จับดินสอไม่ถูกวิธี ทำยังไงดี
ลูกชอบพูดคำหยาบ
ไม่ยอมกินผัก
พูดเป็นประโยคไม่ได้ซักที
ถึงแม้จะเป็นลูก แต่พอเขาทำอะไรที่ใช้เหตุผลหาคำอธิบายไม่ได้ ความงงจึงเกิดขึ้น พอจะทำความเข้าใจก็ไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหน จะช่วยเหลือสิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วเหล่านี้อย่างไร พ่อแม่ก็มืดแปดด้าน จิตตก
ทีมวิจัยของ Mappa Learning ไปพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่วัยอนุบาลเรื่องความกังวลต่างๆ พบว่า 3 อันดับแรก มีดังนี้
1. ลูกจับดินสอไม่ถูกวิธี
2. ชอบปาของลงพื้น ปาใส่คนอื่น
3. พูดได้เป็นคำ ยังไม่ยาวเป็นประโยคสักที
“เขากำลังทำความรู้จักโลกและพัฒนาทักษะชีวิต (life skill)” จั่วหัวไว้ก่อนอย่างนี้ แต่ทีม Mappa Learning มีคำอธิบายอย่างละเอียดสำหรับทั้งสามความกังวล พอเข้าใจก็จะคลายกังวล รู้ว่าเขากำลังทำความรู้จักโลกและนี่คือก้าวสำคัญของการพัฒนาทักษะตามวัย
1. ลูกจับดินสอนไม่ถูกวิธี
การจับดินสอเพื่อเขียนหนังสือเป็นการพัฒนากล้ามเนื้อมือของเด็กเล็กๆ
เด็กวัย 1-1 ขวบครึ่ง จะจับ แบบ Cylindrical Grasp
เด็กวัย 2-3 ขวบ เด็กจะจับแบบ Digital Grasp
เด็กวัย 3 ½ – 4 ขวบ เด็กๆ จะเริ่มจับแบบ Modified Tripod Grasp และพอเด็กเข้าวัยอนุบาลจะเริ่มจับแบบ Tripod Grasp
การจับดินสอให้ดีเป็นเพียงปลายทางของพัฒนาการ กล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็กๆ จะเกิดขึ้นได้เมื่อพวกเขาใช้มือจับของเล่นชิ้นเล็ก ชิ้นใหญ่ หรือการหยิบจับอาหารเข้าปากด้วยตัวเอง คุณพ่อคุณแม่เพียงช่วยเปิดโอกาสให้ลูกได้หยิบจับสิ่งของบ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การกินอาหารด้วยนิ้ว (finger food) แล้วท้ายที่สุด เด็กๆ จะค่อยๆ หาวิธีจับของสิ่งต่างๆ ด้วยกล้ามเนื้อเล็กๆ ของเขาอย่างถูกวิธี
2. ลูกชอบโยนและเขวี้ยง ปาของลงพื้น/ปาใส่คนอื่น
บางทีเราก็งงและสงสัยว่าทำไมลูกชอบปล่อยของตก ทั้งๆ ที่เพิ่งเก็บขึ้นมาให้ ปล่อย-ตก-เก็บ ทำอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเหนื่อย
เด็กเล็กๆ กำลังทำความรู้จักกับส่วนต่างๆ ของโลกใบนี้ด้วยการทดลองที่ริเริ่มขึ้นเอง เขาจึงชอบต่อบล็อคไม้ขึ้นสูงๆ แล้วปล่อยให้ตกลงมา หรือพอคุณพ่อคุณแม่เก็บของขึ้นมาให้ เขาก็ผลักตกลงไปอีก บางครั้งก็อยากจะใช้แขนทั้งแขนปาสิ่งของแล้วเก็บ ปาแล้วเก็บ ทำอย่างนั้นซ้ำๆ
เขากำลังทำความเข้าใจแรงโน้มถ่วง และการเคลื่อนที่ของวัตถุที่มีขนาดและน้ำหนักต่างกัน เด็กๆ กำลังเริ่มต้นทักษะของความสงสัย และทดลองการเรียนรู้ด้วยตัวเอง
ทำอย่างไร? คุณพ่อคุณแม่แค่หายใจลึกๆ ปล่อยเด็กๆ สำรวจโลก และค่อยๆ กำหนดกติกาให้สามข้อ คือ
- ไม่ทำร้ายตัวเอง
- ไม่ทำร้ายคนอื่น
- ไม่ทำลายข้าวของ แบบ Kind but Firm คือ พูดอย่างชัดเจนแต่ไม่ดุโวยวาย
3. ลูกยังสื่อสารเป็นคำๆ ไม่เป็นประโยคสักที
แม้ว่าเด็กเล็กๆ ยังใช้คำหรือประโยคได้ไม่ดีนัก ไม่ได้แปลว่าเขาไม่สื่อสาร เด็กๆ พยายามสื่อสารตลอดเวลา ผ่านทางเสียงร้องบอกว่าหิว การใช้ภาษาท่าทาง เช่น การชี้ให้หยิบ หรือการคุยด้วยภาษาอ้อแอ้ (babble) ที่ฟังไม่เป็นภาษา
พ่อแม่สามารถช่วยลูกให้พยายามสื่อสารได้ด้วยการรับฟัง และมองเห็นว่าเขากำลังใช้ความพยายามในการสื่อสาร ‘ทักษะทางภาษา’ จะเป็นทักษะที่พัฒนาขึ้นหลังจากนั้นเมื่อเด็กๆ รู้ว่า ‘ความพยายามในการสื่อสาร’ นั้นมีความหมายกับใครบางคน อย่างเช่น คุณพ่อคุณแม่หรือคนในครอบครัว