“เรื่องเล่าของครูผู้สูญเสีย” ปัญหาสุขภาพจิตวัยเรียนที่ต้องการความเข้าใจ

  • เรื่องที่เล่ายากที่สุดของ “ครูปลา (นามสมมติ)” ครูประจำโรงเรียนขยายโอกาสแห่งหนึ่งในต่างจังหวัด ผู้ต้องบอกลาลูกศิษย์ของตัวเองไปตลอดกาล หลังจากที่นักเรียนผู้นี้ตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง เนื่องจากปัญหาส่วนตัว
  • อัตราจำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จในวัยเรียนและวัยทำงานตอนต้น และทำร้ายร่างกายตนเอง เพิ่มมากขึ้นกว่าวัยทำงาน 4 เท่า ซึ่งอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในกลุ่มวัยเรียน อายุ 15 – 24 ปี ในปี 2564 มีจำนวนมากถึง 439 ราย
  • ปัญหาเรื่องสุขภาพจิตวัยเรียนเป็นปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะการถูกบูลลี่จากเพื่อนในชั้นเรียน ส่งผลให้เกิดการฆ่าตัวตายในเด็กวัยเรียนมากขึ้น ซึ่งผู้ใหญ่ต้องรีบ “ทำอะไรสักอย่าง” เพื่อหยุดยั้งปัญหานี้
  • โรงเรียนจำเป็นต้องมีครูแนะแนวที่มีความรู้และความเข้าใจเรื่องสุขภาพจิตของนักเรียน แต่ด้วยภาระงานของครู และงบประมาณของโรงเรียน ก็ทำให้การดูแลสุขภาพจิตของนักเรียนเป็นเรื่องยาก 

จากกรณีเด็กอายุ 14 ปี ที่ถูกบูลลี่และถูกล่วงละเมิดทางเพศ ได้ตัดสินใจฆ่าตัวตายเพื่อจบปัญหารุมเร้าในชีวิต หรือกรณีของเด็กมัธยมปลายที่ถูกล้อเลียนรูปร่างหน้าตา จนเลือกที่จะจบชีวิตตัวอย่างน่าสลดใจ สะท้อนให้เห็นสถานการณ์สุขภาพจิตในเด็กและเยาวชนที่น่าเป็นห่วงไม่น้อย นี่คือปัญหาใหญ่ที่ต้องได้รับการดูแลและแก้ไขอย่างเร่งด่วน และ “ครู” ก็เป็นกลไกสำคัญที่สามารถเข้ามาช่วยรับมือและจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น 

Mappa พูดคุยกับครูจากโรงเรียนขยายโอกาสในต่างจังหวัดท่านหนึ่ง ผู้เคยผ่านประสบการณ์ความเจ็บปวดจากการสูญเสียลูกศิษย์ที่ตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง เพื่อสะท้อนความเข้าใจของโรงเรียนต่อประเด็นเรื่องสุขภาพจิตของวัยเรียน และนำไปสู่การหาทางป้องกันการฆ่าตัวตายในเด็กและเยาวชนที่มีประสิทธิภาพ 

เรื่องที่เล่ายากที่สุด

“ครูปลา (นามสมมติ)” ครูประจำโรงเรียนขยายโอกาสแห่งหนึ่งในต่างจังหวัด คือครูอีกคนหนึ่งในประเทศนี้ ที่ต้องบอกลาลูกศิษย์ของตัวเองไปตลอดกาล หลังจากนักเรียนคนนี้ตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง เนื่องจากปัญหาส่วนตัว แม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะผ่านมาหลายปีแล้ว แต่ครูปลาก็ยังจำได้แม่นว่าลูกศิษย์คนนี้เป็นเด็กน่ารัก มีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือ และตั้งใจเรียนเป็นที่สุด แล้วครูปลากับเด็กคนนี้ยังสนิทสนมกันมาก เมื่อได้รู้ข่าวน่าสลดใจของนักเรียนที่ตัวเองรัก จึงเป็นเรื่องยากที่จะเชื่อว่าเป็นความจริง 

“ครูไม่รู้ว่าที่เขาตัดสินใจทำแบบนั้น มันเป็นเพราะอะไร แต่หลังจากที่เขาเสียไปแล้ว เราก็ได้นั่งคุยกับเพื่อน ๆ ของเขา ถึงได้รู้ว่าเขาคิดจะทำแบบนี้อยู่แล้ว เขาคุยกับเพื่อนของเขาในแชท ว่าเขาคิดจะทำแบบนี้นะ มีการโชว์รูปให้ดู แต่เพื่อนก็คิดว่าเขาแค่พูดเล่น จนสุดท้ายพ่อกับแม่ของเขาก็เป็นคนไปเจอ” 

“ครูก็ไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร ถึงแม้จะสนิทกับเขามากแค่ไหน แต่เขาก็ไม่เคยปริปากเล่าปัญหาให้ครูฟังเลย” 

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ การฆ่าตัวตายในเด็กและเยาวชนมีตัวเลขเพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลจากศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งชาติ ปี 2560 – 2564 ระบุว่า อัตราจำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จในวัยเรียนและวัยทำงานตอนต้น และทำร้ายร่างกายตนเอง เพิ่มมากขึ้นกว่าวัยทำงาน 4 เท่า ซึ่งอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในกลุ่มวัยเรียน อายุ 15 – 24 ปี ในปี 2564 มีจำนวนมากถึง 439 ราย สะท้อนให้เห็นความรุนแรงของปัญหาที่กำลังเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการฆ่าตัวตาย คือเรื่อง “สุขภาพจิต” ของวัยเรียน ที่จำเป็นต้องทำให้เป็นประเด็นสำคัญของสังคม และผู้ใหญ่ต้องรีบ “ทำอะไรสักอย่าง” เพื่อหยุดยั้งปัญหานี้   

สาเหตุของปัญหาสุขภาพจิตคือครอบครัว

แม้จะไม่รู้เหตุผลที่ทำให้ลูกศิษย์ของตัวเองเลือกที่จะจากไป แต่นั่นก็เป็น “บทเรียน” ที่ทำให้ครูปลาตระหนักถึงเรื่องปัญหาสุขภาพจิตของเด็กนักเรียน และคอยเฝ้าดูพฤติกรรมของพวกเขาเสมอ ทำให้ครูปลาเริ่มมองเห็นว่านักเรียนที่คล้ายจะมีปัญหาสุขภาพจิต มักจะมีสาเหตุจาก “ครอบครัว” 

“ตอนนี้ครูก็มีนักเรียนคนหนึ่งไม่ยอมมาโรงเรียนเลย เขาเป็นเด็กหน้าตาดี สมองดี เป็นที่รักของเพื่อน ๆ ครอบครัวไม่ได้ขัดสนเรื่องเงินทอง แต่พ่อกับแม่เขาแยกทางกัน แล้วแม่ก็แต่งงานใหม่ ซึ่งมันก็อาจจะมีส่วนก็ได้ ครูก็ได้เข้าไปปรึกษาพูดคุยกับแม่ของเขา ว่าเราไปหาหมอดีไหม แต่แม่ของเขาก็ถามว่า แล้วเราจะไปหาหมอด้วยอาการอะไรล่ะ เพราะเขาปกติทุกอย่างเลย แค่ไม่ยอมไปเรียนหนังสือ” 

“หรือนักเรียนอีกคนที่มีปัญหาเรื่องอารมณ์ ครูก็มานั่งวิเคราะห์ แล้วเราก็พบว่ามาจากครอบครัวที่ดูแล เขาใช้ความรุนแรงกับลูกหลานของเขา คือเด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ พ่อแม่ไปทำงานต่างจังหวัด ซึ่งโดยบริบทของที่นี่ นักเรียนจะอยู่กับปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา มีน้อยมากที่จะได้อยู่กับพ่อแม่ มันก็เลยมีช่องว่างระหว่างวัย มีความไม่เข้าใจกัน แล้วเด็กคนนี้โดนทำร้าย ล่าสุดเขาโดนโยนของใส่จนหัวแตก แล้วเด็กก็จะกลัวการถูกทำโทษมาก ๆ ทำให้เขาเลือกที่จะแสดงความรุนแรงกับคนอื่น ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าพฤติกรรมก้าวร้าวของเขามาจากบ้าน และเด็กมีปัญหาสุขภาพจิต” 

พฤติกรรมก้าวร้าวที่ครูมองเห็น

นอกจากครอบครัวที่เป็นต้นเหตุสำคัญของเรื่องสุขภาพจิตในวัยเรียนแล้ว สิ่งแวดล้อมในโรงเรียน กลุ่มเพื่อน และสังคมในชุมชน ก็มีส่วนสำคัญต่อพฤติกรรมและจิตใจของนักเรียนของครูปลาเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับ “เด็กที่มีความต้องการพิเศษ”​ ที่มักตกเป็นเป้าของการถูกบูลลี่จากเพื่อนรอบข้าง เนื่องจากความแตกต่างของพวกเขา และความไม่เข้าใจจากเพื่อนรอบข้าง ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ครูปลามองเห็นและต้องหาทางแก้ไข

ไม่เพียงเท่านั้น ครูยังต้องเผชิญกับ “ความท้าทายใหม่” อย่างเทคโนโลยี ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการบูลลี่และก้าวร้าวของนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้นด้วย เช่น การกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ (Cyber Bullying) ที่เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตในวัยเรียน และกลายเป็นปัญหาใหญ่ของโลกยุคใหม่ ที่ครูปลายอมรับว่าต้องไล่ตามให้ทัน เพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลาม จนถึงขั้นสูญเสียเหมือนที่ผ่านมา  

“นักเรียนยุคนี้มีปัญหามากกว่านักเรียนในยุคก่อนมาก เขาเป็นเหมือนกับแก้วบาง ๆ ที่เราจะทำอะไรรุนแรงด้วยไม่ได้ จับแรงไม่ได้ แต่จะเบาเกินก็ไม่ได้ จะกลายเป็นเหมือนเราปล่อยมากจนเกินไป แล้วก็มีพฤติกรรมที่เพิ่มมาจากเด็กยุคก่อน โดยเฉพาะเรื่องพฤติกรรมก้าวร้าว ซึ่งมันก็อาจจะด้วยเรื่องของเทคโนโลยี ที่ทำให้ครูต้องทะเลาะกับเขาทุกวันเลย เพราะเวลาเราบอกว่าต้องเก็บโทรศัพท์ เขาก็จะรู้สึกหวง จนเหมือนเขาเป็นศัตรูกับครูอยู่ตลอดเวลา คล้ายกับว่าเราทำอะไรที่ขัดใจเขาอยู่ตลอด” 

“พอเรารู้สึกว่าเราเป็นเพื่อนกับเขาแล้ว แต่เวลาไปสอนหนังสือ เด็ก ๆ กลับแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับเรา เขาเล่นหน้าเล่นตา บางทีก็ปีนเกลียว เหมือนไม่เคารพนับถือกัน ครูเลยเข้าใจว่าทำไมครูหลายคนจึงจำเป็นต้องใช้อำนาจ หรือต้องจำกัดกรอบให้นักเรียนเหมือนเดิม” 

ความช่วยเหลือที่ครูต้องร้องขอ

เมื่อถามถึงวิธีการหรือขั้นตอนการรับมือกับนักเรียนที่ครูรู้สึกว่ามีพฤติกรรมหรือปัญหาด้านสุขภาพจิต ครูปลาสะท้อนว่า เธอทราบถึงขั้นตอนในการขอความช่วยเหลือ หรือส่งเรื่องให้กับเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อเข้ามาดูแลหรือจัดฝ่ายงานที่เกี่ยวกับจิตเวชมาให้โรงเรียน ทว่า ด้วยความไม่ชัดเจนของโรงเรียน ทำให้ครูต้องใช้วิธีการติดต่อกับฝ่ายจิตเวชของโรงพยาบาลด้วยตัวเองเป็นกรณีไป 

“เขาจะเริ่มจากการให้ครูไปอบรมรับวุฒิบัตรในส่วนของการดูแล ให้คำปรึกษานักเรียน ซึ่งครูที่ผ่านการอบรมก็จะสามารถมาคัดกรองเด็กเองได้เลย เพราะทางเขตไม่สามารถลงมาคัดกรองได้ด้วยตัวเอง เมื่อคัดกรองเสร็จแล้ว เราก็จะพอเห็นว่าเด็กคนไหนมีปัญหาอะไร ก็จะมีวิธีการส่งต่อ ว่าต้องส่งเด็กไปที่ไหน ต้องไปโรงพยาบาล หรือจะให้เขตเข้ามาดูแล แล้วเราก็ต้องทำเรื่องเข้าไปที่เขตอีกครั้ง เพื่อให้ทางนั้นจัดฝ่ายงานจิตเวชเข้ามาให้ แต่ทางโรงเรียนของเรายังไม่มีเคสหนัก เราจึงไม่เคยทำเรื่องเข้าไปแบบนั้น” 

“หรือกับเคสเด็กที่โดนทำร้าย ทางครูประจำชั้นของเขาก็มีโอกาสปรึกษาคุณหมอ ทางโรงพยาบาลเขาก็แนะนำให้ครูทำหนังสือ เพื่อขอให้คุณหมองานจิตเวชไปหาที่โรงเรียน ซึ่งหลังจากนี้ก็จะเป็นหน้าที่ของครูประจำชั้นที่ต้องดำเนินการ เราได้ทราบขั้นตอนกระบวนการจากโรงพยาบาลแล้ว ต่อไปเราคงขอให้คุณหมอ หรือฝ่ายงานจิตเวชมาช่วยดูนักเรียนของเราหน่อย ก็น่าจะดี” 

ความเข้าใจเรื่องปัญหาสุขภาพจิต

แม้จะมีความพยายามจากกระทรวงศึกษาธิการในการออกมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของนักเรียน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สังคมยังมองไม่เห็นการให้ความช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมจากกระทรวง โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง “นักจิตวิทยาในโรงเรียน” ที่มีความจำเป็น อย่างไรก็ตาม รายงานจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช ของกรมสุขภาพจิต ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ระบุว่า ประเทศไทยมีจิตแพทย์รวม 845 คน หรือคิดเป็นจิตแพทย์ 1.28 คน ต่อประชากรแสนคน ซึ่งชัดเจนว่าความช่วยเหลือด้านจิตเวชสำหรับคนไทยมีไม่เพียงพอ และเป็นเรื่องยากสำหรับปัญหาสุขภาพจิตในโรงเรียนด้วยเช่นกัน 

“เราไม่มีนักจิตวิทยาหรอก นักจิตวิทยาในโรงเรียนจะมาในตำแหน่งของครูแนะแนว แต่ก็มีปัญหาเรื่องงบประมาณ เรื่องตำแหน่งงานของครู เรื่องภาระหน้าที่ครู ก็ทำให้การดูแลสุขภาพจิตของนักเรียนเป็นเรื่องยาก อย่างที่ผ่านมา โรงเรียนมีครูท่านหนึ่งที่ได้ไปอบรม และรับทำหน้าที่ครูแนะแนวได้เป็นอย่างดี สามารถแก้ปัญหาให้นักเรียนได้ดีมาก แต่ท่านก็เกษียณไปแล้ว ตอนนี้เราก็ยังขาดครูแนะแนว ซึ่งจริง ๆ มันควรจะมีแหละ อย่างน้อยก็มีครูแนะแนวที่เป็นครูแนะแนวจริง ๆ เหมือนกับโรงเรียนขนาดใหญ่ ก็น่าจะช่วยเราได้” 

แน่นอนว่าการมีครูแนะแนว ที่มีความรู้และความเข้าใจเรื่องพฤติกรรมและสุขภาพจิตเด็ก จะสามารถช่วยบรรเทาความทุกข์ใจและปัญหาชีวิตขม ๆ ของนักเรียนได้บ้าง แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้น คือความเข้าใจของ “ครูทุกคน” ต่อประเด็นปัญหาดังกล่าว เพราะครูคือผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิดนักเรียนมากที่สุด 

“การหาทางออกเรื่องปัญหาสุขภาพจิต เราต้องเริ่มจากครอบครัวเป็นอย่างแรก มันแน่นอนอยู่แล้ว แต่โรงเรียนก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน อย่างปัญหาเรื่องการบูลลี่ การบูลลี่เป็นสาเหตุหลักของปัญหาสุขภาพจิตนักเรียน และนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ ดังนั้น ครูต้องตระหนักถึงเรื่องนี้ และต้องพยายามหาทางออกให้กับปัญหาที่เกิดขึ้นในห้องให้ได้ ถ้าครูประจำชั้นพยายามตระหนัก หรือเน้นเรื่องนี้ ไม่ทำให้เกิดการแบ่งแยก ไม่ทำให้การบูลลี่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมโรงเรียน ครูคิดว่ามันก็จะดีขึ้น ดังนั้น ความใส่ใจของครูมีส่วนมากที่จะช่วยลดปัญหาเรื่องนี้ ถ้าครูใกล้ชิดกับนักเรียนได้อีกหน่อย มันจะดีขึ้นเยอะเลย” ครูปลากล่าวปิดท้าย


Writer

Avatar photo

ณัฐฐฐิติ คำมูล

วัยรุ่นปวดหลังที่ใฝ่ฝันถึงสังคมที่ทุกคนเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts