เรื่องเล่าในวันที่ลูกไม่ได้เป็น ‘เด็กคนนั้น’ ของเราอีกต่อไปแล้ว การเรียนรู้ที่จะ ‘ปล่อยมือ’ เพื่อให้ทุกชีวิตในครอบครัวได้เติบโตในแบบของตัวเอง

เรื่องมีอยู่ว่า Mappa ชวนให้เขียนแบ่งปันประสบการณ์ต่อคำถามที่ว่า ‘พ่อแม่มีวิธีดูแลความเหงาอย่างไร เมื่อลูกไม่ได้เป็นเด็กคนนั้นอีกแล้ว’ ซึ่งในเพจมีพ่อแม่เข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก แต่ละคำตอบก็ให้มุมมองและแง่คิดต่างกันไป ชวนให้คิดต่อได้ไม่สิ้นสุด สำหรับตัวฉันเอง เมื่อเห็นโพสต์ดังกล่าว คำตอบที่ชัดเจนก็ผุดขึ้นในใจ เป็นคำตอบที่ฉันให้กับตัวเองตั้งแต่วันแรกๆ ของการเป็นแม่

To Love and Let Go คือคติที่ฉันยึดมั่นมาตลอดหลายปีในการเลี้ยงลูก เพราะยิ่งใช้เวลากับลูกมากเท่าไร ความรักและความผูกพันที่มีให้ลูกก็ยิ่งเพิ่มขึ้นทวีคูณ…มากจนฉันกลัวว่าตัวเองจะเผลอกักขังลูกไว้ในนามของความรัก จนต้องคอยเตือนตัวเองอยู่บ่อยๆ 

คาลิล ยิบราน กล่าวไว้อย่างงดงามในหนังสือ The Prophet ว่า Let there be spaces in your togetherness. 

“จงสร้างที่ว่างในความเป็นอยู่ร่วมกันของท่าน เพราะที่ว่างเหล่านี้เองที่เราทั้งคู่จะได้มีพื้นที่ในการเติบโตและเจริญงอกงาม”

ฉันคิดว่าคำกล่าวนี้ ใช้ได้ดีในทุกความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นคนรัก สามีภรรยา เพื่อนสนิท หรือพี่น้อง หรือกระทั่งแม่ลูก แม้ในช่วงแรกของชีวิต พื้นที่ว่างระหว่างแม่กับทารกอาจแยกออกจากกันได้ยาก แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ว่างนั้นจะขยายกว้างขึ้น จนอาจทำให้คนเป็นแม่ตั้งรับไม่ทัน

  
ที่ว่างและตัวตนที่หล่นหายของคนเป็นแม่

ช่วงขวบปีแรกๆ ของชีวิตลูก ฉันกับลูกแทบไม่มีที่ว่างระหว่างกัน เมื่อลูกตื่นฉันตื่น และจะได้นอนหลับก็ต่อเมื่อลูกหลับเท่านั้น การดูแลลูกเต็มเวลา ทำให้ ‘ที่ว่าง’ ในความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกหายไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด เพราะคนเป็นแม่ย่อมรู้ดีว่า ทารกต้องการเวลาจากแม่มากกว่าสิ่งอื่นใด และในช่วง 3 ปีแรกของชีวิตลูก คือเวลาทองของการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกที่จะคงอยู่ตลอดไป

สายสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกนั้นมีความจำเป็นต่อการพัฒนาตัวตนและความภาคภูมิใจในตัวเองของลูก สายสัมพันธ์ที่แข็งแรงคือภูมิคุ้มกันทางใจให้คนเรามีแรงฝ่าฟันความยากลำบากที่พบเจอในชีวิต จึงไม่น่าแปลกใจ หากคุณแม่ส่วนใหญ่ทุ่มเทกับช่วงเวลานี้ บางคนถึงขั้นลาออกจากงานเพื่อเป็นแม่ฟูลไทม์ ซึ่งฉันก็เป็นหนึ่งในนั้น 

โดยไม่รู้ตัว แม่หลายคน โดยเฉพาะแม่ฟูลไทม์สูญเสียความเป็นตัวเองไปทีละน้อยระหว่างการสร้างตัวตนให้ลูก ความฝันและเป้าหมายในชีวิต ค่อยๆ รางเลือนไปพร้อมกับเส้นแบ่งที่ว่างระหว่างแม่ลูกซึ่งเลือนรางเต็มที
คนทั่วไปอาจเรียกการกระทำนี้ของแม่ว่า ‘เสียสละ’ แต่สำหรับฉันอยากให้เรียกว่า ‘ทางเลือก’ มากกว่า เพราะเงื่อนไขในชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน การเป็นแม่ฟูลไทม์ ไม่ได้เสียสละมากไปกว่า ‘เวิร์คกิ้ง มัม’ แม้ทางเลือกจะแตกต่าง แต่ลึกๆ แล้วฉันเชื่อว่าคนเป็นแม่ย่อมมีเป้าหมายเดียวกันนั่นคือ ทำให้ดีที่สุดเพื่อลูก

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นแม่ฟูลไทม์ เวิร์คกิ้ง มัม หรือแม่เลี้ยงเดี่ยว การทำเพื่อลูก จึงเป็นเป้าหมายอันดับแรกๆ ในชีวิตคนเป็นแม่เสมอ

การเลี้ยงลูกเต็มเวลา กลายเป็นชีวิตทั้งหมดของฉัน จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี บางครั้งขณะที่จับลูกนั่งตักบนเก้าอี้โยก เพื่อกล่อมให้หนูน้อยนอนหลับ สมองก็แวบไปนึกถึงหมูกะทะมื้อดึกที่เคยออกไปกินกับเพื่อน หรือขณะที่คิดว่าน่าจะต้องซื้อเสื้อใหม่ให้ลูก เพราะลูกน้อยโตขึ้นทุกวัน บางทีก็เผลอนึกถึงความสนุกของการ Mix & Match เสื้อผ้าเมื่อครั้งยังทำงานออฟฟิศ

ในห้วงความคิดเหล่านั้น ไม่มีความเศร้าเจือปน แต่กลับเต็มไปด้วยคำถาม ถึงตัวตนที่เราหลงลืม เพราะที่ว่างระหว่างความเป็นเราและความเป็นลูก หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน จนตัวตนของแม่ถูกกลืนหายไป….

แม่บางคนอาจบาลานซ์ความเป็นตัวเองกับความเป็นแม่ได้ดี จนไม่รู้สึกว่ามีอะไรสูญหายแต่สำหรับแม่บางคนที่ทุ่มเทกับลูกจนลืมหาจุดสมดุลให้กับด้านอื่นๆ ในชีวิตของตัวเอง กว่าจะรู้ตัวอีกที ลูกก็เติบโต พร้อมจะก้าวออกจากอกแม่ เมื่อนั้นเองที่ว่างระหว่างแม่ลูกก็กลับกว้างขึ้น เป็นความว่างที่มาพร้อมกับความเคว้งคว้าง…ในใจแม่

แม่-ลูก เติบโตไปด้วยกัน

จากที่ตั้งใจจะเป็นแม่ฟูลไทม์ 3 ปี แต่ด้วยอะไรหลายอย่างทำให้บทบาทแม่ฟูลไทม์ของฉันยืดระยะเวลาเป็น 7 ปี ระหว่างนั้น ฉันเลือกทำโฮมสคูลให้กับลูกสาว เพราะดูเหมือนว่าเด็กน้อยยังไม่พร้อมที่จะก้าวเข้าสู่รั้วโรงเรียน ในทางกลับกันก็อาจเป็นฉันเองด้วยที่ไม่พร้อมปล่อยมือให้ลูกก้าวออกไป 

“การทำโฮมสคูล ทำให้ฉันค้นพบว่า หลายครั้งคนเป็นแม่เอง ‘โตไม่ทันลูก’ ฉันมักตั้งคำถามเพื่อเตือนตัวเองบ่อยๆ ว่า ลูกเติบโตขึ้นทุกวัน แล้วแม่อย่างเรา โตทันลูกหรือเปล่า?” 

คำว่าโตทันลูก สำหรับฉันไม่ได้หมายถึงอายุที่เพิ่มขึ้น แต่คือการที่แม่ตระหนักรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงและความสามารถที่เพิ่มขึ้นตามวัยของลูก ยิ่งลูกโตขึ้นเท่าไร ที่ว่างในความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกจากที่เคยเป็นหนึ่งเดียวกันก็จะค่อยๆ กว้างขึ้นจนน่าใจหายอีกด้วย 

มีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้ฉันคิดในใจว่า “อ๋อ นี่เราโตไม่ทันลูกอีกแล้วสินะ” เพราะฉันพยายามทำสิ่งเดิมๆ ซ้ำๆ ให้กับลูก โดยลืมสังเกตไปว่าลูกน้อยของเราอาจไม่ใช่เด็กคนนั้นที่รอคอยความช่วยเหลือจากแม่ตลอดเวลาอีกแล้ว  เช่น วันหนึ่งขณะที่ฉันกำลังจะก้มลงช่วยลูกใส่รองเท้าผ้าใบเหมือนที่เคยทำมาทุกครั้ง ลูกดึงเท้ากลับและบอกว่าใส่เองได้ ฉันปล่อยให้เขาทำ แล้วลูกก็ใส่รองเท้าได้เองจริงๆ หรือเมื่อพาลูกไปเพลย์กรุ๊ป (Playgroup) แล้วพบว่าเด็กน้อยอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างสนุกสนานและ ไม่ร้องไห้หาแม่อีกต่อไป 

วันหนึ่งฉันจึงถามลูกว่า อยากทำโฮมสคูลต่อไปหรืออยากเข้าเรียนในระบบ เด็กน้อยตอบอย่างไม่ลังเลว่าอยากไปโรงเรียน อยากมีเพื่อนเยอะๆ แม้ว่าการทำโฮมสคูล ลูกก็มีเพื่อนๆ จากกลุ่มโฮมสคูลด้วยกันอยู่แล้ว แต่ดูเหมือนว่าลูกของฉัน ต้องการมากกว่านั้น หนูน้อยอยากเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ต้องมีแม่อยู่ข้างๆ ตลอดเวลา อยากทำกิจกรรมหลังเลิกเรียน อยากเจอเพื่อนๆ สัปดาห์ละ 5 วัน เมื่อเห็นว่าลูกเติบโตและพร้อมขนาดนั้น ทางเลือกของคนเป็นแม่อย่างเราคงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก พร้อมและเติบโตไปพร้อมกับลูก

“ฉันเชื่อว่าในสถานการณ์คล้ายๆ กันนี้ คนเป็นแม่ย่อมรู้สึกหวานอมขมกลืนระหว่างความภาคภูมิใจและความเหงา เมื่อลูกเติบโตและเป็นอิสระมากขึ้น

ฉันอาจโชคดีตรงที่เราได้โรงเรียนที่ดีและใกล้บ้าน และเมื่อลูกเข้าสู่ระบบโรงเรียน ฉันก็มีโอกาสกลับไปทำงานประจำพอดี ทั้งแม่และลูกได้เรียนรู้สิ่งใหม่ไปพร้อมๆ กัน ความเคว้งคว้างในใจจึงอยู่กับฉันไม่นานนัก
เมื่อฉันยอมเติบโตพร้อมกับลูก พื้นที่ว่างระหว่างเรากลับไม่ได้เดียวดายอย่างที่เคยกังวล แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะสายสัมพันธ์ที่สร้างมาตั้งแต่ต้น และเมื่อเราไม่ยื้อ ไม่ฝืนธรรมชาติของลูกที่ต้องเติบโตและก้าวออกไป การเปลี่ยนผ่านจึงราบรื่น พื้นที่ว่างที่ขยายกว้างขึ้น กลายเป็นพื้นที่แห่งการแบ่งปันเรื่องราวที่เราพบเจอ นำไปสู่ความเข้าใจและความใกล้ชิดรูปแบบใหม่ ที่ลูกไม่ได้เป็นเด็กน้อยที่คอยพึ่งพิงพ่อแม่เสมอไป แต่ยังนำมุมมองใหม่ๆ ในชีวิตที่เขาพบเจอมาเล่าสู่กันฟังด้วย 

เพียงแค่ปล่อยวาง เพราะที่ว่างไม่เคยว่างเปล่า

ในขณะที่ฉันกลับเข้าสู่โลกของการทำงาน ลูกของฉันก็สนุกกับการเรียนรู้และมีเพื่อนใหม่ การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เราเติบโตในมิติต่างๆ ของชีวิต การเป็นแม่ฟูลไทม์ อาจทำให้ฉันหลงลืมว่าตัวเองยังมีศักยภาพในด้านอื่นๆ เมื่อได้ค้นพบศักยภาพเหล่านั้นอีกครั้ง ความภูมิใจในตัวเองก็กลับมา เช่นเดียวกับลูกสาวที่ตื่นเต้นกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ในโรงเรียน 

แม้ที่ว่างในความสัมพันธ์จะขยายกว้างขึ้น แต่ก็เต็มไปด้วยความทรงจำและประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เราเล่าสู่กันฟัง ที่ว่างนี้ไม่เคยว่างเปล่า เพราะมันถูกเติมเต็มด้วยความรัก ความคิดถึง และการเติบโตอย่างไม่สิ้นสุดของเราทั้งคู่

“การที่ต่างคน ต่างได้ใช้ชีวิตของตัวเอง ทำให้ฉันค้นพบความงดงามของที่ว่างในความสัมพันธ์ การได้ฟังลูกเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เขาออกไปเผชิญ โดยไม่มีเราอยู่ในนั้น อาจทำให้รู้สึกเหงาแบบแปลกๆ แต่ขณะเดียวกัน ก็อุ่นใจว่าลูกของเราเก่งพอที่จะใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ด้วยตัวเองแล้ว”

สำหรับฉันการปล่อยวางให้ลูกเติบโตและมีชีวิตของตัวเอง ทำให้ความสัมพันธ์ของเราลึกซึ้งขึ้น แต่สำหรับพ่อแม่ท่านอื่น การค้นหาวิธีจัดการที่เหมาะสมกับตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ ฉันเชื่อว่าไม่มีวิธีที่ตายตัว แต่เราสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ของกันและกันได้

หากฉันไม่ยอมเติบโตไปพร้อมกับลูก พื้นที่ว่างระหว่างเรา คงเต็มไปด้วยความห่างเหิน ความน้อยเนื้อต่ำใจที่ลูกเปลี่ยนไป ทั้งที่จริงแล้ว การเติบโตตามพัฒนาการ และความเปลี่ยนแปลงของลูกเป็นเรื่องปกติ ที่พ่อแม่คาดเดาและเตรียมรับมือได้ตั้งแต่ต้น
นี่จึงย้อนกลับมาสู่คติที่ฉันเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า To Love and Let Go เพราะเมื่อลูกคือแก้วตาดวงใจที่เรารักมาก ก็ยิ่งมีโอกาสที่เราจะยึดถือว่าลูกเป็นของเรา จนไม่ปล่อยให้เขามีที่ว่างในการเติบโตอย่างที่ควรจะเป็น 

สุดท้ายแล้ว เมื่อปล่อยวาง ฉันจึงเข้าใจว่า ‘ที่ว่าง’ ระหว่างแม่ลูกนั้นไม่เคยว่างเปล่า แต่เต็มไปด้วยการเติบโต ความเข้าใจ และความรักที่เราแบ่งปันในทุกช่วงของชีวิต เมื่อคิดได้เช่นนี้ ฉันจึงไม่ต้องรับมือกับความเหงาที่ลูกไม่ใช่เด็กคนนั้นอีกต่อไป เพราะสุดท้ายการได้ฟังเรื่องเล่าของกันและกันก็มีความสุขแล้ว 


Writer

Avatar photo

สุภาวดี ไชยชลอ

ชอบเดินทาง ชอบดูซีรีส์เกาหลี สนใจทฤษฏีจิตวิเคราะห์ และชอบตอบคำถามลูกสาวช่างสงสัยวัยประถม

Related Posts