คุณใช้เวลาอยู่บนท้องถนนวันละกี่ชั่วโมง?หากนับเวลาการเดินทางจากบ้านถึงที่ทำงาน จากที่ทำงานย้อนกลับบ้าน คุณใช้ชีวิตอยู่บนยานพาหนะไปเท่าไหร่ และถ้าวันไหนที่คุณต้องเดินทางไปทำธุระหลายที่ จำนวนชั่วโมงที่ต้องเสียไปบนท้องถนนเพิ่มทวีคูณไปแค่ไหน นี่อาจเป็นคำถามที่หลายคนเหนื่อยจะตอบ
หากดูจากสถิติของ TomTom Traffic Index Ranking 2022 ซึ่งเป็นการให้คะแนนความแออัดของการจราจรในการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ จะเห็นว่ากรุงเทพมหานครฯ ทำคะแนนได้ไม่เลว ถูกจัดเป็นพื้นที่ที่รถติดเป็นอันดับที่ 57 ของโลก และเป็นอันดับที่ 15 ของเอเชีย
การใช้เวลาเดินทางเฉลี่ย 20 นาทีต่อระยะทาง 10 กิโลเมตร ทำให้เสียเวลาบนท้องถนนจากรถติดโดยเฉลี่ย 192 ชั่วโมงต่อปี (8 วัน)
8 วันจาก 365 วันในหนึ่งปี ฟังดูไม่แย่เท่าไหร่ แต่นี่คือจำนวนเวลาที่เสียไปของผู้ที่เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว ที่แค่เพียงออกจากบ้าน ก้าวเท้าขึ้นรถ ก็ขับตรงไปยังจุดหมายได้เลย
แต่นั่นไม่ใช่สถิติของผู้ใช้ขนส่งสาธารณะ
แม้จะไม่ได้มีการทำสถิติที่ชัดเจนออกมา แต่จากการสอบถามบุคคลรอบตัวและประสบการณ์ตรงของตัวเอง การเดินทางโดยใช้บริการรถรับจ้างหรือขนส่งมวลชนจะเสียเวลาในการเดินทางไปยังจุดหมายอย่างน้อย 2 ชั่วโมงต่อวัน หากใช้คณิตศาสตร์อย่างง่ายก็จะเท่ากับว่าภายใน 1 ปี คนที่ใช้ขนส่งสาธารณะเสียเวลาเดินทางไป 730 ชั่วโมง หรือคิดเป็น 30 วัน
นี่คือกรณีที่คุณใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพมหานคร
กรุงเทพมหานครคือเมืองหลวงของประเทศไทย ควาหมายของเมืองหลวงตามคำจำกัดความของพจนานุกรม… หมายถึง เมืองที่เป็นที่ตั้งของรัฐสภาและทำเนียบรัฐบาล ส่วนใหญ่มักเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ มีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตครบถ้วน ซึ่งนั่นนับรวมถึงขนส่งมวลชนด้วย
ระบบขนส่งมวลชนของไทยที่ดูตอบโจทย์การขับเคลื่อนวิถีเศรษฐกิจและวิถีชีวิตจึงกระจุกตัวอยู่ในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ แต่สำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่ในปริมณฑล หรือพื้นที่ชานเมืองกรุงเทพฯ มีบริการขนส่งฯ สาธารณะอย่างจำกัด หรือในบางพื้นที่แทบไม่มีเลย
เคยสงสัยไหมว่าพวกเขาใช้ระยะเวลาในแต่ละวันไปเท่าไหร่ เพื่อเดินทางไปยังจุดหมาย โดยไม่ต้องให้บริษัทระดับโลกมาทำสถิติ ผมจะทดลองเดินทางด้วยยานพาหนะที่แตกต่างกัน เพื่อดูว่ารถต่างคันส่งผลต่อเวลาในการเดินทางมากน้อยแค่ไหน
ลองเดินทางไปกับผมดูครับ…
วิธีที่หนึ่ง
เช้าวันเสาร์ที่แสงแดดกำลังทำมุมเฉียงกับกระจกหน้ารถยนต์ ผมกำลังเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว จากบ้านที่รังสิต เพื่อไปยังจุดหมายที่ตลิ่งชัน โดยมีระยะทาง 38 กิโลเมตร
และใช้เวลาเดินทาง 50 นาที
วิธีที่สอง
เช้าวันเสาร์ที่แสงแดดกำลังทำมุมเฉียงกับชานชาลาผมกำลังเดินทางโดยรถไฟฟ้าสายสีแดง จากบ้านที่รังสิต เพื่อไปยังจุดหมายที่ตลิ่งชัน ระยะทาง 13 สถานี
ใช้เวลาเดินทาง 83 นาที
วิธีที่สาม
เช้าวันเสาร์ที่แสงแดดกำลังทำมุมเฉียงกับหน้าต่างข้างที่นั่งรถเมล์ผมกำลังเดินทางโดยรถเมล์ จากบ้านที่รังสิต เพื่อไปต่อรถเมล์ที่อนุสาวรีย์ชัยฯ เพื่อขึ้นรถเมล์ต่อไปยังจุดหมายที่ตลิ่งชัน
ผ่านป้ายรถเมล์ 68 ป้าย
ใช้เวลาเดินทาง 120 นาที
ทั้งสามวิธีดูไม่แย่มาก แต่ทั้งหมดนี้คือการเดินทางในวันเสาร์ที่รถไม่ติด
แต่ถ้าเปลี่ยนผมไปอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งระบบขนส่งสาธารณะหมายรวมถึงปริมณฑลและชานเมือง ซึ่งมีรถไฟความเร็วสูงความเร็วเฉลี่ย 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถ้าระยะทางจากรังสิต-ตลิ่งชันเท่ากับ 38 กิโลเมตร ผมจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 9 นาที
ถ้าเทียบกับวิธีที่สามผมจะประหยัดเวลาการเดินทางได้ 111 นาที วิธีที่สองได้ 77 นาที และและถ้าเทียบกับวิธีการเดินทางด้วยขนส่งมวลชนของประเทศไทยที่เร็วที่สุดคือวิธีที่หนึ่งผมจะประหยัดเวลาในการเดินทางได้ 41 นาที เพราะระบบขนส่งมวลชนของเมืองหลวงในประเทศไทยที่ใช้เวลาสั้นที่สุดนั้นก็ยังต้องใช้เวลาถึง 50 นาทีในการเดินทาง
แล้วระยะเวลา 50 นาทีที่เสียไปในการเดินทางสามารถทำอะไรได้บ้าง?
กะพริบตา 1,000 ครั้ง
มีเซ็กส์ 5 รอบ
ดู Game of Thrones จบ 1 ตอน
วิ่ง 10 กิโลเมตร
อ่านหนังสือ 15,000 คำ
เข้าใกล้ความตายมากขึ้น 50 นาที
อ่านบทความนี้จบ 17 รอบ
อ้างอิง
https://www.tomtom.com/traffic-index/ranking/