เพราะสอนออนไลน์ ครูจึงเจ็บปวด: บทสรุปจากโควิด 3 ระลอก อะไรพัง อะไรรอด

วิกฤติ COVID-19 เป็นบทเรียนครั้งสำคัญต่อระบบการศึกษาไทย ความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน สะท้อนถึงข้อดี ข้อเสีย และปัญหาเรื้อรังของระบบการศึกษาในทุกมิติ ทั้งในห้องเรียน โรงเรียน ผู้เรียน พ่อแม่ผู้ปกครอง และครู

เปิดเทอมท่ามกลางโควิดระลอกที่ 3 นี้ mappa รวบรวมบทสัมภาษณ์ 4 ครู จาก 4 โรงเรียน เพื่อถอดบทเรียนของครูแต่ละคนในการนำประสบการณ์จากการระบาดในระยะ 1-2 มาต่อยอดออกแบบเป็นวิธีการสอนหรือเป็นเครื่องมือใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของเด็กในวันที่โลกเปลี่ยนไป

1

‘ครูกั๊ก’ ร่มเกล้า ช้างน้อย: เรียนออนไลน์ เนื้อหาสอนได้ แต่ความสัมพันธ์ทางสังคมสร้างยาก

ครูกั๊กคือครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ 6 โรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม ตลอดเวลาที่ผ่านมาครูกั๊กมีความหวังที่อยากจะเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยให้ดีขึ้นกว่าเดิม ผ่านการขับเคลื่อน ในกลุ่ม ‘ครูขอสอน’ และ ‘insKru’ โดยครูกั๊กมักจะมีส่วนร่วมในการโยนไอเดียการสอนใหม่ๆ เข้าไปในเว็บไซต์ เพื่อชวนครูคนอื่นๆ ให้มาแลกเปลี่ยนเครื่องมือใหม่ๆ ไปด้วยกัน

ครูกั๊ก-ร่มเกล้า ช้างน้อย

ครูกั๊กมีวิธีการเตรียมตัวอย่างไรก่อนเปิดเทอม

เราเปิดเทอมก่อนแล้ววันที่ 7 มิถุนายน แต่ก่อนเปิดเทอมเรามีการซ้อมเด็กก่อน คือ 

หนึ่ง พาเด็กไปเจอระบบว่าต้องเข้าเรียนอย่างไร หรือมีการทดลองก่อนเรียนจริง เพื่อให้รู้ว่าถ้าเปิดเทอมเราสามารถทำงานกลุ่มกันได้ผ่านตัวระบบที่ใช้เรียน เป็นต้น

สอง คือการปรับ mindset ให้เด็ก คือ เราจะคุยกับเด็กก่อนว่า ไม่ว่าจะเป็นการเรียนแบบไหนมันสามารถทำให้สนุกและเรียนรู้เรื่องได้ แต่ก็ต้องช่วยกันสองฝ่าย คือครูเองก็ต้องกระตือรือร้นที่จะสอน เด็กก็ต้องช่วยครูด้วย เช่น อาจไม่เปิดกล้องก็ได้ แต่ช่วยเปิดไมค์เพื่อสร้างบรรยากาศ เพราะถ้าเด็กไม่ช่วยตอบ หรือไม่มีปฏิกิริยาอะไรเลยมันก็ไม่สนุก และครูก็ไม่รู้ว่าเด็กเรียนรู้เรื่องหรือเปล่า อันนี้คือสิ่งหลักๆ ที่เราจะคุยกับเด็กก่อนเรียนออนไลน์จริง

การเรียนการสอนออนไลน์ในโควิดระลอกนี้เป็นอย่างไร และวิธีการเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

ระลอกแรกเด็กมาเรียนที่โรงเรียนแทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะสถานการณ์ไม่ได้แย่มากเลยไม่ค่อยมีปัญหาอะไร แต่ระลอกสอง เป็นออนไลน์หมดเลย และถือเป็นการเรียนออนไลน์ครั้งแรก

วิธีการเรียนการสอนช่วงนั้นคือไม่เวิร์คเลย เพราะช่วงแรกเราไม่คุยกับเด็กเลย เราให้เด็กแค่ทำแบบฝึกหัด ทำข้อสอบ ให้เด็กดูคลิปอย่างเดียวโดยที่เราไม่อธิบาย ไม่ตอบอะไร แล้วให้เด็กดูไป ซึ่งช่วงนั้นเราคิดว่า ไม่นานโรงเรียนก็เปิด เราก็เลยทำแบบนี้ มันเลยผิดที่ mindset ของเรา มันเลยไม่สำเร็จในตอนนั้น เป็นช่วงที่เรามองย้อนไปแล้ว…เด็กได้เรียนรู้อะไรจากการทำแบบนี้? 

ในสัปดาห์ที่สองเราเลยตั้งใจว่าจะทำวิจัยในชั้นเรียน คือในแต่ละสัปดาห์จะเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน แบบทดลองใหม่ให้หมด ดูว่าอะไรเวิร์ค ไม่เวิร์ค 

พอมาเป็นการสอนออนไลน์รอบปัจจุบัน เราถอดบทเรียนว่าช่วงโควิดที่ผ่านมาเราได้เรียนรู้อะไรไปบ้าง มีการตั้งวงคุยกันของครูทั้งเด็กเล็กจนถึงมหา’ลัยคุยกัน แล้วก็ได้คอนเทนต์ออกมา เป็นจุดเริ่มต้นการเรียนการสอนในครั้งนี้ ซึ่งเราพอใจในผลลัพธ์มาก เพราะเรามีประสบการณ์จากครั้งก่อนๆ จนได้ข้อสรุปเป็น 7 อย่างที่พัง กับ 4 อย่างที่ดี

7 อย่างที่พัง คือ 

  • การให้ภาระงานและการบ้าน หมายถึงถ้าให้งานและทำไปด้วยตอนเรียนออนไลน์ จะไม่รู้สึกเลยว่ามันเป็นภาระงานหรือการบ้าน แต่หากให้กลับไปทำ นี่แหละภาระที่แท้จริง ไม่ใช่แค่เด็กที่รู้สึกว่าเป็นภาระเท่านั้น แต่ครูก็จะรู้สึกเหนื่อยมากเวลาที่ต้องมาไล่ตรวจงานผ่านเครื่องมือออนไลน์ 
  • สอนนาน ให้ดูคลิปยาวเกินไป เพราะเด็กจะหลุดโฟกัสได้ง่าย
  • การสอบ การสอนออนไลน์แบบนี้วัดผลได้ยาก เพราะนี่คือโลกจริง ที่นักเรียนสามารถค้นหาความรู้เองได้ ถามเพื่อน ถามครูท่านอื่นได้หมด ว่าข้อนี้ตอบอะไร จริงๆ ก็เป็นหนทางหนึ่งในการทำให้เด็กรู้ได้นะ แปลว่า ถ้าจะวัดกันจริงๆ ต้องมองไปให้ไกลกว่าความไว้ใจ และจะวัดผลนักเรียนอย่างไรว่าเด็กรู้ ซึ่งอันนี้เป็นโจทย์สำคัญที่ครูแต่ละคนต้องทำเอง วิเคราะห์ผู้เรียน วิเคราะห์เนื้อหา และหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ 
  • สอน online พร้อม onsite วิธีนี้คือพังมาก เพราะเคยทำแล้ว เปิดเสียงเฉพาะใน online ก็เงียบเหงา ให้เปิดเสียงเฉพาะใน onsite ทางบ้านก็รำคาญ ที่พอจะรอดจริงๆ คือ เปิดเสียงทางโรงเรียนบ้างบางครั้ง หรือต้องมีครูอีกคนช่วยสอนออนไลน์ควบคู่กันไป ต้องเป็นทีมถึงจะรอด 
  • ใช้หลายแอพพลิเคชั่น เพราะการมีหลายแอพฯ ทำให้ต้องเรียนรู้แอพฯ ใหม่บ่อยๆ จนทำให้ไม่ได้โฟกัสสิ่งที่ครูจะสอน แต่กลายเป็นโฟกัสว่าจะใช้แอพฯ นี้ได้อย่างไร 
  • เช็คชื่อเด็ก มีเด็ก 2 แบบใหญ่ๆ คือคนที่มาเรียนจริงๆ กับคนที่ไม่ต้องการมาเรียนจริงๆ คนที่มาเรียนจริงๆ ก็มีทั้งแบบที่เข้ามาเรียนได้ และเข้าเรียนไม่ได้ 

เราไม่สามารถคาดหวังความเพอร์เฟ็คต์ของการสอนออนไลน์ได้ขนาดนั้น เพราะการเรียนแบบนี้ต้องอาศัยจาก 2 ฝั่งช่วยกัน คือครูต้องมีทางเลือกที่มากพอสำหรับการเรียนหลายแบบ เช่น สอนสด อัดคลิปหรือให้ดูคลิปตอนไหนก็ได้ไม่จำกัดเวลา หรือทิ้งประเด็นให้คิด อภิปราย โต้เถียง เด็กก็สามารถเข้ามาพิมพ์คอมเมนต์หรือชวนคุยกันได้ตลอดคล้ายกระทู้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า บางวิธีไม่ต้องเช็คชื่อเด็กก็สามารถเข้ามาเรียนเองตอนไหนก็ได้ แต่ก็ต้องคุยกับเด็กให้ชัดเจนว่า มีสิ่งที่ต้องเรียนรู้นะและอาจจะต้องมาคุยกับครูในคาบ

  • ทำคลิปเอง ไม่เวิร์ค เพราะในสถานการณ์แบบนี้ทำไม่ทัน ถ้าสอนหลายรหัส หลายชั้น เหนื่อยแน่นอน แนะนำคลิปที่ดีตามสื่อฟรีต่างๆ บางทีการหยิบจากตรงนั้นมา แล้วมาออกแบบการเรียนรู้ที่ไม่ใช่แค่ดูเฉยๆ ซึ่งครูก็ต้องตั้งคำถามชวนเด็กคิด หรือเลือกประเด็นจากคลิปมาอภิปราย ก็ย่อมเกิดการเรียนรู้ได้ 

4 อย่างที่ดีคือ 

  • Flipped Classroom หรือ ห้องเรียนกลับด้าน คือนักเรียนต้องศึกษาเองมาก่อนแล้วค่อยมาเรียนรู้กับครูและเพื่อนๆ ในห้องเรียน เช่น การดูคลิป สื่อ ที่ครูเตรียมไว้ จากนั้นเขียนสิ่งที่ตนเองได้ แล้วมาคุยกันในห้องกับครูและเพื่อน เป็นต้น
  • การสอนแบบบรรยายที่ไม่บรรยาย คือใช้การถามตอบตลอดกับเด็ก โดยคำถามที่เราตั้งก็ต้องสนุกชวนคิด เช่น เด็กบอกจำนวนคู่คือสอง เราก็ต้องถามแบบแน่ใจเหรอ คิดให้ดีๆ การที่จะเป็นจำนวนคู่ ทำไม่ถึงเป็นสอง เด็กก็จะเริ่มคิด และหาเหตุผลมายืนยันคำตอบของเขา ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือพื้นฐานของคณิตศาสตร์ 

สิ่งสำคัญในการสอนแบบนี้คือการสร้างปฏิสัมพันธ์ ครูต้องพยายามฟังเด็กให้มากขึ้น อันนี้เราได้แรงบันดาลใจจากครูไอซ์ (ดำเกิง มุ่งธัญญา) เขาจะจำเด็กผ่านเสียง ซึ่งเทอมนี้เราไม่เคยเห็นหน้าเด็กเลย เราก็จำเด็กผ่านคาแรคเตอร์จากเสียงเอา

  • การอภิปราย เน้นการโต้เถียง หรือดีเบต ซึ่งดีมาก เป็นการสอนออนไลน์ที่ดีที่สุด การให้เด็กถกเถียง อภิปรายกัน จะทำให้เด็กได้คิด และการถกเถียงช่วยให้บรรยากาศในห้องเรียนสนุกมากขึ้นด้วย 
  • วิธีการทำงานกลุ่ม คืองานกลุ่มจะทำให้เด็กทุกคนได้เรียนรู้ไปได้ด้วยกัน และได้ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนด้วย จากที่เราสังเกตคือก่อนหน้าที่จะแบ่งงาน ห้องเงียบมาก พอเราให้ทำงานกลุ่มเด็กก็คุยกันขึ้นมาทันที 

อะไรคือความยาก-ง่ายของการเรียนออนไลน์

ความยากคือการเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตของเด็ก รอบก่อนหน้าเด็กไม่สามารถเข้าไปเรียนได้ รอบนี้ผู้บริหารก็จัดการมากขึ้น เด็กได้สัญญาณอินเทอร์เน็ตทั่วถึงขึ้น และได้ราคาที่ถูกลง 

ส่วนเรื่องง่ายคงเป็นเรื่องอุปกรณ์เทคโนโลยีที่เราอยู่กับมันเลยไม่รู้สึกยากตรงนี้

ความสัมพันธ์กับเด็กเป็นอย่างไรในช่วงการเรียนการสอนออนไลน์แบบนี้

เรื่องช่องว่างความสัมพันธ์ไม่มีเลยสำหรับเรา เราใช้ความเป็นเพื่อนกับเด็ก ซึ่งมันเกี่ยวกับความรู้สึกปลอดภัย ความวางใจของเด็กด้วย เพราะถ้าเด็กรู้สึกปลอดภัย หรือไว้วางใจครูแล้ว ช่องว่างเรื่องความสัมพันธ์ก็จะไม่มี แล้วก็ไม่จำเป็นต้อง online หรือ onsite ถ้าเด็กไม่รู้สึกแบบนั้นก็มีช่องว่างความสัมพันธ์อยู่ดี 

อีกอย่าง เราพยายามลองดูว่าเด็กอยากคุยกับเราเรื่องอะไร เราก็ใช้คำถามที่เด็กสามารถพูดคุยกับเราได้ เช่น เรื่องการเมือง เป็นต้น ดังนั้นสำหรับเราแล้วถ้าครูสร้างคำถามหรือเปิดประเด็นเพื่อพูดคุยกับเด็กได้ก็จะทำให้ครูรู้จักเด็กมากขึ้น เด็กก็รู้จักครูมากขึ้น ทำให้เห็นร่องรอยความคิด ซึ่งนั่นจะทำให้ครูสนิทกับเด็กได้ง่ายขึ้นด้วย 

