- ครูคือแม่พิมพ์ เรือจ้าง และพระคุณที่สามของศิษย์ เราท่องมาแบบนั้น
- ถึงแม้เด็กจะสงสัยว่าคำเปรียบเปรยนั้นหมายถึงอะไรและครูเองก็ตั้งคำถามกับตัวเอง
- ชวนครูและเด็กๆ ตอบคำถามวันครูจากโจทย์สั้นๆ ว่า “ครูคือใคร”
สมัยก่อน เราเคยท่องหรือร้องต่อๆ กันมาครู คือ แม่พิมพ์ เรือจ้าง และพระคุณที่สามของศิษย์
ครูคือเรือจ้าง แล้วเรือจ้างเกี่ยวอะไรกับครู ทุกวันนี้เราก็จ้างครูอยู่แล้วหรือเปล่า
ครูคือพระคุณที่สาม แล้วพระคุณที่หนึ่ง สอง ล่ะคือใคร
ครูบางคนก็บอกว่าตัวเองไม่ใช่แม่พิมพ์ เด็กๆ ไม่ต้องมาเอาเยี่ยงอย่าง เพราะจริงๆ แล้วครูก็คือมนุษย์คนหนึ่ง
mappa ชวนครูและเด็กๆ ตอบคำถามวันครูด้วยคำถามสั้นๆ ว่า “ครูคือใคร”
คำตอบทั้งหมดนี้อาจไม่ใช่คำตอบที่บอกว่า ครูแบบไหนคือครูที่ดี แต่เป็นคำตอบที่บอกว่า นี่คือสิ่งที่ “ครูอยากเป็น” “เด็กๆ อยากให้ครูเป็น” และ “เด็กๆ กำลังเห็นว่าครูเป็นอะไรสำหรับเค้า”
และเด็กๆ หลายคนเห็นว่าครูเหนื่อย….
ครูคือแม่ / ไอแพด
“สำหรับผม ครูคือคุณแม่คร้าบบ”
เสียงของ ‘ปลาอินทรี’ ธนกฤต แซ่หลี 7 ขวบ นักเรียนที่กำลังเรียนจบชั้นป.1 ด้วยการเรียนออนไลน์ 100% ถึงจะทันบ้างไม่ทันบ้าง ถามอะไรแม่ก็ตอบ หรือช่วยหาคำตอบไปด้วยกัน
นี่คือเหตุผลว่าทำไมครูคือแม่
“ถ้าครูที่ไม่ใช่แม่ คงจะเป็นไอแพดนั่นแหละครับ เราจะเจอครูผ่านสิ่งนี้ “ไอแพด” ทั้งในโรงเรียน ทั้งที่เรียนเปียโน”
ครูคือคนที่คอยสั่งสอนเราเหมือนเป็นพ่อและแม่คนที่2
คำตอบในช่องว่างของ ‘มุก’ นักเรียนชั้นป.6 ที่เวลาเจอปัญหามักจะปรึกษาครูเสมอ
“เวลามีปัญหาหรือมีเรื่องที่ไม่สบายใจช่วงที่เราอยู่ที่โรงเรียนเราสามารถปรึกษาคุณครูได้เสมอ อย่างเช่น เรื่องการบ้าน เวลาทำการบ้านไม่ได้ก็จะปรึกษาคุณครูค่ะ”
ครูคือคนสอนและผู้ให้ความรู้
“ครู คือ ผู้สอน ผู้ให้ความรู้”
นิยามคำว่าครูของกีตาร์ อภิรักษ์ อมรกิตติโรจน์ อายุ 9.5 ขวบ
เขาบอกว่า “ครูไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่สอนอยู่ในโรงเรียนเท่านั้น” ถ้าไม่มีครู หนูก็ยังว่ายน้ำไม่เป็น ว่ายน้ำได้แต่ตื้นๆ
สำหรับหนู ครูที่ดีคือครูที่ไม่ตีเด็ก ใจดีและใจเย็น
เช่นเดียวกับนิยาม “ครู” ของพุดพิชญา นักเรียนชั้นม.5 ที่คิดว่า ครู คือคนสอนหนังสือ
“ครูคือบุคคลที่สอนหนังสือ สอนเรื่องต่างๆ แต่บางอย่างครูก็ทำเกินคำว่าครู เช่น ทำร้ายร่างกายผ่านวาจา ครูสั่งงานเยอะ ไม่ให้เด็กพักผ่อนจนไม่มีเวลาคลายเครียด ครูบางคนสอนไม่รู้เรื่อง เน้นเรียนผ่านสไลด์ แปะคลิป ให้นักเรียนอ่าน ทั้งๆที่นักเรียนก็หาอ่านเองได้อยู่แล้ว”
และข้อดีของการมีครู คือ ครูบางคนคอยเป็นที่ปรึกษาให้นักเรียนต่างๆ คอยช่วยเหลือ สอนดี และเข้าใจเด็ก
ณัฐณิชา นักเรียนชั้นม.5 อีกหนึ่งคนก็คิดเหมือนกันว่า ครูคือคนให้ความรู้
“ครู คือคนที่คอยอบรมสั่งสอนนักเรียนให้มีความรู้เพื่อใช้ในอนาคต ดั่งเช่นที่ว่าครูเปรียบเสมือนแม่พิมพ์ของชาติ หากแต่ถ้าแม่พิมพ์นั้นบิดเบี้ยว รูปที่พิมพ์ออกมาก็ล้วนจะบิดเบี้ยวตามแม่พิมพ์ สำหรับตัวดิฉันแล้ว ดิฉันมองว่าการเป็นครูเป็นสิ่งที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อน
นอกจากครูจะต้องสั่งสอนในด้านวิชาการแล้ว ครูยังจะต้องสั่งสอนนักเรียนให้มีความประพฤติที่ดีด้วย หากจะกล่าวว่าโรงเรียนเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สอง คงจะสามารถอนุมานได้ว่าครูอาจารย์ก็เปรียบเสมือนพ่อแม่คนที่สองของเราเช่นกัน”
ครูคือแรปเปอร์ คนให้ความรู้ คนสอน และคนที่เหนื่อย
โต้ง กัน ปัน เฟิร์ส อิ๊ง เป็นเพื่อนหลากวัยที่รู้จักกันเพราะบ้านอยู่ซอยเดียวกัน
“ครูคือแรปเปอร์ที่บ่นไม่หยุดแล้วชอบตี” คือ คำตอบของ ‘โต้ง’ วัย 11 ปี
แต่ในมุมมองของ ‘กัน’ อายุ 12 ปี มองว่า ครูคือคนที่ให้ความรู้ (แต่ให้ความรู้ได้ไม่มาก)
ส่วนปัน อายุ 9 ปี บอกว่า ครูคือคนที่เหนื่อย “หนูไม่อยากเป็นครูหรอก”
ความเหนื่อยของครู เฟิร์สรู้ดี เพราะ ครูคือคนที่สอน ตรวจการบ้าน ออกข้อสอบ ตรวจข้อสอบ เนื่องจากแม่ของเฟิร์สเป็นครู
และคำตอบสุดท้ายที่ตรงไปตรงมาของ อิ๊ง อายุ 7 ปี คือ “หนูไม่รู้ เป็นครูเหนื่อยจะตาย”
ครูคือยาย
สโรชา อายุ 17 ปีเปรียบเทียบครูเป็นยาย และนักเรียนเป็นหลาน
“ลักษณะนิสัยของคุณยายก็มีทั้งขี้บ่นจู้จี้จุกจิกแต่ก็รักและห่วงใยหลานตัวเองเสมอ(มั้ง)”
ครูคือคนให้ความรู้ ทุกคนในโรงเรียน และเป็นคนที่ตอนดึกกลับบ้าน ตอนเช้ามาโรงเรียน
ฟง หมิง และฟาง คือ พี่น้องกัน
ฟง ชั้นป.4 พี่ชายคนโต บอกว่า คุณครูคือคนที่ให้ความรู้ พ่อแม่หรือเพื่อน และ ทุกสิ่งทุกอย่างที่สอนให้เราได้เรียนรู้และพัฒนาขึ้นได้คือคุณครู
ส่วนน้องชายคนกลาง หมิง นักเรียนชั้นอ.3 บอกว่า คุณครูคือคนทุกคนที่อยู่ที่โรงเรียน ที่สอนเรื่องดีๆ ต้องมีความคิดดีๆเยอะๆ แล้วมาแบ่งปัน เพื่อนก็เป็นครูได้
“หมิงก็เป็นครูนะป๊า เคยสอนเพื่อนว่า สิบบวกสิบได้ ยี่สิบ”
และสุดท้าย ฟาง น้องสาวคนเล็กบอกว่า คุณครูคือคนที่ตอนดึกกลับบ้าน ตอนเช้ามาโรงเรียน วันหยุดก็อยู่บ้าน และใจดี
ครู คือ พ่อแม่คนที่สองของศิษย์ และเป็นคนในครอบครัว
“ครู คือ พ่อแม่คนที่สองของศิษย์ สอนศิษย์อย่างไรให้เหมือนลูก”
คำตอบของครูวาริน อนุสนธิ์ โรงเรียนวัดสามเอกที่สอนเด็กๆ มา 30 ปี มองว่า นอกจากให้ความรู้ ครูต้องเติมประสบการณ์ทักษะชีวิตให้กับลูกศิษย์เพื่อใช้ในการดำเนินชีวิต
และที่สำคัญที่สุดคือต้องเติมคุณธรรมเพื่อให้เป็นคนดีของครอบครัวและสังคมต่อไป
คล้ายๆ กับครูสายลม พลวัฒน์ ล้วนศรี ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา อ.ฝาง จ.เชียงใหม่มองบทบาทของตัวเองว่า ครูคือคนในครอบครัว
เพราะเด็กๆ คือ เด็กย้ายถิ่น พ่อแม่เป็นแรงงานในไร่ส้ม ครูสายลมจึงถอดหัวโขนครูแล้วดูแลเด็กที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภาษา และวิถีชีวิตเพื่อลดช่องว่างระหว่างกัน
“ตอนมาอยู่ที่นี่ เราคุยกับเด็กคนละภาษา วิถีชีวิตก็มีความแตกต่าง เรามองว่าการที่เราถอดหัวโขนความเป็นครูออก เพื่อลดช่องว่างระหว่างกัน คือสิ่งที่ทำเป็นสิ่งแรกเพราะการที่เราเป็นคนต่างถิ่นเข้ามา แน่นอนเด็กทุกคนมีระยะปลอดภัยที่เขาไม่สามารถให้เรารู้ได้หมดทุกอย่าง(ตอนเราเป็นเด็กเราก็เคยเจอสภาวะเช่นนี้555)”
เมื่อทำแบบนี้ ครูสายลมจึงเข้าใจความแตกต่างของนักเรียน
“ด้วยความที่ครูและนักเรียนมีความผูกพันและเข้าใจกันนักเรียน ครหนึ่งคนที่ยืนสอนจะเข้าใจและรู้จักนักเรียนทุกคน ว่าคนนี้ถนัดภาษา คนนี้ถนัดสังคม คนนี่ไม่ชอบวิชานี้ ครูผู้สอน ณ ตอนนั้นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนและดึงศักยภาพของเด็กคนนั้นออกมาให้มากที่สุด”
ความผูกพันไม่ได้เกิดขึ้นแค่ระหว่างครูกับศิษย์ แต่รวมถึงความผูกพันของครูและครอบครัวนักเรียน
“บางคนเคยพาไปคลอด บางคนเคยพาไปรักษาที่โรงพยาบาล บางคนเคยพาไปบวช บางคนครูต้องนำข้างสาร อาหารแห้งไปให้ในช่วงที่เขาวิดฤต อำนวยความสะดวกในเรื่องกฏหมายให้กับครอบครัวนักเรียน เราช่วยเหลือนักเรียนด้านสถานะบุคคล
หากมีปัญหาอะไรที่ครูช่วยได้ครูก็จะยื่นมือไปเสมอ เช่นเดียวกับนักเรียนที่ต้องการทางออกในปัญหาต่างๆ ครูคือคนแรกๆที่นักเรียนจะเข้าหา”
ครูคือเพื่อนร่วมเรียนรู้
คำว่า เพื่อน เริ่มต้นมาจากคำถามว่า “ทำอย่างไรถึงจะซื้อใจนักเรียนได้” ในช่วงฝึกสอนของครูมะพร้าว ฉัตรบดินทร์ อาจหาญ อดีตครูสาธิตแห่งหนึ่ง
เพราะเขาเป็นคนตัวเล็กและไม่มีภาพลักษณ์แห่งความน่าเกรงขาม (แม้แต่น้อย) จนคนรอบตัวเป็นห่วงว่า ไม่น่าจะคุมชั้นเรียนได้ จึงเป็นจุดเปลี่ยนจากการใช้อำนาจในวันแรกๆ เป็น “เพื่อน” วิธีที่ไม่มีใครเห็นด้วยพร้อมกับคำเตือนจากผู้หวังดีหลายคนว่า นักเรียนจะไม่เชื่อฟังเรานะ พวกเขาจะไม่นับถือเรา หรืออย่างหนักก็จะมาเล่นหัวเรา
แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่เป็นแบบนั้น ครูมะพร้าวสนิทกับนักเรียน และได้รับการยอมรับจากนักเรียน เพราะเรามีเรื่องราวคล้ายกัน พูดภาษาเดียวกัน ไม่มีใครอำนาจเหนือกว่าใคร
“การมีครูเป็นเพื่อนจึงเป็นเรื่องพิเศษที่นักเรียนไม่เคยเจอ”
ส่วนคำว่า ร่วมเรียนรู้ ครูมะพร้าวบอกว่า การอยู่ร่วมกันของครูและนักเรียนไม่ได้อยู่สถานะของการถ่ายโอนความรู้จากครูไปสู่นักเรียน แต่เป็นการเรียนรู้ร่วมกันจากบทสนทนาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เราทั้งสองระหว่างครูและนักเรียนล้วนเติบโตไปพร้อม ๆ กัน
ดังนั้น เพื่อนร่วมเรียนรู้ สำหรับครูมะพร้าว คือ การบอกว่าครูก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ได้วิเศษวิโสหรือมีอำนาจไปมากกว่าใคร พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ไปด้วยกันในแต่ละวันจากการใช้ชีวิตร่วมกันที่โรงเรียน
“เป็นอาชีพที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการยกย่องสรรเสริญด้วยชื่อเรียก แต่ควรได้รับการยอมรับจากความสามารถในการร่วมเดินทางไปกับนักเรียน”
ครูคือนักแสดงอิสระ
“ครูต้องปรับเปลี่ยนบทบาทไปในแต่ละเทอม ไม่ได้สอนหนังสือแต่ต้องอำนวยความสะดวกให้นักศึกษามีความรู้ต่อยอด”
ทำให้พิษณุรักษ์ ปิตาทะสังข์ อาจารย์ด้านวารสารศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคามบอกว่า ชีวิตครูก็เหมือนนักแสดงอิสระ
“หน้าที่ของครูสมัยนี้ ไม่อาจเป็นเพียงคนสอนหนังสือเท่านั้น ต้องทำทั้งงานเอกสาร การพัฒนาตนเอง ตลอดจนอำนวยความสะดวกให้นักศึกษาได้ใช้ศักยภาพต่อยอดไปสู่การทำงาน ไม่ต่างจากโค้ชนักกีฬา ครูต้องปรับเปลี่ยนบทบาทไปในแต่ละเทอม เสมือนนักแสดงอิสระที่ต้องคอยจัดการตัวเองให้พร้อมกับการรับงานอยู่เสมอ”