“คำว่า new normal ผมขอสงวนไว้เรียกสิ่งที่จะเกิดขึ้นในระยะไกลๆ”
สวนทางกับคนอื่นๆ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI คือคนที่ตั้งคำถามว่า เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือ New normal หรือความปกติใหม่
“เพราะตอนนี้มันไม่ใช่เรื่องปกติ ผมขอเรียกว่าความผิดปกติปัจจุบัน หรือ Current abnormal”
โดยเฉพาะการเรียนออนไลน์ ที่ ดร.สมเกียรติเชื่อว่า ถ้าเปิดเทอมได้ เปิดเทอมดีกว่า
“โรงเรียนเป็นหลุมหลบภัย เด็กบางคนเจอความรุนแรงในบ้าน ถึงแม้จะเป็นการหนีเสือปะจระเข้ แต่โรงเรียนก็ยังคงมีคุณค่าบางอย่าง”
ถ้าการเข้ามาของโควิด จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในวงการศึกษา นั่นคือการเรียนรู้ที่จะตัด ‘ไขมัน’ ทั้งหมดทิ้งไป
“เมื่อเวลาเรียนลดลงไปเยอะ ต้องรื้อและทำหลักสูตรอ้วนในปัจจุบันให้เป็นหลักสูตรที่ lean คงไว้แค่แก่นหรือของที่ต้องรู้จริงๆ สำหรับสอนที่โรงเรียน”
เด็กควรได้กลับไปโรงเรียน นี่คือ normal สำหรับประธานฯ TDRI
แต่ New normal จริงๆ ของ ดร.สมเกียรติ อาจเป็นชีวิตส่วนตัวที่ต้องปรับให้เป็น ‘ปกติใหม่’ หลังจากสูญเสียคู่ชีวิตไปเมื่อปีที่แล้ว
“มันก็เป็นสัจธรรมชีวิตนะ ยังไงคนมันก็ต้องจากกัน เพียงจากเร็วไปนิดหนึ่ง Life must go on (ยิ้ม)”
หากจะหาใครสักคนที่เก่งกว่า ดร.สมเกียรติ คนๆ นั้นคือ ลูกชาย
“เขาเข้มแข็ง รู้วิธีแฮนเดิลสถานการณ์ยากๆ สิ่งนี้มันพิสูจน์แล้วว่าเขาเก่งกว่าผม ผมก็เรียนรู้จากลูก”
Q: ปัจจุบันคำว่าการศึกษาถูกทำให้ดูโบราณ เป็นเรื่องของโรงเรียน ส่วนคำว่าเรียนรู้ ดูร่วมสมัย ทุกคนเรียนรู้ได้ โดยส่วนตัวอาจารย์คิดว่าเราควรแยกการศึกษาและการเรียนรู้ออกจากกันไหม
การศึกษาฟังดูโรงเรี้ยนโรงเรียน ฉันมีหน้าที่สอน เธอมีหน้าที่เรียน ความรู้มาจากคนที่อาบน้ำร้อนมาก่อน มันไล่มาตามสายพาน เด็กเล็ก ประถม มัธยม มหาวิทยาลัย
แต่การเรียนรู้แปลว่าทุกคนต้องเรียนรู้ เรียนรู้จากกันและกันก็ได้ พ่อแม่เรียนรู้จากลูกก็ได้ ครูเรียนรู้จากนักเรียนก็ได้ นักเรียนเรียนรู้ซึ่งกันและกันก็ได้
โควิดทำให้เรียนรู้เรื่องสำคัญอย่างหนึ่ง โลกต่อจากนี้มันยากที่จะคาดเดาขึ้นทุกที ทุกคนต้องเป็นคนที่เรียนรู้ ไม่ใช่หยุดนิ่งเหมือนเดิม
Q: ที่ถูกแล้ว การศึกษาและการเรียนรู้ ควรจะรวมกันไหม
เป้าหมายสุดท้ายคือการทำให้คนได้รับการเรียนรู้ เพราะสิ่งที่สนุกคือการเรียนรู้ การเรียนรู้มีความตื่นเต้นใหม่ๆ ที่ฝรั่งเรียก Aha Moment! หรือคนไทยเรียกว่า ถึงบางอ้อ! ไม่ว่าจะเรียกการศึกษาหรือการเรียนรู้ว่าอะไรก็ตาม แต่สุดท้ายต้องทำให้ผู้เรียนถึงบางอ้อ โดยวิธีในห้องเรียน จะออนไลน์ ออนไซต์ หรือในออนเซ็นก็ได้ แต่ขอให้ผู้เรียนถึงบางอ้อ!
ถ้าพูดถึงการศึกษาเรามักจะคิดว่าเป็นหน้าที่ของกระทรวงการศึกษา แต่ถ้าพูดถึงการเรียนรู้ เราไม่เคยได้ยินคำว่ากระทรวงการเรียนรู้ การเรียนรู้จึงควรเป็นหน้าที่ของทุกคน ถึงแม้สองคำนี้จะต่างกัน แต่หัวใจปลายทางควรจะเหมือนกัน คือเกิดการเรียนรู้
Q: อาจารย์เคยเขียนบทความไว้ ชวนตั้งข้อสงสัยว่าเราอาจกำลังสับสนระหว่าง Current Abnormal (ความผิดปกติปัจจุบัน) กับ New Normal (ความปกติใหม่) อาจารย์ช่วยขยายความทั้งสองคำได้ไหม
เป็นศัพท์ที่ผมคิดว่าต้องแยก เพราะไม่ได้เหมือนกันทีเดียว คำว่า new normal เป็นคำที่เราเห็นกันทั่วไป ใช้กันสารพัดความหมาย เช่น การสวมหน้ากากอนามัย – มันเป็นปกติใหม่ก็จริง เพราะเราจะเห็นมันต่อจากนี้และจะเห็นยาวไปอย่างน้อยปีนึง แต่หลังจากนี้จะมีความปกติใหม่อีกชุดหนึ่งขึ้นมา ผมเลยอยากจะแยกสองส่วนที่ต่างกัน
ผมคิดว่าตอนนี้มันไม่ใช่เรื่องปกติ สิ่งที่บางคนเรียกว่าปกติ มันไม่ปกติ ผมขอเรียกว่าความผิดปกติปัจจุบัน หรือ New Abnormal ผมไม่คิดว่าเราจะใส่หน้ากากอนามัยไปอีกนาน เพราะปกติเราไม่ได้ใส่กัน ผมจึงไม่คิดว่าคือความปกติ มันคือความไม่ปกติ เว้นแต่เราจินตนาการโลกอีกแบบหนึ่งว่าโลกนั้นจะมี COVID-20 COVID-21 … มันก็คงจะปกติที่เราจะใส่หน้ากากไปตลอด แต่ผมไม่ได้เชื่อว่าจะเป็นอย่างนั้น สิ่งนี้จึงไม่ใช่ความปกติในปัจจุบัน แต่จะเป็นความปกติใหม่ถ้าโรคนี้มาทุกปี และเราไม่ตระหนกกับมันแล้ว เรามีวัคซีนป้องกันแล้ว ดังนั้นคำว่า new normal ผมจึงขอสงวนไว้เรียกสิ่งที่จะเกิดขึ้นในระยะไกลๆ
Q: เฉพาะการศึกษาและการเรียนรู้ ควรมี New Normal ต่อไปหรือเปล่า
ควรเป็นเช่นนั้น เพราะโลกเปลี่ยน ถ้าการศึกษาและการเรียนรู้ไม่เปลี่ยน มัวติดอยู่กับอดีต ชื่นชมอยู่กับอดีต ก็จะไม่ปฏิรูปการศึกษา
ความเป็นปกติใหม่ (new normal) ของการศึกษาไทย อาจเป็น ‘ความปกติ’ ของบางประเทศอยู่แล้ว เช่น การศึกษาที่ทำให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเอง, การเรียนแบบ active learning แต่เมืองไทยไม่ได้ทำ เรายังอยู่ในแบบเก่า ถ้าเราไปทำแบบเขาอาจจะเรียก new normal ของเราก็ได้ เช่นเดียวกันในสิงคโปร์ ฟินแลนด์ ในภาวะนี้เขาก็ต้องการ new normal ของเขาใหม่เช่นกัน
เพราะว่าโลกต่อไปจะเปลี่ยนไว ซับซ้อนและคลุมเครือ เราต้องพยายามทำความเข้าใจโลกตลอดเวลาให้ได้ ดังนั้นการศึกษาของหลายประเทศที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็จะไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้นต้องมีความปกติใหม่อีกระดับหนึ่ง จะทำอย่างไรให้เด็กเปิดใจกว้างสามารถรับความเปลี่ยนแปลง พร้อมรับกับสถานการณ์ล่วงหน้าได้ เพราะโลกต่อไปจะวางแผนยากขึ้น
Q: อาจารย์หมายความว่าถ้าไม่มีโควิด ความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ในการศึกษา ก็ควรเกิดขึ้นตลอดเวลาอยู่แล้ว?
ใช่ แต่โควิดไม่ใช่เหตุการณ์ที่เราจะเจอมันบ่อย ลองถามคุณพ่อคุณแม่ดูสิ ไม่มีใครเคยเจอหรอก ต้องย้อนไปร้อยปีก่อน โรคหวัดสเปน แต่เกิดขึ้นที่อเมริกา เป็นโรคมาจากบรรพบุรุษทรัมป์ ดังนั้นถ้าสหรัฐจะเช็คบิลจีนก็ให้จีนไปเช็คบิลสหรัฐด้วย (หัวเราะ) การเปลี่ยนแปลงของโลกที่ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป เล็กๆ น้อยๆ อาจจะไม่พอ มันต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้วย ฉะนั้นถ้าจะพูดว่าจะเกิดความเป็นปกติใหม่อย่างไร จึงต้องมีต้นเหตุใหญ่ๆ เกิดขึ้นให้เรารับมือกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเรื่องที่คนในสังคมต้องเจอ ยกตัวอย่าง 20 ปีที่แล้ว ไอโฟนเขาจะผลิตในจุดที่ราคาถูกที่สุดในโลกและเขาจะไปตั้งโรงงาน เช่น ในจีน เซินเจิ้น อุปกรณ์ถูกผลิตและกระจุกอยู่ที่นั่นหมดเลย สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อเราเอาของทุกอย่างไปไว้ที่เดียวกัน ถ้าเมืองจีนปิด โรงงานผลิตไม่ได้ อยากซื้อแค่ไหนก็ไม่มีของขาย นั่นแปลว่าในโลกธุรกิจเขาต้องคิดใหม่ว่าจะทำอย่างไร
ดังนั้นถ้าโลกที่เราเคยโตมา มันไม่ใช่โลกที่เราทำงาน ก็แปลว่าคนที่เรียนตอนนี้เพื่อทำงานในอนาคตต้องมีวิธีคิดยืดหยุ่น ปรับตัว และพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่เราคาดเดาไม่ได้มากยิ่งขึ้น นี่คือหัวใจและความยาก
Q: เราควรขอบคุณโควิดไหม
มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะทำอย่างไรต่อจากนี้ ถ้าเราแก้ปัญหาได้ เราก็จะขอบคุณโควิด แต่ถ้าเราแก้ปัญหาไม่ได้ มันจะเกิดอีกภาพหนึ่ง ทุกเรื่องมีทั้งข่าวดีและข่าวร้าย เหมือนคำว่าวิกฤติในภาษาจีนที่แปลว่าทั้งข่าวดีข่าวร้าย ข่าวร้ายคือปิดโรงเรียน กำหนดเปิดเทอมที่เลื่อนไปกรกฎาคมหมายถึงจะต้องไม่มีการระบาดรอบสองแล้ว ถ้าเปิดโรงเรียนไม่ได้จะเปิดออนไลน์ เรียนออนไซต์ ตามแบบที่กระทรวงฯ ทำ
แต่อย่าลืมว่า ถ้าโรงเรียนปิด หนึ่ง-มันทำให้เด็กบางส่วนไม่ได้ไปโรงเรียน โรงเรียนไทยไม่ว่าจะดีหรือชั่ว แม้จะตอบโจทย์ทักษะให้เด็กได้ไม่ดีเท่าไร แต่การได้อยู่ในโรงเรียนมันมีคุณค่าอะไรบางอย่าง ทำให้เด็กมีพัฒนาการด้านสังคม ได้เจอคนต่างอายุ ได้เจอสังคมที่ใหญ่ขึ้น สอง-สำหรับเด็กที่ด้อยโอกาส การถูกบังคับให้มาเรียนทำให้เขาไม่ต้องไปอยู่ในตลาดแรงงาน ไม่กลายเป็นแรงงานเด็ก การที่เด็กไปทำงานตั้งแต่เล็ก ทำให้เขาไม่มีโอกาสได้ฝึกทักษะอื่นๆ เขาจึงมีค่าจ้างต่ำตลอดชีวิต
ทุกวันนี้เด็กไทยนับหมื่นคนไม่ได้มีอาหารกินที่ดีพอ การมาโรงเรียนจะทำให้เขาได้กินอาหารที่ดีกว่าอยู่บ้าน เช่นเดียวกับเด็กหญิงที่ไม่ได้ไปโรงเรียนก็พบว่ามีโอกาสตั้งครรภ์สูงกว่า นี่เป็นปรากฏการณ์ที่พบทั่วโลก
โรงเรียนจึงกลายเป็นหลุมหลบภัย เด็กบางคนเจอความรุนแรงในบ้าน ถึงแม้จะเป็นการหนีเสือปะจระเข้ แต่โรงเรียนก็ยังคงมีคุณค่าบางอย่าง ฉะนั้นเด็กไม่ได้ไปโรงเรียนจึงเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร
ถ้าจะขอบคุณโควิดแปลว่าต้องเอาเด็กกลับเข้าสู่โรงเรียนได้ แล้วทำให้โรงเรียนมีคุณภาพที่สูงขึ้น
ยกตัวอย่าง เด็กไทยเรียนเยอะมาก หลักสูตรอ้วนมาก เรียน 1,000-1,200 ชั่วโมงต่อปี ถือว่าเรียนเยอะเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่การเรียนเยอะแปลว่าผลการเรียนดีไหม ผลวัดจาก PISA คะแนนเด็กไทยต่ำกว่าประเทศ OECD เกือบร้อยคะแนนเลยนะ แปลว่าเด็กไทยในอายุ 15 เรียนช้ากว่าประเทศพัฒนาแล้วไป 3 ปีครึ่ง ถึงแม้จะเรียนเยอะมากก็ตาม
Q: ถ้าโควิด-19 จะเปลี่ยนการศึกษาไปในทางที่ดีขึ้น เปลี่ยนได้ยังไง
ชัดเจนแล้วว่าตอนนี้ไม่มีเวลาให้เรียนเยอะ เราไม่สามารถสอนแบบเดิมได้ ห้องเรียนมีจำกัด ต้องจัด social space/social distance ห้องแบบเดิม 50 คนไม่ได้ ต้องเหลือ 25 คน แปลว่าเด็กเล็กอาจต้องมาโรงเรียน เด็กโตอาจต้องเรียนออนไลน์
เมื่อเวลาเรียนลดลงไปเยอะ ต้องรื้อและทำหลักสูตรอ้วนในปัจจุบันให้เป็นหลักสูตรที่ lean คงไว้แค่แก่นหรือของที่ต้องรู้จริงๆ สำหรับสอนที่โรงเรียน แล้วเปลี่ยนวิธีการสอนโดยใช้เวลาน้อยลงแต่เรียนให้ได้มากขึ้น
ทุกวันนี้ active learning สอนด้วยหลักสูตรกระทรวงศึกษาฯ ไม่ได้ เพราะว่า KPI เยอะ ใน 1 ชั่วโมง ครูต้องเช็คลิสต์เยอะมากว่าสอนครบมไหม แล้วทุกคนชอบเอาทุกอย่างไปฝากไว้กับโรงเรียน เช่น โตไปไม่โกง เห็นผู้ใหญ่ขับรถไม่ดี ก็สอนให้เด็กเคารพกฎจราจร หลายปัญหามาจากผู้ใหญ่แล้วไปไล่แก้ที่เด็ก หลักสูตรที่มันอ้วนอยู่แล้วยังจะมีของแถมมากมายอีก เลยทำ active learning ไม่ได้
เพราะ active learning คือการจับกลุ่มถกเถียงกัน เล่นเกม พาเด็กออกไปเรียนในสถานที่จริง แต่ครูไทยทำไม่ได้เพราะจะเสียเวลา เช็คลิสต์ไม่ทัน กลัวตัวเองสอนไม่ครบ
ถ้าปรับหลักสูตรให้ lean สอนแบบ active learning เอาออนไลน์มาใช้บางส่วน เด็กโตก็จะได้ประโยชน์ เพราะการเรียนออนไลน์คือ การริเริ่มให้เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น ถ้าเด็กทำได้แปลว่าต่อไปเด็กเรียนด้วยตัวเองได้ อย่างนี้ควรขอบคุณโควิด
Q: แล้วบทบาทครอบครัว ควรเป็นอย่างไร
ช่วงเปลี่ยนผ่านมันยากมาก ต้องคนมีความพร้อม คนที่เก่งอยู่แล้ว มีพื้นฐานการเรียนอยู่แล้ว เช่น คณิตศาสตร์ ไทย อังกฤษ สามารถเรียนออนไลน์จากทั่วโลกได้เลย จึงจะรอด
แต่โจทย์ยากคือคนพื้นฐานไม่แน่น ครอบครัวไม่พร้อม พ่อแม่ไม่ได้มีการศึกษาสูง จะเรียนเองไม่ได้ จะให้พ่อแม่สอน พ่อแม่ก็ไม่พร้อม หรือพ่อแม่มีการศึกษาแต่ก็ปากกัดตีนถีบ ต้องทำงาน ไม่มีเวลา และโควิดจะทำให้พ่อแม่จนลงกันหมด
ในมุมหนึ่งเวลาพูดเรื่องความเป็นปกติใหม่ ถ้าไปฟังชนชั้นกลาง brainstrom กัน เขาก็จะบอกว่าต้องสนใจสุขภาวะ wellness สุขภาพ อาหารที่ดี นี่คือโลกของชนชั้นกลาง แต่คนที่ไม่มีเวลา ปากกัดตีนถีบ หาเช้ากินค่ำ เจอโควิดมา หาเช้า ค่ำก็ไม่พอกิน เพราะฉะนั้นเขากระเสือกกระสนมาก ไม่มีโอกาสมาคิดว่าจะกินอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น คือมีกินก็ดีแล้ว โจทย์นี้จะเป็นสองขั้วใหญ่ที่เพิ่มความเหลื่อมล้ำเลย โจทย์ใหญ่ในช่วงนี้จึงเป็นการแก้ความเหลื่อมล้ำ
ความเหลื่อมล้ำมีอยู่แล้ว มีมากด้วย ตอนนี้ยิ่งมีมากขึ้น ครอบครัวที่พร้อมอยู่แล้ว เด็กก็จะพร้อม ครอบครัวที่ไม่พร้อม เด็กก็จะไม่พร้อมและจะมีปัญหา ถ้าเกิดเรียนไม่ได้ เรียนไม่ทัน สุดท้ายก็จะ drop out
ราชการไทยเองก็มีแนวโน้มอยากทำทุกส่วนเหมือนๆ กัน เช่น ต้องเปิดโรงเรียนพร้อมกัน แต่ถ้าโรงเรียนในจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อน้อย และประเมินว่าสามารถเปิดได้ ก็เปิดไปไม่เห็นต้องมารอพร้อมกัน พ่อแม่จะได้ไปทำงาน
นี่คือส่วนที่ราชการไทยไม่เคยชิน อยากให้หลายๆ ส่วนเปิดพร้อมกันในนามของความเป็นธรรม ก็ต้องเดือดร้อนไปทุกคนเหมือนกัน กระทรวงศึกษาฯ อย่าไป one size fit all
Q: พ่อแม่ควร Relearn เรื่องอะไรบ้าง
มีสารพัดโจทย์เลย พ่อแม่อาจจะต้องตกงาน หรือธุรกิจไม่มีลูกค้า จะเกิดความท้าทายเลยว่าจะ relearn เพื่อเอาตัวรอดยังไง นี่ยังไม่ถึงขั้นว่าจะ relearn เพื่อไปสอนลูกยังไงนะ มีโจทย์ใหญ่ๆ เยอะไปหมดเลย ปัญหาคือคนรู้ไหมว่าต้อง relearn เขาน่าจะรู้นะ เพราะเขารู้ว่ากำลังเดือดร้อน ต้องปรับตัว เช่น ร้านอาหาร relearn ว่าจะขายออนไลน์ยังไง เขากำลังเรียนรู้อยู่ว่าจะอยู่กับความผันผวนอย่างไร ควรเปลี่ยนอาชีพไหม
การ relearn เรื่องปากท้อง ต้องมาเป็นอันดับ 1 ถ้าปากท้องไม่รอด จะให้พ่อแม่ไปช่วยลูก มันก็หนัก ผมเชื่อว่าคนอยากปรับตัว คำถามคือถ้าเขาอยาก มีกลไกช่วยเขาปรับตัวไหม นี่คือโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลและสังคมต้องช่วยกันคิดว่าอะไรคือกลไกที่สนับสนุนให้เขาเรียนรู้ตลอดชีวิตได้
Q: นอกจากปากท้องแล้ว พ่อแม่ก็ต้อง Relearn ไปกับลูกด้วย?
สำคัญคือ ทำอย่างไรถึงจะฝึกทักษะพื้นฐานให้ลูกได้ หลักการเรียนรู้เหมือนกันหมดเลย ตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงโต คือ plan do check act ให้เด็กวางแผนการเล่น-วันนี้เขาจะเล่นอะไร ปล่อยให้เด็กเล่น จากนั้นให้มา reflex ว่าเขาพบอะไร
ถ้าจะให้พ่อแม่ช่วยเขา พ่อแม่ก็ต้องมี plan do check act หรือ design thinking ของตัวเองเหมือนกัน
ถ้าพ่อแม่ design thinking เป็น ก็สอนลูกได้ ให้ลูกไปเรียนรู้ด้วยตัวเองเป็น ทักษะสำคัญที่เด็กควรเรียนรู้คือการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ความยืดหยุ่น ซึ่งหลายๆ เรื่องมันเป็น soft skill นะ ภาษาไทย คณิตศาสตร์แบบเดิมก็ต้องมีอยู่ เพราะมันคือพื้นฐานในการเรียน
โจทย์สำคัญคือ มีพ่อแม่กลุ่มหนึ่ง-ทำได้เพราะมีเวลา กลุ่มสอง-ทำได้แต่ไม่มีเวลา กลุ่มสาม-ทำไม่ได้แต่มีเวลา กลุ่มสี่-ทำไม่ได้และไม่มีเวลาด้วย ถึงต้องมีกลไกข้างนอกมาช่วย
Q: Ecosystem ของการเรียนรู้จะเปลี่ยนไปไหม
ecosystem เปลี่ยน คนเรียนคือทุกคน ไม่ใช่แค่เด็กต้องเรียน พ่อแม่ ครูก็ต้องเรียนทักษะใหม่ สอนแบบใหม่ รัฐบาลก็ต้องเรียนรู้การบริการการศึกษาแบบใหม่ เพราะฉะนั้น ecosystem คือทุกคนต้องเรียนรู้ และไม่ใช่การสอนที่ถูกผูกขาดโดยไม่กี่หน่วยงานหรือเฉพาะรัฐบาลหรือกระทรวง แต่คนสอนต้องเต็มไปหมดเลย
Q: อาจารย์เขียนในบทความไว้ว่า การจะเรียกว่า New Normal ได้หรือไม่ ต้องมีตัวแปรหลายอย่าง ทั้งตัวแปรที่เรารู้แล้ว ตัวแปรที่เรารู้ว่ายังไม่รู้ และตัวแปรที่เราไม่รู้ว่าเราก็ไม่รู้ ตัวนี้มันจะเป็นยังไง
นั่นสิ ถ้าพูดออกมาได้ มันก็รู้สิ (หัวเราะ) จะมีเซอร์ไพรส์อีกตลอดเวลา ซึ่งเป็นเซอร์ไพรส์ที่เราไม่รู้ว่าเราไม่รู้ ซึ่งเป็นตัวแปรที่สำคัญมากๆ เพราะภาครัฐชอบคิดว่าตัวเองรู้ ยกตัวอย่างง่ายๆ การวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะคิดว่าตัวเองรู้ แล้วเป็นไง รู้ไหมว่าจะมีโควิด ไม่รู้ พอไปพูด เขาก็บอกว่ามีอยู่ ไปค้นดูสิ มีคำว่าโรคระบาดใหม่ แล้วไง คุณมีคีย์เวิร์ดก็จริง แต่คุณทำอะไรไม่ถูก คุณแจกเงินแล้วคนยังด่าว่าคุณประมาณการณ์แล้วยังผิดพลาดเยอะมาก คิดว่าจะมีคนมาขอความช่วยเหลือสัก 3 ล้าน โผล่มาจริงๆ สิบกว่าล้านแล้ว
คุณจะเห็นว่ามีสิ่งที่คุณไม่รู้เยอะ และถ้ามีสิ่งที่คุณไม่รู้เยอะ และถ้าคุณรู้ว่ามีสิ่งที่คุณไม่รู้ คุณก็จะไม่ทระนงมาก คุณก็จะไม่ไปสั่งชาวบ้านเยอะมากว่าต้องทำอย่างนี้ หนึ่ง สอง สาม สี่
ภาคเอกชนไม่มีที่ไหนวางแผนธุรกิจ 20 ปี เพราะเขารู้ว่าเขาไม่รู้ แค่ยอดขายปีหน้าจะเป็นยังไง ฉันยังไม่รู้เลย แล้วคุณไปรู้มาได้ยังไง 20 ปี นี่เป็นความมหัศจรรย์แบบหนึ่งนะ
Q: อาจารย์บอกว่าความรู้ปัจจุบัน เปลี่ยนไว ซับซ้อน ไม่แน่นอน คลุมเครือ ถัดจากนี้จะยิ่งยากมากขึ้นเรื่อยๆ
ถูกต้อง ยกตัวอย่าง ถ้าเราจะขอบคุณโควิด ในฐานะตัวเร่ง (catalyst) ให้คุณทำอะไรบางอย่างในสิ่งที่คุณอยากจะทำอยู่แล้วแต่คุณยังไม่ได้ทำ อันนี้ก็ควรจะขอบคุณ
อีกอย่าง ถ้าเราคิดถึงโรคระบาดที่มีมาก่อนอย่าง ซาร์ส เมอร์ส ซึ่งมันเป็นโคโรนาไวรัสเหมือนกันนะ ถ้าคิดว่านี่คือวัคซีน มันเตือนคุณแล้วนะว่าเดี๋ยวจะมาแบบนี้ แล้วโควิดมันมา โอเค เราไม่ได้เตรียม เพราะเราคิดว่าเมอร์สกับซาร์ส มันกระจอกมาก พอโควิดมามันถึงเป็นเรื่องใหญ่ เอาล่ะ ไม่เป็นไร โควิดรอบนี้คือวัคซีนนะ ที่เตือนว่าโรคใหม่ มันจะเปลี่ยนไว ไม่แน่นอน จะซับซ้อน จะคลุมเครือนะ ถ้าคุณเห็นแบบนี้ คุณก็เอามาทบทวน มาคิดซะว่า เออ จริงนะ เรารู้นะว่าจะมีอะไรที่เราไม่รู้อีกเยอะแยะเลย เพราะฉะนั้นเราจะจัดการเรียนรู้ยังไงเพื่อให้คนอยู่กับโลกใหม่ มันต้องไม่ใช่ความรู้แบบตายตัวนะ
ความรู้แบบตายตัวคือระบบสุริยจักรวาล มีดาวเคราะห์กี่ดวง คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต นี่คือความรู้ที่ตายตัว แล้วความรู้ที่ตายตัวจริงๆ ไม่ว่าจะเกิดหรือไม่เกิดโควิด มันไม่ใช่ความรู้ที่เอาไปใช้ได้ ความรู้ที่ใช้ได้หลายเรื่องจะเป็น practical knowledge หรือความรู้ที่นำไปปฎิบัติได้
การศึกษาต้องเปลี่ยนไปสู่ practical knowledge ความอยากเรียนรู้ ความสนใจในการเรียนรู้ คิดวิเคราะห์ให้เป็น เพราะคุณจะเจอความรู้ที่สับสนตลอด เช่น ใส่หน้ากากดีหรือไม่ดี ประธานาธิบดีอเมริกาบอกว่าไม่ต้องใส่ จนคนในทำเนียบขาวติด ถึงได้บอกว่าต้องใส่แล้ว เดี๋ยวกูติดด้วย (หัวเราะ)
ถ้าระบบการศึกษาเป็นแบบตายตัว สูตรเดียว ไม่เน้นการปฏิบัติจริง ทำให้คนเกิดปัญญาจริงและไตร่ตรองเองได้จริง มันไปไม่รอด ถ้ามองว่านี่เป็นวัคซีน คุณก็จะขอบคุณโควิดอีกแบบหนึ่ง มันจะเปลี่ยนวิธีคิดของเราว่าโลกของเรามันบ่แน่ดอก
Q: ห้างร้านเตรียมเปิด พ่อแม่หลายคนต้องกลับไปทำงานเพื่อปากท้อง ขณะที่โรงเรียนยังไม่เปิด จะทำอย่างไร
นี่เป็นโจทย์เดียวกับตอนปิดเทอม ถ้าสมมุติว่ากรกฎาคมเปิดเทอม ก็แปลว่าอีก 2 เดือน พ่อแม่ก็คงหาวิธีจัดการได้
จัดการยังไงกับลูกเล็ก จะเอาลูกไปฝากใคร ผมคิดว่ายังดีลได้อยู่ ถ้าไม่ยาวเกินไปนะ แต่ถ้ายาวไป เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน แล้วเด็ก drop out นี่คือปัญหาใหญ่ ต้องระวังอย่าให้เหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้น
เปิดห้างแล้ว เปิดเมืองแล้ว เดี๋ยวมันจะกลับมารอบสองนะ ถ้าคิดเป็นอนุสติว่า เราจะอยู่กับโลกที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมายังไง แปลว่าคิดอะไร ต้องมีแผน 1 แผน 2 แผน 3 แล้วการศึกษาสอนไหม แผน 1 แผน 2 ไม่ได้สอน มันมีแผนเดียว มีความจริงที่ถูกต้องอยู่เซ็ตเดียว
Q: ถ้าเราลองมองไปถึงตอนมีวัคซีนแล้ว แล้วโควิดช่วยตัดเอาส่วนเกินที่ไม่จำเป็นต่อการเรียนรู้ออกไป ภาพจะเป็นอย่างไร
ถ้าจัดการอย่างนั้นได้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน แปลว่าเราเรียนรู้ได้เยอะ ถ้าเราทำได้จริง หลังจากนี้เราจะค่อนข้างสบายใจว่าเราทำได้
เหมือนเราสอนเด็ก ตอนเล็กๆ เขาทำอะไรหลายๆ อย่างไม่ได้ เช่น ลูกผมเล็กๆ ใส่เสื้อติดกระดุมมันยากมากเลยนะ พอเขาใส่เสื้อครั้งแรกได้ ติดกระดุมได้ เขาจะดีใจ มีความมั่นใจ เช่นเดียวกัน ถ้าเราสามารถปรับระบบให้เข้ากับภาวะโควิดระบาด ถ้าเราไปถึงตรงนั้นได้ ผมว่าเรามีกำลังใจนะ
ที่ผ่านมา 10-20 ปี คนไทยกำลังใจหายไปเยอะนะ การเมืองก็ทะเลาะกัน รัฐบาลก็ห่วย เศรษฐกิจก็โตช้า แต่ถ้ารอบนี้เราโชว์ตัวเองว่าเราทำได้ รัฐบาลโชว์ว่ามี capacity จัดการได้ พร้อมจะเปลี่ยน พร้อมจะแก้กฎที่ล้าสมัย พร้อมจะโยนทิ้งหลายอย่าง ซึ่งในมุมหนึ่งรัฐบาลก็ทำได้บางอย่างนะ แต่ถ้าเราสามารถจัดการเรื่องที่ใหญ่ขึ้น เช่น ปรับการเปิดเรียน แบบไม่ต้องพร้อมกันทั้งประเทศ ให้แต่ละพื้นที่ ให้แต่ละท้องที่ ตัดสินใจได้เอง เลือกตำราได้เอง เลือกสื่อการเรียนได้ กำหนดคาบได้เอง ก็จะพิสูจน์ว่าท้องถิ่นและจังหวัดมีปัญญาจัดการศึกษานะ เพราะฉะนั้นคนก็จะเลิกสงสัยในการกระจายอำนาจ
สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าเมืองไทยขาดไปคือ can do spirit คือการบอกว่าคนไทยทำได้ แต่พอบอกว่าทำได้มันวิ่งไปชนตอทุกที ตอจำนวนมากคือรัฐบาล คือผู้ใหญ่ที่ไม่ฟังเด็ก ถ้าโชว์ว่าทำได้หลังจากนั้นไม่ต้องห่วงนะ มันจะมีความมั่นใจ มีผลงาน มีความไว้ใจ และจะไปสู่จุดใหม่ การเปลี่ยนแปลงใดๆ จะไม่กระโดดทีเดียวแต่จะเป็นเกลียว พอทำได้ก็จะไปได้ดีขึ้น
Q: ทำอย่างไรถึงจะจูงใจให้พ่อแม่เชื่อและคิดตามว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ที่บ้าน
A ถ้าพ่อแม่มีสปิริตคิดว่าเราไม่รู้ ไม่เป็นไรเราพร้อมเรียนรู้ไปกับลูก เรียนรู้พร้อมๆ กัน ถ้าอย่างนี้มันได้ใจ แปลว่าถ้าลูกเรียนรู้วิชานี้นะ เขายังไม่รู้ เราเองเคยเรียนรู้นานจนลืมไปแล้วว่าเราเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง แต่อย่างน้อยวันนี้เรารู้ว่าเราจะ Google ไปที่ไหน เราจะไปดูคลิปที่ไหน แล้วเราก็จะมาเรียนรู้พร้อมกับลูก อย่างนี้ผมว่าอาจจะเป็นไปได้มากกว่า
อีกอย่างหนึ่งถ้าพ่อแม่มีประสบการณ์หรือทำงานจนเชี่ยวชาญอะไรบางอย่าง ก็คงเป็นกำลังใจส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาจะนำมาถ่ายทอดให้ลูกได้
ค่านิยมในสังคมที่อยู่นิ่งมานาน คือคนที่มีประสบการณ์ คนที่มีอำนาจมากกว่าจะรู้คำตอบของสังคม แต่ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงผันผวนโกลาหลขนาดนี้ คนต้องมีความกล้าที่จะบอกว่าฉันก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่เรามาหาคำตอบด้วยกันสิ พ่อก็ไม่รู้เหมือนกัน ตั้งแต่เกิดมาพ่อก็ไม่เคยเจอโรคระบาดแบบนี้ เรามาศึกษาด้วยกันสิว่าเราจะอยู่กับโควิดยังไง ดังนั้น หัวใจสำคัญคือการติดทักษะให้ลูก และเปิดกว้าง
Q: แต่ก่อนเราจะคิดว่าการเรียนคือการไปโรงเรียน ครูคือคนให้ความรู้ แต่พอโควิดเข้ามา จะทำให้นิยามของการเรียนเปลี่ยนไปไหม
เอาที่ฐานคิดก่อนว่าทำยังไงให้เด็กได้เรียนรู้ จะด้วยวิธีอะไรก็ได้ ถ้าครู รัฐบาล พ่อแม่ ทุกคนเชื่อว่าการเรียนรู้สำคัญต่ออนาคตของเด็ก คือการลงทุนครั้งใหญ่ในชีวิตของเขาซึ่งมันไม่ควรหยุดนิ่ง พอตั้งโจทย์อย่างนี้แล้วจะทำยังไงก็ได้ แล้วไปเรียนรู้กันว่าจะแก้โจทย์นี้ยังไง ถ้าโรงเรียนเปิดได้ก็ทำที่โรงเรียน ถ้าห้องมันแน่น ต้องจัดระยะห่างก็ต้องทำ ถ้าเว้นระยะห่างแล้วไม่พอ ต้องแบ่งเรียนเป็นกะไหม ทำอะไรก็แล้วแต่ขอให้เอาเด็กเป็นตัวตั้งว่าเราจะส่งเสริมให้เขาเรียนรู้ให้ดีที่สุด
แม้สถานการณ์จะไม่เอื้อ ลองคิดดูจะมีได้กี่วิธี ถ้ามีสปิริตแบบนี้ต่อไปปัญหาอะไรเข้ามาก็จะแก้ได้ เพราะเรียนจากปัญหาจริง แก้ปัญหาจริงได้
Q: ปีที่แล้วเราทราบข่าวเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิตอาจารย์ อาจารย์มีวิธีเปลี่ยนผ่านรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง เท่าที่สังเกต เราเห็นอาจารย์ทำงานเยอะ หรือมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ
นั่นสิ พูดมากเหลือเกิน (หัวเราะ) จริงๆ ก็เป็นสัจธรรมชีวิตนะ ยังไงคนก็ต้องจากกัน เพียงจากเร็วไปนิดหนึ่ง ก็แค่นั้น ถ้าคิดแบบนี้ก็อาจจะเป็นเรื่องปกตินะ สุดท้ายไม่เราจากเขาไปก่อน เขาก็จากเราไปก่อน เป็นเรื่องธรรมดา life must go on (ยิ้ม) ไม่มีอะไร
คนปรับตัวเก่งกว่าผมก็คือลูกชาย ผมก็เรียนรู้จากเขา เขาปรับตัวได้ ทั้งๆ ที่คนที่ควรช็อกมากกว่าใครคือเขา เพราะเขาสนิทกับแม่มาก ผมก็ไปแทนที่ส่วนหนึ่งเท่าที่แทนได้ ตอนนี้เขาก็ยังปิดเทอมยาว ก็มีโอกาสได้ใช้ชีวิตด้วยกัน ได้คุยกัน ได้เล่นกัน เรียนรู้อะไรสนุกๆ ด้วยกันเยอะ
Q: แสดงว่าลูกชายต้องมีพื้นฐานแข็งแรงพอสมควร?
ใช่ๆ แม่เขาสอนดี ไม่รู้แม่เขาพูดยังไงนะ แต่บอกว่า แม่ไม่ได้อยู่กับลูกตลอดไปนะ แต่แน่นอนตอนที่พูดไม่มีใครรู้ว่าแปลว่าอะไร ซึ่งก็ถูก เพราะยังไงก็ไม่มีทางอยู่กับลูกไปตลอดหรอก
เขาสอนให้ลูกนั่งสมาธิ สอนให้ลูกมีทัศนคติที่ดี รู้จักช่วยเหลือคนอื่น และสอนให้เข้มแข็ง ปรากฏว่ามันก็พิสูจน์แล้วว่าเขาเก่งกว่าผม ผมก็เรียนรู้จากลูก
Q: อาจารย์ได้เรียนรู้อะไรจากลูกบ้างคะ
(หัวเราะ) อืม เรียนรู้อะไรนะ (นิ่งคิด) เรียนรู้วิธีการแฮนเดิลสถานการณ์ยากๆ มั้ง เขาก็พูดว่า เขาอยากทำให้แม่ภูมิใจในตัวเขา เออ พอเห็นลูกสบายใจ ผมก็สบายใจขึ้นเยอะ สุดท้ายเราก็คิดว่าเราไปคิดแทนเนอะ ว่าคนนั้นจะเป็นยังไง คนนี้จะเป็นยังไง สุดท้ายแต่ละคนเขาก็หาโซลูชั่นของเขาได้ ไม่มีอะไรลึกซึ้ง (ยิ้ม)
Q: ลูกชายอายุ 18 วัยรุ่นน่าจะต้องหาวิธีดีลกับอารมณ์ตัวเอง คุณพ่ออย่างอาจารย์อยู่ตรงไหน หรือเข้าไปช่วยอย่างไรบ้าง
จริงๆ ตอนอยู่ด้วยกันเขาจะอยู่กับแม่เยอะ สนิทกับแม่ เล่นด้วยกันเป็นเพื่อน แต่พอเขาไปเรียนโรงเรียนประจำ ได้เจอกับเพื่อน เขาก็จะมีสังคมวงกว้าง มีเพื่อนเยอะ เขาสามารถ set goal ในชีวิตประจำวัน เช่นวันนี้จะเล่นนั่น เล่นนี่ จะท่องศัพท์ภาษาอังกฤษ วันนี้จะทำแคลคูลัส วันนี้จะขอไปวิ่ง เขาจะมีแผนของเขา แล้วพอเขาทำตามแผนได้ เขาก็จะโอเค
ถ้าผมจะไปช่วยเขานิดนึงก็คงเป็นช่วงสมัครเข้ามหาวิทยาลัยหลายที่ ก็จะมีทั้งที่ที่ตอบรับและที่ที่ไม่ตอบรับ ที่ที่ไม่ตอบรับเขาก็จะเสียใจ ก็ให้กำลังใจเขา ว่า โอ้ย ชีวิตยังอีกไกลเลย ชีวิตมันไม่ใช่แค่การเรียนมหาวิทยาลัย ไม่ได้มหา’ลัยนี้ก็ยังมีมหา’ลัยดีอื่นๆ ตอบรับมา อย่าไปสร้างความคาดหวัง อย่าไปกดดันเขา
ที่น่าเป็นห่วงคือ เด็กเจเนอเรชั่นโควิดทั้งเด็กที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย เขาก็จะรู้สึกว่ามหา’ลัยจะได้เปิดหรือเปล่า ผมคิดว่าเทอมแรกนี้ได้เรียนออนไลน์แน่ๆ ไม่ว่าประเทศไหนก็ตาม เด็กที่เรียนจบปี 4 ยิ่งแย่นะ งานไม่มี เรียนต่อจะไปได้หรือเปล่าหว่า จะมีสตางค์ไปเรียนไหม อยากให้เข้าใจความทุกข์ของคนอื่น