ขายบ้านสร้างโรงเรียน – คุยกับ ‘เจ้าคุณโซลาร์เซลล์’ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนเสียดายแดด

“อาตมาสร้างโรงเรียนนี้ขึ้นมาเพราะอยากเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนหนังสือ อาตมาเรียนไม่จบ ไม่อยากให้เด็กสมัยนี้ขาดโอกาสเหมือนตัวเอง อยากให้เด็กๆ มีคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้น” 

นี่คือเหตุผลที่ พระปัญญาวชิรโมลี (นพพร ธีรปญฺโญ) ยอมขายบ้านเพื่อก่อตั้ง ‘โรงเรียนศรีแสงธรรม’ ณ หมู่บ้านดงดิบ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปี 2553 ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้มอบโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กๆ ในชุมชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแม้แต่บาทเดียว

โรงเรียนศรีแสงธรรมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ทั้งในด้านของการจัดหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน และการบริหารโรงเรียน และยังนำไปพัฒนาต่อในแง่ของการบูรณาการเข้ากับสิ่งแวดล้อม โดยปรับให้เข้ากับกระแสโลก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ปัญหาสังคม สภาวะเศรษฐกิจ ฯลฯ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐ หน่วยงานราชการ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 

โรงเรียนเสียดายแดด

ทว่าเมื่อก่อตั้งโรงเรียนที่เด็กทุกคนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จึงทำให้โรงเรียนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก พระอาจารย์จึงเกิดไอเดียที่จะนำเรื่องพลังงานและการเกษตรมาช่วยแก้ปัญหาและสร้างรายได้ให้กับโรงเรียน ซึ่งได้กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ ‘โซลาร์เซลล์’ ในโรงเรียนศรีแสงธรรม เนื่องจากพระอาจารย์เห็นว่าแสงแดดนั้นสามารถนำมาต่อยอดเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ จึงริเริ่มศึกษาและนำวิชาความรู้มาถ่ายทอดให้กับเด็กๆ

“เราใช้พลังงานหรือโซลาร์เซลล์เข้ามาแก้ปัญหาค่าใช้จ่าย ส่วนการเกษตรคือการทำไร่นาเพื่อแก้ปัญหาค่าอาหารกลางวันของเด็กๆ ในช่วงแรกเราอยากติดตั้งโซลาร์เซลล์ในโรงเรียน แต่เนื่องจากต้องใช้งบประมาณที่สูง ก็เลยนำมาบรรจุเอาไว้ในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนก่อน”

“อาตมาคิดว่าโซลาร์เซลล์สามารถนำไปเสริมวิชาต่างๆ ที่อยู่ในหลักสูตรแกนกลางของกระทรวงศึกษาฯ ได้ อย่างเช่นในรายวิชาวิทยาศาสตร์ก็จะมีการศึกษาไฟฟ้าเบื้องต้น ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว ก็เลยนำมาสอนเพื่อให้เขาเอาไปต่อยอดใช้ในวิชาตามหลักสูตรแกนกลาง นำไปบูรณาการกับฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ โครงงาน และโปรเจกต์ต่างๆ ได้” 

“ถ้าเราจะสอนเด็กๆ เรื่องวงจรไฟฟ้า ก็ต้องซื้อทั้งรางถ่าน ซื้อถ่านไฟฉาย ซื้ออุปกรณ์เพื่อนำมาต่อเป็นวงจร แถมยังต้องซื้ออยู่เรื่อยๆ สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย เราก็เลยเอาแผงโซลาร์เซลล์แตกๆ มาสอนแทน”

แผงโซลาร์เซลล์แตกๆ ในวันนั้น กลายเป็นสิ่งที่ช่วยต่อยอดความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กๆ และยังมีการนำมาต่อยอดพัฒนาให้กลายเป็น Project-based learning สร้างเป็นโปรเจกต์และโมเดลต่างๆ จนกระทั่งนักเรียนเริ่มให้ความสนใจมากขึ้น และในที่สุด ‘วิชาโซลาร์เซลล์’ ของโรงเรียนศรีแสงธรรมก็ได้รับการบรรจุลงในหลักสูตรการเรียนการสอน

เมื่อมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้เรียน จึงเกิดการต่อยอดและพัฒนาองค์ความรู้ที่ได้รับจากในห้องเรียน เพื่อสร้างประโยชน์สู่พื้นที่นอกห้องเรียน นักเรียนโรงเรียนศรีแสงธรรมเริ่มนำความรู้ในเรื่องของพลังงานมาประยุกต์เข้ากับการเกษตร จนสามารถสร้างผลงานออกมาเป็นเครื่องมือที่ใช้งานได้จริง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ รถเข็นไฟฟ้านอนนา และการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ สร้างความสนใจให้แก่ผู้คนในชุมชนเป็นอย่างมาก

“ตอนนั้นในชุมชนมีการจัดประกวดแข่งขัน เราก็ไม่รู้จะเอาอะไรไปแข่ง ก็เลยให้เด็กเอาแผงโซลาร์เซลล์แตกไปทำไฟฉายเพื่อส่งเข้าแข่งขัน กลายเป็นว่าโปรเจกต์นี้ชนะเลิศ ผู้คนก็เลยให้ความสนใจ เริ่มติดต่อมาขอซื้อเครื่องสูบน้ำ รถเข็นนอนนา อาตมาก็เลยบอกว่าไม่ขาย ถ้าขายคุณจะได้รถเข็นแค่คันเดียว แต่ถ้าเราสอน คุณจะมีความรู้ และคุณจะได้รถเข็นเป็นสิบคัน” 

“โรงเรียนจึงเปิดอบรมโซลาร์เซลล์ต่อมา เปิดอบรมช่วงแรกเราไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่ก็ยังไม่มีใครมาเรียน เราเลยเปลี่ยนนโยบายใหม่ เก็บเงินคนละ 2,500 บาท ตอนนี้เปิดอบรมมา 74 รุ่น คนมาสมัครเต็มทุกรุ่น ซึ่งก็นับว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้มีรายได้เพื่อนำมามอบให้กับครู เพราะครูจะต้องสละเวลามาทำการอบรมในวันหยุดเสาร์อาทิตย์”

ช่างขอข้าว

โรงเรียนศรีแสงธรรมมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่ต้องการศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย ในคณะหรือสาขาวิชาที่เกี่ยวกับการเกษตรและวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อที่จะสามารถนำความรู้ที่มีอยู่ไปต่อยอดได้ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาวิชาความรู้ในเรื่องโซลาร์เซลล์ให้กลายเป็นอาชีพ เกิดเป็นทีมงาน ‘ช่างขอข้าว’ รับจ้างติดตั้งโซลาร์เซลล์ สร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชนมาจนถึงปัจจุบัน    

“ในตอนแรกกลุ่มช่างขอข้าวก่อตั้งขึ้นมาเพื่อทำการติดตั้งโซลาร์เซลล์ แลกกับรายได้ที่นำมาเป็นค่าอาหารกลางวัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป สเกลงานค่อยๆ ขยับขยายใหญ่ขึ้น ก็เลยต้องขอแรงจากผู้ปกครองของเด็กมาช่วยเหลือ เกิดเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน ครอบครัวอบอุ่น เพราะผู้คนไม่ต้องเดินทางไปหางานในเมืองใหญ่ มีเวลาให้คนในครอบครัว โซลาร์เซลล์สร้างอิมแพคให้กับชุมชนมาก”

ปัจจุบันนี้พื้นที่ชุมชนหมู่บ้านดงดิบกำลังพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีพลังงานและการเกษตร ภายใต้ชื่อโครงการ ‘โคกอีโด่ยวัลเล่ย์’ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ไม่ใช่แค่เพียงคนไทย แต่รวมไปถึงผู้ที่ให้ความสนใจในต่างแดน 

“เรากำลังพัฒนาพื้นที่ของเราให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ อาตมาอยากให้คนทั้งโลกได้มาดู มาเห็นสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ‘Make local, Think global’ วัดนี้มีโรงไฟฟ้าแบตเตอรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ถึงจะเป็นวัดบ้านนอกแต่มีผลงานระดับ hi-end”

“สิ่งที่ลงมือทำไปล้วนเป็นหลักธรรมทั้งนั้น หลักสัปปุริสธรรม 7 คือ รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาล รู้ชุมชน รู้บุคคล เราเอาหลักธรรมนี้มาสร้างเป็นกรอบแนวคิด สร้างเป็นวิถีปฏิบัติ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ชุมชน และประเทศชาติ”

“เทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมมันไม่มีวันจบ เพราะมันยังคงพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ เรายังยืนยันที่จะใช้เรื่องพลังงานกับการเกษตรในการขับเคลื่อนต่อไป และสิ่งเหล่านี้จะพัฒนาเป็นการบริการไฟฟ้าในอนาคตได้”


Writer

Avatar photo

ณัฐนรี บัวขม

มีชีวิตอยู่เพื่อดูคลิปตลก คีบตุ๊กตา และเดินหาร้านอร่อยในย่านบรรทัดทอง

Illustrator

Avatar photo

สิริกร พรอนงค์

ดีไซน์เนอร์, นักวาด และอาร์ตไดมือใหม่ที่ชอบไปทะเล

Related Posts