พูดคุยกับ ‘ฟาโรห์ จักรภัทรานน’ ชายผู้เชื่อว่าบนโลกนี้ ‘ไม่มีใครเกิดมาเป็นปีศาจ’

“ทรัพยากรที่ชื่อว่ามนุษย์นี้เป็นสิ่งเปราะบางมาก รัฐเราให้ความสำคัญกับทรัพยากรที่มีคุณค่าขนาดนี้ค่อนข้างน้อย เด็กไทยที่โตมาในสภาพสังคมแบบนี้แล้วยังมีสภาวะจิตใจและร่างกายที่เต็มร้อยและสมบูรณ์คือสิ่งมหัศจรรย์มาก” 

นี่คือประโยคแรกที่ ‘ฟาโรห์ จักรภัทรานน’ ตอบกลับมา หลังจากที่เราได้อธิบายถึงสิ่งที่ Mappa ให้ความสำคัญอย่างการดูแลและสร้างสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กและเยาวชน เหมือนดังประโยคที่ว่า “ถ้าดอกไม้ไม่บาน เราไม่แก้ดอกไม้ เราแก้สภาพแวดล้อม” ซึ่งกล่าวโดย Alexander Den Heijer

“ถ้าหากเรามองว่าพวกเราต่างเป็นดอกไม้ ก็นับว่าเป็นดอกไม้ที่ถูกคนเลี้ยงปล่อยปะละเลย เป็นดอกไม้ข้างทาง ดอกไม้ที่อยู่ตรงกลางมีน้อยมาก ถ้าไม่ใช่ดอกไม้ริมทาง ก็จะเป็นดอกไม้ที่ถูกจัดแต่งอยู่ในกระถาง ช่องว่างหรือระยะห่างตรงนี้คือสิ่งที่บอกว่าสังคมไทยในทุกวันนี้มีความเหลื่อมล้ำสูงมาก” ฟาโรห์ขยายความ

หลายคนรู้จักเขาในชื่อของ ‘ฟาโรห์ The Common Thread’ เจ้าของช่องยูทูบเล่าเรื่องราวลึกลับ คดีปริศนา เรื่องราวภูมิหลังของบรรดาฆาตกรต่อเนื่อง รวมถึงเรื่องราวของอาชญากรทั้งในไทยและต่างประเทศ และยังมีผลงานหนังสือ ‘ไม่มีใครเกิดมาเป็นปีศาจ’ ที่เพิ่งตีพิมพ์ออกมาได้ไม่นานนัก 

เนื้อหาในเล่มนั้นมีใจความหลักคือการถ่ายทอดเรื่องราวภูมิหลังของฆาตกรต่อเนื่อง วิเคราะห์และอธิบายถึงพฤติกรรมต่างๆ ด้วยหลักจิตวิทยา รวมถึงสอดแทรกประเด็นทางสังคมมาเพื่อให้ผู้อ่านได้ตระหนักและรับรู้ถึงปัญหาสังคมที่มีอยู่จริง

‘สภาวะสังคม’ คือสิ่งที่ฟาโรห์เชื่อว่ามีความสำคัญมากในการหล่อหลอมมนุษย์คนหนึ่งขึ้นมา

เขาเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนที่เกิดมาบนโลกนี้ ไม่มีใครเป็นปีศาจตั้งแต่เกิด

ไม่เว้นแม้กระทั่งบรรดาอาชญากรและฆาตกรต่อเนื่อง

ใครคือ ‘ปีศาจ’?

“ฆาตกรต่อเนื่องทุกคนล้วนเคยเป็นเด็กมาก่อน เคยเป็นเด็กที่มีรอยยิ้ม มีเสียงหัวเราะ ร่าเริง ไม่มีเด็กคนไหนที่คลอดออกมาจากท้องแม่แล้วฆ่าคนทันที”

“ที่มาที่ไปของการสร้างหนังสือ ‘ไม่มีใครเกิดมาเป็นปีศาจ’ คือผมพยายามจะให้แนวคิดกับสังคมว่า เรามักจะตีตราและเรียกขานอาชญากรหรือฆาตกรว่าเป็นปีศาจ เป็นคนเลวทราม ชั่วช้า แต่หากเราได้ไปเห็นเส้นทางชีวิตที่เขาเผชิญมา แล้วเราอยู่ในโลกที่เหมือนกับเกมเดอะซิมส์ สามารถหยิบตัวฆาตกรต่อเนื่องคนนี้มาใส่ชีวิตเราเข้าไปได้ เราจะมั่นใจได้ขนาดไหนว่าเราจะไม่เป็นคนที่โหดร้ายแบบเขา หรือบางทีเราอาจโหดร้ายกว่า”

ฟาโรห์เน้นย้ำอย่างหนักแน่นว่าการถ่ายทอดเรื่องราวของฆาตกรเหล่านี้ ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อเป็นการ ‘เชิดชู’ หรือ ‘แสดงความเห็นใจ’ ในตัวฆาตกรหรืออาชญากร แต่เพื่อเป็นการทำให้เกิดความตระหนักรู้ และทำให้ผู้อ่านได้ความเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาความรุนแรงและเรื่องราวอาชญากรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม 

“เราต้องสร้างองค์ความรู้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอาชญากรและอาชญากรรมแต่ละรูปแบบ เข้าใจถึงความรุนแรงต่างๆ และเราต้องประเมินได้ว่าความรุนแรงรูปแบบต่างๆ นั้นนำไปสู่อะไร หากเราทำความเข้าใจแล้วก็มีโอกาสสูงที่เราจะหยุดยั้งภัยได้“

นิยามคำว่า ‘ปีศาจ’ ในมุมมองของฟาโรห์ คือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาและมีเป้าหมายคือการทำร้ายตัวเอง รวมถึงสภาพแวดล้อมรอบตัว 

และในบางครั้ง คนที่ต้องรับหน้าที่เป็นปีศาจในชีวิตของเรา ก็คือ ‘ตัวเราเอง’

“เคยได้ยินไหมครับว่าคนที่เราควรจะใจดีด้วยมากที่สุดคือตัวเราเอง แต่หลายครั้งกลับเป็นเราเองที่เฆี่ยนตีตัวเองด้วยความคาดหวัง ความกดดัน คำพูดที่ทำร้ายจิตใจ บางคนไม่เคยพูดไม่ดีกับคนอื่น ไม่เคยทำสิ่งที่กระทบจิตใจคนอื่น แต่กลับทำสิ่งนั้นกับตัวเอง ผมรู้สึกว่านี่คือส่วนหนึ่งของคำว่าปีศาจ”

“ผมชอบคำพูดหนึ่งที่บอกว่า ‘ปีศาจที่น่ากลัวที่สุดคือตัวที่อยู่ในกระจก’ ผมได้เผชิญหน้ากับปีศาจตัวนั้นแล้วผมรู้สึกว่ามันคือสิ่งที่น่ากลัวจริงๆ หลายครั้งเรามองไม่เห็นเพราะมันไม่ชัดเจน แต่มันอยู่ใกล้เรามากที่สุด” 

“เราไม่มีทางรู้เลยว่าวันหนึ่งสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม หรือสถานการณ์อะไรที่จะเข้ามากระทบเราแล้วผลักดันเราออกไปในทิศทางไหน เราไม่มีวันรู้เลยว่าเราจะเป็นคนที่ชั่วร้ายได้ขนาดไหนหากเราไม่อยู่ในสถานการณ์ที่บีบคั้น”

“เราทุกคนล้วนมีปีศาจอยู่ในตัว แต่เราแค่ยังไม่เคยเห็นปีศาจในตัวเราว่ามันน่ากลัวขนาดไหน เพราะสภาพสังคม สภาพแวดล้อมรอบตัวเราไม่ได้เอื้อต่อการเติบโตของปีศาจตัวนั้น ”

เบ้าหลอม ‘ปีศาจ’

“สิ่งหนึ่งที่ฆาตกรต่อเนื่องและอาชญากรมักมีร่วมกัน คือความบิดเบี้ยวของเลนส์ที่ใช้มองโลก”

ภาพจำที่สื่อส่วนใหญ่ถ่ายทอดเรื่องราวของกลุ่มคนเหล่านี้ มักพุ่งเป้าไปที่ลักษณะท่าทางหรือบุคลิกที่ชอบปลีกวิเวก นำไปสู่การเชื่อมโยงถึงผู้มีอาการทางจิต ผู้ป่วยจิตเวชถูกตีตราว่าท้ายที่สุดอาการเหล่านั้นอาจนำพาพวกเขาไปสู่หนทางของการเป็นอาชญากรหรือฆาตกรต่อเนื่อง

ทั้งที่แท้จริงแล้วอาชญากรหรือฆาตกรหลายคนไม่ได้มีอาการทางจิตอย่างที่ใครหลายคนคาดคิด หากแต่เกิดจากเบ้าหลอมที่เรียกว่าสภาวะสังคม

“ฆาตกรต่อเนื่องส่วนใหญ่เติบโตมาในสภาวะสังคมที่บิดเบี้ยวเสียจนเราไม่มีทางจินตนาการได้ว่าเขาเติบโตมาในครอบครัวที่โหดร้ายขนาดนั้นได้อย่างไร” 

ฟาโรห์เล่าว่าเด็กที่เกิดและเติบโตมาในครอบครัวที่มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว (Domestic Violence) หรือเด็กและเยาวชนที่ครั้งหนึ่งในอดีตเคยตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศ จากการสำรวจในงานวิจัยนั้นพบว่าปลายทางชีวิตของเด็กและเยาวชนหลายคนต้องไปจบที่เรือนจำ เพราะพวกเขาส่งต่อความรุนแรงที่เคยได้รับมาในวัยเด็กออกไป

และหากเปรียบความรุนแรงในสังคมเป็นเสมือนอากาศ ความน่ากลัวของมันคือเราไม่อาจรู้ได้เลยว่าอากาศนั้นจะวนกลับมาหาเราเมื่อไร

หลายครั้งที่ผู้คนต่างมองข้ามความโหดร้ายที่เกิดขึ้นจากความรุนแรง เพียงเพราะไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวเอง

หลายครั้งที่ผู้คนชื่นชมยินดีกับความรุนแรง เมื่อมันเกิดขึ้นกับฝ่ายตรงข้ามและคนที่เห็นต่าง

ทว่าเมื่อใดที่คนที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครั้งถัดไป กลับกลายเป็นตัวเรา 

เมื่อนั้นการตระหนักรู้จึงเริ่มทำงานในยามที่สายไป

ความรุนแรงนับเป็นหนึ่งในเบ้าหลอมที่ก่อร้างสร้างปีศาจขึ้นมาในสังคมซ้ำแล้วซ้ำเล่า

“คุณจะให้เด็กคนหนึ่งมีความฝัน ความคิด ทัศนคติที่ดีต่อสังคมได้อย่างไร ในเมื่อเขากลับบ้านไปแล้วต้องเจอพ่อที่กำลังตบตีแม่อยู่ โลกของเขามันบิดเบี้ยวไปหมด” 

“หากอาชญากรเป็นเหมือนดอกไม้ดอกหนึ่ง ความรุนแรงและสภาวะทางสังคมที่หล่อหลอมเขาก็ไม่ต่างจากดิน ปุ๋ย น้ำ อากาศ คำถามคือเราอยากได้ดอกไม้แบบไหน ดอกไม้ที่งดงามหรือดอกไม้ที่มีพิษ พวกเราที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมล้วนเลือกได้ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมแบบใดให้กับดอกไม้”

เราตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ที่ดอกไม้ดอกหนึ่งจะสามารถเติบโตขึ้นอย่างงดงามในสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้แข็งแรงสมบูรณ์ หากเปรียบให้เห็นภาพที่ชัดเจน คงคล้ายกับตัวละครอย่าง ‘วันเฉลิม’ ในละครเรื่อง ‘ทองเนื้อเก้า’

เด็กชายคนหนึ่งที่เติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความรุนแรง พ่อแม่แยกทางกัน อาศัยอยู่กับแม่อย่าง ‘ลำยอง’ ที่แทบจะถวายชีวิตให้กับโหลยาดอง มีปัญหาความรุนแรงในบ้านกับบรรดาสามีใหม่ให้ลูกๆ ได้เห็นอยู่เป็นประจำ ทว่าด้วยความช่วยเหลือและการปลูกฝังสั่งสอนจากหลวงตา ท้ายที่สุดแล้ว หนุ่มน้อยวันเฉลิมก็เติบโตมาเป็นคนดีของสังคม

จึงเกิดเป็นคำถามที่ว่าการปลูกฝังทัศนคตินั้นสามารถหล่อหลอมความคิดของเด็กคนหนึ่งให้เติบโตมาเป็นพลเมืองที่ดีในสังคมได้จริงแท้แค่ไหน

“ผมเชื่อว่าเด็กแบบวันเฉลิมมีอยู่จริง” ฟาโรห์ตอบ

“แต่ถ้าลองจำลองเคสแบบทองเนื้อเก้ามาสักประมาณ 1,000 เคส คุณคิดว่าจะมีวันเฉลิมอยู่สักกี่คน” เขาถามกลับก่อนจะขยายความต่อ

“ถ้าถามว่าเป็นไปได้ไหมที่เราจะปลูกฝังให้เด็กหรือเยาวชนคนหนึ่งมีทัศนคติที่ดีและไม่ได้เติบโตมาเป็นปีศาจ แม้ว่าสภาพแวดล้อมของเขาจะหล่อหลอมมาให้เป็นปีศาจขนาดไหน คำถามคือเราควรไปโฟกัสที่การปลูกฝังทัศนคติหรือจะเปลี่ยนเบ้าหลอมปีศาจนั้น”

“ผมจะไม่คาดหวังเคสที่หายากแบบวันเฉลิม แต่ผมมองว่าเราควรสร้างสภาวะที่คนแบบลำยองมีน้อยลง สภาพสังคมแบบที่เด็กอย่างวันเฉลิมอยู่มีน้อยลง เพื่อส่งเสริมศักยภาพของเด็กที่จะโตมาเป็นวันเฉลิม ลองนึกภาพว่าขนาดวันเฉลิมอยู่ในสภาวะแบบนั้น เขายังหลุดรอดออกมาเป็นคนดีในสังคมได้ แล้วถ้าเขามีโอกาสเติบโตในสภาวะสังคมที่ดีกว่านั้นละ เขาจะได้รับการส่งเสริมขนาดไหน” 

“การปลูกฝังทัศนคติต้องพ่วงไปกับการสร้างสภาวะแวดล้อมที่ดี หากเรามัวแต่ปลูกฝังโดยที่ไม่ได้สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ถ้าเปรียบเป็นการปลูกต้นไม้ ก็คงเหมือนกับการที่เรามีปุ๋ยที่ดีที่สุด แต่ดินมันพัง อากาศมันพัง จริงอยู่ที่อาจจะมีต้นไม้ที่รอดขึ้นมา แต่คำถามคือเราจะภูมิใจกับต้นไม้ 1 ใน 100 หรือ 50 ใน 100 ที่ได้เติบโตในสภาวะแวดล้อมที่ดีกว่า”

“เหมือนอย่างที่บอกว่าเลี้ยงเด็กคนหนึ่งใช้คนทั้งหมู่บ้าน นั่นคือเรื่องจริง หากเราเปรียบเทียบ ‘หมู่บ้าน’ ในทุกวันนี้ ก็คือตัวเราที่อยู่ในสังคม คือสื่อ คือสถาบันการศึกษา คือรัฐ หากเราหยิบสมการหรือตัวแปรมาใส่ เราจะเห็นได้ว่าหมู่บ้านของเรานั้นซับซ้อนขึ้น” 

ความซับซ้อนนี้เป็นเหมือนดาบสองคม เมื่อการพัฒนาสังคมนั้นมีความเป็นพลวัต เด็กที่มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ จะมีโอกาสในการพัฒนาหรือส่งศักยภาพของตนเองออกมาได้เร็วกว่าในอดีต แต่ในขณะเดียวกันก็มีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ชีวิตเริ่มถดถอยสวนทางกับสังคมพลวัต เพราะเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ 

“เด็กบางคนเป็นศิลปินตั้งแต่อายุ 5 ขวบ เพราะเขามีโอกาสได้เรียนรู้ ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่โอบรับเขา แต่เด็กอีกกลุ่มหนึ่งกลับได้รับด้านที่แหลมคมของสภาวะทางสังคมเหล่านี้ ในขณะที่เด็กกลุ่มแรกนั้นเติบโตท่ามกลางความพร้อม มีของเล่นเสริมพัฒนาการ เด็กอีกบ้านต้องดื่มนมข้มหวานชงกับน้ำเพื่อความอยู่รอด เล่นขยะในคลอง เติบโตมากับความรุนแรงในครอบครัว” 

“สิ่งที่เห็นได้ชัดในครอบครัวของเยาวชนที่เติบโตมาในครอบครัวที่มีปัญหาเรื่องการใช้ความรุนแรง นั่นคือมีเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่ลงเอยด้วยการเป็นอาชญากร และเยาวชนอีกหลายคนต้องทนทุกข์กับบาดแผลทางใจ” 

“รัฐจึงต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญ เพราะยิ่งประชาชนต้องเป็นฝ่ายสร้างสภาวะแวดล้อมในสังคมเองมากเท่าไร เด็กต้องดิ้นรนและเติบโตขึ้นมาในสังคมเองมากเท่าไร ก็ยิ่งสะท้อนถึงความล้มเหลวและการปล่อยปละละเลยมากเท่านั้น”

ถอดบทเรียนจากเรื่องราวของ ‘ปีศาจ’

อาจกล่าวได้ว่าในปัจจุบันนี้ เรื่องของความรุนแรงในสังคมไทยไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป หลายครั้งที่เมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งใหญ่ขึ้น ภาพที่เราคุ้นชินกันดีคือการที่สื่อนำเสนอถึงเหตุการณ์เหล่านั้นออกมาในหลากหลายรูปแบบ และหนึ่งในรูปแบบเหล่านั้นคือการถอดบทเรียน

ทว่าเมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน มักจะมีเหตุการณ์ความรุนแรงที่คล้ายคลึงกันเกิดขึ้นซ้ำอยู่บ่อยๆ และวิธีการรับมือของสื่อและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้นก็ไม่ได้แตกต่างไปจากเดิมนัก 

เกิดเป็นคำถามที่ว่าการถอดบทเรียนที่ผ่านมานั้นมีความถูกต้องมากน้อยแค่ไหน

“ผมตั้งคำถามว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในสังคม สื่อในบ้านเราถอดบทเรียนในรูปแบบของการถอดบทเรียนจริงๆ หรือเป็นการกระตุ้นเร้าอารมณ์” 

“เวลาที่คนเราอยู่ในห้วงอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งที่สูงมากๆ เช่น ดีใจมาก เสียใจมาก โกรธมาก จะสังเกตได้ว่าช่วงเวลานั้นแทบไม่มีกระบวนการเรียนรู้ใดๆ เกิดขึ้นเลย เช่นเดียวกันเมื่อเกิดเหตุความรุนแรงขึ้น หากสื่อนำเสนอในแง่มุมของการกระตุ้นอารมณ์ของผู้รับสาร ทุกคนต่างเข้ามาเสพสื่อด้วยความโกรธแค้น อัดความโกรธนั้นเข้าไป ท้ายที่สุดเราจะไม่ได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์นั้นเลย”

“หนึ่งในเหตุอาชญากรรมที่ผมค่อนข้างเป็นห่วงมาก คืออาชญากรรมในรูปแบบของการกราดยิง (Mass Shooting) เราเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในห้าง ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ฯลฯ เรามีการเตรียมความพร้อมของคนในสังคมและสื่อน้อยมาก ทั้งหมดทั้งมวลนี้สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยถอดบทเรียนมากน้อยขนาดไหน และผมคิดว่ามันยังพัฒนาได้อีก”

“แนวทางการพัฒนาคือต้องทำความเข้าใจก่อนว่าอาชญากรแต่ละประเภทนั้นแตกต่างกัน อาชญากรมีหลากหลายประเภท เราไม่สามารถจัดการกับองค์กรอาชญากรรม (Organization Crime) โดยใช้วิธีเดียวกับโจรที่ลักวิ่งชิงปล้นได้ และเราก็ไม่สามารถจัดการโจรลักวิ่งชิงปล้นโดยใช้วิธีเดียวกันกับฆาตกรต่อเนื่องได้ การประเมินและทำความเข้าใจในประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย” 

“และเมื่ออาชญากรเหล่านี้พ้นโทษ เราก็ปล่อยเขาออกมาโดยไม่มีการประเมินสภาพทางจิตใจ ไม่ได้ประเมินความพร้อมของผู้ต้องขัง เกิดเป็นช่องโหว่ในการกระทำผิดซ้ำ เพราะนักโทษบางคนยังมีทัศนคติที่บิดเบี้ยวต่อสังคมไม่ต่างจากวันที่เขาก้าวเข้าไปในเรือนจำ” 

“การสร้างความตระหนักรู้ในประเด็นนี้ ผมยอมรับเลยว่ามันเกิดจากความเห็นแก่ตัวของผม ผมแค่กลัว กลัวว่าการที่สังคมยังไม่เข้าใจนั้นจะนำไปสู่การสร้างปีศาจที่เราเรียกเขาว่า ‘อาชญากร’ หรือ ‘ฆาตกร’ และกลัวว่าวันหนึ่งผมจะต้องกลายเป็นเหยื่อ ผมจึงอยากสร้างสภาวะสังคมที่ปลอดภัยมากกว่านี้ เข้าใจเรื่องราวของอาชญากรและอาชญากรรมมากกว่านี้ ตัวเรา ลูกหลานเรา และคนที่เรารัก จะได้อยู่ในสังคมที่ปลอดภัยมากขึ้นสักหนึ่งเปอร์เซ็นต์ก็ยังดี”


Writer

Avatar photo

ณัฐนรี บัวขม

มีชีวิตอยู่เพื่อดูคลิปตลก คีบตุ๊กตา และเดินหาร้านอร่อยในย่านบรรทัดทอง

Photographer

Avatar photo

ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts