หญิงสาวผมแดง: ทวนนิยามความเป็นพ่อผ่าน ‘การไม่มีพ่อ’

  • หญิงสาวผมแดง นวนิยายของออร์ฮาน ปามุก สำรวจความเป็นพ่อผ่าน ‘การไม่มีพ่อ’ ได้อย่างมีชั้นเชิง ชวนให้ผู้อ่านคิดย้อนกลับว่าถ้า ‘มีพ่อ’ เรื่องราวจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด
  • จุดร่วมใน หญิงสาวผมแดง ของออร์ฮาน ปามุก อีดิปุสจอมราชัน ของโซโฟคลีส และ มหากาพย์ชาห์นาเมห์ ของฟิร์เดฟว์ซี คือ ความสัมพันธ์อันร้าวฉานระหว่างพ่อลูก
  • บทบาทของผู้หญิงในสังคมและวัฒนธรรมที่เป็นปิตาธิปไตยเป็นอีกประเด็นน่าสนใจในนวนิยายเรื่องนี้

*บทความมีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของหนังสือ

“หญิงสาวผมแดง” เล่าเรื่องครอบครัวชาวตุรกีสามรุ่น ทาบขนานไปกับงานเขียนเก่าแก่จากโลกตะวันตกและตะวันออกสองชิ้น ได้แก่ บทละครกรีกเรื่อง อีดิปุสจอมราชัน ของโซโฟคลีส และมหากาพย์เปอร์เซียเรื่อง ชาห์นาเมห์ ของฟิร์เดฟว์ซี ทั้งหมดทั้งมวลนี้วนเวียนกับประเด็นสำคัญ นั่นคือ ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-ลูก ซึ่งเต็มด้วยความบาดหมาง ห่างเหิน ร้าวราน และจบลงด้วยการห้ำหั่น เข่นฆ่า

เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในตุรกี สมัยที่ความเจริญจากยุโรปกำลังแผ่ขยาย การเมืองระส่ำระสาย มากด้วยความขัดแย้งในชาติและระหว่างชาติ ประชาชนแตกเป็นฝักฝ่ายทั้งในเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองและศาสนา ทั้งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด 

สถานการณ์ความรุนแรงคุกรุ่นกับความสับสนอลหม่านเหล่านี้ยังอิทธิพลถึงตัวละครในเรื่อง นับแต่รุ่นปู่อย่าง อาคึน เจ้าของร้านขายยาและนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้าย รุ่นพ่ออย่าง เจ็ม วิศวกรธรณีผู้มีอดีตฝังใจกับการขุดบ่อน้ำในวัยเยาว์ และรุ่นลูกอย่าง เอ็นแวร์ นักบัญชีผู้ใฝ่ฝันอยากเป็นนักเขียน ที่แม้แต่ละคนจะเลือกเชื่อและใช้ชีวิตต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่กลับพบจุดจบใกล้เคียงกันจนเชื่อได้ยากว่าเป็นเพียงเรื่องบังเอิญ

สิ่งหนึ่งที่ยึดโยงพวกเขาไว้คือความสัมพันธ์อันยุ่งเหยิง โดยเฉพาะสายใยระหว่างพวกเขากับ หญิงสาวผมแดง จากคณะละครเร่ ผู้อ่านจะค่อย ๆ คลายปมไปตามลำดับเรื่อง จนจุดจบเผยออกมาให้เห็น อาจกล่าวได้ว่าออร์ฮาน ปามุก ขุดบ่อดักเราและพรางปากหลุมไว้ได้อย่างแนบเนียน เก่งกาจพอกันกับ ครูช่างมาห์มุท นักขุดบ่อด้วยวิธีโบราณรุ่นสุดท้าย

พ่อคืออะไร การมีและไม่มีพ่อส่งผลอย่างไรต่อคนคนหนึ่ง คือคำถามที่ถูกถามซ้ำไปซ้ำมาในเรื่อง และบางทีอาจมีคำตอบ หรืออย่างน้อยก็ความพยายามหาคำตอบซุกซ่อนในความสัมพันธ์ ปฏิสัมพันธ์หรือบทสนทนาของพ่อลูกแต่ละคู่ในหนังสือเล่มนี้

พ่อกับตัวตนคล้ายพ่อ

กิจการร้านยา ชีวาเภสัช  ดำเนินไปพร้อมกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของอาคึน เจ้าของร้านและพนักงานกะกลางคืน บรรดาสหายฝ่ายซ้ายมักมารวมตัวกันที่ร้านของเขา ก่อนที่จะต้องกระสานซ่านเซ็นเมื่อฝ่ายทหารเริ่มมีการจับกุมหรือนำตัวนักเคลื่อนไหวไปคุมขังทรมาน อาคึนหายตัวไปครั้งหนึ่ง ก่อนจะหายไปถี่ขึ้น นานขึ้นเรื่อย ๆ และในที่สุดก็หายไปอย่างถาวร

เจ็มอายุได้สิบหกปีเมื่อรู้ว่าลำพังรายได้จากร้านยาไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และเขาอาจต้องล้มเลิกความคิดเรียนต่อมหาวิทยาลัย เด็กชายกับแม่จำต้องย้ายไปอยู่กับญาติในเมืองใกล้เคียงด้วยเงินที่ร่อยหรอ 

เขาทำงานพิเศษอยู่หลายอย่างเพื่อให้มีเงินพอเรียนต่อดังหวัง จนกระทั่งได้ข่าวว่าจะมีการขุดบ่อน้ำด้วยวิธีโบราณในแถบชานเมือง เจ็มสนใจใคร่รู้ ทั้งในกระบวนการขุดบ่อน้ำ และค่าตอบแทนที่สูงกว่าการเฝ้ายามสวนส้มของป้าหลายเท่าตัวจึงไปเป็นลูกมือชั่วคราวให้ช่างขุดบ่อ

แต่การขุดบ่อน้ำไม่ได้เป็นงานที่ขึ้นอยู่กับครูช่างเพียงคนเดียว ลูกมือที่คอยช่วยเหลือเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ในการขุดบ่อสักบ่อ ทุกคนต้องไว้เนื้อเชื่อใจกันอย่างมากเพราะความผิดพลาดน้อยนิดอาจทำให้เพื่อนร่วมงานถึงแก่ชีวิตได้ 

นอกจากมิตรภาพระหว่างเขากับ อาลี ผู้ช่วยขุดบ่ออีกคน ความสัมพันธ์ที่สร้างความประหลาดใจแก่เจ็มอย่างคาดไม่ถึงคือความสัมพันธ์ระหว่างเขากับ ครูช่างมาห์มุท นักขุดบ่อโบราณรุ่นสุดท้าย 

“พ่อของผมมีนิสัยชอบเก็บงำความลับซึ่งเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพ่อ ดังนั้น ไม่ว่าเมื่อใดก็ตามที่กระทำการสำคัญบางอย่าง เขาจะไม่เคยให้ผมมีส่วนร่วมหรือขอความเห็นจากผมสักนิด แต่ครูช่างมาห์มุทกลับสาธยายถึงความท้าทายของที่ดินผืนนี้อย่างละเอียด ทั้งยังบอกเล่าวิธีไล่เรียงเหตุผลยามคิดไม่ตกว่าจะลงมือขุดตรงไหนให้ผมฟังโดยไม่ตะขิดตะขวงใจ เป็นเรื่องน่าปลาบปลื้มเหลือประมาณและยังมีส่วนชักนำให้ผมเข้าหาเขา … นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมเริ่มตระหนักรู้ถึงอิทธิพลที่ครูช่างมาห์มุทมีเหนือผม” 

เจ็มเปรียบเทียบพ่อของเขากับครูช่างมาห์มุทอยู่บ่อยครั้ง บ้างก็ชื่นชมลักษณะบางอย่างในตัวครู บ้างก็สังเกตเห็นสิ่งที่พ่อไม่มีแต่ครูช่างมี การได้ทำงานที่อาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจ และใช้เวลาร่วมกับบุคคลที่ใกล้เคียงกับพ่อ ชวนให้เด็กหนุ่มขบคิดความหมายของคำว่าพ่อ การไม่มีพ่อ และตัวตนของพ่อที่เขาปรารถนา 

ล่วงไปหลายทศวรรษ เจ็มถึงยอมรับว่าครูช่างเป็นเสมือนพ่อที่เขาต้องการ ผู้คอยให้คำปรึกษา ถ่ายทอดประสบการณ์ และตักเตือนเขาเมื่อพลั้งพลาด ความทรงจำระหว่างเขากับครูช่างมาห์มุทและบทเรียนที่ได้รับฝังลึกและหล่อหลอมตัวตนเขาไปจนวาระสุดท้าย

ปามุกเล่าว่าเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์หนึ่ง ในปี 1988 เขาสังเกตการณ์ชายชรากับศิษย์วัยรุ่นในอิสตันบูลที่ขุดบ่อน้ำในที่ดินแปลงติดกับบ้านพักตากอากาศของเขา “บางทีครูเฒ่าก็สอนและตะโกนดุด่าเด็กชาย บางทีเขาก็อ่อนโยนและเข้าอกเข้าใจ ความสัมพันธ์นี้กระตุ้นอารมณ์อ่อนไหวที่ผมมีต่อพ่อที่ไม่ค่อยได้อยู่ในชีวิตผมสักเท่าไร” เขากล่าว

“เรารู้จักพ่อในฐานะผู้กดทับ ลิดรอนอิสระผู้อื่น แต่เราไม่ค่อยนึกกันว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าชีวิตเราขาดอำนาจนี้ไป” ออร์ฮาน ปามุก ตอบอีเมลจากสำนักข่าว PTI News

การเผชิญหน้าที่ไม่คาดฝัน

ในภาคสองของหนังสือ จากลูกมือขุดบ่อน้ำ เด็กชายเจ็มกลายเป็นวิศวกรธรณีเจ้าของบริษัทซุห์รับ บริษัทรับเหมาก่อสร้างที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด ร่วมกับ อายเช ภริยาผู้ฉลาดเฉลียวของเขา สามีภรรยาไม่มีลูกเพราะปัญหาสุขภาพของฝ่ายหญิง จึงต่างฟูมฟักกิจการนี้อย่างตั้งใจเป็นการทดแทน

พอธุรกิจก้าวหน้า เจ็มมีโอกาสขยายกิจการไปยัง โอนโกเรน เมืองที่เขาเคยขุดบ่อน้ำครั้งยังเยาว์ แม้จะมีการต่อต้านจากคนท้องถิ่นอยู่บ้าง แต่การเจรจาก็เป็นไปด้วยดี จนกระทั่งเจ็มได้รับจดหมายฉบับหนึ่งจากชายหนุ่มที่อ้างว่าเป็นลูกชายของเขา

ลูกที่ไม่เคยคิดว่ามีสั่นคลอนเจ็ม ชีวิตรุ่งโรจน์และความสัมพันธ์ราบรื่นระหว่างเขากับอายเชกำลังตกในความเสี่ยงที่จะพังครืน เขาตรวจพันธุกรรมและพบว่าเด็กคนนั้นเป็นลูกชายของเขาจริง จึงตัดสินใจไปพบและพูดคุยว่าอีกฝ่ายต้องการอะไร

“พ่อคืออะไรสำหรับเธอกันแน่” เจ็มถามลูกชาย และคล้ายจะถามตัวเองด้วย

“พ่อคือแบบอย่างที่มีเสน่ห์และเปี่ยมด้วยความรักใคร่เอ็นดู เป็นคนที่จะยอมและคอยเฝ้าดูลูกที่ตัวเองให้กำเนิดมาตราบวันสิ้นใจ พ่อคือจุดกำเนิดและศูนย์กลางของจักรวาล ถ้าคุณเชื่อว่าตัวเองมีพ่อ คุณจะสงบใจได้แม้ว่าจะไม่เห็นเขา เพราะคุณจะรู้ว่าเขาอยู่ตรงนั้นเสมอ พร้อมที่จะรักและปกป้องคุณ ผมไม่เคยมีพ่อแบบนั้น” ลูกชายกล่าว 

สองพ่อลูกให้นิยามและตามหาพ่อที่ใกล้เคียงกัน ทว่าต่างก็หาไม่พบและไม่อาจเติมเต็มกันได้ อาคึนพ่อของเจ็มทิ้งเขาไป ไม่อาจอยู่เป็นที่พึ่งพิงแก่ลูกชายได้ ฟากเอ็นแวร์ กว่าจะพบความจริงว่าเจ็มคือพ่อแท้ ๆ ก็สายเกินแก้ ความโกรธขึ้ง ชิงชังต่อบุรุษที่ตนไม่เคยเห็นหน้าเอาชนะความปรารถนาที่จะมีพ่อ ชายหนุ่มไม่อาจยอมรับว่าชายที่ไม่รู้กระทั่งว่าเขามีตัวตนบนโลกคือพ่อที่เขาเฝ้ารอ สุดท้ายตัวละครทั้งหลายก็มีจุดจบโศกสลดไม่ผิดจากบทละครและมหากาพย์ที่มีมาแต่บรรพกาล

หญิงสาวผมแดง: สตรีในโลกปิตาธิปไตย

แน่นอนว่าผู้อ่านย่อมสงสัยในตัวตนของหญิงสาวผมแดง หรือแท้จริงแล้วคือ กุลจิฮาน ผู้เล่าเรื่องในภาคสาม แรกทีเดียวเธอปรากฏตัวในฐานะนักแสดงละครเร่โฉมสะคราญ เป็นวัตถุแห่งความปรารถนาของเจ็มในวัยแรกรุ่น แล้วค่อยมีบทบาทอีกครั้งในฐานะแม่ผู้สนับสนุนบุตรชาย แม้เธอไม่อาจมีบทบาทเป็นเอกเทศจากตัวละครชายในเรื่อง ทว่าการปรากฏตัวของเธอก็สำคัญอย่างยิ่ง

Erdağ Göknar ผู้อำนวยการศูนย์ตะวันออกกลางศึกษา (Middle East Studies Center) มหาวิทยาลัยดยุค (Duke University) และผู้แปลต้นฉบับเรื่อง My Name Is Red ของปามุกจากภาษาตุรกีเป็นภาษาอังกฤษเขียนถึงตัวละครกุลจิฮานไว้ว่า

“แม้นวนิยายเรื่องนี้จะสำรวจในหัวข้อพ่อกับลูก แต่ปามุกขมวดจบได้อย่างลึกซึ้งด้วยการแทรกสิ่งที่ขาดไปจากเรื่องเล่าทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก นั่นคือ เสียงของผู้หญิง พอสลับไปเป็นผู้เล่าเรื่องที่เป็นกลางอย่างกุลจิฮาน ปามุกสามารถคงปกรณัมต้นแบบไว้ได้ด้วย สุดท้ายแล้ว การปรับปรุงจากตำนานเดิมของปามุกมอบอำนาจ (และเสียงของผู้เขียน) ให้ผู้หญิง ผู้ทวงคืนอำนาจจากพ่อ 

เอ็นแวร์ (ลูกชายของเจ็ม) ถูกควบคุมตัวในระหว่างการพิจารณาคดีฆาตกรรมบิดาของตนเอง กุลจิฮานส่งเสริมให้ลูกเขียนนวนิยายเล่มที่เราอ่านกันอยู่นี้เพื่อเป็นการยืนยันความบริสุทธิ์ของเขา (การที่นวนิยายเรื่องนี้ถูกเขียนขึ้นเป็นกลวิธีการใช้อภินวนิยาย [metafiction – นวนิยายที่เล่าเรื่องซ้อนในเรื่องเล่า] ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของนิยายหลายเรื่องของปามุก) แม้จะอยู่ระหว่างรอฟังคำพิพากษา ท้ายเรื่องมีการเปิดเผยว่าแม่ลูกคู่นี้จะได้สืบทอดหุ้นส่วนสองในสามของบริษัทซุห์รับ”

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งว่ากุลจิฮานที่มีส่วนในความสัมพันธ์อันยุ่งเหยิงกลับไม่ได้รับการกล่าวโทษ เป็นเจ็มต่างหากที่ทำให้เธอและลูกเดือดร้อน อาจเพราะเขาเป็นพ่อที่ไม่อาจเติมเต็มหน้าที่ของตนเองได้ อาจเพราะเขาอยู่ในสังคมปิตาธิปไตยอันเข้มข้นจนเป็นพิษ หรืออาจเป็นเพราะผู้เล่าเรื่องคือลูกชายของเธอ 

จะด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่ หญิงสาวผมแดงนับเป็นความพยายามในการสำรวจนิยามคำว่าพ่อและการไม่มีพ่อ แสดงให้เห็นว่าคนที่ไม่ใช่พ่ออย่างกุลจิฮานหรือครูช่างมาห์มุทก็มีคุณสมบัติของ “พ่อ” ได้เช่นกัน 

อ้างอิง

ปามุก, ออร์ฮาน. หญิงสาวผมแดง. กรุงเทพฯ : บทจร, 2565. 1.นวนิยายตุรกี. I. ธนัชพร คล่องงานฉุย, ผู้แปล.

https://news.columbia.edu/news/5-questions-professor-orhan-pamuk-discusses-his-new-book-red-haired-woman

https://www.youtube.com/watch?v=9zDfvYvmcr0&ab_channel=PoliticsandProse

https://www.hindustantimes.com/books/thought-about-the-subject-of-the-red-haired-woman-for-30-years-orhan-pamuk/story-kiurnFS3TzFlp1ozRw3uUN.html

https://lareviewofbooks.org/article/a-turkish-woman-in-the-oedipus-complex-orhan-pamuks-the-red-haired-woman/


Writer

Avatar photo

ศิริกมล ตาน้อย

อยากเกิดใหม่เป็นแมงกะพรุน

Illustrator

Avatar photo

อุษา แม้นศิริ

มนุษย์กราฟิกผู้ชื่นชอบงานภาพประกอบ สีฟ้า ดนตรี และมีนกน้อยสองตัวเป็นของตัวเอง

Related Posts