“A Picture worth a Thousand words” ภาพหนึ่งภาพสื่อความหมายได้หลายพันคำ ใครที่เคยได้ยินประโยคนี้คงเข้าใจดีว่า การสื่อความหมายด้วยภาพ บางครั้งก็ลึกซึ้งกว่าการบรรยายด้วยตัวอักษร เพราะภาพสามารถกระตุ้นจินตนาการและความเข้าใจที่หลากหลายตามประสบการณ์และมุมมองของผู้ชม เช่น ภาพถ่ายใบหน้าของเด็กที่ยิ้มกว้างพร้อมแววตาเป็นประกาย อาจบอกเล่าถึงความสุข ความไร้เดียงสา หรือแม้กระทั่งบรรยากาศในช่วงเวลานั้น โดยไม่จำเป็นต้องเขียนคำอธิบายใดๆเพิ่มเติม
ความทรงพลังของภาพไม่เพียงแค่เล่าเรื่องราว แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจ และเปิดพื้นที่ให้ผู้ชมได้ตีความและเชื่อมโยงกับประสบการณ์ส่วนตัว ซึ่งสำหรับเด็กๆ แล้ว การได้จินตนาการเรื่องราวจากภาพที่เห็นอย่างอิสระ เป็นการฝึกพัฒนาความคิดได้ไม่รู้จบ ยิ่งหากว่าได้นั่งดูหนังสือภาพกับพ่อแม่ผู้ปกครอง แม้หนังสือเล่มนั้นจะปราศจากตัวอักษร แต่ก็เต็มไปด้วยเรื่องราวที่ครอบครัวร่วมกันรังสรรค์ขึ้นมา เป็นประสบการณ์ดีๆ ที่น่าจดจำ นำไปสู่การวางรากฐานนิสัยรักการอ่านให้แก่เด็กๆ ได้อย่างยั่งยืน
รู้จักพลังของหนังสือที่ไร้ตัวอักษร
พลังของหนังสือนั้นมีมากมายอย่างไม่ต้องสงสัย หนังสือแต่ละประเภทก็มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป สำหรับหนังสือไร้ตัวอักษร เป็นหนังสือที่ใช้ภาพเป็นหลักในการสื่อสาร อาจมีตัวอักษรเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีเลย หลายคนอาจสงสัยว่า การอ่านหนังสือที่ไม่มีตัวอักษรจะมีประโยชน์อย่างไร? คำตอบก็คือ เพราะการอ่านไม่ได้หมายถึงการทำความเข้าใจตามตัวอักษรเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการเข้าใจความหมายผ่านภาพด้วย
เมื่อไม่มีคำบรรยาย ภาพจะกลายเป็นเครื่องมือหลักในการเล่าเรื่อง ซึ่งสำหรับเด็กๆ แล้ว ภาพย่อมดึงดูดความสนใจได้ดีกว่าตัวหนังสือ ทำให้เข้าใจและเข้าถึงเนื้อหาได้ แม้จะอ่านหนังสือไม่ออก สำหรับเด็กๆ แล้ว ภาพเป็นสิ่งที่พวกเขาคุ้ยเคยในการมองหาเรื่องราว ขณะที่ผู้ใหญ่อาจไม่คุ้นชินนัก เพราะใช้การอ่านเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม หนังสือภาพสามารถเป็นสื่อที่ทรงพลังสำหรับเด็กๆ เพราะเปิดโอกาสให้พวกเขาใช้จินตนาการได้อย่างอิสระ เด็กๆ สามารถตั้งชื่อตัวละคร เลือกคำพูด คิดเรื่องราว และสร้างบทสนทนาขึ้นมาเองได้
สำหรับหนังสือไร้ตัวอักษร (Wordless Book) อาจจัดเป็นหนังสือภาพประเภทหนึ่งที่มีตัวหนังสือน้อยมาก หรือไม่มีเลย นอกจากนี้ยังมีหนังสือภาพอีกหลายประเภทที่เหมาะสำหรับเด็กแต่ละวัย เช่น Board Books ซึ่งเหมาะสำหรับเด็กอายุ 3 ปีหรือน้อยกว่า มีลักษณะเป็นหนังสือที่แข็งแรง ทนทาน มีภาพมากกว่าคำ ทำให้อ่านง่ายและใช้เวลาไม่นาน Concept Books และ Predictable Books เป็นหนังสือภาพที่มุ่งเน้นการสอนแนวคิดหรือมีรูปแบบเรื่องราวที่คาดเดาได้ง่าย ช่วยให้เด็กเรียนรู้และจดจำได้ดี และ Beginning Readers Book เป็นหนังสือภาพสำหรับเด็กที่เริ่มเรียนอ่าน มีคำศัพท์ง่ายๆ และโครงสร้างประโยคที่ช่วยพัฒนาทักษะการอ่านในเบื้องต้น ทั้งหมดนี้ออกแบบมาเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการและความสนุกสนานในการอ่านสำหรับเด็กในช่วงวัยต่างๆ
หนังสือไร้ตัวอักษรอ่าน- เล่าอย่างไรให้ลูกสนุก
อิสระและความสนุกของหนังสือที่ไร้ตัวอักษร ก็คือ พ่อแม่และลูกๆ ใช้จินตนาการแต่งเติมเรื่องราวได้เต็มที่อย่างไม่มีขีดจำกัด คุณและลูกอาจเลือกเป็นตัวละครคนละตัว และเมื่อถึงหน้าที่ตัวละครนั้นปรากฏ ก็สวมบทบาทสร้างบทสนทนาได้ทันที ซึ่งวิธีนี้ทำให้การอ่านกลายเป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน เมื่อพ่อแม่ลูกมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เด็กๆ อาจเล่าเรื่องที่แตกต่างจากที่พวกเขาได้ฟังจากพ่อแม่ สร้างประสบการณ์ที่หลากหลายแม้จะอ่านหนังสือเล่มเดียวกัน
สำหรับพ่อแม่ที่อาจรู้สึกไม่คุ้นเคยกับหนังสือที่ไม่มีตัวอักษร ไม่รู้ว่าจะเริ่มอ่าน-เล่าเรื่องราว หรือใช้หนังสือให้เกิดประโยชน์ สร้างความสนุกสนานให้กับเด็กๆ ได้อย่างไร คุณอาจเริ่มต้นง่ายๆ ดังนี้
- ชวนลูกตั้งชื่อตัวละคร
- ชวนกันคิดชื่อสถานที่ต่างๆ ในหนังสือ เช่น ชื่อหมู่บ้าน ชื่อโรงเรียน ฯลฯ
- จินตนาการถึงเนื้อหา ขั้นตอนนี้หากลูกยังเด็กเกินไป พ่อแม่อาจวางโครงเรื่องคร่าวๆ ไว้ในใจล่วงหน้า
- แบ่งว่าใครเป็นตัวละครใด เพื่อสร้างบทสนทนา
หากยังไม่แน่ใจว่าจะเล่าให้ลูกสนุกได้อย่างไร วิธีการง่ายๆ คือ เริ่มจากการบรรยายรายละเอียดในภาพที่เห็น ไม่ใช่เพียงแค่ตั้งชื่อสิ่งที่อยู่ในภาพ แต่ให้พูดถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ชี้ไปยังภาพเพื่อเชื่อมโยงคำพูดกับสิ่งที่ลูกเห็น ซึ่งจะช่วยให้ลูกเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คุณสามารถตั้งคำถามชวนคิด เช่น “ทำไมถึงเป็นแบบนั้น” หรือ “ลูกคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น” เพื่อกระตุ้นจินตนาการและการตอบสนองของลูก ใช้ภาษาที่เหมาะกับนิทานและวัยของลูก หลีกเลี่ยงการใช้คำที่ซับซ้อน ยากเกินความเข้าใจของเด็กๆ นอกจากนี้ การใช้คำเชื่อมลำดับเหตุการณ์ เช่น เริ่มต้น, ถัดมา, หลังจากนั้น, สุดท้าย หรือ ในที่สุด จะช่วยให้เด็กๆ เข้าใจว่าแต่ละเหตุการณ์มีลำดับเชื่อมโยงกันอย่างไร
สุดท้ายแล้ว แม้พ่อแม่อาจจะไม่คุ้นเคยกับการเล่าเรื่องจากภาพ แต่ด้วยการปรับตัวและเริ่มต้นง่ายๆ เช่น วางโครงเรื่องไว้ล่วงหน้า จะช่วยให้การอ่านเป็นกิจกรรมที่สนุกสนานและมีคุณค่า ทำให้การเล่าเรื่องจากหนังสือภาพไร้ตัวอักษรกลายเป็นประสบการณ์ที่สนุกและน่าจดจำ ทุกครั้งที่หยิบหนังสือขึ้นมาอ่านร่วมกัน
เสน่ห์อีกประการของหนังสือภาพที่ไม่มีตัวอักษรก็คือ หนังสือเล่มเดียวอาจใช้ประสบการณ์ที่หลากหลาย เพราะเด็กๆ อาจเล่าเรื่องราวที่แตกต่างจากพ่อแม่ หรือพ่อแม่อาจสร้างเนื้อหาใหม่ๆ จากหนังสือเล่มเดิมได้ไม่รู้จบ
Reference:
(1) https://www.raisingreaders.org/blog/wordless-picture-books
(2) https://www.readingbrightstart.org/articles-for-parents/wordless-books/