อรรถพล อนันตวรสกุล

เราต้องอดทนอดกลั้นกันไปอีกนานแค่ไหนในสังคมที่ไม่มีใครอดทน

เราต้องอดทนกันไปอีกนานแค่ไหน?

ไม่ว่าจะคิดอย่างไร แต่ในนาทีนี้ ดูจะไม่ค่อยมีใครอยากประนีประนอมแล้ว mappa ชวนสูดหายใจลึกๆ มาเปิดบทสนทนาที่คิดว่าน่าจะฟังก์ชั่นที่สุด

ในตอนนี้ “เราต้องอดทนอดกลั้นกันไปถึงเมื่อไหร่”

“ความอดทนอดกลั้นมันเป็นดาบสองคมหรือไม่”

“เพดานของความอดทนอดกลั้นอยู่ตรงไหน”

“แล้วเรื่องอะไรที่เราไม่ควรจะอดทน”

คุยเรื่อง tolerance: ความอดทนอดกลั้น กับ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล หรือ ‘อ.ฮูก’ จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่อยากให้เข้าใจร่วมกันว่า การอดทนอดกลั้นไม่ใช่การยอมทน แต่เป็นการพยายามเข้าใจ

“แต่ถ้าเห็นความรุนแรงเกิดขึ้นต่อหน้า เราจะไม่อดทนอดกลั้นนะ เพราะมันล้ำเส้นกติกาประชาธิปไตย”

ในบริบทปัจจุบัน Tolerance น่าจะแปลว่าอะไร

ภาษาไทยที่ใกล้เคียงคือการมีความอดทนอดกลั้นในการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความคิดเห็นที่แตกต่างไม่ลงรอยกัน เป็นความอดทนอดกลั้นที่ไม่ใช่การยอมทนแต่เป็นความอดทนอดกลั้นที่มีความพยายามในการทำความเข้าใจ 

มันจะมีภาวะอดทนอดกลั้นแบบทนไป สมมุติเราขึ้นเครื่องบิน เจอนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ส่งเสียงดังตลอดเวลา เรายอมทน อันนั้นเป็นความอดทนอดกลั้นที่มากับความอึดอัด ความคับข้องใจ แต่ tolerance ถูกใช้ในเชิงบวก เป็นความอดทนอดกลั้นที่พยายามทำความเข้าใจ พยายามจะเรียนรู้คู่ขัดแย้งของตัวเอง กระทั่งความแตกต่างหลากหลาย แล้วการทำความเข้าใจมันทำให้เกิดความเต็มใจที่จะอดทน

หัวใจหนึ่งของ tolerance คือมี willingness หรือความเต็มใจ เราต้องอยู่กับความคิดเห็นทางการเมืองที่ไม่เหมือนกัน เราพยายามฟังให้เท่าทันอคติตัวเองแล้วก็พยายามฟังให้ได้ยินเสียงคู่สนทนาว่ากำลังพูดด้วยความคิด ความรู้สึกยังไง พยายามทำความเข้าใจเขา ซึ่งอันนี้คือคีย์เวิร์ดสำคัญของ tolerance มันไม่ใช่แค่การ co-exist ที่หมายถึงการอยู่ร่วมกัน แต่มันคือการ live together เราต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน

ถ้าเทียบกับ Empathy ล่ะคะอาจารย์ มันต้องเป็นขั้นกว่าหรือเปล่า

tolerance ต้องมี empathy เป็นฐาน คือมีความพยายามทำความเข้าอกเข้าใจ แต่ไม่ได้ต้อง empathy ไปซะทุกเรื่อง เช่น ในเชิงการเมือง เราฟังคนพูดแล้วตรรกะมันเฟล แล้วเราพยายามทำความเข้าใจตรรกะเขา แต่ไม่ได้แปลว่าเราต้องยอมรับตรรกะนั้น เราสามารถ dialogue กลับได้ 

มันมีภาวะของการยอมรับในสิ่งที่เขาเป็นอยู่ แต่ไม่ได้แปลว่าฉันต้องยอมรับไอเดียคุณ เพราะไอเดียคุณกับฉันสามารถที่จะไม่เหมือนกัน 

ถัดจากการมี empathy การใช้ tolerance อย่างฉลาดต้องมี critical thinking ไปกำกับ เพราะ empathy ที่ถูกใช้ตอนนี้มีความหมายในมุมมองการเคารพสิทธิ แต่ tolerance ถูกเอามาใช้ในเชิงการสื่อสารเพื่อความเข้าใจ มันมีทักษะของการที่เราอยากให้เขาได้ยินว่าเราพูดเรื่องอะไรอยู่ แต่ขณะเดียวกันเราก็เท่าทันเสียงเขาด้วย เราไม่ได้ถูกบดบังด้วยอคติจนผลักข้อความออกไปจากตัวเขาเพราะนั่นคือสิ่งที่เป็นตัวเขา

อาจารย์พอยกตัวอย่างของ Tolerance ได้ไหม

เราดู dialogue ที่เกิดขึ้นในรายการคุณจอมขวัญก็ได้ มันคือการสื่อสารของคนที่มีความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน แต่จุดอ่อนสำคัญที่เราเห็นคือบางคู่สนทนาที่มีความสุดขั้วและไม่ฟัง แต่เราเห็นความพยายามของอีกฝั่งหนึ่งที่พยายามทำความเข้าใจว่า เอ๊ะ ที่เขาพูดอยู่นี่เขากำลังพูดเรื่องอะไร เขาให้เหตุผลเรื่องอะไรอยู่ 

เคสของไผ่ชัดเจน เขามีความพยายามในการฟังว่าตกลงคู่สนทนากำลังอธิบายเรื่องอะไรอยู่ เขาฟัง รับรู้ รู้ว่าอีกคนกำลังโกรธ แล้วยังไงต่อ จะให้จังหวะตัวเองพูดเมื่อไหร่ ผมว่าวันนั้นเราเห็น tolerance เป็นเชิงประจักษ์ เราเห็นความพยายามของเขาในการฟัง ทำความเข้าใจ พยายามจะเปิดสัมผัสตัวเองในการฟังว่าทำไมคู่สนทนากราดเกรี้ยว เราเท่าทันอารมณ์ของเขา เรารู้ว่าเขากำลังโกรธ เราจะไม่ไปชกกับความโกรธเขา เราจะกลับมาที่ประเด็นของเรานะ ตอบคำถามของคุณจอมขวัญแบบนี้นะ ไม่ว่าเจ้าตัวจะรู้หรือไม่รู้ แต่ผมดูผมนึกถึงคำนี้เลย

เราเห็นความพยายามที่จะเข้าใจโดยที่ไม่ต้องพูดคำว่า “เข้าใจพี่” แต่เราเห็นความพยายามที่จะอยู่ตรงนั้นด้วยกัน เพราะเราออกอากาศอยู่ ไม่ผลักเขาไปเป็นคนอื่น ถึงเราเป็นคู่ขัดแย้งกันทางความคิด แต่ไม่ต้องชกมาชกกลับ ในสังคมเราต้องการคุณลักษณะนั้นในตัวคน

นอกจาก Empathy แล้ว Tolerance ควรประกอบไปด้วยทักษะอะไรอีกบ้าง

การฟังแบบ empathetic listening ฟังอย่างเข้าอกเข้าใจ 

ฟังให้เท่าทันก่อนว่าเราเผลอตัดสินเขาไปแล้วหรือยัง? ว่าเราได้ยินไหมว่าสิ่งที่เขาต้องการพูดจริงๆ คือ

เรื่องอะไร ภายใต้ความโกรธ เขามีความกลัวอยู่ไหม เราไม่รีบผลักเขาออก เรายังพยายามไม่ลดละในการพยายามทำความเข้าใจเขา เพราะในสังคมหลากหลายวัฒนธรรม มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่เราจะเข้าใจทุกคน 

แต่ในความสัมพันธ์ของคนที่อยู่ร่วมกันในสังคมมนุษย์ อย่างน้อยที่สุด การอดทนอดกลั้นท่ามกลางการอยู่ร่วมกันของความหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเมือง มันจำเป็น เพราะทำให้เรายังมีความเป็น ‘สมาชิก’ ในสังคมเดียวกันอยู่ 

เพราะความสำคัญของ tolerance อยู่ที่การอยู่ร่วมกัน หัวใจอยู่ที่การเคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แล้วไปสร้างสังคมที่มีภราดรภาพ (solidarity) ซึ่งเป็นชุดคุณค่าที่ต้องยึดถือร่วมกัน 

มีเพดานไหมว่าเราควร Tolerance แค่ไหน

มีนะ เพราะว่าตราบใดคุณเป็นมนุษย์ เราไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ท่ามกลางความขัดแย้งทางความคิด อาการน็อตหลุด เพดานถล่ม มันเป็นเรื่องปกติ ผมก็ยังเป็น เวลาคุยเรื่องการเมืองกับบางคน ยิ่งเป็นคนใกล้เท่าไหร่ ผูกพันเท่าไหร่ ความรู้สึกมันเร็ว มันไม่ได้ถอยออกมามองกันและกัน 

ในสังคมที่ความขัดแย้งทางการเมืองกำลังยกระดับความรุนแรง เราจะแสดงออกว่าเห็นต่างกับคนแปลกหน้าทำได้ง่าย แต่กับคนใกล้ตัว อันนี้เป็นประเด็นเปราะบางและยาก  

tolerance กับคนที่ยังไม่รู้จักมักคุ้นกันเป็นสิ่งที่คนส่วนหนึ่งรู้สึกว่าเป็นมาตรฐานทางสังคมด้วยซ้ำ แต่บางทีมันเป็นการยอมทน จำยอม ไม่ใช่ tolerance เช่น การอยู่กับกติกาที่ไม่เป็นธรรม อยู่กับคำสั่งที่ไม่เป็นเหตุผล อันนั้นเป็นความกลัว และความจำยอม ไม่ใช่ tolerance 

แต่เวลาที่เราพูดกับคนใกล้ตัวเรา อันนี้ยากเพราะจะมีมิติของความคาดหวัง มีความสัมพันธ์ มีการรับรู้ถึงตัวตนของอีกฝ่าย มีความคาดหวังให้อีกฝ่ายเคารพตัวตนของเรา ตอนนี้เรื่องที่ยากที่สุดจึงเป็นเรื่องความขัดแย้งในครอบครัว ในกลุ่มเพื่อน นี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่สุดแล้วเวลาเราพูดถึงการเป็นพลเมือง บางทีเราออกไปสู้นอกบ้านแต่กลับบ้านแล้วเราคุยกับใครไม่ได้ อันนี้จะกลายเป็นประเด็นย้อนแย้งในตัวเอง เพราะว่าเวลาเราพูดถึงประชาธิปไตย เรามักให้คุณค่ากับคนอื่น แต่กลับลืมคนใกล้ตัวเรา และบางครั้งเราเผลอลดทอนคุณค่า หรือ  devalue เขา

แสดงว่า Tolerance ควรมีทั้งระดับส่วนตัวและสาธารณะ?

แต่ทางการเมือง บางเรื่องต้องไม่ tolerance นะ เช่น เมื่อเราเห็นความรุนแรงเกิดขึ้นต่อหน้า ไม่ต้อง tolerance ต้องใช้อำนาจในตัวเราในการช่วยจัดการกับสถานการณ์ตรงหน้า เราเห็นความรุนแรงที่ไม่เหมาะสม เช่น ครูลงโทษเด็กด้วยความรุนแรง เราจะไม่อดทนอดกลั้นนะ เพราะอันนี้มันล้ำเส้นกติกาประชาธิปไตย 

สำหรับผม tolerance มีเพดานอยู่เสมอ เราเห็นการออกกฎหมายที่ไม่เท่าเทียม ไม่เป็นธรรม เราต้องออกมาส่งเสียง ไม่ได้แปลว่าคุณต้องอยู่ในความเงียบ เข้าใจผิดแล้ว อันนั้นคือการยอมทน 

tolerance ไม่ใช่การยอมทน แต่เป็นความพยายามอดทนอดกลั้นที่พยายามเข้าใจ แต่ถ้ามันเกิดสิ่งไม่พึงประสงค์ขึ้นในสังคมนี้ เราจำเป็นต้องแสดงถึงอำนาจในตัวเราในการมีส่วนร่วมเพื่อรับมือสถานการณ์นั้น 

ในห้องเรียนต่างประเทศ มีการสอน Tolerance บ้างไหม

ไม่มี จัดเป็นวิชาแยกต่างหาก แต่ถูกจัดบูรณาการในทุกวิชาในฐานะคุณลักษณะและค่านิยมที่ต้องพัฒนา ในบางประเทศใช้วิธีการสร้างเป็นวัฒนธรรมการฟัง (listening relationship) ในชั้นเรียน อย่างในเครือข่ายการทำงานของผมร่วมกับอาจารย์ชาวญี่ปุ่น ที่ทำเรื่องโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ (School as Learning Community: SLC) อาจารย์ของผมใช้คำพูดว่า เราต้องคืนพื้นที่การฟังกลับมาในห้องเรียน แม้แต่เด็กที่พูดเสียงเบาที่สุด เสียงของเขาต้องได้รับการได้ยิน 

เพราะฉะนั้น บางทีเราต้องอดทนนะ เพื่อนเราเสียงเบา พูดด้วยความไม่มั่นใจ ฟังเสร็จคุณครูควรช่วยให้มีเสียง เพื่อนส่งเสริมเพื่อนให้สามารถส่งเสียง ได้ยินว่าเพื่อนพูดว่าอะไรบ้าง เพื่อเป็นการ empower ให้คนขี้อาย ไม่กล้าพูด ไม่มีความมั่นใจ ได้ตระหนักว่าเสียงตัวเองถูกได้ยินแล้ว อันนี้มันกำลังเกิดขึ้นในโรงเรียนจำนวนหนึ่งที่ทำงานเรื่องนี้อยู่ และมันกำลังพูดถึงวัฒนธรรมในห้องเรียนที่พยายามเห็นคุณค่าทุกคน เขาอาจจะไม่ได้ใช้คำว่า tolerance โดยตรงนะ แต่ใช้คำว่า respect นำมาสู่ห้องเรียนที่เคารพกัน 

ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อตัวเรา แต่เป็นไปเพื่อสร้างวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกัน ห้องเรียนญี่ปุ่นไม่ได้มีเสียงดังตลอดเวลา บางห้องกิจกรรมดำเนินไปอย่างมีสมาธิ เงียบ แต่ในความเงียบมีการฟังกันระหว่างเด็กกับเด็ก ครูกับเด็ก 

การฟังเป็นทักษะสำคัญที่ครูต้องฝึก คุณครูต้องสร้างบรรยากาศห้องเรียนซึ่งไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเพื่อนก็จะเรียนรู้ที่จะรอเพื่อน นี่เป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้เกิดในห้องเรียน มันมี caring environment เกิดขึ้น สิ่งแวดล้อมที่ห่วงใยใส่ใจกัน ซึ่ง tolerance จะเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมแบบนี้ขึ้น 

คนที่อดทน ใจเย็นในการรอคอยคำตอบ เวลาเราตั้งคำถามกับเด็กจะมีคำตอบที่เราอยากได้ยินกับคำตอบที่ออกทะเลไปเลย เด็กอาจจะกำลังพยายาม พยายามอธิบายใหญ่เลย แต่ก็ยังไม่เข้าเป้าซักที การมี tolerance ในความหมายนี้อาจหมายถึงการฟังก่อน แล้วช่วยตั้งคำถาม เป็น scaffolding เป็นนั่งร้านให้เด็กได้แสดงความคิด จนเขาค่อย ๆ ได้คำตอบด้วยตัวเอง โดยที่เราไม่รีบอธิบายหรือเสนอคำตอบเขา ผมว่านี่เป็นอีกความหมายหนึ่งของ tolerance ในห้องเรียน หมายถึงเราเคารพเขา เราเชื่อว่าเขาจะหาคำตอบด้วยตัวเองได้ การที่เรารีบเฉลย บางทีคำตอบของเรา จะไม่ติดอยู่กับตัวเขา แต่ถ้าเขาได้คิดตาม ใช้คำถาม เขาจะได้เจอคำตอบด้วยตัวเอง 

แต่ที่ผ่านมาห้องเรียนไปทำลายความสามารถนี้หรือเปล่า

ความเข้าใจผิดเรื่องการศึกษาทำให้เรื่องพวกนี้ไม่ถูกให้ความสำคัญ เช่น เราเข้าใจผิดเรื่อง active learning  ว่าเด็กๆ ต้องทำกิจกรรมกลุ่ม ต้องทำงานด้วยกัน ร่วมมือแบ่งงานกันทำ กลายเป็นคนนี้พูดเก่งก็พูดทุกครั้งเลย คนนี้ตัดกระดาษก็ตัดตลอดเวลา นั่นแสดงว่าเราไม่ใจเย็น ไม่อดทนพอที่จะให้คนที่เขาไม่ชำนาญเรื่องหนึ่งได้ทดลองทำให้เขาเก่งขึ้น เราใจร้อน เราอยากได้ผลผลิตจากงานที่มีคุณภาพ ทำให้ประเด็นเรื่องการอดทนรอคอยในการอยู่ร่วมกันถูกให้น้ำหนักน้อยเกินไป 

การศึกษาช่วงสิบกว่าปีมานี้ ถึงจะเปลี่ยนจากการบรรยายล้วนๆ มาเป็นกิจกรรม ลุกขึ้นมาทำอะไรเยอะแยะ แต่เรื่องเดิมยังถูกทอดทิ้งอยู่ คือการเคารพความเป็นตัวเขา อดทนรอคอยที่จะให้เขาสามารถตามบทเรียนทัน ซึ่งตอนนี้ก็เป็นโจทย์ใหญ่ 

แบบเรียนแบบไหนที่ทำให้ Tolerance ไม่เกิดกับคนรุ่นเราๆ 

สมัยผมเป็นเด็ก การที่ครูสอน คือการบอกผมโดยตรงเลย เป็นแบบ lecture based ก็จะไม่เกิดเรื่องพวกนี้ เด็กถูกฝึกให้ยอมทนเงียบ อยู่นิ่งๆ กับการต้องฟังครู แต่เด็กไม่เกิดความเต็มอกเต็มใจในการฟังครู

ระบบการศึกษาแบบหลักทุกวันนี้ ที่รีบทั้งครู ทั้งพ่อแม่ เขารีบ เด็กหลายคนถูกตัดสินว่าเป็นเด็กสมาธิสั้นนะเพราะทำงานไม่ได้ หรือการเร่งสอบเข้าตั้งแต่ ป.1 เรากำลังอยู่ในสังคมที่รีบและไม่อดทนกันใช่ไหม

จนทิ้งใครบางคนไว้ข้างหลัง (ตอบทันที) คำถามคือจะรีบไปไหน

อะไรทำให้เขารีบ

น่าจะเป็นความกลัวไหม เช่น กลัวลูกเราจะอ่านไม่ออก เดี๋ยวลูกเราจะช้ากว่าคนอื่น รีบสอบเพราะกลัวว่าเดี๋ยวเด็กจะไม่มีความรู้มากพอไปตอบ มีความไม่แน่ใจ มีความกลัว มีความหวังดี แล้วก็ใส่ทุกอย่างลงไปในหลักสูตร ในแบบเรียน ในการสอน เร่งรัดเอาทุกอย่างจากเด็ก

มันมีความกลัวซ่อนอยู่ ความกลัวทำให้เลือกทำทุกทางโดยไม่ตั้งคำถาม แล้วก็ไม่อดทนรอคอย อะไรที่จะเป็นทางลัดหรือว่าเป็นสิทธิพิเศษบางอย่างจึงพยายามคว้าเอาไว้ ทำให้ห้องเรียนต้องรีบสอน รีบพาเด็กไปโดยไม่แคร์ว่าจะมีใครตกหล่นระหว่างทาง 

เราเห็นคอร์สต่างๆ เช่น Deep Listening, Empathy แต่เราไม่ค่อยเห็นคอร์สฝึก Tolerance เพราะอะไร

ความอดทนอดกลั้นไม่ใช่แค่ทักษะ มันเป็นคุณสมบัติ เป็น disposition ไม่ใช่แค่ทักษะที่มาแยกฝึก มันต้องอาศัยการผสมผสานทักษะหลายอย่าง ร่วมกับชุดคุณค่า และความเชื่ออีกหลายเรื่อง

เพราะฉะนั้นมันไม่ได้เกิดขึ้นด้วยการมาเข้าคอร์สสองชั่วโมงแล้วจบ แต่โอเคที่คุณยกตัวอย่างเรื่อง ทักษะต่างๆ ในเชิงเทคนิค อาจฝึกได้ แต่พอบอกการเป็น tolerance มันต้องใช้เวลา ใช้ประสบการณ์จากการใคร่ครวญลงมือทำจริงๆ รวมถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากคนที่ทำงานบนฐานคิดบางอย่างทั้งเหมือนและต่างกัน

สถานการณ์การเมืองตอนนี้ ควรต้องใช้ Tolerance หรือควรต้องใช้อะไรอีกบ้าง 

Being tolerant เป็นหัวใจสำคัญในการอยู่ในสังคมประชาธิปไตยอยู่แล้ว เพราะเป็นสังคมที่คนจะต้องคิดต่างกัน เป็นไปไม่ได้ที่คนจะคิดเหมือนกัน ทำอะไรหลายๆ อย่างในแบบเดียวกัน อันนี้คือคุณลักษณะอย่างหนึ่งที่จะต้องสร้างในตัวพลเมือง การสร้างอันนี้ได้คุณจะต้องฝึกทักษะอย่างอื่น เช่น มีการสื่อสารด้วยการจูงใจ มีการสื่อสารที่จะ dialogue กันได้ มีการสื่อสารโดยใช้เหตุผลในการถกเถียงพูดคุยกัน ฝึกเรื่องดีเบท ดีเบทก็ฝึก tolerance ได้ ฝึกเรื่อง critical thinking ด้วย คุณสมบัติเหล่านี้เมื่อรวมกันจะเป็นสมรรถนะสำคัญของการเป็นพลเมือง

ดู Tolerance เป็นเรื่องยากมากๆ ต้องผ่านหลายๆ อย่าง?

เรียกว่าเป็นธงในการพัฒนาความเป็นพลเมืองดีกว่า และเป็นสิ่งที่จะต้องเตือนใจเสมอว่าเวลาเราเป็นพลเมือง เราละเลยเรื่องพวกนี้ไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาเราเตรียม active citizen ในความหมายของการออกมาพร้อมลุย พร้อมลงมือทำ พร้อมลงมือมาแก้ปัญหาในชุมชน พร้อมออกไปประท้วง พร้อมออกไปรณรงค์แคมเปญต่างๆ โดยที่บางทีมันไม่มีความอดทนอดกลั้นใจเย็นในการรอคอย และสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความเข้าใจ เช่น ตอนนี้ที่เราประท้วงกันแล้วเราคาดหวังให้คนนั้นเป็นอย่างนี้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงบางเรื่องต้องใช้เวลา หรืออาจจะเป็นเรื่องซึ่งใช้วิธีการเอาชนะคะคานไม่ได้ 

สมมุติเด็กๆ คนรุ่นใหม่ถามว่าแล้วเขาต้องอดทนอดกลั้นไปอีกนานแค่ไหน อาจารย์จะตอบว่าอย่างไร

ในความหมายอดทนอดกลั้นไม่ใช่ความหมายยอมทนนะ การเปลี่ยนแปลงบางเรื่อง โดยเฉพาะ การแตะปัญหาเชิงโครงสร้างไม่ได้เปลี่ยนได้ภายในวันเดียว แต่จะต้องผ่านกระบวนการเยอะมาก ยกตัวอย่างเช่นเด็กๆ ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องทรงผม นี่พูดกันมานานตั้งแต่สมัยผมเป็นนักเรียน แต่ถามว่าทุกวันนี้เปลี่ยนแล้วหรือยัง? ก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น 

ปีนี้ political movement ของเด็กมีประเด็นเรื่องการไม่เคารพสิทธิของเด็กด้วย จึงทำให้การส่งเสียงล่าสุดมีพลังในการต่อรอง แต่การเปลี่ยนเรื่องพวกนี้มันไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน เพราะการปรับเปลี่ยน mindset ของคน ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยการใช้คำสั่งในคืนเดียว 

ทีนี้ เด็กๆ ที่เรียกร้องก็อาจจะใจร้อน เห็นว่าต้องเปลี่ยนให้ได้ ไม่อย่างนั้นรัฐมนตรีก็ลาออกไป ผมว่าอันนี้ก็เป็นการคาดหวังที่เป็นไปได้ยากมาก เพราะต่อให้คุณเปลี่ยนรัฐมนตรีออกไปกี่คน เรื่องพวกนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นในคืนเดียว มันเกี่ยวกับผู้ใหญ่ เช่น ครู ผู้บริหาร อีกเป็นแสนคน ต้องต่อสู้ทางความคิด ที่ทำได้คือเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนนโยบายให้ชัดเจนว่าอะไรควรต้องทำ และจะต้องไม่ทำ (เช่น การลงโทษ) จะสร้างให้เป็นวัฒนธรรมใหม่มันต้องอดทนรอคอย ช่วยกันสร้างการเปลี่ยนแปลง

การเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามที่เป็น social transformation มันเรียกร้องการอดทนรอคอย พยายามทำความเข้าใจ แก้ปัญหาให้ตรงจุดว่ามีกลไกอะไรบ้างในระบบ/โครงสร้างที่ต้องเปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงจึงจะยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมาเราคาดหวังการเปลี่ยนแปลงเร็วถูกไหมครับ? เราจึงเลือกวิธีการแบบใจร้อน เช่น สนับสนุนการใช้อำนาจสั่งการ เรียกร้องการรัฐประหาร

เพราะเราอยู่ในสังคมที่รีบมาก่อน? 

ใช่ พอปัญหามันเยอะ เราก็ใจร้อน อยากจะรีบเปลี่ยน แต่พอเปลี่ยนแล้วมันกลายเป็นการหนีปัญหาหนึ่งไปเจออีกปัญหาหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงเลยแกว่งไปแกว่งมา เหมือนการฉีดยาไปแค่หนึ่งขนาน แต่โรคที่เป็นอยู่มันซับซ้อนกว่านั้น ซึ่งบางทีมันต้องการให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาในการรับมือ แต่เราไม่ เราชอบใช้ยาแรงในการแก้ปัญหา

ผลข้างเคียงของยาแรงคืออะไรบ้าง

ผลข้างเคียงของยาแรงคือแผลที่เกิดขึ้นกับคนป่วย ถ้าเป็นพ่อแม่ลูก ยาแรง เช่น การลงโทษด้วยการใช้ถ้อยคำที่เจ็บปวด รุนแรง เจ็บช้ำน้ำใจ ใช้การตี คิดว่าทำแบบนี้จะทำให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรม เราไม่ใจเย็นพอที่จะอดทน พ่อแม่ยุคใหม่อาจจะสนใจเรียนเรื่องวินัยเชิงบวก (positive discipline) ใช่ไหม แต่บางทีลูกอาละวาดนะ พ่อแม่ก็อดทนไม่ได้อีก ยิ่งลูกร้องดัง พ่อแม่ก็ยิ่งหวดหนัก สุดท้ายไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวลูก ต่างคนต่างเอาอารมณ์มาใช้กัน แต่พ่อแม่ที่มีความเข้าใจเรื่องวัยของเขา เช่น เด็กขวบครึ่งจะเป็นวัยที่ท้าทายอำนาจกับผู้ใหญ่ เราต้องทำความเข้าใจเขา ใจเย็นในการดีลกับเขา เรื่องพ่อแม่ เราใช้ tolerance ในความหมายนี้ก็ได้ 

ถ้าเราพูดถึงสถานการณ์การเมืองในตอนนี้มันก็คือโจทย์ใหญ่โจทย์หนึ่งใช่ไหมที่จะสอนเราเรื่อง Tolerance ได้เลย 

มันเป็นโจทย์ของสังคมไทยที่หนักที่สุด ตอนนี้แค่เห็นอีกฝ่ายเป็นมนุษย์ก่อนก็ยังเป็นเรื่องที่หลายคนทำได้ยากอยู่เลย

นี่คือโอกาสในการฝึก เท่าทันตัวเองก่อน เรากำลังรีบร้อนตัดสินคนอื่นใช่ไหม? เรากำลังใช้คำคำหนึ่งไปแปะป้ายเขา เพื่อที่จะได้ผลักเขาออก โต้ตอบด้วยความรุนแรงทางวาจา มองเขาว่านี่คือปีศาจตนหนึ่งที่เราจะไม่ยุ่งด้วย

Tolerance เป็นดาบสองคมไหม

ถ้าเข้าใจว่าอดทนอดกลั้นคือการต้องยอมทน นั่นเป็นดาบสองคม แต่โดยความหมายลึกๆ ของมันไม่ใช่การยอมจำนน เพราะมันกำกับด้วยคำสำคัญ คือ ความเต็มใจ และการพยายามทำความเข้าใจ แล้วก็มีเพดาน ถ้าเมื่อไหร่ล้ำเส้นกติกาบางอย่าง ชุดคุณค่าบางอย่าง ไม่จำเป็นต้องอดทน 

ผมเคยตัดสินใจบล็อกคนแปลกหน้าที่มาด่าผมเสียๆ หายๆ บางคนเป็นลูกศิษย์ที่เห็นต่างกันทางการเมือง พอความขัดแย้งทางการเมืองหนักขึ้น เขาเริ่มเลยเถิดแชร์ข้อความ หรือแคปหน้าจอไปแล้วโพสต์ต่อด้วยถ้อยคำรุนแรง เอาไปพูดต่อสนุกปากลับหลังกับคนอื่น ผมก็เริ่มรู้สึกว่าถูกล้ำเส้น ถามตัวเองว่าทำไมเราต้องยอมให้คนอื่นใช้ข้อความมาทำร้ายจิตใจเราซ้ำๆ เรายังสามารถเป็นครูเป็นศิษย์กันได้อยู่ และเราไม่จำเป็นต้องเห็นกันในโลกออนไลน์ก็ได้ การคิดต่างเรื่องการเมืองเป็นปกติ แต่การโพสต์ด้วยข้อความรุนแรงเลยเถิดไปถึงหยาบคายไม่ใช่สิ่งที่ดีแน่ๆ เราเคารพเขา รู้ว่าเราคิดต่างกัน และยังไม่สามารถคุยกันได้ในเวลานี้ และผมไม่อยากให้เขามาแสดงอาการแบบนี้ให้คนอื่นเห็น โพสต์ด้วยท่าทีแบบนี้บ่อยๆ เพราะยิ่งคุณทำแบบนี้ ก็ยิ่งทำให้คนอื่นมองคุณไม่ดี 

เหนืออื่นใดผมเองก็รู้สึกเหนื่อยเกินกว่าจะมาทำหน้าที่เป็นถังขยะรองรับอารมณ์ของใคร เลยถอยออกมาดีกว่า เราไม่จำเป็นต้องรับรู้ข้อมูลข่าวสารกันและกันทุกมิติก็ได้ มีระยะห่างกันบ้าง รักษาความสัมพันธ์กันเอาไว้

คิดอย่างไรกับความคิดที่ว่าระบบการศึกษาผลิตคนที่เป็น Ignorant ไม่ได้ผลิต Tolerant?

ขอใช้คำนี้ดีกว่า ระบบการศึกษาที่มีอยู่มันเอื้อให้คนจำนวนไม่น้อยไม่ตั้งคำถาม วิธีการที่ใช้กันอยู่ไม่ได้ส่งเสริมการตั้งคำถามเลย แต่กลับป้อนข้อมูลชุดเดียว แบบเรียนก็มีข้อมูลด้านเดียว ครูจำนวนไม่น้อยก็ไม่กระตือรือร้นมากพอที่จะไปหาข้อมูลหลากหลายมิติมาชวนเด็กขบคิดต่อ เลยกลายเป็นปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อให้คนจำนวนไม่น้อยโตขึ้นมาโดยไม่รู้เท่าทันเรื่องการเมือง (political literacy) มองไม่เห็นว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา 

เช่น เวลาอธิบายปัญหา เราใช้มุมมองเชิงจริยธรรม เรียกร้องให้ทุกคนต้องเป็นคนดี เสียสละ รับผิดชอบ แต่กลับมองไม่เห็นและไม่แตะการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างเลย การศึกษาแบบนี้เลยกลายเป็นปัจจัยเงื่อนไขทำให้คนจำนวนไม่น้อย ไม่มี literacy เรื่องการเมือง แล้วก็มองไม่เห็นบทบาทของตัวเองในฐานะพลเมือง แต่เราก็เห็นกันว่าการศึกษาในกระแสหลักครูต้องอยู่กับห้องเรียนที่มีเด็กๆ มากถึง 40 คน ถูกคาดหวังเรื่องการสอนเพื่อสอบ ทำให้หลายๆ เรื่องไม่ถูกให้น้ำหนักเลย ความรู้จึงเป็นแค่สิ่งที่ถูกส่งผ่าน แต่ไม่มีความหมาย และสิ่งนี้ทำให้คนจำนวนไม่น้อยไม่คิดจะสนใจเรื่องบ้านเมืองตัวเอง 

ถ้าเราเคลื่อนมาอยู่ภายใต้บ้าน ในชายคาเดียวกันในครอบครัว ถามว่าเราควรอดทนอดกลั้นอย่างพยายามเข้าอกเข้าใจกันอย่างไร

มันไม่ควรจะกลายเป็นเรื่องโชคดี เช่น ครอบครัวที่พ่อแม่ให้ลูกไปชุมนุม ถือว่าเป็นโชคดีของเด็ก ไม่ใช่

แต่ก่อนจะแวะคุยเรื่องบ้าน ยกตัวอย่างเรื่องโรงเรียนก่อนได้ไหม? อย่างโรงเรียนนี่ไม่ควรจะมีแบบ อ๋อ โรงเรียนนี้โชคดีจังมีครูคนนี้อยู่ กลายเป็นทำให้เด็กสามารถเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตยได้ ทุกโรงเรียนควรจะมีหลักการพื้นฐานร่วมกัน 

โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพของพลเมือง ทั้งของเด็กของครู แต่การมีพื้นที่ปลอดภัยต้องเคารพกติกาบางอย่างร่วมกันนะ เช่น การแสดงออกเสรีภาพทางการเมืองต้องไม่ไปล้ำเส้นสิทธิเสรีภาพของคนอื่น มีแนวปฏิบัติของสถาบันการศึกษาว่าควรจะให้แสดงออกทางการเมืองอย่างไร ซึ่งแต่ละโรงเรียนไม่จำเป็นต้องเหมือนกันแต่อยู่บนหลักการเดียวกัน อย่างน้อยก็เป็นฉันทามติ ณ เวลาหนึ่งที่เรายอมรับกันได้ ให้รู้ว่าที่ตรงนี้ปลอดภัย 

กลับมาที่บ้าน ถามว่าใครคือคนที่ควรจะต้องทำให้เกิดสิ่งเดียวกันนี้ ควรต้องใจเย็นที่สุดในการอยู่กันในครอบครัว

ใครคือคนที่ต้องใจเย็นและมีวุฒิภาวะ?

คนที่ควรจะต้องมีบทบาทสำคัญในการใจเย็น สร้างบรรยากาศรับฟังกัน คือพ่อแม่ใช่หรือเปล่า เป็นหน้าที่ผู้ใหญ่ที่จะต้องกลับมาถามตัวเองก่อน ว่าเราต้องการรักษาบรรยากาศที่ดีในการอยู่ร่วมกันของบ้านเราอยู่ไหม เราจะอยู่ด้วยกันไหม เราจะไม่ผลักใครออกจากบ้านของเรา 

ถ้าเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ผู้ใหญ่ก็ต้องยอมถอยก่อน สำหรับผมใครยอมถอยก่อนคนนั้นเปิดพื้นที่ก่อน พอคุณยอมถอย ลดความคาดหวัง คุณทำให้อีกฝ่ายรู้ว่าคุณยอมถอย คุณก็บอกให้อีกฝ่ายรู้ความคาดหวังว่าที่คุณยอมถอย คุณอยากให้เกิดอะไร อยากให้เกิดการฟังกัน 

อีกฝ่ายหนึ่งเป็นลูกเรา เขากำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่น อารมณ์ร้อน เราก็ต้องบอกความต้องการของเรา และเปิดโอกาสให้เขาได้บอกความต้องการของเขา บางเรื่องเราทำให้ได้ บางเรื่องเราก็ทำให้ไม่ได้ ก็ต้องคุยกันอย่างตรงไปตรงมา ไม่ประชดประชัน ฟังความต้องการเขาให้ชัดว่าเขาต้องการอะไร แล้วให้เขาได้มีโอกาสเลือกว่ามีทางเลือกไหนอีกบ้างที่เราจะอยู่กันได้ 

แม้เราจะมีความคิดเห็นต่างทางการเมือง บ้านมีทีวีเครื่องเดียว พ่อแม่ชอบดูทีวีช่องนี้ แต่ลูกไม่ เราจะแบ่งเวลาดูยังไง ก็ต้องคุยกัน จะปล่อยให้ทีวีถูกผูกขาดด้วยพ่อกับแม่ตลอดเวลาโดยไม่แคร์ลูก งั้นลูกขอปิดประตูดูยูทูบในห้องตัวเอง ไม่คุยกันนะ ถ้าพ่อแม่คิดว่าไม่ได้ เราต้องการเวลาครอบครัว เพราะฉะนั้น จำเป็นไหมที่เราจะต้องมีทางเลือกที่สอง เช่น ปิดทีวีบ้าง คุยกันจริงๆ กินข้าวไม่ต้องดูทีวี มาแบ่งเวลากันไหม?  

ใครถอยก่อน คนนั้นเปิดพื้นที่ก่อน ซึ่งคุณอย่าคาดหวังว่าจะต้องให้เด็กถอยก่อน เพราะด้วยธรรมชาติช่วงวัยเขา พอเขาให้คุณค่ากับเรื่องอะไร มันจะมีขวากับซ้าย จะไม่ค่อยมีตรงกลาง อันนี้เป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องเรียนรู้ วัยรุ่นเขาอยากจะรู้สึกว่าเขาเป็นผู้ใหญ่แล้ว ผู้ใหญ่ไม่เคารพในความเป็นผู้ใหญ่ของเขาอะไรอย่างนี้ นี่เป็น ‘หน้าที่’ ของพ่อแม่ที่ต้องถอยก่อน 

ขณะที่คุณเรียกร้องให้ลูกมีหน้าที่ปฏิบัติตามพ่อแม่ พ่อแม่ก็มีหน้าที่เหมือนกันนะ พ่อแม่มีหน้าที่ในการเปิดพื้นที่ในการพูดคุยกันในบ้านไง 

ถ้าเราผ่านโจทย์ใหญ่ ความต่าง สถานการณ์ทางการเมืองตอนนี้ไปได้ ไม่ว่าจะใช้เวลาอีกกี่ปีก็ตาม เราจะเห็นอะไรบ้าง

สังคมจะมีวุฒิภาวะทางการเมืองต้องใช้เวลา กว่าที่เกาหลีใต้จะมีวันนี้ เขาก็ผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงถึงขนาดล้อมฆ่ากลางเมืองที่กวางจูมาแล้ว เจอรัฐบาล ที่มีผู้นำเผด็จการติดๆ กันหลายคน แต่เขาใช้ความอดทนในการต่อสู้กับเผด็จการด้วยวิถีทางประชาธิปไตยมายาวนาน ตั้งกติกากันใหม่ ไม่ยอมให้เกิดวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดจนเป็นวันนี้ได้ และวันนี้ก็ยังไม่ใช่สังคมที่เขาต้องการที่สุด ก็ยังมีความรุนแรงเชิงโครงสร้างกับผู้หญิง มีเรื่องสังคมที่บ้าเรื่องการแข่งขัน ทุกสังคมมีโจทย์ของตัวเองหมด 

แม้แต่สังคมที่ mature ทางการเมืองแล้ว ก็ยังมีโจทย์ที่ต้องไปต่ออีก แต่สังคมจะได้ดีเบท ใช้วิถีประชาธิปไตยรับมือเรื่องความรุนแรง รับมือเรื่องพฤติกรรมที่แย้งต่อหลักการประชาธิปไตย ไม่ได้ปล่อยให้เรื่องนี้ถูกซุกไว้ใต้พรม ผมว่าเรื่องนี้สำคัญ สังคมต้องเผชิญเรื่องนี้ด้วยกัน ขัดแย้งกัน ขัดเกลากัน มันอาจจะต้องเจ็บช้ำ ต้องปะทะกันบ้าง พอผ่านเรื่องพวกนี้ด้วยกันได้แล้ว สังคมจึงจะ mature แต่ mature แล้วไม่ได้แปลว่าสังคมจะดีเลย มันก็อาจจะหล่นลงมาได้อีก 

ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นของสมบูรณ์แบบ เปลี่ยนปุ๊บแล้วทุกอย่างจะดีหมดเลย เหมือนห้องที่ติดหลอดไฟส่องสว่าง ติดหลอดไฟทั่วถึง กำลังวัตต์ดี ห้องก็สว่างมาก แต่ก็มีช่วงที่หลอดไฟมีปัญหาแสงหรี่ลงไป ทำยังไงที่เราจะตระหนักอยู่เสมอว่ายังมีใครถูกทิ้งไว้ในเงา ยังไม่ได้รับการดูแลอีกหรือเปล่า หรือมีใครอีกบ้างไหมที่เราต้องช่วยกันส่งเสริมบทบาทให้พวกเขาส่งเสียง มีส่วนร่วมทางการเมืองเพิ่มขึ้น


Writer

Avatar photo

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa

Photographer

Avatar photo

พิศิษฐ์ บัวศิริ

เรียนจิตรกรรม แต่ดันชอบถ่ายรูปด้วย ทำงานมาสารพัด กราฟิก วาดรูป ถ่ายรูป อะไรก็ได้ที่ใช้ศิลปะเป็นส่วนประกอบ ติดเกมตั้งแต่เด็กยันแก่ รักการฟังเพลงเมทัล แต่พักหลังดันเป็นโอตะ BNK48

Related Posts