เติบโตจากโรงเรียน เรื่องเล่าจากศิษย์เก่า “โรงเรียนปัญโญทัย” ออมมี่ – ธัญญา ศรีธัญญา

“ออมมาอ่านหนังสืออกตอน ป.3 ครูแนะนำตัวอักษรให้รู้จัก แล้วเราก็อ่านได้เลย” 

นี่คือเรื่องเล่าของ “ออมมี่ – ธัญญา ศรีธัญญา” ศิษย์เก่าแห่งโรงเรียนปัญโญทัย โรงเรียนทางเลือกที่นำการศึกษาแนว “วอลดอร์ฟ” มาใช้กับเด็กไทย โดยมีเป้าหมายที่จะเตรียมเด็กตัวน้อยให้พร้อมสำหรับการใช้ชีวิตในโลกที่กว้างใหญ่ มีอิสระทางความคิด มีความรับผิดชอบต่อตัวเอง และพร้อมจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

จากการสอบเข้าที่ขอให้เด็กหญิงออมมี่วาดรูปบ้าน ฟังเสียงนาฬิกา และเดินบนขอนไม้ให้คุณครููดู สู่การเรียนการสอนที่ให้ลงมือปฏิบัติจริง ไปจนถึงการเข้าป่า ปั่นจักรยาน และล่องเรือใบ ทั้งหมดนี้คือกิจกรรมส่วนหนึ่งของโรงเรียนปัญโญทัยที่ออมมี่จดจำได้ และหล่อหลอมให้เธอกลายเป็นออมมี่ที่สดใส มองโลกในแง่ดี และมีความเป็นตัวของตัวเองสูง 

หลังเรียนจบชั้น ม.6 จากโรงเรียนปัญโญทัย ออมมี่ใช้เวลา 1 ปีช่วง Gap Year ไปสัมผัสเรื่องราวชีวิตและผู้คนที่หลากหลาย เธอไปทำวงดนตรีกับน้อง ๆ ผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย เดินทางไปร่วมงานรวมตัวเด็กวอลดอร์ฟทั่วโลกที่สวิสเซอร์แลนด์ ไปแข่งร้องเพลงที่แอฟริกา ไปทำงานพาร์ทไทม์ที่เกาหลี และอีกมากมายที่ทำให้ออมมี่ตกตะกอนว่าเธอชื่นชอบ “ความเป็นมนุษย์” จนตัดสินใจเรียนด้านปรัชญา เพื่อค้นหาคำตอบที่มนุษย์ทุกคนมีร่วมกัน 

ปัญโญทัยในสายตาออมมี่

“โรงเรียนปัญโญทัยคือโรงเรียนวอลดอร์ฟ ซึ่งเป็นแนวคิดการศึกษาทางเลือกที่นำมาจากประเทศเยอรมนี พัฒนาขึ้นโดยนักปรัชญาชื่อรูดอร์ฟ สไตเนอร์ ในยุคที่คนมีปัญหาเรื่องวิกฤตการมีชีวิตอยู่ เขาก็เลยย้อนกลับไปค้นหาว่าอะไรคือคุณค่าของความเป็นมนุษย์ มนุษย์มีองค์ประกอบอะไรกันแน่ แล้วเขาก็ศึกษาเรื่องเกี่ยวกับมนุษย์ในทุกมิติ ทั้งทางด้านกายภาพ จิตวิญญาณ ด้านจิตใจ แล้วจากการศึกษาตรงนั้น เขาก็พัฒนาเป็นหลักสูตรการศึกษาที่เรียกว่าวอลดอร์ฟ ซึ่งการศึกษาแบบนี้ไม่ได้พัฒนาเด็กแค่ในระดับสติปัญญา แต่พัฒนาในระดับจิตวิญญาณด้วย นั่นหมายความว่าจุดเด่นของการศึกษาแบบนี้ คือเขาพัฒนาเด็กไปตามวัยที่เหมาะสม” 

“เขาแบ่งเด็กเป็นช่วงวัย และแต่ละช่วงวัยก็มีรูปแบบการเรียนการสอนที่แตกต่างกัน เหมือนเขาก็เลือกให้สิ่งที่เหมาะสมกับในแต่ละช่วงวัย อย่างตอนเด็ก ๆ เราไม่ได้เรียนอะไรเลย แต่เขาให้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์มากกว่า เช่น การที่เราอยู่ร่วมกัน การได้ใช้มือประดิษฐ์อะไรต่าง ๆ แล้วพอโตขึ้นถึงจะเริ่มให้เข้าถึงสิ่งที่เป็นวิชาการ การเขียน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ พอโตไปอีกระดับหนึ่ง ค่อยให้เราได้ใช้สมองประมวลผล คิดเรื่องปรัชญา ความคิดเชิงวิพากษ์” 

ครอบครัวคือสิ่งสำคัญ

“สิ่งสำคัญในการคัดเด็กเข้าโรงเรียนก็คือครอบครัว เพราะว่าถ้าจะเอาให้ครบวงจรจริง ๆ ครอบครัวมีส่วนสำคัญมากในการทำให้ระบบการศึกษาแบบวอลดอร์ฟสมบูรณ์แบบ เพราะมันไม่ได้จบแค่ที่โรงเรียน เวลากลับไปที่บ้าน ครอบครัวก็ต้องดูแลด้วย อย่างเด็กวอลดอร์ฟจะห้ามดูทีวี ห้ามฟังวิทยุ ห้ามอ่านหนังสือพิมพ์ ห้ามเล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ห้ามหมดเลย ว่าง่าย ๆ คือห้ามรับสื่อที่โรงเรียนไม่ได้ให้ ซึ่งมันอาจจะฟังดูแปลก ๆ หน่อย แต่ว่าตอนนั้นที่เราโตมา มันยังไม่ค่อยมีมือถือด้วย แล้วที่บ้านก็จะไม่มีทีวีกลาง เวลาเปิดวิทยุ เขาก็จะไปฟังของเขาเอง ไม่ให้เราได้ยินด้วย ซึ่งเราอยู่แบบนั้นจนถึง ม.3” 

“ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญของการศึกษาทางเลือกเลยนะ เพราะการที่เด็กคนหนึ่งจะเข้ามาอยู่ในระบบการศึกษาทางเลือก ครอบครัวต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ครบวงจร ถึงจะเกิดผลจากการศึกษาแบบนี้จริง ๆ มีหลายคนที่ลาออกไป เพราะครอบครัวเข้าใจ แต่ปู่ย่าไม่เข้าใจว่าทำไมหลานยังอ่านหนังสือไม่ได้สักที ทำไมหลานยังคิดเลขไม่ได้ ทำไมทำอันนี้ไม่ได้ จนสุดท้ายเขาต้องเอาลูกออกจากโรงเรียน เพราะฉะนั้นความเข้าใจของครอบครัวสำคัญมาก”

การเรียนที่ไร้ตำรา

“ตอนอนุบาลไม่ทำอะไรเลย นอกจากเล่น นอน และฟังนิทาน มีทำคุกกี้บ้าง ปั้นดินบ้าง แล้วประถมก็เริ่มฝึกอ่านหนังสือ อย่างออมมาอ่านหนังสือออกตอน ป.3 ครูแนะนำตัวอักษรให้รู้จัก เราก็อ่านได้เลย แล้วเราก็อ่านหนังสือจนหมดชั้นเลย มันเหมือนปลดล็อก แล้ววิชาอื่น ๆ ก็ไม่มีตำราเรียน เราต้องทำการทดลอง หาข้อสรุป เอามาเขียนลงในสมุด แล้วก็เอาสมุดส่งครู” 

“เกิดมาไม่เคยเจอตำราเรียนเลย เพิ่งมาเจอตอนมหาลัย อย่างเวลาเรียนวิทยาศาสตร์ ก็จะเริ่มจากการทำการทดลองก่อน แล้วค่อยสรุปมาหาสูตร หรือตอนเรียนคณิตศาสตร์ที่ต้องหาค่าพาย (Pi, ¶) เราก็ใช้วิธีเอาเชือกมาวัดรอบวง วัดเชือกว่ามันยาวแค่ไหน เอาเชือกมาวัดความกว้างของวง แล้วก็นั่งหาค่าพายเอง การเรียนวอลดอร์ฟจึงไม่มีอะไรที่เราได้มาแบบสำเร็จรูปเลย เราจะค้นพบมันได้ด้วยตัวเองตลอด” 

“ด้วยความที่โรงเรียนมันเล็ก ครูก็บอกว่าไม่จำเป็นต้องสอบอยู่แล้ว ด้วยความที่ครูใกล้ชิดกับนักเรียน ครูก็เห็นอยู่ว่าคนไหนทำได้แค่ไหน อย่างบางคนอาจจะเขียนงานได้ไม่ค่อยดี แต่ทำอย่างอื่นได้ดี แต่ทั้งหมดทั้งมวลคือต้องส่งงาน ไม่ส่งงานก็ไม่ได้เกรดจบ” 

กิจกรรมเพื่อการรู้จักตัวเอง 

“ในแง่ของการรู้จักตัวเอง รู้สึกว่ามันเกิดขึ้นตลอดเวลาของระบบการศึกษาเลย เพราะว่าทุกอย่างมันอยู่ในบรรยากาศของการเรียนการสอน มันจึงช่วยให้เราได้รู้จักตัวเองผ่านอะไรบางอย่างอยู่เสมอ ทั้งด้านดนตรี ด้านศิลปะ แล้วด้วยความที่โรงเรียนไม่มีการแบ่งสายวิทย์หรือสายศิลป์ เราก็เลยจะได้เรียนทั้งหมด ได้เรียนวิทยาศาสตร์อย่างเข้มข้น แล้วก็ได้วาดรูปศิลปะ แล้วก็เรียนภาษา เรียนปรัชญา เรียนชีวประวัติ หรือพวกกิจกรรมผาดโผนทั้งหลาย เช่น ขี่จักรยานทางไกล จากกรุงเทพฯ ไปอ่าวมะนาว หรือตอนไปเล่นเรือใบ ที่ไปอยู่ทะเล 5 – 6 วัน แล้วก็เล่นเรือใบทุกวัน แล้วก็กิจกรรมการเข้าป่าตอน ม.5 ที่เราได้เข้าป่าไปวาดรูปต้นไม้ แล้วก็เขียนกลอนไฮกุในป่า ก็เป็นอะไรที่ประทับใจมาก”

“มีการทำละครประจำปีของนักเรียนแต่ละชั้นปี ซึ่งการทำละครมันก็จะพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ตามช่วงวัย อย่างตอนเด็ก ๆ เราก็จะทำตามครูบอก โตขึ้นมาก็จะเริ่มออแกไนซ์กันเอง โตขึ้นมาอีกหน่อยก็จะเริ่มเขียนบท กำกับ ทำพร็อพกันเอง เราก็เลยรู้สึกว่ากระบวนการทำละครประจำปีเป็นส่วนสำคัญมากที่ทำให้เราได้ฝึกที่จะทำงานร่วมกันกับเพื่อนในห้อง แล้วได้รู้ว่าเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร ละครชิ้นสุดท้ายตอนเรียน ม.6 ก็มีครูละครจากข้างนอกเข้ามาสอน แล้วละครชิ้นนี้ก็เป็นอะไรที่เบิกเนตรมากสำหรับตัวเอง เหมือนกับว่าในกระบวนการที่เขาสอนตอนนั้น เราได้เข้าไปอยู่ในโลกของละคร แล้วพอเรามองออกมาที่โลกของความเป็นจริง เราได้เห็นความเป็นไปของสิ่งต่าง ๆ เห็นพลวัตของชีวิต เห็นการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ออมเลยรู้สึกว่ากระบวนการทำละครที่เกิดขึ้นในโรงเรียน เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น”

เตรียมพร้อมเป็นผู้ใหญ่ที่ดี

“ตั้งแต่เข้าไป ป.1 โรงเรียนก็จะบอกว่า สิ่งที่โรงเรียนปัญโญทัยให้คือการเตรียมตัวเด็กทุกคนเพื่อไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันข้างหน้า โรงเรียนพัฒนาเด็กไปตามวัยที่เหมาะสม เราจะได้รับอะไรก็ตามอย่างเป็นธรรมชาติมาก แล้วสิ่งนั้นก็จะเข้ามาอยู่ในเนื้อตัวของเราเลย เราจึงเป็นเจ้าของความรู้และความสามารถเหล่านั้นอย่างแท้จริง แล้วโรงเรียนก็ไม่ได้เป็นระบบปิดขนาดนั้น พอถึงช่วง ม.ปลาย เขาก็จะเริ่มส่งเด็กออกไปมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมภายนอก เช่น ช่วงปิดเทอมก็ต้องออกไปฝึกงาน ไปทำพวกการเกษตร ไปฝึกทำงานฝีมือกับชาวบ้าน อย่างออกก็ได้ไปสานหมวกที่สระบุรี แล้วได้ทำงานเพื่อสังคม ไปอยู่กับเด็กพิการ แล้วตอน ม.6 ก็ได้ทำโปรเจกต์ของตัวเอง ซึ่งโปรเจกต์นี้เราต้องดูแลเองทั้งหมดเลย เพราะฉะนั้น โรงเรียนจะบ่มเพาะในช่วงวัยตอนเด็กให้เรามีความแข็งแรงมั่นคง ทั้งทางร่างกาย ทักษะ และวินัย แล้วก็บ่มเพาะให้เรามีความสามารถในการสร้างเจตจำนงค์ของตัวเอง แล้วในช่วงตอนปลาย เขาก็จะพาเราไปเปิดสู่สังคม เพื่อไม่ให้เราเป็นปลาช็อกน้ำมากจนเกินไป” 

การศึกษาที่มีอิทธิพลกับชีวิต

“การเรียนในระบบการศึกษาแบบนี้มีอิทธิพลกับออมหนักมาก พอถึงช่วงวัยที่เราได้เจอคนนอก ก็คือช่วงที่เข้ามหาลัย คนอื่นก็จะบอกว่าออมมี่ไม่เหมือนคนอื่น เรามีอิสระทางความคิดเยอะกว่า ซึ่งเราคิดว่าเพราะเราไม่ได้อยู่ในชุดการศึกษาที่เพื่อนคนอื่นเจอมา เพราะฉะนั้น พื้นฐานของเราจึงไม่มีความคิดเหมือนเด็กในระบบเลย และสิ่งที่เราได้รับจากความเป็นปัญโญทัยคือมันทำให้เราใกล้ชิดกับโลกของธรรมชาติ แล้วก็มีความรู้สึกว่าตัวเองเชื่อมโยงกับจักรวาลและโลกใบนี้”

“คนชอบบอกว่าเราไม่เหมือนชาวบ้าน อันนี้ปกติอยู่แล้ว แล้วก็จะเป็นคนที่มีอิสระทางความคิด อันนี้ก็ได้ยินบ่อย แล้วเด็กปัญโญทัยก็ทำอะไรได้หลายอย่าง งานฝีมือก็ทำได้ งานก่อสร้างก็ทำได้ มีทักษะเยอะ เล่นดนตรีก็ได้  ส่วนอีกด้านก็คือเด็กปัญโญทัยจะมีความติดกรอบแบบปัญโญทัยไปอีกแบบหนึ่ง คือในความพยายามเปิดกว้างของโรงเรียน มันก็ยังมีการจำกัดบางอย่างที่อยู่ในนั้น ซึ่งในแง่หนึ่งมันก็ดีสำหรับเราตอนเด็ก ๆ คือเราก็อยู่ในกฎระเบียบ แต่พอโตมามันก็เหมือนขังเราในบางครั้ง”  

ช่วงชีวิตที่มีค่าที่สุด

“เรารู้สึกว่าเพื่อนตอนมหาลัยมีช่วงเวลาของการเรียนในโรงเรียนที่ไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีของชีวิตเลย จากที่เราฟังมานะ คือมันแตกต่างจากเรามาก เพราะช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่ดีของชีวิต แต่เพื่อน ๆ คนอื่นเป็นช่วงเวลาที่ไม่ดีเลย ไม่ว่าจะในแง่สังคม ครู หรือการศึกษา เรารู้สึกว่าเพื่อน ๆ ไม่ได้รับโอกาสหรือพื้นที่มากพอที่จะให้เขาได้เรียนรู้ในสิ่งที่คนเราจะต้องเรียนรู้จริง ๆ เพื่อนชอบมาบ่นให้ฟังว่าสมัยนั้นเรียนอะไรไปก็ไม่รู้ ไม่ได้ประโยชน์เลย มันไม่ใช่สิ่งที่คนเราต้องเรียนรู้ ก็เลยกลายเป็นความทรมานและความกดดัน” 

“ถ้ามองย้อนไปในชีวิต เรารู้สึกว่าได้รับช่วงเวลาชีวิตของตัวเองที่มีคุณค่า ปัญโญทัยทำให้ช่วงเวลาการเติบโตของเรากลายเป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่ามาก ๆ แล้วก็มีความหมายกับเรามาก สิ่งที่เราได้รับคือทุกอย่างของการศึกษา มันประกอบออกมาเป็นช่วงเวลาในชีวิตของเราที่ดีงาม ที่มีคุณค่า และเราก็เลยรู้สึกขอบคุณความบังเอิญทุกอย่างที่ทำให้เราได้ไปอยู่โรงเรียนนี้”


Writer

Avatar photo

ณัฐฐฐิติ คำมูล

วัยรุ่นปวดหลังที่ใฝ่ฝันถึงสังคมที่ทุกคนเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง

Photographer

Avatar photo

ชัชฐพล จันทยุง

หลงรักการบันทึกรอยยิ้มและความรู้สึกเป็นภาพถ่าย

Illustrator

Avatar photo

ธีรภัทร์ เศาธยะนันท์

ชอบกินลาเต้เย็น

Related Posts