gamification

The Game of Parenting: พ่อแม่ต้องสนุก สบาย ปลอดโปร่ง ก่อนจะเล่น ‘เกม’ กับลูกได้

  • เวลา, ค่าแรงและเงินรายได้, ต้นทุนเข้าถึงพื้นที่เรียนรู้และสถานศึกษา คือเงื่อนไขของพ่อแม่ที่มีผลต่อเกมในชีวิตลูก
  • จากข้อมูลรายงานวิจัยบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติสำรวจข้อมูลค่าใช้จ่ายต่อหัวในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในปี 2561 พบว่าพ่อแม่ผู้ปกครองมีค่าใช้จ่ายด้านการศึกษามากถึงเกือบสองแสนล้านบาทต่อปี เฉลี่ยเด็กหนึ่งคนพ่อแม่ต้องมีรายจ่ายด้านการศึกษาปีละ 11,330 บาท คิดเป็น 6 เปอร์เซ็นต์ หรือ 6 ใน 100 ของรายได้ครัวเรือนที่ฐานะดี และ 22 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1 ใน 5 ของรายได้ครัวเรือนที่ยากจน
  • วง Parent Sharing Night เป็นพื้นที่เสมือนการสร้างระบบกิลด์ (Guild) ที่คอยช่วยซัพพอร์ทและทำให้ผู้เล่นหรือพ่อแม่ ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไม่รู้สึกโดดเดี่ยวจนเกินไป 

เวลาที่เราพูดถึงความเป็นพ่อแม่ คุณนึกถึงอะไร?

หลายคนอาจจะนึกถึงหนังสือคู่มือการเลี้ยงลูก ตำราจิตวิทยาพัฒนาการ แนวคิดทักษะแห่งอนาคต การศึกษาในศตวรรษที่ 21 หรือนึกถึงหน้าเพจคุณหมอ คุณนักจิตฯ หรือนักคิดมากหน้าหลายตา พร้อมด้วยสารพัดทฤษฎีที่จะแนะนำให้เราสามารถเลี้ยงลูกได้อย่างยอดเยี่ยมสมบูรณ์แบบ

ถ้าเปรียบเทียบเป็นการเล่นเกม เครื่องมือเหล่านี้ไม่ต่างจากไอเท็มลับที่เป็นอาวุธมีค่า เป็นได้ทั้งพลังรักษา และพลังโจมตีหลายพันหลายหมื่นชิ้นให้สะสมในโลกของเกม

แต่คำถามสำคัญกว่าคือ ไอเท็มเหล่านั้นถือเป็นไอเท็มที่จำเป็นสำหรับแต่ละครอบครัวแล้วหรือไม่

ในบทความชุด Gamification ชิ้นนี้ เราจึงอยากชวนพ่อแม่ทุกคนมาตั้งคำถามและทบทวนตัวเองเกี่ยวกับเงื่อนไขของความเป็นพ่อแม่ (The Game of Parenting) ผ่านการมองชีวิตจริงว่าแท้จริงแล้วเกมชีวิตของเราคืออะไร และเราพร้อมแค่ไหนก่อนจะเริ่มต้นเกมการเรียนรู้กับลูกหรือใช้เทคนิค Gamification สร้างเวลาเรียนรู้ร่วมกันของทุกคนในครอบครัว

ด่าน Beginner เกมต้องง่าย กระชับ

ตามปกติ เกมที่ลูกเล่น นอกจากจะมีสิ่งที่เรียกว่าเป้าหมายให้เอาชนะและมีระบบรางวัลให้ชื่นชมในตัวเองแล้ว การที่พวกเขาจะฝ่าด่านแต่ละด่านเพื่อเอาชนะทั้งเกมได้ พวกเขาต้องเริ่มต้นจากเกมในระดับง่ายหรือ beginner level ก่อน

เพราะเกมที่เริ่มจากง่าย กระชับ จะช่วยทำให้เด็กรู้สึกว่าจุดเริ่มต้นในการเล่นเกมไม่ยากเกินไป และไม่ทำให้รู้สึกหมดสนุกไปเสียก่อน

เมื่อผ่านด่านในระดับง่ายไปแล้ว เด็กๆ จะเข้าใจกันดีว่าตัวบอส (หัวหน้าศัตรู) ในด่านต่อไป จะเริ่ม ‘อีโว’ ย่อมาจาก evolution หรือวิวัฒนาการ การที่ตัวบอสมีการอีโวขึ้นหมายความว่าพวกมันจะเก่งขึ้น ตายยากขึ้น แปลว่าพวกเขาจะรับมือได้ยากขึ้นและต้องใช้ความซับซ้อนในการเอาชนะมากขึ้น 

ซึ่งในช่วงเวลาเช่นนี้เอง ไอเท็มต่างๆ ที่เคยสะสมไว้จะเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น ไม่ว่าจะไอเท็มประเภทพลังโจมตี ไอเท็มประเภทพลังเยียวยาหรือไอเท็มที่ช่วยเพิ่มทักษะต่างๆ ทั้งหมดล้วนมีส่วนช่วยให้ผู้เล่นรักษาพลังชีวิตหรือความแข็งแรงของตัวละครเอาไว้ รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถอื่นๆ ที่จะช่วยให้การแข่งขันรอบนั้นผ่านตัวบอสตัวยากๆ ไปได้ 

ด่านต่อไปคือการพึ่งพาอาศัยกัน

นอกจากนี้ในเกมยังมีระบบวัฒนธรรมหนึ่งที่น่าสนใจ เรียกว่าระบบกิลด์ (Guild) กิลด์เป็นการรวมตัวของกลุ่มตัวละครเสมือนในโลกออนไลน์ เป็นเสมือนพื้นที่กลางสำหรับการช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกัน 

กิลด์เป็นพื้นที่ไว้ให้ผู้เล่นแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็น แชร์เคล็ดลับในการเอาชนะด่านต่างๆ แลกเปลี่ยนสิ่งของหรือไอเท็มสำคัญ ไปจนถึงคัดเลือกตัวละครที่มีความถนัดความสามารถแตกต่างกันเพื่อไปทำภารกิจและพิชิตปีศาจ เพราะในบางด่านอาจต้องการความร่วมมือจากผู้เล่นคนอื่น ผู้เล่นเพียงคนเดียวไม่สามารถเอาชนะด่านนั้นได้

ดังนั้นการมีไอเท็มพิเศษของตัวเอง (ไม่ว่าจะหยิบยืมมาจากคนอื่นหรือสร้างเอง) และการมีกิลด์ที่คอยช่วยซัพพอร์ท จะทำให้ผู้เล่นผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไม่รู้สึกโดดเดี่ยวจนเกินไป 

ถ้ามีสิ่งเหล่านี้อยู่ในโลกความเป็นจริงบ้าง น่าจะดีและสร้างความอุ่นใจให้พ่อแม่ได้ไม่น้อย

จากวงสนทนา Parent Sharing Night ทีมงานของ mappa ได้มีโอกาสสังเกตการณ์การแลกเปลี่ยนความกังวลใจระหว่างคุณพ่อคุณแม่หลายครอบครัวที่มีปัญหาลูกใช้เวลากับเกมและอุปกรณ์สื่อสารมากกว่าปกติ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบายของไวรัสโควิด-19 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ข้อเท็จจริงคือ หลายครอบครัวเดี่ยวต่างเผชิญสถานการณ์ดังกล่าว สิ่งที่เกิดขึ้นในวงพูดคุยคือการให้กำลังใจซึ่งกันและกันของหลายบ้านว่า การใช้โซเชียลมีเดียและโทรศัพท์สมาร์ทโฟนของลูกๆ มีส่วนช่วยเสริมทักษะการเรียนรู้และสร้างประโยชน์ให้กับสังคมในช่วงภาวะโรคระบาดได้

หลายบ้านจึงเบาใจลงและเห็นแนวทางสนับสนุนความสนใจของลูกมากขึ้น

นอกจากนั้นในวงสนทนาอื่นๆ ยังมีการแบ่งปันแนวทางชวนลูกเล่นช่วงอยู่บ้าน เช่น การหาสิ่งของหรือธรรมชาติใกล้ตัวเป็นสารตั้งต้นในการชี้ชวนเรียนรู้ การแบ่งปันแนวคิดจากหนังสือดีและเพจที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกให้กันและกัน รวมถึงเทคนิควิธีการในการหาเวลาแอบลูกไปพักผ่อน ผ่อนคลายจากภาระงานที่พ่อแม่ต้องเผชิญ

สิ่งเหล่านี้คือตัวอย่างของระบบกิลด์ (Guild) ในโลกความจริงที่ช่วยให้ผู้เล่นในบทพ่อแม่สามารถรับมือกับด่านที่ยากและท้าทายต่างๆ ในชีวิตได้

เงื่อนไขของพ่อแม่ที่มีผลต่อเกมชีวิตลูก

ช่วงเวลา 3-4 เดือนที่ผ่านมา mappa มีโอกาสพูดคุยสัมภาษณ์กับคุณพ่อคุณแม่หลากหลายกลุ่มอาชีพที่มีลูกหลากหลายช่วงวัยและมีวิธีการเรียนรู้และเลือกโรงเรียนให้ลูกอย่างหลากหลาย

