มนุษย์แม่วัยรุ่น 2022 & ซุปเปอร์ทีม : ก้าวแรกเข้าใจ ก้าวต่อไปมูฟออน 

  • ไม่จมกับอดีต แต่มูฟออนด้วยการลงมือทำงาน เพื่อค้นพบศักยภาพในตัวเอง คือ ชีวิตมนุษย์แม่วัยรุ่น 2022 ที่อยากให้สังคมรับรู้
  • พร้อมกำลังสำคัญ ก็คือคนรอบข้างที่ ‘เข้าใจ’
  • mappa ชวนทำความเข้าใจและปรับมายเซ็ตที่มีต่อแม่วัยรุ่นใหม่

วันเสาร์ไปโรงเรียน

ฟังไม่ผิด เพราะที่โรงเรียนหมอนทองวิทยา จังหวัดฉะเชิงเทรา เปิดทำการวันเสาร์เฉพาะกิจให้เด็กๆ เข้ามา ระบายสี อ่านนิทาน เล่นสนุกต่างๆ ทำได้ทุกอย่าง ยกเว้นเรียน  

แถมมีมาสคอตคุณกระต่ายไว้คอยเอนเตอร์เทนตลอดทั้งงานด้วย 

ตามงานทั่วไป มาสคอตเหล่านี้จะถูกจ้างมา แต่มาสคอตคุณกระต่ายตัวนี้ไม่ได้ค่าตัวสักบาท ร้อนก็ร้อนแต่กลับเดินแจกลูกโป่งไม่หยุด 

ที่สำคัญ มาเป็นมาสคอตแบบไม่ได้ตั้งใจเสียด้วย เพราะพอถอดชุดออกมา กลายเป็นผู้ชายผมยาวหน้าดุเกือบเหี้ยม แต่จริงๆ แล้วกลับเป็นคุณตาใจดี หลานรักและรักหลานมาก

บุรุษหน้าโหดคนนั้น คือ ‘อธิวัฒน์’ พละทรัพย์ คุณตาของ ‘น้องออเจ้า’ ลูกสาวของ ‘มะนาว’ อภิญญา พุทธรักษา หนึ่งในแกนนำแม่วัยรุ่นจังหวัดฉะเชิงเทรา หัวเรือหลักของงาน ‘มหกรรมใส่ใจดูแลเด็ก ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดที่โรงเรียนหมอนทองวิทยา

ถึงโต้โผกิจกรรมนี้ คือ กลุ่มคุณแม่วัยรุ่นจังหวัดฉะเชิงเทรา แต่ทุกมุมของงาน คือ การกุลีกุจอช่วยกันของคนรอบตัว กลุ่มคนที่พร้อมจับมือเธอไปด้วยกันในทุกสถานการณ์

เหมือนจะประกาศให้ป้าข้างบ้านและสังคมนี้รู้ว่า แม่วัยรุ่นคือแม่วัยรุ่น แม่วัยรุ่นก็คือผู้หญิงที่มีลูกคนหนึ่งเหมือนกับคนอื่นๆ แล้วการมีลูกเร็วคือการพลั้งพลาดแต่ไม่ผิดพลาด 

mappa ชวนเข้าใจแม่วัยรุ่น 2022 ที่มูฟออนชีวิตไปข้างหน้าอย่างมั่นคงพร้อมกับพลังใจที่สูงขึ้นตามกาลเวลาผ่านตัวเธอและมนุษย์รอบตัวที่ ‘เข้าใจและไม่สงสาร’ 

แกนนำแม่วัยรุ่น : ผู้ช่วยดูแลเด็กๆ ประจำครอบครัว

จะเลี้ยงลูกอย่างไร?

เชื่อว่าเป็นคำถามที่เกิดกับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่หลายคน ต่อให้เตรียมตัวมากแค่ไหน แต่บางสถานการณ์ความรู้จากตำราก็ไม่อาจช่วยได้ ยิ่งถ้ามีลูกโดยที่ไม่ได้ตั้งใจหรือไม่พร้อม งานนี้คงยากคูณสอง

“ในสังคมสูงวัยแบบเราที่จำนวนเด็กเกิดน้อยและคุณภาพไม่มากพอ จำเป็นต้องมีโปรแกรมแบบ Home – Based Intervention ส่งคนไปช่วยเลี้ยงลูกตั้งแต่อยู่ในท้องจนถึงปฐมวัย อย่างน้อยที่สุด ทำให้ช่วงสามปีแรก เด็กๆ ได้รับพัฒนาการที่ดีเป็นฐานให้สามารถต่อยอดการเรียนรู้ได้ในอนาคต” 

ณัฐยา บุญภักดี

ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล่าถึงต้นสายปลายเหตุของ ‘โครงการพัฒนาศักยภาพพ่อแม่วัยรุ่นและครอบครัวเพื่อสุขภาวะของเด็กและเยาวชน’ ที่เกิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ปัญหาดังกล่าว ด้วยการเทรนเหล่าคุณแม่วัยรุ่นให้เป็น ‘แกนนำแม่วัยรุ่น’ เข้าไปเป็นผู้ช่วยเลี้ยงเด็กๆ ในครอบครัวกลุ่มเปราะบาง

“เราเข้าไปเหมือนเป็นเพื่อน มีของเล่นติดไปด้วย น้องๆ ก็ชอบ ถูกใจว่ามีของเล่น มีขนมไปให้กิน” ประสบการณ์แกนนำแม่วัยรุ่นจากมะนาว

คัดเลือกครอบครัวที่จะดูแล ลงเยี่ยมบ้าน พูดคุยสอบถามปัญหา พร้อมพา ‘กระเป๋าแม่วัยรุ่น’ อุปกรณ์ประจำตัวของแม่ๆ แกนนำที่ภายในประกอบด้วยของเล่นเสริมพัฒนาการเด็ก เช่น ตุ๊กตา บัตรคำต่างๆ บล็อกไม้ จิ๊กซอว์ หนังสือนิทาน เป็นต้น ชวนครอบครัวเล่นเกมกับลูกๆ เสริมพัฒนาเด็กแล้วพ่อแม่ก็จะได้ใช้เวลาด้วยกันมากขึ้นอีกด้วย

“หนูชอบให้คำแนะนำเชิงพูดคุย เวลาไปเยี่ยมบ้านเราจะไปช่วยเช็กพัฒนาการ กระตุ้นน้องๆ ทำกิจกรรม จดบันทึกพัฒนาการ คุยกับผู้ปกครอง เหมือนคุยเล่นกันว่าน้องเป็นยังไงบ้าง บางทีเขาจะเล่าปัญหาของเขาให้เราฟังด้วย เช่น พ่อไม่ค่อยอยู่กับลูก หรือน้องชอบแกล้งพี่ ถ้าเรื่องไหนที่เราช่วยได้ก็จะให้คำแนะนำ เพราะเราก็เป็นครูผู้ช่วยอยู่ที่ศูนย์เด็กเล็กของตำบลด้วย

“ถ้ากล้ามเนื้อมัดเล็กของน้องยังไม่แข็งแรง เราก็จะแนะนำให้เล่นดินน้ำมัน ลองปั้นสิ่งที่ชอบ หรือระบายสีวาดรูป เจอกันครั้งหน้าอยากดูผลงานน้อง อยากได้อะไรก็จะคุยกับผู้ปกครองและเด็กไว้” มะนาวอธิบายหน้างานของเธอเพิ่ม

ก่อนที่จะรับบทเป็นผู้รู้ มะนาวและคุณแม่วัยรุ่นคนอื่นๆ ก็เคยเผชิญกับสถานการณ์ไม่รู้จะเลี้ยงลูกอย่างไร เพราะวัยที่น้อย ประสบการณ์ยังไม่มากพอ ทำให้เมื่อเข้าร่วมโครงการนี้ เหล่าแม่ๆ ได้ความรู้ไปใช้กับลูกตัวเองด้วย

ไอซ์ – อัยลดา เรียบมา

“เมื่อก่อนหนูเป็นคนใจร้อนไม่ค่อยยอมคน ใครมาสะกิดต่อมนิดหนึ่งต้องฟาดกลับ แล้วเราก็ดุลูกด้วยนะ ดุจนเขาไม่กล้าหันหน้าเข้าหาเรา พอเข้าโครงการนี้มันพัฒนาขึ้นเยอะ เราเป็นคนใจเย็นขึ้น ตอนนี้ลูกก็ติดแม่มากขึ้นเพราะเราใจเย็น ไม่ดุ ไม่ตีเขาแล้ว” บุคลิกที่เปลี่ยนไปของ ‘ไอซ์’ อัยลดา เรียบมา หนึ่งในแกนนำแม่วัยรุ่น

ณ ตอนนั้น มันคือความรัก แต่พ่อแม่จะอยู่ข้างๆ ตรงนี้เสมอ

“รู้สึกว่าลูกเข้มแข็งขึ้น มีความคิด หาทางออกให้ตัวเองได้มากขึ้น เมื่อก่อนเขาอาจจะยังไม่ได้คิดภาพกว้างเท่าไหร่ แต่ตอนนี้ความคิดเขาโตขึ้น มองภาพกว้างขึ้น เพราะเขาเห็นครอบครัวที่เขาไปมาแล้ว เขาก็อยากให้ครอบครัวของเขาดีขึ้น มีความอดทนมากขึ้น”

อธิวัฒน์ – พละทรัพย์, ออเจ้า และ แม่วิรัตน์ – พุทธรักษา

มุมมองของ ‘แม่วิรัตน์’ พุทธรักษา แม่ของมะนาวและยายของออเจ้า ที่มองเห็นบุคลิกนิสัยของลูกสาวเปลี่ยนไป แม้จะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ

“ชื่อออเจ้า เกิดช่วงละครบุพเพสันนิวาสกำลังดัง ตาเขาเป็นคนตั้งชื่อ” แม่วิรัตน์เล่าถึงที่มาของชื่อหลานสาววัย 4 ขวบ ส่วนเจ้าตัวก็วิ่งเข้าโผกอดคุณตาและคุณยาย โดยเฉพาะคุณตากอดแบบไม่ให้หายไปไหนแม้ตอนแรกการยอมรับว่าตัวเองกำลังจะมีหลานไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเร็วกว่าที่เธอและสามีคิดไว้

“ถึงเวลานั้นก็ต้องยอมรับ เขาเป็นสายเลือดของเราต้องช่วยกันดูแลให้เต็มที่”

เช่นเดียวกับพ่ออธิวัฒน์ที่เมื่อแรกรู้เรื่องอาจผิดหวัง แต่สัจธรรมบนโลกใบนี้ก็สอนสองสามีภรรยาว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด และสิ่งที่พวกเขาทำได้คือ เดินไปกับมัน

มาวันนี้คุณพ่อลุกขึ้นมาสนับสนุนการทำงานของลูกสาวด้วยความเต็มใจ ใส่ชุดมาสคอตเล่นกับเด็กๆ ในงาน หรือขับรถพาลูกสาวไปทำงานตามชุมชนต่างๆ

แม้บทสนทนานี้พ่อจะไม่ได้บอกเล่าเท่าแม่ แต่เหงื่อเม็ดโตและความร้อนระอุใต้ชุดมาสคอตบอกเราหมดแล้วว่าพ่อรักลูกแค่ไหน (แต่รักหลานมากกว่า) 

ย้อนกลับไปวินาทีแรก เป็นเรื่องยากที่จะต้องยอมรับว่าพวกเขากำลังจะเป็นคุณตาคุณยายของหลานที่กำลังเกิดมา ซึ่งยากพอกับการปรับตัวจากนักเรียนที่ต้องกลายเป็นพ่อแม่

ถึงพ่อแม่จะมองว่าเป็นเรื่องไม่ดี แต่สำหรับคุณแม่วัยรุ่น ณ วันนั้น ความรักคือจุดตั้งต้นของเรื่องราวทั้งหมด 

“เรามีความรัก แต่เราพลาด เรื่องลำบากใจที่สุดตอนนั้นคือ การรวบรวมความกล้าเพื่อบอกพ่อแม่ เพราะเครียด หาทางออกไม่เจอ กลัวเหมือนกัน กลัวว่าเขาจะรับเราไม่ได้ที่เราเป็นแบบนี้” ไอซ์พาเดินทางกลับไปอดีตเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

มะนาว อภิญญา พุทธรักษา

ส่วนมะนาวก็มองว่า ‘ตอนนั้นมันคือความรัก’

“ไม่ได้ตัดสินใจว่าจะมีลูก มันพลาด เราอาจจะจริงจังกับความสัมพันธ์ แต่ผู้ชายไม่ได้คิดแบบเดียวกับเรา เขาได้เราแล้วก็ทิ้งไปเลย มันพลาด แต่มันเป็นความรับผิดชอบในตัวที่เราไม่เอาไหน ตอนนี้เราต้องรับผิดชอบ ต้องดูลูก ทำงาน ให้ความรักและเอาใจใส่เขา ถ้าจะมองเป็นภาระก็ไม่ได้เป็นภาระขนาดนั้น แต่มันมีทั้งความสุขและความทุกข์ในทีเดียว”

นี่คือมุมมองของลูก…

แต่ในมุมของพ่อแม่ วันนี้สิ่งที่พวกเขาทำได้ คือ การเลี้ยงลูกและหลานให้ดีที่สุด

สำหรับลูก แม่วิรัตน์บอกว่า เธอและสามีแค่พยายามสนับสนุนและช่วยเหลือให้ลูกรู้ว่า พ่อแม่อยู่ตรงนี้เสมอ

“เราพยายามสนับสนุนและให้ทุกอย่าง เพื่อลูกให้มีงาน ไม่ให้อายใครเขา ให้เขายังมีคนดูแล มีคนคอยช่วยเหลือเขา ไม่พยายามซ้ำเติมเขา”

และใช้ชีวิตและเลี้ยงหลานด้วยความรัก เพื่อให้หลานเติบโตอย่างมีความสุขแบบที่เขาต้องการ

“พยายามให้ความรักและสร้างความผูกพันกับหลาน พูดว่ารักบ่อยๆ ให้เขารู้สึกว่าเรารักเขาอยู่ไม่ได้ทอดทิ้งเขา”

แม่วัยรุ่นคือผู้หญิงคนหนึ่งที่พลาดพลั้งไม่ใช่ผิดพลาด 

สำหรับแม่วัยรุ่น สิ่งสำคัญเพื่อชุบใจให้กลับมาเดินต่ออีกครั้งคือ การถูกยอมรับและเข้าใจว่าเธอคือคนธรรมดาที่มีลูก

“เราไม่ได้ดูแค่การทำงานว่าน้องจะทำได้หรือไม่ได้ แต่เราดูชีวิตของเขาด้วย ช่วยซัพพอร์ตการทำงานให้เขามีความมั่นใจในการทำงานและซัพพอร์ตชีวิตเขาด้วย”

หนิง – ปิยะวรรณ เทียนจัด

‘หนิง’ ปิยะวรรณ เทียนจัด พี่เลี้ยงแกนนำแม่วัยรุ่นในจังหวัดฉะเชิงเทราเล่าประสบการณ์การทำงานร่วมกับคุณแม่วัยรุ่นว่า ไม่ใช่แค่การทำงาน แต่พี่เลี้ยงต้องดูแลใจของน้องๆ แม่วัยรุ่นและรับฟังคนรอบข้างเขา

“เช่น คนในครอบครัว ต้องคุยกับพ่อแม่ให้เขาเข้าใจ ยอมรับ และภูมิใจที่ลูกเขาทำงานจิตอาสา ทำงานแบบนี้ได้ ซึ่งไม่ใช่คนอื่นนะที่จะทำได้” 

ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนถึงวันนี้ หนิงก็ค่อยๆ ก้าวเข้าสู่โลกของแม่วัยรุ่นผ่านการทำงานและรู้สึกถึงความตั้งใจของแกนนำแม่วัยรุ่นที่อยากช่วยเหลือคนอื่นจริงๆ 

“ถ้าลงพื้นที่แล้วเจอบ้านที่มีปัญหาเยอะ น้องจะโทรมาหาเรา “พี่หนิง บ้านนี้เป็นแบบนี้นะ เราทำยังไงต่อดี” เมื่อก่อนเขาไม่มาถามว่า จะทำยังไงต่อดี เราเปิดโอกาสให้เขาออกแบบและวางแผนงานเอง เช่น จะไปเยี่ยมบ้านบ้านหนึ่ง จะประเมินแล้วว่าควรลงไปเยี่ยมไหม ลงไปแล้วจะเจอสถานการณ์สุ่มเสี่ยงหรือเปล่า เช่น มีการใช้ยาเสพติด หรือเล่นพนัน”

จากผู้กำหนดบทบาทการทำงานในตอนแรก ปัจจุบันหนิงถอยออกมาเป็นเพียงเป็นผู้สังเกตการณ์ เพราะเธอเชื่อว่า คุณแม่วัยรุ่นทำได้

“เมื่อก่อนเคยคิดว่าทำไมเรื่องแค่นี้ทำไม่ได้ แต่พอเรามาทำงานด้วยกันก็เข้าใจว่า แกนนำแม่วัยรุ่นจะเอาแน่นอนไม่ได้เป๊ะๆ แต่เห็นความพยายาม ตัวเราฟังน้องมากขึ้น เปิดโอกาสให้เขาคิดและวางแผนเอง โดยที่เราเป็นคนชวนคุย บางประเด็นเขาเป็นคนชูประเด็นด้วยซ้ำ”

บุญดี รัตนสิทธ์

ขณะที่ครอบครัวของ บุญดี รัตนสิทธ์ หนึ่งครอบครัวที่แกนนำแม่วัยรุ่นเข้ามาช่วยเลี้ยงหลาน ‘ไอซ์’ และ ‘ฮอน’ วัย 7 และ 4 ขวบ ถึงแม้จะเคยผ่านการเลี้ยงลูกมาแล้ว แต่การเลี้ยงหลานกลับไม่ใช่งานง่ายสำหรับยายบุญดี 

“รุ่นใหม่รุ่นเก่าไม่เหมือนกัน รุ่นเก่าก็อีกอย่าง รุ่นใหม่ก็อีกอย่าง ตอนนี้ก็พัฒนารุ่นใหม่ เพราะรุ่นเก่าก็ไม่ค่อยมีแล้ว”

ปรับวิธีเลี้ยงหลานให้เข้ากับสภาพสังคมน่าจะเป็นโจทย์ใหญ่ของคุณยายตอนนี้ แต่โชคดีที่ได้รับความช่วยเหลือจากเหล่าแม่ๆ วัยรุ่นที่เข้ามาชวนทำกิจกรรม อัปเดตความรู้ใหม่ๆ 

“เขาสอนเราเรื่องพัฒนาเด็ก จะปรับปรุงนิสัยยังไง เพราะหลานเราก็ติดเกม ติดโทรศัพท์ เขาสอนให้เราเล่นกับหลาน เล่านิทาน ต่อจิ๊กซอว์ หรือเด็กไม่ยอมกินผัก เขาก็มีกิจกรรมให้ทำกับข้าว ทำไข่เจียวใส่ผัก แล้วก็ใส่แม่พิมพ์ทำเป็นรูปต่างๆ เด็กก็กินกัน”

แต่ก่อนยายบุญดีเคยตั้งคำถามกับแม่วัยรุ่นว่า ทำไมไม่เรียนหนังสือ ทำให้พ่อแม่เดือดร้อน แต่เมื่อลูกสาวประสบเหตุการณ์เดียวกัน บวกกับการที่แม่วัยรุ่นทั้งสองคนมาช่วยเลี้ยงหลาน 2 คน ทำให้มุมมองของยายบุญดีเปลี่ยนไป 

“คนเราทำผิดได้ คนโตแล้วทำผิดได้ เด็กๆ ก็ต้องผิดได้ เราจะโทษใครไม่ได้” 

ชำนาญ วิลัยพันธ์

ชำนาญ วิลัยพันธ์ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลโพรงอากาศ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ผู้ใหญ่ที่ให้โอกาสจ้างงานแม่วัยรุ่น เพราะเชื่อว่าการให้คุณแม่วัยรุ่นลงพื้นที่ไปคุยกับครอบครัวเปราะบางในชุมชนจะช่วยสร้างบทเรียนชีวิตให้กับแม่วัยรุ่นได้

ขณะเดียวกัน บางครั้งเรื่องราวและวิธีการเลี้ยงลูกที่แม่วัยรุ่นเข้าไปอบรมมาจะช่วยแก้ปัญหาการเลี้ยงเด็กของคนในชุมชนและสร้างงานเป็นอาชีพหลักของตนเองได้

“การที่เราพยายามผลักดันให้เขามีอาชีพ มีรายได้มั่นคง เป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่ง ให้คนอื่นๆ เห็นว่า ถึงเขาจะล้มก็สามารถลุกขึ้นมาใหม่ได้ เอาประสบการณ์ตัวเองไปแลกเปลี่ยนกับคนอื่น ไปช่วยพยุงคนที่ล้มขึ้นมา เป็นกำลังใจให้คนอื่นๆ”

“จากเดิมแม่วัยรุ่นที่ไม่มีรายได้ อาศัยอยู่กับครอบครัว พอเขามีงาน มีรายได้ประจำ เขาก็จะมีชีวิตที่ดีขึ้น สามารถไปช่วยเหลือคนอื่นๆ ได้ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ผมอยากบอกว่า ถ้ามีอะไรที่ทำแล้วสามารถช่วยหนุนเสริมให้พวกเขามีความมั่นคงในชีวิต คนที่มีอำนาจหน้าที่ก็ควรทำ”

“ถ้าเรามองมันเป็นความพลาดพลั้งไม่ใช่ความผิดพลาด มันก็จะมีความรู้สึกที่ดีเกิดขึ้น ยิ่งเราสามารถไปสนับสนุนให้เขากลับมาจากความพลาดพลั้งนั้นได้เร็ว ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ดี”

‘พลังเชื่อมั่นในตัวเอง’ ที่ต้องมาจากการค้นพบเอง ไม่ใช่คนอื่นบอก

“การเสริมพลังให้คนรู้สึกมั่นใจที่จะดูแลตัวเอง จัดการชีวิตตัวเองได้ เป็นหนทาง empower มนุษย์ที่ยั่งยืนที่สุด ใครก็มาพรากพลังนี้ไปจากเขาไม่ได้” ความเชื่อในการพัฒนาคนของณัฐยา

ปลายทางของโครงการนี้ไม่เพียงเพิ่มคุณภาพมนุษย์ตัวน้อย แต่ยังย้ำเตือนเราว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในตัวเอง ผ่านการสร้างพลังความมั่นใจให้กับคุณแม่วัยรุ่น ณัฐยาในฐานะที่ทำงานสร้าง empower ให้คนมาหลายสิบปีค้นพบว่าการจะทำให้คนคนหนึ่งเชื่อมั่นว่าพวกเขามีพลัง มีความสามารถในตัวเอง ไม่ใช่การบอกว่าตัวเขามีอะไร แต่เป็นการให้เขา ‘ลงมือทำ’ เพื่อค้นพบศักยภาพตัวเอง สุดท้ายความมั่นใจถึงจะเกิด

“เราเชื่อว่าคนที่กำลังเผชิญปัญหา เขาสามารถหาทางออกได้ด้วยตัวเอง เพียงแต่ ณ เวลานั้นปัญหาบดบังทำให้เขาไม่รู้ว่าจะลุกขึ้นมาได้ยังไง เป็นหน้าที่เราเข้าไปช่วยคลี่คลายเงื่อนไขบางอย่างที่มันกดทับตัวเขาอยู่ แค่นั้นก็พอแล้วที่จะทำให้ศักยภาพของเขาได้มีโอกาสฉายขึ้นมา”

“ถ้าเรายิ่งเติมพลังเข้าไปเสริมด้วย ไม่ว่าจะเป็นพลังความรู้ การฝึกทักษะ หรือสร้างพื้นที่ให้เขาได้เจอคนที่มีปัญหาแบบเดียวกัน ได้เสริมพลังให้กันและกัน สร้างเป็นเครือข่ายกัลยาณมิตร ยิ่งทำให้เขาเดินต่อได้ยาวๆ การทำงานแบบนี้ คือ การเชื่อในศักยภาพของคนว่าถ้าเจ้าตัวเป็นคนแก้ปัญหาเองเขาจะอยู่ได้ยั่งยืน เมื่อมีปัญหาใหม่เข้ามา เขาจะสามารถรับมือได้” 

“เราไม่อยากเข้าไปหาเขา ไปขยี้ว่า ‘เห็นไหม ต่อให้เธอเป็นแม่วัยรุ่น เธอก็มีศักยภาพนะ เธอทำได้’ เราจะทำให้มันเป็นเรื่องปกติ คือเราต้องการอาสาสมัครแม่วัยรุ่นมาช่วยดูแลเด็กประถมวัยในครอบครัวเปราะบาง เพราะรู้สึกว่าการ empower คนโดยการขยี้ปม มันมีทั้งได้ผลและไม่ได้ผล ตัวเรารู้สึกว่าวิธีนี้จะทำให้เขารู้สึกเชื่อมั่นในตัวเองก็จริง พลังมันเกิดขึ้น แต่ไม่ยั่งยืน เราไม่สามารถดึงอำนาจภายในของเขาขึ้นมาจากปมนั้น” 

“บางทีเราไม่จำเป็นต้องไปพูดถึงปมของแม่วัยรุ่นตรงๆ ชวนเขามาพัฒนาศักยภาพดีกว่า สุดท้ายการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเขา ไม่ได้เกิดจากที่เขาเปลี่ยนวิธีมองปัญหาตัวเอง แต่เปลี่ยนเพราะเขาได้ลงมือทำให้คนอื่น การเป็นอาสาสมัครหรือแกนนำแม่วัยรุ่น ทำให้เขาได้เห็นชีวิตเด็กๆ ดีขึ้น เห็นพัฒนาการที่เปลี่ยนไป ได้เห็นปู่ย่าตายายของเด็กๆ ดีใจ ชื่นชมเขา สิ่งนี้ต่างหากที่กลับมาลบตราที่เขาเคยถูกประทับจากสังคม ทำให้เขารู้สึกว่า ‘ฉันทำได้’ ใจพร้อมแล้วที่จะก้าวไปข้างหน้า ตัวเขาได้รับการเติมเต็มจนสามารถไปส่งต่อให้คนอื่นๆ”

คุณแม่วัยรุ่นปี 2022 พวกเขาไม่ได้ต้องการคำบอกว่า เก่ง เจ๋ง หรือความสงสารเห็นใจในสิ่งที่เกิดขึ้น พวกเขาต้องพื้นที่ที่ให้ได้ทำงาน ได้ใช้ชีวิต และสายตาที่มองมาด้วยมายด์เซ็ตว่าพวกเขาก็คือมนุษย์เช่นเดียวกัน

โครงการพัฒนาศักยภาพพ่อแม่วัยรุ่นและครอบครัวเพื่อสุขภาวะของเด็กและเยาวชน คือ โครงการซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง ปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นโครงการ โดยทำในจังหวัดนำร่อง 4 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ ชัยนาท ฉะเชิงเทรา นครนายก  เพื่อนำผลสรุปโครงการไปขยายผลและดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ เพื่อให้เด็กคนหนึ่งเติบโตอย่างมีคุณภาพ

Writer

Avatar photo

ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

Avatar photo

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

ชีวิตอยู่ได้ด้วยซัมเมอร์ ทะเล และความฝันที่จะได้ทำสิ่งที่เป็นความสุขตลอดไป

Illustrator

Avatar photo

กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts