Research Team

“เขากำลังทำความรู้จักโลก” เปลี่ยน ‘3 สิ่งที่พ่อแม่ของเด็กวัยอนุบาลกังวลมากที่สุด’ เป็นความเข้าใจ ไม่จิตตก

จับดินสอไม่ถูกวิธี ทำยังไงดี

ลูกชอบพูดคำหยาบ 

ไม่ยอมกินผัก 

พูดเป็นประโยคไม่ได้ซักที

ถึงแม้จะเป็นลูก แต่พอเขาทำอะไรที่ใช้เหตุผลหาคำอธิบายไม่ได้ ความงงจึงเกิดขึ้น พอจะทำความเข้าใจก็ไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหน จะช่วยเหลือสิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วเหล่านี้อย่างไร พ่อแม่ก็มืดแปดด้าน จิตตก

ทีมวิจัยของ Mappa Learning ไปพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่วัยอนุบาลเรื่องความกังวลต่างๆ พบว่า 3 อันดับแรก มีดังนี้ 

1. ลูกจับดินสอไม่ถูกวิธี

2. ชอบปาของลงพื้น ปาใส่คนอื่น

3. พูดได้เป็นคำ ยังไม่ยาวเป็นประโยคสักที

“เขากำลังทำความรู้จักโลกและพัฒนาทักษะชีวิต (life skill)” จั่วหัวไว้ก่อนอย่างนี้ แต่ทีม Mappa Learning มีคำอธิบายอย่างละเอียดสำหรับทั้งสามความกังวล พอเข้าใจก็จะคลายกังวล รู้ว่าเขากำลังทำความรู้จักโลกและนี่คือก้าวสำคัญของการพัฒนาทักษะตามวัย 

1. ลูกจับดินสอนไม่ถูกวิธี

การจับดินสอเพื่อเขียนหนังสือเป็นการพัฒนากล้ามเนื้อมือของเด็กเล็กๆ 

เด็กวัย 1-1 ขวบครึ่ง จะจับ แบบ Cylindrical Grasp 

เด็กวัย 2-3 ขวบ เด็กจะจับแบบ Digital Grasp

เด็กวัย 3 ½ – 4 ขวบ เด็กๆ จะเริ่มจับแบบ Modified Tripod Grasp และพอเด็กเข้าวัยอนุบาลจะเริ่มจับแบบ Tripod Grasp

การจับดินสอให้ดีเป็นเพียงปลายทางของพัฒนาการ กล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็กๆ จะเกิดขึ้นได้เมื่อพวกเขาใช้มือจับของเล่นชิ้นเล็ก ชิ้นใหญ่ หรือการหยิบจับอาหารเข้าปากด้วยตัวเอง คุณพ่อคุณแม่เพียงช่วยเปิดโอกาสให้ลูกได้หยิบจับสิ่งของบ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การกินอาหารด้วยนิ้ว (finger food) แล้วท้ายที่สุด เด็กๆ จะค่อยๆ หาวิธีจับของสิ่งต่างๆ ด้วยกล้ามเนื้อเล็กๆ ของเขาอย่างถูกวิธี

 2. ลูกชอบโยนและเขวี้ยง ปาของลงพื้น/ปาใส่คนอื่น 

บางทีเราก็งงและสงสัยว่าทำไมลูกชอบปล่อยของตก ทั้งๆ ที่เพิ่งเก็บขึ้นมาให้ ปล่อย-ตก-เก็บ ทำอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเหนื่อย

เด็กเล็กๆ กำลังทำความรู้จักกับส่วนต่างๆ ของโลกใบนี้ด้วยการทดลองที่ริเริ่มขึ้นเอง เขาจึงชอบต่อบล็อคไม้ขึ้นสูงๆ แล้วปล่อยให้ตกลงมา หรือพอคุณพ่อคุณแม่เก็บของขึ้นมาให้ เขาก็ผลักตกลงไปอีก บางครั้งก็อยากจะใช้แขนทั้งแขนปาสิ่งของแล้วเก็บ ปาแล้วเก็บ ทำอย่างนั้นซ้ำๆ 

เขากำลังทำความเข้าใจแรงโน้มถ่วง และการเคลื่อนที่ของวัตถุที่มีขนาดและน้ำหนักต่างกัน เด็กๆ กำลังเริ่มต้นทักษะของความสงสัย และทดลองการเรียนรู้ด้วยตัวเอง

ทำอย่างไร? คุณพ่อคุณแม่แค่หายใจลึกๆ ปล่อยเด็กๆ สำรวจโลก และค่อยๆ กำหนดกติกาให้สามข้อ คือ 

  1. ไม่ทำร้ายตัวเอง 
  2. ไม่ทำร้ายคนอื่น 
  3. ไม่ทำลายข้าวของ แบบ Kind but Firm คือ พูดอย่างชัดเจนแต่ไม่ดุโวยวาย 

3. ลูกยังสื่อสารเป็นคำๆ ไม่เป็นประโยคสักที

แม้ว่าเด็กเล็กๆ ยังใช้คำหรือประโยคได้ไม่ดีนัก ไม่ได้แปลว่าเขาไม่สื่อสาร เด็กๆ พยายามสื่อสารตลอดเวลา ผ่านทางเสียงร้องบอกว่าหิว การใช้ภาษาท่าทาง เช่น การชี้ให้หยิบ หรือการคุยด้วยภาษาอ้อแอ้ (babble) ที่ฟังไม่เป็นภาษา 

พ่อแม่สามารถช่วยลูกให้พยายามสื่อสารได้ด้วยการรับฟัง และมองเห็นว่าเขากำลังใช้ความพยายามในการสื่อสาร ‘ทักษะทางภาษา’ จะเป็นทักษะที่พัฒนาขึ้นหลังจากนั้นเมื่อเด็กๆ รู้ว่า ‘ความพยายามในการสื่อสาร’ นั้นมีความหมายกับใครบางคน อย่างเช่น คุณพ่อคุณแม่หรือคนในครอบครัว


Writer

Avatar photo

mappa learning

Related Posts