สำหรับครูกั๊ก ห้องเรียนหรือโรงเรียน ยังเป็นพื้นที่สำคัญในการเรียนรู้อยู่ไหม

สำหรับเรา เราว่าไม่ เพราะต่อให้ไม่มีพื้นที่อย่างห้องเรียน การเรียนรู้ก็เกิดขึ้นได้ อย่างการเรียนออนไลน์ตอนนี้ที่เราทำอยู่ ในเชิงเนื้อหาเรามองว่าสามารถทำได้ แต่ถ้าเชิงสังคมบางอย่างก็อาจไม่ได้ เพราะบางทีการเจอหน้ากัน ก็ได้อะไรบางอย่างที่ออนไลน์ทำไม่ได้ 

แสดงว่าการสอนออนไลน์มันใช่สำหรับครูกั๊กใช่ไหม

มันก็ใช่นะ แต่ขอแค่ให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาแบบนี้ ถ้าได้ก็ถือว่าโอเค

โควิดทำให้เราเห็นอะไรในระบบการศึกษาไทยบ้าง?

มันเหมือนเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้เรากลับมาทำงานด้วยกันมากขึ้น เพราะปกติผู้ปกครองไม่คุยกับเรา เดี๋ยวนี้คุยบ่อยมาก หรือแม้แต่กระทรวงฯ เองที่ปล่อยให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำมันคาราคาซัง มันถูกตั้งคำถามมากขึ้นแล้ว 

2

‘ครูแพร’ ชลิตา วิริยะจาตุทิศ: สำหรับเด็กเล็ก ‘กอดกัน’ สำคัญกว่าเรียนออนไลน์

ครูแพรคือครูสอนวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ สังคมศึกษา และประวัติศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย เมื่อบริบทโลกเปลี่ยนไป โควิด-19 ทำให้เด็กต้องเรียนออนไลน์ อีกทั้งยังบีบให้ครูต้องสร้างการเรียนรู้ผ่านหน้าจอสี่เหลี่ยม หากโฟกัสไปที่เด็กปฐมวัยที่มีช่วงอายุระหว่าง 3-8 ปี การเรียนรู้ในลักษณะนี้เป็นเรื่องยากที่จะทำให้ตอบโจทย์ 

สำหรับการเปิดเทอมนี้ ครูแพรพร้อมแค่ไหน สำหรับการสอนเด็ก ป.1

โรงเรียนเปิดเทอมตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนแล้ว เดือนหน้าก็อาจเปิดให้เรียนที่โรงเรียน แล้วแต่สถานการณ์ 

ถามว่าพร้อมแค่ไหน คือเราก็มีประสบการณ์การสอนออนไลน์มาก่อนหน้านี้ โรงเรียนก็มีการปรับตัวได้แล้ว เช่น มีการฝึกให้ครูใช้โปรแกรมเบื้องต้นในการเรียนการสอน การให้เด็กส่งงาน หรืออัพโหลดคลิปวิดีโอต่างๆ ทำให้การเรียนการสอนในรอบนี้ออกมาในรูปแบบที่ค่อนข้างสมบูรณ์กว่าครั้งแรกๆ แต่จริงๆ ก็ดีไม่เท่ากับการสอนที่โรงเรียน 

ครูแพร-ชลิตา วิริยะจาตุทิศ

อะไรคือเรื่องที่กังวลในการเรียนการสอนออนไลน์

เราสอนภาษาไทย ป.1 ซึ่งเป็นเด็กที่เพิ่งขึ้นจากอนุบาล มันเป็นช่วงรอยต่อที่เด็กหลายคนยังอ่านหนังสือไม่ออก และภาษาไทย ถ้าเด็กไม่ได้มาโรงเรียน หรือไม่ได้ฝึกอ่านเรื่อยๆ จะเป็นวิชาที่ยาก การที่เขาขึ้น ป.2 บางทีต้องเรียนวรรณคดีแล้ว มันจะยากสำหรับเขามากถ้าพื้นฐานไม่แน่น ดังนั้นการสอนภาษาไทยทางออนไลน์ค่อนข้างลำบาก  

ดังนั้นการจะเรียนออนไลน์ไปตลอดสำหรับเรา เราว่าไม่ได้ เพราะเด็กวัยนี้สิ่งแวดล้อมสำคัญมากสำหรับเขา เขาต้องอยู่กับเพื่อน เล่นกับเพื่อน และอยู่กับครู ในสภาพห้องเรียนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ 

ปีที่แล้วที่เห็นชัดเลย คือมาตรฐานการอ่านหนังสือของเด็ก ป.1 ที่เพิ่งจบไป มีมาตรฐานต่ำลงกว่าที่เคยเป็นมาก บางคนยังอ่านไม่ได้ บางคนยังเขียนชื่อตัวเองไม่เป็น ซึ่งทำให้เราเห็นผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเขาอย่างชัดเจนว่ามันส่งผลกระทบต่อเด็กมากๆ จากการเรียนออนไลน์

ในการสอนช่วงโควิด-19 ระลอกแรก ครูมีวิธีการสอนแบบไหน และพัฒนาเพื่อนำมาใช้กับรอบนี้อย่างไร

โควิดรอบแรกเป็นออนไลน์อย่างเดียว รอบแรกเรายังสอนแบบชี้ๆ ให้เด็กอ่านตาม ทำเหมือนแบบเราอยู่หน้าห้องเรียน ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่ หรืออย่างวิชาคณิตศาสตร์ เราเอาแบบฝึกหัดมากางแล้วให้เด็กตอบ แบบข้อหนึ่ง ข้อสองตอบอะไร ตอนนั้นเราคิดไม่ออกเลยว่าจะสอนแบบไหน ประกอบกับแพลตฟอร์มที่โรงเรียนใช้ก็ไม่ได้ง่าย ทุกคนก็มึนๆ งงๆ 

พอมารอบ 2 ก็เป็นการสอนที่มีทั้ง online และ onsite ในเวลาเดียวกัน ซึ่งค่อนข้างหนักกว่าอย่างใดอย่างหนึ่งไปเลย เพราะครูต้องถ่ายทอดสดให้เด็กที่บ้านดูด้วย สอนเด็กในห้องด้วย แล้วสมองเราโฟกัสได้ฝั่งเดียว ตอนนั้นที่ทำแบบนี้คืองงมาก เด็กที่ไม่มาโรงเรียน เราก็พูดในไมค์ให้เขาฟัง ไม่สามารถจี้ถามได้เหมือนตอนสอนออนไลน์ หรือสอนในห้องอย่างเดียว บางทีเด็กไม่เข้าใจเราก็ต้องโฟกัสเด็กในห้องเรียนก่อน ทำให้เด็กที่เรียนจากบ้านก็ไม่ได้รับความสนใจเต็มที่ เพราะเราฟังเขาไม่ได้เต็มร้อย ก็เลยเหมือนเขาแค่ฟังเรา เลยเป็นการสื่อสารแค่ทางเดียว 

แต่พอมาระลอก 3 นี้เป็นการเรียนแบบออนไลน์ ซึ่งเราก็พอมีประสบการณ์มาบ้าง ส่วนสำคัญในการเรียนการสอนช่วงนี้ก็เลยเน้นไปที่ ‘สื่อ’ ที่ต้องทำให้น่าสนใจมากขึ้น ซึ่งต้องเหมาะกับการนั่งเรียนที่บ้าน และต้องไม่ให้น่าเบื่อ เช่น สื่อที่ใช้ต้องมีสีสัน มีรูปเยอะๆ เพราะเด็กวัยนี้ยังเล็กอยู่ เขาไม่สามารถรับอะไรที่เป็นวิชาการได้มากขนาดนั้น เราก็ต้องใช้ภาพ วิดีโอ หรือเพลงมาช่วย อย่างวันนี้จะสอนเรื่องช้าง เราก็ใส่เพลง ใส่วิดีโอช้างก่อนเรียนให้เด็กดูก่อน เด็กก็จะรู้ว่าครูมาแล้ว วันนี้น่าจะเรียนเรื่องอะไร อะไรแบบนี้ 

นอกจากสื่อที่เราพัฒนาแล้วยังมีเรื่อง ‘น้ำเสียง’ อีกที่เรารู้สึกว่ามีผลมากต่อเด็ก คือเราไม่สามารถสอนแบบพูดเนือยๆ ได้ เราก็ต้องปรับเสียงให้มีความน่าตื่นเต้นมากขึ้น เหมือนเพิ่มทักษะการเล่าเรื่องให้ตัวเอง สร้างอินเนอร์ให้ตัวเอง เพราะเด็กจะเห็นเราแค่เสียง กับสื่ออย่างพาวเวอร์พอยต์ที่เราโชว์ให้เขาดู เราเลยต้อง represent ทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ (หัวเราะ) 

อะไรคือเรื่องยาก-ง่ายของการสอนออนไลน์

เรื่องยาก คือการที่เราไม่สามารถไปอยู่กับเด็กได้จริงๆ มันเป็นการเรียนที่เขาอยู่กับเราแค่เสียง แล้วเราไม่รู้เลยว่าจังหวะไหนเขาโฟกัส หรือไม่ได้โฟกัสกับเรา แล้วทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ผ่านมามันเห็นว่าการเรียนออนไลน์ ถึงจะดูว่าผ่านไปได้ แต่สำหรับเด็กวัยนี้ เราคิดว่าผ่านไปได้ยากจริงๆ 

ส่วนเรื่องง่ายอาจเป็นเรื่องคาบเรียนที่ลดลงเหลือ 30 นาที จาก 45 นาที พอสั้นลงเลยทำให้ต้องสอนกระชับยิ่งขึ้น เพราะเด็กเรียนเป็นชั่วโมงๆ ไม่ได้ แค่ 10 นาทีบางทีเขาก็ไม่เอาแล้ว ดังนั้นถ้าคาบเรียนไม่นานมาก ก็พอให้เขาโฟกัสได้บ้าง 

เราเคยได้ยินมาเสมอว่าการเรียนออนไลน์ส่งผลต่อความสัมพันธ์ไม่ว่าจะระหว่างเด็กกันเอง หรือแม้แต่ครูกับเด็ก สำหรับครูแพรแล้วเป็นแบบนั้นไหม

รู้สึกอย่างนั้นเหมือนกัน

ระลอก 3 นี้ คือการขึ้นปีการศึกษาใหม่ เพราะฉะนั้นเด็กยังไม่เห็นเราแบบตัวเป็นๆ เลย เขาเห็นแค่ รูปเรา เสียงเรา แต่ตัวจริงเขาไม่เคยเห็น อีกอย่างเด็กวัยนี้ชอบการสัมผัส เช่น การกอด แต่พอเขาไม่มีเรื่องนี้ เขาก็อาจไม่ชินกับเราได้ 

และเราก็ไม่สามารถละลายพฤติกรรมเขาได้ เพราะเราไม่ได้อยู่กับเขา แต่เท่าที่ทำได้ คือเป็น entertainer สร้างความสนุกสนานให้เด็ก เพื่อให้เขาไว้ใจเรา

สำหรับครูแพรแล้ว คิดว่าโรงเรียนหรือห้องเรียน เป็นที่สิ่งจำเป็นอยู่ไหม

จำเป็นสำหรับเด็กปฐมวัย คืออนุบาลถึง ป.2 จำเป็นมาก เพราะผู้สอนต้องสร้างบรรยากาศในการเรียน ครู เพื่อน สิ่งแวดล้อมมีผลกับเขาสูง

สุดท้ายแล้วการเรียนออนไลน์ ใช่ไหมสำหรับครูแพร

ถ้าสำหรับ ป.1 คือไม่ใช่ (เน้น) แต่เราก็ทำเต็มที่ที่สุดสำหรับเด็ก ป.1 ของเรา แต่เรายังคิดว่าสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญอยู่ดีสำหรับเด็กวัยนี้ เราอยากให้เขาเป็น ป.1 ที่มีความสุข เป็น ป.1 ที่มีฐานในการต่อยอดต่อไป 

เราไม่อยากให้เขาเป็น ป.1 ที่ขึ้นไป ป.2 แล้วครู ป.2 บอกว่าทำไม ป.1 รุ่นนี้อ่านไทยยังไม่ได้เลย แล้วถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปโดยไม่มีอะไรดีขึ้นเลย น่าสงสารเขา 

อีกอย่างเด็กวัยนี้ต้องใช้สัมผัส เช่น การจับ การได้ใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก เพื่อเสริมพัฒนาการการเรียนรู้ของเขา เราสอนเรขาคณิต เรายังต้องให้เขาจับ หรือได้สัมผัส อย่าง รูปวงกลมกับทรงกลมไม่เหมือนกัน การที่เราทำสื่อการสอนว่า นี่คือวงกลม โอเคเขารู้ แล้วทรงกลมล่ะ ทรงกลมคืออะไร 

เพราะฉะนั้นสิ่งแวดล้อมสำคัญมาก ไม่ใช่การอยู่แค่หน้าจอคอมฯ

3

‘ครูอาร์ม’ ธนากร สร้อยเสพ: ครูไทยผู้แบกทุกอย่างในระบบการศึกษา

ครูอาร์มคือครูสอนวิชาประวัติศาสตร์ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ประจำโรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ จังหวัดลำพูน ครูอาร์มมักตั้งคำถามถึงขอบเขตภาระงานของ ‘วิชาชีพครู’ อยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่โลกเจอวิกฤติโรคระบาด ครูไทยยังคงแบกรับและจำเป็นต้องทำหน้าที่อีกหลายอย่าง ซึ่งล้วนเป็นงานที่นอกเหนือจากการสอน 

ครูมีความพร้อมแค่ไหนสำหรับเปิดเทอมระลอกนี้ 

ส่วนตัวมีความพร้อมในการเปิดเทอม เพราะเราเตรียมความพร้อมสำหรับสื่อการสอนตั้งแต่ในช่วงปิดเทอมแล้ว เราสอนวิชาประวัติศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ จังหวัดลำพูน

อย่างที่เรารู้เนอะว่าวิชาประวัติศาสตร์ค่อนข้างมีเนื้อหาที่ตายตัว ที่ผ่านมาพยายามคิดหาเครื่องมือใหม่ๆ ในการสอน พาเด็กทำกิจกรรมในห้องเรียน พาเล่นบอร์ดเกมตอนสรุปเนื้อหาท้ายคาบ หรือครีเอทวิธีการใหม่ๆ เพื่อนำเข้าเนื้อหา เช่น ให้นักเรียนหยิบสิ่งของที่อยู่ใกล้ตัวเขามาดีเบตกันว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้าตัวเองคืออะไร ใช้ทำอะไร เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้อย่างไรบ้าง วิธีการนี้จะช่วยกระตุ้นและเรียกร้องความสนใจกับเด็กให้เขากลับมาโฟกัสกับสิ่งที่เราสอนได้มากขึ้น เพราะวิชาประวัติศาสตร์ถ้าเด็กหลุดแล้วคือหลุดเลย คาบนั้นเราต้องทำให้เขาอยู่กับเรานานที่สุด

สำหรับการสอนประวัติศาสตร์ เรามองว่าแอคชั่นของครูมีผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งการเรียนออนไลน์มันเกิดขึ้นได้ยาก ครูกับเด็กไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน จากเดิมที่ครูต้องใช้เทคนิคในการสอน แต่เมื่อขาดปฏิสัมพันธ์ ครูก็กระตุ้นการเรียนรู้กับเด็กได้ยาก

ครูอาร์ม-ธนากร สร้อยเสพ

ครูจัดการกับความอลหม่านและอุปสรรคอย่างไร

สิ่งที่เรากังวลที่สุดคือความพร้อมของทุกภาคส่วน

ตั้งแต่เกิดโควิด-19 มา เราว่ามันหนักทุกระลอก เหตุการณ์นี้ทำให้ได้เห็นปัญหาชัดเจน การจัดการสวัสดิการของภาครัฐไม่พร้อม ส่วนกลางไม่มีการเตรียมการสำหรับวิกฤติแบบนี้ ทั้งเรื่องการฉีดวัคซีนให้บุคลากรครู เจ้าหน้าที่ รวมถึงนักเรียนและผู้ปกครอง สำหรับเปิดเทอมครั้งนี้มีครูอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน แต่กลับต้องไปทำงานที่โรงเรียน มีความเสี่ยงมาก

ส่วนอุปสรรคในการสอนคือการขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียน

เปิดเทอมครั้งนี้แทนที่ครูและนักเรียนจะได้เจอหน้ากันในคาบแรก แต่ต้องเปลี่ยนไปนั่งเรียนในห้องเรียนจอสี่เหลี่ยม มันก็รู้สึกแปลกๆ เหมือนกัน ระบบเรียนออนไลน์สะท้อนความไม่พร้อมหลายอย่าง เด็กไม่ได้เข้าเรียนเพราะไม่มีเงินเติมอินเทอร์เน็ต เราไม่ได้โทษนักเรียนนะ เราเข้าใจเงื่อนไขของนักเรียน นี่คือความเหลื่อมล้ำ

อีกอย่างหนึ่งที่เราคิดว่าครูทุกคนต้องเจอ เรามองว่าแม้จะอยู่ในช่วงวิกฤติแต่ครูยังต้องแบกภาระงานเหมือนเดิม ครูต้องรับงานจากส่วนบน เช่น ครูต้องเข้ารับการอบรม โอเค การอบรมคือเรื่องที่ดี แต่ครูต้องทำรายงานเอกสารส่งโรงเรียน เรามองว่ามันเพิ่มภาระและเบียดบังเวลาในการสอนของครู แทนที่ครูจะได้โฟกัสกับการคิดวิธีการสอนของตัวเองให้ดีที่สุด

โควิด 3 รอบ ครูสังเคราะห์วิธีการใหม่ๆ หรือปรับการสอนของตัวเองอย่างไร

สำหรับการเรียนวิชาจำพวกประวัติศาสตร์ สิ่งที่จะช่วยครูทำงานได้ดีขึ้น คือการใช้สื่อพื้นฐานอย่างวิดีโอ หนังสั้น หรือรูปภาพต่างๆ การเรียนในคลาสออนไลน์มันมีปัจจัยภายนอกที่มาดึงความสนใจของเด็กแต่ละคนต่างกัน เช่น เสียงจากข้างนอก เสียงจากคนในครอบครัว เราก็จะพยายามใช้วิธีการแชร์วิดีโอประกอบ เพื่อดึงความสนใจของเขากลับมา

อีกวีธีหนึ่งคือการใช้วิธีให้นักเรียนกรอกฟีดแบ็ค โดยที่เราถามเขาเลยว่า เขาอยากเรียนแบบไหน อยากให้ห้องเรียนออนไลน์เป็นแบบไหน ให้เด็กๆ พิมพ์มาโดยที่ไม่ต้องระบุชื่อ เขาก็จะสบายใจที่จะตอบ และเราก็นำตรงนั้นมาปรับ ถ้ามันปรับได้ พูดให้กระชับ เข้าประเด็น เพราะเด็กบางคนสะท้อนว่าครูอธิบายเวิ่นเว้อเกินไป พูดมากเกินไป ซึ่งบางครั้งเราทำไปโดยที่ไม่รู้ตัว เพราะการเรียนออนไลน์ ครูและนักเรียนไม่ได้อยู่ในที่เดียวกัน เด็กก็ปิดไมค์ เราไม่มีทางรู้ว่าปฏิกิริยาระหว่างเรียนเขาเป็นอย่างไร อาจจะทำให้เราพูดมากไปหรือเปล่า คือมันยากที่จะจับจุด

นอกจากนั้นเรายังใช้วิธีการอัดคลิปการสอนของตัวเองเก็บไว้ นอกจากจะทำให้เราเห็นวิธีการสอนของตัวเองแล้ว เด็กๆ ที่ไม่พร้อมเข้าคลาสในเวลานั้นได้ตามมาฟังย้อนหลัง หรือถ้าใครอยากทบทวนก็ย้อนกลับมาดูเมื่อไรก็ได้

ในมิติของการเปลี่ยนแปลงในตัวครู เกิดอะไรขึ้นบ้าง

อย่างแรกที่เกิดขึ้นในตัวเราคือการใช้เทคโนโลยี จากการเรียนแบบเจอหน้ากันพอเรียนออนไลน์ก็ต้องมีวินัยมากขึ้น ไม่ใช่แค่นักเรียนแต่รวมถึงตัวเราด้วย ต้องจัดการเวลา จัดการตัวเอง โดยเฉพาะครูต้องทำงานร่วมกับผู้ปกครอง ติดตามผลว่าเด็กเป็นอย่างไรบ้าง เพราะเราอยู่ไกลกัน

ครูสอนนักเรียนมัธยมต้น ธรรมชาติของเขายังอยู่ในวัยเล่นซน ครูนำมาปรับกับการสอนของตัวเองอย่างไร

อย่างที่บอกไปว่าเราต้องสอนให้กระชับ รวดเร็ว พยายามหาเกมที่จะเป็นตัวช่วยในการนำเข้าบทเรียนประวัติศาสตร์และพยายามให้งานเด็กน้อยที่สุด เพราะเขาต้องเรียนตามตารางสอนเหมือนเดิม แม้จะเรียนผ่านหน้าจอ แต่ก็ใช้พลังงานเยอะอยู่ดี

เวลาเกือบ 2 ปี บทบาทของเราเปลี่ยนไป เราไม่ได้เจอนักเรียนตัวจริงๆ ครูมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

การขาดปฏิสัมพันธ์ของนักเรียนนี่แหละ ทำให้เรารู้สึกโหวงๆ ไปบ้าง

แต่เราไม่ได้สอนออนไลน์ที่บ้านเหมือนครูท่านอื่นๆ เรายังต้องไปสอนออนไลน์ที่โรงเรียน แปลกมาก เขาคงกลัวมั้ง ว่าครูจะไม่ทำงาน อินเทอร์เน็ตในโรงเรียนก็ไม่ใช่จะดี แต่ก็ต้องไป

ระบบการศึกษาไทยควรจะเรียนรู้กับวิกฤตินี้อย่างไรบ้าง

สิ่งที่มันเกิดขึ้น เราว่าจะเป็นบทเรียนให้ระบบการศึกษาไทยอย่างมาก ถ้าพูดกันตามตรงมันชี้ให้เห็นความไม่พร้อมของโครงสร้างตั้งแต่ระดับบนลงล่าง ตั้งแต่การป้องกันความปลอดภัยให้ครู การฉีดวัคซีนให้ครูอย่างทั่วถึง รวมถึงมองไม่เห็นว่าครูคนหนึ่งต้องทำอะไรบ้าง ครูต้องทำเอกสาร ทำรายงานส่ง ไหนจะต้องเตรียมตัวในการสอน เตรียมสื่อการสอน ระบบไม่มีความไว้วางใจครูเลย นี่คือปัญหาใหญ่

โรงเรียนหลายแห่งบังคับให้ครูมาสอนออนไลน์ที่โรงเรียน แต่โรงเรียนไม่พร้อมทั้งอุปกรณ์ ระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งบางทีครูอยู่ที่บ้านอาจจะทำงานได้สะดวกกว่าด้วยซ้ำ

วิกฤตินี้ทำให้เราเห็นแผลของระบบการศึกษามากขึ้น ทั้งแผลเก่าและแผลใหม่ ทั้งปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความพร้อมของสถานศึกษาต่างๆ 

การเรียนออนไลน์ที่ยังคงใช้ชั่วโมงตามตารางสอน มันคือหายนะทางสุขภาพให้ครูและเด็ก 

นักเรียนต้องเรียนอยู่หน้าจอคอมฯ 6-7 ชั่วโมงต่อวัน ส่งผลต่อสายตาและสมอง มันเป็นปัญหามากนะ

ท้ายที่สุดครูยังเชื่อการเรียนในห้องอยู่ไหม

การเรียนในห้องยังสำคัญและจำเป็น บรรยากาศในห้องเรียนมีส่วนสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างครูกับนักเรียน เราได้สัมผัสบรรยากาศการเรียนรู้เดียวกัน ห้องเรียนมีผลต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียน ระหว่างนักเรียนและนักเรียน ไม่ว่าจะการทำงานกลุ่ม การทำกิจกรรมทั้งในและนอกห้อง การถกเถียงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สุขภาพทางกายและจิตใจ ระบบออนไลน์ก็ทำให้เขาขาดและสูญเสียโอกาสในการพัฒนาทักษะเหล่านี้ไป 

ครูต้องใช้ความพยายามมากขึ้นในการสอน รวมถึงการเตรียมตัวด้านเนื้อหา ครูต้องพยายามส่งมอบพลังให้เด็กอย่างมาก เพื่อให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

4

‘ครูมิ้น’ สุรัสวดี นาคะวะรัง: หน้าจอออนไลน์ไม่ใช่พื้นที่สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจของครูและเด็ก

ครูมิ้นคือครูแนะแนว โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๒ ความพิเศษของวิชาแนะแนวคือปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียน ทว่าการเรียนออนไลน์ทำให้ความสัมพันธ์นั้นแยกออกจากกัน นั่นหมายถึงความไว้ใจและการที่นักเรียนเห็นครูเป็นพื้นที่ปลอดภัยเกิดได้ยากขึ้น

เปิดเทอมท่ามกลางโควิดระลอก 3 วิชาแนะแนวแบบออนไลน์แบบฉบับครูมิ้นเป็นอย่างไร

ถ้าโฟกัสถึงเนื้อหา เราก็สอนเหมือนเดิมตามปกติ การสอนออนไลน์ยังฟังก์ชั่นอยู่ในแง่เนื้อหา แต่อาจจะติดขัดในการพาเด็กทำกิจกรรม มันยากเหมือนกันในช่วงเวลาที่จะพาเด็กทำกิจกรรมเหมือนแต่ก่อน ครูจะต้องเตรียมตัวอย่างหนักมากกว่าเดิม แต่ก่อนเราอาจจะแค่แจกกระดาษให้เด็กเขียนตอบในห้อง แต่ออนไลน์ก็ทำแบบนั้นไม่ได้ กลายเป็นว่าครูต้องหาเครื่องมือใหม่ๆ โปรแกรมใหม่ๆ ต้องหาวิธีล้านแปดมาเพื่อทำให้เด็กได้ทำกิจกรรมเหล่านั้น สำหรับเรามันหมดพลังมากนะ กลายเป็นว่าเราเตรียมทุกอย่างให้มากขึ้นมากๆ 

ครูมิ้น-สุรัสวดี นาคะวะรัง

โลกในยามปกติ วิชาแนะแนวต้องเรียนอะไรบ้าง

ขอบข่ายของวิชาแนะแนวมีด้วยกัน 3 ด้านหลัก 1. เรื่องส่วนตัวและสังคม 2. การศึกษา 3. อาชีพ

เรื่องการศึกษาและอาชีพ ค่อนข้างเป็นคอนเทนต์ที่ตายตัว เช่น การแนะนำรูปแบบของ TCAS หรือเรื่องราวต่างๆ ที่เราไปเจอมา เรายังสามารถนำมาบอกต่อกับเด็กๆ ได้ ส่วนเรื่องในหมวดอาชีพ เราใช้วิธีเชิญรุ่นพี่ในแวดวงต่างๆ มาบอกเล่าประสบการณ์ให้รุ่นน้อง ซึ่งการเรียนออนไลน์เราว่าไม่ได้ทำให้สองส่วนนี้กระทบอะไรมาก แถมยังง่ายขึ้นด้วยซ้ำในการทำให้รุ่นพี่กับรุ่นน้องมาเจอกัน 

แต่ที่มันมีปัญหาคือ การให้คำปรึกษาในประเด็นเรื่องส่วนตัวและสังคม ในส่วนนี้เราต้องประเมินจากการพิจารณาว่านักเรียนแต่ละคนมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างไร เขาทำงานในห้องอย่างไร เขาเห็นความแตกต่างระหว่างบุคคลอย่างไรบ้าง จุดนี้เรียกว่าเป็นโจทย์ที่ยากมากสำหรับการเรียนออนไลน์ เพราะเราไม่มีทางจะเห็นภาพเหล่านั้นได้เลย 

ดังนั้นในฐานะครูเราต้องคิดเยอะขึ้นมากว่าจะใช้ ‘วิธีการ’ ใดที่จะเห็นสิ่งเหล่านี้ออกมาจากตัวนักเรียนได้ แต่ก่อนมันเรียบง่าย เพราะครูและนักเรียน รวมถึงนักเรียนด้วยกันเอง เราต่างได้เจอหน้าเจอตากัน เห็นว่าใครกำลังทำอะไร แต่เรียนออนไลน์ทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว

นอกจาก 3 ขอบข่าย ยังมีบริการที่ครูแนะแนวต้องทำรายงานส่ง สำหรับบริการบางด้าน ‘การเรียนออนไลน์’ ก็เป็นอุปสรรคเช่นกัน เช่น บริการให้คำปรึกษา หากเด็กไม่สบายใจหรือมีปัญหาใดๆ

เมื่อโลกสลับมาเป็นออนไลน์ การบริการให้คำปรึกษา มันยากขึ้นอย่างไร

ยากมาก ด้วยความที่เราไม่เคยเจอเด็กรุ่นที่สอนเลย เราเจอกันผ่านจอ เรายังไม่สามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขาได้ เขาและเรายังไม่เห็นตัวตนของกันและกัน แม้ตอนนี้ยังไม่มีเคสเด็กที่เข้ามาขอคำปรึกษา แต่ถ้าลองจินตนาการ เราว่าออนไลน์มันไม่เอื้อให้เกิดสิ่งนั้น เพราะนักเรียนอาจจะยังไม่ไว้ใจเรา โดยเฉพาะถ้ามองในมิติความสัมพันธ์มันแทบจะไม่เกิดขึ้นด้วยซ้ำ เราจะมองตาเขาผ่านหน้าจอมันก็ไม่ได้แล้ว 

แล้วการสอนออนไลน์สำหรับ ‘ครูแนะแนว’ อย่างครูมิ้นมีข้อดีอย่างไรบ้าง

สำหรับวิชาแนะแนว สอนออนไลน์มันมีทั้งดีและไม่ดี

สำหรับข้อดีเรามองว่าเป็นเรื่องของการที่ครูได้โฟกัสกับการสอนและสื่อการสอนมากขึ้น ครูไม่ต้องไปโรงเรียน ครูไม่ต้องทำงานอย่างอื่นนอกเหนือจากการสอน ทำให้เราได้โฟกัสและอยู่กับนักเรียนได้มากขึ้น เพราะแต่ก่อนตามปกติเราต้องเดินไปสอนแต่ละห้อง พอไปถึงห้องเรียนครูก็ต้องเซ็ตระบบใหม่ กินเวลาการสอนพอสมควร แต่เมื่อเรียนออนไลน์มันก็ลดเงื่อนไขตรงนี้ไป เราตื่นเช้ามาเพียงแค่เซ็ตระบบไว้แค่ครั้งเดียว จากนั้นก็ใช้ไปได้ทั้งวัน โดยที่เราไม่ต้องไปทำอะไรมาก ทำให้โฟกัสกับการสอนมากขึ้น เหลือแต่เพียงสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น

ส่วนข้อเสีย ช่วงแรกที่เปลี่ยนมาเรียนออนไลน์ เราจำได้ว่าหัวหมุนกับการใช้อุปกรณ์มาก

แต่โชคดีที่เมื่อ 2 ปีก่อนหน้า เราเรียนปริญญาโทควบคู่ไปด้วย ส่วนตัวเราจึงมีความพร้อมในเรื่องอุปกรณ์พวกแท็บเล็ตและโน้ตบุ๊ค ซึ่งจุดนี้ทำให้เรารู้สึกเป็นห่วงครูท่านอื่นๆ เหมือนกัน เพราะโรงเรียนก็ไม่ได้ช่วยสนับสนุนอะไรมาก ในส่วนของนักเรียนก็เช่นกัน บางครอบครัวก็ไม่ได้พร้อมที่จะมีอุปกรณ์ที่ดีพอในการเรียนออนไลน์ จุดนี้ทำให้เรากังวล ผลกระทบความเหลื่อมล้ำต่างๆ มันสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนเมื่อต้องสอนออนไลน์

การระบาดของโควิด-19 ทั้ง 3 รอบ ทำให้ครูและนักเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร

อย่างที่บอกไปว่า แม้เรารับบทบาทเป็นนักเรียนปริญญาโทที่ต้องเรียนออนไลน์มาก่อน แต่ความรู้สึกตอนแรกในการเปลี่ยนบทบาทมาเป็นคนสอนทำให้เราช็อกและสับสนไปเหมือนกัน 

ประสบการณ์จากการเป็นนักเรียนออนไลน์ ทำให้เรารู้ว่าสิ่งใดบ้างที่เราไม่อยากส่งต่อให้เด็กที่เราสอน เช่น การบังคับให้เด็กโฟกัสอะไรนานๆ ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่พร้อมจะดึงผู้เรียนออกจากเนื้อหาที่กำลังสอน มันเป็นเรื่องที่บังคับไม่ได้ แต่ยังโชคดีที่ประสบการณ์ตรงนั้นทำให้เราคุ้นชินกับเครื่องมือและเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งก็มีส่วนช่วยที่ทำให้เราเข้าใจอุปกรณ์มากขึ้น

พอมาถึงโควิดระลอกสอง เมื่อเราเริ่มจับต้นจนปลายกับอุปกรณ์และระบบการเรียนออนไลน์มากขึ้น เราเองก็ต้องไม่หยุด พยายามหา ‘วิธีการ’ จากครูท่านอื่นๆ หรือความรู้ใหม่ๆ เพื่อทำให้การสอนออนไลน์ออกมาดีที่สุด ตัวอย่าง เราชอบการแชร์สกรีนหรือหน้าจอขณะที่สอน เพราะอย่างที่กล่าวไปว่าเด็กเขาพร้อมจะหลุดจากเราได้เสมอ ดังนั้นการมีหน้าจอและคีย์เวิร์ดให้เขาได้โฟกัสไปเรื่อยๆ อาจช่วยทำให้เด็กอยู่กับเนื้อหานานขึ้น เพราะถ้าไม่มีอะไรฉายขึ้นหน้าจอเลย แล้วครูยังพูดไปเรื่อยๆ เราว่าเด็กหลุดแน่นอน 

รวมถึงการหันมาใช้แพลตฟอร์มที่ไม่ระบุตัวตน เพื่อให้เด็กๆ พิมพ์เขียนความต้องการตัวเองออกมา ด้วยความพิเศษของวิชาแนะแนวคือการพูดเรื่องชีวิต เรื่องความฝัน บางทีเด็กๆ อาจจะไม่สบายใจถ้าครูบังคับให้เขาเปิดกล้องและเร่งให้เขาสื่อสารออกมา เราว่าแพลตฟอร์มนี้อาจช่วยให้การเรียนออนไลน์ในวิชาแนะแนวเป็นไปในทางที่ดีขึ้นได้

ครูมีความเครียด ความกังวลใดบ้างไหม ตลอดการสอนออนไลน์ที่ผ่านมา

จำได้ว่าตอนโรคระบาดมาใหม่ๆ โรงเรียนทั่วประเทศต้องปิด การเรียนออนไลน์ช่วงแรกจึงมีเพื่อทำให้เด็กๆ ไม่เกิดภาวะการถดถอยในการเรียนรู้ แต่พอโรคระบาดเข้าระยะต่อมา การเรียนออนไลน์ถูกเข้าระบบอย่างเต็มรูปแบบ ครูต้องประเมินนักเรียน ต้องมีการวัดผล ต้องเช็คชื่อ จุดนี้ทำให้เราเครียดเหมือนกัน เพราะมันคือของจริงแล้ว

จนมาถึงการเปิดเทอมรอบล่าสุด เราว่าเราทำใจแล้ว ทุกอย่างมันเริ่มชิน ดังนั้นระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา แม้ครูและนักเรียนจะปรับตัวได้หรือเรียนรู้วิธีการใช้อุปกรณ์ต่างๆ แต่เด็กๆ ยังบ่นว่าเขาอยากกลับไปเรียนในห้องเรียนเหมือนเดิม 

ส่วนจุดที่ทำให้เรา suffer จนเราไม่อยากสอนออนไลน์มากที่สุด คือความรู้สึกที่เรารู้ว่าเด็กต้องการเรา การเรียนออนไลน์ทำให้รู้สึกว่าเราและนักเรียนถูกดึงออกจากกัน เด็กๆ อยากให้เราช่วยดู portfolio หรือเขาอยากปรึกษาจากเราเรื่องโควตาการสอบ คือมันทำได้ยากลำบาก เวลาจะอธิบายแต่ละอย่างก็ต้องโทรหากัน บรรยากาศมันไม่เหมือนกับตอนที่เราและเขาอยู่ในห้องเรียน

สอนออนไลน์มาเกือบ 2 ปี ทำให้ครูแยกเวลาส่วนตัวกับเวลาทำงานได้ไหม

เรามีปัญหาเรื่องนี้ ช่วงแรกรู้สึกชีวิตตีกันมั่วไปหมด

นอกจากจะต้องสอนออนไลน์ ชีวิตส่วนตัวเราก็ต้องเรียนปริญญาโท ไหนจะต้องอยู่แต่ในบ้าน ช่วงแรกๆ ก็เครียดเหมือนกันนะ ทำตัวไม่ถูก เพราะไม่เคยเจอประสบการณ์แบบนี้ ไม่รู้จะเอาตัวเองไปไว้ตรงไหน เหมือนเราต้องทำทุกอย่างพร้อมกัน แล้วมันพัง เหมือนทำอะไรออกมาได้ไม่ดีสักอย่าง ต้องใช้เวลาตั้งหลักพักหนึ่ง

การเป็นนักเรียนปริญญาโทให้ประสบการณ์ใดบ้างในการเป็นครูสอนออนไลน์

เราได้เรียนรู้การใช้โปรแกรมต่างๆ จากตรงนี้ ด้วยความหวังดีของครู ตอนเราเรียนเราจำเป็นต้องเปิดกล้อง เพราะอาจารย์เขาอยากสื่อสารกับเราจริงๆ ซึ่งพอเปิดกล้องแล้ว มันกลับทำให้เราทำตัวไม่ถูก เรานั่งเป็นหินเลย 

เราจึงคิดว่าวิธีการนี้เราจะไม่เอาไปใช้กับเด็กในคลาสของเรา เราขอเลือกวิธีการอื่นๆ ที่จะทำให้เด็กสบายใจที่จะเปิดกล้องเองมากกว่า เราพยายามจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยและใช้ความเชื่อใจกับเขา ถ้าเขาโอเคอยากเปิดกล้องก็เปิดได้ เราเข้าใจเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมของทุกคนที่ไม่เหมือนกัน จุดนี้ต่างจากการเรียนในห้องเรียนมาก การเรียนในห้องเราได้สบตาเขา เราได้คุยกับเขา นักเรียนรู้ว่าครูเป็นอย่างไร และมันเอื้อต่อการสร้างโมเมนต์การเรียนรู้ไปพร้อมกัน

ระบบการศึกษาไทยควรจะเรียนรู้กับวิกฤตินี้อย่างไร

เราว่าการเรียนรู้มันเกิดได้จากวิธีการที่ผสมผสาน เราต้องยอมรับว่าการเรียนออนไลน์มันเข้ามาเปลี่ยนโลกแล้ว เราโชคดีที่สอนเด็ก ม.ปลาย ที่เขาโตแล้ว ถ้าเป็นเด็กเล็กวัยอนุบาลและประถม เราจินตนาการไม่ออกเลย เพราะเด็กเล็กเขาไม่สามารถอยู่กับการเรียนรู้ในจอและโลกเสมือนได้หรอก ดังนั้นห้องเรียนยังจำเป็นและสำคัญมากๆ โดยเฉพาะมิติความสัมพันธ์

ระบบการศึกษาควรจะเรียนรู้กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวิกฤตินี้ เพื่อตั้งคำถามว่าถ้าในวันข้างหน้าเกิดวิกฤติขึ้นอีก เราจะเตรียมความพร้อมให้เด็ก ครู และโรงเรียนอย่างไร 

เราไม่อยากให้มองว่าการเรียนออนไลน์ตลอดเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาเป็นแค่วิธีแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ระบบการศึกษาควรขยับให้ทันโลก ตอนนี้เรารู้สึกว่าพอระบบการศึกษากำลังจะขยับ แต่กว่าจะผ่านฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ กลายเป็นโลกเปลี่ยนอีกแล้ว ถ้าเราเป็นเช่นนี้มันไม่มีทางทันหรอกเพราะเรายังวิ่งตามหลังอยู่ เราควรจะทำให้ระบบไปข้างหน้าให้เร็วกว่า ไม่ควรกอดแผนอะไรไว้เพียงอย่างเดียว


Editor

Avatar photo

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

พยายามฝึกปรือและคลุกอยู่กับผู้คนในวงการการศึกษา เพราะเชื่อว่าการเรียนรู้เป็นใบเบิกทางให้ขยายขอบขีดความสามารถตัวเอง ฝันสูงสุดคืออยากเห็นตัวเองทำงานสื่อสารที่มีคุณภาพและคุณค่าต่อไป

Avatar photo

ธัญชนก สินอนันต์จินดา

บัณฑิตไม่หมาดจากรั้วเหลืองแดง ที่พกคำว่า ‘ลองสิ’ ติดหัวตลอดเวลา เพราะเชื่อว่าประสบการณ์ชีวิตเกิดจากการไม่กลัวและลงมือทำเท่านั้น

Related Posts