“The Electrical Life of Louis Wain” คนนอกคอกผู้สะท้อนความงามของโลกด้วยมวลแมว

  • “The Electrical Life of Louis Wain” เป็นภาพยนตร์ชีวประวัติของหลุยส์ เวน ศิลปินยุคศตวรรษที่ 19 เจ้าของผลงานภาพวาดแมวอันโด่งดัง นำแสดงโดย เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ และแคลร์ ฟอยล์
  • ภาพยนตร์กล่าวถึงประเด็นเรื่องความเป็น “คนนอก” ของสังคม และการมองเห็นแง่มุมที่งดงามของสิ่งที่ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานของสังคม

ไม่ว่าจะยุคสมัยใด ศิลปะมักจะปรากฏอยู่เสมอในฐานะส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ และทำหน้าที่สะท้อนสังคมในยุคนั้นไม่มากก็น้อย แม้กระทั่งในยุคที่วิทยาศาสตร์และเหตุผลมีบทบาทสำคัญอย่างสูงในสังคมโลกอย่างศตวรรษที่ 19 ศิลปะที่ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญ ก็ยังเป็นฝีแปรงเล็กๆ ที่คอยแต่งแต้มสีสันท่ามกลางสังคมวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมอันแห้งแล้งแข็งกระด้าง โดยฝีมือของศิลปินแหกคอกอย่าง “หลุยส์ เวน” ศิลปินชาวอังกฤษ เจ้าของผลงานภาพวาดแมวแนวเหนือจริงที่สะท้อนเสน่ห์ของแมวได้อย่างน่าประหลาดใจ

เรื่องราวของหลุยส์ เวน เป็นที่กล่าวขานอีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว ในภาพยนตร์เรื่อง “The Electrical Life of Louis Wain” ผลงานการกำกับของวิลล์ ชาร์ป นำแสดงโดยนักแสดงเจ้าบทบาทอย่างเบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ ในบทหลุยส์ เวน และแคลร์ ฟอยล์ ผู้รับบทเป็นเอมิลี ริชาร์ดสัน-เวน ภรรยาของเขา

ตัวประหลาดของสังคม

ประเทศอังกฤษในศตวรรษที่ 19 หรือยุควิคตอเรียน ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งนวัตกรรมและการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ที่ผู้คนต่างก็คลั่งไคล้ในการใช้เหตุผลและวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะเรื่องไฟฟ้า ทว่าขาดไร้การแสดงอารมณ์ความรู้สึก และเป็นยุคที่บทบาทของชายหญิงแยกขาดกันอย่างชัดเจน โดยผู้ชายจะครองพื้นที่นอกบ้าน ทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัว ขณะที่ผู้หญิงต้องอยู่แต่ในบ้านและแบกรับภาระในบ้านทั้งหมด

หลุยส์ เวน เกิดและเติบโตในช่วงเวลาเช่นนี้ พร้อมรูปลักษณ์อันแปลกประหลาดและบุคลิกที่ผิดแผกจากคนทั่วไปในสังคม และไม่ใช่แค่ลักษณะทางร่างกายเท่านั้น หลุยส์ เวน นั้นแปลกประหลาดในทุกทาง ในฐานะพี่ชายคนโต เขารับหน้าที่ทำงานวาดภาพประกอบหาเลี้ยงแม่และน้องสาว 6 คน โดยมีแคโรลีน เวน น้องสาวคนรองผู้แข็งแกร่งและ “เป็นผู้ใหญ่” กว่าพี่ชาย คอยรับผิดชอบทุกอย่างในบ้านราวกับเป็นหัวหน้าครอบครัว

หลุยส์ เวน เป็นนักวาดภาพประกอบของ The Illustrated London News ผู้มีเทคนิคการวาดแตกต่างจากนักวาดภาพประกอบทั่วไป โดยเขาจะจ้องแบบเพื่อเก็บรายละเอียด แล้วกลับมาวาดภาพจากความทรงจำ และในขณะที่ใครๆ ก็สนใจไฟฟ้าในแง่พลังงานและการใช้งานในชีวิตประจำวัน หลุยส์ เวน กลับมองเห็นไฟฟ้าในมุมที่แตกต่างออกไป นั่นคือไฟฟ้าเป็น “สิ่งมหัศจรรย์ที่แปลกประหลาดเกินกว่าที่สมองมนุษย์จะเข้าใจ และเป็นกุญแจไปสู่ความลับอันลึกซึ้งและน่าตื่นเต้นที่สุดของทุกชีวิต”

และอีกหนึ่งการ “แหกขนบ” ของศิลปินหนุ่มผู้นี้ คือการที่เขาพบรักและตัดสินใจแต่งงานกับเอมิลี ริชาร์ดสัน ครูประจำบ้านหัวก้าวหน้ากว่าผู้หญิงทั่วไปที่เขาจ้างมาสอนน้องๆ และตกเป็นเป้าครหาของสังคมในที่สุด

แง่งามของตัวประหลาด

ในช่วงแรกของหนัง เราคิดไปว่านี่คือหนังโรแมนติกคอมเมดี ที่หญิงสาวใจดีมองเห็นความงามในหัวใจของชายผู้แปลกแยกจากสังคม แต่ในส่วนที่สอง ที่พูดถึงชีวิตคู่ของหลุยส์และเอมิลี เรากลับพบว่า สิ่งที่ทำให้คนที่เป็นแกะดำของสังคมทั้งคู่สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ คือสายตาที่มองเห็นความงามของสิ่งต่างๆ อย่างที่คนทั่วไปมองไม่เห็น

นั่นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ทั้งคู่จะรับเจ้าปีเตอร์ แมวจรสีขาวดำ มาเป็นสมาชิกของครอบครัว แม้ในสมัยนั้น แมวจะถูกมองว่าเป็นข้ารับใช้ของปีศาจก็ตาม 

ในที่สุด แมวน้อยปีเตอร์ก็เป็นแรงบันดาลใจแรกให้หลุยส์วาดภาพแมว หลังจากนั้น ภาพวาดแมวในอิริยาบถต่างๆ ของเขาก็ได้รับความนิยมอย่างสูง และแมวก็กลายเป็นสัตว์เลี้ยงแสนรักของใครหลายๆ คน จากสายตาอันแตกต่างของเขานั่นเอง

ชีวิตอันสุขสงบของหลุยส์ เวน ดำเนินมาถึงจุดเปลี่ยน เมื่อภรรยาของเขาเสียชีวิตลง คำสั่งเสียของเอมิลี ก่อนที่เธอจะจากโลกนี้ไปตลอดกาล สะท้อนอย่างเด่นชัดว่าเธอมองเห็นคุณค่าของหลุยส์มากเพียงใด

“โลกนี้สวยงามอยู่แล้ว และคุณทำให้ฉันเห็นความงามของมันด้วย โปรดจำไว้ว่า ไม่ว่าสิ่งต่างๆ จะยากเย็นแค่ไหน ไม่ว่าคุณจะรู้สึกว่าต้องต่อสู้ดิ้นรนมากเท่าใด โลกนี้ก็ยังเต็มไปด้วยความงาม และเป็นหน้าที่ของคุณที่จะจับภาพนั้น เพื่อที่จะมองและแบ่งปันกับผู้คนให้มากที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้ คุณคือปริซึมที่แสงแห่งชีวิตจะส่องผ่านและหักเห”

โลกหมุนด้วยความรัก

ในช่วงบั้นปลายชีวิต หลุยส์ เวน ยังคงวาดภาพแมวอย่างต่อเนื่อง ทว่าแมวของเขามีรูปร่างหน้าตาและสีสันแปลกตายิ่งกว่าเดิม จากสภาวะทางจิตที่ย่ำแย่ลง และเข้ารับการรักษาโรคจิตเภทในโรงพยาบาล การสิ้นเนื้อประดาตัวและความโดดเดี่ยว ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองทำให้ภรรยาผิดหวัง จนกระทั่งวันหนึ่งเขาได้พบกับ แดน ไรเดอร์ ชายแปลกหน้าที่เขาเคยวาดภาพสุนัขให้ฟรีบนรถไฟเมื่อหลายปีก่อน

คำพูดของแดน ไรเดอร์ ได้ปลดพันธนาการความรู้สึกผิดของหลุยส์ และชี้ให้เขาเห็นว่า เขาไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่ภาพวาดของเขาได้เชื่อมโยงเขากับผู้คนเอาไว้ และไฟฟ้าในความเข้าใจของหลุยส์ก็ไม่ได้หมายถึงพลังงานที่สร้างความสะดวกสบายให้มนุษย์ แต่เป็น “ความรัก” ที่เขาได้สัมผัสจากเอมิลี และมันยังคงหลงเหลืออยู่กับเขาเสมอ

ในช่วงเวลาและพื้นที่ที่คุณค่าของคนวัดกันที่การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ศิลปินอย่างหลุยส์ เวน จึงดูเหมือนคนประหลาดที่ไม่ได้สร้างประโยชน์ใดๆ ให้กับโลก แต่สายตาของเขาที่มองเห็นความงามของสิ่งที่สังคมมองว่าอัปลักษณ์ และหยิบแง่งามนั้นมาถ่ายทอดให้โลกสีทึมเทาได้มีสีสัน กล่อมเกลาจิตใจผู้คนให้อ่อนโยนและเอื้ออาทรต่อกัน นั่นก็คือหน้าที่ของ “ศิลปะ” และ “ศิลปิน” มิใช่หรือ


Writer

Avatar photo

ณัฐธยาน์ ลิขิตเดชาโรจน์

บรรณาธิการและแม่ลูกหนึ่ง ผู้เรียนรู้ความเป็นมนุษย์ผ่านการเติบโตของลูกชาย มีหนังสือและเพลงเมทัลร็อกเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และมีชีวิตอยู่ได้ด้วยกาแฟและขนมทุกชนิด

Illustrator

Avatar photo

อุษา แม้นศิริ

มนุษย์กราฟิกผู้ชื่นชอบงานภาพประกอบ สีฟ้า ดนตรี และมีนกน้อยสองตัวเป็นของตัวเอง

Related Posts