Preteen 101

พรีทีน: ซับซ้อน-ไม่ชัดเจน-ถูกมองข้าม เข้าใจวัยแรกรุ่น ก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป

  • ชุดความรู้และความเข้าใจในวัย ‘พรีทีน’ (pre-teen) หรือวัยเปลี่ยนผ่านจากเด็กสู่วัยรุ่น ถือว่าน้อยมากในสังคมไทย ไม่ใช่เพราะไม่สำคัญ แต่เป็นเพราะพรีทีนคือช่วงวัยที่สังเกตได้ยากและคลุมเครือ
  • ‘หมอแนต’ ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็ก-วัยรุ่น และโฆษกกรมสุขภาพจิต ย้ำกับเราว่า พรีทีนคือรากฐาน (foundation) ของการเป็นวัยรุ่น เมื่อรากฐานแข็งแรง ลูกจะเติบโตเป็นวัยรุ่นที่มั่นคง
  • พ่อแม่สามารถเตรียมพร้อมลูกเข้าสู่วัยพรีทีนได้หลายวิธี หนึ่งในนั้นคือการเป็น ‘ปั๊มน้ำมัน’ ในวันที่ลูกต้องออกไปสำรวจโลก เสมือนการค่อยๆ ‘ผละมือ’ ที่ห่วงใย เพื่อให้ลูกได้เติบโต

จากวัยเด็ก ก่อนจะข้ามผ่านสู่วัยรุ่น มีสิ่งที่เรียกว่า ‘พรีทีน’ (pre-teen) คั่นกลาง 

พรีทีนอาจไม่ใช่คำที่เราคุ้นเคยกันมากนัก ด้วยชุดความรู้ในเรื่องนี้ยังมีไม่มาก บวกกับสารพัดนิยามที่ดูคลุมเครือ บ้างเรียกว่าก่อนวัยเรียน วัยแรกแย้ม ก่อนวัยรุ่น หรือแรกรุ่น ฯลฯ

คำนิยามว่าคลุมเครือแล้ว การจะจับทิศคลำทางเพื่อหาว่าพรีทีนมีสัญญาณหรือลักษณะอะไรบ่งบอก ว่าลูกเรากำลังอยู่ในวัยนี้ นั่นก็ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ 

เหตุผลเพราะว่า วัยพรีทีนมีช่วงเวลาที่เเคบกว่าวัยอื่น แถมไม่มีสัญญาณหรือจุดสังเกตชัดเจน ทั้งร่างกาย อารมณ์ สารเคมีภายใน ความไม่ชัดเจนนี้จึงมักถูกมองข้าม ละเลย หรือปัดขึ้นปัดลงเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ … ไม่เด็ก ก็วัยรุ่นไปเลยแล้วกัน

ไม่ง่ายเลยที่พ่อแม่หรือกระทั่งลูกเอง จะสามารถรับรู้ได้ถึงการมาเยือนของวัยพรีทีน เพราะไม่รู้ว่าพรีทีนของลูกจะมาเมื่อไหร่ ธงของวันนั้นปักอยู่ตรงไหน 

ขณะเดียวกัน ลูกเองก็ไม่รู้ว่า อารมณ์ฉุนเฉียวหรือสิวที่จะเกิดขึ้น มันมีหน้าตาเป็นอย่างไร

แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ พรีทีนคือช่วงเวลาสำคัญ และเรามักมองข้าม เป็นเหมือนลูกคนกลาง (wednesday child) ที่มักตกหล่นจากการสังเกตของพ่อแม่อยู่บ่อยครั้ง

เอาเข้าจริงแล้ว บทบาทสำคัญของพรีทีน คือ ‘transition fade’ ทำหน้าที่ในการเปลี่ยนผ่านช่วงวัย จากเด็กสู่วัยรุ่น เป็นเหมือนข้อต่อที่พ่อแม่ควรต้องเตรียมพร้อมให้ลูกที่กำลังเข้าสู่ภาวะของการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว 

ความสำคัญของเรื่องนี้ ถูกยืนยันผ่าน ‘หมอแนต’ ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็ก-วัยรุ่น และโฆษกกรมสุขภาพจิต ที่ย้ำกับเราว่า พรีทีนคือรากฐาน (foundation) ของการเป็นวัยรุ่น 

นั่นแปลว่า หากฐานดี คนคนหนึ่งจะเติบโตเป็นวัยรุ่นที่มีคุณภาพ เขาจะรู้สึกมั่นคงขึ้นบ้าง ในช่วงเวลาที่ร่างกาย อารมณ์ สังคม และความคิดกำลังเปลี่ยนแปลงฉับไว

‘หมอแนต’ ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์

“จริงๆ แล้ว รากฐานของวัยรุ่นต้องสร้างตั้งแต่วัยเด็ก แล้วสำคัญที่สุดคือก้าวสุดท้ายที่จะเข้าสู่วัยรุ่น ซึ่งก็คือพรีทีน แต่ความไม่ชัดเจนของพรีทีน ทำให้เรามองข้ามความสำคัญบางอย่าง เพราะเมื่อเขาเข้าสู่วัยรุ่น เขาก็กลายเป็นวัยรุ่นไปแล้ว โดยที่เราก็ไม่ได้ให้ความสำคัญหรือเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่วัยรุ่น เราจึงพลาดโอกาสที่น่าจะง่ายกว่าการไปแก้ไขตอนช่วงวัยรุ่น”

เราทุกคนต่างป็นวัยรุ่นได้แค่เพียงรอบเดียว การจะเข้าใจพรีทีนจึงไม่ใช่เรื่องง่าย และยิ่งยากเข้าไปใหญ่สำหรับพ่อแม่ที่เพิ่งมีลูกคนแรก แต่ถึงอย่างนั้น อาจไม่ถูกนักหากเราไม่ทำความเข้าใจและปล่อยผ่าน หรือเสี่ยงดวงเอาในวันที่ลูกเปลี่ยนแปลงไปแล้วโดยไม่ได้เตรียมพร้อม การแก้ไขปลายทางเช่นนั้น อาจสายเกินไปแล้วสำหรับบางคน

ทำไมเพื่อนไม่เหมือนเรา แล้วทำไมเราไม่เหมือนเพื่อน

“ทำไมเพื่อนดูเป็นผู้ใหญ่จังเลย ฉันยังดูเป็นยัยเพิ้งอยู่เลย”

“ทำไมแต่งตัวเท่าไหร่ก็ไม่สวย/หล่อ สักทีนะ” 

“ทำไมฉันดูไม่เป็นสาวเหมือนอินฟลูเอนเซอร์ในไอจีเลยอะ”

เพื่อทำความเข้าใจพรีทีนที่ช่างซับซ้อนและไม่ชัดเจน หมอแนตจึงชวนเราตั้งหลักจากความสงสัยของลูก ที่อาจเป็นสัญญาณแรกที่พ่อแม่ต้องเตรียมตั้งรับพรีทีนที่กำลังจะมาถึง

“การที่เด็กเกิดความสงสัยว่า ทำไมคนคนนั้นต่างจากตัวเอง แสดงว่าเขาเริ่มเห็นความแตกต่างในตัวเอง เขาตั้งคำถามกับตัวเอง ว่าทำไมฉันไม่เป็นแบบเขา 

“วัยรุ่นหลายคนแต่งตัวอยู่นั่นก็ไม่เสร็จสักที รู้สึกว่าแต่งยังไงก็ไม่สวย มันบอกยากว่าอาการนี้คือพรีทีนหรือเปล่า แต่การที่เขาเริ่มสนใจเรื่องแต่งเนื้อแต่งตัว อันนี้น่าจะเป็นสัญญาณอย่างหนึ่ง มันคือจุดเปลี่ยนแรก เพราะถ้าวัยเด็ก เขาจะไม่ค่อยสนใจเรื่องของตัวเอง แต่พอเขาเริ่มสนใจ มันคือสัญญาณแรก”

ในมุมของพ่อแม่ที่มีลูกวัยพรีทีน หรือสงสัยว่าลูกกำลังอยู่ในช่วงพรีทีน อาจต้องเริ่มจากการเข้าใจพัฒนาการของลูกว่ามีด้านใดบ้าง เช่น ร่างกาย ภาษา การเข้าสังคม การสร้างความสัมพันธ์​ สติปัญญา ฯลฯ

เมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น แล้วพ่อแม่อยากให้เขามีพัฒนาการด้านต่างๆ เช่น มีความเชื่อมั่นในตัวเอง เข้ากับเพื่อนได้ รักษาระยะห่างของความสัมพันธ์ได้ เอาตัวรอดจากสถานการณ์ที่ยากลำบากได้ มีสติปัญญา โอเคในการเรียน และสามารถควบคุมอารมณ์ได้ ฯลฯ เมื่อตั้งเป้าเช่นนี้ พรีทีนที่ทำหน้าที่เปลี่ยนผ่านวัย จึงเป็นช่วงที่พ่อแม่สามารถเตรียมพร้อม ทั้งกิจกรรมต่างๆ กระทั่งจิตใจ 

“ตัวอย่างเช่น เราอยากให้วัยรุ่นเริ่มสร้างบุคลิกภาพที่มีความมั่นใจในตัวเองในช่วงพรีทีน เราก็ต้องเริ่มตั้งแต่ว่า เขาควรทำกิจกรรมอะไรที่จะนำไปสู่การสร้างความมั่นใจได้บ้าง เด็กไม่สามารถที่จะ ‘อ๋อ…ฉันมั่นใจ’ ได้ แต่มันต้องมีรากฐานในความมั่นใจก่อน หรือเขาสามารถชื่นชมตัวเองได้ไหม หรือเขารู้ไหมว่าข้อผิดพลาดไม่ได้ทำให้เขาเป็นคนที่เลวร้าย”

รายละเอียดเหล่านี้มีขนาดที่เล็กมากๆ และหลายครั้งที่หมอแนตมักได้ยินปัญหาจากพ่อแม่ว่า “ลูกฉันไม่มั่นใจในตัวเอง ทำยังไงดี”

“ฟังดูเหมือนง่ายนะกับการจัดการกับลูกวัยรุ่นที่ไม่มั่นใจในตัวเอง แต่จริงๆ มันมีรากฐานที่นำมาสู่ความมั่นใจในตัวเองเยอะมาก ตั้งแต่สกิลต่างๆ อย่าง positive selftalk การพูดเชิงบวกกับตัวเอง หรือการจัดการความคิดเชิงลบได้ นี่คือสิ่งที่เราไม่ค่อยพูดถึงกัน เพราะว่ามันซับซ้อน”

อีกวิธีที่พ่อแม่เริ่มได้ง่ายๆ นั่นคือ การตั้งสมมุติฐานผ่านช่วงอายุ 

ยกตัวอย่างเช่น หากเราตีวงของสมมุติฐานวัยพรีทีนไว้ที่ ป.4-6 แล้วตั้งหลักเตรียมพร้อมไว้ล่วงหน้าสัก 1-2 ปี เมื่อลูกเข้าสู่ช่วงรอยต่อนั้น พ่อแม่จะต้องมั่นใจได้ว่า เขาจะเปลี่ยนผ่านไปอย่างลื่นไหลและมั่นคงที่สุด

“การเตรียมความพร้อมเผื่อไว้ ไม่มีอะไรเสียหลายเลย เตรียมไว้ก่อนสัก 1-2 ปี ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะเราอาจเดาได้ว่า ยังไงช่วง ม.1 ลูกก็อาจจะเข้าวัยทีนแล้ว หรือถ้าลูกยังไม่เข้า ลูกเพื่อนสักคนก็ต้องเข้า แล้วนั่นหมายความว่า ลูกเราจะต้องเตรียมรับมือกับการที่เพื่อนเข้าสู่วัยรุ่นแล้ว”

คำถามสำคัญคือ หากพรีทีนถูกมองข้าม หรือเมื่อลูกต้องเปลี่ยนผ่านและรับมือความเปลี่ยนแปลงจากการเข้าสู่วัยรุ่นเพียงลำพัง เขาต้องเผชิญสิ่งใดบ้างหากวันนั้นมาถึง 

หมอแนตอธิบายประเด็นนี้ผ่านสองมุมมอง 

หนึ่ง ไม่เกิดผลอะไร ลูกจะสามารถปรับตัวไปตามวิถีธรรมชาติได้ในวันหนึ่ง และสอง การเปลี่ยนผ่านนั้นอาจจะขรุขระบ้าง และหากเขาเผชิญปัญหาเพียงลำพังไปตลอดทาง ปัญหานั้นจะไม่ถูกแก้ไข และอาจกลับไปแก้ยากกว่าช่วงวัยพรีทีน

คำถามของหมอแนตคือ ‘พ่อแม่จะเสี่ยงดวงดูหรือไม่’

ถ้าหากคำตอบคือ ไม่ นั่นแปลว่า เราอาจต้องทำอะไรบางอย่างก่อนที่ลูกจะเข้าสู่วัยรุ่น แต่ถึงอย่างนั้น สิ่งที่เราต้องเข้าใจตรงกันคือ “การทำอะไรบางอย่าง ไม่ได้แปลว่า ลูกจะเข้าสู่วัยทีนได้ลื่นไหลร้อยเปอร์เซ็นต์ มันอาจจะมีขรุขระบ้าง แต่ก็จะตะกุกตะกักน้อยกว่าที่ควรจะเป็น”

พ่อแม่คือปั๊มน้ำมันที่มีเวลาปิดเปิด 

แล้วพ่อแม่ควรเริ่มทำจากอะไร?

คำตอบของคำถามนี้อาจไม่ใช่ฮาวทูสำเร็จรูปเสียทีเดียว แต่เป็นเพียงหลักคิดที่จะนำไปสู่การวางแผนให้สอดคล้องตามแต่ละบริบทครอบครัว

“พ่อแม่ต้องรู้จักลูก เช่น ลูกเรามีปัญหาด้านการควบคุมอารมณ์ เราจะจัดการอย่างไรในช่วงพรีทีนให้เขาค่อยๆ เปลี่ยนผ่าน แล้วเมื่อวันหนึ่งที่ฮอร์โมน kick in เข้ามา ลูกจะรับมือกับอารมณ์ที่พุ่งพรวดได้ พูดได้ ระบายกับพ่อแม่ได้ว่าอารมณ์เขาเป็นยังไง”

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อลูกยังเด็ก เขาวิ่งเล่นหกล้มแล้วร้องไห้จ้าละหวั่น พ่อแม่รีบวิ่งเข้ามาปลอบโยน ทว่าเมื่อลูกพรีทีน นั่นอาจถึงเวลา ‘ผละมือ’ ที่ห่วงใย โดยการให้เวลาลูกได้จัดการกับอารมณ์ของตัวเอง

“ถ้าวันหนึ่งพ่อแม่เปลี่ยนไปเลย เด็กก็จะงง ‘ทำไมอยู่ดีๆ มาทิ้งฉัน’ แต่ถ้าเราใช้ช่วง transition ของพรีทีน ค่อยๆ ปล่อยมือ เช่น ‘เป็นยังไงบ้าง เดี๋ยวแม่จะช่วยสอนการจัดการอารมณ์ด้วยตัวเองนะว่าลูกต้องทำยังไงบ้าง ลองดูว่าไหวไหม ลองจัดการอารมณ์ด้วยตัวเอง ให้แม่ช่วยอะไรไหม’ แล้วค่อยๆ ผละมือออก”

กลับกัน ในช่วงของการ transition หากพ่อแม่ไม่ปล่อยมือล่ะ? 

“เขาจะเป็นวัยรุ่นที่ตัวโตนำไป อารมณ์เขาโตนำไป แต่พฤติกรรมและความเข้าใจของเขายังเป็นเด็ก ความเข้าใจนั้นสำคัญมาก ถ้าพ่อแม่ยังปฏิบัติกับเขาเหมือนเดิม เขาก็อาจจะเข้าใจว่า เขายังเป็นเด็กเหมือนเดิม ในขณะที่ความต้องการของเขา เขาอยากเป็นผู้ใหญ่ 

“เวลาเขาไปโรงเรียน เห็นเพื่อนที่ดูโตมาก ดูมีอิสระมาก ได้ทำนู่นนั่นนี่ แล้วถ้าพ่อแม่มาส่งลูก ขอหอมแก้มลูกหน้าโรงเรียน เพื่อนก็ยืนหัวเราะอยู่ข้างๆ เรื่องแบบนี้ส่วนหนึ่งก็เกิดจากพ่อแม่เองที่ไม่พร้อมจะปล่อยมือลูกไปสู่วัยรุ่น”

พ่อแม่จำนวนหนึ่งอยากเป็นจุดศูนย์กลาง อยากให้ลูกเชื่อฟัง บังคับลูกได้ ให้ลูกเป็นดั่งแขนขา หากพ่อแม่บอกให้ไปทางซ้าย ลูกต้องเดินไปตามทางนั้น

แต่แล้ววันหนึ่ง ลูกจะต้องเติบโตและปฏิเสธการเป็น ‘รยางค์’ ของพ่อแม่ เขาจะกลายเป็นปัจเจกบุคคล เป็นตัวของตัวเอง

พ่อแม่หลายคนจึงอาจรู้สึกว่า นี่คือความสูญเสีย เมื่อลูกไม่ได้น่ารักเชื่อฟังเหมือนเดิมแล้ว

“เราจะเห็นบ่อยๆ ว่า เมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น บางครอบครัวจะเอารูปลูกตอนเด็กๆ มาโพสต์ ‘คิดถึงจังเลย ตอนเด็กๆ ลูกเต้นเก่งมาก’ กลับกัน เมื่อลูกเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น เขาก็อาจจะขี้เกียจหรือคุยกับพ่อแม่น้อยลง

“พ่อแม่หลายคนยังโหยหาอดีตของลูกอยู่ เขายังไม่สามารถปล่อยมือได้

“พ่อแม่ต้องทำตัวเป็นปั๊มน้ำมัน ให้ลูกออกไปสำรวจโลก แต่พ่อแม่รู้ว่า รถของลูกมีถังน้ำมันน้อย ให้ลูกกลับมาเติมน้ำมันที่บ้านได้ แล้วขับออกไปต่อ แต่ไม่ใช่การเอาหัวจ่ายน้ำมันไปเชื่อมกับลูกตลอดเวลา พ่อแม่เองต้องเตรียมตัวพอๆ กับเด็กที่เตรียมตัวสู่วัยรุ่นด้วย”

งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันตรงกันว่า ปัจจุบันเด็กเป็นวัยรุ่นเร็วมากขึ้น แม้จะเร็วขึ้นในหลักเดือน แต่นั่นก็ถือว่าเร็วมาก 

ปัจจัยที่เป็นตัวเร่ง หมอแนตอธิบายว่า เกิดจากการเชื่อมต่อในสังคม (connectivity) ที่เรียกว่า social learning ซึ่งเกิดขึ้นเร็วมากกว่าอดีต เราสามารถรับรู้ความเป็นไปของเพื่อน หรือกระทั่งคนอื่นๆ ได้ทาง social media ตลอดเวลา

“เมื่อก่อนเราไม่เห็นหรอก เพราะสังคมมันแคบ สังคมเชื่อมต่อกันน้อย แต่ตอนนี้เราเห็นแม้กระทั่งคนที่เราไม่รู้จัก เช่น social influence ในวัยเดียวกัน ซึ่งเป็นคนที่มีแนวโน้มโตเร็วกว่าคนทั่วๆ ไปอยู่แล้ว คนจึงได้รับอิมแพคเยอะ และมีแนวโน้มที่จะเกิด social learning ทำให้โตไวขึ้น

พร้อมๆ กับสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น ปัญหาแรกที่พรีทีนกำลังเผชิญหน้า นั่นคือ ‘เขาไม่ได้พร้อมรับมือกับการเข้าสู่วัยทีน’ 

“ถ้าเขาได้ไปโรงเรียน เขาก็จะเห็นเพื่อนเปลี่ยนบ้าง ไม่เปลี่ยนบ้าง เขายังพอรับมือไหว เพราะจะมีแค่เพื่อนบางคนที่เปลี่ยนเข้าสู่วัยรุ่นแล้ว หรือบางคนก็จะยังคล้ายๆ เขาอยู่นะ 

“แต่พอเจอโควิด การเข้าสู่พรีทีนในบ้านคนเดียว มันหลอนเหมือนกันนะ โอเค เขาอาจจะเห็นสังคมใน social media แต่มันก็ยากที่เขาจะโชว์ความพรีทีนของตัวเองออกมาผ่าน social media เพราะมันต้องอาศัยการอยู่ร่วมกัน แล้วนั่นทำให้เกิดความกลัวเหมือนกันว่า เวลาเห็นเพื่อนแต่งเนื้อแต่งตัวถ่ายรูปลง social media แล้วถ้าโผล่มาเจอกันอีกที ฉันจะทำยังไงดี”

มีคำพูดทำนองไหนบ้าง หรือการแสดงออกแบบไหนบ้าง ที่สามารถสื่อสารกับลูกได้ว่า ‘พ่อแม่อยู่ตรงนี้นะ’

สำหรับหมอแนต ไม่มีวรรคทอง หรือการแสดงออกสำหรับกดสูตรที่พ่อแม่จะสามารถพูดกับลูกในวัยพรีทีน เช่นว่า ‘อ๋อ หนูกำลังจะเข้าสู่พรีทีนนะ แม่จะนั่งอยู่ข้างๆ ลูก’

คำพูดเหล่านี้จะใช้ไม่ได้ผล หากเราเข้าใจตรงกันว่า พรีทีนคือรากฐานของวัยรุ่น และวัยเด็กคือรากฐานของพรีทีน นั่นหมายความว่า พ่อแม่อาจต้องรู้สึกมานานแล้วว่า ‘พ่อแม่จะซัพพอร์ตลูกนะ ในวันที่ลูกแย่’

หากจะมีคำพูดที่สร้างการเปลี่ยนแปลงใดได้บ้าง หมอแนตบอกกับเราว่า สิ่งนั้นคือการ acknowledge หรือการทำให้ลูกรู้ว่า เขากำลังเข้าสู่วัยรุ่นแล้ว และอาจมีการเปลี่ยนแปลงอยู่สองสามเรื่องเกิดขึ้นกับเขา ซึ่งพ่อแม่ต้องเปลี่ยนแปลงตามลูก

“หลายครั้งพ่อแม่อาจจะช่วยเหลือลูก แต่ไม่ได้แปลว่าการช่วยเหลือนั้นจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้วนะ มันเกิดขึ้นได้นะถ้าหากลูกมาร้องขอ แต่บางครั้งพ่อแม่อาจจะไม่ได้หยิบยื่นความช่วยเหลือไปหาลูกโดยตรงทันที เพราะแม่รู้สึกว่า ลูกเราโตแล้ว หรือการที่ลูกรู้สึกว่า ‘แม่ไม่รักหนูแล้วเหรอ ทำไมแยกห้อง’ เราก็ต้องอธิบาย

“พรีทีนคือวัยที่เขาโตพอจะรับรู้คำอธิบายแล้ว เพื่อป้องกันความกังวลในอนาคต 

เขาจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะมันยังไม่เกิดขึ้น”

ท้ายที่สุด พรีทีนไม่ใช่แค่ช่วงเวลาที่ลูกต้องข้ามผ่านเท่านั้น แต่พรีทีน คือวันที่พ่อแม่ต้องถอยด้วย เพื่อให้เขามีพื้นที่ได้งอกงามเติบโต

“ปั๊มน้ำมันต้องมีเวลาปิดเปิดบ้าง เราเคยให้เขาเติมได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง จนถึงเวลาหนึ่ง เราต้องบอกเขาว่า ปั๊มน้ำมันมันมีเวลาปิดนะลูก ลูกต้องดูว่าจังหวะไหนจะออกไป จังหวะไหนจะกลับเข้ามา มันคือการวางแผนชีวิต ไม่อย่างนั้นลูกจะขับรถเรื่อยเจื้อย พอน้ำมันหมดก็ขับรถมาเติม”

วันใดวันหนึ่ง ลูกของเราจะต้องวางแผนระยะทางที่กำลังมุ่งหน้า คำนวณและสำรวจเส้นทางที่เขาอยากไปให้ถึง ประเมินน้ำมันในถังว่ามีมากน้อย เพียงพอ หรือขาดเหลือ แล้วเขาจะรู้ว่า เมื่อกลับมาหาปั๊มน้ำมันที่ชื่อว่าพ่อแม่ เขาจะร้องขอความช่วยเหลืออย่างไร 


Writer

Avatar photo

อรสา ศรีดาวเรือง

ลูกสาวชาวประมงผู้ว่ายน้ำไม่เป็น ตกหลุมรักอีสานพอๆ กับหลงใหลในท้องทะเล เรียนจบมหาวิทยาลัยด้วยการเข้าห้องเรียนกับชาวบ้าน จึงได้ F เป็นรางวัลแห่งความพยายามหลายตัว

Photographer

Avatar photo

พิศิษฐ์ บัวศิริ

เรียนจิตรกรรม แต่ดันชอบถ่ายรูปด้วย ทำงานมาสารพัด กราฟิก วาดรูป ถ่ายรูป อะไรก็ได้ที่ใช้ศิลปะเป็นส่วนประกอบ ติดเกมตั้งแต่เด็กยันแก่ รักการฟังเพลงเมทัล แต่พักหลังดันเป็นโอตะ BNK48

Related Posts