ยอมโดนซอมบี้กัด VS ตื่นไปทำงาน? 5 สัญญาณ ‘หมดไฟ’ ใน Zom 100: Bucket List of the Death

ถ้าตื่นเช้าขึ้นมาแล้วเจอซอมบี้ คำตอบข้อใดต่อไปนี้คือคำตอบที่ใช่สำหรับคุณ?

ก. หนีเพื่อเอาชีวิตรอด

VS

ข. ยอมโดนกัดแล้วกลายเป็นซอมบี้

ถ้าเหตุการณ์ข้างต้นนี้เกิดขึ้นในภาพยนตร์ ผู้ชมทางบ้านคงรู้คำตอบกันดีอยู่แล้วว่าตัวละครจะเลือกอะไร (เพราะแน่นอนว่าถ้าเลือก ข. ก็คงจะต้องตัดเข้า End credit แบบงงๆ) 

แต่ เท็นโด อากิระ จากเรื่อง Zom 100: Bucket List of the Death เลือก ค. ‘ใช้ชีวิตเหมือนปกติ เพื่อทำภารกิจ 100 อย่างที่อยากทำ’ 

ในวันที่ ‘อากิระ’ หนุ่มพนักงานออฟฟิศผู้ถวายชีวิตให้กับงานบริษัทตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าเหล่าซอมบี้กำลังออกอาละวาดไปทั่วเมือง เขาหนีซอมบี้ด้วยความกระวนกระวาย พลางคิดว่า ‘ถ้าเอาแต่หนีซอมบี้อยู่แบบนี้ต้องไปทำงานสายแน่ๆ’ และนั่นอาจจะเป็นฝันร้ายเสียยิ่งกว่าการมีซอมบี้วิ่งตามตูดอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้เสียอีก

เพราะสำหรับอากิระ ‘งาน’ คือ ‘ทั้งหมดของชีวิต’ 

เขาคือพนักงานออฟฟิศผู้ภูมิใจในงานของตัวเองยิ่งชีพ เพราะกว่าจะได้มาทำงานเป็นพนักงานการตลาดในบริษัท Master Shot แห่งนี้ อากิระทุ่มเทอย่างสุดตัวเพื่อที่จะได้ทำงานในฝัน เขาจึงคาดหวังว่าบริษัทแห่งนี้จะต้องมอบงานที่ดีและมอบอนาคตที่สดใสให้กับเขาอย่างแน่นอน

แต่อนิจจัง สิ่งที่หวังกลับไม่เป็นอย่างที่คิด เพราะความจริงแล้วบริษัทแห่งนี้คือโรงงานนรกดีๆ นี่เอง 

อากิระเริ่มงานวันแรกด้วยการทำงานทั้งวันทั้งคืน กิน นอน ใช้ชีวิตอยู่ที่ออฟฟิศ และยังต้องรับมือกับหัวหน้าผู้ชอบบงการอย่าง โคซุงิ ที่คอยจ้องแต่จะยัดงานใส่มือเขา จนกระทั่งเวลาผ่านไป 1 ปี ชีวิตของอากิระก็ยังคงวนอยู่ในลูปเดิม

อากิระใช้ชีวิตเหมือนหุ่นยนต์ ตื่นนอน ทานข้าว ออกไปทำงาน รับงานตามคำสั่ง โดนหัวหน้าดุ ทำงาน ทำงาน และทำงาน

ช่วงเวลาในหนึ่งวันของอากิระมีแต่งานเท่านั้น

งานที่ดูเหมือนจะไม่มีวันเสร็จสิ้น และหน้าที่พนักงานการตลาดของเขาก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีวันสิ้นสุดลงเช่นกัน

แต่แม้จะเป็นเช่นนั้น เขาก็ยังไม่ยอมลาออกเสียที และในวันที่ซอมบี้ระบาด อากิระก็แทบจะไม่มีสติพอที่จะรับรู้ถึงเหตุการณ์ประหลาดตรงหน้าเสียด้วยซ้ำ เพราะการอดหลับอดนอนได้กลืนกินสติสัมปชัญญะของเขาไปเสียแล้ว

เมื่อ ‘งาน’ กลืนกิน ‘ชีวิต’

ในปี 2015 ผลสำรวจของ Expedia Japan พบว่า 53% ของคนญี่ปุ่น ไม่รู้ว่าตัวเองมีวันลาพักร้อนประจำปี และมีเพียง 52% ของผู้เข้าร่วมทำแบบสำรวจที่เห็นด้วยว่าความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานเป็นสิ่งสำคัญ ชาวญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมการทำงานที่เข้มงวดและกดดันจนเป็นเรื่องปกติของสังคมการทำงาน จึงไม่แปลกนักที่อากิระจะไม่ยอมลาออกจากบริษัทนี้ แต่การที่อากิระฝืนทำงานต่อไปเรื่อยๆ ก็ไม่ได้เป็นผลดีต่อตัวเขา เพราะแพสชันในการทำงานของเขาค่อยๆ โดนกัดกินไปเรื่อยๆ จนหายไปหมดแล้ว

เอดิเบล กินเตโร แพทย์และนักโภชนาการชำนาญพิเศษ ระบุว่าสัญญาณเตือนถึง ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome) แบ่งออกเป็น 5 ระยะ และเมื่อนำมาเทียบกับลักษณะพฤติกรรมของอากิระ จะเห็นว่าตัวเขาเข้าข่ายของพนักงานที่กำลังอยู่ในระยะหมดไฟจริงๆ 

สัญญาณหมดไฟระยะที่ 1 : ช่วงฮันนีมูน

ในระยะนี้เป็นช่วงเวลาที่คนทำงานกำลังเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งแพสชัน เหมือนอย่างที่อากิระวาดฝันไว้ว่างานในออฟฟิศแห่งนี้จะต้องเป็นงานที่ดีสมกับที่คาดหวังเอาไว้ ไม่ว่าอากิระจะต้องทำงานหนักอดตาหลับขับตานอนขนาดไหน เขาก็ไม่ปริปากบ่นสักคำ เพราะเห็นว่าเป็นหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายและต้องทำให้เต็มที่

สัญญาณหมดไฟระยะที่ 2 : เริ่มมีความเครียด

เมื่อทำงานไปได้สักระยะ อากิระเริ่มตระหนักได้ถึงภาระงานที่มากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เขาเกิดความกังวล สัมผัสได้ถึงชีวิตการทำงานที่ไม่สมดุลกับการใช้ชีวิต แต่เขาก็ยังคงปลอบใจตัวเองด้วยประโยคที่ว่า “ที่ทำงานคือบ้าน ถ้ากินนอนที่นี่ก็ไม่ต้องเดินทาง ประหยัดได้หลายสตางค์” และนี่คือระยะที่คนทำงานมักเริ่มละเลยความต้องการส่วนตัว แต่ยังคงมีความมุ่งมั่นในงานอยู่ 

สัญญาณหมดไฟระยะที่ 3 : เครียดเรื้อรัง

แม้ร่างกายจะส่งสัญญาณว่าไม่สบาย อากิระก็ยังคงแปะเจลลดไข้มาทำงานที่ออฟฟิศเพราะกลัวว่าจะทำงานไม่ทัน อากิระเริ่มกังวลกับข้อผิดพลาดและการตัดสินใจเล็กๆ น้อยๆ อีกทั้งยังเริ่มมีอาการแพนิกเมื่อถูกหัวหน้าดุ ในระยะนี้ความเครียดเรื้อรังมักเกิดขึ้นจากการทำงานมากเกินไปหรือทำสิ่งใดซ้ำๆ ทำให้เกิดอาการวิตกกังวล หงุดหงิด ตื่นตระหนกที่เห็นได้ชัดขึ้น

สัญญาณหมดไฟระยะที่ 4 : ระยะเหนื่อยหน่าย

อากิระเริ่มแบกภาระงานไม่ไหว เขาจึงเลือกที่จะระบายความเครียดกับเคนโจ เพื่อนสนิทที่รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย แต่แม้เคนโจจะบอกให้เขาลาออก อากิระกลับหงุดหงิดและมองว่าเพื่อนสนิทไม่สนใจที่จะให้คำแนะนำที่ดีกว่านี้ จนทำให้ทั้งคู่มีปากเสียงกัน ในระยะนี้เป็นระยะที่การแบกรับความเครียดจะเริ่มส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์รอบข้าง และคนทำงานจะเริ่มมองโลกในแง่ร้าย

สัญญาณหมดไฟระยะที่ 5 : ระยะเหนื่อยหน่ายจนเป็นนิสัย

สัญญาณระยะสุดท้ายของอากิระเริ่มชัดขึ้นเมื่อชีวิตของเขาต้องวนอยู่ในลูปของการทำงานซ้ำๆ จิตใจเริ่มอ่อนล้า สภาพร่างกายค่อยๆ แย่ลงเรื่อยๆ จนกระทั่งมีความคิดที่ว่าถ้าหากไม่มีประตูกั้นระหว่างตัวเขากับรางรถไฟฟ้า อากิระอาจจะยอมกระโดดลงไปเพื่อที่จะได้ลางานในวันพรุ่งนี้ 

และนี่อาจจะนับเป็นโชคดีของอากิระที่ตื่นขึ้นมาเจอซอมบี้ระบาด เพราะนอกจากเขาจะได้หยุดงานแล้ว การได้กลับมาใช้เวลาอยู่กับตัวเองยังช่วยดึงอากิระออกมาจากภาวะหมดไฟ ที่ตอนนี้เริ่มทำลายสุขภาพร่างกายและจิตใจของเขาลงไปทุกที หลังจากที่เขายอมให้ภาระหน้าที่การงานกลืนตัวตนของเขาลงไปจนเกือบลืมไปแล้วว่าตัวเองมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร  

‘การมีเป้าหมาย’ ช่วยปลุกอากิระให้กลับมามีแพสชันในการใช้ชีวิตอีกครั้ง

ระหว่างที่ลิสต์สิ่งที่อยากทำ อากิระมีโอกาสได้ลองทบทวนตัวเองใหม่ เขาหยิบเอาความฝันที่เคยละเลยไปกลับมาเขียนใส่สมุดรวม Bucket List เล่มนี้ เริ่มจากเป้าหมายเล็กๆ ง่ายๆ และค่อยๆ ขยายใหญ่ตามที่ฝันเอาไว้ การลงมือทำสิ่งง่ายๆ ที่ต่างออกไปจากทุกวันช่วยเติมพลังใจให้อากิระทีละนิด 

และนั่นคือสิ่งที่คนที่อยู่ในภาวะหมดไฟมักจะหลงลืมไป พลังใจที่หาได้ง่ายที่สุดมักจะแฝงอยู่ในสิ่งเล็กๆ รอบตัวเรา และคนที่จะกำหนดแพสชันในชีวิตได้ก็คือตัวเราเอง เส้นทางของอากิระกว่าจะครบ 100 ภารกิจนี้ยังคงอีกยาวไกล แต่อากิระก็ไม่หวาดหวั่นแต่อย่างใด เพราะอย่างน้อยเขาก็ได้ลองทำสิ่งที่ตั้งเป้าหมายไว้ในทุกๆ วัน 

“สุดยอดไปเลยโว้ยยยยยยย” อากิระตะโกนอย่างสุดเสียงขณะยืนอยู่หน้าฝูงซอมบี้ หลังจากที่นึกขึ้นได้ว่าวันนี้ไม่ต้องไปทำงานแล้ว

ทำความสะอาดห้อง ตั้งแคมป์ที่บ้าน แช่บ่อน้ำพุร้อนอย่างสบายใจ ดื่มกับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ขี่มอเตอร์ไซค์ หยิบของใส่ตะกร้าโดยไม่สนราคา นี่คือส่วนหนึ่งของภารกิจที่อากิระตั้งเป้าเอาไว้ว่าต้องทำให้ได้

และถ้าทำไม่ได้ ก็ขอกลายเป็นซอมบี้เสียยังดีกว่า

“อย่างน้อยมันก็ยังดีกว่าการมีชีวิตอยู่แต่ไม่ได้ทำสิ่งที่อยากทำ” – เท็นโด อากิระ

อ้างอิง

https://japan-dev.com/blog/japanese-work-culture

https://healthinsider.news/the-five-stages-of-burning-out-and-how-to-recover-from-them-anxiety-challenge-en/


Writer

Avatar photo

ณัฐนรี บัวขม

มีชีวิตอยู่เพื่อดูคลิปตลก คีบตุ๊กตา และเดินหาร้านอร่อยในย่านบรรทัดทอง

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts