เสียงสะท้อน “ครูฝึกสอน” อีกหนึ่งแรงงานในระบบนิเวศโรงเรียน

  • Mappa ชวนฟัง “เสียงสะท้อน” ของครูฝึกสอนในโรงเรียนรัฐบาลไทย ขณะที่เด็กนักเรียนย่อมมีประสบการณ์ที่ดีและไม่ดีเกี่ยวกับครูฝึกสอนสลับกันไป ครูฝึกสอนเหล่านี้ก็มี “เรื่องเล่า” ของความเจ็บปวดและความงดงามในรั้วโรงเรียนเช่นกัน
  • โดยปกติแล้ว ครูฝึกสอนถูกกำหนดว่าต้องมีคาบสอนประมาณ 10 คาบต่อสัปดาห์ แต่ด้วยปัจจัยต่างๆ ของทางโรงเรียนหรือครูพี่เลี้ยง ทำให้ครูฝึกสอนบางคนถูกเอาเปรียบ และต้องสอนมากถึง 22 คาบต่อสัปดาห์เลยทีเดียว
  • ปฏิเสธไม่ได้ว่าครูฝึกสอนถูกมองว่าเป็น “แรงงานฟรี” ที่ทางโรงเรียนได้รับ และถูกใช้งานไปกับงานหลายอย่างที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานสอน ซึ่งสิ่งนี้ถูกปฏิบัติสืบต่อกันมาจนกลายเป็นวัฒนธรรมในสังคมโรงเรียนไปแล้ว
  • แน่นอนว่า “ครูพี่เลี้ยง” มีบทบาทสำคัญต่อครูฝึกสอนเป็นอย่างมาก แต่ “นักเรียน” เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อประสบการณ์การฝึกสอนเช่นเดียวกัน 

เชื่อว่าคนที่ผ่านการเรียนในโรงเรียนไทยคงคุ้นเคยกับการมี “ครูฝึกสอน” แวะเวียนมาสอนทุกปี พร้อมกับชุดยูนิฟอร์มนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ในขณะที่เด็กนักเรียนย่อมมีประสบการณ์ที่ดีและไม่ดีเกี่ยวกับครูฝึกสอนสลับกันไป พร้อมๆ กับครูฝึกสอนที่หมุนเวียนเปลี่ยนหน้ามาที่โรงเรียนทุกปี ครูฝึกสอนเหล่านี้ก็มี “เรื่องเล่า” ของความเจ็บปวดและความงดงามในรั้วโรงเรียน ระหว่างการทำหน้าที่ “ฝึกสอน” เพื่อเตรียมพร้อมสู่การประกอบวิชาชีพครูที่แท้จริงหลังจบการศึกษา

Mappa ชวนฟัง “เสียงสะท้อน” ของครูฝึกสอนในโรงเรียนรัฐบาลไทย อีกหนึ่ง “แรงงานฟรี” ที่ถูกมองข้ามไปจาก “ผู้ใหญ่” ที่มีอำนาจต่อชีวิตของครูฝึกสอนเหล่านี้

โรงเรียนเลือกหรือเลือกโรงเรียน

“ระบบหรือวิธีการเลือกโรงเรียนของครูฝึกสอนคือ โรงเรียนจะส่งอัตราจำนวนครูฝึกสอนที่ต้องการเข้ามาว่าเขาต้องการกี่คน เช่น ปีนี้โรงเรียนของเขาต้องการครูภาษาไทยกี่คน ครูคณิตศาสตร์กี่คน พอมหาวิทยาลัยได้จำนวนมา ก็จะส่งมาที่สาขาของเรา แล้วเมื่อถึงวันที่ต้องเลือกโรงเรียนก็จะเป็นเหมือนวันมหาวิปโยคของเด็กศึกษาฯ เลย เพราะทุกคนจะมานั่งรวมกัน แล้วก็เลือก ซึ่งบางคนก็สมหวังได้ฝึกสอนโรงเรียนที่ต้องการ แต่บางคนก็ผิดหวัง” เติ้ล เริ่มต้นเล่า

“เติ้ล” อดีตนิสิตฝึกสอนจากรั้ว มศว. มีโอกาสได้ฝึกสอนใน 2 โรงเรียนซึ่งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเขาสะท้อนว่ามีความแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว แม้จะเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงทั้งคู่ก็ตาม ขณะที่ “พลอย” นักศึกษาฝึกสอนวิชาภาษาอังกฤษ ก็มีโอกาสได้เข้าฝึกที่โรงเรียนประจำอำเภอแห่งหนึ่ง ซึ่งเธอให้ความเห็นว่า “ก็เป็นประสบการณ์ที่ดี”

“ตอนนั้นทางคณะเลือกชั้น ม.ต้นให้ เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ประจำอำเภอ และด้วยความที่โรงเรียนให้ความสำคัญกับหมวดภาษาต่างประเทศ เราเลยได้อยู่ในตึกใหม่ที่สุด สะอาดที่สุด มีอะไรพร้อมที่สุด แล้วสังคมครูก็แตกต่างกัน เพราะครูภาษาอังกฤษมีภาพลักษณ์ว่าเป็นครูสมัยใหม่ เขาก็เลยไม่ได้ซีเรียสกับกฎระเบียบสักเท่าไร อยากทำเล็บก็ทำเลย คือไม่ได้มีข้อจำกัดอะไรมาก แต่ต้องยอมรับว่าเขาก็พึ่งพานักศึกษาฝึกสอนประมาณนึงเลย เนื่องจากเวลาเราฝึกสอน เราอยู่กันเป็นปี ทางโรงเรียนเขาก็คาดหวังให้เราชวนเพื่อนๆ ชวนน้องๆ มา หมวดวิชานั้นวิชานี้อยากได้นะ ปีหน้าส่งรุ่นน้องมาอีกนะ อะไรแบบนั้น” พลอยสะท้อน

แบ่งคาบสอนจากครูพี่เลี้ยง

“เราแบ่งคาบสอนกับครูพี่เลี้ยงคนละครึ่ง เช่น ในหนึ่งสัปดาห์ คุณครูจะมีคาบสอนทั้งหมด 21 คาบ เราก็จะเอามารับผิดชอบทั้งหมด 10 คาบ แล้วด้วยความที่เป็นครูมัธยม เราไม่ได้สอนหลายวิชา เขาก็แบ่งเลยว่าครูหนึ่งคนต้องรับผิดชอบนักเรียน 9 ห้อง เราก็เลยได้ดูแลนักเรียน 3 ห้อง” พลอยบอก 

ขณะที่พลอยรับผิดชอบคาบสอน 10 คาบทุกสัปดาห์ เติ้ลกลับเจอกับประสบการณ์การสอนที่ “ไม่ราบรื่น” สักเท่าไรนัก ในระหว่างการฝึกสอนที่โรงเรียนที่สอง ที่คาบสอนของเขาเพิ่มจาก 10 คาบ เป็น 22 คาบต่อสัปดาห์ เนื่องจากครูพี่เลี้ยงติดภาระงานอื่นของโรงเรียน

“เกณฑ์ว่าจะเราจะผ่านการฝึกสอนหรือไม่ ข้อหนึ่งคือเขากำหนดว่าถ้าเป็นนิสิตฝึกสอนต้องสอนให้ครบ 8-10 คาบต่อสัปดาห์ รวมถึงงานจิตอาสาที่เราก็ต้องทำ อย่างเราก็มีไปนั่งห้องปกครอง เพื่อคีย์ข้อมูลลงระบบว่าวันนี้นักเรียนขาดลาด้วยสาเหตุอะไร มีไปตักข้าวกลางวัน หรือไปยืนเวรตอนเช้า และเข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียน เช่น งานกีฬาสี ที่ครูฝึกสอนก็จะถูกบรรจุให้อยู่แต่ละสี ซึ่งโรงเรียนแรกมันมีระบบที่ชัดเจน เราได้ทำตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนดมาจริงๆ แต่โรงเรียนที่สองไม่ใช่แบบนั้น เพราะเราได้สอนทั้งหมด 22 คาบ” เติ้ลกล่าว

“คาบสอน 22 คาบคือเท่ากับครูคนหนึ่งเลย ถามว่าทำไมเป็นแบบนั้น เพราะช่วงนั้นมันตรงกับงานใหญ่ประจำสถาบัน และครูพี่เลี้ยงของเราก็เป็นหัวหน้าทีมประชาสัมพันธ์ของงาน เมื่อโรงเรียนไม่จ้างออแกไนซ์เซอร์ คุณครูกับนักเรียนก็ต้องทำกันเอง มันเลยกลายเป็นว่าพอครูพี่เลี้ยงเราต้องทำไปตรงนั้น เลยก็ต้องมาช่วยสอน แต่ก็อยู่ด้วยความเข้าใจกัน เพราะเราจะปฏิเสธไม่สอนก็ไม่ได้ เขาก็งานหนักจริงๆ” เติ้ลเสริม

ครูพี่เลี้ยงใจดี (หรือเปล่า)

“เราได้ครูพี่เลี้ยงที่ดีมากๆ เขาดูแลเราดีและยุติธรรมกับเรามาก เขาไม่เข้ามายุ่งกับสิ่งที่เราสอนเลย แต่จะคอยช่วยตรวจช่วยดูแผนการสอน เนื้อหาการสอน หรือการออกข้อสอบของเรา แล้วก็ติดตามผลการสอนของเรา ประเมินเรา ซึ่งก็ถือว่าเราโชคดี แต่เพื่อนบางคนก็ไม่ได้โชคดี ที่ดันไปเจอครูพี่เลี้ยงที่ชอบโยนคาบสอนให้ จนเพื่อนบางคนมีคาบสอนมากกว่าประมาณ 40 – 50 เปอร์เซ็นต์เลย” พลอยบอก 

พลอยเล่าถึงเพื่อนครูฝึกสอนจากต่างมหาวิทยาลัยแต่เข้ามาฝึกสอนในโรงเรียนเดียวกันว่า เพื่อนคนนี้ถูกเปลี่ยนครูพี่เลี้ยงกะทันหัน เนื่องจากครูพี่เลี้ยงเกษียณอายุราชการ ทำให้คาบสอนต่างๆ ถูกถ่ายโอนไปที่ครูฝึกสอนคนนี้ ขณะที่ต้องรับมือกับคาบสอนจำนวนมาก เพื่อนคนนี้ก็ต้องรับมือกับครูพี่เลี้ยงคนใหม่ที่มักจะคอยดุด่าอยู่เสมอ 

“ครูพี่เลี้ยงคนนี้โยนงานให้เพื่อนหมดเลย ทั้งงานของตัวเอง งานเอกสาร คาบสอนที่ปกติต้องแบ่งจากครูพี่เลี้ยงครึ่งหนึ่ง แต่เพื่อนต้องรับผิดชอบทั้งหมด เขาสอนทั้งวัน แล้วเสาร์อาทิตย์ก็ต้องไปให้อาหารปลา ไปพรวนดินแปลงผัก แล้วก็ต้องหิ้วปลาไปขายที่ตลาดให้ เพื่อเอาเงินมาเข้าบัญชีคุณครู แล้วโรงเรียนจะมีการประเมินคุณภาพโรงเรียน ซึ่งจะมีศึกษานิเทศก์มาตรวจ ครูพี่เลี้ยงคนนี้ก็ให้ศึกษานิเทศก์ไปประเมินคาบเรียนที่ครูฝึกสอนเป็นผู้สอน” พลอยเล่า

“เราก็เคยเจอมีครูท่านหนึ่งที่เข้ามาบอกเราว่ามีครูฝึกสอนก็ดี จะได้มาช่วยกันสอน ตัวแกเองก็แก่แล้ว ต้องไปโรงพยาบาลบ่อย มาสอนลำบาก แต่หัวหน้าหมวดก็พูดดีมากเลย เขาบอกกับเราว่าโรงเรียนไม่ได้รับครูฝึกสอนมาเพื่อแบ่งเบาภาระครูนะ แต่ก็มีครูบางส่วนที่เชื่อว่าครูฝึกสอนจะมาแบ่งเบาภาระตัวเองจริงๆ อย่างไรก็ตาม การมาฝึกสอนคือการมาฝึกประสบการณ์ ดังนั้น ครูพี่เลี้ยงอาจจะได้คนมาช่วยงาน แต่คนๆ นั้นก็คือนักศึกษาที่ยังเรียนไม่จบ ประสบการณ์น้อย ครูพี่เลี้ยงก็ต้องช่วยสอนงาน ในขณะที่ครูฝึกสอนก็ช่วยสอนนักเรียนนั่นเอง” เติ้ลชี้ 

แรงงานฟรีที่โรงเรียนได้

ปฏิเสธไม่ได้ว่าครูฝึกสอนที่เข้าไปฝึกสอนในโรงเรียน ถูกมองว่าเป็น “แรงงานฟรี” ที่ทางโรงเรียนได้รับ และถูกใช้งานไปกับงานหลายอย่างที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานสอน ซึ่งพลอยสะท้อนว่าโรงเรียนของเธอก็พึ่งพาครูฝึกสอนในแง่นั้นจริง และปฏิบัติสืบต่อกันมาจนกลายเป็นวัฒนธรรมในสังคมโรงเรียนไปแล้ว 

“โรงเรียนพึ่งพาเราในแง่แรงงาน ซึ่งงานพื้นฐานเลยคืองานเสิร์ฟ เป็นงานที่นักศึกษาต้องทำ หรือไม่งั้นก็เป็นงานจัดเวที งานจีบผ้า งานแบกหามต่างๆ เพราะทางโรงเรียนเขาไม่ได้จ้างออแกไนซ์เซอร์ ก็เลยเป็นคุณครูทำกันเองทั้งหมด แล้วถ้าเทอมนั้นไม่มีนักศึกษาฝึกงาน หน้าที่นี้ก็จะตกเป็นของครูอัตราจ้าง” พลอยเล่า 

ด้านเติ้ลมองว่าการทำงานบางอย่างที่อาจจะไม่ได้ถูกกำหนดอยู่ในเกณฑ์การฝึกสอนนั้น หากครูฝึกสอน “สมัครใจ” ที่จะช่วยแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เนื่องจากการมาฝึกสอนไม่ได้มุ่งไปที่เรื่องการสอนเพียงอย่างเดียวอยู่แล้ว

“มันก็อาจจะมีบางงาน ที่เราในฐานะครูของโรงเรียนคนหนึ่งควรจะเข้าไปช่วยเท่าที่เราพอจะช่วยได้ แต่ถามว่าเราเคยเจอประสบการณ์ที่ถูกใช้งานในเรื่องไร้สาระหรือเปล่า มันก็มีเหมือนกัน คือคุณครูให้เราไปคุมสอบแทน ซึ่งจริงๆ มันก็ไม่ใช่เรื่องการใช้งานที่ไม่ถูกไม่ควรนะ แต่คุณครูท่านนี้เขาให้เราไปคุมสอบแทน แล้วสุดท้ายเขาไปเซ็นรับเงินคุมสอบ ซึ่งมันเป็นส่วนที่เราควรจะเป็นคนได้หรือเปล่า” เติ้ลตั้งคำถาม

“โรงเรียนที่เราไปฝึกสอนรับนักศึกษาฝึกงานเยอะมาก ก็เลยต้องมีประธานนักศึกษาคอยรับคำสั่งเวลาที่โรงเรียนสั่งงานมา ซึ่งบางครั้งมันเป็นการเรียกไปทำงานที่เราต้องออกจากห้องเรียนตอนนั้นเลย ถ้ามีประชุมก็ขอให้ละการสอนออกมาก่อน แต่บางทีมันไม่ใช่การประชุมสำคัญอะไรเลย เช่น มีผู้อำนวยการจากโรงเรียนอื่นมา นักศึกษาฝึกงานก็ต้องไปเสิร์ฟน้ำ ถ้าเป็นเวรใครก็ต้องไป แม้จะมีงานสอนอยู่ ไม่งั้นก็ไปแลกกับคนอื่น ซึ่งใครจะอยากทำ” พลอยสะท้อน

ประสบการณ์นักเรียนที่ทั้งดีและแย่

สำหรับเติ้ลแล้ว ประสบการณ์ที่ดีส่วนใหญ่ของการเป็นครูฝึกสอนคือเรื่องราวของนักเรียน ซึ่งนักเรียนหลายคนให้ความสนิมสนมและความเชื่อใจกับครูฝึกคนสอนคนนี้มาก ทั้งยังแสดงให้เติ้ลเห็น “ด้านที่งดงาม” ของการเป็นคุณครูที่คอยช่วยเหลือนักเรียนของตัวเองอย่างตั้งใจ อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ที่เลวร้ายที่สุดของการเป็นครูฝึกสอนของเติ้ลก็เป็นเรื่องของนักเรียนเช่นกัน ไม่แตกต่างจากพลอย ที่เล่าว่าปัญหาเรื่องนักเรียน เปรียบเสมือน “ฝันร้าย” ของเธอ

“เวลาเราเรียนกับอาจารย์ในห้องเรียน อาจารย์สอนเราเสมอว่าถ้าเราสอน แล้วเด็กเกิดปัญหา ให้เราโทษตัวเองก่อน อย่าเพิ่งโทษเด็ก แต่เราได้เรียนรู้จากการฝึกสอนแล้วว่ามันไม่จริง เราโทษเด็ก เพราะเราทำทุกวิถีทางแล้ว แต่เด็กไม่กระตือรือร้นเลย ซึ่งเราว่ามันประหลาดมากเลยที่เด็กมากมายจะสามารถเมินเฉยต่อเกรดและการเรียนได้มากขนาดนี้” 

“เด็กนักเรียนของเราไม่สนใจเลยว่าตัวเองจะติด 0 เขาไม่ส่งงาน ไม่กระตือรือร้น พอเราดุ เขาก็หัวเราะขำ จนเราต้องไปตามที่ผู้ปกครอง ถึงจะได้อะไรสักอย่างกลับมา เราพยายามทวงงานจากเด็ก เรียกมาคุยส่วนตัว ชี้ช่องคะแนนให้ดู ถึงขนาดว่าแปะเฉลยให้นักเรียนลอกมาส่งก็แล้ว แต่มันไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย แล้วมันไม่ใช่นักเรียนแค่หนึ่งหรือสองคน แต่เป็นนักเรียนจำนวนมาก” พลอยเล่าประสบการณ์

สิ่งที่ครูฝึกสอนอยากให้เปลี่ยนแปลง

พลอยระบุว่า ปัญหาของครูฝึกสอนมีความแตกต่างกันไปตามสังคมของโรงเรียน แต่สิ่งหนึ่งที่เธออยากให้มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด คือเรื่อง “การปกป้องนักศึกษา/นิสิตฝึกสอน” เนื่องจากมีหลายกรณีมากที่ครูฝึกสอนเกิดปัญหาหรือต้องการความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยต้นสังกัด แต่มหาวิทยาลัยเลือกที่จะเมินเฉย และลงท้ายด้วยการบอกให้ “ทนไปก่อน” หรือ “ขอจบเทอมก่อนได้ไหม” 

“มันก็มีกรณีที่เพื่อนโดนครูในโรงเรียนขับรถชน แล้วเพื่อนก็บาดเจ็บ แต่กลับไม่ได้รับการเยียวยาหรือแม้แต่คำขอโทษ เพราะครูที่โรงเรียนก็มองว่าเขาเป็นนักศึกษา อาจจะด้วยระบบสังคมแบบผู้ใหญ่ – เด็กด้วยแหละทั้ง เขาก็มองว่าไม่เป็นอะไร เมินเฉยไป แล้วก็ไม่สนใจที่จะรับผิดชอบ ขณะที่ทางมหาวิทยาลัยก็ไม่ช่วยเหลืออะไรเหมือนกัน” พลอยสะท้อน

ด้านเติ้ลก็สะท้อนว่า “เรื่องเงิน” คือสิ่งที่ควรได้รับการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากครูฝึกสอนไม่ได้รับเงิน แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายที่ไม่แตกต่างจากครูคนหนึ่งเลย ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าอุปกรณ์ ค่าเอกสาร หรือแม้แต่ค่าอาหาร ซึ่งเติ้ลไม่ได้เรียกร้องเงินเท่ากับคุณครูคนหนึ่ง แต่ถ้ามีเงินจำนวนหนึ่งที่สามารถซัพพอร์ตหรือช่วยเหลือครูฝึกสอนได้ก็จะดีมาก

“อีกเรื่องที่อยากให้ปรับคือเรื่องของความคิดของครูในโรงเรียน ว่าครูฝึกสอนมาเพื่ออะไร เราไม่ได้มาเพื่อแบ่งเบาภาระครู เรามาเพื่อหาประสบการณ์ เรามาเพื่อให้เราเก่งขึ้น เราเป็นเด็กอายุ 20 ปีคนหนึ่งที่เพิ่งเข้าโรงเรียนในฐานะครูสอนเป็นครั้งแรก เราก็เลยอยากให้ครูทุกคนเข้าใจว่าเรามาทำอะไร ไม่ใช่นึกอะไรไม่ออกก็บอกครูฝึกสอน คืออย่างน้อยมองว่าเราเป็นครูคนหนึ่งสักนิดก็ยังดี” เติ้ลกล่าวปิดท้าย


Writer

Avatar photo

ณัฐฐฐิติ คำมูล

วัยรุ่นปวดหลังที่ใฝ่ฝันถึงสังคมที่ทุกคนเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง

Illustrator

Avatar photo

สิริกร พรอนงค์

ดีไซน์เนอร์, นักวาด และอาร์ตไดมือใหม่ที่ชอบไปทะเล

Related Posts