เล่น เล่น

ทำไมสนามเด็กเล่นดีๆ ถึงไม่ฟรี ส่อง 5 สนามเด็กเล่นเมืองใหญ่ที่ดี ฟรีและเข้าถึงเด็กทุกคน

  • สนามเด็กเล่นที่ดี คือ สนามเด็กเล่นที่เด็กจะเชื่อว่า เขาคือผู้นำการเล่นและเป็นเจ้าของการเรียนรู้
  • สนามเด็กเล่นไม่จำเป็นต้องสวย แต่เป็นพื้นที่ปลอดภัย เสริมสร้างจินตนาการและต่อเติมความฝันในสนามเล่นของตัวเอง
  • ทำไมสนามเด็กเล่นดีๆ ถึงไม่ฟรี? แล้วสนามเด็กเล่นที่ฟรี ดีจริงหรือเปล่า? ชวนส่อง 5 สนามเด็กเล่นเมืองใหญ่ที่ดี ฟรี และเข้าถึงเด็กทุกคน

“ชิงช้า ม้าหมุน สไลด์เดอร์ ไม้กระดก และเครื่องเล่นสำเร็จรูปครบเซ็ท” 

คือ อุปกรณ์เล่นในสนามเด็กเล่นของไทยที่มักจะอยู่ข้างๆ กับมุมออกกำลังกายของผู้ใหญ่ในสวนสาธารณะ 

ขณะที่สนามเด็กเล่นในโซลตั้งต้นจากสนามเด็กเล่นในฝันของเด็กๆ ที่มีเครื่องเล่นและลานเวิร์คชอป รวมถึงพื้นที่แสดงผลงานของเด็กๆ ในชุมชน 

สนามเด็กเล่นของนิวยอร์ค ไม่มีอุปกรณ์สื่อสาร ไม่มีรองเท้า ไม่มีพ่อแม่ เด็กเรียนรู้จากการสร้างพื้นที่การเล่นของตัวเอง 

ส่วนสนามเด็กเล่นของเด็กลอนดอน คือ ถนน เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กทุกคนเล่นด้วยกันอย่างเท่าเทียม

และสนามเด็กเล่นในเบอร์ลินที่ขึ้นชื่อเรื่องความเสี่ยงและผจญภัย หลายแห่งตั้งอยู่ในพื้นที่รกร้างที่นำมาสู่บทสนทนาประวัติศาสตร์สงครามโลก เครื่องเล่นทั้งหลายได้การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์และอุตสาหกรรมและปลอดภัยสำหรับเด็ก คนตัวเล็กจะตัดสินใจและจัดการความเสี่ยงด้วยตัวเอง

สนามเด็กเล่น คือ พื้นที่สร้างจินตนาการและต่อเติมความฝันของเด็กอย่างอิสระและเข้าใจธรรมชาติการเล่นของเด็ก อีกทั้งต้องเข้าถึงเด็กทุกคนอย่างไร้เงื่อนไข

เพราะการเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือ การเรียนรู้ผ่านการเล่นและการเรียนรู้อย่างมีความสุข

mappa ส่องสนามเด็กเล่นจาก 5 เมืองทั่วโลกที่ดีและฟรีเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เด็กจะเชื่อว่า เขาคือผู้นำการเล่นและเป็นเจ้าของการเรียนรู้ 

โซล: สนามเด็กเล่นที่ฟังเสียงเด็ก เริ่มต้นจากคนเล่นไม่ใช่คนทำ

Fancy Children’s Park คือ หนึ่งในโปรเจคพัฒนาสนามเด็กเล่นครั้งที่ 3 ของกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

เพราะสนามเด็กเล่นแบบเก่าถูกตั้งคำถามเรื่องความปลอดภัยและกลายเป็นพื้นที่พักผ่อนสำหรับผู้ใหญ่ ทำให้เด็กๆ ไม่ไปสนามเด็กเล่น

จึงนำมาสู่การปรับปรุงสนามเด็กเล่นให้เป็นมิตรกับธรรมชาติและปลอดภัยสำหรับเด็กๆ ผ่านโครงการด้านผังเมืองของนายกเทศมนตรีโซลตั้งแต่ปี 2005 เปิดโอกาสให้ภาครัฐทำงานร่วมกับเด็กๆ วางแผน ออกแบบ และจัดการสนามเด็กเล่นไปด้วยกัน

1,297 คือ จำนวนสนามเด็กเล่นของเด็กอายุ 2-12 ปีในโซล และมากกว่า 1,000 แห่งเป็นสนามเด็กเล่นที่เด็กๆ เป็นคนออกแบบเอง

ภาครัฐตัดสินใจเดินเข้าห้องเรียนชวนนักเรียนป.4 – ป.6 วาดภาพ “สนามเด็กเล่นในฝัน” เพื่อเปลี่ยนสนามเด็กเล่นแบบเดิมเป็นพื้นที่เสริมจินตนาการและความฝันของเด็กๆ

(อ่านเรื่องเล่นเล่นโดยเด็กเกาหลีใต้ได้ที่  https://tbinternet.ohchr.org/Treaties/CRC/Shared%20Documents/KOR/INT_CRC_NGO_KOR_33151_E.pdf)

Fancy Children’s Park จึงไม่ได้เป็นสนามเด็กเล่นที่มีแค่เครื่องเล่นเพียงอย่างเดียว แต่เป็นพื้นที่เวิร์คชอปและพื้นที่แสดงผลงานของเด็กๆ ในพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น สนามเด็กเล่น Wau (Wau Fancy Children’s Park) ที่นำผลงานศิลปะของนักเรียนชั้นป.5 จากโรงเรียนประถมฮงอิกมาทำเป็นกระเบื้อง

เพราะสนามเด็กเล่นในโซลไม่ได้ตั้งต้นจากคนทำ แต่มาจากคนเล่น ทั้งหมดนี้ก็เพราะโซลอยากให้สนามเด็กเล่นเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก เรียนรู้และเข้าใจตัวเองผ่านการเล่น

นิวยอร์ค: เด็กจะต้องได้รับการดูแลอย่างดีและปลอดภัยในสนามเด็กเล่นที่เขาสร้างเอง

ในนิวยอร์คเด็กๆ สามารถเดินเท้าไปสนามเด็กเล่นได้ถึง 12 แห่งใกล้บ้าน

สนามเด็กเล่นแต่ละแห่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ค่อยมีสไลเดอร์หรือม้าหมุน เพราะสิ่งเหล่านี้อาจเป็นอันตรายสำหรับเด็ก จึงเป็นที่มาของการเรียกร้องสนามเด็กเล่นที่ดีกว่าด้วยการหาเครื่องเล่นที่อำนวยความสะดวกในการเล่นและมองหาทีมงานที่จะเข้ามาดูแลเด็กๆ ระหว่างเล่น

“ถ้าสนามเด็กเล่นดีกว่านี้ เด็กๆ คงจะอยู่ที่นั่น”

จริงๆ แล้ว นิวยอร์คมีสนามเด็กเล่นทั้งหมด 2,067 แห่งครอบคลุมการเล่นของเด็กทุกวัย ทุกแบบ แม้แต่เด็กพิการ 

ถึงจะมีสนามเด็กเล่น 2,000 กว่าแห่ง แต่ปริมาณสนามเด็กเล่นของนิวยอร์คอยู่ในอันดับที่ 48 ของประเทศ กล่าวคือ มีเพียง 2 แห่งครึ่งต่อ 10,000 ครัวเรือน เมื่อเทียบกับอันดับหนึ่งที่มีสนามเด็กเล่น 7 แห่งในสัดส่วนประชากรเดียวกัน

สนามเด็กเล่นของนิวยอร์คส่วนหนึ่ง คือ สนามเด็กเล่นแบบผจญภัย เปิดโอกาสให้เด็กๆ สร้างสนามเด็กเล่นและออกแบบการเล่นด้วยตัวเอง

“ทุกอย่างในสนามเด็กเล่นสร้างไว้หมดแล้ว แต่คงจะสนุกมากกว่าถ้าเราสร้างสิ่งที่เราต้องการ” ความเห็นของนักออกแบบสนามเด็กเล่นผจญภัยในเกาเกาะกัฟเวิร์นเนอร์ (Governers Island)  สำหรับเด็กวัย 6-13 ปี

สนามเด็กเล่นแห่งนี้ มีกฎ 3 ข้อ คือ ไม่มีเครื่องมือสื่อสาร ไม่มีรองเท้า และ ไม่มีพ่อแม่ เพราะเหล่านักออกแบบเชื่อว่า “เด็กๆ จะสร้างสนามเด็กเล่นที่สนุกกว่าคนออกแบบ” 

ขณะที่อุปกรณ์การเล่น คือ ยางรถ ตะปู ค้อน เลื่อย และสิ่งที่หาได้จากสวนหลังบ้าน

อีก 5 ปีข้างหน้า นิวยอร์คจะเปลี่ยนทางเดินเป็นสนามเด็กเล่นอีก 100 แห่งจากโครงการ Pavement to Playground ของเมือง ที่เป็นสนามเด็กเล่นสำหรับคนทุกวัย 

นอกจากนี้นิวยอร์คพยายามจะเปิดพื้นที่สนามเด็กเล่น แม้โรงเรียนจะปิด จากข้อมูลคาดว่าอีก 5 ปีจะเปลี่ยนสวนในโรงเรียนเป็นสนามเด็กเล่นได้สำเร็จ (แม้ที่ผ่านมา ความพยายามเพิ่มสนามเด็กเล่นจะไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้)

แต่ผู้ว่าราชการนิวยอร์คยังเชื่อว่า “เมืองนี้จะเพิ่มปริมาณสนามเด็กเล่นให้ทุกพื้นที่ อีกทั้งในสนามเด็กเล่นเด็กจะต้องได้รับการดูแลอย่างดีและปลอดภัย”

ลอนดอน: ปิดถนนเป็นสนามเด็กเล่นชั่วคราว ต่อให้ล็อกดาวน์กี่ครั้งเด็กจะได้เล่น 

“เพราะการเล่นเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้” คือ นิยามสนามเด็กเล่นของลอนดอน

สนามเด็กเล่นในเมืองหลวงของอังกฤษ ไม่ได้อยู่บนทางเท้าหรือสวนสาธารณะมากนัก แต่อยู่บนถนน

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1938 เด็กในเมืองลอนดอนก็เล่นบนถนนเช่นกัน เพราะพ่อแม่หลายบ้านยากจนส่งผลให้ลูกๆ ไม่สามารถไปสนามเด็กเล่นได้จึงถูกบังคับให้เล่นบนถนน

การกลับมาเล่นบนถนนก็มาด้วยเหตุผลที่คล้ายกัน คือ หนึ่งในสี่ของเด็กในลอนดอนอาศัยอยู่ในบ้านที่มีพื้นที่คับแคบ และหนึ่งในห้าไม่สามารถออกมาเดินเล่นในสวนสาธารณะได้ อีกทั้งช่วงโควิดที่สนามเด็กเล่นบางแห่งต้องปิดลงชั่วคราวจึงทำให้การเล่นบนถนนกลับมาอีกครั้ง

ทั้งหมดนี้เป็นเพราะผู้ใหญ่ในลอนดอนคิดว่า เด็กมีสิทธิที่จะเล่นในพื้นที่ปลอดภัยและใกล้บ้าน

โดยนักออกแบบการเล่นสนับสนุนว่า “ไม่ว่าจะเป็นถนนธรรมดาหรือพื้นที่เล็กๆ ใกล้บ้านก็สามารถสนุกได้พอๆ กับสนามเด็กเล่นที่นำมาสู่การเล่นที่สร้างสรรค์และจินตนาการมากขึ้น”

เมื่อถนนหรือพื้นที่ใกล้บ้านคือสนามเด็กเล่นของเด็ก จึงเป็นหลักประกันของพ่อแม่ได้ว่า ต่อให้จะล็อกดาวน์อีกกี่ครั้ง ลูกๆ พวกเขาจะได้เล่นเพื่อเรียนรู้และเติบโต

เบอร์ลิน: ผจญภัยไปกับสนามเด็กเล่น สนุก เสี่ยง เชื่อใจ และเคารพในเสรีภาพของเด็กๆ 

ในกรุงเบอร์ลินมีสนามเด็กเล่นกระจายทั่วเมือง 1,850 แห่งเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรเกือบสี่ล้านคน และมีประชากรอายุต่ำกว่า 18 ปีอยู่ประมาณห้าแสนคน 

สนามเด็กเล่นเกือบ 2,000 แห่งนี้สะท้อนวัฒนธรรม ความคิดและความเชื่อส่วนหนึ่งของคนเยอรมนี คือ การพึ่งตนเอง

ที่เบอร์ลิน เด็กๆ วัยเรียนเดินไปโรงเรียน สวนสาธารณะ และสนามเด็กเล่นตามลำพัง

การพึ่งตนเองและการเลี้ยงเด็กๆ ให้มีอิสระ นี่คือการเลี้ยงแบบปกติของพ่อแม่เยอรมัน เชื่อว่าอิสรภาพนั้นดีสำหรับเด็กๆ และการรับมือกับความเสี่ยงเป็นส่วนสำคัญของการเติบโต 

ที่มาที่ไปของแนวคิดนี้ ส่วนหนึ่งมาจากขบวนการต่อต้านของเยาวชนในทศวรรษที่ 1960 ทำให้เกิดแนวคิดการเลี้ยงลูกแบบต่อต้านเผด็จการ เริ่มต้นในแฟรงก์เฟิร์ต โมนิกา ไซเฟิร์ท ก่อตั้ง kinderladen หรือเนิร์สเซอรี่ที่เน้นการศึกษาแบบปลอดการควบคุม ซึ่งเป็นปรัชญาที่ต่อต้าน “คุณธรรมเยอรมันเก่าแก่เรื่องการเชื่อฟัง ขยันหมั่นเพียร สุภาพเรียบร้อย และสะอาดผ่องใส” 

ตัดกลับมาปัจจุบัน 

พ่อแม่หรือครูเยอรมันไม่เคยตะโกนบอกเด็กว่า Achtung (ระวัง) เลย ปกติเป็นคำที่ใช้กับอันตรายร้ายแรงเท่านั้น 

พ่อแม่ไม่ยอมให้ความกลัวมาผลักดันการมีปฏิสัมพันธ์ของลูกๆ พวกเขาปฏิบัติกับลูกเหมือนคนที่มีความสามารถและสมควรได้รับความไว้วางใจ สำคัญที่สุดคือพวกเขาเคารพในสิทธิลูกที่จะเคลื่อนไหวอย่างอิสระ คิดด้วยตัวเอง และดำเนินชีวิตเองเมื่อพวกเขาโตขึ้น 

“เราจะอ้างว่าเราเคารพเสรีภาพไม่ได้ ถ้าเราเลี้ยงลูกโดยไม่ให้โอกาสพวกเขาได้มีเสรีภาพเลย” ประโยคหนึ่งจากหนังสือ เยอร-มัม-มี่ นี่แหละแม่เยอรมัน

ผู้ใหญ่ไม่เข้าไปแทรกแซงการเล่นของเด็กแม้จะทะเลาะวิวาท เพราะอยากให้เด็กๆ แก้ปัญหากันเองมากกว่า 

สนามเด็กเล่นจำนวนมากในกรุงเบอร์ลินออกแบบให้เด็กๆ เสี่ยงและได้ผจญภัย 

สนามเด็กเล่นแนวนี้จะเปิดโอกาสให้เด็กๆ สร้างป้อมและบ้านต้นไม้ ทำอาหารบนกองไฟ และใช้เครื่องมือหลากหลาย รวมถึงดูแลสัตว์ในฟาร์ม 

“พ่อแม่รุ่นใหม่ๆ ชอบพาลูกไป Abenteuerlicher Bauspielplatz Kolle 37 ที่อยู่ทางตะวันออกของกรุงเบอร์ลิน เป็นสนามเด็กเล่นที่ให้เด็กๆ สร้างหรือทำของเล่นเอง และไม่อนุญาตให้พ่อแม่เข้าไปข้างในด้วย พ่อแม่แค่ฝากเบอร์โทรไว้ แล้วไปเดินเล่นหรือทำอย่างอื่นรอ ระหว่างนั้นเด็กๆ จะถือค้อน ตอกตะปู สร้างงานไม้ตามจินตนาการของเขาเอง จะมีแค่ผู้ใหญ่ที่เป็นอาสาสมัคร ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาเพื่อชวนทำกิจกรรมสนุกๆ เช่น เอาโคลนมาปั้นเป็นอิฐ หรือชวนกันสร้างกังหัน บางครั้งเด็กๆ ก็จะต้มซุป ทำขนมปัง หรือขนมปังแท่งต่างๆ ด้วยเตาไฟในสนามเด็กเล่นนั่นแหละ” 

สวนมังกรหรือ Dragon Playground ในเบอร์ลิน อิสระเสรี มีอันตรายหน่อยๆ เด็กแต่ละคนต้องตัดสินใจด้วยตัวเองว่าเล่นอะไรได้ ไม่ได้ พ่อแม่ไม่วิ่งตาม เด็กเรียนรู้ที่จะบริหารความเสี่ยงด้วยตัวเอง และเตรียมตัวพร้อมสำหรับความท้าทายใหม่ๆ 

มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นที่สนามเด็กเล่น ศาลเยอรมันมักไม่เข้าข้างคนฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือเปลี่ยนสนามเด็กเล่นปลอดภัยขึ้น เพราะจุดประสงค์ของสนามเด็กเล่นคือ ความเสี่ยงมีจริง และสอนผ่านวิธีการผาดโผนให้เด็กรู้จักวิธีการจัดการอันตรายในชีวิตประจำวัน ไม่มีใครต้องรับผิดชอบในการจัดการความเสี่ยงนั้นนอกจากตัวเด็กเอง 

จริงๆ แล้วสนามเด็กเล่นแบบผจญภัยคิดค้นและพัฒนาโดยเดนมาร์ก แต่เยอรมันเอามาใช้อย่างจริงจังปี 1960 และ 1970  

ปัจจุบัน เบอร์ลินมีพื้นที่เล่นอิสระอย่างน้อยชุมชนละ 1 แห่ง 

ทำไมต้องเสี่ยง

ไม่ต่ำกว่า 5 ปีแล้ว ที่นักการศึกษา ผู้ผลิต ผู้ออกแบบเมือง สนามเด็กเล่น คุยกันเรื่องหยุดสร้างความปลอดภัยแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วก็สร้างโลกใบเล็กที่ท้าทายเพื่อสอนให้เด็กๆ ควบคุมและจัดการสถานการณ์ที่ยากๆ ด้วยตัวเอง แม้มันอาจจะนำไปสู่อันตรายถึงขั้นแขนหักหรือขาหักก็ตาม 

“สนามเด็กเล่นคือเกาะแห่งการเคลื่อนไหวอิสระท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่มีความอันตรายเป็นตัวขับเคลื่อน” คือคำพูดของ ศาสตราจารย์ Rolf Schwarz แห่ง Karlsruhe University of Education ที่แนะนำแก่สภา กรรมการ และนักออกแบบสนามเด็กเล่น 

“ถ้าเราต้องการให้เด็กๆ เตรียมพร้อมรับความเสี่ยง พวกเราต้องอนุญาตให้เด็กสัมผัสกับความเสี่ยง”

ทั้งนี้อุปกรณ์สนามเด็กเล่นในเยอรมันได้รับการรับรองโดย TÜV สถาบันตรวจสอบและรับรองความปลอดภัยของเยอรมันว่า มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ให้บริการในหลากหลายอย่าง ตั้งแต่การเป็นที่ปรึกษา อบรมหรือทดสอบบุคลากร ตรวจ และรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์และอุตสาหกรรม 

นอกจากนี้สนามเด็กเล่นยังสร้างบทสนทนาให้เด็กๆ เรื่องประวัติศาสตร์และความหลากหลาย

สนามเด็กเล่นหลายแห่งในกรุงเบอร์ลินใช้พื้นที่รกร้าง หลังจากที่บ้านเรือนอาคารถูกทำลายในสงครามโลกครั้งที่ 2 บางที่จะได้เห็นร่องรอยระเบิดและไฟไหม้ด้วย 

ก่อให้เกิดบทสนทนาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในพื้นที่อย่างสนุกสนาน แนวคิดสนามเด็กเล่นเช่นนี้เกิดขึ้นเหมือนกันในปารีส กรุงโรม หรือลอนดอน

จากข้อมูลพบว่ามีผู้ลี้ภัยอย่างน้อย 80,000 คนอาศัยอยู่ในกรุงเบอร์ลิน แคมป์ชั่วคราวถูกสร้างมาหลายจุด จนกลายเป็นอีกหนึ่งคาแรคเตอร์ของกรุงเบอร์ลิน ผู้ลี้ภัยจึงกลายเป็นเพื่อนบ้าน เด็กๆ ได้เจอพื่อนใหม่ที่หลากหลายและไม่เหมือนเขาได้ทุกวันในเครื่องบินไม้ ไฮไลท์สำคัญของในสนามเด็กเล่น Fliegerspielplatz หรือ aviator playground แห่งเบอร์ลิน

กรุงเทพฯ: สนามเด็กเล่นที่ดีคือสนามเด็กเล่นที่พ่อแม่ต้องจ่าย

เสียเงินไปแล้วเท่าไรกับสนามเด็กเล่นของลูก

ในกรุงเทพฯ จะหาสนามเด็กเล่นดีๆ และปลอดภัย อีกทั้งเสริมสร้างพัฒนาการให้ลูกต้องไปห้างสรรพสินค้าพร้อมกับต้องเสียค่าใช้จ่ายหลายร้อย หรือ ต้องรอวันเปิดเทอมให้ลูกเล่นสนามเด็กเล่นในโรงเรียน

ทั้งๆ ที่ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของสหประชาชาติ ระบุว่า การเล่นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็ก อีกทั้งงานวิจัยทุกสำนักยังบอกตรงกันว่า การเล่นเป็นวิธีเรียนรู้ที่ดีที่สุดของเด็กปฐมวัย

แต่สนามเด็กเล่นในกรุงเทพฯ มีเพียง 28 แห่ง ในสวนสาธารณะ 28 แห่ง 

กว่า 92.86% คือ สนามเด็กเล่นแบบดั้งเดิม ติดตั้งเครื่องเล่นปีนป่ายจากวัสดุโลหะบนพื้นสนาม ทราย หรือยาง 

ขณะที่อีก 7.14% คือ สนามเด็กเล่นแบบร่วมสมัยที่ออกแบบสถาปัตยกรรมและสภาพแวดล้อมที่แปลกใหม่ ทันสมัยและสวยงาม มีพื้นยางล้อมรอบเครื่องเล่นและที่พักผ่อน มีเครื่องเล่นปีนป่ายที่ทำจากไม้แปรรูปมีโลหะยึด พบที่สวนเบญจกิติ และสวนหลวง ร.9

โดยไม่พบสนามเด็กเล่นแบบผจญภัยเลย อาจเป็นเพราะต้องใช้งบประมาณสูง แต่สนามเด็กเล่นรูปแบบสุดท้ายนี้จะทำให้เด็กเชื่อว่า เขาคือเจ้าของการเรียนรู้ด้วยการรื้อและสร้างใหม่ด้วยตัวเอง 

หากจะบอกว่า สวนสาธารณะของไทยเท่ากับสนามเด็กเล่นคงไม่เกินจริงไปมากนัก แต่ยังหวังว่า วันหนึ่งสนามเด็กเล่นในกรุงเทพฯ จะเข้าถึงเด็กทุกคนได้โดยไม่ต้องเสียเงิน

อ้างอิง

https://www.seoulsolution.kr/en/node/6320

https://www.newyorker.com/books/page-turner/new-york-playgrounds-i-have-known

https://comptroller.nyc.gov/wp-content/uploads/documents/State_of_Play_A_New_Model_for_NYC_Playgrounds.pdf

https://ny.curbed.com/2019/4/29/18522322/new-york-parks-playground-scott-stringer-report

https://www.nycgovparks.org/facility/playgrounds/accessible-playground-definitions

https://www.theguardian.com/artanddesign/2021/feb/25/set-children-free-are-playgrounds-a-form-of-incarceration

https://www.theguardian.com/world/2021/oct/24/why-germany-is-building-risk-into-its-playgrounds

https://so01.tci-thaijo.org/index.php/OJED/article/view/147155/108418


Writer

Avatar photo

ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

Avatar photo

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa

Illustrator

Avatar photo

กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts