บ้านไม้เก่าหลังหนึ่งกลางชุมชนย่านบางขุนนนท์
ที่นี่เป็นที่ตั้งของ Ting Chu Studio สตูดิโอเล็กๆ ที่มีเตาเผาหนึ่งเตาและ ‘จุ๋ม’ หมาใจดีหนึ่งตัว
สตูดิโอแห่งนี้ทำงานศิลปะเกี่ยวกับงานปั้นเซรามิคขั้นพื้นฐาน รวมถึงงานวาดเขียนและงานประดิษฐ์จากดินเผาอื่นๆ ทั้งหมดดูแลโดย ถิง ชู ศิลปินผู้เป็นทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่คุณครูถ่ายทอดวิชา จนถึงแม่บ้านที่คอยจัดระเบียบเก็บกวาดอุปกรณ์ให้เข้าที่เข้าทางพร้อมใช้งานอยู่เสมอ
เดิมที่ ถิง ชู เคยเปิดสตูดิโอทำงานศิลปะร่วมกับเพื่อนในจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนออกเดินทางค้นหาพื้นที่ใหม่ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวเองเติบโตขึ้น เธอจึงตัดสินใจแยกตัวออกมาตั้งสตูดิโอศิลปะแห่งใหม่เป็นของตัวเองในกรุงเทพมหานคร
Ting Chu Studio
ณ ที่แห่งนี้ ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ใครที่เข้ามา ถิงบอกว่าไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานการปั้นมาก่อน ถิงไม่ได้ต้องการเจอคนเก่ง และจะยิ่งดีกว่านั้น ถ้าคนที่เข้ามาปั้นเซรามิคกับเธอได้ของแถมเป็นการค้นพบตัวเองกลับไป
การปั้นไม่ต้องเร่งรีบ
หัวใจศิลปะการปั้นตามสไตล์ถิง คือความไม่เร่งรีบและอนุญาตให้พังแล้วเริ่มใหม่
หากจินตนาการไม่ออก ถิงบอกว่าการปั้นดินไม่ต่างจากการเล่นทรายที่พังแล้วเราเริ่มใหม่ได้ซ้ำๆ หากใครเคยมีประสบการณ์ก่อทรายเป็นรูปปราสาทตามชายหาด ยามที่น้ำทะเลซัดเข้ามา ปราสาททรายของเราอาจล้มครืนหายวับไปกับตา ถิงบอกว่าความรู้สึกนั้นจะทำให้เรารู้จักกับการไม่ยึดติดและความไม่แน่นอน – และนี่เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของการปั้น
อย่างที่กล่าวไป ในสตูดิโอของถิงมีทั้งวัยเด็กและผู้ใหญ่เข้ามาใช้บริการ
เมื่อเดินทางมาถึง สิ่งแรกที่ถิงพาให้ทำคือการนวดดิน
“สำหรับเราการนวดดิน ยิ่งนวดนานๆ เท่ากับว่าคุณกำลังมีปฏิสัมพันธ์และมีเวลาทำความรู้จักกับดินมากขึ้น ระหว่างทางจะเกิดความรู้สึกมากมาย เมื่อยมือ เมื่อยนิ้ว เจอดินแข็ง เหนื่อย – แต่นี่คือกระบวนการคุยกับตัวเองข้างใน
“ความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งคือมนุษย์เรียนรู้ผ่านร่างกายได้สูงมาก อาจเร็วกว่าความคิดด้วยซ้ำ ดังนั้นขณะที่นวดดิน เราไม่รู้ตัวหรอกว่าเรากำลังเรียนรู้มันอยู่ ไม่มีใครรู้ว่านวดดินแล้วได้อะไร แต่พอนวดไปๆ เราจะค่อยๆ ซึมซับ อย่างน้อยเราก็ได้อยู่กับมันย้ำๆ ให้นิ้วสัมผัสกับดิน”
หลังจากนวดดินเสร็จก็เริ่มปั้น ถิงพาปั้นและขึ้นรูปดินด้วยมือ (hand building) ผ่านการบีบกด (pinching) หรือกลิ้งดินให้เป็นแผ่น (slab) ค่อยๆ คลี่แล้วขึ้นทรง ขั้นตอนนี้ถิงบอกว่าต้องอาศัยเซนส์ของร่างกายทำงานร่วมกับจินตนาการ
“เราจะปล่อยให้ผู้เรียน ค่อยๆ สัมผัสกับดิน ปั้นและสร้างให้ดินก้อนแข็งๆ กลายเป็นรูปทรงขึ้นมา สมมุติโจทย์คือทำแก้ว เราจะปั้นแก้วอย่างไรให้เป็นแก้วที่มีความหนาเท่ากันตั้งแต่ฐานจนถึงปลายแก้ว เราไม่สนใจว่าภาชนะของคุณจะเล็กใหญ่ แต่สำคัญคือคุณปั้นเป็นทรงแก้วได้ไหม ดินบิดเบี้ยวหรือเปล่า ดินมีรอยฉีกขาดไหม กระบวนการนี้ต้องอยู่กับตัวเองเยอะมาก”
ขั้นตอนนี้ ในสายตาถิง เธอเห็นถึงความแตกต่างบางอย่างระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ นั่นคือ การรักตัวเองที่ต่างกัน
“เราเห็นการรักตัวเองผ่านงานปั้นเลยนะ เมื่อเขาขึ้นรูปไม่ได้ ปั้นดินแล้วพัง เราเคยเจอผู้ใหญ่ต่อว่าตัวเองมากกว่าเด็ก 10 ขวบด้วยซ้ำ”
ระหว่างทางขณะที่ปั้นอยู่ ถิงมักเจอผู้ใหญ่หลายคนที่ไม่อนุญาตให้ตัวเองผิดพลาด ท้อง่าย หมดแรง จนบางคนยอมแพ้ไปก่อน พวกเขามองไม่เห็นว่าการปั้นคือกระบวนการที่ผ่อนคลาย มักติดอยู่กับความกังวลต่างๆ เช่น รอยร้าวเล็กๆ หรือดินไม่เรียบ ขณะที่เด็กจะมีความอ่อนโยนกับตัวเองและปล่อยให้ตัวเองสนุกไปกับก้อนดินตรงหน้ามากกว่า
“เราจะบอกอยู่เสมอว่า ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ อย่ายึดติด งานปั้นชิ้นแรกของคุณก็เปรียบได้กับเดทแรกน่ะ งานชิ้นแรกมันยังไม่ใช่ตัววัด เราต้องเรียนรู้ไปก่อน ลองกินข้าว พูดคุยกัน พอเจอดินก้อนใหม่ (เดทครั้งใหม่) เราจะปรับตัวและเรียนรู้ได้เองอย่างไม่รู้ตัว”
ทำไมการปั้นถึงเหมาะกับเด็ก
ย้อนไปในสมัยคาบเรียนศิลปะวัยประถมของถิง
“เราเคยเรียนไล่สี ระบายสีส้มไปหาสีดำ จากนั้นตัดรูปต้นมะพร้าวไปติด โอ้โห นี่มันกลายเป็นฉากต้นมะพร้าวที่มีพระอาทิตย์กำลังตกนี่นา”
จากวิชาศิลปะในคาบนั้น ทำให้ถิงประทับใจและจุดประกายให้มีความเชื่อว่าการเรียนรู้ศิลปะผ่านการลงมือทำจะทำให้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ดูมีคุณค่าขึ้นมาก
ในคาบเรียนนั้น ถิงได้เรียนรู้การเล่าเรื่อง ผ่านฉากของต้นมะพร้าวโดยใช้ศิลปะ
ในคาบเรียนนั้น ถิงเข้าใจคอนเซ็ปต์ของการเปลี่ยนผ่าน (transform) โดยที่ครูไม่ต้องสอน
ในคาบเรียนนั้น ถิงเรียนรู้ว่าอะไรคือกลางวัน-กลางคืน ผ่านการไล่สีจากส้มเป็นดำ
และถิงกำลังยกห้องเรียนศิลปะมาอยู่ที่สตูดิโอเล็กๆ แห่งนี้ เพราะการนวดดินย้ำๆ จนปั้นเป็นรูปทรงได้คือการเรียนรู้ผ่านร่างกายอย่างหนึ่ง
“การปั้นดินคือ playground ในอุ้งมือ ทุกอย่างเริ่มจากก้อนดินก้อนเดียว อิสระและไร้ขอบเขต เด็กจะค่อยๆ สร้างความสนุกขึ้นมาด้วยตัวเขาเอง”
สำหรับถิงศิลปะการปั้นอนุญาตให้เราผิดพลาดและมีพื้นที่ลองผิดลองถูก แก้วทรงกระบอกของเรา อาจจะไม่เหมือนแก้วทรงกระบอกของเพื่อน เราเพียงทำตามสิ่งที่ต้องทำ ในกรณีปั้นเซรามิค เราแค่ต้องระวังการขึ้นรูป ต้องทำฐานให้แข็งแรง หลังจากนั้นคุณอาจจะไม่สนใจถูกผิดแล้ว คุณฟรีสไตล์ได้เลย
“เมื่อเราปล่อยเด็กเล่นกับดินไปเรื่อยๆ เราจะเห็นการ transform ไปมา ดินเปลี่ยนจากรูปร่างหนึ่งเป็นอีกรูปร่างหนึ่งในไม่กี่นาที เปลี่ยนจากองุ่นเป็นสตรอว์เบอร์รี่ เปลี่ยนรูปร่างจากหมาเป็นรองเท้าแตะ ไม่ยึดติดและไม่แน่นอน”
ท้ายที่สุดเมื่อถอดกระบวนการของการปั้นออกมา ถิงพบว่าสิ่งเหล่านี้กำลังสร้างคาแรคเตอร์บางอย่าง
“สำหรับเราเด็กมีความสดใสและมีจิตใจที่เรียบง่ายมากๆ โลกของเขายังไม่ซับซ้อนเหมือนโลกผู้ใหญ่ เวลาปั้น ในหัวเขาอาจจะนึกถึงแค่การปะติดปะต่อเนื้อเรื่อง การคิดว่าต้องทำอะไรก่อนหลัง ได้ลองใจเย็นๆ และคิดว่าตัวเองจะปั้นเป็นอะไรบ้าง”
ถิงไม่แน่ใจและไม่กล้าการันตีว่าในห้วงเวลาขณะที่เด็กๆ กำลังบีบนวดก้อนดินอยู่นั้น พวกเขากำลังคิดลึกซึ้งหรือตกตะกอน จนถึงขั้นทบทวนตัวเองได้หรือไม่
แต่แน่นอนว่าอย่างน้อยทักษะที่เกิดขึ้น เด็กๆ หยิบไปใช้ต่อในอนาคตได้แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการฝึกการคิดอย่างต่อเนื่อง การเชื่อมโยงร่างกายเข้ากับงานตรงหน้า ฝึกโฟกัส สมาธิ และการเล่าเรื่อง
“สำคัญที่สุด หากเด็กเล็กได้ทดลองปั้น เขาจะได้ขยับกล้ามเนื้อมัดเล็ก การใช้มือ การหยิบจับ ซึ่งเป็นพื้นฐานของพัฒนาการ เด็กๆ จะได้ทดลองควบคุมแรง ได้ฝึกจินตนาการ ออกแบบงานให้สร้างสรรค์”
พ่อแม่ก็สร้างงานปั้นได้เองในบ้าน
ปัจจุบันความหมายของศิลปะไปผูกอยู่กับศิลปินและเครื่องมือเยอะมากขึ้น
สำหรับถิงเธอบอกว่า
“ศิลปะไม่ใช่อะไร ศิลปะไม่ใช่คนที่มีทักษะสูงหรือเหมาะกับคนที่ครีเอทสร้างสรรค์สูงเท่านั้น”
ถิงจึงมั่นใจมากๆ ว่าพ่อแม่ก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างงานศิลปะให้เกิดขึ้นในบ้านได้ โดยเฉพาะการปั้น
“กระบวนการศิลปะมันไม่ใช่แค่วาดรูปสวย ปั้นสวย มันไม่ใช่แค่ไหน สำหรับเราต้องมีการสื่อสารด้วย ถ้าพ่อแม่บ้านไหนมีความพร้อม มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ให้ลูกก็ดี เยี่ยมเลย! แต่ไม่ใช่ไม่มีแล้วยอมแพ้ เราอยากให้พ่อแม่ทุกคนรู้ว่าคุณคือศิลปินให้ลูกได้”
หากไม่มีดิน ก็ใช้ดินน้ำมัน ใช้เปเปอร์มาเช่ (กระดาษผสมกับกาว) หรืออะไรก็ได้ที่สามารถแปรรูปไปมา เพื่อให้เด็กสัมผัสเซนส์ของการ transform
สำหรับถิงสิ่งสำคัญกว่าอุปกรณ์ศิลปะคือ mindset ในสร้างศิลปะ
ทั้งหมดทั้งมวลหลังจากที่เธอใช้ชีวิตและคลุกคลีอยู่กับกระบวนการปั้นดิน ถิงเชื่อว่า ‘การปั้น’ ช่วยสร้างการเรียนรู้ ยอมรับ ผิดพลาด การมีความสุขกับตัวเองได้
ฉะนั้นถ้าพ่อแม่อยากสร้างงานศิลปะการปั้นให้เกิดขึ้นในบ้าน ให้คิดเสียว่ากิจกรรมนี้คือเรื่องอิสระ ถ้าลูกปั้นแล้วพัง ออกมาไม่เป็นรูปร่าง ไม่เป็นไร ก็แค่เริ่มใหม่
“หลังจากเราเปิดสตูดิโอมา มีพ่อแม่หลายคนพาลูกมาเรียนปั้นกับเรา ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับเขางอกงามก็มี แต่บางครั้งคนมาเรียนแล้วเขาพบว่ามันไม่เวิร์คก็มี เราไม่อยากตัดสินว่าการปั้นคือศิลปะที่ดีเหนือศิลปะแขนงอื่นๆ”
อย่างไรก็ตามถิงบอกว่า ถ้ากระบวนการต่างๆ ของงานปั้น ช่วยเยียวยาเด็กๆ ได้
“เราก็ยินดีด้วยมากๆ เหมือนได้โบนัส แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยในช่วงเวลาหนึ่ง การนวดดินไปเรื่อยๆ ก็ทำให้เด็กได้อยู่กับตัวเอง ผลลัพธ์ที่เหลือคือประสบการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับเด็กต่อไป”
Ting Chu Studio
• Hand Building คอร์สเรียนการปั้นระดับพื้นฐาน เรียนรู้เทคนิคการขึ้นรูปด้วยมือต่างๆ เช่นการขึ้นทรง การต่อเกลียว การทำดินแผ่น ผ่านการปั้นเซ็ตกาแฟ แก้ว ชาม ถ้วย จานรอง ช้อน แก้วกาแฟ แจกัน หรือภาชนะอื่นๆ
• Whistles, Ocarinas and Wind Bells คอร์สเรียนการปั้นโอคารินา นกหวีด และกระดิ่งลม โดยสามารถออกแบบปั้นชิ้นงานให้เป็นรูปทรงหรือตัวละครอื่นๆ ตามจินตนาการได้
• Dreamcatcher คอร์สเรียนการถักเครื่องดักความฝันแบบพื้นฐาน ตกแต่งชิ้นงานด้วยเครื่องรางและของตกแต่งที่ทำจากเซรามิค
• Personal Class คอร์สเรียนการปั้นที่สามารถเลือกเรียนปั้นตามต้องการ
รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก