ป๋าเต็ด ยุทธนา บุญอ้อม

วิชาเทศกาลดนตรีของ ครู ใหญ่ มาก

“ชีวิตพี่ตูนเนี่ย มันแผนอะไรวะ จบนิติฯ มาเป็นสจวร์ต แล้วเป็นนักร้อง มันไม่ได้มีการวางแผนที่ดีเลยนะ” ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม ยกตัวอย่างเมื่อถูกถามว่า “ถ้ายังไม่รู้ว่าชอบอะไร มนุษย์เราจะทำงานในสิ่งที่เราไม่รักได้ไหม”

ปีนี้ในวัย 55 เขารู้ดีแล้วว่าตัวเองชอบอะไรและลงมือลงใจมันอย่างสุดตัว จนคนในวงการดนตรียอมรับและเรียกว่า ‘ป๋า’ นำหน้าชื่อ 

ในแวดวงเทศกาลดนตรีเมืองไทย ยอมรับว่าป๋าเต็ดเป็น ‘ครูใหญ่’ คนรุ่นใหม่อย่างนักศึกษาแวะเวียนมาขอวิชาผ่านการสัมภาษณ์จากป๋าบ่อยมากถึงมากที่สุด หนึ่งในเหตุผลสำคัญคือ โลกการทำงานเรียกร้องแต่ห้องเรียนไม่ตอบโจทย์

‘วิชาเทศกาลดนตรี’ จึงเป็นเบอร์แรกของซีรีส์ Out of School ของ mappa เพราะเราชื่อว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ และไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยความถูกต้อง

“ถ้าคุณแม่นยำ ตั้งใจเดินมาแล้วถูกทางตั้งแต่ต้นนะ คุณเป็นมนุษย์ประหลาด แต่ถ้าคุณยังไม่แน่ใจว่าอยากทำอะไร แล้วอาจจะกำลังทำงานที่ไม่ได้ชอบ คุณเป็นมนุษย์ปกติครับ” 

ก่อนหน้านี้ออกไปเปิดบริษัทของตัวเอง แต่เพราะอะไรจึงกลับมาทำงานที่แกรมมี่ 

เดิมทีออกไปทำบริษัทแก่นอยู่ 3 ปี แล้วทางแกรมมี่ชวนกลับมาบริหารงานในพาร์ทของ Show Business บางคนอาจจะมองว่าการกลับมาทำงานที่เดิมเหมือนเป็นความไม่ท้าท้าย แต่ผมกลับมองว่า จริงๆ การกลับมาทำงานที่แกรมมี่ครั้งนี้ครั้งที่ 3 ทุกครั้งที่กลับมามันท้าทายทั้งสิ้น เนื่องจากบริบทมันเปลี่ยนไป โครงสร้างและโจทย์ที่เปลี่ยนไป ผมรู้สึกว่าอันนี้ท้าท้ายจริง ผมอยากทำเลยตัดสินใจกลับมา

เพื่อไม่ให้เกิด conflict of interest บริษัทแก่นจึงเลิกทำอีเวนท์และผันตัวมาทำมีเดีย ทำรายการป๋าเต็ดทอล์ค ซึ่งก็จะไม่ขัดแย้งกับงานหลัก เพราะงานหลักผมคือแกรมมี่

จากความเปลี่ยนแปลง ได้ Learning เรื่องอะไรบ้าง 

ตอนออกไปทำบริษัทแก่น สาเหตุส่วนหนึ่งคือว่าตอนเราอยู่ที่แกรมมี่ด้วยหน้าที่ที่รับผิดชอบ มันต้องเข้าห้องประชุมใหญ่ๆ อย่างประชุมบอร์ด ซึ่งผมชอบเข้าไปนั่งฟังนะ เพราะอยู่ในห้องประชุมบอร์ดได้ความรู้เยอะมาก แต่เราเข้าไปนั่งฟังเฉยๆ ไม่ได้ ต้องร่วมประชุมด้วย แล้วเวลาที่เราต้องคุย มันไม่ใช่เรื่องที่เราอยากคุย เช่น ตัวเลข การบริหารคน บัญชี ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นของผู้บริหารระดับสูง แต่บังเอิญเราสนุกกับการคิดงาน เตรียมงานมากกว่า ก็เลยตัดสินใจออกไปตั้งบริษัทแก่น เพื่อจะได้ดูแลบริษัทที่เล็กมาก มีสมาชิกอยู่แค่ 10 คน แล้วทุกคนคือบอร์ดหมดเลย

สิ่งที่เรียนรู้จากการไปทำแก่นคือ มันมีปัญหาอยู่ทุกที่ แต่มันมาในรูปแบบแตกต่างกัน องค์กรใหญ่จะมีปัญหาแบบหนึ่ง องค์กรเล็กก็จะมีปัญหาแบบหนึ่ง ในทางตรงกันข้ามความสนุกมันก็มีอยู่ทุกที่ อยู่ในองค์กรใหญ่อาจจะมั่นคง อยู่ในองค์กรเล็กอาจจะมีอิสระ แต่ก็ต้องแลกกับความมั่นคงที่จะไม่เท่ากับองค์กรใหญ่ 

พอออกไปทำแก่นก็ได้พบว่าเราไม่ต้องเหนื่อยกับการประชุมบอร์ดแล้ว แต่เราต้องมั่นใจได้ว่าทุกเดือนต้องมีเงินเดือนให้ลูกน้องสิบคน ต้องมั่นใจได้ว่าปีนี้ทั้งปีเราต้องมีงานมากพอที่จะดูแลบริษัทได้ 

ในองค์กรใหญ่ หากขาดทุนเราก็แค่ชี้แจง ขอโทษผู้บริหาร ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงในครั้งต่อไป เขายังให้เงินเดือนเราเท่าเดิม แต่ต้องเข้าไปประชุมบอร์ด แล้ว convince ทุกคนว่าต้องทำสิ่งนี้ ให้เชื่อเราว่ามันจะดี ไม่รู้ว่าต้องเอาอะไรมายืนยันมากมายไปหมด ดังนั้นสิ่งที่ได้เรียนรู้ก็คือมันไม่มีอะไรถูกหรือผิดไปหมด เราเลือกที่จะอยู่กับความผิดบ้าง ถูกบ้างนั้นได้อย่างไร เราชั่งน้ำหนักแล้วมันคุ้มไหม

มันเป็นหยินและหยาง ทุกอย่างมันมาเป็นแพ็คเกจ เราไม่สามารถเลือกได้ เหมือนเวลาเราสั่งไก่ทอดเอาแต่ปีก แต่ถ้าเอาแต่ปีกก็จะไม่ได้ราคานี้ ราคาก็จะแพงขึ้น คุณต้องหยิบสุ่มมา จะได้ทั้งอก ได้ทั้งปีก ได้ทั้งน่อง 

ระหว่าง Safe Zone กับ  Death Zone ชอบแบบไหน

ถ้าเป็นแต่ก่อนผมคงตอบไปอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่วันนี้คำตอบมันคือ safe zone ไม่มีจริง ทุกที่มันมีความเสี่ยงหมดเลย ต่อให้ผมอยู่ในองค์กรใหญ่มั่นคง มีเงินเดือนจ่ายให้ผมทุกเดือนแน่ๆ ผมก็โกหกอยู่ ถ้าเขาให้เงินเดือนเราเยอะ แปลว่าเขาคาดหวังกับเราเยอะตามไปด้วย และเมื่อวันหนึ่งเราไม่สามารถทำได้อย่างที่ควรจะเป็นหรืออย่างที่เขาคาดหวัง มันก็ยุติธรรมดีถ้าหากเขาจะไม่จ้างเราต่อ 

การผลักดันเราให้มาเป็นผู้ที่ต้องบริหาร เราก็คงคิดอย่างนั้นเหมือนกัน และมันก็จะไม่ยุติธรรมต่อคนอื่นที่เขาทำงานได้เต็มที่กว่าเรา แต่กลับมีตำแหน่งต่ำกว่าเรา ได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่าเรา ผมจึงบอกได้เลยว่ามันไม่มี safe zone หรือ death zone จริงๆ มันต้องอยู่ร่วมกัน และเราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้

เผชิญหน้ากับ Disruption ในอุตสาหกรรมดนตรีอย่างไรบ้าง 

อาจเพราะนิสัยส่วนตัวผมเป็นคนชอบฟัง ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าชอบฟังเพลงอย่างเดียว ชอบฟังทุกอย่าง ความคิดเห็นใหม่ๆ ชอบที่จะเรียนรู้ เลยตอบคำถามว่าสู้กับการ disruption อย่างไร มันจึงไม่ค่อยต้องใช้วิธีการอะไร ผมโชคดีที่นิสัยเป็นอย่างนี้ มันก็เลยพร้อมที่จะรับสิ่งใหม่ๆ ได้เสมอ 

แต่ถ้าจะให้บอกถึงบางคนที่นิสัยไม่เหมือนผมว่าจะต้องใช้วิธีการอะไร ทางหนึ่งคือ มันจะมีคำหนึ่งที่พี่ชายผมสอนมาตั้งแต่เด็กๆ เลย คือ เอาใจเขามาใส่ใจเรา พี่ชายผมอ่านมาจากหนังสือของ เดล คาร์เนกี มันอาจจะฟังดูเป็นคำสอนเชยๆ นะแต่ว่ามันใช้ได้กับทุกอย่าง 

เวลาที่มันเกิดเรื่องใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งเดี๋ยวนี้ใช้คำว่า disruption คนที่เอาตัวไม่รอดหรือไม่ยอมรับว่ามันเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว คือคนที่ไม่ฟังความเห็นคนอื่น คือคนที่เชื่อว่าไม่จริง เช่น มันเป็นไปไม่ได้ ซีดีมันจะดีกว่าคาสเส็ตต์ ได้อย่างไร หรือ คาสเส็ตต์มันจะดีกว่าแผ่นเสียงได้อย่างไร 

แผ่นเสียงมันให้เสียงที่อิ่มกว่า  คาสเส็ตต์มันเล็กนิดเดียว แต่ลืมนึกไปว่ามันพกได้นะ คุณจะพกแผ่นเสียงไปทุกที่ไปได้อย่างไร คนก็ยังตอบอีกว่าไม่ได้สิ ต้องนั่งฟังที่บ้านสิ ฟังเพลงก็ต้องฟังเครื่องเสียงดีๆ มีบรรยากาศ คนที่คิดแบบนั้น มันก็ปรับตัวไม่ได้ อันนั้นมันคือเรื่องในอดีต ปัจจุบันมันมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นตลอดเวลา

เฮ้ย! มันต้องทีวีสิ หนังก็ต้องดูในโรงหนังเท่านั้น ถ้าคุณไม่ดูในโรงหนังก็จะไม่ได้อรรถรสเต็มที่ซึ่งมันก็ไม่ผิดนะ แต่ฉันไม่ว่าง ฉันต้องดูตอนนี้เท่านั้น คุณมีให้ฉันไหม ฉันเลยต้องมี Netflix มียูทูบ ความคิดที่ว่ามันไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้ มันต้องอย่างนี้เท่านั้น มันจะทำให้ตัวคุณถูก disrupt เป็นคนแรก 

เพราะฉะนั้นคนที่จะไม่โดน disrupt ก็คือฟังแล้วตั้งคำถาม ทำไมเขาไม่ไปโรงหนัง ทำไมเขาเลือกดูผ่านจอโทรศัพท์ ต้องทำความเข้าใจ แล้วจะพบว่าเมื่อคนคิดแบบนี้มากพอ ฉันก็จำเป็นต้องทำอะไรให้เขาดูในมือถือได้แล้วล่ะ ผมก็เลยคิดกลับมาที่คำสอนเอาใจเขามาใส่ใจเรา

นิสัยการฟังเกี่ยวข้องกับความชอบดนตรีด้วยหรือเปล่า

สำหรับตัวผมการชอบฟังมาก่อนแล้วจึงทำให้ชอบฟังดนตรี ต้องชื่นชมคุณแม่ของผม ซึ่งคุณแม่เป็นช้างเท้าหน้าที่บ้านและเป็นคนที่รักความบันเทิงมาก ที่บ้านพี่ชายสองคนและพี่สาวหนึ่งคนฟังเพลงกันคนละแบบ คุณแม่ก็ไม่ได้ห้าม พี่สาวชอบฟังสุนทราภรณ์ คุณแม่ก็ร้องสุนทราภรณ์ พี่ชายคนโตชอบฟังเพลงฝรั่งแบบ The Beatles คุณแม่ไม่ชอบแต่ก็ไม่ได้ห้ามที่เขาจะเปิด ส่วนพี่ชายคนเล็กชอบฟังเพลงร็อคเฮฟวี่ ก็เปิดฟังกัน 

พี่ชายคนโตเรียนวิทยาศาสตร์ พี่สาวเรียนด้านการศึกษา พี่ชายอีกคนเรียนด้านพละ ที่บ้านไม่ได้มีอะไรเหมือนกันเลย แต่อยู่ด้วยกันแล้วคุยกันได้ ล้อมวงฟังเพลงกัน เหมือนผมถูกปลูกฝังให้เปิดรับทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรเป็นข้อห้ามเลย นอกจากห้ามไปทำคนอื่นเดือดร้อน บวกกับที่บ้านมีช่วงหนึ่งเป็นร้านขายหนังสือ และคุณพ่อต้องเดินทางไปทำงานตลอดเวลา จึงชอบซื้อพ็อคเก็ตบุ๊คเอาไว้อ่านบนรถไฟ แล้วก็เอามาเก็บไว้ที่บ้าน ผมเลยได้อ่านหนังสือที่หลากหลายมากจากที่คุณพ่อซื้อและที่บ้านขาย มันทำให้นอกจากฟังทุกแนวแล้วก็ยังอ่านทุกแนว 

ที่บ้านคุณลุงทำโรงหนังจึงได้ดูหนังทุกเรื่องที่เข้าฉาย ทั้ง หนังจีน หนังไทย หนังฝรั่ง หนังแขก ผมโชคดีที่เกิดมาในครอบครัวนี้แล้วมันหล่อหลอมให้ผมเป็นคนที่สามารถเปิดรับทุกสิ่งทุกอย่างได้ โดยไม่มีอะไรที่ผมรังเกียจเลย 

พอโตมาเรียนนิเทศฯ มันก็ต้องศึกษาเรื่องสื่อก็ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าต่อให้หนังห่วย เราก็ต้องดูเพราะเราอยากรู้ว่าทำไมเขาถึงเรียกว่าห่วยและมันห่วยตรงไหน เราไม่ชอบละครแต่ก็ต้องดูว่าทำไมถึงฮิตมาก ทั้งหมดทั้งปวงมันเริ่มจากการฟัง ปัญหาของเราที่เป็นเรื่องใหญ่เลยเกิดขึ้นมาจากการไม่ฟัง พอไม่ฟังแล้วก็เริ่มสร้างการอคติขึ้นมา เมื่อไม่ฟังด้วยและมีอคติด้วยเลยยิ่งไปกันใหญ่ ถ้าคนนี้พูดแปลว่าผิด คนนี้พูดแปลว่าถูก

การเปิดรับการฟังอย่างหลากหลาย นำไปใช้ในการจัดคอนเสิร์ตอย่างไรได้บ้าง

ผมทำงานเป็นสื่อสารมวลชนมาทั้งชีวิต ทำวิทยุ แมกกาซีน เคยทำหนังด้วยและในที่สุดอาชีพตอนนี้คือทำอีเวนท์ในการสื่อสารกับมวลชน ดังนั้นการที่เป็นคนที่เริ่มต้นด้วยการฟังก่อนจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก งานสื่อสารมวลชนไม่ว่าจะแขนงไหนก็ตามมันต้องจากการเข้าใจผู้รับสารก่อน ถ้าเราไม่เข้าใจผู้รับสาร พัง ต่อให้สารของเราดีแค่ไหน แต่เราไม่รู้ว่าจะเล่าสารนี้ให้ใครฟัง เราก็จะไม่รู้เลยว่าเล่าอย่างไร ด้วยภาษาแบบไหน ควรจะสั้น ควรจะยาว 

คอนเสิร์ตก็เหมือนกัน สมมุติผมทำคอนเสิร์ตบอดี้สแลม ผมไม่ได้เริ่มต้นด้วยการคิดว่าทำอย่างไรบอดี้สแลมจะพอใจ แต่มันเริ่มด้วยการคิดว่าทำอย่างไรแฟนคลับบอดี้สแลมจะพอใจโดยที่บอดี้สแลมยังเป็นตัวเองอยู่ อันนี้มันคือบาลานซ์ 

ถ้าจะทำแบบตามใจแฟนอย่างเดียวก็ไม่ได้ เขาอาจจะอยากได้อะไรที่บอดี้สแลมให้ไม่ได้ก็ได้ ดังนั้นพอเราต้องเข้าใจทางฝั่งผู้ชม เราต้องไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง เราต้องดูว่าโลกยุคนี้ วันนี้ คนดูต้องการอะไร ซึ่งมันเริ่มด้วยการเลือกก่อนด้วยว่างานนี้จะจัดให้ใครดู ทุกอย่างมันเริ่มต้นด้วยคนดู 

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพได้ไหมคะ 

เชียงใหญ่เฟส ที่เชียงใหม่ก็แล้วกัน 

ทีมงานเริ่มต้นด้วยการไปใช้ชีวิตที่เชียงใหม่กันเลย ไปดูว่าคนที่นั่นเที่ยวที่ไหนกัน แล้วก็พบว่าเชียงใหม่ผับเยอะแยะไปหมดและมีหลากหลายทุกสไตล์ เช่น บางคนไป Good View บางคนไปท่าช้าง ไปฮอม แต่เมื่อไปดูในรายละเอียดแล้วจะพบว่า อ๋อ คนไปท่าช้างเป็นแบบนี้ คนที่ Good View เป็นแบบนั้น demographic ไม่เหมือนกัน แล้วทำไม Good View ถึงดึงดูดคนแบบนี้ ท่าช้างดึงดูดคนแบบนั้น และ Warm Up ดึงดูดคนแบบไหน ก็ต้องไปดูต่อว่าเป็นเพราะอาหารที่เสิร์ฟ เพลงที่เขาเล่น บรรยากาศ ราคาหรืออะไร รายละเอียดพวกนี้ทำให้เราเริ่มเอามาเปรียบเทียบกันแล้วก็นำมาเลือกว่าคนแบบไหนที่จะมาเทศกาลดนตรีเชียงใหญ่เฟส 

แล้วเราก็พบว่ามันเหมาะกับคนท่าช้าง ที่ค่อนข้างจะเป็นวัยรุ่น และสถานที่ที่ราคาไม่แพง เราก็เริ่มสตาร์ทบัตรด้วยราคาประมาณนี้ จากนั้นดูว่าท่าช้างทำอะไรบ้าง ท่าช้างเปิดแต่เพลงไทยทุกแนว นี่คือจุดแข็งของท่าช้าง เปิดได้ทั้งแต่ลูกทุ่งยันเขียนไขและวานิช เราก็วาง line up คอนเสิร์ตแบบ Superhit เลย คิดให้มันตรงฟังก์ชั่นอย่างหลากหลายและเหมาะสม บางอย่างไม่จำเป็นต้องเป็นของพื้นเมือง ซึ่งถ้าเราไม่ไปคลุกคลีที่นั่นก่อนแล้วนั่งคุยกันที่กรุงเทพฯ อย่างเดียว ในที่สุดงานเชียงใหญ่ก็จะกลายเป็นเทศกาลดนตรีที่ทำไว้ให้คนกรุงเทพฯ ดู

พอเราทำครั้งที่ 1 ไปตัวเลขมันออกมา มันก็ใช่จริง ๆ 80-90 เปอร์เซ็นต์ คนที่ไปเชียงใหญ่เป็นคนเชียงใหม่และคนภาคเหนือรวมกัน คนกรุงเทพฯ ไปนิดเดียวเอง ถ้าเกิดเราคิดให้คนกรุงเทพฯ สนุกนี่ผิดตั้งแต่ต้นเลย พอครั้งที่ 2 เราก็เพิ่มเวที ขยายพื้นที่ออกมา คนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า 

มันบอกให้เรารู้ว่าต้องเริ่มต้นด้วยการฟัง ฟังใคร ฟังลูกค้า ฟังคนดู ฟังคนที่จะมางานของเรา ถ้าคนดูมีความสุขที่เหลือคือถูกต้องไปหมด

ถ้าเราพูดถึงวิชาการจัดเทศกาลดนตรี นอกจากการฟัง ยังเรียกร้องทักษะสำคัญอะไรอีกบ้าง

ถ้าในแง่การเตรียมงานต้องมีทักษะการฟัง การประมวลผลและการแยกแยะข้อเท็จจริง เพราะเวลารวบรวมข้อมูลเข้ามา บางครั้งจะมีความเห็นอยู่ในนั้นด้วย เราต้องแยกให้ได้ บางทีอาจจะเป็นเรื่องรสนิยมส่วนตัว ความชอบของทีมเราเองนี่แหละ ซึ่งมันเห็นทนโท่เลยว่าเราไม่อยากเดินไปทางนี้ แต่ทางนี้มันใช่ ขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลเป็นขั้นตอนที่เราต้องเป็นแก้วเปล่าให้ได้มากที่สุด มิฉะนั้นแล้วข้อมูลผิดจะทำให้ผิดไปทั้งหมดเลย

พอไปถึงวันทำงานจริงๆ องค์ความรู้หรือสกิลที่ต้องการหลักๆ มีสกิลการจัดการ ซึ่งประกอบด้วย การวางกระบวนการในการทำงานให้เป็นขั้นตอนที่ถูกต้อง เช่น Big Mountain ที่เราเจอปัญหาในทุกปี เนื่องจากไซส์มันใหญ่มาก ซึ่งคนดูจะคิดว่าโอ้โห คิดได้อย่างไรออกแบบเวทีสวย จัดวางศิลปินดี งานพวกนั้นยากนะไม่ได้ง่าย แต่งานที่ยากกว่าคือการจัดวางให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่น เราจะวางเวทีอย่างไรไม่ให้เสียงตีกัน หันหน้าอย่างไร แล้ววันงานศิลปินจะเข้าหลังเวทีได้เร็วที่สุดอย่างไรโดยไม่ผ่านคนดู ต้องหาเส้นทาง ถ้าทำอะไรลัดขั้นตอนมันก็จะผิด ควรวางแผนอะไรก่อนอะไรหลัง 

สกิลการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าสำคัญมาก ขึ้นชื่อว่างานอีเวนท์ทุกอย่างมันเกิดขึ้นสดหมด mindset ของคนทำอีเวนท์ทุกคนคือตั้งไว้ก่อนเลยว่ามันเกิดเรื่องผิดพลาดแน่ๆ ไม่มีทางราบรื่น อย่างแรกต้องมีแผน B และ C จินตนาการเลยว่าจะมีอะไรผิดพลาดบ้าง ถ้าแผน B ไม่ได้ผล แผน C คืออะไร 

แต่ถ้าไปถึงหน้างานอาจจะมีเหตุผิดพลาดที่เหนือความคาดหมาย เช่น  Big Mountain ที่เขาใหญ่ จัดช่วงเดือนธันวาคม มันคือหน้าหนาว อยู่ดีๆ ฝนตก คืองานนี้ไม่ได้ดีไซน์เพื่อรองรับการที่จะมีฝนตกเลย ไม่มีหลังคาเวที มันทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องค่อยๆ คิดกันไป ต้องย้ายร้านค้ามารวมกันแล้วเอาเต็นท์ไปให้ศิลปิน จนในที่สุดผ่านไป 4 ชั่วโมงถึงกลับมาเล่นได้ หลังจากนั้นเป็นต้นมาแผน B ของ Big Mountain คือฝนตกจะทำอย่างไร

สูตรการคัดเลือกและจัดวางศิลปิน เป็นอย่างไร

เทศกาลดนตรีมันมีความเกี่ยวพันกับคนดู ซึ่งเขาไม่ได้มาดูดนตรีอย่างเดียว เขามากินข้าว ถ่ายรูป ดังนั้นชีวิตมันเลยขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของคนดู เทศกาลดนตรีมีหลายแบบ การคัดเลือกศิลปินจะแตกต่างกันไป เราต้องตัดสินใจให้ได้ก่อนว่าจะเป็นเทศกาลดนตรีแบบไหน เช่น เราทำเทศกาลดนตรีนั่งเล่น ต้องดูว่ากลุ่มเป้าหมายคือใคร เขาจะเป็นคนที่ไม่อยากเหนื่อยในเทศกาลดนตรี ก็จัดนั่งเล่นมาเพื่อกลุ่มคนแบบนี้ มีเวทีเดียว มีโซนปูเสื่อ โซนเกาอี้ ดีไซน์มาให้ทุกคนปักหลัก ดังนั้นการวางศิลปินต้องสอดคล้องกันคือนั่งเล่นยาวๆ จนจบไม่ต้องลุกไปไหน ทั้งเวทีเป็นแฟนคนเดียวกันได้และดูได้อย่างต่อเนื่อง อาจจะเริ่มจากเบาๆ แล้วคึกคักขึ้นเรื่อยๆ แต่รสนิยมต้องตรงกัน 

ส่วนเทศกาลดนตรีหลายเวที อย่างBig Mountain เราอยากให้คนเดินไปมา ไม่อยากให้ปักหลัก ทำหลายเวทีอยากให้คนเดินทั่ว ดูครบทุกอย่าง ดังนั้นการจัดวางศิลปินมันจะบาลานซ์ระหว่างการให้แต่ละเวทีมีคาแรคเตอร์ของมัน เช่น เวทีฮิพฮอพ เวทีป๊อป ในขณะเดียวกันต้องมีโอกาสให้คนหมุนเวียนสับเปลี่ยนเวที เช่น เวทีร็อคมันก็มีหลายแบบ เราทำอย่างไรไม่ให้ร็อคแบบเดียวกันต่อเนื่องไปนานๆ เพื่อที่เขาจะได้ดูวงนี้เสร็จแล้วไปอีกเวที 

หรือ เราไม่สนเรื่องคาแรคเตอร์ของเวที เราเรียกว่าการจัดการศิลปินแบบ ‘รถกระถินคว่ำ’ สมมุติดู วี วิโอเลต อยู่ วงต่อไปอาจจะเป็น เจน นุ่น โบว์ ในขณะที่อีกเวที ไบรท์ วิน เล่นจบอาจจะเป็น Cocktail เลย เพื่อให้เขาไม่นั่งแช่ ซึ่งวิธีนี้เหมาะสำหรับเทศกาลที่อยากให้คนเดิน

ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมความรู้ในห้องเรียน ในมหาวิทยาลัย ถึงเอามา Apply ใช้ไม่ได้ในสิ่งที่เราอยากทำงาน โดยเฉพาะในวงการดนตรี 

ข่าวดีคือตอนนี้มันเริ่มมีแล้วในวงการการศึกษา มศว. ก็ชวนผมไปเป็นที่ปรึกษาในการทำหลักสูตรเรียนทางด้านการทำคอนเสิร์ต ที่ ม.กรุงเทพ อันนี้ผมก็ไปพูดทุกปีเลย เป็นคณะว่าด้วยเรื่องการทำอีเวนท์ และเป็นคณะที่ไม่ต้องเข้าห้องเรียนก็ได้ คือสมมุติผมบอกว่าเรียนที่นี่ไหม เขาก็จะส่งนักศึกษามาเลย แล้วมาอยู่กับพวกเราทั้งเทอมเลยก็ได้ ซึ่งผมว่าอันนี้เริ่มมีคนเล็งเห็นแล้ว

ถ้ารัฐบาลจะไม่ช่วยตอนเริ่มต้นการศึกษา อย่างนั้นช่วยหางานรองรับเขาก็ได้ เพราะต่อไปมันมีโอกาสเติบโตเยอะมาก และอย่างหนึ่งที่คนไทยทำได้ สู้กับชาวโลกได้ก็คืออีเวนท์ 

ยกตัวอย่างง่ายๆ มีอีเวนท์หนึ่งที่ไม่ต้องมีออร์แกไนเซอร์ ชาวบ้านทำกันเอง แต่ว่ามันกลายเป็นอีเวนท์ระดับโลก คนทั้งโลกอยากมาเที่ยวทุกปี มันชื่อว่า full moon party อย่างงานที่ผมทำอยู่ตอนนี้ มันใหญ่มาก เชียงใหญ่ หรือนั่งเล่น นี่เรายังไม่ได้ดีไซน์เอาไว้ต้อนรับชาวต่างชาติเลยนะ เราดีไซน์ไว้สำหรับคนไทยอย่างเดียว 

หรือตอนนี้เรามีงานอย่าง Wonder Fruit, H2O เนี่ยเขาดีไซน์ไว้เพื่อต้นรับคนต่างชาติ เราก็จะเห็นว่ามันเติบโตขึ้นทุกปี ทำไมรัฐบาลไม่สนับสนุนให้มีอะไรอย่างนี้ ประเทศอย่างเบลเยียม ประเทศเล็กนิดเดียว ตอนนี้เป็นเจ้าของเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ชื่อว่า Tomorrowland บัตรแพง ขายหมดภายในพริบตาทุกปี เขาจัดในเมืองเล็กๆ มีใครเคยได้ยินชื่อ ‘เมืองบูม’ ไหมครับ ไม่มี มันเป็นเมืองเล็กนิดเดียวแต่ว่าคนแห่กันไป

ทำไมคนไทยจะทำไม่ได้ เขาอยากมาเมืองไทยกันมากนะ อะไรไม่รู้ทำให้มันมาไม่ได้ ถ้าความเห็นส่วนตัวผมก็คือไม่ต้องให้ Tomorrowland มาเมืองไทยหรอก เราจัดเองได้โดย เราพร้อมทุกอย่างเลย เหลืออย่างเดียวที่ยังไม่พร้อม 

มีบางโมเมนต์ไหมที่รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง 

โอ้ ตลอดเวลาเลยฮะ คือนิสัยที่เริ่มต้นด้วยการฟังเนี่ย มันจะมาคู่กับการที่เราต้องไม่คิดว่าเราเก่งที่สุด เมื่อไหร่ที่เราคิดว่าเราเก่งที่สุดเราจะไปฟังคนอื่นทำไมล่ะ เราฟังเพราะว่าเราอยากได้ข้อมูลเพิ่ม เราฟังเพราะเราอยากเก่งขึ้น “stay foolish stay hungry” ที่ สตีฟ จอบส์ พูด อันนี้ผมชอบมากเพราะว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ 

เคยมีครั้งหนึ่ง ตอนนั้นผมเพิ่งเริ่มต้นทำงานไม่นาน เป็นครีเอทีฟอยู่ที่เอไทม์น่าจะสัก 20 ปีที่แล้ว ยังหนุ่มแน่น ตอนนั้นตำแหน่งคือรองผู้อำนวยการฝ่ายผลิต อายุยังไม่ถึง 30 เลยนะครับ มั่นใจในตัวเองสูงมาก ตอนนั้นนั่งประชุม ก็จะมีความเกรี้ยวกราดตามประสาคนหนุ่ม ผมจำไม่ได้ว่าใคร แต่เป็นผู้บริหารระดับสูง เป็นลูกค้าหรือไม่ก็ที่ปรึกษาสักคน เขามาร่วมประชุม แล้วเขาเริ่มด้วยการแนะนำอะไรบางอย่างในที่ประชุม ด้วยประโยคง่ายๆ ว่า “ผมอาจจะผิดก็ได้นะครับ แต่ผมว่า…” 

“ผมอาจจะผิดก็ได้นะ” ผมรู้สึกว่า เฮ้ย! ผมไม่เคยคิดมุมนี้มาก่อนเลย เวลาที่เราจะเสนออะไรสักอย่างในที่ประชุมเรามักจะเสนอด้วยความมั่นใจ ซึ่งนั่นไม่ผิดนะครับ แต่การเปิดช่องไว้สักนิดเพื่อยอมรับว่าแม้แต่ความคิดที่เราคิดว่าดีที่สุดแล้วเนี่ย มันก็อาจจะผิดได้อยู่ดี เพื่อที่จะบอกว่าคุณแย้งผมได้นะ หรือถ้าคุณเห็นต่าง เห็นมุมอะไรที่ดีกว่าคุณนำเสนอมาได้ 

คำว่าผมอาจจะผิดก็ได้เนี่ย ทำลายกำแพงทุกอย่าง ตั้งแต่นั้นมามันทำให้ผมเปลี่ยน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมามันทำให้ผมฟังมากขึ้น แล้วผมพร้อมที่จะบอก เออจริงว่ะ ใช่ว่ะ แล้วเวลาที่เราเปิดช่องว่างให้คนแย้งเราได้ นั่นคือขุมทรัพย์เลยนะ ไม่งั้นจะไม่มีใครกล้าเถียงเลย ผมจะไม่ชอบห้องประชุมที่ทุกคนนั่งฟังผมพูดอย่างเดียว หรือแม้แต่ห้องประชุมที่มีหัวโต๊ะแล้วพูดอยู่นั่นแหละ ผมจะรู้สึกว่าแล้วเรียกมาประชุมทำไม ถ้าอย่างนั้นส่งไลน์มาก็ได้จะได้อ่านทีเดียว

ดังนั้นโมเมนต์ที่เรารู้สึกว่าไม่เก่ง มันควรอยู่กับเราตลอดเวลา

ปัญหาอย่างหนึ่งของเด็กเจนฯ นี้จะมีความรู้สึกว่า งานนี้เราชอบหรือเปล่า มนุษย์จะทำงานในสิ่งที่เราไม่ได้รักได้ไหม

มันมักจะเริ่มต้นแบบนั้นครับ มันไม่มีใครโชคดีตลอดเวลา ถ้าคุณโชคดีที่คุณได้เข้ามาทำ คุณก็ต้องทำให้ดี ถ้าคุณทำไม่ดีเขาก็ไม่ให้คุณทำต่อ แต่ความโชคดีของการที่ได้ทำสิ่งที่รักคือ เวลาที่คุณอยากจะทำให้มันดีขึ้น มันจะง่ายกว่า เพราะเรารักไง มันก็เลยไม่รู้สึกฝืนตัวเอง แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้เริ่มต้นทำในสิ่งที่ตัวเองรักเลย หรือบางคนหนักกว่านั้นคือยังไม่รู้เลยว่าตัวเองรักอะไร ดังนั้นมันต้องเริ่มด้วยการเริ่มต้น 

ผมเชื่อว่าคนทั่วไปมันต้องเริ่มต้นด้วยการ ทำไปเหอะ ทำไปก่อน ไม่ใช่ก็เปลี่ยน ผมเชื่อว่า 10 ปีแรกของการทำงานเป็นโอกาสทองที่คุณจะลอง มันเป็น 10 ปีแรกที่คุณยังไม่มีภาระต้องรับผิดชอบมากนัก ยังไม่ได้ผ่อนรถคันใหญ่ ยังไม่ได้ผ่อนบ้าน ผ่อนคอนโด ยังไม่มีครอบครัว ยังไม่ต้องดูแลครอบครัวมากมายนัก ดังนั้นคุณมีโอกาสที่จะทดลองบางอย่าง พอทำไปแล้วถึงจะรู้ก็มีนะว่ารัก 

อย่างผมเนี่ยเอาเข้าจริงแล้ว ไม่ได้ชอบอาชีพ DJ เลยนะ ผมเป็นคนเกลียดรายการวิทยุมาก ผมจะเซ็ง DJ มากว่าพูดอะไรเนี่ย แล้วเราไม่เคยเชื่อเลยว่า DJ จะเลือกเปิดเพลงได้ดีกว่าเรา คือผมฟังเพลงมาเยอะ ตอนที่ผมมาจัดรายการวิทยุก็เป็นเพราะว่าผมตังค์ไม่พอใช้ จริงๆ อาชีพแรกของผมก็คือทำรายการทีวี ผมชอบรายการทีวีมากกว่า ผมอยากทำหนัง แต่ด้วยตำแหน่งแรก และเงินเดือนไม่พอใช้ก็เลยไปสมัครรายการวิทยุตอนกะดึก ปรากฏว่าพอทำไปได้เดือนนึงแล้วเรารู้สึกว่า เฮ้ย นี่มันอาชีพอะไรวะเนี่ย เราได้เปิดเพลงด้วยเครื่องเสียงดีๆ เปิดด้วยแผ่นเสียง ลำโพงคู่ละเป็นแสน ยุคนั้นเราอยู่ในห้องคนเดียวนะ คือเรารับโทรศัพท์ ทำเองทุกอย่างเลย 

ผ่านไปหนึ่งเดือน ผมไปลาออกจากรายการทีวีเลย เรารู้สึกว่าเราเกิดมาเพื่อเป็น DJ ว่ะ เราได้พูด เราได้เปิดเพลง เราได้พยายามหว่านล้อมให้คนฟังชอบเพลงนี้ไปกับเราด้วย เราได้เจอศิลปินที่เราชื่นชอบ ได้พูดคุย ได้สอบถาม ถึงทำให้ผมรู้ว่าเออผมรักอาชีพนี้ แล้วมันจึงนำมาสู่ทุกวันนี้ 

ดังนั้นสิ่งที่อยากจะบอกน้องๆ คือ ลองทำ เพราะต่อให้เรารู้ว่าเราชอบอะไรแล้วพอไปลองทำจริงๆ อาจจะไม่ใช่ มันไม่ผิดเลยนะ อย่าผิดหวังนะ เช่น พี่ ผมอยากเป็นพี่ตูน บอดี้สแลม ทั้งแต่งเพลงทั้งร้องเพลง พอทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จแบบที่พี่ตูนทำ ก็อย่าผิดหวัง เพราะว่ามันไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นแบบนั้นได้ แม้แต่พี่ตูนก็เริ่มจากอาชีพสจวร์ต พี่ตูนเรียนนิติฯ จบมาเป็นสจวร์ต แล้วมาเป็นนักร้อง นี่มันแผนอะไร มันไม่ได้มีการวางแผนอะไรที่ดีเลยนะ

ดังนั้นถ้าคุณแม่นยำ ตั้งใจเดินมาแล้วถูกทางตั้งแต่ต้นนะ คุณเป็นมนุษย์ประหลาด แต่ถ้าคุณยังไม่แน่ใจว่าอยากทำอะไร แล้วอาจจะกำลังทำงานที่ไม่ได้ชอบ ไม่เห็นอยากทำเลย นั่นคือคุณเป็นมนุษย์ปกติครับ คนทั้งโลกเป็นเช่นนั้น แต่คุณจะเป็นคนล้มเหลวถ้าคุณไม่พยายามตั้งใจทำมันให้ดีที่สุด และยอมรับเมื่อมันไม่ดี ยอมรับว่าเราทำไม่ได้ แล้วก็เปลี่ยนไปทำสิ่งอื่น 

ผมว่าอันนี้มันเป็นเรื่องเบสิคมาก ผมจะไม่บอกนะว่าทำไปเหอะ ในที่สุดมันก็จะสำเร็จ มันไม่ได้อะ บางคนมันก็ไม่ใช่ บางคนมันต้องเปลี่ยน บางคนไม่รู้ด้วยว่าเปลี่ยนไปเป็นอะไร ก็จงใช้ช่วงเวลา 10 ปีแรกให้คุ้ม พ้น 10 ปีแรกไป คราวนี้แหละต้องวางแผนให้ดีแล้ว เพราะว่าความเสี่ยงมันอาจจะมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ผู้พันแซนเดอร์คิดค้น KFC ตอนเกษียณแล้วนะ (หัวเราะ) 

ถ้าป๋าเต็ด ต้องสัมภาษณ์ ป๋าเต็ด จะถามว่าอะไร

(หัวเราะ) เอิ่ม จริงๆ น่าจะเขินมากเลยอะ ได้สัมภาษณ์ป๋าเต็ดเลย ผมมีเรื่องที่ข้องใจ และผมว่ามันเป็นคำถามสำคัญ คือว่า เนื่องจากผมเรียนไม่จบ โดนรีไทร์ อันนี้เป็นปมของผมเลย ผมก็จะถามตัวเองว่า ถ้าย้อนกลับไปได้ จะเรียนให้จบไหม หรือว่าจะใช้ชีวิตแบบเดิม 

ตอนนั้นที่เรียนไม่จบก็เพราะว่าไม่บาลานซ์ชีวิต ใช้ชีวิตนอกห้องเรียนมากเกินไป กิจกรรมมันเต็มไปหมด อยากทำงานเร็ว ผมเรียนปี 3 มาฝึกงานที่แกรมมี่ มาทำคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดๆ ไม่ได้เข้าห้องเรียนเป็นเดือนๆ เลย จนอาจารย์ต้องตาม แต่วิชาที่ผมได้จากการฝึกงานจากคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดๆ เนี่ย ผมเอามาใช้จนถึงตอนนี้ก็ยังใช้ได้ไม่หมด 

ดังนั้นถ้ามาถามผมตอนนี้ผมก็ยังตอบได้ไม่ชัดเจนนะว่า ในที่สุดแล้วถ้าย้อนกลับไปได้ผมจะเลือกเรียนให้จบ หรือก็จะฝึกงานจนไม่ได้กลับไปเรียนแบบเดิม ผมยังนึกภาพไม่ออกว่านายยุทธนาที่ตั้งใจเรียน ซึ่งผมเป็นคนเรียนเก่งนะ ผมมั่นใจว่าเรียนให้มันได้เกียรตินิยมได้ แต่ผมไม่รู้เหมือนกันว่านายยุทธนาที่ได้เกียรตินิยมวันนี้มันจะเป็นยังไง อาจจะเป็นอาจารย์ยุทธนา เป็นคณบดี เป็นอะไรก็แล้วแต่ ผมนึกไม่ออกเลย และผมไม่มั่นใจว่าผมจะชอบเส้นทางนั้น หรือในที่สุดต่อให้เรียนจบผมก็จะเป็นอย่างนี้อยู่ดี

เพราะผมมักจะเชื่อว่า ที่ผมเดินมาจนถึงจุดนี้มันเป็นเพราะว่า เพราะปี 3 ผมออกมาฝึกงาน ในวันที่รีไทร์ ผมก็มาสมัครที่แกรมมี่เขาก็รับทำงานเลยทันที ผมก็ไม่รู้ว่าถ้าเดินมาสมัครงานที่แกรมมี่พร้อมกับประกาศนียบัตรเกียรตินิยม แล้วเค้าจะรับไหม หรือถ้าเขาให้ทำตอนนี้ผมอาจจะเป็น CEO ก็ได้ ไม่รู้เหมือนกัน 

ต้องบอกอย่างงี้ คือต่อให้ตอบว่าจะตัดสินใจกลับไปเรียนต่อให้จบ แต่ในที่สุดมันก็จะไม่จบอยู่ดี คือต่อให้บอกว่าจะเรียนให้จบ แต่ด้วยนิสัยแล้วมันก็น่าจะออกมาเป็นทางเดิม


Writer

Avatar photo

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa

Avatar photo

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

พยายามฝึกปรือและคลุกอยู่กับผู้คนในวงการการศึกษา เพราะเชื่อว่าการเรียนรู้เป็นใบเบิกทางให้ขยายขอบขีดความสามารถตัวเอง ฝันสูงสุดคืออยากเห็นตัวเองทำงานสื่อสารที่มีคุณภาพและคุณค่าต่อไป

Photographer

Avatar photo

เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล

นักเทคนิคการแพทย์ ช่างภาพ เจ้าของแบรนด์กระเป๋า Soul goods และนักเดินทาง ทั้งหมดรวมอยู่ในตัวของคนๆเดียวที่ดำเนินชีวิตด้วย passion และ inspiration รับงานถ่ายภาพหลากหลายไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ นอกจากนี้ยังสามารถถ่ายคนให้น่ากินเหมือนอาหารได้อีกด้วย

Related Posts