ลงโทษหรือให้อภัย? คำถามใหญ่ในกรณี “เด็กที่เคยบูลลี่คนอื่น”

ในช่วงที่ผ่านมา “การบูลลี่” กลับมาเป็นประเด็นร้อนแรงอีกครั้งในโลกโซเชียล หลังจากซีรีส์เกาหลีเรื่อง The Glory ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับล้างแค้นและการตีแผ่สังคมต่อปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน ได้ออกมาสู่สายตาผู้รับชม ทำให้เกิดการพูดคุยและถกเถียงเรื่องปัญหาบูลลี่ในโรงเรียน ก่อนจะมี “มหกรรมแฉ” คนดังหลายคนในวงการบันเทิงไทย ที่เคยมีพฤติกรรมบูลลี่เพื่อนสมัยเรียน แม้จะมีการออกมาแสดงความรับผิดชอบและขอโทษต่อการกระทำของตัวเองเมื่อครั้งยังเป็นเด็กของคนดังเหล่านั้น แต่ก็ดูเหมือนความโกรธของคนในสังคมจะไม่จางหาย จนกลายเป็นคำถามว่า คนที่เคยบูลลี่คนอื่นต้องทำมากแค่ไหน จึงจะสามารถชดใช้กับพฤติกรรมที่พวกเขาเคยทำได้ 

Mappa คุยกับ “ป้ามล – ทิชา ณ นคร” ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ผู้ทำงานคลุกคลีกับเด็กที่เคยตัดสินใจผิดพลาด และให้โอกาสพวกเขาได้กลับมาใช้ชีวิตอีกครั้ง เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องการบูลลี่ให้รอบด้าน โดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลังให้ต้องเผชิญความเจ็บปวดตามลำพัง ในวันที่สังคมตื่นรู้เรื่องการบูลลี่เป็นอย่างมาก 

ในยุคที่โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในชีวิตของคนเป็นอย่างมาก การ Call Out กลายมาเป็นรูปแบบหนึ่งของการขับเคลื่อนประเด็นสังคม รวมถึงเรื่องการบูลลี่ในโรงเรียน เมื่อหลายคนที่เคยตกเป็นผู้ถูกกระทำ ตัดสินใจใช้ช่องทางออนไลน์ ในการเปิดเผยพฤติกรรมของคู่กรณี โดยเฉพาะคนมีชื่อเสียง เพื่อเรียกร้องให้ขอโทษหรือออกมาแสดงความรับผิดชอบอย่างเป็นรูปธรรม ทว่าความโกรธเกรี้ยวของชาวเน็ตต่อพฤติกรรมที่คนนั้น ๆ เคยก่อ กลับดูจะไม่จางหายไป หลังจากมีการขอโทษ พร้อมยกเหตุผลด้านวัยวุฒิหรือ “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” นั่นจึงนำไปสู่คำถามว่า “เส้นแบ่ง” ของการเรียกร้องอยู่ตรงไหน จึงจะไม่นำไปสู่การคุกคามหรือทำลายความเป็นมนุษย์ของกันและกัน 

“ในมุมมองของป้า เวลาที่ผู้กระทำใช้คำพูดว่าเขาเคยเป็นเด็ก ยังรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ป้าว่ามันเข้าใจได้ เพียงแต่เวลาที่คนพูดเป็นผู้กระทำเอง เราจะรู้สึกว่ามันไม่ชอบธรรม เพราะเขาทำ แล้วเขาก็มาพูดอธิบายพฤติกรรมของตัวเอง คนที่ฟังก็อาจจะรู้สึกว่านี่เป็นคำแก้ตัว แต่ในเชิงหลักการแล้ว วัยวุฒิของเด็กเป็นคำอธิบายที่เรายอมรับได้ เราพลาดพลั้งได้ ป้าเคยถามพ่อแม่ของเด็กบ้านกาญจนาฯ บ่อย ๆ ที่ด่านแรกเขาจะตำหนิลูกก่อน ว่าสอนแล้ว เตือนแล้ว ก็ไม่ฟัง ในที่สุดมันก็ไปก่อคดี แล้วก็ต้องมาติดคุก ป้าจะถามเลยว่าคุณพ่อกับคุณแม่เคยอายุ 15 ไหม ซึ่งเขาก็จะตอบว่าเคย แล้วป้าจะถามต่อว่า แล้วลูกของพ่อแม่เขาเคยอายุ 35 หรือเปล่า ซึ่งนัยที่ป้ากำลังจะบอกก็คือ พวกเราทุกคนที่เป็นผู้ใหญ่ เราเคยผ่านวันคืนที่เป็นเด็กมาแล้วทั้งสิ้น แต่เด็กไม่เคยผ่านวันคืนที่เคยเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งตรงนี้สำคัญ เราต้องไม่ลืม” 

แม้จะไม่ได้เป็นเรื่องการบูลลี่ในโรงเรียน แต่ป้ามลก็เลือกหยิบยกเรื่องราวของเด็กชายคนหนึ่งจากบ้านกาญจนาฯ ที่เดินเข้ามาที่บ้านด้วยคดีความที่ร้ายแรง มาเล่าให้ฟัง โดยหวังให้เป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เด็กชายเรียนรู้จากการใช้ชีวิตในบ้านกาญจนาฯ ว่าสิ่งที่เขาก่อขึ้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เขาเปลี่ยนแปลงแก้ไขและจัดชีวิตตัวเองใหม่ เพื่อเตรียมพร้อมที่จะออกไปสู่อิสรภาพอีกครั้ง ในฐานะผู้ใหญ่ที่มีวัยวุฒิเพิ่มมากขึ้น 

“เขาไปเป็นศิลปิน ไปเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงอยู่บ้างในสังคม มีแฟนคลับของตัวเอง ซึ่งตอนที่เขาไปเป็นศิลปิน ก็มีญาติผู้เสียหายออกมาเรียกร้อง บอกว่าเขาฆ่าคนตาย จะเป็นศิลปินแบบนี้ได้อย่างไร ป้าจึงชวนเขาคุยว่ารับมือไหวหรือเปล่าครับ ต้องการความช่วยเหลือจากป้าไหม ป้ายินดีที่จะเคียงข้าง”

“เขาตอบว่าผมรับมือเองได้ พอป้าถามว่ารับมืออย่างไร เขาบอกว่า ผมเข้าใจคนที่ด่าเขา ผมรู้ว่าเขาเป็นผู้เสียหาย เขามีสิทธิ์ด่าผม มีสิทธิ์ที่จะโกรธผม ดังนั้น ผมจะไม่โต้ตอบอะไรทั้งสิ้น ผมจะยอมรับ เมื่อมีจังหวะ ผมก็จะขอโทษและอธิบาย แต่ถ้ายังไม่มีจังหวะ ผมก็จะยังไม่ทำอะไร สิ่งสำคัญคือผมไม่ได้ทำอะไรที่ไปซ้ำเติมเหตุการณ์นั้นอีก ความผิดบาปที่ผมมีต่อเหตุการณ์นั้นมันมากพออยู่แล้ว ดังนั้น ผมจะไม่ซ้ำเติมตัวเอง ถ้าผมโกรธเขา ผมทำอะไรที่ละเมิดเขา ก็เท่ากับผมซ้ำเติมตัวเอง” 

ความรุนแรงที่สังคมร่วมกันสร้าง

แน่นอนว่าการบูลลี่หรือความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้น คือ “ความผิดในระดับปัจเจก” หรือพฤติกรรมของคนคนหนึ่งที่ไปละเมิดคนอื่น และเขาคนนั้นจำเป็นต้องรับผลจากการกระทำของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นในระดับกฎหมาย หรือในระดับสังคม

“แต่ในความเป็นจริง เวลาเราอยู่ในสังคม ถ้าเราใช้สายตาด้วยความเป็นธรรมมากกว่านั้นอีก เราจะเห็นว่าหลายปัจจัยมันไม่ได้มาในชื่อของปัญหาระดับปัจเจก แต่มันมาในชื่อของปัญหาระดับโครงสร้าง หรือปัญหาเชิงระบบ เพราะสังคมเราเป็นสังคมที่มีการกดขี่ข่มเหง มีการใช้อำนาจ ทั้งในระดับครอบครัว ที่บางทีพ่อแม่ก็ใช้อำนาจกับลูก ทั้งในระดับที่พอรับได้และในระดับที่เกินกว่าที่เด็ก ๆ จะรับได้ หรือที่โรงเรียน เราก็จะเห็นระบบอำนาจนิยม ซึ่งทั้งหมดนี้มันเป็นกลิ่นอายแห่งความเป็นสังคม” 

“เรามีโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม แล้วคนส่วนหนึ่งก็ได้รับประสบการณ์ตรงจากโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม แล้วมันไม่ได้หายไปไหน มันก็อยู่ในเนื้อตัวร่างกายและความคิดของเขา เมื่อมันมีการจัดการในเชิงระบบที่ไม่ถูกต้องอีก มีการละเมิดซ้ำอย่างเป็นรูปธรรม หรือสนับสนุนให้คนที่มีอำนาจ ยิ่งมีอำนาจมากขึ้น เช่น ครูสามารถตีเด็กได้ ทั้ง ๆ ที่มันไม่สมเหตุสมผล เป็นต้น มันจึงเป็นทั้งปัญหาในเชิงโครงสร้างและระบบของการจัดการ มันมีอยู่จริง แล้วคนที่รับมือไม่เก่ง คนที่อาจจะมีต้นทุนที่จำกัด หรือว่าคนที่ครอบครัวของเขาใช้ความรุนแรงกับเขา เขาก็อาจจะถูกดูดเข้าไปในหลุมพวกนี้ง่ายที่สุด” 

ป้ามลระบุว่า ในฐานะที่ทุกคนเป็นสมาชิกของสังคม เมื่อมองประเด็นปัญหาการบูลลี่ในโรงเรียน เลยไปจนถึงปัญหาความรุนแรง ทุกคนจำเป็นต้องมองอย่างสมดุล มีใจที่เปิดกว้าง ไม่เช่นนั้น เราเองจะกลายเป็นคนที่เข้าไปซ้ำเติมสถานการณ์ปัญหาให้รุนแรงยิ่งขึ้น หรืออาจจะไม่เจอทางออกสำหรับปัญหานั้น ๆ เลย

“เราไม่สามารถผลักไส หรือเอาคนจำนวนหนึ่งที่เราไม่ชอบ ไปทิ้งตรงไหนในโลกใบนี้ได้ เราทำแบบนั้นไม่ได้ ดังนั้น เราก็อยู่ปะปนกันไป การอยู่ปะปนกันไปก็ยิ่งทำให้ปัญหากลายเป็นสิ่งที่ถูกซุกเอาไว้ใต้พรม จนกลายเป็นขยะเน่า กลายเป็นสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษขนาดใหญ่มาก เราจึงจำเป็นต้องกลับมาทบทวนหลาย ๆ เรื่อง ถ้าเราคิดผิด เราต้องทบทวนใหม่ เพื่อให้สังคมนี้มันน่าอยู่ขึ้น” 

มองปัญหาด้วยหัวใจที่เป็นธรรม

“การที่เราไปหยิบเหตุการณ์ใด ๆ ก็ตามที่เกิดขึ้น ในวันที่เขายังเป็นเด็กน้อย วุฒิภาวะเขายังไม่แข็งแรง แล้วโทษทัณฑ์ ณ วันที่เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ถ้าเขาไม่ได้มีพฤติกรรมใดเลยที่เหมือนกับอดีต อันนี้เราต้องใช้ใจที่เป็นธรรมในการมองเขา แต่ถ้าอดีตเขาเคยเป็นคนที่บูลลี่ จนถึงวันนี้เขาก็ยังใช้ชีวิตที่ไม่ได้แตกต่างจากอดีต ผลิตซ้ำ แล้วก็ร้ายยิ่งกว่าเดิม อันนั้นอาจจะถามได้ว่า เขาได้เรียนรู้อะไรบ้างหรือเปล่า เขาได้บทเรียนที่เหมาะสมไหม แต่ป้าก็คิดว่า ถึงขณะนั้น มันก็ไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะไปด่าทอปัจเจกเหล่านี้ด้วยอารมณ์โกรธ ไม่งั้นก็แสดงว่าเราเองก็ไม่ได้ต่างจากเขา” 

ป้ามลเล่าถึงช่วงรับขวัญเด็กใหม่ที่ต้องเข้ามาอยู่บ้านกาญจนาฯ เด็กหลายคนทำผิดอย่างร้ายแรง แต่ป้ามลก็ไม่เคยเกลียดชังพวกเขา เพราะป้ามลเข้าใจดีว่าปัจจัยที่ทำให้เด็กคนหนึ่งเลือกใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา มันมีมากกว่าปัจจัยเชิงปัจเจก และการแสดงความเสียใจ หรือความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดของตัวเองที่ดีที่สุด คือการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นคนใหม่ 

“ป้าบอกเด็ก ๆ เสมอว่า การติดคุกของเราในครั้งนี้ นอกเหนือจากการติดคุกที่ทำให้ผู้เสียหายรู้สึกว่าโลกนี้ยังมีความเป็นธรรม แต่เหนือกว่านั้นคือ ถ้าเราเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ไม่กลับไปผลิตซ้ำในสิ่งเดิม นั่นหมายถึงว่า แม้ผู้เสียหายจะไม่ได้ชีวิตของคนรักของเขาคืนมา แต่เวลาที่ผ่านไป เขาจะเหลียวมาดูเหตุการณ์นี้ แล้วเขาจะพบว่า คนที่เคยทำร้ายคนในครอบครัวของเขาเปลี่ยนแปลงตัวเองได้” 

สังคมไม่ได้หมุนด้านดีของมนุษย์ออกมาทุกวัน สังคมก็เล่นกับด้านร้ายของมนุษย์เหมือนกัน แล้วถ้ามนุษย์เอาด้านร้ายของตัวเองออกมาชนกับคนอื่น และเมื่อมันเกิดความเสียหายในสังคม นี่ก็อาจจะเป็นราคาที่เราต้องจ่ายร่วมกัน ไม่มีใครเกิดมาเพื่อเป็นคนที่ถูกเกลียดชัง ไม่มีใครอยากเป็นคน ๆ นั้น แต่การยืนอยู่ท่ามกลางพลังดูดที่ชั่วร้าย มันต้องการความแข็งแกร่งอย่างมาก แต่หลายคนไม่ได้แข็งแกร่ง เขาต้องล้มก่อน ตั้งหลักใหม่ กว่าจะเป็นคนที่แข็งแกร่งได้ ดังนั้น เวลาเราอยู่ร่วมกันในสังคม เราอาจจะเจอคนที่ไม่เคยผิดพลาด ก็ขอบคุณที่เขาดูแลตัวเองดี แต่เราก็อาจจะเจอคนที่ผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัย ถ้าเราสามารถดึงเขาออกมาได้ เพื่อให้เขานำความผิดพลาดนั้นมาเป็นบทเรียนของตัวเองและคนอื่น มันก็จะเป็นการสร้างพื้นที่ใหม่ ๆ ให้กับผู้คน ซึ่งเราก็ต้องตัดสินใจเองว่า เราจะเลือกเป็นคนกลุ่มไหน” 

ผู้ใหญ่ต้องไม่ตกหลุม

ป้ามลชี้ว่า การออกมาแสดงจุดยืนในลักษณะนี้ของตัวเองก็อาจจะถูกต่อต้าน เพราะคล้ายกับป้ามลปกป้องปัจเจก และเอาแต่กล่าวโทษระบบนิเวศทางสังคม แต่ป้ามลก็ยอมรับได้ สังคมประกอบด้วยคนมากมาย ก็ต้องมีคนที่คิดแตกต่างกัน และนั่นจะเป็นการทำสงครามทางความคิดกันต่อไป อย่างไรก็ตาม ผู้ใหญ่ซึ่งเป็นคนมีอำนาจมากกว่าเด็กในสังคม ต้องไม่ตกหลุมความรุนแรงเสียเอง 

“เวลาที่เราเจอเด็กที่ไม่น่ารัก ทำร้ายคนอื่น ถ้าเราไปทำร้ายเขาซ้ำ หรือเราใช้ความรุนแรงกับเขา ก็เท่ากับเรากำลังสร้างความชอบธรรมให้กับสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ เวลาที่เด็กทำร้ายคนอื่น แล้วเขาถูกตีถูกฟาด ไม่ได้แปลว่าเด็กจะสำนึกนะ กลับกลายเป็นเรื่องตรงข้าม เด็กจะคิดว่ามันต้องทำร้ายกันแบบนี้แหละ ร้ายมาก็ร้ายไป แรงมาก็แรงไป” 
“ทันทีที่เห็นเด็กคนหนึ่งแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม แทนที่ผู้ใหญ่จะนิ่งสงบ ลองแตะตัวเขา บอกให้เด็กใจเย็น ๆ ก่อน ถามเขาซิว่าเจ็บไหม แต่เราสงบและอดทนแบบนั้นได้หรือเปล่า ในความเป็นจริง เราทำไม่เป็นเลย ทันทีที่เราเห็น เราก็ใช้อำนาจของเราทันทีเพื่อให้เขาหยุด แล้วเด็ก ๆ เขาหันมาดูเรา เขาก็เรียนรู้และเติบโตจากการใช้อำนาจ การกดขี่คนอื่น แล้วเมื่อทำสิ่งนี้ แล้วเรามีอำนาจเหนือและปลอดภัยกว่า เด็กก็ซึมซับไปเรื่อย ๆ เพราะเด็กจับคำสั่งสอนได้ไม่แจ่มชัดเท่ากับพฤติกรรมที่เขาเห็น ดังนั้น ผู้ใหญ่ต้องหนักแน่น ต้องอดทน ต้องไม่ตกหลุมเสียเอง ถ้าเราคิดว่าเราอยากเห็นสังคมที่น่าอยู่ สังคมที่สมดุลระหว่างสีดำและสีขาว เราต้องเป็นคนที่หนักแน่นก่อน ถ้าไม่ได้ก็จบ” ป้ามลกล่าวทิ้งท้าย


Writer

Avatar photo

ณัฐฐฐิติ คำมูล

วัยรุ่นปวดหลังที่ใฝ่ฝันถึงสังคมที่ทุกคนเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts