“เราไม่ต้องการบอกว่าเครื่องเล่นนี้ มีเพื่อให้เด็กเรียนรู้เรื่องอะไร เด็กมีจินตนาการกว้างไกล มีวิธีเล่นที่คาดไม่ถึง เราจึงออกแบบให้เล่นได้หลายแบบ แล้วที่เหลือ เด็กๆ เขาไปจัดการกันเอง”
เป็นคอนเซ็ปต์การออกแบบสนามเด็กเล่นคร่าวๆ ของ ‘นินา’ ญารินดา บุนนาค คุณแม่ลูกสองของน้องไทรและน้องอารี พี่ชายอายุ 5 ขวบ ส่วนน้องสาวเพิ่งจะ 4 เดือน
เราชวนคุณแม่วัย 39 ปลีกตัวจากช่วงเวลาอันยุ่งมากถึงมากที่สุด มาคุยเรื่อง ‘สนามเด็กเล่น’ ที่สวนรถไฟ
ซึ่งเป็นสนามเด็กเล่นที่คุณแม่นินาออกแบบเอง
สนามเด็กเล่นควรออกแบบอย่างไร
“งานออกแบบปกติเราคิดถึงผู้ใหญ่ที่ยืน เดิน นั่ง นอน แต่ออกแบบเครื่องเล่น ต้องคิดถึงการปีน มุด คลาน กระโดด โหน ของเด็กๆ สนุกมาก”
คุณแม่ที่ผ่านงานออกแบบสนามเด็กเล่นมาหลายแห่งบอกว่า ส่วนผสมสำคัญที่ทำให้สนามเด็กเล่นมีไว้เล่นจริงๆ คือ ‘ความเป็นเด็ก’ ที่ต้องดึงกลับมาใช้ กับ ‘ความเป็นแม่’ ที่นินาเชื่อว่ามันผสมกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกับความสนุกได้ลงตัว
“สนุก ปลอดภัย” คือสองหลักการคร่าวๆ ในการออกแบบของคุณแม่นินา
ยืนยันขันแข็งด้วยเด็กชายวัย 5 ขวบที่มาเป็นคิวซีให้คุณแม่เกือบทุกสนามเด็กเล่น
ลูกเล่นอย่างไร สนามเด็กเล่นที่แม่นินาออกแบบก็เป็นแบบนั้น
ช่วงนี้แบ่งเวลาอย่างไรบ้าง
แบ่งไม่ค่อยได้ค่ะ (หัวเราะ) แต่ตอนนี้ ทำงานครึ่งวัน ช่วงเช้าได้อยู่กับลูก ดูลูก สายๆ ออกจากบ้านไปทำงาน ตอนบ่ายก็กลับบ้านมาดูลูกต่อ ตอนใกล้คลอดเราย้ายออฟฟิศมาอยู่ใกล้บ้าน ห่างกันแค่ 1 กม. เดินไปเดินกลับได้ และคนเล็ก (น้องอารี) ตอนนี้หลับยาวทั้งคืนแล้ว โชคดีมาก (ยิ้ม)
คนเล็ก เราแยกห้องนอนตั้งแต่เกิด ตอนนี้เขาอยู่ในช่วงกำลังพลิกตัว พอเขาหัดพลิกตัว ก็จะแบบพลิกแล้วก็ติดอยู่ในเปล เราก็ต้องลุกไปห้องเขา ช่วยเขากลับตัว คืนละประมาณ 2-3 หน แต่ว่าไม่อุ้ม ให้เขานอนต่อ เขาก็หลับเองได้
เมืองนอก เช่น สแกนดิเนเวีย คุณแม่สามารถลาได้เป็นปีเลย 18 เดือน ถ้าเมืองไทยทำได้ คุณนินาอยากทำไหม
โชคดีที่ทั้งตัวเองและสามีเป็นเจ้าของกิจการ ถ้าเราจะปิดบริษัทมาเลี้ยงลูก มันก็ทำได้อยู่แล้ว แต่ต้องยอมรับว่าเราก็ยังต้องทำงานเก็บเงินอยู่ สามีก็เหมือนกัน แต่เราเลือกที่จะเป็นบริษัทเล็ก เลือกวิธีการทำงานได้
สามีจะทำงานที่บ้านช่วงเช้า ช่วงบ่ายเข้าออฟฟิศ ส่วนเราเข้าออฟฟิศช่วงเช้า บ่ายเรากลับบ้าน สลับกัน ทั้งเราและสามีมีเวลาได้อยู่กับลูกเยอะ แต่ในขณะเดียวกัน พอลูกสองคนแล้ว ไม่มีพี่เลี้ยงก็ไม่ไหวจริงๆ เพราะถ้าอย่างนั้นคนหนึ่งต้องออกจากงาน ก็เลยมาลงที่จุดสมดุลคือ ช่วยกันดู มีพี่เลี้ยงช่วยดูช่วงกลางวันจันทร์ถึงศุกร์
ตอนเด็กๆ คุณนินา ถูกเลี้ยงดูมาแบบไหน
เราจะเป็นคนลุยๆ แล้วที่บ้านก็จะมีสนาม มีสวนหลังบ้าน เลยใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับสวน อยู่ในสนาม เก็บดอกไม้มาเล่น ทำกับข้าว ซ่อนหา นู่นนี่ เล่นเป็นทหารก็มี เล่นทุกอย่าง จะลุยๆ เล่นผสมกันไปหมด ซูเปอร์ฮีโร่ก็เล่น บาร์บี้ก็มี
สวนหลังบ้านตอนนั้นเป็นอย่างไร
มีกระท่อมเล็กๆ มีชิงช้า มีไม้เลื่อน
ตอนนั้นรู้สึกว่าเป็นวัยเด็กที่มีความสุข?
มีความสุข เพราะบ้านอยู่กันหลายคน ก็มีคุณพ่อ คุณแม่ คุณตา คุณยาย คุณทวด พี่เลี้ยง เป็นครอบครัวใหญ่
คุณแม่ประคบประหงมแค่ไหน
จริงๆ ตอนเราเป็นเด็ก เรากลับไป evaluate ตัวเองมันยาก ความทรงจำเรามันมาจากเรา แล้วเราเป็นเด็ก แต่ถ้าตอนนี้ดูวิธีที่แม่เลี้ยงหลาน คือเลี้ยงลูกเรา คุณแม่จะห่วงหลานมากกว่าเราห่วงลูกเยอะ สมมุติว่า ลูกหกล้ม คุณยายก็จะวิ่งเข้าไปประคอง อุ๊ย เจ็บไหม เป็นอะไรมากไหม รีบวิ่งไปเอายานู่นนี่ ขณะที่เรา เห็นลูกล้ม ถ้าเขาไม่ได้เป็นอะไรมากก็จะใจเย็นๆ ค่อยๆ ให้เขาสงบสติอารมณ์แป๊บนึง ค่อยๆ คุยว่าเขาโอเครึเปล่า เราจะปล่อยให้ลูกลองผิดลองถูก ล้มได้ก็ลุกได้ ให้ลุยมากกว่า
ถึงขั้นขัดแย้งกันไหม ระหว่างวิธีการเลี้ยงของคุณแม่ที่มีต่อหลาน กับวิธีการเลี้ยงของเราที่เป็นแม่ที่มีต่อลูก
ไม่นะคะ เพราะว่าเรารู้สึกว่าเด็กโตมาก็ต้องได้รับการเลี้ยงดูและปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัวหลายแบบอยู่แล้ว แม้แต่เรากับสามีเอง ถึงแม้ว่าเราจะมี value ที่เหมือนกัน เห็นตรงกันว่าวิธีเลี้ยงลูกแบบไหนดีไม่ดี แต่วิธีที่เรา react กับสถานการณ์ต่างๆ กับวิธีที่สามี react ก็ไม่เหมือนกันอยู่ดี
พ่อแม่ปู่ย่าตายาย แต่ละคนมีวิธีดูลูกไม่เหมือนกัน เรารู้สึกว่ามันก็ทำให้เด็กสามารถเข้าใจวิธีการมีปฏิสัมพันธ์กับคนแต่ละคนในหลายรูปแบบมากขึ้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นแบบเดียว เพราะว่ายังไงเขาออกไปโรงเรียน ไปเจอเพื่อน เจอครู ครูก็มีหลายแบบอีก เราจะคอนโทรลทุกคนที่เข้ามาในชีวิตเขาให้ interact กับเขาในแบบที่เราอยาก ที่เราชอบแบบเดียว มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว
มีวิธีประนีประนอมวิธีการเลี้ยงที่แตกต่างในครอบครัวอย่างไร
ส่วนใหญ่จะคุยกันตรงๆ กับแม่ แม่มีอะไรก็จะบอกเรา แต่โชคดีมากว่า คุณพ่อคุณแม่ก็ให้เกียรติด้วย เขาไม่ใช่คนที่จู้จี้ ไม่ใช่ตายายที่จะคอยมาบอกพ่อแม่ว่าจะต้องเลี้ยงลูกแบบนี้นะ เขาให้เกียรติในความคิดของเรา
ก่อนเป็นแม่ เคยจินตนาการมาก่อนไหมว่าอยากเป็นแม่แบบไหน
ไม่เคยเลย ไม่เคยจินตนาการว่าจะมีลูกด้วยซ้ำ ไม่ได้เป็นคนที่อยากมีลูกมาก ลูกไม่ได้เป็นจุดมุ่งหมายในชีวิตตอนน้ัน แต่งงานก็คือแต่งงาน ไม่ได้แต่งงานเพราะอยากมีลูก
พอแต่งงานไปสักพักหนึ่ง เห็นเพื่อนๆ เริ่มมีลูก เราก็เห็นเบบี๋ เราก็ เออ ก็คงน่าจะสนุกดีนะ
แล้วพอมีลูก เราก็อ่านหนังสือวิธีเลี้ยงลูก หลายๆ แบบ ก็จะเริ่มรู้ว่า เออ แบบไหนที่น่าจะเหมาะและเข้ากับเรา
พอมีคนแรก มันสนุกจริงๆ ไหม
(หัวเราะ) สนุกนะคะ แล้วก็รู้สึกว่ามันมหัศจรรย์ด้วย ที่เราได้เห็นเด็กตัวเล็กๆ ที่ทำอะไรไม่เป็นเลย ค่อยๆ มีพัฒนาการ โตขึ้นมา แต่คนแรกกับคนที่สองก็ไม่เหมือนกันอีก คนแรก มีหลายอย่างที่เรายังไม่รู้ ทุกอย่างเป็นครั้งแรกหมด ไม่ใช่แค่เฉพาะกับเบบี๋ แต่สำหรับตัวเราเองในฐานะผู้ปกครองด้วย เพราะฉะนั้น มันก็จะมีความเครียดในบางตอน เช่น ลูกไม่กินนม จะทำยังไง
แต่พอคนที่สองก็จะชิลขึ้นเยอะมาก เพราะรู้สึกว่าเราผ่านมาแล้ว ความกังวลเลยไม่ค่อยมี
ตอนที่เครียดกับสถานการณ์ที่เอาไม่อยู่ เราหาวิธีแก้ปัญหาหรือว่าคลี่คลายอย่างไรบ้าง
พ่อแม่สมัยนี้โชคดีเพราะมีอินเทอร์เน็ต เพราะฉะนั้นหลายๆ ปัญหากับทารก คำตอบส่วนใหญ่ก็จะมาจากการอ่านหนังสือหรืออินเทอร์เน็ต พอเข้าไปในอินเทอร์เน็ตเราเห็นว่า มีพ่อแม่อีกมากมายที่ประสบปัญหาเดียวกัน มันก็อุ่นใจขึ้นมานิดนึงแล้วแหละ ว่าปัญหาที่มีเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้เป็นเฉพาะแค่ลูกเรา
วัยเด็กคุณนินาเป็นอย่างไร
ประถมเรียนโรงเรียนมาแตร์เดอีฯ มัธยม ไปต่อโรงเรียนประจำ (หญิงล้วน) ที่อังกฤษ และมหาวิทยาลัยที่อเมริกา
การเรียนในโรงเรียนไทยกับต่างประเทศ แตกต่างมากแค่ไหน
ประถมสร้างเพื่อนได้แน่นแฟ้นมาก จนตอนนี้ก็ยังสนิทสนมกันอยู่ แต่ว่าปัญหาของการไปโรงเรียนตอนนั้นน่าจะเป็นปัญหาของกรุงเทพฯ มากกว่า เราใช้เวลาอยู่ในรถมากๆ กับการเดินทางไปกลับโรงเรียน มันเป็นเรื่องที่เหนื่อย แต่พอไปเรียนเมืองนอก อยู่โรงเรียนประจำ เรามีเวลาที่จะทำกิจกรรมเยอะมาก เล่นดนตรี เล่นกีฬา ตอนที่เริ่มเขียนเพลงเพราะว่าอยู่ที่โรงเรียนประจำ ตอนนั้นมันเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้ทำกิจกรรมแล้วก็ได้ค้นพบว่าสิ่งที่เราชอบจริงๆ คืออะไร
ขณะที่ตอนนั้นเราจำได้ว่า เพื่อนๆ ที่เรียนมัธยมที่เมืองไทย เลิกเรียนก็ต้องไปโรงเรียนติว ไม่รู้สมัยนี้เด็กยังเรียนโรงเรียนติวอยู่ไหม แต่ตั้งแต่เกิดตัวเองไม่เคยไปโรงเรียนติวเลย และไม่คิดจะส่งลูกไปโรงเรียนติวด้วย
พอเข้ามหา’ลัยในอเมริกา สิ่งหนึ่งที่ค้นพบ ที่รู้สึกว่าเป็นการเปิดโลกมาก ที่เราไม่ได้เจอตอนที่อยู่มาแตร์ฯ กับตอนมัธยม คือ diversity – ความหลากหลายของคน
เราชอบโรงเรียนสหฯ เรารู้สึกว่ามันมีความหลากหลาย มีความคุ้นเคย ที่มหาวิทยาลัยที่เราอยู่มีทั้งผู้ชายผู้หญิงจากหลายประเทศอยู่ด้วยกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญมากเลย เรารู้สึกว่าคนจากหลากหลายแบ็คกราวด์ ประสบการณ์ พื้นฐานต่างๆ มาอยู่ด้วยกัน มาแชร์ความคิดกัน มันก่อให้เกิดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์หลากหลาย แล้วมันไปทลายกรอบของสังคม หรือว่าบรรทัดฐานที่เราเคยใช้เวลาตัดสินคนต่างๆ ในสังคม เราจึงรู้สึกว่าตรงนี้เป็นบทเรียนที่มีค่า ก็เลยอยากจะให้ลูกโตมาในสังคมที่หลากหลาย
ที่บอกว่า ประถม มัธยม อยู่หญิงล้วนมาตลอด มันมีจุดอะไรที่เราไม่ชอบ
(หัวเราะ) คือเอาตรงๆ ช่วงวัยรุ่นอยู่โรงเรียนหญิงล้วนที่อังกฤษ แต่ละเทอมจะมีดิสโก้ แล้วเชิญโรงเรียนผู้ชายมา แล้วเพื่อนๆ ก็จะตื่นเต้นกันมากกกกก เหมือนไม่เคยเห็นผู้ชายมาก่อน แล้วเราก็รู้สึกว่า เฮ้ย มันเกินไปหรือเปล่า กับเราที่โตมาก็มีเพื่อนผู้ชาย ที่เจอเวลาไปทำกิจกรรม เล่นกีฬา นู่นนี่
เราเลยรู้สึกว่า อยากให้ลูกมีความคุ้นเคยกับเพศตรงข้ามตั้งแต่เล็ก และความทัดเทียมกันทางเพศ ให้คุ้นเคยว่ามันเป็นเรื่องปกติ เรื่องธรรมชาติ อันนี้ทั้งตัวเองและสามีรู้สึกว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับครอบครัวเรา ซึ่งเราเข้าใจว่าครอบครัวอื่นๆ อาจจะเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งก็ไม่มีใครผิดใครถูกอยู่แล้ว
คิดว่า Norm แบบนี้น่าจะเป็นพื้นฐานสำคัญของอะไรบ้าง
การลดปัญหา Racism Sexism หรือความคาดหวังที่แตกต่างทางเพศ เราบอกลูกตั้งแต่เด็กๆ ว่า ผู้ชายกับผู้ชายก็แต่งงานกันได้ ผู้หญิงกับผู้หญิงก็แต่งงานกันได้ เพราะลูกตอนอนุบาล เขากลับมาบอกว่า เนี่ย เขาจะแต่งงานกับเพื่อนคนนี้ แต่คนนั้นกับคนนี้แต่งงานกันไม่ได้ เพราะเขาเป็นผู้ชายทั้งคู่ เราก็บอก อ้าว ทำไมแต่งไม่ได้ เขาบอกว่า ก็พ่อแม่ของเพื่อนบอก เราก็บอกว่า เดี๋ยวนี้เขาแต่งได้แล้ว เราเป็นผู้หญิงผู้ชายเราจะรักใครก็ได้
เราอยากให้ลูกโตมาเป็นแบบนั้น คือสามารถยอมรับคนในทุกรูปแบบ จากทุกแบ็คกราวด์ ทุกสีผิว แล้วก็ไม่มีการมาแบบ อยู่ในกลุ่มผู้ชายก็โจ๊กเกี่ยวกับผู้หญิง มองผู้หญิงเป็น object
ตอนนี้พ่อแม่เป็นส่วนสำคัญมากๆ ในการเรียนรู้ นอกจากการพูดกับเขาว่า ผู้หญิงผู้หญิง ผู้ชายผู้ชายแต่งงานกันได้ ไม่ว่าจะเพศไหนก็มีอิสระในการเลือกชีวิตของตัวเอง คุณนินามีวิธีอื่นๆ อีกไหมคะที่ไม่ได้สอนตรงๆ แต่พาเขาไปเรียนรู้ ให้เขาซึมซับเองโดยธรรมชาติ
เราให้ลูกชายเล่นบาร์บี้ เขาขอเอง เล่าให้เขาฟังว่า ตอนแม่เด็กๆ มีบาร์บี้นะ น้าก็มีบาร์บี้ ยังเก็บเอาไว้เลย แล้วเขาดูการ์ตูนในเน็ตฟลิกซ์ เห็นว่ามีบาร์บี้ เขาดูแล้วเขาก็ชอบ เลยบอกว่า อยากได้บาร์บี้ แล้วช่วงนั้นเราท้อง เขารู้ว่ากำลังจะมีน้องสาว เขาก็ขอบาร์บี้ บอกว่า เนี่ยเป็นลูกสาวเขานะ เพราะเราจะมีลูกสาว
อย่างเราไปห้าง เขาเห็นกระโปรงบัลเล่ต์บานๆ แล้วเขาก็เอามาจับเล่น เอามาใส่ขำๆ เราก็ถาม เอาไหม อยากได้ไหม คือเราไม่ได้รู้สึกสะอึก หรือสะดุ้งว่า เฮ้ย ลูกหยิบกระโปรงมาจับเล่นนะ เพราะเรารู้สึกว่า เด็กอะ เขาไม่เข้าใจหรอกว่าทำไมเด็กผู้หญิงใส่กางเกงได้ เด็กผู้ชายใส่กระโปรงไม่ได้ ยิ่งเราให้โอกาสเขาได้ลอง ให้เขารู้ว่าเขาชอบอะไรจริงๆ เขาก็จะเป็นคนที่ครบ สมบูรณ์ แล้วก็รักตัวเองมากขึ้น ถ้าเกิดเขาจะโตไปเป็นเกย์ หรืออื่นๆ เราก็แฮปปี้กับเขา แต่เราก็รู้ว่ายังมีพ่อแม่หลายคนที่ยังแบ่งแยกความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศอยู่ ซึ่งเป็น subconscious ที่เขาเองก็อาจไม่ได้ตั้งใจ
ง่ายๆ เลย สมมุติว่าพาลูกไปเรียนบอล แล้วก็มีเด็กผู้ชายคนหนึ่ง งอแง บอกไม่อยากเรียนแล้ว พ่อเขาบอกว่าเป็นลูกผู้ชายต้องสู้ เราเองจะนึกในใจ ผู้หญิงก็ต้องสู้หรือเปล่าวะ เรารู้สึกว่านี่เป็น cultural norm คือเป็นวัฒนธรรมคุ้นเคยที่บางทีพ่อแม่หรือคนรอบตัวพูดไป ไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่าทำไมลูกผู้ชายต้องอดทน ต้องสู้ แล้วเด็กผู้หญิงต้องอ่อนหวาน
มันเป็นความคาดหวังที่เราไม่อยากมีให้ลูก เรารู้สึกว่าเด็กผู้ชายก็ร้องไห้ได้ เด็กผู้ชายถ้าเขาเสียใจเราก็อยากให้เขามาคุย อยากมาปลอบ เขาไม่จำเป็นต้องเก็บไว้ อ่อนแอได้
สนามเด็กเล่นที่คุณนินาชอบที่สุด คืออะไร
อนุบาลจำได้ว่าจะชอบเล่นบ่อทราย สนุกมาก เพราะมันสามารถสร้างทุกอย่างได้ เลอะเทอะ เอาน้ำมาเท ใช้เวลาอยู่กับบ่อทรายได้เยอะมาก
สนามเด็กเล่นส่วนใหญ่ตอนเด็กๆ มันก็จะเป็นแบบเบสิค ซึ่งเราไม่ได้ชอบเครื่องเล่นอะไรเป็นพิเศษ แต่ความทรงจำส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับเพื่อนในสนามเด็กเล่น เด็กคนไหนที่เล่นแล้วไม่ยอมลง ไม่ยอมเลิก ไม่ยอมแบ่งให้คนอื่นเล่น จริงๆ พอโตแล้วมาคิดดูถึงรู้ว่าเรื่องของ social interaction ในสนามเด็กเล่นนี่เป็นสิ่งสำคัญมาก
พอมาเป็นคุณแม่ สนามเด็กเล่นสำคัญมากแค่ไหน
มากเลย พอมาเป็นแม่เรารู้สึกว่าอยากให้กรุงเทพฯ มีสนามเด็กเล่นเยอะๆ รู้สึกว่าสนามเด็กเล่นกรุงเทพฯ มันน้อยเหลือเกิน สนามเด็กเล่นคือพื้นที่เรียนรู้ ไม่ใช่เป็นแค่พื้นที่ที่เด็กสามารถพัฒนาการกล้ามเนื้อหรือร่างกาย ได้ปล่อยพลัง แต่ว่าเป็นเรื่องของการเล่นกับคนอื่นที่เรารู้สึกว่าสำคัญ เป็นโอกาสให้เขาได้มาเจอเพื่อนใหม่
สนใจการออกแบบสนามเด็กเล่นตั้งแต่ตอนไหน
เมื่อสองปีที่แล้วเพื่อนขอให้ช่วยออกแบบเครื่องเล่นให้ที่บ้านเขา เพราะเขามีลูก พอทำแล้วก็รู้สึกว่ามันสนุกมากเลย เพราะเราได้มีโอกาสคิดถึงสถาปัตยกรรมในสเกลเล็ก เขาชอบปีน มุด คลาน กระโดด โหน อะไรอย่างนี้ ขณะที่ออกแบบสเกลทั่วไปเราไม่ได้คิดถึงประเด็นต่างๆ เหล่านี้ เราคิดถึงแต่คนยืน เดิน นอน นั่ง เพราะฉะนั้นมันเลยสนุกมาก
ขั้นตอนของการออกแบบสนามเด็กเล่น มีอะไรบ้าง
ตอนแรกเราก็ทำเบสิครีเสิร์ชเรื่องความปลอดภัยว่า ช่องแต่ละช่อง ต้องเล็กใหญ่เท่าไหร่ ที่ให้มือไม่ไปติด คลานเข้าไปแล้วไม่ติด หรือมือจับราวโหนจะต้องมีขนาดเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นมันเป็นเรื่องของขนาด หรือ sizing กับวิธีการก่อสร้างที่ปลอดภัย
ตอนออกแบบ เราค่อนข้างเปิดกว้าง คือเราไม่ต้องการที่จะบอกว่าเครื่องเล่นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่เรารู้สึกว่าเด็กเขามีจินตนาการกว้างไกลของเขาเอง มีวิธีเล่นที่บางทีเราก็คาดไม่ถึง เพราะฉะนั้น เราจึงออกแบบให้มันมีโอกาสใช้หรือเล่นได้หลายแบบ แล้วที่เหลือเดี๋ยวเด็กเขาไปจัดการเอง
ความปลอดภัยก็สำคัญ แต่ก็ต้องสอดคล้องกับความสนใจของเขาด้วย คนออกแบบจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเด็กๆ จะชอบหรือสนุกกับเครื่องเล่นที่เราออกแบบ
จริงๆ ก็มีถามลูกเหมือนกัน แล้วก็ให้ลูกลงไปเล่นด้วย ถามว่าจะรู้ได้ยังไง ส่วนตัวก็รู้สึกว่า เราก็ยังมีความเป็นเด็กในตัว หรือน้องๆ ที่อยู่ในทีมออกแบบ เราก็จะมานั่งคิดกันว่า เออ มันน่าสนุกไหม
พอเห็นเด็กๆ มาเล่นที่เครื่องเล่นที่คุณนินาออกแบบแล้วรู้สึกอย่างไร
อิ่มเอมใจ เพราะรู้สึกว่าจริงๆ มันเป็นอะไรที่ pay off เร็วมาก ทำเสร็จแล้วเห็นเด็กมาเล่น โห มันคุ้มค่า
ประเด็นความเท่าเทียมกันเรื่องการเล่นถูกพูดมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเด็กแต่ละสังคมได้เล่นไม่เท่ากัน ยังมีความเหลื่อมล้ำด้านการเล่นอยู่ สนามเด็กเล่นจะเข้ามาช่วยได้อย่างไรบ้าง
จริงๆ ตอน Bangkok Design Week เราริเริ่มแคมเปญ Playgrounds for Bangkok ซึ่งเรามองว่าจริงๆ แล้วกรุงเทพฯ มีพื้นที่ว่างที่เป็นพื้นที่รกร้าง หรือพื้นที่ที่ไม่ได้ถูกใช้งานเยอะมาก เช่น ใต้ทางด่วน พื้นที่ที่อยู่ตามมุมของชุมชน พื้นที่ที่ไม่ได้รับการดูแล ซึ่งพื้นที่ต่างๆ เหล่านี้บางคนอาจจะมองว่าเป็นพื้นที่อันตรายด้วยซ้ำ แต่เรามองว่าจริงๆ แล้วสนามเด็กเล่น มันสามารถทำหน้าที่เป็น magnet ของสังคมได้ คือพอเราเอาไปตั้งปุ๊บ เด็กก็จะอยากมาเล่น ขอพ่อแม่มาเล่น พ่อแม่พาเด็กมา ได้มาเจอกับเพื่อนบ้าน ทำความรู้จักกัน ชุมชนก็จะเหนียวแน่นขึ้น ได้มาใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น
เราจึงไปติดต่อชุมชนต่างๆ ว่าเราอยากจะขอพื้นที่เพื่อตั้งสนามเด็กเล่นให้เด็กๆ ในชุมชนนะ แล้วเรามีสปอนเซอร์ด้วย
ก็ทำเรื่องอยู่นานมาก แล้วท้ายที่สุด แต่ละชุมชนก็มีข้อจำกัดและเงื่อนไขที่ไม่เหมือนกัน ที่เราเองก็ได้เรียนรู้ เช่น มีชุมชนหนึ่งที่เราจะเอาไปตั้ง เขาก็บอกว่า พื้นที่ว่างของเขาเขาเอาไปทำที่จอดรถดีกว่า เพราะเขาได้รายได้ เราก็เข้าใจ อีกชุมชนหนึ่งมีพื้นที่ว่าง แต่เป็นสุสานเก่า เก่ามาก เขาก็เคารพบรรพบุรุษเขา ไม่อยากให้เด็กไปเล่นอยู่บนพื้นที่สุสาน เขาก็เลยทิ้งร้างเอาไว้ หรืออีกที่หนี่ง เราคุยเรียบร้อยแล้วกับกรมโยธาฯ ว่าจะเอาไปวาง แต่สุดท้ายก็ไปวางไม่ได้เพราะว่าการเมือง คือมีอีกหน่วยงานหนึ่งที่เขาอยากจะไปใช้พื้นที่ตรงนั้น แล้วเขาไม่ยอมแบ่งให้เราใช้
มันมีเงื่อนไขต่างๆ ที่เราคาดไม่ถึงเลย เพราะตอนแรกเรารู้สึกว่า เราเอามาให้เลยนะ เครื่องเล่นเนี่ย ให้เด็กๆ ได้เล่น ได้ใช้กัน ก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย เป็นเรื่องที่เราเองก็รู้สึกว่าอยากจะประชาสัมพันธ์ให้กับทุกภาคส่วน ไม่ว่ารัฐหรือเอกชน เรายินดีจะช่วยให้มันเกิดขึ้น
เห็นอุปสรรคอะไรไม่เอื้อให้เด็กได้เล่นบ้าง
เอาที่เราเห็นนะคะ สังคมในหลายๆ ประเทศให้ความสำคัญกับเด็กเล็ก แต่ว่าเมืองไทยอาจจะไม่ค่อยเท่าไหร่ โฟกัสของงบประมาณต่างๆ ของทางรัฐอาจจะไปเน้นกับ demographic คนวัยอื่น แต่จริงๆ แล้วเด็กเล็ก 0-6 ขวบ เป็นช่วงเวลาที่พัฒนาการของมนุษย์มันก้าวกระโดดที่สุด จะว่ามันสำคัญที่สุดก็ได้ เพราะว่า มันจะ shape คนคนหนึ่งไปชั่วชีวิต
แต่พื้นที่ที่รองรับหรือว่าสวัสดิการที่จะให้พ่อแม่มีโอกาสได้มาเลี้ยงลูกเล็ก ยังมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับหลายประเทศ ในพื้นที่เมือง ยังไม่ต้องพูดถึงสนามเด็กเล่น เอาแค่พื้นที่สีเขียว สวนสาธารณะมีน้อยมาก ซึ่งจริงๆ สวนสาธารณะเป็นสิ่งสำคัญมากเลยที่จะให้เด็กเมืองได้มีโอกาสมาเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ
หรือเช่นฟุตบาทในซอยที่ให้พ่อแม่เข็นรถพาลูกออกมา experience พื้นที่นอกบ้านได้ ก็มีน้อยมาก อย่างตัวเองตอนนี้มีลูกเล็ก ไปไหนก็หิ้วเป้ไป ไม่เข็นรถเข็นแล้ว เพราะเข็นรถเข็นบนฟุตบาท อื้อหืม adventure มาก เพราะฉะนั้น มันไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของ playground ว่ามีให้ทุกชุมชนหรือเปล่า แต่ว่าจริงๆ เมือง สภาพของกรุงเทพฯ มันไม่ค่อยเกื้อหนุนและเอื้ออำนวยให้กับเด็กเล็กอยู่ เติบโตและมีพัฒนาการ
ถ้าเด็กคนหนึ่งไม่ได้เล่น จะเป็นอย่างไร
โอ้โห คือเด็กเล็กนี่เล่นสำคัญกว่าเรียนนะ ถ้าไม่ได้เล่น เอาแต่เรียน พัฒนาการทางสมองของเขามันไม่น่าจะเติบโตเท่ากับเด็กที่ได้เล่น แต่ว่าทั้งนี้ทั้งนั้น เรามองว่า การเล่นควรเป็น free play เด็กไม่ได้ถูกบังคับว่าต้องทำอะไร แต่เด็กสามารถวิ่งไปเด็ดดอกไม้มาทำอาหาร หรือเอาก้อนหินมาก่อเป็นปราสาทก็ได้
อย่างตัวเอง เลี้ยงลูกก็จะไม่ค่อยซื้อของเล่นให้ เพราะจริงๆ แล้วเขาชอบของผู้ใหญ่มากกว่า เช่น กระป๋อง ขวดที่บ้าน หรือว่าช้อนส้อม จริงๆ เด็กชอบเล่นของผู้ใหญ่ เพราะเขาอยากเป็นผู้ใหญ่ มันจึงเป็นของเล่นที่ดี ไม่จำเป็นต้องไปซื้อเยอะ ที่เขาชอบที่สุดคือเอาขยะมาประดิษฐ์เป็นของเล่น ที่บ้านจะมีมุมเก็บขยะรีไซเคิล ที่เราจะเอามาออกแบบประดิษฐ์ของด้วยกันเป็นประจำ
เพราะฉะนั้นคำว่าสนามเด็กเล่นของคุณนินาจึงไม่ได้หมายความถึงเครื่องเล่น แต่คือ free play เล่นได้ทุกที่?
ใช่ แต่มันต้องปลอดภัยระดับหนึ่ง ให้เขาล้มได้ ปีนต้นไม้ตกลงมา เจ็บนิดหน่อย อย่างนี้มันโอเค
ใช้ความเป็นแม่ในการออกแบบสนามเด็กเล่นมากน้อยแค่ไหน
ใช้ค่อนข้างจะเยอะ พอเป็นแม่ แล้วพาลูกไปเล่น เราก็จะรู้แล้วล่ะว่า อะไรที่เด็กคิดว่าสนุก อะไรที่ไม่สนุก อะไรที่มันอันตรายหรือหวาดเสียวเกินไป ประสบการณ์เราเอามาใช้ในการตัดสินได้ง่ายขึ้น ไม่จำเป็นต้องรีเสิร์ชทุกอย่าง
เป็นสถาปนิกที่ออกแบบเกี่ยวกับเด็กนี่ยากไหม
สนุกค่ะ ลูกค้าเด็กสนุกกว่าลูกค้าผู้ใหญ่ สิ่งที่เราทำให้เขาเป็นเรื่องของความสุข เป็นเรื่องของการเล่น ไม่มีการมาคุยกันเรื่องกฎหมาย งบประมาณ อันนี้จะขายได้ไหม ไม่มีเลย