่าลืมว่า

“เราทุกคนต่างเป็นดวงดาวที่ส่องประกาย”

Romance is a Bonus Book (2019): เป็นทุกอย่างให้เธอเเล้ว สำรวจการทำหนังสือผ่านบทบาทบรรณาธิการ

หากคุณเป็นคนสนุกกับการขีดเขียนเเละสนุกกับการอ่านเรื่องราวผ่านตัวอักษร ซีรีส์เรื่องนี้อาจช่วยหาคำตอบได้ว่า คุณอยากเป็นนักเขียนจริงๆ หรือเปล่า

ซีรีส์เล่าเรื่องผ่านบรรยากาศของความรู้สึกเเละสถานการณ์ของคนทำหนังสือในสำนักพิมพ์เเห่งหนึ่ง เพราะความตั้งใจเดียวของพวกเขาคือการเฝ้ามองว่า หนังสือที่พวกเขาตั้งใจทำขึ้นมาถูกหยิบไปอยู่ในมือของผู้อ่าน สอดเเทรกด้วยเส้นทางความรักของคังทันอี (แสดงโดย อีนายอง) มาร์เก็ตติ้งคนใหม่เเละบรรณาธิการชาจุนโฮ (แสดงโดย อีจงซอก)

ขณะเดียวกันบรรณาธิการไม่ได้มีหน้าที่เเค่ตรวจอักษรเเละภาษาในหนังสือให้สมบูรณ์ที่สุด เเต่พวกเขามีหน้าที่เชื่อมรอยต่อความเป็นตัวเองของนักเขียน ชวนคนวาดภาพ สอนงานรุ่นน้องเเละเป็นคนเเบกรับปัญหาที่เกิดขึ้นไว้ในมือ ทั้งยังต้องจัดการปัญหาเหล่านั้นด้วยสติเเละความสุขุม

“ท้ายเล่มของหนังสือจะมีหน้าลิขสิทธิ์อยู่ ในนั้นมีชื่อคนอยู่หลายชื่อ พวกเขาคือผู้สร้างหนังสือเล่มนี้ มันต้องใช้เวลาเป็นปีหรืออาจจะสองปี บางครั้งก็อาจจะนานกว่านั้น ยังมีอีกหลายชื่อที่ไม่อยู่ในนั้น คนพวกนั้นทุ่มสุดฝีมือเพื่อหนังสือเล่มเดียวเเต่คนอ่านอาจจะต้องผิดหวัง เมื่อเปิดหนังสือขึ้นมา เพราะมาจากสำนักพิมพ์ที่พิมพ์ประวัติผู้เขียนผิด”

คำเเนะนำของชาจุนโฮถึงนักศึกษาฝึกงานคนหนึ่งหลังจากทำงานพลาดเพราะใส่ประวัติผู้เขียนผิด เขาอยากให้รุ่นน้องเห็นว่าหนังสือเล่มหนึ่งไม่ได้มาจากใครคนหนึ่ง เเต่มาจากการร่วมมือกันของทุกคน เพื่อคืนความสุขให้คนอ่าน เเล้วเธออาจพบว่า การทำงานหนังสือให้อะไรมากกว่าตัวอักษร 

เนื่องจาก Romance is a Bonus Book ไม่ได้เล่าเเค่วิธีการทำงานของเเต่ละตำเเหน่งในสำนักพิมพ์ เเต่ยังชวนเราสำรวจกระบวนการทำหนังสือด้วย ตั้งเเต่การติดต่อขอต้นฉบับ เเรงบันดาลใจของนักเขียน พิสูจน์อักษร การเลือกกระดาษ วางเเผนการขายจนตีพิมพ์เป็นหนังสือที่ส่งต่อเรื่องราวจากผู้เขียนถึงผู้อ่าน

ความสนุกของซีรีส์เรื่องนี้ อยู่ที่การท่องโลกหนังสือไปพร้อมกับตัวละคร เเละเรียนรู้การทำงานของสำนักพิมพ์ที่เป็นทั้งผู้จำหน่ายเเละเป็นสื่อกลางในการส่งสารจากนักเขียนถึงผู้อ่าน หลังจากดูจบคุณอาจมองหนังสือด้วยมุมมองที่เปลี่ยนไป 

Run On (2020): การเเปลไม่ใช่หน้าที่ เเต่หมายถึงอารมณ์ความรู้สึกที่เราอยากให้ผู้ชมได้เห็นเหมือนที่คนเเปลเห็น

จะเป็นอย่างไรนะ ถ้าฉันเป็นคนเเรกที่ได้ดูหนังหรือซีรีส์เเล้วเป็นคนเเปลบทพูดของตัวละครมาเป็นตัวอักษรให้คนอื่นได้สนุกกับเรื่องราวเหมือนที่ฉันรู้สึก 

นี่คือความรู้สึกของโอมีจู (เเสดงโดย ชินเซคยอง) นางเอกจากเรื่อง Run On ที่รับบทนักเเปลซับไตเติ้ลลงสื่อต่างๆ เธอจมอยู่กับการนั่งเเปลเเบบข้ามวันข้ามคืน มีซีเรียลใส่นมเป็นมื้อเช้าตอนเที่ยง เเต่ถึงอย่างนั้นเธอก็ยังคงตื่นเต้นกับชื่อตัวเองใน end credit ตอนช่วงสุดท้ายของหนังอยู่ดี

ขณะเดียวกัน หน้าที่ของนักเเปลซับไม่ใช่เเค่การเเปลบทพูดเเบบตรงๆ  เเต่ต้องใช้ทักษะการใช้ภาษาให้คนดูสนุกไปกับเรื่องราวของเรื่องเหมือนดูต้นฉบับ รวมถึงยังต้องตั้งชื่อหนังให้สอดคล้องกับจุดเด่นของหนังด้วย

“ชื่อเรื่องคือพรมเเดงพิลึกค่ะ ชื่อเรื่องต้นฉบับค่อนข้างยาว ถ้าเกิดเเปลตรงๆ จะกลายเป็นยืนบนทางเดินพิลึกที่เเสนน่าเบื่อ มันทำให้หนังฟังดูน่าอึดอัดไปหน่อย ฉันก็เลยเเปลอิงบริบทมาเป็นพรมเเดงพิลึกค่ะ”

โอมีจูอธิบายการทำงานของตัวเองให้กีซอนกยอม (เเสดงโดย อิมชีวาน) อดีตนักวิ่งที่ตกงานเเล้วมาขออาศัยอยู่บ้านเดียวกับเธอ เพราะการเเปลไม่ใช่หน้าที่ เเต่หมายถึงอารมณ์ความรู้สึกที่เราอยากให้ผู้ชมได้เห็นเหมือนที่คนเเปลเห็น

นักเเปลซับหนังอย่างเธอก็ยังมีโอกาสเข้าไปทำงานเป็นล่ามเเปลภาษาในกองถ่าย เผชิญการทำงานภายใต้ความกดดันว่า เธอจะต้องเเปลความคิดเห็นของผู้กำกับให้คนเกาหลีในกองเข้าใจเพื่อให้งานดำเนินต่อไปก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากมีปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้

นอกจากนี้ ซีรีส์ยังพูดถึงเส้นทางของนักกีฬาหลังเกษียณที่ต้องเจอกับความยากลำบากระหว่างทาง หรือจิตรกรที่อยากสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองให้ดีที่สุด รวมถึงเบื้องหลังของครอบครัวที่อาจไม่เข้าใจในเส้นทางที่เเต่ละตัวละครเลือก เพราะเขาต่างหวังว่าลูกๆ จะมีชีวิตที่ดีเเละมั่นคง

Run on จึงไม่ได้เป็นซีรีส์ที่ให้เเค่ความบันเทิงหรือให้ข้อคิดในการดำเนินชีวิตเท่านั้น เเต่เราจะได้ค้นหาตัวเองผ่านบทละครที่คมคายเเละสอดเเทรกสภาพการทำงานจริงในหลายอาชีพ 

การรับรู้ความคิดของคนต่างวัยผ่านซีรีส์เรื่องนี้อาจทำให้เรายอมรับได้ว่า เราไม่จำเป็นต้องเข้าใจกันทุกเรื่อง เเต่จงทำในสิ่งที่เราทำได้เเละเดินหน้าต่อไปกับปัจจุบัน โดยไม่เสียใจให้อดีตหรือกังวลกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง

Fight for My Way (2017): พิธีกรสังเวียนมวย นักพูดที่จับไมค์พร้อมกับหัวใจที่เต้นเเรง

เรียนไม่เก่ง ไม่ได้เเปลว่าไม่มีความสามารถ เเต่ถ้าดู Fight for my way จบ คุณจะรู้ว่าถึงจะเรียนไม่เก่งก็ปังได้ 

Fight for my way ว่าด้วยความสัมพันธ์ของเพื่อนรัก 20 ปีของชเวเเอรา (เเสดงโดย คิมจีวอน) พนักงานประชาสัมพันธ์ห้างสรรพสินค้าที่อยากเป็นผู้ประกาศในโทรทัศน์ เเละโกดงมัน (เเสดงโดย พัคซอจุน) พนักงานกำจัดปลวกที่อยากเป็นนักกีฬา ทั้งสองคนไม่ได้เป็นเด็กเรียนเก่ง เเต่ไม่เคยเสียใจกับฝันที่ไม่เคยเป็นจริงเลย แต่เลือกทำหน้าที่ของตัวเองให้ที่ดีที่สุด

ถึงเเม้แอราจะเป็นพนักงานประชาสัมพันธ์เเต่เธอก็ไม่เคยทิ้งฝัน ที่เธอเลือกมาทำงานนี้ก็เพราะเป็นทางเดียวที่เธอจะได้ฝึกฝนตัวเองผ่านการพูด ถึงเเม้ว่าจะไม่ได้พูดผ่านหน้าจอโทรทัศน์ก็ตาม

ชเวเเอราไม่ได้เป็นคนฉลาด เเต่มีความมุ่งมั่น และเลือกเดินตามฝันของตัวเองต่อไป แม้อายุจะขึ้นเลขสามแล้วก็ตาม 

“ระหว่างที่พวกเธอไปหาประสบการณ์เมืองนอก ฉันก็กำลังทำงานเก็บเงินค่ะ” คำตอบของชเวเเอราตอนสัมภาษณ์คัดเลือกผู้ประกาศหลังเธอตัดสินใจลาออกจากงานเก่า เเล้วในห้องสัมภาษณ์นั้นถูกรายล้อมด้วยคนที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อม 

หลังจากถูกปฏิเสธ เธอก็ยังคงสนุกกับการจับไมค์ เเล้ววันหนึ่งเธอก็ต้องเลือกระหว่างงานผู้ประกาศข่าว ความฝันของชเวเเอราตอน 6 ขวบกับพิธีกรบนเวทีสังเวียนมวยที่เธอได้จับไมค์พร้อมกับหัวใจที่เต้นเเรง

“ทุกสิ่งที่เธอชอบก็คือสิ่งสำคัญกับเธอไม่ใช่หรือไง ทำอะไรที่หัวใจเต้นเเรงเถอะ” โกดงมันบอกชเวเเอราในวันสัมภาษณ์งานทั้งสองที่ เเล้วสุดท้ายเธอก็เลือกที่จะเป็นผู้ประกาศบนสังเวียนมวย

ถึงจะเป็นพิธีกรนำผู้ชมสู่การเเข่งขันหรือสัมภาษณ์นักมวยไม่กี่นาที เเต่เเค่ได้ถือไมค์เเละยืนบนเวทีต่อหน้าผู้ชม เธอก็มีความสุขเเล้ว

Fight for My Way เป็นซีรีส์ที่ปลดล็อกให้เรากล้าลองผิดลองถูก ไม่รู้ตัวเองหรือผิดหวังบ้างก็ไม่เป็นไร เเต่อย่างน้อยเราได้ลงมือทำเเละทำสิ่งที่เราต้องการด้วยความสนุก เพราะทุกอย่างที่เราเลือกมักมีบทเรียนที่อาจพาไปหาคำตอบว่า เราคือใคร

“ใช้ชีวิตให้สนุกเเบบเราก็ชนะเเล้ว ต้องกล้าเสี่ยงถึงจะปัง”

อ้างอิง :


Writer

Avatar photo

ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

Illustrator

Avatar photo

กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts