เปลี่ยนห้องเรียนให้ ‘ทุกเพศเท่าเทียม’ กับหนังสือ ‘สะกิดกรอบคิดเรื่องเพศด้วยเศรษศาสตร์พฤติกรรม’ 

  • หนังสือ ‘What Works Gender Equality by Design ออกแบบเพื่อเท่าเทียม’ โดย Iris Bohnet ช่วยอธิบายถึง ‘ความลำเอียง’ ทางเพศ ที่มีอยู่ทั้งใกล้ไกล และภายในตัวเรา
  • แต่หนังสือก็ยังกล่าวถึง ‘วิธีการออกแบบพฤติกรรม’ ของมนุษย์ ที่จะช่วยลบล้างอคติทางเพศได้
  • บทความนี้จึงนำเอา ‘วิธีการออกแบบพฤติกรรม’ ดังกล่าวมาลองปรับใช้กับการออกแบบห้องเรียนที่เด็กทุกคนได้รับการเติมเต็มศักยภาพอย่างเท่าเทียม

เป็นไปได้ไหม หากเราจะใช้ ‘การออกแบบพฤติกรรม’ สร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในห้องเรียน ? 

หนังสือ ‘What Works Gender Equality by Design ออกแบบเพื่อเท่าเทียม’ เขียนโดย Iris Bohnet นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวถึงงานวิจัยและกรณีศึกษามากมาย ที่ช่วยอธิบายถึง ‘ความลำเอียง’ ทางเพศ ที่มีอยู่ทั้งใกล้ไกล และภายในตัวเรา รวมทั้งบอกเล่า ‘วิธีการออกแบบพฤติกรรม’ ของมนุษย์ ที่จะช่วยลบล้างอคติดังกล่าว และสร้างความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้น 

คงจะน่าสนใจไม่น้อย หากเราได้เรียนรู้ ‘วิธีการออกแบบพฤติกรรม’ จากหนังสือเล่มนี้ และนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์ ‘ห้องเรียน’ สถานที่แรก ๆ ของระบบสังคมที่มนุษย์จะเรียนรู้ และเติบโต ให้เป็นพื้นที่เท่าเทียมสำหรับเด็กๆ ทุกเพศ ทุกคน

แน่นอนว่าในหนังสือ ‘What Works Gender Equality by Design’ กล่าวถึงเพศโดยใช้คำจำกัดความว่า “เพศสภาพหญิง” และ “เพศสภาพชาย” เป็นส่วนมาก ผู้เขียนบทความนี้ตระหนักดีว่าเพศสภาพมีมากกว่าแค่ 2 เพศสภาพนี้ จึงขออภัยที่ขอใช้คำจำกัดความเพียง “เพศสภาพหญิง” และ “เพศสภาพชาย” เนื่องจากข้อมูลส่วนมากในบทความนี้อ้างอิงมาจากหนังสือดังกล่าว

บทความชิ้นนี้ได้ลองนำเอาหลักการของการออกแบบสังคมให้มีความเท่าเทียม มาลองชวนคุณครู นักการศึกษา คุณพ่อคุณแม่ ลองขบคิด ทำความเข้าใจ และจินตนาการถึงห้องเรียนที่เด็กทุกคนได้รับการเติมเต็มศักยภาพอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าเด็กคนนั้นจะมีเพศภาพแบบไหน

สร้างความตระหนัก คือ สิ่งสำคัญอันดับแรก

เคยได้ยินไหมว่า เด็กผู้ชายมักจะเก่งวิชาเลขมากกว่าเด็กผู้หญิง ข้อมูลในหนังสือกล่าวไว้ว่า “มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา นักศึกษาหญิงมีแนวโน้มถอนตัวออกจากวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์มากกว่านักศึกษาชาย และเด็กผู้ชายมักเข้าร่วมกิจกรรมที่เสี่ยงได้มากกว่าเด็กผู้หญิง”

ธรรมชาติของเพศสภาพที่แตกต่างกันส่งผลต่อวิธีคิดและรูปแบบพฤติกรรมการเรียนรู้ไหม? เป็นคำถามแรก ๆ ที่อยากชวนให้นักออกแบบการเรียนรู้ และครูผู้สอนตระหนักถึงธรรมชาติของความแตกต่างนี้  

การสอบวัดระดับ SAT หรือ Scholastic Aptitude Test คือตัวอย่าง ‘สนามแข่ง’ แห่งหนึ่งที่หนังสือเล่มนี้หยิบยกขึ้นมา เพื่ออธิบายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า 

“ผู้เข้าสอบหญิงมีแนวโน้มข้ามโจทย์ที่ต้อง ‘เดา’ มากกว่าผู้เข้าสอบชาย ด้วยกติกาการนับคะแนน คือ หากตอบถูก ผู้เข้าสอบจะได้รับ 1 คะแนน แต่ถ้าตอบผิด จะเสีย 0.25 คะแนน

Good looking little kid trying to cheat on a math assigment in a preschool classroom

เมื่อตระหนักอยู่ก่อนแล้วว่า เพศสภาพหญิงมีโอกาสหลีกเลี่ยงการสถานการณ์ ‘เสี่ยง’ หรือการ ‘เดาสุ่ม’ มากกว่า นั่นแปลว่าผู้เข้าสอบหญิงจะเสียเปรียบในกติกาเช่นนี้ เมื่อทีมจัดสอบ ‘ตระหนัก’ ถึงความไม่เท่าเทียมอันเกิดจากกติกาที่ไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างตามธรรมชาติของเพศสภาพ นับแต่ปี 2016 ทางคณะกรรมการการสอบจึงมีการปรับปรุงกติกาการนับคะแนนเสียใหม่ นั่นคือ หากตอบถูกได้ 1 คะแนนเท่าเดิม แต่หากตอบผิด ไม่ต้องเสียคะแนนอีกแล้ว”

ดังนั้นหากใครสักคนอยากสร้างห้องเรียนที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน การตระหนักถึงวิธีคิดที่แตกต่างระหว่างเพศ และความไม่เท่าเทียมที่ดวงตามองไม่เห็น เป็นด่านแรกที่ต้องก้าวผ่าน

ความไม่เท่าเทียม มีที่มา

สภาพแวดล้อม

ความเท่าเทียมมิได้เกิดขึ้นมาอย่างโดด ๆ หลายครั้งสภาพแวดล้อมเป็นตัวการที่ทำให้เราเคยชินกับความไม่เท่ากันของผู้คน

งานศึกษาชิ้นหนึ่งในหนังสือออกแบบเพื่อเท่าเทียม “เปรียบเทียบพฤติกรรมของคนจากชนเผ่า ‘มาไซ’ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในแทนซาเนีย ชนเผ่านี้อยู่มาด้วยแนวคิดที่ว่า ‘ผู้หญิงสำคัญน้อยกว่าปศุสัตว์’ กับอีกสังคมหนึ่งจากทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย คือชนเผ่า ‘กะสิ’ มีการสืบสายเลือดทางฝั่งแม่ ผู้นำสังคมและหัวหน้าครอบครัว คือผู้ที่มีเพศสภาพหญิง 

นักวิจัยให้พวกเขา ‘เลือกเข้าแข่งขัน’ เกมโยนบอลลงตะกร้า และพบว่าผู้เข้าแข่งขันจากชนเผ่า ‘มาไซ’ เป็นผู้หญิงเพียง 1 ใน 4 ของกลุ่ม ขณะที่ชนเผ่า ‘กะสิ’ มีผู้หญิงเข้าแข่งขันมากกว่าผู้ชาย 85%”

จากการทดลองของพวกเขา เราสามารถสรุปได้ว่า สภาพแวดล้อมช่วยกำหนดความกล้าเสี่ยง สร้างสภาวะความเป็นผู้นำของเพศสภาพหนึ่งๆ และเมื่อเพศใดเพศหนึ่งมีโอกาสได้เป็นผู้นำมากกว่าอีกเพศ ก็ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมขึ้น

ลองขยับเข้ามาใกล้เรื่องการศึกษาอีกหน่อย จากสถานการณ์ที่หนังสือเล่มนี้ยกขึ้นมา คือ 

‘เด็กผู้หญิงมีแนวโน้มถอนตัวจากวิชาคณิตศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์มากกว่าเด็กผู้ชาย’ สิ่งนี้สามารถอธิบายได้ด้วยคำว่า ‘ความมั่นใจที่มากเกินไป’ หรือมากเกินจริง ของเพศสภาพชาย และ ‘ความมั่นใจที่น้อยเกินไป’ หรือน้อยกว่าความเป็นจริง ของเพศสภาพหญิง

กล่าวคือ ความมั่นใจที่น้อยเกินไปของเพศสภาพผู้หญิง และความมั่นใจที่มากเกินไปของเพศสภาพชาย ทำให้เด็กๆ ประเมินตัวเองอย่างไม่เที่ยงตรงนัก สำหรับเพศสภาพหญิงในกรณีนี้อาจพลาดโอกาสด้วยการถอนตัวออกจากวิชาที่คิดว่า ตัวเองน่าจะทำได้ไม่ดี ทั้งที่จริงๆ แล้ว อาจจะทำได้ดี

ย้อนกลับไปที่งานวิจัยของชนเผ่า ‘มาไซ’ และชนเผ่า ‘กะสิ’ ที่ความมั่นใจในการเป็นผู้นำไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศสภาพความมั่นใจที่มากหรือน้อยเกินไป ไม่ได้เป็นเพราะเพศอะไรเพียงอย่างเดียว ส่วนสำคัญอีกประการคือ ‘สภาพแวดล้อม’ ‘มุมมองจากผู้คนรอบตัว’ และ ‘โอกาสในการได้แสดงความมั่นใจ’ ที่จะช่วยหล่อหลอมพวกเขาให้เติบโต 

สิ่งที่อยากชวนตั้งคำถามคือ ทัศนคติของสังคมหน่วยย่อยอย่าง ‘ห้องเรียน’ หรือ ‘โรงเรียน’ เป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเติบโตของเพศสภาพหญิง และเพศสภาพชาย หรือเพศหลากหลายอื่น ๆ แล้วหรือยัง

หล่มของอุดมคติ

หญิงคือช้างเท้าหลัง ผู้เป็นแม่ เป็นเมีย มีหน้าที่เลี้ยงลูก และดูแลบ้านเท่านั้น ค่านิยมเหล่านี้ไม่ได้กล่าวเกินจริง และยังคงมีอยู่ในความคิดและจิตใจของคนบางกลุ่ม

ในหนังสือยกตัวอย่างการวิเคราะห์ทัศนคติจาก ‘แบบสำรวจค่านิยมระดับโลก ปี 1990 1995 1999’ พบว่า เสียงส่วนมากในประเทศกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา Organization for Economic Co-operation and Development หรือ OECD 25 เห็นด้วยว่า ‘เมื่องานมีจำกัด ผู้ชายควรมีสิทธิ์ได้งานมากกว่าผู้หญิง’ 

จากผลการวิเคราะห์นี้ สะท้อน ทัศนคติของคนส่วนใหญ่ที่ว่า ผู้ชายยังคงเป็นเสาหลักของการทำงานนอกบ้าน

ในหนังสือยังกล่าวถึงความเห็นของนักจิตวิทยา ซึ่งเชื่อว่า “ในโลกของการทำงาน มีการปะทะกันระหว่าง ‘ภาพจำเหมารวม ที่คนมองว่าผู้หญิงควรเป็นอย่างไร’ กับ ‘อาชีพที่โดยปกติแล้ว ควรจะเป็นของผู้ชาย’ ”

อธิบายตามความเข้าใจ คือเมื่อผู้มีเพศสภาพหญิง ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งที่สูง อาทิ ผู้บริหาร นักการเมือง ตำแหน่งที่คนส่วนมากยังติดภาพว่าเป็นของผู้มีเพศสภาพชาย ผู้หญิงที่เข้าสู่ตำแหน่งนั้นๆ จึงต้องเผชิญหน้ากับแรงต้าน หรือ ‘ภาพจำเหมารวม’ ว่าผู้หญิงควรเป็นอย่างไร ทั้งการเลื่อนตำแหน่ง เงินเดือน และบทบาทในองค์กร ดังที่Iris Bohnet กล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า “ผู้ชายสามารถถูกเชิดชูว่ามีความมั่นใจในตัวเอง ส่วนผู้หญิง มักถูกมองว่าหยิ่งยโสและมักใหญ่ใฝ่สูง ผู้คนจะชอบแต่ไม่เคารพเธอ กล่าวคือ ผู้หญิงซึ่งละเมิดบรรทัดฐานของสังคมมีต้นทุนทางสังคมที่ต้องจ่าย”

อุดมคติของโลกการทำงาน สร้างวิธีคิดที่ทำให้ทั้งชายและหญิงต้องเผชิญกับบางสิ่ง และอุดมคตินี้ส่งผลกระทบต่อโอกาสการเข้าถึงระบบการศึกษา ซึ่งจะโยงใยไปสู่โอกาสในการพัฒนาตนเอง การเติบโต และการเข้าทำงานของเด็กๆ ที่ไม่เท่าเทียมระหว่างเพศสภาพหญิงและชาย

มาลองออกแบบห้องเรียนกัน

ออกแบบด้วย ‘ต้นแบบ’

แค่ลองเปลี่ยนภาพที่แขวนบนผนังให้เป็นกลางทางเพศก็ช่วยโน้มน้าวจิตใจและสร้างบรรยากาศที่เท่าเทียมได้ 

Iris Bohnet กล่าวถึง “สาปนา เจรยาน แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ผู้เปลี่ยนภาพในห้องเรียนวิทยาการคอมพิวเตอร์จากภาพสตาร์วอร์สและสตาร์เทร็ก มาเป็นภาพธรรมชาติและงานศิลปะที่ดูเป็นกลางทางเพศ และช่วยให้นักศึกษาหญิงรู้สึกเข้าถึงสายอาชีพด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสายอาชีพของนักศึกษาชายมากขึ้น”

นี่คือการกระทำเล็ก ๆ ที่จะช่วยให้การออกแบบห้องเรียนที่เท่าเทียมเป็นจริงได้มากขึ้น เพียงแค่ลองนึกดูว่า ภาพผู้นำที่ถูกแขวนบนกำแพงห้องเรียน อาจเป็นภาพของกลุ่มคนที่มีความหลากหลาย ไม่เพียงแค่หลากหลายทางเพศ แต่หลากหลายด้วยสีผิว ชาติพันธุ์ ความสามารถ ฯลฯ จะช่วยส่งเสริมให้เด็ก ๆ ให้ห้องเรียนออกจากความคิดที่ว่า ผู้นำต้องเป็นเพศสภาพชายและเข้าใจเรื่องความเท่าเทียม

เข้าใจ ‘ประสบการณ์’ ออกแบบพฤติกรรมได้

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง อุปสงค์แรงงานดึงให้ผู้หญิงมีบทบาทการทำงานนอกบ้านมากขึ้น จากหนังสือเล่มนี้ นักวิจัยกลุ่มหนึ่ง สรุปไว้ว่า “พฤติกรรมของผู้คนในรุ่นถัด ๆ มา สัมพันธ์ต่อบทบาทและหน้าที่การงานของ ‘แม่’ ของพวกเขา”

กล่าวคือ หากคนบางคนมีแม่ทำงานนอกบ้าน เขาจะมีความเข้าใจถึงโอกาสในการเข้าถึงอาชีพ และเข้าถึงระบบการศึกษาที่เท่าเทียมกันระหว่างเพศสภาพชายและหญิงมากกว่าคนที่แม่ไม่ได้ทำงานนอกบ้าน และการมีภรรยาที่ทำงานนอกบ้าน จะช่วยให้สามีละอคติของเพศสภาพหญิงที่สั่งสมมาในวิธีคิดอย่างยาวนานของสังคมมากขึ้น แม้ว่าการทำงานนอกบ้านหรือในบ้าน ควรจะเป็นสิทธิส่วนบุคคลอยู่แล้วก็ตาม

งานวิจัยข้างต้น “สอดคล้องกับแนวคิดของ เอบอนยา วอชิงตัน แห่งมหาวิทยาลัยเยล ซึ่งวิเคราะห์ว่า การตัดสินใจของสมาชิกสภาคองเกรสชาย ได้รับผลกระทบจากเพศสภาพของลูก ๆ เช่น เมื่อพวกเขามีลูกสาว มีแนวโน้มใส่ใจประเด็นค่าแรงของผู้หญิงในประเทศ ซึ่งเดิมมีแนวโน้มน้อยกว่าค่าแรงของผู้ชาย และช่วยส่งเสริมให้ค่าแรงเป็นธรรมมากขึ้นสำหรับทุกเพศ”

รู้ทันประสาทวิทยาศาสตร์ ‘ยับยั้งภาพจำเหมารวม’

Iris Bohnet กล่าวถึงผลการสำรวจที่ว่า “เด็กหญิงอายุ 15 ปี ที่เรียนโรงเรียนหญิงล้วนในสหราชอาณาจักร มีแนวโน้มจะทำข้อสอบเลขได้ดีขึ้น มากกว่าเด็กหญิงที่เรียนในโรงเรียนสหศึกษา เนื่องจากไม่ต้องเปรียบเทียบคะแนนวิชาเลขกับเด็กชาย” 

ผลสำรวจชิ้นนี้ไม่ได้จะบอกว่า การสร้างห้องเรียนหญิงล้วนชายล้วน หรือการออกแบบโรงเรียนที่ไม่ใช่สหศึกษาจะเป็นทางออกที่ถูกต้อง

Iris Bohnet เล่าว่า “ในปัจจุบัน ‘ประสาทวิทยาศาสตร์’ อธิบายการมีอยู่ของ ‘ภาพจำเหมารวม’ ลักษณะนี้ได้แล้ว กล่าวคือ เมื่อเราเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่ส่อภัยคุกคาม กิจกรรมทางประสาทของสมองส่วนหน้าผากจะเพิ่มขึ้น และส่งผลในเชิงลบต่อการประมวลผลของสมอง

เช่น เมื่อมีภาพจำเหมารวมแต่เดิมว่า เด็กผู้ชายมักจะเก่งวิชาเลขมากกว่าเด็กผู้หญิง ระบบประสาทของเด็กผู้หญิงจะประมวลผลในเชิงลบ และทำให้คะแนนวิชาเลขต่ำลงจริง ๆ เมื่อผลปรากฎว่าคะแนนวิชาเลขต่ำลง ก็ยิ่งทำให้ภาพจำเหมารวมดังกล่าว กลายเป็นภาพจริงขึ้นมา

และเราเล็งเห็นว่า การออกแบบห้องเรียนที่จะช่วยแก้ไขปัญหานี้ง่ายดายมาก คือ ล้างภาพจำเหมารวมเสีย โดยการที่คุณครูปรับทัศนคติและมุมมองว่าวิชาเลขมีความยากสำหรับทุกคนพอ ๆ กัน และเด็กทุกคนได้รับการชื่นชมอื่นนอกจากคะแนนสอบ คือความเรียบร้อยในการทำงาน หรือความพยายามในการแก้โจทย์ปัญหา

Many hands of volunteers during Maths class

‘สร้างเครื่องมือ’ ลดความไม่เท่าเทียม 

มีเครื่องมือออนไลน์ที่ถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มความเสมอภาคให้กับนักเรียนในห้องเรียนได้จริง ๆ แล้วในวิทยาลัยบริหารธุรกิจฮาร์วาร์ด

และถูกอธิบายอยู่ในหนังสือเล่มนี้ นั่นคือ “เครื่องมือออนไลน์ที่ช่วยติดตามว่า อาจารย์เรียกชื่อใครให้มีส่วนร่วม หรือมีโอกาสแสดงความคิดเห็นในห้องเรียนไปแล้วบ้าง เครื่องมือนี้ช่วยขจัดความลำเอียง และทำให้อาจารย์สามารถเฉลี่ยโอกาสการส่งเสียงของเด็ก ๆ ทุกคนได้อย่างทั่วถึง”

ยังมีข้อมูลอื่น ๆ ที่ Iris Bohnet คิดว่า ควรเก็บเอาไว้เพื่อช่วยขจัดความลำเอียงในห้องเรียนอย่าง “การเก็บข้อมูลพื้นฐานครอบครัวที่สัมพันธ์กับความถนัดด้านภาษา เช่น เด็กที่มีภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ ย่อมเก่งวิชาที่ใช้ภาษาอังกฤษมากกว่าเด็กคนอื่น ๆ ขณะที่เด็กคนอื่น ๆ จำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาในการฝึกฝนมากกว่า”

เรามองว่า ในยุคสมัยที่สังคมยังไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ทุกคนยกมือขึ้น ด้วยระดับความกล้าหาญที่เท่ากัน และคนส่วนใหญ่ยังคงมีอคติทางเพศโดยไม่รู้ตัว  เครื่องมือที่ช่วยสะท้อนความลำเอียงของผู้สอน และข้อมูลจากงานวิจัยที่จะช่วยให้ผู้สอนเท่าทันที่มาของพฤติกรรมนักเรียนจะมีประโยชน์อย่างมาก

‘กติกา’ ที่เป็นกลาง ช่วยเด็ก ๆ ได้

วิธีการออกแบบพฤติกรรม ที่อาจจะมีประสิทธิภาพสูงสุด คือ การสร้างกติกาที่เป็นธรรมขึ้นมาในห้องเรียน 

หนังสือออกแบบเพื่อเท่าเทียม ได้ยกตัวอย่างกฎหมายที่รัฐบาลอินเดียเพิ่มบทบัญญัติขึ้นในรัฐธรรมนูญปี 1993 ว่า ‘นับแต่นี้ไป สภาหมู่บ้านต้องกันที่นั่ง 1 ใน 3 ไว้ให้ผู้หญิง’ จากเดิมที่ผู้นำคือเพศชาย บทบัญญัตินี้ส่งผลให้ผู้หญิงกว่า 1.5 ล้านคนได้รับเลือกเป็นผู้แทนของคน 800 ล้านคน ทำให้เสียงของผู้หญิงมีความหมายในทางการเมือง อาชญากรรมต่อผู้หญิงถูกเปิดเผยมากขึ้น และผู้หญิงได้รับการปกป้องคุ้มครองมากขึ้น

แล้วในแง่ของระบบการศึกษาล่ะ ? 

อีกตัวอย่างที่ถูกหยิบยกมาเล่าในหนังสือ คือ “ในยุคของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน กฎหมายสหรัฐฉบับปี 1972 มาตรา 9 มีผลบังคับ ‘ห้ามมิให้เลือกปฏิบัติโดยอิงเพศสภาพในโครงการหรือกิจกรรมการศึกษาใด ๆ ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง’

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ไม่เพียงเปิดประตูให้เด็กผู้หญิงสามารถเข้าแข่งขันกีฬา แต่ยังช่วยปกป้องเด็กผู้หญิงจากการคุกคามทางเพศในโรงเรียน สร้างการปฏิบัติต่อเด็กผู้หญิงที่ตั้งครรภ์และมีลูกอย่างเป็นธรรม การสอบหรือแข่งขันวิชาเลขที่เรากล่าวถึงกันไปหลายครั้ง ก็มีเด็กผู้หญิงมาร่วมแข่งขันมากขึ้น”

ลองคิดดูว่า ในห้องเรียนจริง หากเราออกแบบกติกาที่เอื้อให้ทุกเพศสภาพมีโอกาสร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เท่า ๆ กัน ย่อมช่วยสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ในเรื่องความเท่าเทียม และการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจความแตกต่าง

เพื่อที่ในวันหนึ่งพวกเขาจะเป็นพลเมืองรุ่นที่ส่งความเท่าเทียมนี้ต่อไปให้กับคนในยุคสมัยข้างหน้าของพวกเรา

อ้างอิง

หนังสือ “ออกแบบเพื่อเท่าเทียม: ‘สะกิด‘ กรอบคิดเรื่องเพศด้วยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม” 

แปลจากหนังสือ: What Works: Gender Equality By Design 

ผู้เขียน: Iris Bohnet 

ผู้แปล: ฐณฐ จินดานนท์ 

สำนักพิมพ์: Bookscape

เรื่อง : นิสากรม์ ทองทา


Illustrator

Avatar photo

กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts