มนุษย์ทิ้งความเปราะบางของตัวเองตลอดเวลา ทิ้งอย่างสม่ำเสมอ และคลำหาสิ่งนั้นในตัวของมนุษย์อีกคนหนึ่งอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว คนที่สามารถรองรับ อุ้มประคองไว้ ใส่ใจดูแล โมงยามแห่งความรักนั้นอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเราเห็นสิ่งที่เหมือนกันในตัวคู่รัก ตรงกันข้าม การตกหลุมนั้นคือการวาร์ปนั่งไทม์แมชีนย้อนไปในวัยเด็ก ตัวตนบางอย่างที่เราทิ้งไว้นั่นแหละที่เรามักจะเห็นมันในตัวของคู่รัก
เธอร่างจิ๋วและเขาร่างจิ๋วตกหลุมรักกัน เฝ้ามองมันเจริญเติบโตงอกงามและปั้นแต่งชีวิตไปด้วยกันหลังจากนั้น ให้ความสัมพันธ์ที่ก้าวย่ำไปด้วยกันเป็นห้องแล็บของการทดลอง Voice Dialogue หรือ การสนทนากับเสียงภายใน เกิดขึ้นเพราะเธอและเขาทั้งคู่นั้นคือ ดร.ฮัล และซิดรา สโตนส์ (Dr.Hal & Sidra Stones) นักจิตวิทยาที่ศึกษาศาสตร์ทางจิตวิทยาสาย คาร์ล ยุง (Carl Jung)
ลักษณะตัวตนย่อยต่างๆ (subpersonalities) หรือ selves ของทั้งคู่ถูกนำมาวิเคราะห์อย่างละเอียดอ่อนโยน จะเรียกว่าเป็นการทำวิธีวิทยา (methodology) โดยใช้ธรรมชาติของความสัมพันธ์นำพาก็ว่าได้
“ก่อนจะพบกัน ทั้งคู่แยกทางกับคู่ชีวิตเดิม ฮัลมีลูกสาวและลูกชาย แต่ลูกชายเสียไปแล้ว ซิดรามีลูกสาวสามคนจากอดีตสามี ถ้าจะเข้าใจ Voice Dialogue จากมุมนี้ก็จะเห็นว่ามันถูกสร้างมาจากความสัมพันธ์ของคนสองคน นี่คือตัวสำคัญ ถ้าจะขยับเข้าไปให้เห็นภาพอีกนิดหนึ่งก็คือความสัมพันธ์ของเรากับคนอื่นขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของเราที่มีต่อด้านต่างๆ ของตัวเราเอง อย่างเรามีด้านของเด็กเล็กๆ อินโนเซนท์ ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ไม่ได้คาดหวัง ไม่ได้มีอำนาจอะไร แล้วเราก็เจอเด็กเล็กของอีกคนหนึ่ง จากนั้นเราก็อินเลิฟ”
‘อู๊ด’ สมพล ชัยสิริโรจน์ ผู้สำรวจตัวตนผ่าน Voice Dialogue หรือ Voice Dialogue Facilitator บอกเราก่อนเลยว่าการจะ ‘เล่า’ ให้ฟังว่า Voice Dialogue คืออะไรนั้นเป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะสุนทรียศาสตร์ในการสำรวจเสียงภายในครั้งนี้ควรทำในเวิร์คช็อปจะเข้าใจลึกซึ้งมากกว่า แต่ในเมื่อเราได้คนคุ้นเคยที่เชี่ยวชาญด้านศาสตร์ของการเป็นคุณแม่พรีเมี่ยม หรือคุณแม่ผู้โลดแล่นอยู่ในวงการการศึกษาและการเล่นกับลูกด้วยความรู้ ‘แม่บี’ มิรา เวฬุภาค ซีอีโอและผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มการเรียนรู้ mappa จึงกลายเป็นบทสนทนาผ่านมุมมองของคุณแม่ ภรรยา มนุษย์ และผู้ที่เคยสำรวจเสียงภายในของตัวเองมาก่อน
“เราตกหลุมรักกันยังไงนะอาอู๊ด”
แม่บีเริ่มต้นด้วยประโยคนี้ เรามาตั้งวงสนทนากับอาอู๊ดเรื่องการใช้ Voice Dialogue สื่อสารภายในครอบครัวก็จริง แต่บทสนทนากึ่งนามธรรมแสนละเอียดยิบนี้นำพาเราไปไกลในเรื่องความรัก ความเหมือนจะรัก ความมีตัวตน ความไร้ตัวตน การถูกทิ้ง การถูกเก็บ ปะปนกันไปในโลกอันยุ่งเหยิงซับซ้อนของความสัมพันธ์
อาอู๊ดคลี่ยิ้ม จากนั้นจึงเริ่มเล่าเรื่องที่รสชาติคล้ายคลึงกับภาพวาดสีน้ำของศิลปินโนเนมที่นั่งสร้างผลงานแสนพิเศษไว้ที่มุมใดมุมหนึ่งของเมือง
disown การเป็นพ่อแม่ต้องทิ้งอะไรบ้าง ทิ้งอะไรแบบไม่รู้ตัวไปแล้วบ้าง
“สิ่งที่เราเรียกว่า personality ของเราเนี่ยมันประกอบด้วย subpersonality หรือลักษณะตัวตนย่อยต่างๆ ซึ่งมีหลากหลายมากมาย แต่แบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ สองกลุ่มคือกลุ่มที่เรียกว่า protector ซึ่งมันเป็น subset ของ primary selves หรือลักษณะตัวตนหลัก เราเรียนรู้ primary selves บางด้านจากพ่อแม่เราตั้งแต่วินาทีแรกที่เราเกิดมา เช่น พอหิวนมก็ลองร้องไห้ แล้วได้กินหรือไม่ได้กิน สิ่งที่เด็กทารกทำได้ก็คือแหกปาก พอแหกปากเสร็จ ลองทำอะไรสักอย่างดู เราเรียกว่า pusher เช่น ถ้าแหกปากร้องไห้ไม่หยุดอาจจะไม่ได้อิ่มและไม่ได้อุ่น เพราะฉะนั้นต้องทำอะไรบางอย่างให้อีกคนพอใจด้วย เพราะฉะนั้นตัวแหกปากคือ pusher
“สิ่งที่ตามมาจาก pusher คือ pleaser ยูต้องทำอะไรซักอย่างให้อีกคนหนึ่งมีความสุข แต่เด็กทารกไม่ได้คิดด้วยเหตุผลนะ อาจจะเรียกว่าเป็นสัญชาตญาณทั้งหมดเลยก็ได้ เมื่อเราเป็น pleaser แล้ว เราก็ต้องรับผิดชอบเขาด้วย”
งั้นสามารถพูดได้ว่าปฏิกิริยาตอบโต้ของพ่อแม่สำคัญมากในการสร้างตัวตนของเด็กคนหนึ่งขึ้นมาใช่ไหม แม่บีเริ่มถาม
“สำคัญ สำคัญมาก แต่ถ้าจะตั้งเป้าเลี้ยงลูกให้ได้ดี เราจะต้องไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ยูก็จะเกิดปัญหาอีกแบบตามมาทันที คือหมายความว่ายูจะพยายามทำทุกอย่างไม่ให้เกิดกระบวนการการสร้างตัวตน ซึ่งไม่ได้ เพราะงานของคุณไม่ใช่การขัดขวางธรรมชาติของลูก เช่น ถ้า please แล้ว ลูกจะเป็นคนแบบนี้ ฉันเลยไม่ please นี่ไม่ถูกต้องเพราะเรารู้สึกว่าลูกเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ ต้องจัดการซะ เช่น ฉันเคยพลาดอะไรมาแล้วฉันจะไม่ให้เธอพลาดอีก”
แม่บีหัวเราะร่าพร้อมบอกว่าความเป็นแม่พรีเมี่ยมของตัวเองนั่นล่ะที่ขับอยากให้ลูกต้องพรีเมี่ยมไปด้วยในแง่ที่ว่าอยากจะเลี้ยงลูกให้ดีที่สุด
“พอเด็กอายุหลังสามขวบ เขาจะเริ่มใช้เหตุใช้ผลเพื่อควบคุมได้แล้วว่าจะถ่ายตอนไหน กินตอนไหน แต่เขาจะไม่สามารถแยกออกได้ว่าถ้าไม่ถ่ายเดี๋ยวแม่จะไม่มีความสุข ถ้าไม่กินเดี๋ยวจะมีปัญหา ทั้งๆ ที่อาจจะไม่ได้อยากกิน แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคือเด็กก็จะเริ่มสำรวจ selves และ sub-identity ที่จะตอบสนองกับสิ่งต่างๆ รอบตัว ตรวจสอบว่าใครก็ตามที่อยู่รอบเขาแฮปปี้ อยู่รอดปลอดภัย ในขณะที่อีกด้านหนึ่งก็ disown หรือปฏิเสธลักษณะตัวตนอีกด้านของตัวเองออกไป”
เช่นเวลาที่คุณแม่บอกว่าเอ้า สวัสดีสิลูก ไหว้เขา เป็นมารยาทนะ แต่คุณแม่เองก็ไม่เคยไปอธิบายให้ลูกฟังอย่างจริงๆ จังๆ เลยว่าทำไมเขาถึงต้องไหว้ป้าคนนี้อย่างนอบน้อมแม้ว่าจะไม่เคยเห็นหน้ามาก่อนเลยในชีวิต
“แม่บางคนทำเป็นเรื่องเลย ว่าไปถึงทำไมปู่ย่าตายายไม่รู้จักสอน นั่นเพราะในขณะที่เราพัฒนา primary selves จะมีอีกด้านหนึ่งที่เป็นขั้วตรงข้ามของ disown สิ่งที่เรา disown ไปก็คือความสุขของเรา ความต้องการของเราจริงๆ เราต้องยอมละทิ้งบางอย่างเพื่อให้คนอื่นพอใจ แต่ประโยคนี้ไม่ได้มีนัยบอกว่าเพราะฉะนั้นเราต้องเอาความต้องการของตัวเองเป็นหลัก เอาของคนอื่นเป็นรองนะ แต่เมื่อเราสร้างบางอย่างขึ้นมาใน personality ของเราเนี่ย เรามักจะลืมบางอย่างที่มันตรงกันข้ามไปเสมอ ถ้าพูดในภาษากลางๆ ด้านที่เราลืมมากที่สุดก็คือด้านที่เป็นเด็ก
“เพราะเราต้องโตเป็นผู้ใหญ่” แม่บีจบประโยคให้ก่อนที่อาอู๊ดจะว่าต่อ
“เพราะเราต้องโตเป็นผู้ใหญ่ และลูกต้องโตไปตามกระบวนการนี้แหละ จะเรียนรู้ที่จะเลือกหรือไม่เลือก ผมใช้คำว่ารู้ทัน เช่น ถ้ายูจะ please คนอื่น ยูจะต้องทิ้งความรู้สึกของตัวเอง แต่ถ้ายูจะดูแลความรู้สึกของตัวเอง ยูจะลืมคนอื่น แต่ถ้ายูลืมคนอื่นมันก็จะมีปัญหาตามมาอีกเหมือนกัน มันไม่ใช่ว่าเราต้องเลือกข้างไหน แต่เป็นการเห็นทั้งสองข้าง มีคุณค่าพอๆ กัน แล้วในสถานการณ์เฉพาะหน้ายูจะเลือกอะไร”
การ make choice (ตัดสินใจเลือก) กับ make real choice (ตัดสินใจเลือกจากตัวเลือกที่เป็นตัวเลือกที่แท้จริง) นั้นเกิดขึ้นจากความรู้ทัน หากเราไม่รู้ทันด้านตรงข้ามของตัวเอง มนุษย์ก็มีแนวโน้มที่จะตัดสินใจตาม primary selves ของตัวเองอย่างหมดจด
“แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือเราจะทิ้งบางด้านของเราไป โดยที่เรารู้สึกว่าถ้าจะใช้ด้านนั้นหลายครั้งจะทำให้เรารู้สึกผิด อย่างเช่น บีเป็นคนขยัน บีจะขี้เกียจไม่ได้ ความขี้เกียจเป็นเรื่องแย่ จะตัดสินว่าความขี้เกียจเป็นเรื่องไม่ดี ซึ่งนี่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่มันขี้เกียจไม่ได้
“กลับไปที่เด็ก เด็กไม่มีโอกาสเลือก เพราะเขาถูกสิ่งแวดล้อม shape มันขึ้นมา เขามีแม่แบบไหน มีครอบครัวแบบไหน มันขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่เขาเจอหรือเขาไม่มีเลย เขาโตขึ้นมากับการ stereotype (การเหมารวม) แบบไหน ซึ่ง primary selves ของเขาอาจจะไม่ใช่ตัวเขาเองที่เลือก” แม่บีแบ่งปันประสบการณ์
Voice Dialogue จึงสำคัญมากในช่วงที่พ่อแม่คราฟต์ลูกขึ้นมา คำว่าตัวตนในภาษาไทยอาจจะหมายความถึง primary selves เสียเป็นส่วนใหญ่ แต่จริงๆ แล้วปัจจัยในการเติบโตของเด็กน้อยที่จะฟังเสียงของตัวเองได้อย่างอยู่มือนั้นต้องผ่านปัญหา ความล้มเหลว และโดนสิ่งแวดล้อมรอบตัวตัดสินอะไรหลายต่อหลายอย่างให้ก่อน เพราะแม้แต่ตัวพ่อแม่ ในโมงยามที่ต้องควบคุมตัวเองก็ยังกดด้านหนึ่งของตัวตนไว้แล้วสร้างอีกด้านหนึ่งขึ้นมาเหมือนกัน
“สิ่งสำคัญคือเรา make choice ยังไง เราทำอยู่ทุกวันจากการทำสิ่งนั้นไม่ทำสิ่งนี้ ชอบสิ่งนั้น ไม่ชอบสิ่งนี้ แต่เราพอจะตอบตัวเองได้มากขึ้นไหมว่าเรา make real choice หรือ make choice เฉยๆ
“real choice คือสำนวนของดอกเตอร์สโตนส์ real choice เกิดจาก aware ego ซึ่งมันคือการที่เรารับรู้ตัวเราเองว่า อ๋อ ตัวเรามีด้านนี้”
รากศัพท์ของ ego มาจากภาษาละตินที่แปลว่า ‘ฉัน’ ดังนั้น aware ego process คือกระบวนการที่ฉันจะตระหนักรู้การเป็นตัวฉันเอง ซึ่งไม่ชัดเจนและมีสเป็กตรัมในตัวของมันเอง แต่คำถามคือเมื่อเรามีชุดข้อมูลเกี่ยวกับตัวเองมากมาย อาจจะเข้าใจไปถึงขั้นการ make real choice เสียด้วยซ้ำ แต่การตัดสินใจในชีวิตบางครั้งไม่สามารถเกาะไว้กับความไม่ชัดเจนเหล่านั้นได้ตลอดเวลา ยิ่งเรื่องความสัมพันธ์ยิ่งเป็นเรื่องยาก อาอู๊ดจึงโยนตัวอย่างหนึ่งมาให้
“ผมเคยนั่งไปกับคนรถและลูก เมื่อสั่งงานคนรถแล้วเขาไม่ทำผมก็ดุ ลูกก็ดันมาแก้แทนคนรถ จากนั้นผมก็ไม่พูดกับเขาเลยเป็นวันจนเขาเดินมาถามว่าปะป๊าไม่รักหนูแล้วเหรอ ผมเลยตอบไปว่า พ่อรัก รักมากด้วย แต่พ่อขอบอกหนูอย่างหนึ่งว่าถ้าหนูทำแบบเมื่อวาน ยังไงพ่อก็โกรธ เพราะพ่อกำลังสอนงานคนของพ่ออยู่
“ในช่วงเวลานั้นสิ่งที่ผมค้นพบเองก็คือด้านหนึ่งของเรารักลูกสุดใจ แต่การรักใครสุดใจเราก็ยังรับรู้ว่ามันก็ยังมีพื้นที่หนึ่งที่เป็นพื้นที่ของเรา ไม่ปล่อยให้คนข้ามเส้นนี้มาได้ รักก็รัก ทะเลาะก็ทะเลาะ เห็นไหม มันมี choice มากกว่าเดิม”
“อาอู๊ดเลือกจะไม่ดุลูกก็ได้ ผลลัพธ์ก็จะเป็นอีกแบบนึง ซึ่งอาอู๊ดตระหนักแล้วว่ามันจะเป็นแบบนี้ พอยอมรับได้ว่าพ่อเป็นแบบนี้ ลูกเป็นแบบนี้ จะเกิดความสัมพันธ์แบบนี้ เวลาเลี้ยงลูกตั้งแต่เด็กเล็กก็เหมือนกัน เราไม่ได้บอกว่าเราจะเลี้ยงลูกให้ดีที่สุดได้ยังไง แต่เรารู้ผลลัพธ์ทั้งหมดว่าเราเป็นแบบนี้”
แม่บีเสริม แต่ผลลัพธ์ที่ว่าก็ยังเป็นเรื่องนามธรรมมาก เราจะล่วงรู้มันทั้งหมดได้หรือ
“เราไม่รู้ว่า stack ที่เราถืออยู่คืออะไรเลยจนกระทั่งถึงวันที่เรามีความสัมพันธ์ เราเพิ่งรู้ในวันแต่งงานว่าฉันเป็นคนขยันและฉันเป็นเพอร์เฟ็คชันนิสต์ พอมีขั้วตรงข้าม เช่น พอเห็นสามีนอนกลางวัน หรือปล่อยให้บ้านรกเวลาที่เขาอยู่กับลูก เดินไปถึงจังหวะที่เขากำลังนั่งไถโทรศัพท์อยู่ จะคิดเลยว่าถ้าเป็นฉันอยู่นะบ้านไม่มีทางรก ฉันจัดการได้ดีกว่า ถ้าไม่มี Voice Dialogue จะไม่มีทางรู้เลยว่า stack หรือ primary selves ที่เราถืออยู่คือความเป็นเพอร์เฟ็คชันนิสต์ ความจัดการทุกอย่างลงตัว ความขยัน ความที่พักไม่ได้”
แม่บีเล่าต่อ อาอู๊ดจึงเสริมเรื่อง primary selves ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
“เวลาที่เราไปชอบใครสักคน ทำไมเราถึงชอบเขารู้ไหม เพราะเขาทำบางอย่างแทนเราได้ จังหวะที่ฮอลกับซิดราเจอกัน มันมีความเปราะบางอยู่ แล้วเราทิ้งความเปราะบางของเราตลอดเวลา แต่จริงๆ แล้วมันไม่ได้ถูกทิ้งไปไหน มันอยู่ในตัวเรานี่แหละแต่ไม่ได้ไปดูแล เหมือนกับว่าเราอุ้มเด็กอยู่แต่เราไม่ได้ดูแลเด็ก หันไปเจอใครก็คิดว่าดีจัง ดูแลเด็กแทนฉันหน่อย
“เรามอบความเปราะบางตรงนี้ให้อีกคนดูแล แล้วเราก็คาดหวังว่าเขาจะดูแลมันตลอดเวลา ตามจังหวะเวลา แล้วเราไม่ต้องดูแล เราไปทำอย่างอื่นแทน นี่คือจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งในความสัมพันธ์ เพราะไม่มีใครสามารถที่จะดูแลด้านนี้ของเราได้ทุกเรื่องทุกครั้ง วันไหนที่เรารู้สึกว่าเขาดูแลก็อินเลิฟ แต่ถ้าวันหนึ่งเขาไม่ทำด้วยเหตุผลใดก็ตาม ก็มีปัญหาแล้ว”
มันจึงไม่ใช่แค่เรื่องของคู่รักหรือคู่สามีภรรยา แต่มันคือรูปแบบความเปราะบางที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน อย่างน้อยก็จากตัวอย่างที่แม่บีกำลังจะเล่า
“แม่ของบีเป็นคนทำงานหนักมาทั้งชีวิตเพราะอยู่ในบ้านคนจีน เขามีทัศนคติในชีวิตว่าลูกสาวทั้งสามคนต้องเป็นเจ้าหญิง ห้ามทำงานหนัก แต่เราเป็นคนทำงานหนัก แม่พูดไว้ตั้งแต่เล็กว่าฉันเลี้ยงเธอให้เป็นเจ้าหญิงไม่ได้ให้เป็นกรรมกร แต่ปรากฏว่างานแรกที่เราทำต้องกลับบ้านตีสองทุกวัน แม่หัวเสียมาก เรารู้สึกว่าเขาล้มเหลว เขาไม่ได้เลี้ยงให้เราเป็นแบบนี้
“ถ้าตามที่อาอู๊ดเล่ามาคือเขา disown ความเป็นเจ้าหญิง และเขามองว่ามันน่าจะเกิดในชีวิต พอทำกับเราไม่สำเร็จก็ไปทำกับน้องคนเล็ก เขาจะมีความชื่นชม สปอยล์สุดๆ ส่งเรียนเมืองนอก ให้ใช้แบรนด์เนมทุกอย่าง เป็นเจ้าหญิงสุดๆ เขาจะรู้สึกว่าเขาชื่นชมลูกคนเล็กมากที่สุดเพราะตอบโจทย์ชีวิตเขาได้มากที่สุด”
นั่นหมายความว่าพ่อแม่ที่ disown บางอย่างในตัวเองไปก็จะคาดหวังกับลูกในสิ่งนั้นหรือเปล่า อาอู๊ดตอบคำถามนี้ว่า
“พ่อแม่ที่มีลูก โดยความเป็นลูกมันคือ disown ของเขา เรามีลูกในวัยผู้ใหญ่ ชีวิตจากศูนย์ถึงอย่างน้อยยี่สิบ สามสิบ สามสิบห้า เมื่อเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เรารู้แล้วว่าเราจะต้องเติบโตมีชีวิตในโลกนี้ยังไง เมื่อมีพาวเวอร์มากๆ เราก็ลืมเด็กคนนั้น เด็กที่งอแง เด็กที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
“พอเป็นทารกแล้วมันทำได้แค่สองอย่างคือไม่แหกปากก็ดิ้น ดังนั้นถ้าเช้านี้เราตื่นมาทำได้แค่สองอย่างนี้ เราตายแน่นะ เพราะฉะนั้นผู้ใหญ่ทุกคน disown ความเป็นเด็กหมด จนกระทั่งวันหนึ่งมีลูก ลูก นำพาความเป็นเด็กที่เขา disown ไป นี่ยังไม่พูดถึงนิสัยใจคอเลยนะ แค่ความเป็นเด็กกลับเข้ามาในชีวิต สิ่งที่พ่อแม่จะต้องเรียนรู้คือ นอกเหนือจากคำถามว่าฉันจะเลี้ยงลูกยังไง คือเมื่อฉันมีลูก ฉันจะค้นพบความเป็นเด็กในตัวฉันได้มากแค่ไหน”
การแต่งงานจบลง ณ เวลาที่ลูกลืมตาดูโลก
‘ลูก’ คือปัจจัยสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ ชีวิตรัก ความผูกพัน และสิ่งที่ร่วมสร้างกันมาคลายลงในแง่ที่ว่าพวกเขาจะต้องทำเพื่อลูกในแบบของตัวเอง แน่นอนว่าไม่มีผิดไม่มีถูก และในบางครั้งก็ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าทำอะไรหล่นหายไปในระหว่างทางที่มีชีวิตจิ๋วโผล่ขึ้นมา
อาอู๊ดเล่าย้อนให้ฟังว่าความรักที่เรามี มักมีภาพของหนุ่มสาวที่โตแล้ว แท้จริงก็คือเด็กสองคนที่ยืนประชันหน้ากันและมองเห็นตัวเองผ่านกระจกตาหรือกระจกใจของอีกฝ่าย
“เราจะชอบคนที่ตรงข้ามกับเราหรือมีบุคลิกตรงข้ามกับเราโดยที่เราไม่รู้ตัว แล้วเราก็ไม่ได้ชอบตรง primary selves แต่ชอบที่เด็กสองคนมาเจอกัน เด็กสองคนไม่ได้สนใจเกี่ยวกับโลก วันที่เรา falling in love มันไม่มีข้อจำกัดอะไรเลย มันไม่ได้เป็นเหตุผล มันไม่มีคำว่าทำเพื่ออะไร แต่เป็นแค่เด็กสองคนที่ connect กัน แต่เมื่อมันพัฒนาขึ้นมาเป็นความสัมพันธ์ระยะยาว (long-term relationship) ไม่ได้หมายความว่าเป็นการแต่งงานนะ เพราะสำหรับบางคนการแต่งงานก็ไม่ใช่คำตอบ แต่ความสัมพันธ์ระยะยาวนั้นจะยาวแค่ไหนก็ไม่รู้
“ในชีวิตจริง ถ้าเราไม่ได้เชื่อมต่อกับความเปราะบางเหมือนเดิม หรือความเปราะบางนั้นเชื่อมต่อกับสิ่งที่อยู่ลึกลงไป เกิดขึ้นในระดับเด็ก inner child (เด็กน้อยภายใน) ของเรา ความเปราะบางตรงนั้นมันหายไปตอนไหน อันนี้โควทเลยนะ ‘The marriage ends the day the first baby born.’ ”
แม่บีพยักหน้าอย่างจริงจังมากพร้อมเสริมทันที
“ทุกอย่างไปอยู่ที่ลูกหมดเลย เพราะว่าตอนแรกเรา disown เราอยู่ที่คนข้างๆ เรา แต่ตอนนี้ disown มาอยู่ที่เด็กน้อย แล้วดันเป็นตัวที่เราอยากได้อีก จะสร้างยังไงก็ได้อีก
“ก็ไม่ใช่ความผิดของลูกและไม่ใช่ความผิดของเรา ประเด็นอยู่ที่ว่าถ้าเราสองคนรักกันดูดดื่ม ตัดสินใจที่จะมีความสัมพันธ์ระยะยาว แต่สุดท้ายตรงนี้หายไปแล้ว และไม่มีใครรู้ตัวด้วย ด้วยเหตุผลที่ดีด้วยว่าฉันจะทำเพื่อลูก ต่างคนต่างทำเพื่อลูก แล้วเราก็ลืมให้ดอกไม้วันสำคัญกันไป ลืมอีกหลายๆ อย่าง เหมือนว่า out of sight (นอกสายตา) กันไปแล้ว”
“เราก็พยายามจะคาดหวังให้เด็กคนนี้ดีกว่าสิ่งที่เรา disown เสร็จแล้ว บางคนเลี้ยงลูกไปด้วยแล้วไม่ได้ดูแลคู่ไม่เท่าไหร่ แต่บางคนเลี้ยงลูกไปด้วยจนกระทั่งไม่ได้ดูแลตัวเอง เอาชีวิตทั้งชีวิตเสียสละเพื่อลูก ถามว่าดีไหม มันก็ดี ลูกเขาคงได้อะไรดีๆ แต่มีอะไรเสียไหม ก็เสียทั้งสองข้าง แต่ไม่ได้แปลว่าใครผิดนะ มันกลับมาที่ประเด็นเดียวเลยคือคุณรู้ตัวไหม ถ้าไม่รู้ตัวความสัมพันธ์จะเริ่มมีปัญหา” อาอู๊ดเพิ่มเติม
“สามีของบีเคยพูดเลยนะว่าคุณต้องทำงานหนักขนาดนี้เลยเหรอ ไม่เห็นว่าการจะสร้างชีวิตต้องทำงานหนักขนาดนี้เลย มันเป็นสิ่งที่บีควบคุมไม่ได้เพราะฉันเป็นแบบนี้
“บีรู้สึกว่า Voice Dialogue ช่วยจัดคำถามว่าชีวิตที่ดีที่สุดคืออะไร แต่ไม่ได้พาไปหาชีวิตแบบนั้น มันคือการสำรวจกระบวนการของชีวิต เพื่อให้เข้าใจว่ามันสร้างตัวตนมายังไง และเราอยู่กับมันแบบเข้าใจ” แม่บีเสริมต่อ
“ถ้ามีลูกแล้ว การเชื่อมต่อระหว่างสองคนหายไปเพราะไปอยู่ที่ลูกหมด เราจะเอากลับมายังไง ถ้าตอบแบบเรานะคืออยากได้อะไรก็ให้ก่อน ให้ไปแล้วเขาจะคืนมาไหมก็ไม่รู้ แต่ให้ไป มันมีโอกาสมากกว่า สิ่งที่ขับเคลื่อนให้เราอยู่กับมันมา 20 กว่าปี เพราะเรารู้ว่าความสัมพันธ์ การแต่งงาน หรือชีวิตคู่ของเรานี่ใช้ความรู้ชุดเดิมเอาไม่อยู่ เพราะเราสองคนต่างกันมาก มันต้องเวิร์คเข้าหากัน ซึ่งเขาก็เวิร์คของเขานะ
“ตอนที่เตือนสติกัน ทะเลาะกันมากๆ เขาจะถามว่าตกลงจะอยู่กันจนถึงแก่เฒ่าหรือเปล่า ชีวิตมันเป็นแบบนี้ มันไม่มีอะไรแน่นอนสมบูรณ์ อยู่ที่ว่าเราอยู่กับมันยังไง แล้วคำว่าอยู่กับมันยังไงในแง่ของ Voice Dialogue คือเรา hold tension (จัดการความตึงเครียด) ของมันได้ไหม เราก็อยากจะเป็นตัวของเราเอง แต่เราก็ห่วงเขา แต่ในขณะที่ห่วงเขามากเราก็ลืมตัวเราเอง พอเรารู้ว่ามันเกิดขึ้นเราจะมี choice มากขึ้น” อาอู๊ดแลกเปลี่ยน
สรุปแล้วการตกหลุมรักนั้นสำคัญมากเท่ากับการหาทางอยู่ในหลุมนั้นหรือเปล่า
ปัญหาและอุปสรรคคือด่านในชีวิตที่ใช้กระบวนการ Voice Dialogue ตรวจสอบได้ดี สำคัญกว่านั้นคือมันคลายน็อตแห่งความยึดติดในตัวตนที่เราควบคุมไม่ได้เอาไว้และเตือนใจเสมอว่าความสัมพันธ์ที่ดีที่สุดในโลกนั้นไม่มีแต่เป็น primary selves ที่เราต่างแบกปูนก่ออิฐเอาไว้อย่างแน่นหนา
“Voice Dialogue คือการมากางว่าชีวิตจริงๆ มันคืออะไร และยอมรับว่าชีวิตคือแบบนี้ เราจะตอบโต้กับชีวิตเราได้ยังไงให้โอเคขึ้น เข้าใจขึ้น มีความสุขมากขึ้น มันทำให้อยู่แบบเข้าใจชีวิตมากขึ้น เราจะหายเครียดจากการเลี้ยงลูกเมื่อเรา let go (ปล่อยวาง) ว่าสิ่งที่ดีที่สุดไม่มี ลูกที่ดีที่สุดที่เราตั้งไว้จากจิตใต้สำนึกมันไม่มี” แม่บีเล่าจากประสบการณ์ตรงด้วยน้ำเสียงเรียบนิ่ง
พ่อแม่ที่ต้องดูแลลูกสักคน เขาต้องรู้ไหมว่าลูก disown อะไรไป
“เขาต้องรู้ตลอดว่าเขา disown อะไรไป” อาอู๊ดตอบทันทีพร้อมกับแม่บีเสริมขึ้นมา
“จริงๆ สำหรับบีนะ เราแค่รู้ว่ามีสิ่งที่เราเลือกไว้และมีสิ่งที่เราทิ้งไป และเรารู้ว่ามันมีกระบวนการนี้อยู่ในชีวิตก็ช่วยมากแล้วนะ เพราะเราจะรู้ว่าสิ่งที่เราทำไปทำให้ลูกทิ้งบางอย่าง แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ทำให้ลูกไม่ทิ้งนะ เวลาที่เราพูดว่าเคยเห็นคนที่ใช้ชีวิตด้วยเหตุผลไหม ใช้ชีวิตด้วยเหตุผลมันคือ primary selves ของเขา ทุกอย่างต้องเป็นเหตุเป็นผลอย่างนั้นนี้ เราก็พูดว่าโหย ใช้ชีวิตแบบไม่มีเหตุผลบ้างสิ ซึ่งเขาทำนะ แต่เขาทำแบบไม่รู้ตัว เขาเลือกไม่ได้ เขาเลือกที่จะไปใช้ชีวิตแบบนั้นไม่ได้
“สมมุติว่าเราปักใจว่าลูกจะเป็นนักไวโอลิน แล้วความสำเร็จคือการที่เขาต้องควบคุมตัวเองเพื่อเป็นนักไวโอลิน แล้ววันหนึ่งเขาล้มเหลว นี่เป็นคำถามที่ท้าทายนะ ที่พ่อแม่บอกว่าลูกพลาดได้น่ะ พลาดได้จริงไหม แค่พูดมันพูดได้ แต่วันที่เขากำลังจะพลาด เราก็จะจัดการทุกอย่างให้เขาไม่พลาดอยู่ดี แต่ลองกระเถิบมาที่ Voice Dialogue วันที่ลูกพลาดเราเข้าใจว่านี่คือกระบวนการของชีวิต มุนษย์ต้องยืนต้องล้ม”
คำถามแบบกำปั้นทุบดินเพื่อทำความเข้าใจ Voice Dialogue เลยคือหากมันไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอย่างตรงไปตรงมา มันจะนำไปสู่หนทางแก้ปัญหาของหัวใจที่เจ็บปวด ความสัมพันธ์ยุ่งเหยิง หรือความร้าวรานที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่เราต่างทำร้ายกันได้ไหม
“บีรู้สึกว่าชีวิตคือการยอมรับว่าชีวิตมีขึ้นมีลง มีโอเค มีไม่โอเค ซึ่งเราไม่เคยยอมรับมันจริงๆ พอเราไม่ยอมรับ สิ่งนี้จึงก่อให้เกิดปัญหาทั้งในชีวิตเราและชีวิตลูก เพราะถ้ากลับไปถามว่าลูกล้มเหลวได้จริงหรือเปล่า ถ้าเรามองเห็นว่ากระบวนการล้มเหลวเป็นแค่ส่วนหนึ่งของชีวิต เราก็จะรู้สึกว่าได้ ได้จริงๆ” แม่บียิ้มปิดท้าย
“เอาเป็นว่าทำให้เราตัดสินใจทำอะไรบางอย่างโดยที่มีโอกาสแตกต่างกว่าเดิม เพราะถ้าเราไม่รู้ตัว เราจะตัดสินใจตามแพทเทิร์นของ primary selves ซะส่วนใหญ่ แต่เมื่อเราเริ่มรู้สึกว่าฉันเป็นแบบนี้นะ มันต้องอยู่กับความไม่โอเคได้ ไปสักพักหนึ่ง ตรงนี้มันจะขัดกับความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ เพราะเราคาดหวังว่าการเป็นครอบครัวมันต้องราบรื่น ซึ่งมันก็มีโอกาสราบรื่น แต่เวลาที่มีความขัดแย้ง ลึกๆ คือเรารู้สึกล้มเหลวเพราะครอบครัวที่ดีควรจะอยู่เย็นเป็นสุข ซึ่งก็จริง แต่ในข้อเท็จจริงคือมันก็อยู่เย็นมั่งร้อนมั่ง”
ยังคงยากมากอยู่ดีที่จะเข้าใจ Voice Dialogue ด้วยการอ่าน เพราะเสียงคือศิลปะที่อาศัยการฟัง ยิ่งในความสัมพันธ์ของครอบครัว พ่อแม่ คนรัก การสำรวจเสียงและรู้ว่าเรา disown อะไรไปจะเพิ่มตัวเลือกให้กับรอยยิ้มและการพยักหน้าทำความเข้าใจระหว่างกันที่มากขึ้น
มนุษย์ต่างเปราะบางและคาดหวังให้ใครสักคนเดินเข้ามารองรับมันไว้ เข้าใจมันทุกกระเบียดนิ้วและหลีกเลี่ยงที่จะนั่งคุยกับมันนานๆ ไม่ใช่ทุกคนที่ถามหาความเศร้าแล้วเข้ากับมันได้เพราะน้อยครั้งที่มันจะพูดจากับเราดีๆ
แต่หากเราเข้าใจว่าโลกก็เป็นแบบนี้ มนุษย์มีหน้าที่ดิ้นรนไปพร้อมๆ กับการพยักหน้ายอมรับมัน เมื่อเราตัดสินใจเปิดเผยความเปราะบางออกไปอย่างกล้าหาญ เราอาจจะต้องกล้ายอมรับเช่นเดียวกันว่าคนที่โอบรับมันไว้อย่างกล้าหาญก็พร้อมที่จะวางมันทิ้งไว้บ้างในยามที่เขาเองก็อ่อนแอ
หากเวลานั้นเดินทางมาถึง เรามั่นคงพอที่จะตัดสินใจ ‘เลือก’ หรือเปล่า