ทั้งพ่อแม่กลุ่มอาชีพข้าราชการ พนักงานบริษัทเอกชน ช่างฝีมือ นักเขียน เจ้าของธุรกิจ พ่อบ้านแม่บ้านที่ดูลูกเต็มเวลา รวมถึงอาชีพในยุคใหม่อย่าง ฟรีแลนซ์ ช่วงวัยของลูกมีตั้งแต่ปฐมวัย 3-6 ปี ประถม 7-12 ปี มัธยมต้น 13-15 ปี และมีรูปแบบโรงเรียนหลากหลายทั้งโรงเรียนรัฐบาลชื่อดัง โรงเรียนสาธิตในเครืออุดมศึกษา โรงเรียนเอกชน โรงเรียนเอกชนในเครือคริสตจักร โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนทางเลือก ไปจนถึงผู้ที่จัดการศึกษาโดยครอบครัว หรือ โฮมสคูล

จุดประสงค์หลักคือมองหาสิ่งที่เรียกว่า The Game of Parenting เพื่อค้นหาเงื่อนไขแท้จริงที่ทำให้พ่อแม่เล่นบทบาทของตัวเองในเกมชีวิตลูก ส่วนใหญ่เราพบเงื่อนไขที่พ่อแม่ตอบตรงกัน 3 ประเด็นใหญ่ นั่นคือ

  • เวลาที่จำกัด 
  • ค่าแรงและเงินรายได้ที่แลกมาด้วยเวลา
  • ต้นทุนเวลาและเงินที่ต้องใช้เพื่อให้เข้าถึงพื้นที่เรียนรู้และสถานศึกษาที่จัดการเรียนรู้ในแบบที่ต้องการ

เงื่อนไขแรก เวลา เพราะพ่อแม่แต่ละคนทำหน้าที่ได้อย่างจำกัด เนื่องจากการทำงานปัจจุบันเรียกร้องเวลาจากพ่อแม่สูง หลายคนมีเวลาให้ลูกจำกัด มีเฉพาะวันหยุดเสาร์อาทิตย์เท่านั้น หรือวันอาทิตย์วันเดียว บางกลุ่มมีเวลาให้ลูกผ่านโทรศัพท์และใช้เวลาเจอหน้ากันเพียงเดือนละ 1-2 ครั้งเท่านั้น ยังไม่รวมกับกลุ่มคนในอาชีพอิสระที่ไม่สามารถกำหนดเวลาให้ลูกได้ตายตัว

เงื่อนไขที่สอง ค่าแรงและเงินรายได้ ด้วยค่าแรงและรายได้ในปัจจุบันที่ไม่สามารถทำให้คุณภาพชีวิตของลูกและครอบครัวเป็นไปอย่างที่คิด

ความคิดเห็นพ่อแม่หลายคนกล่าวว่า ถ้าไม่ต้องทำงานหนักขนาดนี้แต่ได้เงินเดือนเท่าเดิม คงสามารถจัดการนาฬิกาชีวิตของตัวเองให้มีเวลาให้ลูกมากขึ้นตามที่ต้องการได้

สิ่งที่พบหลังจากการแลกเปลี่ยน คุณแม่ครอบครัวหนึ่งบอกว่าเธอเองจำเป็นต้องปฏิเสธความก้าวหน้าในบริษัทเอกชนที่จะสร้างรายได้มากขึ้น รวมถึงหลีกเลี่ยงการทำงานนอกเวลาที่ได้ค่าแรงพิเศษเพื่อให้มีเวลาอยู่กับลูก ขณะที่คุณแม่อีกคนจำเป็นต้องทำงานนอกเวลาราชการ รวมถึงเวลาพิเศษช่วงเสาร์อาทิตย์ เพื่อหารายได้ให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายและการลงทุนในการศึกษาของลูก จึงได้อยู่กับลูกเพียง 1-2 ครั้งต่อเดือนเท่านั้น

สองครอบครัวนี้เป็นภาพเปรียบเทียบของเงื่อนไขข้อจำกัดในการหารายได้ ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และการทำงานนอกเวลา แลกกับช่วงเวลาคุณภาพที่ได้ใช้กับลูกของตัวเอง

ในประเด็นข้อมูลรายได้เฉลี่ยและเศรษฐานะเป็นข้อมูลส่วนบุคคล เราจึงไม่สามารถลงรายละเอียดได้ ยึดถือตามกฎหมายการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล แต่เมื่อศึกษาจาก ข้อมูลรายงานวิจัยบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ ได้สำรวจข้อมูลค่าใช้จ่ายต่อหัวในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในปี 2561 พบว่าภาคครัวเรือนคือพ่อแม่ผู้ปกครองมีส่วนร่วมลงทุนเป็นค่าใช้จ่ายด้านการศึกษามากถึงเกือบสองแสนล้านบาทต่อปี เฉลี่ยเด็กหนึ่งคน พ่อแม่ต้องมีรายจ่ายด้านการศึกษาปีละ 11,330 บาท คิดเป็น 6 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้ครัวเรือนที่ฐานะดี และ 22 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้ครัวเรือนที่ยากจน

เมื่อย้อนไปดูข้อมูลจาก รายงาน The Credit Suisse Global Wealth Report 2018 ในปีเดียวกันว่าคนไทย 1 เปอร์เซ็นต์ ถือครองสินทรัพย์ 66.9 เปอร์เซ็นต์ ของสินทรัพย์รวมในประเทศ กลับกันคนไทยอีก 99 เปอร์เซ็นต์ ถือครองสินทรัพย์อีก 33.1 เปอร์เซ็นต์ ของสินทรัพย์รวมในประเทศ จากประสบการณ์ตรงของพ่อแม่ สะท้อนด้วยข้อมูลจากงานวิจัย ทำให้เห็นว่าค่าพื้นฐานที่เป็นธรรมและรายได้ เป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่สนับสนุนให้พ่อแม่สามารถมีบทบาทอย่างเต็มที่ในฐานะผู้เล่นเกมกับลูก

เงื่อนไขที่สาม ต้นทุนเวลาและเงินเพื่อเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เป็นผลพวงของสองเงื่อนไขแรก ในเมื่อหลายคนยังไม่สามารถจัดการเวลาและเงินให้มีมากเพียงพอสำหรับลูกและครอบครัวได้ ดังนั้นการลดความห่างไกลของระยะทาง การมีครูที่ดีสำหรับลูก มีโรงเรียนคุณภาพใกล้บ้าน ศูนย์เลี้ยงเด็กในที่ทำงาน การจัดให้มีสวัสดิการการศึกษาและการเติบโตที่ดีสำหรับลูกๆ ของพนักงานบริษัท จะเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งที่ทำให้พ่อแม่ไม่ต้องใช้เงิน หรือถ้าใช้ก็ใช้ให้น้อยที่สุด

ภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้ ช่วยทำให้เราเห็นว่าจริงๆ แล้ว The Game of Parenting ที่คุณพ่อคุณแม่กำลังเล่นอยู่มีลักษณะเป็นเกมแบบไหนและภายใต้เงื่อนไขแบบใด 

บางไอเท็มอาจเป็นความต้องการเฉพาะ บางบ้านก็อยากได้ไอเท็มพร้อมใช้ในระยะเวลาอันสั้น และอีกหลายๆ บ้านก็ต้องการไอเท็มพิเศษที่แลกมาด้วยต้นทุนย่อมเยา หรือจะสนุกกว่าไหมถ้าเราลองมองเงื่อนไขของชีวิตในโลกความเป็นจริงที่ซับซ้อนยุ่งเหยิง ให้ง่ายและสนุกแบบวัฒนธรรมการตั้งกิลด์ของนักเล่นเกม ที่คอยช่วยเหลือเพื่อบรรลุเป้าหมาย ไปจนถึงรวมทีมเพื่อไปเอาชนะด่านบางด่านด้วยกัน

การเล่นเกมของเด็กๆ ถ้าใครมองว่ามันคือความสนุกมันก็สนุก หรือถ้าใครมองว่ามันคือตัวร้ายมันก็คือตัวร้าย แต่ถ้าได้ลองมองเกมใหม่อีกครั้ง อยากชวนให้เห็นความน่าสนใจของการจำลองระบบปฏิสัมพันธ์และกลไกทางสังคม การพึ่งพา ช่วยเหลือ แบ่งปัน เพื่อให้ผู้เล่นบรรลุเป้าหมายร่วมกัน ไม่แน่ว่าอาจทำให้เราสนุกสนานกับการหาไอเท็มใหม่ๆ ที่เหมาะกับเงื่อนไขของตัวเอง เหมือนกับลูกๆ ที่สนุกสนานไปกับการค้นหาไอเท็มและร่วมทีมกับกิลด์เพื่อพิชิตภารกิจใหม่อย่างแข็งขัน

คงจะดี ถ้าเราใช้ชีวิตและเติบโตอย่างสนุกสนานแบบเดียวกับในเกมที่ลูกเราเล่น 

ด้วยความขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง
แด่ พ่อจุล พ่อเฮ้าส์ แม่เกด แม่หวาน แม่หน่อย แม่เล็ก แม่ออม แม่รุ้ง แม่จุ้ย แม่โน้ต แม่แยม แม่อ้อม พ่อเต้ย พ่อเต้ แม่บุ๋ม แม่โอ๋ แม่ลินดา แม่แอม แม่เปิ้ล แม่ปลา แม่ตูน แม่แป๋ว แม่แอนนี่ พ่อคาน แม่แฮน แม่จู และท่านอื่นๆ ที่ไม่ประสงค์ออกนาม 
สำหรับการแบ่งปันประสบการณ์ และบทสนทนาที่เพลิดเพลิน


Writer

Avatar photo

mappa learning

Related Posts