หากใครที่ติดตามข่าวเชิงสังคมและเศรษฐกิจอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็น ‘รัฐสวัสดิการ’ ‘สวัสดิการ’ ‘ทุนนิยม’ ‘ล้างหนี้กยศ.’ และ ‘ประกันสังคม’
เชื่อเหลือเกินว่าคุณอาจจะพอคุ้นหน้าเขาคนนี้ – ใช่แล้ว เขาคือ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี หรือ ‘อาจารย์จั๊ก’ อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ศึกษาวิจัยด้านรัฐสวัสดิการ และผลักดันนโยบายที่ส่งเสริมให้ประเทศไทยกลายเป็นรัฐสวัสดิการ หนึ่งผู้ร่วมจดจัดตั้งและที่ปรึกษาปีกแรงงานพรรคอนาคตใหม่ และกรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน คณะกรรมการประกันสังคม
ยิ่งไปกว่านั้น เขายังเป็น ‘คุณพ่อมือใหม่’ ของ ‘น้องฟินแลนด์’ ลูกสาววัย 1 ขวบหมาดๆ ของบ้านธรรมบุษดี
ในวันนี้ Mappa จึงชวนอาจารย์จั๊กสนทนาสบายๆ เกี่ยวกับบทบาทของคุณพ่อในการสนับสนุนการเติบโตของลูก การเติบโตของเขาไปกับบทบาทคุณพ่อ มากไปถึงสังคมแบบไหนที่ใฝ่ฝันให้ลูกเติบโตในฐานะคุณพ่อผู้เชื่อมั่นในรัฐสวัสดิการ
‘คุณพ่อมือใหม่’
“ตอนที่รู้ว่ากำลังจะเป็นคุณพ่อ อาจารย์รู้สึกอย่างไรบ้าง?” เป็นคำถามแรกที่เราเริ่มถาม อาจารย์จั๊กตอบเราด้วยรอยยิ้มจากแก้มไปจนถึงดวงตา ก่อนจะเล่าว่า “ผมแต่งงานตั้งแต่อายุ 28 ปีและพยายามมาลูกมาตลอดอีกกว่า 10 ปี ด้วยเป็นครอบครัวที่มีบุตรยาก จึงต้องมีการเตรียมพร้อมและทบทวนความรู้สึกอยู่เสมอว่าเรายังอยากมีลูกหรือไม่”
“นอกเหนือไปจากการเตรียมความพร้อมด้านร่างกาย การเตรียมพร้อมทางจิตใจก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะหลังจากนี้จะต้องเหนื่อย และอาจมีบางเวลาที่รู้สึกยาก ตรงนี้จึงเป็นอีกการเตรียมตัวสำคัญที่ผมเตรียมพร้อม” อาจารย์จั๊กว่าต่อ
ด้วยความที่น้องสาวของภรรยามีลูกชายก่อน เขาเองจึงได้มีโอกาสได้ดูแล เลี้ยงดู และสัมผัสกับเด็กอย่างใกล้ชิด นั่นเลยทำให้เขาและภรรยายิ่งมี ‘ความพร้อม’ ที่อยากจะมีลูก
จนกระทั่งมีข่าวดีเกิดขึ้น นั่นนับเป็นข่าวดีที่สุดสำหรับเขาและครอบครัว แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยอมรับว่ามีความกังวลไม่น้อยในระหว่างที่ภรรยาตั้งครรภ์
“ความกังวลที่ว่า ถึงแม้ว่าพ่อแม่ทุกคนจะเคยผ่านมา แต่ผมว่าเรายังไม่ค่อยเห็นเราพูดถึงกันอย่างตรงไปตรงมาเท่าไร เพราะมันมักจะจบที่ว่าเดี๋ยวมันก็ผ่านไป แต่ที่จริงแล้วเราควรได้รับการสนับสนุนจากรัฐฯ ในเรื่องนี้ ซึ่งผมว่าประเทศไทยดีขึ้น แต่ยังไม่ได้เท่ามาตรฐาน”
ความกังวลและท้าทายในการเป็นคุณพ่อครั้งแรกของเขา รวมถึงคุณพ่อคนอื่นๆ อาจไม่ต่างกันมาก นั่นคือ การทำความเข้าใจต่อคนที่ตั้งครรภ์ เพราะนั่นคือช่วงเวลาที่ฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก รวมถึงลักษณะทางกายภาพของคุณแม่เอง ซึ่งในประเทศไทยเราอาจจะยังไม่มีพื้นที่สาธารณะที่พอเหมาะจะรองรับกับคนท้องมากเท่าไรนัก
“หากถามถึงการดูแลกันในครอบครัว ผมอาจจะพูดได้ในฐานะที่มีอภิสิทธิ์บางอย่าง คือการทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ผมอาจจะสลับตารางสอน หรือสลับตารางด้านการทำงานวิจัยได้ อย่างไรก็ดีครอบครัวจำนวนมากไม่ได้อยู่ในวิสัยที่จะทำเช่นนี้ได้ ดังนั้นมันเลยเป็นเรื่องใหญ่ที่เราพยายามผลักดันถึงเรื่องของการขยายวันลาคลอดเป็น 180 วัน แต่เอาจริงๆ ช่วงขวบปีแรกนี่ 6 เดือนยังแทบไม่พอด้วยซ้ำ”
‘น้องฟินแลนด์’
หลังจากรอคอยมานานนับสิบปี ในที่สุดวันที่ 27 ธันวาคม 2566 ก็เป็นวันเกิดของ ‘น้องฟินแลนด์’ ลูกสาวของบ้าน
“เรารอคอยอะไรมาหลายอย่างในชีวิตซึ่งในหลายครั้งเรามักรู้สึกว่ามันยาวนาน แต่การรอคอยตลอด 9 เดือนนี้ถึงจะยาวนานแต่ก็ไม่ทรมาน เป็นการรอคอยที่เปี่ยมไปด้วยความสุข”
“ผมชอบคุยเล่นกับน้องสาวอยู่เสมอว่า หากเราสามารถย้อนเวลาเหมือนกับพระเอกในหนังเรื่อง About Time (2013) ได้ ผมเองก็คงย้อนไปวันที่ 27 ธันวาคม 2566 วันที่ฟินแลนด์เกิดซ้ำๆ
“ด้วยบรรยากาศช่วยปลายปี อากาศเย็นๆ มันเป็น Moment of Joy ที่ยากจะหาอะไรมาเทียบเคียงได้ วันนั้นผมเข้าไปในห้องคลอดด้วยซึ่งพอลูกสาวออกมามันเป็นความรู้สึกที่… จากอดีตในฐานะมนุษย์ปัจเจกชนชีวิตของเราสำคัญที่สุด แต่ช่วงเวลาที่ลูกเกิดมาทำให้เราได้รู้ว่า ในโลกนี้มีสิ่งที่สำคัญมากกว่าเราแล้วนะ” อาจารย์จั๊กพูดด้วยรอยยิ้มเช่นเคย เมื่อย้อนกลับไปคิดถึงห้วงขณะแห่งความสุขในวันนั้น
เหตุผลที่เป็นชื่อ ‘ฟินแลนด์’ เพราะเมื่อปี 2564 อาจารย์มีโอกาสไปทำงานเป็นนักวิจัยรับเชิญที่ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งในครั้งนั้นภรรยาของอาจารย์ก็ได้มีโอกาสไปด้วย ทั้งคู่ชอบประเทศนี้มาก ก่อนหน้านั้นเขาเองเคยได้ไปอีกหลายประเทศในกลุ่มนอร์ดิก ทั้งสวีเดน นอร์เวย์ และเดนมาร์ก แต่ก็อาจไม่ได้ถูกตาต้องใจเท่ากับฟินแลนด์
“ฟินแลนด์เป็นประเทศเล็กๆ ที่ก้าวสู่การเป็นประเทศรัฐสวัสดิการช้ากว่าประเทศอื่นๆ เพราะเพิ่งเป็นรัฐสวัสดิการช่วงทศวรรษที่ 80 นี่เอง แต่เขาจะเป็นประเทศที่มีความ humble ที่ถึงแม้จะพื้นที่จำกัด แต่ข้อดีคือคนในชุมชนจะรู้จักกันหมด ถึงแม้ว่าผมและภรรยาเองจะอยู่แค่ระยะเวลาสั้นๆ 3-4 เดือน แต่เราก็รู้สึกว่าเราได้รับการปฏิบัติที่ดีอย่างอบอุ่นจากคนในประเทศที่ดูเหมือนจะหนาวเย็นมากๆ” อาจารย์จั๊กเล่า
“ภรรยาผมก็ชอบประเทศนี้มาก ซึ่งพอหลังจากกลับมาจากฟินแลนด์เราก็พยายามตั้งครรภ์กันจนสำเร็จในปี 2566”
“นอกจากชื่อฟินแลนด์ ที่จริงก็มีลิสต์ไว้อีก 3-4 ชื่อ เช่น ‘มูมิน’ ‘แซนน่า’ (ตั้งตาม Sanna Marin นายกรัฐมนตรีหญิงที่อายุน้อยที่สุดในโลก) จนสุดท้ายมาจบที่ชื่อ ‘ฟินแลนด์’ นี่แหละครับ”
สำหรับการเลี้ยงเด็กเล็ก เขาไม่ปฏิเสธว่า เหนื่อยจริงๆ เหนื่อยแบบไม่มีเชิงอรรถ พร้อมหัวเราะเบาๆ
“ยิ่งช่วง 3 เดือนแรกคือเขาจะตื่นทุก 2 ชั่วโมง อันนี้ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นความเหนื่อยทางกายภาพเพราะเราต้องให้เวลาเต็มที่กับตรงนั้น”
“อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือการ ‘ให้นมแม่’ มันค่อนข้างจะ dilemma นิดหน่อย สำหรับผมมองว่าสิ่งนี้ควรจะเป็น ‘ทางเลือก’ มากกว่าจะมาตีตราว่าให้นมแม่หรือนมผง ไม่อยากให้มันเป็นเรื่องศีลธรรมขนาดนั้น เพราะร่างกายแต่ละคนก็มีความแตกต่างกันไป”
“ด้วยอุดมการณ์และงานที่ทำ พอวันหนึ่งกลายมาเป็นคุณพ่อแล้วจริงๆ อาจารย์มีความรู้สึกว่ายิ่งอยากทำให้ปณิธานบางอย่างของตัวเองสำเร็จด้วยไหม?” เราถามต่อ
“หลายคนบอกกับผมว่า เมื่อเรามีครอบครัวเรามักจะมีแนวโน้มเป็นอนุรักษนิยมขึ้นเพราะเรามักมีแนวโน้มที่จะคิดถึงตัวเอง แต่สำหรับผมเอง ผมอยากให้สังคมดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่า” อาจารย์จั๊กกล่าวด้วยสายตามุ่งมั่น
เขาเล่าต่อว่า คนทั่วไปอาจจะมองว่าเขาเป็นคนเบียวๆ (ชูนิเบียว : 中二病) พลางหัวเราะ แต่เขาคิดว่าจะแค่แนะนำ ไม่ได้นำเอาความชอบทุกอย่างของตัวเองให้ลูกทีเดียวทั้งหมดขนาดนั้น
“ผมอยากให้เขาได้เรียนรู้กับคนที่หลากหลาย หลากหลายจุดยืน หลากหลายความคิด แต่อะไรที่เป็นพื้นฐาน อย่างเรื่องสิทธิมนุษยชน (Human Rights) หรือแนวคิดเชิงสตรีนิยม (Feminism) ก็เป็นเรื่องสำคัญ เรื่องเหล่านี้อาจจะวางรากฐานเอาไว้ แต่เรื่องรสนิยมอื่นใดก็ให้เป็นทางของเขาเอง”
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเป็น ‘คุณพ่อ’
“ผมเคยเขียนบทความลงที่ Decode.plus เป็นจดหมาย 4 ฉบับถึงลูกสาว ว่าด้วยโลกในแบบที่เราอยากให้เขาเติบโตมา อย่างที่ผมบอกว่า ผมอยากเห็นสังคมนี้ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม สมมติว่าอีก 38 ปีข้างหน้าฟินแลนด์จะอายุเท่าผมในวันนี้ และวันนั้นผมจะอายุ 76 ปี ผมก็อยากให้เขาอยู่ในสังคมที่ดี ที่เป็นสังคมที่ยุติธรรม สังคมที่เขาไม่ต้องเหนื่อย สังคมที่ทุกคนมีความเสมอภาคกัน ภาพแบบนี้ชัดมากขึ้นในหัวของผมตั้งแต่มีลูก”
‘การเห็นภาพสังคมที่ดีชัดมากขึ้น’ คือสิ่งแรกที่เขาได้เรียนรู้จากการเป็นคุณพ่อ
ถัดมา หลังจากที่ได้เลี้ยงเด็กเล็กมาสักพัก เขาค้นพบว่าแท้จริงแล้วความสุขแบบเด็กๆ นั้นเรียบง่ายมากๆ พวกเขาสามารถแสดงออกได้อย่างตรงไปตรงมา และสามารถเล่นได้อย่างที่ใจอยาก
“อย่างเช่นคอกนี้ (ชี้ไปที่คอกกั้นเบาะ) เมื่อก่อนเคยเป็นคอกของหลานชายที่ตอนนี้ส่งต่อมาเป็นที่เล่นของฟินแลนด์ ตรงที่เป็นที่ๆ เขาสามารถหัดคลาน การคลานคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับวัยก่อนหนึ่งขวบเพราะได้ใช้ทุกทักษะ ใช้ตั้งคอ ใช้ตาสังเกต ใช้ขาค่อยๆ หยัดยืนแบบไม่ต้องรีบเร่งอะไร พ่อแม่ก็ลงไปเล่นกับเขาได้
“นั่นทำให้เราค้นพบว่า ที่จริงแล้วของเล่นอาจไม่ต้องมีเยอะ แค่มีพื้นที่สำหรับเล่นอิสระก็พอ”
หนึ่งขวบแรกของลูกคือความมหัศจรรย์ของชีวิต – อาจารย์จั๊กบอกกับเราเช่นนั้น
การเรียนรู้ที่สามหลังจากได้เป็นคุณพ่อคือ ‘การพยายามมีสติในการตัดสินใจ’
“ผมคิดว่าอย่างไรพ่อแม่ก็คงต้องเป็น คนห่วยในสายตาลูก คือไม่ว่าเราจะพยายามดีแค่ไหน แต่มันก็คงมีบ้างที่เราทำผิดพลาดกับเขา และสิ่งที่ผิดพลาดไปนั้นแม่จะเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่นั่นก็อาจจะเป็นแผลสำหรับลูกไม่ว่าเราจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมจะฝึกและเตือนตัวเองต่อไปคือ จะพยายามขอโทษลูกให้ได้บ่อยๆ เมื่อเรารู้สึกว่าเราทำไม่ดีกับเขา”
สังคมที่ปลอดภัย สามารถไว้ใจ และเอื้อเฟื้อต่อๆ ไปกับการเติบโตของเด็กๆ คือสังคมที่อยากให้เด็กๆ ได้เติบโต
“ผมอยากให้สังคมเราใจดีและเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กๆ ทุกคน
ให้พวกเขาได้เป็นเด็กนานๆ เก็บความฝัน และความสนุก
เพราะคนรุ่นผมเติบโตพร้อมกับการเร่งให้โตและแข่งขัน
รู้ตัวอีกที เราก็ลืมความฝัน และความสุขแบบเด็กๆ ไปแล้ว”
‘สังคมที่มีความยุติธรรม’ จึงเป็นคำตอบนั้นสำหรับอาจารย์จั๊ก
“ผมอยากเห็นสังคมที่ทุกคนสามารถวิ่งตามความฝันได้โดยไม่ต้องผูกติดกับชาติกำเนิด เป็นสังคมที่ปลอดภัยให้เขาเติบโตได้อย่างแข็งแรง
“พ่อแม่ยุคใหม่คาดหวังเท่านี้แหละ เราไม่ได้คาดหวังว่าลูกจะต้องร่ำรวย มีใบปริญญาหรือชื่อเสียงอะไรมาก แต่เอาเป็นว่าแค่แข็งแรง มีความสุข และปลอดภัย มันก็ต้องการพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคมครั้งใหญ่อยู่เหมือนกัน” อาจารย์จั๊กว่า
“ผมก็อยากให้สังคมที่ฟินแลนด์จะเติบโตก็คือเป็นรัฐสวัสดิการนี่เอง เป็นฟินแลนด์ในประเทศไทย เป็นสังคมที่มอบเรื่องพื้นฐานที่เขาควรได้รับ เวลาป่วยก็ควรได้รับการอนุญาตให้ป่วย เราอยากมีความรักเราก็ได้รับการอนุญาตให้มีรักที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกในเพศภาวะแบบใดก็ไร้ซึ่งการกีดกัน เมื่อเราอายุมากขึ้นเราก็ได้รับการอนุญาตให้แก่ อยากเรียนหนังสือก็ได้เรียน
“ง่ายๆ คือได้รับอนุญาตให้เราได้เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งนี่แหละ แต่ตอนนี้ยากเหลือเกิน ยากมาก ทั้งหมดที่ผมพูดมาเราไม่ได้รับอนุญาตเลยสักทีเดียว”
สำหรับการออกแบบทุกสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกันไม่ว่าคนในสังคมจะมีทางเลือกในชีวิตแบบใดก็ตาม อาจารย์จั๊กกล่าวว่า แค่เพียงเรามองสวัสดิการทุกมิติให้เป็นเรื่องง่ายๆ และไม่ต้องอาศัยนวัตกรรมที่ซับซ้อน เรื่องอะไรที่เรามองว่าสำคัญ เรื่องนั้นควร ‘ฟรี’ ทั้งหมด ไม่มีอะไรเป็นเรื่องเล็ก ไม่มีอะไรเป็นเรื่องใหญ่เกินไป และไม่ควรมองทุกอย่างเป็นขาว-ดำแยกส่วนกัน เพราะที่จริงแล้วเราล้วนอยู่ในสังคมเดียวกัน และทุกสิ่งอย่างล้วนสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ขาด
แน่นอนว่าการเติบโตของเด็กคนหนึ่ง เรามีหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเต็มไปหมดในฐานะของนิเวศรอบตัวเด็ก ซึ่งนั่นไม่ใช่แค่ครอบครัวที่มีส่วนสำคัญ แต่หมายถึง ‘ทุกคน’ รอบข้างก็ย่อมมีส่วนร่วมในการเติบโตของเด็กๆ กันทั้งนั้น เราจึงชวนคุยต่อถึงเรื่องนี้
“ในแง่วิชาการผมพูดได้อยู่แล้ว แต่ในฐานะพ่อก็ต้องถ่อมตัวมากๆ เพราะเป็นพ่อคนครั้งแรก และทุกอย่างคงไม่ได้เป็นไปตามที่ผมคาดหวังจะให้เป็น
“ผมไม่ควรจะคาดหวังอะไรเยอะเพราะฟินแลนด์ก็จะต้องเติบโตและกำหนดโลกของเขา พอถึงวัย 7 ขวบเขาอาจจะมีความสามารถกำหนดตัวตนแบบที่อยากเป็น โลกที่อยากเห็น ถ้าให้ผมมองอาจจะเป็นเรื่องของการสร้าง Trust Society ว่าด้วยสังคมที่ไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน เพื่อที่เด็กๆ จะได้เติบโตได้อย่างปลอดภัย”
“ผมนึกถึงคำของหมอประเสริฐ (นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์) ว่า ช่วงเวลาที่ดีจะกลายมาเป็นยาชูกำลังเมื่อเราเจอปัญหา ถ้าเรามีช่วงเวลาที่ดีมากพอเมื่อครั้งยังเด็ก ถ้าถามตัวผมเองถึงช่วงเวลาที่ดีของผม ผมก็นึกถึงความสนุกตอนเด็กๆ คือการเล่นอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ตอนที่เราเลือกคณะหรือสอบออกมาได้เกรดดีๆ แล้วในสมุดพกมีแต่คุณครูชม”
“แม่ผมเล่าว่า ปีที่ผมเกิดมีดางหางฮัลเลย์โคจรมาให้เราเห็นเพราะตอนนั้นเป็นครึ่งรอบของดาวหางฮัลเลย์พอดี ดังนั้นวันที่ฟินแลนด์อายุเท่าผมในวันนี้ (38 ปี) ดาวหางฮัลเลย์จะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง
“ผมผ่านชีวิตมาประมาณหนึ่ง อายุ 38-39 ปี ผมมีช่วงที่ทุกข์ สุข สมหวัง และผิดหวังทั้งจากเรื่องส่วนตัวและเรื่องการผลักดันประเด็นต่างๆ ผมก็หวังว่าในอีก 38-39 ปีข้างหน้ามันจะมีสังคมที่พยุงชีวิตของเขาไปจนถึงในช่วงนี้ เมื่อวันที่ดาวหางฮัลเลย์กลับมาอีกครั้ง เขาจะได้เห็นว่าสังคมนี้มันดีนะ เขาได้ทำอะไรต่างๆ ที่อยากทำ ได้มีความสุข ได้รัก ได้อกหัก และถึงแม้ว่าจะล้มเหลวก็ไม่เป็นไร แต่สุดท้ายแล้วสังคมจะไม่ใจร้ายกับเขาก็พอ”
เพราะ ‘รัฐสวัสดิการ’ คือปลายทางของสังคมที่ใฝ่ฝัน
การเลี้ยงเด็กหนึ่งคนย่อมใช้คนทั้งหมู่บ้าน (It takes a village to raise a child.) อาจารย์จั๊กเองก็เห็นด้วยเช่นนั้น ดังนั้นการเลี้ยงเด็กหนึ่งคนจึงต้องใช้คนมากกว่าหนึ่ง ถึงแม้ว่าอัตราการเกิดทั่วโลกจะต่ำลงแม้แต่ในประเทศที่รัฐสวัสดิการดี แต่เขาเองก็ยังเชื่อว่าเราไม่ควรนำเอาปัจจัยทางเศรษฐกิจมาตัดสินทุกการกระทำและนำมาเป็นมาตรวัดเพียงอย่างเดียวที่ตายตัว
และถึงแม้ว่าวันนี้ ‘ฟินแลนด์ในประเทศไทย’ จะยังไม่เกิดขึ้นเสียทีเดียว แต่เรายังคงไม่หมดหวัง อาจารย์จั๊กเองก็เช่นกัน เขาจะยังคงมุ่งหน้าทำงานเพื่อให้สังคมที่ดีเกิดขึ้นได้ในเร็ววัน อย่างน้อยก็ก่อนที่ดาวหางฮัลเลย์จะกลับมาอีกครั้ง
ก่อนจะจากกัน สิ่งหนึ่งที่พ่อจั๊กอยากบอกกับลูกสาวในวันนี้ที่อายุครบ 1 ขวบพอดิบพอดีก็คือ “ไม่ว่าโลกในอนาคตจะเป็นอย่างไร เมื่อเติบโตขึ้นมาแล้ว อาจจะมีบางช่วงเวลาที่รู้สึกเพลี่ยงพล้ำ แต่ก็อยากให้ลูกยืนหยัด ต่อสู้ ใช้ชีวิตในแบบที่อยากจะเป็น และไม่ว่าจะเป็นอย่างไร หันมาที่ทางนี้จะยังมีพ่อกับแม่เสมอ”
“อ่อนแอได้ โวยวายได้ มันเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนควรจะมี เราเจ็บปวดกับเรื่องของตัวเองได้ รวมถึงเรื่องของคนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน”
“ผมอยากให้สังคมนี้ใจดีกับคนรุ่นใหม่ เพราะทุกคนล้วนเคยเป็นเด็ก และทุกคนล้วนเคยเป็นคนรุ่นใหม่ และเราจะเจอโจทย์ใหม่ๆ กับคนรุ่นถัดไปแน่นอน อาจจะฝากไว้ว่า อยากให้ทุกคนช่วยกันพยายามโอบอุ้มพวกเขา และเป็นเบาะ เป็นหลังพิงเมื่อยามพวกเขาต้องการ” อาจารย์จั๊กกล่าวทิ้งท้าย