เด็กเล่าข่าว: ไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไป อะไรใช่-ไม่ใช่ “ผมต้องลงมือทำ”

“เมื่อยขามาก! ผมพยายามเดินแซงแล้ว แต่แซงไม่ได้ เพราะอ๋องมันเดินเร็ว” 

‘อิคคิว’ ด.ช.พงพัฒน์ จำปาง ตากล้องมือหนึ่งเพียงคนเดียววัย 10 ปีของช่อง ‘เด็กเล่าข่าว ch’ บอกความรู้สึกเมื่อพูดถึงเพื่อน ‘อ๋อง’ ด.ช.ณัฐพล แสงอรุณ นักข่าวภาคสนาม วัย 13 ปี ขณะที่พวกเขาลงพื้นที่รายงานข่าวด้วยกัน

(ซ้าย) ‘อ๋อง’ ด.ช.ณัฐพล แสงอรุณ, (ขวา) ‘อิคคิว’ ด.ช.พงพัฒน์ จำปาง

ระยะเวลาไม่นานหลังจากอ๋องและอิคคิวตัดสินใจเปิดช่องรายงานข่าวเป็นของตัวเอง ตอนนี้สองเพื่อนซี้ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น หลังจากทั้งคู่ได้เจอ ‘แยม-ฐปณีย์ เอียดศรีไชย’ นักข่าวรุ่นพี่ที่เป็นแรงบันดาลใจในเหตุการณ์การชุมนุมแยกราชประสงค์ที่ผ่านมา 

วันนั้น ‘พี่แยม’ สัมภาษณ์ทั้งคู่เรื่องการออกมาลงสนามท่ามกลางผู้ใหญ่ตัวโต ที่สำคัญยังเปิดให้อ๋องและอิคคิวได้ทดลองไลฟ์รายงานสถานการณ์จริงๆ ผ่านสำนักข่าว The Reporters อีกด้วย

อ๋อง-อิคคิว บอกตรงกันว่าดีใจมากที่ได้เจอพี่แยม 

แม้เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ได้เจอกัน แต่อ๋องบอกว่า ‘พี่แยม’ ได้แชร์เทคนิคการทำข่าวหลายอย่างให้

“พี่แยมบอกว่าการเป็นนักข่าวที่ดีจะต้องไม่บิดเบือนความจริง ทำข่าวตามข้อเท็จจริง มีจรรยาบรรณ ห้ามใส่ความคิดเห็นของตัวเองลงไป ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ผมจำได้” 

ส่วนเคล็ดลับการทำงานของตากล้อง อิคคิวบอกว่ามีแค่เรื่องเดียว คือทำยังไงก็ได้ให้เราเดินนำหน้าพิธีกรให้ทัน

เพราะอุปสรรคของตากล้องที่ต้องเอาชนะให้ได้คือ ‘ความเมื่อย’ 

“อ๋องมันเดินเร็วครับ ผมเดินไม่ทัน ผมพยายามเดินแซง มันก็ยังจะเอาชนะผมอยู่ดี (หัวเราะ)” อิคคิวบอก

แม้ทั้งสองคนจะไม่ใช่เพื่อนร่วมห้องนั่งเรียนหนังสือด้วยกัน แต่ด้วยความที่บ้านใกล้กันทำให้ อ๋อง-อิคคิว กลายมาเป็น ‘เพื่อนซี้’ ที่มักจะทำอะไรด้วยกันเสมอ

อยากเจอความฝัน ต้องลงมือ

จุดเริ่มต้นของช่อง ‘เด็กเล่าข่าว ch’ จึงเกิดขึ้นมาเพราะความอยากรู้อยากลองของพวกเขา

“อันที่จริงผมเคยลองทำแคสท์เกมในยูทูบมาก่อน แต่ยังไม่ตรงโจทย์ในใจผม ผมชอบตามข่าวการเมืองและชื่นชอบพี่แยม ก็เลยลองจินตนาการว่า ถ้าเราเป็นนักข่าวภาคสนามบ้างจะเป็นยังไง” อ๋องบอก

และวันนั้นก็เป็นจุดเปลี่ยน อ๋องตัดสินใจคว้าโทรศัพท์มือถือของตัวเอง ชวนเพื่อนซี้อย่างอิคคิวมาเป็นตากล้อง เดินทางไปไลฟ์เพื่อรายงานข่าวการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  ซึ่งเป็นสนามข่าวครั้งแรกของทั้งคู่

“ตอนนั้นตื่นเต้นมาก ผมกับอิคคิวไปถึงก่อนใครเลย ไปก่อนหน่วย CIA (รถขายลูกชิ้น) ด้วยครับ เพราะผมติดตามข้อมูลจากเพจต่างๆ พอเห็นว่าเขาประกาศว่าไปรวมตัวที่ไหน เราก็พุ่งดีดตัวไปเลย” อ๋องบรรยายความรู้สึกการทำข่าวครั้งแรก

การลงพื้นที่ครั้งแรกของเด็กทั้งสอง แม้มีความตั้งใจ แต่ทั้งคู่รู้สึกตื่นเต้นและกลัว

“ผมไปม็อบครั้งแรกที่อนุฯ มันก็กลัวอยู่ครับ เพราะไม่รู้จะเกิดอะไร อาจจะเกิดเหตุการณ์อันตรายก็ได้ แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไร สถานการณ์ปกติ” อิคคิวบอก

แม้คลิปวิดีโอจากการลงพื้นที่ครั้งแรกจะไม่ได้ถูกเผยแพร่ แต่นั่นก็ให้บทเรียนจากการลงมือ

 “เสียงมันไม่ค่อยดีครับ เราเจอปัญหาเรื่องอุปกรณ์”

ที่สำคัญ เมื่อลงสนามที่สอง พวกเขามั่นใจมากขึ้น

บรรยากาศการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ทำให้อ๋องและอิคคิว รู้สึกตรงกันว่ามันไม่ได้อันตราย เขารู้สึกปลอดภัย และมีความกล้าในการรายงานข่าวเพิ่มขึ้น เพราะได้เจอพี่แยมที่นี่

เมื่อถามถึงเสน่ห์ของข่าวการเมือง เด็กวัย 13 อย่างอ๋องก็ตอบไม่ถูกว่าทำไมตัวเองถึงชื่นชอบ รู้แค่ข่าวการเมืองมันโดนใจ เวลาว่างนอกจากดูหนัง เล่นเกม ดูยูทูบทั่วไป ปั่นจักรยานเล่น เขายังชอบดูการถ่ายทอดสดประชุมสภา

ตรงข้ามกับอิคคิวที่ออกตัวว่าไม่ได้ชอบเรื่องการเมืองมากเหมือนอ๋อง แต่เริ่มสนใจเพิ่มขึ้นหลังจากได้ดูข่าวม็อบบ่อยๆ และมันเป็นจุดเริ่มที่ทำให้อิคคิวอยากศึกษาเพิ่มเติม ส่วนสิ่งที่ชอบที่สุดตอนนี้คืออยากลองเป็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เพราะได้ช่วยเหลือคน 

ถ้ามีพลังวิเศษเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง อิคคิวอยากให้ห้องเรียนเพิ่มวิชากู้ชีพลงไปในคาบเรียน อยากให้โรงเรียนสอน CPR หรือวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพราะมองว่านี่คือสิ่งสำคัญมาก สามารถใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน

“ถ้าเราเจอคนป่วยแม้เราเป็นเด็กเราก็ช่วยเขาได้ ดีกว่าเราไปยืนเฉยๆ หรืออย่างน้อยหากเกิดอุบัติเหตุและเรากดเบอร์แจ้งกู้ชีพได้ถูกก็ดีมากแล้ว” 

ส่วนอ๋องนอกจากรายงานข่าว สิ่งที่อ๋องอยากทำมากที่สุดคืองานด้านพิธีกรหรือไม่ก็เป็นยูทูเบอร์ อ๋องอยากทำคลิปในแนวไลฟ์สไตล์ของตัวเองมากขึ้น อยากทำ Vlog ให้เห็นว่าแต่ละวันอ๋องทำอะไรบ้าง หรือทำคลิปเล่าข่าวสนุกๆ เช่น ข่าวเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือเรื่องราวสนุกๆ ที่เกิดขึ้นรอบโลกมาเล่าให้ผู้ติดตามฟัง

“ตอนนี้ผมกับอิคคิวกำลังอยู่ในช่วงค้นหาความชอบ ใจหนึ่งก็ชอบ ใจหนึ่งไม่ชอบ มันต้องพิสูจน์ว่าใจเราชอบด้านไหนและชอบมันจริงหรือเปล่า” อ๋องบอก

แต่เรื่องที่ทั้งคู่บอกตรงกันคือประสบการณ์เป็นสิ่งล้ำค่าที่ได้จากการลงมือทำและไม่มีในห้องเรียน 

ดังนั้นถ้าอยากรู้อะไร ต้องลงสนามจริง จึงเกิดการทดลองเป็นนักข่าวครั้งนี้ 

“เราจะได้รู้ไปเลยว่าชอบหรือไม่ชอบ ดีกว่าไม่ได้ลงมือทำและปล่อยเวลาผ่านไป อะไรที่ผมทำผิดในไลฟ์นี้ ไลฟ์ต่อไปผมก็แก้ไข แล้วมันจะดีขึ้น เช่น ครั้งแรกเรามีปัญหาเรื่องเสียง พอได้เจอพี่แยมหรือพี่ๆ นักข่าวคนอื่น เขาแนะนำให้ใช้ไมค์สิ เพราะไลฟ์มันตัดต่อไม่ได้ และก็ไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น เราต้องลอง” อ๋องย้ำ 

ถึงจะเด็ก แต่ไม่บิดเบือนแน่นอน 

การทดลองทั้งหมดทั้งมวล สองหนุ่มยืนยันว่ายังอยู่ในสายตาพ่อแม่ 

อิคคิวบอกว่าเมื่อเริ่มไลฟ์รายงานข่าวทุกครั้ง พ่อแม่จะเข้าดูตลอด แม้ช่วงแรกๆ พ่อแม่จะคอยเตือนด้วยความเป็นห่วง ไม่อยากให้ไปในที่เสี่ยงๆ แต่พ่อแม่ก็ไม่เคยห้าม ช่วงหลังยิ่งพอมีคนรู้จัก พ่อแม่ก็เริ่มไว้ใจและปล่อยมากขึ้น

สำหรับอ๋องและอิคคิว การทดลองเป็นนักข่าวเด็กให้ประสบการณ์ที่เจ๋งมากๆ เวลาสัมภาษณ์แหล่งข่าว ด้วยความเป็นเด็กและยังตัวเล็ก อ๋องกับอิคคิวบอกว่าพวกเขาสามารถมุดเข้าไปในวงสัมภาษณ์ได้สบายๆ 

“ข้อดีของเด็กผมคิดว่าตัวเองมีแรงเยอะและเราตัวเล็กไงมันมุดไปนู่นนี่ได้หมด บางคนเห็นเป็นเด็กก็เอ็นดู ตอนไปม็อบครั้งแรกยังไม่มีใครรู้จักเราเลย ไม่มีใครคุยด้วย ต้องขอบคุณพี่แยมที่ทำให้เราเป็นที่รู้จักขึ้น พอคนรู้จักเราขึ้น บางคนก็ส่งยิ้มมาบ้าง แต่ถึงแม้เราจะเป็นนักข่าวเด็ก เราก็ไม่บิดเบือนความจริงแน่นอน”

อ๋องและอิคคิวทราบดีว่าอาชีพนักข่าวคืออาชีพทั้งหนักและเหนื่อย แต่ตอนนี้เขาไม่มีความเหนื่อยสักนิด เพราะยังเป็นเด็ก พลังยังเยอะ ที่สำคัญยังรู้สึกสนุก

ถ้าวันหนึ่งเจอแหล่งข่าวที่ไม่ให้ความร่วมมือ ไม่อยากให้สัมภาษณ์ นักข่าวอ๋องและตากล้องอิคคิวจะทำยังไง

“จะพูดว่าขอบคุณครับ ขอบคุณมาก ยิ้มให้แล้วก็เดินออกไปหาคนที่พร้อมจะให้สัมภาษณ์ต่อไป (ยิ้ม)” 


Writer

Avatar photo

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

พยายามฝึกปรือและคลุกอยู่กับผู้คนในวงการการศึกษา เพราะเชื่อว่าการเรียนรู้เป็นใบเบิกทางให้ขยายขอบขีดความสามารถตัวเอง ฝันสูงสุดคืออยากเห็นตัวเองทำงานสื่อสารที่มีคุณภาพและคุณค่าต่อไป

Photographer

Avatar photo

สิทธิกร ขุนนราศัย

ชื่นชอบความสบาย ติดนิสัยขี้เกียจมากกว่าขยัน ปัจจุบันทำงานด้านวิดีโอ ลูกค้ามากหน้าหลายตามักทักหาบ่อยๆ เพราะส่งงานไม่เคยทัน

Related Posts