ทำไมเราไม่อยากกลับบ้าน? เมื่อบ้าน ≠ ความสุข มีแต่คนในบ้านที่ไม่เข้าใจและไม่เคยเท่ากัน

  • บ้านไม่ได้มีแต่ความสุข เพราะบางคนบ้านไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยเพราะคนในบ้านไม่เข้าใจและไม่เคยเท่ากัน
  • mappa ชวนฟังเสียงเด็กๆ มัธยมและนักศึกษามหาวิทยาลัยว่า “ทำไมไม่อยากกลับบ้าน?”
  • สำหรับเด็กคนหนึ่ง บ้านที่ดีอาจไม่ใช่บ้านที่สวยงาม แต่เป็นบ้านที่รับฟัง ยอมรับ และเข้าใจว่าพวกเขามีตัวตน 

“บ้านคือพื้นที่ปลอดภัย บ้านคือพื้นที่สบายใจ บ้านคือพื้นที่ความสุข”

เมื่อพูดถึงบ้าน เรามักจะมองเห็นแต่ด้านดีของคำคำนี้ 

แต่บางคนไม่อยากกลับบ้าน…

เพราะบ้านไม่ใช่แค่ ‘สถานที่’ แต่หมายถึง ‘คน’ ในบ้านด้วย

บ้านจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยได้อย่างไร ถ้าคนในบ้านยัง ‘ไม่เข้าใจ’ และ ‘ไม่เท่ากัน’

mappa ชวนฟังเสียงเด็กๆ มัธยมจนถึงนักศึกษามหาวิทยาลัยว่า “ทำไมไม่อยากกลับบ้าน?” 

เพราะบ้านที่ดีอาจจะไม่ใช่บ้านที่สวยงามหรือมีโครงสร้างแข็งแรง แต่หมายถึงบ้านที่ “รับฟัง ยอมรับ และเข้าใจ” ว่าเด็กอย่างพวกเขามีตัวตนและหัวใจในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง 

แตงกวา อายุ 22 ปี

“ภาพจำเราตอนเด็กๆ ไม่เหมือนตอนนี้ เราจะเป็นเด็กที่อยู่ในกรอบ ไม่แต่งตัวแต่งหน้า แต่ตอนนี้เราหันมาสนใจเรื่องการแต่งตัว เริ่มแต่งหน้า ทาเล็บ หรือไปสัก เขาก็ไม่ยอมรับ ชอบแซว

“บางทีก็เป็นการแซวหรือพูดที่ทำให้เรารู้สึกว่า…เราเป็นภาระที่บังเอิญเกิดมา พ่อแม่ต้องรับผิดชอบ”

เมื่อบ้านไม่มีพื้นที่ให้กับ ‘ตัวตน’ ของ ‘แตงกวา’ ในวัย 22 ปี บ้านก็กลายเป็นสถานที่ที่ไม่น่ากลับไป 

“เรารู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ยอมรับตัวตนของเรา ทำให้เราไม่กล้าทำสิ่งที่อยากทำ เราเคยชินกับการทำตามคำสั่ง ไม่เคยเถียงเลย แต่ในความคิดเราเถียงตลอด

“เราไม่สะดวกใจที่จะทำอะไรเลย ไม่ว่าจะทำงาน นอนหลับ อาบน้ำ ขนาดจะใช้สกินแคร์เรายังกลัวโดนด่าว่าเปลืองเงิน เพราะที่บ้านชอบแนวสมุนไพร ทำใช้เอง”

ความสัมพันธ์แบบตีตราและถูกจับผิดจากพ่อแม่ ทำให้แตงกวาต้องระมัดระวังตัวตลอดเวลา แม้แต่การอยู่ในบ้าน 

พ่อแม่ไม่ใช่ที่ปรึกษาของเธอเวลามีเรื่องไม่สบายใจหรือมีปัญหาในเรื่องอะไรก็ตาม

“พ่อแม่จะชอบวิเคราะห์พฤติกรรมคนอื่นให้ฟังตลอด เช่น คนที่ชอบเปลี่ยนรูปโปรไฟล์บ่อยๆ คือ คนที่ไม่มั่นใจในตัวเอง กลายเป็นเราไม่กล้าทำอะไรที่จะทำให้เขามาวิเคราะห์ในแง่ลบ เหมือนถูกจำกัดกรอบการใช้ชีวิต” 

“เราพยายามเข้าใจเขาแต่เขาไม่พยายามเข้าใจเราเลย พ่อแม่อยากให้เราเข้าใจเขาว่า แก่แล้วอยากให้คนดูแล ขณะที่ตัวเราอยากโบยบินทำตามใจ มันย้อนแย้งกับสิ่งที่เขาเคยสอนว่า อยากทำอะไรที่ดีก็ทำไป”

บีม อายุ 21 ปี

เหตุผลที่ทำให้ ‘บีม’ ไม่อยากกลับบ้าน คือ คำพูดบั่นทอนจิตใจของย่า

“ย่าชอบพูดกดดัน พูดเหมือนให้บีมต้องรับผิดชอบทุกอย่าง  เหมือนเขาใช้ชีวิตล้มเหลวแล้วเอาความคาดหวังมาไว้กับเรา แล้วบางครั้งกลับไปเจออาทะเลาะกันด้วยอารมณ์ค่อนข้างรุนแรง เรารู้สึกไม่โอเค เลยเป็นสาเหตุที่ไม่อยากกลับบ้าน”

แม้บ้านจะเพิ่งสร้างใหม่และย่าอยากให้เธอไปอยู่ แต่บีมเลือกที่จะทำงานในกรุงเทพฯ และคงไม่อยู่บ้านหลังนั้นถาวร

“ย่าเขากลัวสร้างบ้านแล้วไม่มีคนอยู่ เขามองว่ามีบ้านเป็นของตัวเองก็ควรมาอยู่ดูแลแล้วก็บอกให้บีมกลับมาอยู่แล้วใช้หนี้ แต่ความจริงคือบีมต้องทำงานในกรุงเทพฯ ถ้าแวะไป 2-3 วันก็ได้ แต่คงไม่อยู่บ้านหลังนั้นถาวร”

ใบเตย วัย 16 ปี

“เราอยากให้พ่อแม่เข้าใจ เหมือนที่เราเข้าใจเขาบ้าง”

เจ้าของประโยค คือ ‘ใบเตย’ วัย 16 ปีที่บ้านไม่ยอมรับตัวตนและไม่รับฟังเธอ แต่บอกให้เดินตามในสิ่งที่พ่อแม่บอก ทำให้ใบเตยไม่กล้าพูดหรือปรึกษาคนในบ้าน เพราะรู้ดีว่าความคิดของลูกสาวกับพ่อแม่ต่างกันเกินกว่าจะหันหน้าคุยกัน

“บางครั้งปรึกษาแต่เขาเห็นต่างจากที่เราคิด รวมถึงคำพูดหรือการกระทำมันทำให้เราคิดว่าไม่ปรึกษาดีกว่า”

นอกจากนี้กฎระเบียบของบ้านที่ลดเวลานอกบ้านของใบเตยยังเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่เธอไม่อยากกลับบ้าน

“พ่อแม่กำหนดเวลาเข้าออกบ้าน จำกัดเวลาทุกอย่าง บางครั้งเราออกไปไม่นานกลับบ้านก็โดนต่อว่า เราอยากให้พ่อแม่เข้าใจ”

ใบเตยมองว่า หากเปลี่ยนการต่อว่าเป็นการพูดคุยคงจะช่วยลดช่องว่างความสัมพันธ์ในครอบครัวได้

“เข้าใจว่าพ่อแม่เป็นห่วง แต่การต่อว่าอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดี ถ้าเปลี่ยนจากการต่อว่าเป็นพูดคุยว่าอันไหนควรทำ อันไหนไม่ควรทำ น่าจะดีสำหรับเรามากกว่า”

เบียร์ อายุ 16 ปี

“บางครั้งเหนื่อยก็อยากพักบ้าง”

ความในใจของเบียร์อายุ 16 ปีที่ไม่อยากกลับบ้าน เพราะ ‘กลัว’ โดนด่าและโดนทำร้าย 

“บางทีทำงานบ้าน กวาดบ้าน ถูบ้าน ซักผ้าเสร็จแล้วเขายังให้เราไปช่วยขายของ ถ้าไม่ไปช่วย เขาจะใช้คำพูดทำร้ายจิตใจ ‘ไม่น่าเกิดมาเลย’ อะไรแบบนี้”

พอเบียร์จะอธิบายว่า “เหนื่อย” ก็ไม่มีใครฟังและถูกมองว่าเถียงบ้าง ขี้เกียจบ้าง และบางครั้งกลับถูกตีโดยไม่มีเหตุผล

ทั้งหมดนี้ ทำให้ความกลัวเข้ามาทดแทนความสบายใจในสถานที่ที่เรียกว่า ‘บ้าน’ ของเบียร์ในวัย 16 ปี

มิ้น นักเรียนชั้นม.4

‘มิ้น’ นักเรียนชั้นม.4 ทำงานพิเศษเช่าห้องแทนการอยู่กับพ่อแม่

“อยู่ตึกเดียวกัน แต่เช่าห้องแยก มิ้นไม่อยากวุ่นวายกับพ่อแม่ เพราะพ่อแม่ไม่อยากวุ่นวายกับหนู อยู่ก็ทะเลาะกันเลยต้องทำงานพิเศษเป็นพนักงานเสิร์ฟวันละ 6-8 ชั่วโมง เพื่อหาเงินค่าเช่าห้องเอง”

คีน อายุ 15 ปี

“ไม่ว่าบ้านหลังไหนมันก็ไม่เคยเป็นบ้านที่ปลอดภัย”

เป็นความรู้สึกของ ‘คีน’ อายุ 15 ปีต่อบ้านที่ไม่เคยปลอดภัย หลังจากที่พ่อแม่เลิกกันตั้งแต่เขาอายุ 3-4 ขวบ เพราะแม่กดดัน คาดหวัง และเป็นห่วงลูกคนนี้มาก

“ผมรู้สึกว่าไม่เคยได้ใช้ชีวิตของตัวเองเลยสักครั้ง ไม่เคยไปไหนด้วยตัวเอง เจอสังคมและมีเพื่อนน้อย แม่อยากขุนให้เราเป็นถ้วยรางวัลใช้อำนาจกดทับให้เราไปทำตามที่เขาต้องการ อยากให้เป็นนักการทูต อยากให้เป็นหมอ ทั้งๆ ที่ผมเพิ่งมาค้นพบว่าตัวเองชอบด้านปรัชญา”

อีกทั้งในบ้านหลังเดิม คีนถูกคนในบ้านของแม่ทำร้ายร่างกาย เขาเกือบถูกบีบคอ บรรยากาศในบ้านอึดอัดมากขึ้น บทสนทนาของคีนและแม่ก็ค่อยๆ ลดลงตาม

“ตอนม.3 ขึ้น ม.4 ผมคุยกับแม่น้อยลง เวลาแม่แซวรู้สึกอึดอัดมาก รู้สึกว่าเราทำไม่ดีพอเหรอ”

คีนรู้ว่า การร้องไห้จะบรรเทาความอึดอัดในใจได้ แต่เขาไม่สามารถบีบน้ำตาให้ไหลได้ อยากตะโกนออกมาเพื่อระบายความโกรธของตัวเองก็ทำไม่ได้

จน 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา เยาวชนวัย 15 ปีคนนี้เครียดมาก สิ่งที่คีนทำได้ คือ สังเกตว่าแม่อยู่บ้านหรือเปล่าแล้วจะได้จิกหมอน เตะที่นอน เพราะไม่รู้ว่าจะระบายอารมณ์กับใคร 

ขณะเดียวกัน แม้จะมีบ้านอีกหลัง คือ บ้านพ่อ แต่บ้านหลังนั้น คีนไม่เคยเป็นตัวเองเพราะเขาต้องปรับมุมมองให้เข้ากับ ‘พ่อ’ และ ‘แฟนใหม่ของพ่อ’ เสมอ

“ผมไม่อยากกลับบ้านเพราะไม่อยากทะเลาะกับครอบครัว เพราะไม่รู้จะระบายความรู้สึกกับใคร ไม่เคยได้คัมเอาต์ว่าจริงๆ แล้วผมเป็น non-binary (การปฎิเสธการระบุเพศสภาพว่ามีแค่ชายกับหญิง) และไม่เคยได้บอกว่าเราเป็น Asperger Syndrome (ภาวะพัฒนาการทางสังคมบกพร่อง) กับคนอื่นเลย”

มีครั้งหนึ่งคีนหนีออกจากบ้านเพราะไม่อยากเจอแม่ เขาตัดสินใจนั่งรถไฟฟ้าไปนอนโฮสเทลแห่งหนึ่ง แต่บอกแม่ว่าไปนอนบ้านพ่อ

“ผมล้มลงกับเตียง หายใจแล้วรู้สึกสงบมาก หายใจแล้วรู้สึกถึงอากาศรอบตัว แล้วพบคำตอบว่า การไม่กลับบ้านสำหรับเราอาจเป็นเรื่องที่ดี”

สำหรับเด็กวัย 15 ปี การแต่งกลอนภาษาไทยและภาษาอังกฤษ คือ กิจกรรมที่เขารู้สึกปลอดภัย ไม่ใช่บ้าน

ส่วนพื้นที่ปลอดภัย คือ ‘ร้านหนังสือ’ และมีเพื่อนสนิทเป็น ‘หนังสือปรัชญา’

“จับหนังสือแล้วรู้สึกว่า พื้นที่ตรงนี้คือ comfort zone ของเรา”


Writer

Avatar photo

mappa learning

Illustrator

Avatar photo

กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts