Waldorf Education รูปแบบการศึกษาที่มาพร้อมกับการเรียนรู้ควบคู่ไปกับศิลปะและธรรมชาติ

  • Waldorf Education คือ รูปแบบการศึกษาที่บูรณาการองค์ความรู้วิชาการร่วมกับการลงมือทำกิจกรรมที่ผสานด้วยศิลปะและความเป็นธรรมชาติ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดจินตนาการและมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย
  • รูดอล์ฟ สไตเนอร์ นักปรัชญาชาวออสเตรียได้พัฒนาแนวคิดวอลดอร์ฟขึ้นมา เพราะเชื่อว่ามนุษย์มีความเชื่อมโยงกับธรรมชาติ และการเติบโตในสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ดีจะช่วยให้ผู้เรียนมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ อย่างเหมาะสม
  • ทฤษฎีการศึกษาของรูดอล์ฟ สไตเนอร์ ถือเป็น ‘ทฤษฎีองค์รวม’ โดยมีแนวทางในการมุ่งเน้นและส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เล่น ลงมือทำ ผ่านกิจกรรมการบูรณาการต่าง ๆ ซึ่งกระตุ้นให้เด็กเกิดจินตนาการโดยให้ทรัพยากรและสภาพแวดล้อมธรรมชาติเข้ามามีบทบาทในการเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงการเรียนรู้

Waldorf Education คือ รูปแบบการศึกษาที่บูรณาการองค์ความรู้วิชาการร่วมกับการลงมือทำกิจกรรมที่ผสานด้วยศิลปะและความเป็นธรรมชาติ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดจินตนาการและมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย มีเป้าหมายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับผู้เรียน และทำให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาศักยภาพหรือความสามารถเฉพาะตัวได้อย่างเต็มที่ โดยมุ่งเน้นไปที่วิธีการเชิงจินตนาการ สุนทรียภาพ และวิธีการแบบองค์รวมเพื่อสนับสนุนให้ผู้เรียนเข้าถึงศักยภาพสูงสุดของตนเองในฐานะมนุษย์ที่มีความคิดสร้างสรรค์ เฉลียวฉลาด และมีความรอบรู้ 

นอกจากนี้รูปแบบการศึกษาแบบวอลดอร์ฟยังมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาผู้เรียนให้มีความสมดุลในด้านสติปัญญา การพัฒนาอารมณ์และสังคม และการพัฒนาจิตใจ มีการจัดกิจกรรมเพื่อเสริมคุณค่าทางศิลปะและธรรมชาติเพื่อกระตุ้นความคิดและจินตนาการของผู้เรียน สร้างความกระตือรือร้นในการเรียนรู้โดยพยายามกระตุ้นความสนใจของผู้เรียนแต่ละคน และยังมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาใหม่ ๆ การใส่ใจในเรื่องความรับผิดชอบส่วนบุคคล และการให้ความเป็นอิสระแก่ผู้เรียน

จุดเริ่มต้นของ Waldorf Education

รูดอล์ฟ สไตเนอร์ นักปรัชญาชาวออสเตรียได้พัฒนาแนวคิดวอลดอร์ฟขึ้นมาในตอนต้นของศตวรรษที่ 20 โดยแนวคิดนี้วิวัฒนาการมาจากประเด็นเรื่องพัฒนาการของมนุษย์ที่สอดคล้องกับความต้องการของเด็กในแต่ละช่วงวัย ซึ่งรูดอล์ฟให้ความสำคัญกับการมีอิสระในการเรียนรู้และให้ความสนใจกับศิลปะและธรรมชาติเป็นพิเศษ เขาเชื่อว่ามนุษย์มีความเชื่อมโยงกับธรรมชาติ และการเติบโตในสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ดีจะช่วยให้ผู้เรียนมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ อย่างเหมาะสม และแนวคิดนี้ได้รับการพัฒนาสืบต่อมา กระทั่งกลายเป็นรูปแบบการศึกษาแบบวอลดอร์ฟ (Waldorf Education) ในปัจจุบัน

ทฤษฎีการศึกษาของรูดอล์ฟ สไตเนอร์

รูดอล์ฟเชื่อในการพัฒนาร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณด้วยแนวทางตามหลักมานุษยวิทยา โดยที่ครูไม่จำเป็นต้องนิยามตัวเองว่าเป็น ‘นักมานุษยวิทยา’ และเขาเชื่อว่าการได้สัมผัสประสบการณ์ในชีวิตจริง เช่น การทำอาหาร การทำความสะอาด การเย็บผ้า และการทำสวน จะช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ รูดอล์ฟมองว่าความรู้ของมนุษย์นั้นไม่มีขีดจำกัด และการให้ความรู้ในสิ่งที่ผู้เรียนสนใจนั้นมีความสำคัญพอ ๆ กับความก้าวหน้าทางสติปัญญาของผู้เรียน 

ทฤษฎีการศึกษาของรูดอล์ฟ สไตเนอร์ ถือเป็น ‘ทฤษฎีองค์รวม’ โดยมีแนวทางในการมุ่งเน้นและส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เล่น ลงมือทำ ผ่านกิจกรรมการบูรณาการต่าง ๆ ซึ่งกระตุ้นให้เด็กเกิดจินตนาการโดยให้ทรัพยากรและสภาพแวดล้อมธรรมชาติเข้ามามีบทบาทในการเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงการเรียนรู้

แนวทางการเรียนรู้ในแต่ละช่วงวัย ตามรูปแบบ Waldorf Education

ภาพจาก https://www.pexels.com/th-th/photo/3968141/

ช่วงปฐมวัย

  • เรียนรู้เกี่ยวกับพัฒนาการทางร่างกาย เช่น ความแตกต่างของอวัยวะแต่ละส่วน การประสานกันของระบบแขนขา การพัฒนาประสาทสัมผัสและระบบประสาท
  • เรียนรู้ผ่านการเลียนแบบสิ่งที่ได้ยิน รู้สึก และมีประสบการณ์ ซึ่งการเรียนรู้ในรูปแบบนี้มีผลต่อพัฒนาการของผู้เรียนเป็นอย่างยิ่ง ผู้สอนจึงควรลงมือทำให้ผู้เรียนเห็นเพื่อสร้างการจดจำ เรียนรู้ และลงมือทำ
  • การพัฒนาความสามารถในการปฏิบัติตามคำสั่ง การตัดสินใจ หรือการลงมือทำกิจกรรมจนสำเร็จลุล่วง จะช่วยให้เด็กสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง ใช้จินตนาการ และพัฒนารูปแบบการเล่นที่สร้างสรรค์ได้
  • ในช่วงปฐมวัยเด็กจะเปิดรับการเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติมากเป็นพิเศษ และจะมีความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ การเรียนรู้นอกสถานที่จึงมีความสำคัญต่อการกระตุ้นประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหว อีกทั้งยังเป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับจินตนาการของเด็ก จึงควรให้เด็ก ๆ ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเรียนรู้ธรรมชาติผ่านความสนใจ และเล่นกับทรัพยากรธรรมชาติง่าย ๆ เช่น ทราย น้ำ หิน และใบไม้
ภาพจาก https://www.pexels.com/th-th/photo/7025567/ 

ช่วงอายุ 7 – 14 ปี 

  • เน้นองค์ประกอบด้านสุนทรียภาพและศิลปะ หลักสูตรประกอบด้วยทัศนศิลป์ งานฝีมือ ดนตรี นาฏศิลป์ การเล่าเรื่อง และการละคร นำเสนอด้วยวิธีที่สร้างสรรค์และเป็นศิลปะโดยหลีกเลี่ยงความเป็นวิชาการมากเกินไป มีการเล่านิทานซึ่งใช้คุณลักษณะต่าง ๆ เช่น ภาพประกอบ เพื่อสร้างเสริมจินตนาการ มีการใช้เพลงและนิทานเพื่อพัฒนาทักษะการฟัง แนวคิด และจินตนาการของผู้เรียน 
  • ผู้สอนต้องมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเล่นอย่างอิสระของเด็ก ๆ เพราะเด็ก ๆ จะเกิดความรู้สึกวางใจ เกิดการสร้างตัวตน ความสัมพันธ์ จินตนาการ และความเป็นจริงผ่านการเล่น วัสดุที่ใช้เล่นควรเป็นวัสดุจากธรรมชาติและวัสดุที่มีความเรียบง่าย ยืดหยุ่น หลีกเลี่ยงของเล่นพลาสติกและสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กจะได้สัมผัสและเรียนรู้ถึงความเป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง 
  • เรียนกับครูประจำชั้นคนเดิม 8 ปี โดยที่ครูประจำชั้นทำหน้าที่สอนวิชาหลักเองทั้งหมด เพื่อสร้างความผูกพันระหว่างผู้สอนและผู้เรียน โดยที่ครูเป็นผู้ที่คอยติดตามและประเมินศักยภาพเพื่อหาแนวทางการเรียนให้เหมาะกับแต่ละคน
  • การส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ลงมือทำผ่านประสบการณ์จริงจะช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการตื่นตัวและกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา

การประเมินผล

รูปแบบการศึกษาแบบวอลดอร์ฟ มักจะไม่มีกิจกรรมการแข่งขันและไม่มีการให้คะแนนกับเด็กในระดับประถมต้น แต่ผู้สอนจะใช้วิธีการประเมินผู้เรียนจากพัฒนาการด้านบุคลิกภาพและด้านอื่น ๆ ในแต่ละปีการศึกษา ยกเว้นในระดับมัธยมปลายที่จะมีการวัดผลคะแนนสอบและวัดเกรดเฉลี่ยเพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ในการเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย 

อ้างอิง

https://www.waldorfeducation.org/waldorf-education

https://theeducationhub.org.nz/the-steiner-approach/

https://www.steinerwaldorf.org/steiner-education/what-is-steiner-education/


Writer

Avatar photo

ณัฐนรี บัวขม

มีชีวิตอยู่เพื่อดูคลิปตลก คีบตุ๊กตา และเดินหาร้านอร่อยในย่านบรรทัดทอง

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts