เล่น เล่น

“เกิดอะไรขึ้นในสนามเด็กเล่น” สำรวจ 5 สนามเด็กเล่นกรุงเทพฯ ที่ไหนเล่นได้ ที่ไหนพัง

  • สนามเด็กเล่นจะสมบูรณ์ ถ้าเด็กๆ เชื่อว่า พวกเขาคือคนออกแบบการเล่น แต่ไม่ใช่กับ 5 สนามเด็กเล่นในกรุงเทพฯ ที่ยังมีรอยแตกและรอยชำรุด อีกทั้งบางแห่งสนามเด็กเล่นหายไป 
  • “เกิดอะไรขึ้นในสนามเด็กเล่นในกรุงเทพฯ” คือ คำถามตั้งต้นก่อนที่ mappa และ Leeway เรียนรู้ผ่านการเล่นจะลงพื้นที่เล่นแล้วรับฟังเสียงของคนเล่นจริงๆ
  • ถ้าสนามเด็กเล่นดีและปลอดภัย พ่อแม่จะวางใจเปลี่ยนจากผู้ติดตามเป็นนักสังเกตการณ์ ชวนสำรวจ 5 สนามเด็กเล่นกรุงเทพฯ ที่ไหนเล่นได้ ที่ไหนเล่นพัง

สนิม รอยแตก ชำรุด คือ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น 5 แห่งของกรุงเทพมหานคร

และมากกว่านั้น บางแห่งเครื่องเล่นกำลังรอซ่อมแซม บางแห่งไม่มีพื้นที่ให้พ่อแม่นั่งดูลูกเล่น และบางแห่งสนามเด็กเล่นหายไป

“เกิดอะไรขึ้นในสนามเด็กเล่นในกรุงเทพฯ” 

เป็นคำถามตั้งต้นก่อนที่ mappa และ Leeway เรียนรู้ผ่านการเล่นจะลงพื้นที่เล่นแล้วรับฟังเสียงของคนเล่นจริงๆ

ถึงจะเป็นส่วนหนึ่ง แต่นี่คือความจริงที่ไม่ควรมองข้าม 

เพราะเราเชื่อว่า สนามเด็กเล่นไม่ใช่แค่พื้นที่เล่น แต่เป็นพื้นที่ความสุข รอยยิ้ม ความสนุก ความท้าทาย และเป็นเพื่อนคนเล่น

ถ้าสนามเด็กเล่นมีเครื่องเล่นที่หลากหลาย ปลอดภัย และใกล้บ้าน หน้าที่ของพ่อแม่ในสนามเด็กเล่นจะเปลี่ยนจากคนเดินตามใกล้ชิดเป็นเพียงนักสังเกตการณ์การเล่นของลูก ขณะเดียวกันเด็กๆ ก็จะกล้าเล่น กล้าท้าทายตัวเอง บนสนามที่ชื่อว่า ‘สนามเด็กเล่น’

แม้ในกรุงเทพฯ สนามเด็กเล่น 28 แห่ง จะถูกรวมอยู่ในสวนสาธารณะทั่วกรุงเทพฯ 21 แห่งก็ตาม 

สวนลุมพินีวัน (ลานตะวันยิ้ม) : เครื่องเล่นไม่สำคัญเท่ากับพื้นที่วิ่งเล่นและธรรมชาติ

สวนลุมพินีเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่กลางใจเมืองที่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนชอบออกกำลังกายและมี ‘ลานตะวันยิ้ม’ สนามเด็กเล่นพื้นที่กว้างขวาง เครื่องเล่นครบครัน และที่สำคัญมีพื้นที่ให้คุณพ่อคุณแม่นั่งมองการเล่นของลูกๆ ได้ 

บรรยากาศใน ‘ลานตะวันยิ้ม’ เด็กๆ มีรอยยิ้มจากการเล่นปีนป่าย นั่งชิงช้า หรือเล่นสไลด์เดอร์ แต่ไม่ใช่กับลูกๆ ทั้งสองคนของคุณแม่ท่านหนึ่ง (สงวนนามจริง) 

เหตุผลที่เธอพาลูกมาเล่นที่นี่เพราะใกล้บ้าน ลูกมีพื้นที่วิ่งเล่น ได้สัมผัสธรรมชาติ และเปิดโอกาสให้ลูกลองเล่นร่วมกับคนอื่น 

“ครั้งแรกๆ ลูกชอบเล่นเครื่องเล่นต่างๆ แต่ครั้งต่อๆ มา ลูกเบื่อ เลือกเล่นกิ่งไม้ ใบหญ้า และก้อนหินตามพื้นแทน สำหรับแม่ สนามเล่นที่ไหนไม่มีพื้นทราย ถือว่าไม่ตอบโจทย์เด็กๆ”

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เคยกล่าวไว้ว่า “การเล่นบนกองทรายคือการเล่นที่มีเสรีภาพที่สุดในโลก ปล่อยเขาเลอะเทอะเปรอะเปื้อนตามสบาย ทรายและน้ำจะช่วยให้เขาคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ นี่คือวิธีกระตุ้นและเตรียมความพร้อมสมองของลูกเล็กที่ดีที่สุดในโลก และราคาถูกที่สุด”

การเล่นบนทรายคือเรื่องที่แม่ขอเพื่อการเล่นของลูกๆ เพราะลูกเธอก็ชอบถอดรองเท้าวิ่งบนทรายมากกว่าพื้นปูน

“การกลับมาสนามเด็กเล่นในรอบ 4 เดือนรู้สึกดีใจมาก เพราะเด็กๆ ลืมไปแล้วว่าบรรยากาศของการได้วิ่งเล่นกับเพื่อนๆ และการเล่นกับธรรมชาติมันเป็นอย่างไร การได้ออกนอกพื้นที่บ้านถือเป็นการปลดปล่อยความเครียดของลูกได้ดีที่สุดเเล้ว” คุณแม่ทิ้งท้าย

สวนสราญรมย์ : สนามเด็กเล่นที่ปลอดภัย คือ สนามเด็กเล่นที่รอการซ่อมแซม

“เราพยายามไม่ปล่อยลูกให้คลาดสายตาเพราะเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของเขา”

เสียงของคุณพ่อที่คอยดูลูกเล่นที่สนามเด็กเล่นในสวนสราญรมย์ตลอดเวลา เพราะไม่มั่นใจว่า สนามเด็กเล่นจะปลอดภัย

เนื่องจากเครื่องเล่นของลูกในตอนนี้ดูเก่าจากรอยแตกบนสไลเดอร์และกำลังรอการซ่อมแซม

อีกทั้งไม่รู้ว่าอีกเมื่อไร เครื่องเล่นนี้จะกลับมาเป็นเพื่อนเล่นของเด็กๆ ได้อีกครั้ง

“จริงๆ เราก็รู้ว่าการปล่อยลูกเล่นอิสระย่อมดีกว่าการที่พ่อคอยเดินตาม แต่เราไม่เเน่ใจในคุณภาพและความปลอดภัยของเครื่องเล่นว่า ปรับปรุง เช็คสภาพครั้งล่าสุดเมื่อไหร่ เลยปลอดภัยไว้ก่อน”

สำหรับพ่อแม่ ความปลอดภัยของลูกต้องมาก่อน ดังนั้นสนามเด็กเล่นก็ต้องถูกออกแบบโดยคำนึงถึงความปลอดภัยก่อนเช่นกัน เมื่อพ่อแม่วางใจ เด็กจะได้เล่นอิสระมากขึ้น

นอกจากนี้ ในสนามเด็กเล่นสวนสราญรมย์มีพ่อแม่ทั้งหมด 3 กลุ่มที่ดูแลลูกระหว่างเล่นต่างกัน

กลุ่มที่ 1 พ่อกับแม่มาด้วยกัน พ่อจะร่วมเล่นกับลูกอย่างใกล้ชิด แม่จะนั่งคอยดูลูกเล่นอยู่ห่างๆ

กลุ่มที่ 2 แม่กับลูกมาด้วยกัน แต่จะปล่อยให้ลูกเล่นตามใจตัวเอง

กลุ่มที่ 3 พ่อมากับลูก พ่อจะร่วมเล่นกับลูกอย่างใกล้ชิด

ความแตกต่างนี้เกิดจากอะไร

งานวิจัยจาก Lego foundation อธิบายว่า วิธีการเล่นกับลูกจะเล่นกับพ่อแม่ไม่เหมือนกัน  พ่อจะเล่นร่วมกับลูกโดยใช้ร่างกาย ส่วนแม่จะคอยดูและสนับสนุนลูกอยู่ห่าง ๆ

หลายคนอาจจะมองว่า สวนสราญรมย์เป็นพื้นที่ออกกำลังกายของผู้สูงอายุ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นพื้นที่เล่นของเด็กๆ ที่พวกเขาจะเชื่อได้ว่า เขาคือเจ้าของการเล่นของตัวเอง ถึงแม้พ่อแม่จะมองอยู่ห่างๆ ก็ตาม

สวนเบญจสิริ (เด็กเล็ก) : ถ้าสนามเด็กเล่นดีพอ ห้างจะไม่ใช่พื้นที่เล่นของลูก

“อยู่คอนโดมันไม่ค่อยมีที่เล่น นอกจากสระว่ายน้ำกับนั่งดูโทรทัศน์เลยตัดสินใจพาเขาออกมาเล่นกลางแจ้ง”

คือ เหตุผลที่ทำให้อธิชา ฤทธิรงค์ คุณยายของหลานวัย 3 และ 7 ปี พาหลานทั้งสองคนมาสนามเด็กเล่นสำหรับเด็กเล็กที่สวนเบญจสิริ สวนชุมชนริมถนนสุขุมวิท จะทำให้เด็กๆ ได้เปลี่ยนกิจกรรม นอกจากนั่งดูโทรทัศน์

โดยสนามเด็กเล่นสำหรับเด็กเล็กจะอยู่ด้านซ้ายของสวนสาธารณะขนาด 29 ไร่สนามเด็กเล่นที่หลานๆ จะได้นั่งชิงช้า เล่นไม้กระดก วิ่งเล่น และสัมผัสอากาศจากธรรมชาติ 

“เด็กๆ ได้ออกกำลังกายและปีนป่าย” คุณยายบอก 

ที่สำคัญเป็นสนามเด็กเล่นที่ใกล้บ้านที่สุด แม้จะต้องนั่งรถไฟฟ้ามาก็ตาม เพราะก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด 19 สนามเด็กเล่นแห่งนี้คือสนามเด็กเล่นประจำของหลาน

การกลับมาสนามเด็กเล่นอีกครั้ง คุณยายมองหลานแล้วตอบว่า “หลานชอบนะ เขาสนุกที่ได้ออกมาข้างนอก”

ในสนามเด็กเล่นเดียวกัน ธัญญรัตน์ ตรีสุรมงคลโชติ แม่ของลูกสาววัย 3 ขวบกำลังมองลูกห่างๆ อย่างห่วงๆ ใต้ร่มไม้ เพราะเธอก็อยากจะพาลูกเปลี่ยนบรรยากาศการเล่นเช่นกัน 

“สนามเด็กเล่นควรออกแบบให้เหมาะกับเด็กแต่ละช่วงวัยและร่มรื่น ไม่ร้อนมาก” คือ คำขอของแม่ถึงคนออกแบบสนามเด็กเล่น

เพราะสนามเด็กเล่นกลางแจ้งไม่มีเงาต้นไม้มาปกคลุมหรือที่บังแดด ทำให้เธอเลือกพาลูกเข้าสนามเด็กเล่นในร่มหรือร้านอาหารที่พ่อแม่สามารถพักผ่อนและมีพื้นที่เล่นของลูก

จากการสังเกต เก้าอี้นั่งของพ่อแม่ในสนามเด็กเล่นแห่งนี้จะถูกวางไว้ตามมุมต่างๆ ของสนามเด็กเล่น ซึ่งมีเพียง 5-6 ตัวเท่านั้น 

คนหนึ่งเดินตามลูก คนหนึ่งเฝ้าของ ยิ่งถ้ามาคนเดียวอาจจะต้องแบกสัมภาระพร้อมกับดูแลเด็กๆ ไปด้วย ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง

การออกแบบสนามเด็กเล่นจึงไม่ใช่แค่การออกแบบเพื่อ ‘เด็ก’ แต่ต้องคำนึงพื้นที่ของ ‘ผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็ก’ ด้วยว่า ในสนามเด็กเล่นแห่งนี้ มีพื้นที่สำหรับพวกเขามากแค่ไหน

สวนเบญจสิริ (เด็กโต) : สนามเด็กเล่นนอร์เวย์พร้อมเล่นมากกว่า หากชำรุดจะมีการซ่อมแซมทันที

ชิงช้า เครื่องเล่นสำเร็จรูปพร้อมที่ปีนป่าย (ชำรุดเล็กน้อย) และไม้กระดก คือ เครื่องเล่นในสนามเด็กเล่นเด็กโตที่อยู่ด้านขวาของสวนเบญจสิริ

สนามเด็กเล่นนี้ไม่ค่อยมีนักเล่นชาวไทย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นนักเล่นลูกครึ่งเช่นเดียวกับลูกทั้งสามคนของ Viljar คุณพ่อชาวนอร์เวย์ที่ทำงานที่นี่และมีภรรยาเป็นคนไทย

“หากยึดลูกของผมเป็นตัวตั้ง ผมว่าสนามเด็กเล่นนี้ คือ สนามเด็กเล่นที่ดี เพราะมีพื้นที่ให้ลูกได้ปีนป่ายและวิ่งเล่น แต่ในกรุงเทพฯ ควรมีสนามเด็กเล่นมากกว่านี้”

Viljar อธิบายว่า สนามเด็กเล่นกลางแจ้งเป็นสนามเด็กเล่นที่เข้าถึงทุกคน ขณะที่สนามเด็กเล่นในร่ม คนเล่นและผู้ปกครองเองก็ไม่ต้องกังวลเรื่องอากาศ เด็กๆ จะเล่นได้เต็มที่

สำหรับคุณพ่อชาวนอร์เวย์คนนี้ ค่าเข้าสนามเด็กเล่นในร่มราคา 50 บาทต่อชั่วโมง คือ ราคาที่เขายอมรับได้ แต่เรื่องจริงราคาสนามเด็กเล่นในร่มขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 500 บาท

เมื่อเปรียบเทียบสนามเด็กเล่นของนอร์เวย์และไทย Viljar บอกว่า หน้าตาเครื่องเล่นของทั้งสองประเทศไม่ต่างกันมาก แต่เครื่องเล่นในนอร์เวย์พร้อมเล่นมากกว่า หากชำรุดจะมีการซ่อมแซมทันที

เขาทิ้งทายว่า “อย่างน้อยสนามเด็กเล่นนี้ก็ยังเป็นสนามเด็กเล่นทั่วไปสำหรับเด็กเล็กที่ใครๆ ก็มาเล่นได้”

สวนเบญจกิติ : สนามเด็กเล่นพังไปแล้ว

สวนเบญจกิติ คือ สวนสาธารณะขนาดใหญ่ใจกลางเมืองภายในสวนมีทัศนียภาพที่สวยงามของบึงน้ำใหญ่ซึ่งมีฉากหลังเป็นหมู่ตึกสูงของกรุงเทพฯ มีลานน้ำพุ และพื้นที่ให้ประชาชนใช้สอย เช่น ลานสุขภาพ ลู่วิ่งทางจักรยาน รวมถึง ‘สนามเด็กเล่น’

นี่คือประโยคอธิบายสถานที่ท่องเที่ยวในเว็บไซต์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย แต่วันนี้…

“สนามเด็กเล่นพังไปแล้ว”

คือคำตอบของแม่บ้าน หลังจากเดินทั่วสวนแต่ไม่เจอสนามเด็กเล่น เจอแต่ป่าและสวนสุขภาพที่ไร้คนเล่น

“เขาเอาไปทิ้งหมดแล้ว น่าจะกำลังปรับปรุงนะ”

แม่บ้านขยายความเพิ่ม หลังจากสนามเด็กเล่นถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่รกร้างจนไม่เหลือร่องรอยเดิม

ข้อมูลจากสำนักงานสวนสาธารณะปี 2560 ระบุว่า กรุงเทพมหานครมีสวนสาธารณะทั้งหมด 21 แห่ง แต่ละที่มีสนามเด็กเล่นอย่างน้อย 1 แห่ง และสวนเบญจกิติมีสนามเด็กเล่น 2 แห่ง

4 ปีผ่านไป สนามเด็กเล่นทั้งสองแห่งหายไป เท่ากับว่า พื้นที่เล่นของเด็กๆ ก็หายไปเช่นกัน

คำถามสำคัญ คือ ถ้าเด็กๆ ไม่มีสนามเด็กเล่น พื้นที่ไหนบ้างในกรุงเทพมหานครที่สามารถรองรับการเล่นของเด็กและเข้าถึงเด็กทุกคนอย่างไม่มีเงื่อนไข

และคำตอบสุดท้ายก็คือ… 

อุทยาน 100 ปีจุฬาฯ : อยากให้มีสนามเด็กเล่นใกล้บ้านแทนลานจอดรถ

สวนสีเขียวหลังสามย่านมิตรทาวน์ คือ อุทยาน 100 ปีจุฬาฯ พื้นที่ท่องเที่ยว พื้นที่ผ่อนคลาย และพื้นที่พบปะของเพื่อน คนรักและคนในครอบครัว

ขณะที่มุมเล็กๆ ขวามือของอุทยานแห่งนี้มีสนามเด็กเล่นของเด็กๆ ที่ไม่ได้มีแค่เครื่องเล่นและไม้กระดก แต่มี ‘ทราย’

“เขามาเล่นที่นี่ทุกวัน เขาชอบเล่นทราย มีอุปกรณ์มาเล่นเอง พอมาเล่นที่นี่เขาก็ไม่กลัวคน”

จำปา อินทรวงศ์ คุณย่าของหลานชายอายุประมาณ 7 ปีเล่าพร้อมกับมองหลานที่กำลังนั่งเล่นทรายอยู่ไกลๆ เพราะหลานชอบเล่นทราย ย่าจึงพามา

เล่นแบบไม่ต้องกลัวเลอะ และ เล่นให้สนุก

“ไม่กลัวหลานตัวเปื้อนทรายหรอก เดี๋ยวถึงบ้านก็อาบน้ำ”

ถึงแม้หลานจะมีความสุขกับทรายและเครื่องเล่น แต่ในฐานะคนที่มองหลานเล่นทุกวัน จำปาก็อยากให้มีของเล่นหลายๆ อย่างที่ตอบโจทย์คนเล่น

“อยากบอกคนออกแบบสนามเด็กเล่นว่า อยากให้สนามเด็กเล่นมีของเล่นทุกอย่างสำหรับเด็กเล็กและเด็กโต”

อย่างน้อยการมาสนามเด็กเล่น เด็กๆ จะได้วิ่งเล่นและเจอผู้คน 

ทุกวันจำปาและหลานชายเดินเท้าจากบ้านถึงพื้นที่เล่นเล็กๆ ตรงนี้ประมาณ 10 นาที ไม่ใกล้ไม่ไกล จำปาบอกแบบนั้น 

แต่เธอก็อยากให้มีสนามเด็กเล่นใกล้บ้าน

“อยากให้มีสนามเด็กเล่นใกล้บ้านนะ แต่คงเป็นไปไม่ได้เพราะมีแต่ลานจอดรถ”

“ถ้าเปลี่ยนลานจอดรถเป็นสนามเด็กเล่นได้ก็คงดี”


Writer

Avatar photo

ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

Avatar photo

พงศ์ปณต ดีคง (แอ๊มป์)

ชอบสำรวจการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กเล็ก เชื่อเรื่องการเรียนรู้ผ่านการเล่นและอยากเห็นเด็กไทยได้เล่นอิสระตามที่เขาต้องการ

Illustrator

Avatar photo

กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Photographer

Avatar photo

สุภาพรรณ ฤทธิยา

หายใจเข้าเพลง k-indie หายใจออกซีรี่ย์ อนิเมะ นิสิตฝึกเขียนเอกวารสารฯ ที่ตอนนี้กำลังสนุกกับการเรียนรู้โลกกว้างก่อนเรียนจบ

Related Posts